“ลูกก็อยากมีชีวิตที่ดีเหมือนกัน” ตอบปัญหาคาใจ ว่าด้วยลูกวัยรุ่นและสารเสพติด

ชลิดา หนูหล้า เขียน

 

เมื่อเอ่ยถึง “ลูกวัยรุ่น” พ่อแม่นึกถึงอะไรบ้าง

ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นอาจเป็นฉากคุ้นตาในภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นของวอลต์ดิสนีย์ จะเจ้าหญิงยุคแปดศูนย์อย่างแอเรียลใน เงือกน้อยผจญภัย หรือตัวเอกยุคใหม่อย่างเหมยลี่ใน Turning Red ล้วนเคยตำหนิพ่อแม่ว่า “หนูอายุ เท่านั้นเท่านี้ แล้วนะ หนูไม่ใช่เด็กๆ!” ทั้งนั้น

หนูไม่ใช่เด็กๆ หมายถึง “อย่าสั่งหนู อย่าบอกว่าหนูต้องทำอะไร”

ความต้องการอิสรภาพ เป็นตัวของตัวเอง และควบคุมทิศทางชีวิตของตนดูจะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ที่พบได้แม้ในทารก อย่างที่วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) บรรยายในหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง ว่า “แม้แต่เด็กแรกเกิดก็แสดงตัวตนแบบที่ทำเอาพ่อแม่ไปไม่เป็นหรือกลัวได้ นึกถึงทารกที่ไม่ยอมนอนยอมกินดูสิ กระทั่งผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและพัฒนาการทารกยังย้ำว่าการปรับตัวให้เข้ากับอุปนิสัยและความต้องการของลูกน้อยนั้นสำคัญเพียงใด”

กระนั้น ด้วยพัฒนาการทางร่างกายที่ยังไม่เข้าที่ ความต้องการพึ่งพาผู้อื่นจึงยังมีชัย เพิ่งจะในวัยรุ่นนี่เองที่เด็กส่วนใหญ่เริ่มสื่อสารว่าต้องการเป็นอิสระจากอ้อมแขนพ่อแม่เต็มที ไม่ว่าจะด้วยวาจา หรือด้วยการซ่อนบางแง่มุมของชีวิตจากสายตาผู้ใหญ่

ความไม่รู้ทำให้กลัว เมื่อไม่รู้ว่าลูกทำอะไร คิดอะไร หรืออยู่ที่ไหนตลอดเวลา จึงเป็นธรรมดาที่พ่อแม่จะกังวลว่าลูกวัยรุ่นจะนอกลู่นอกทาง หันเหไปหาอันตราย

และหนึ่งในอันตรายนั้นคือสารเสพติด

 

ความไม่รู้ทำให้กลัว เมื่อไม่รู้ว่าลูกทำอะไร คิดอะไร หรืออยู่ที่ไหนตลอดเวลา จึงเป็นธรรมดาที่พ่อแม่จะกังวลว่าลูกวัยรุ่นจะนอกลู่นอกทาง หันเหไปหาอันตราย

 

สารเสพติดและวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุรา บุหรี่ และสารเสพติด ทั้งที่บริโภคกันทั่วไปอย่างกาแฟและน้ำอัดลม รวมถึงสารเสพติดอื่นๆ ที่เป็นอันตรายยิ่งยวด รบกวนความคิดของพ่อแม่ที่มีลูกวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุด โดยเฉพาะลูกวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่อยู่ไกลบ้าน เด็กบางคนจากบ้านเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย และบางคนก็อยู่ไกลหูไกลตาผู้ใหญ่เร็วกว่านั้น ไม่ว่าจะด้วยการจากไปศึกษาต่อ หรือด้วยภาระล้นมือของผู้ปกครอง

ความกังวลนั้นไม่ได้ไร้เหตุผลเสียทีเดียว

งานวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่าร้อยละ 44 ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบริโภคแอลกอฮอล์อย่างที่ต้องเรียกว่า “เมาหัวราน้ำ” โดยวิลเลียมและเน็ดระบุว่า อัตราการเกิดพฤติกรรมดังกล่าวเพิ่งพุ่งสูงขึ้นเมื่อไม่นานนี้เอง จากการดื่มเพื่อสังสรรค์ วัยรุ่นยุคใหม่ดื่มเพื่อ “ทำลายตัวเอง” ด้วยความเครียดในศตวรรษที่ 21 ซึ่งรุนแรงกว่าในทศวรรษก่อนๆ การแข่งขันเพื่ออยู่รอดในตลาดแรงงานเข้มข้นยิ่งขึ้น เดิมพันที่ต้องสูญเสียหากไม่อาจอาจประชันขันแข่งกับใครสูงขึ้น ไหนจะมีความสำเร็จของผู้อื่นให้ชื่นชมในโลกออนไลน์ และข้อมูลที่ล้นทะลักจนไม่มีเวลาประมวลผล

 

จากการดื่มเพื่อสังสรรค์ วัยรุ่นยุคใหม่ดื่มเพื่อ “ทำลายตัวเอง” ด้วยความเครียดในศตวรรษที่ 21 ซึ่งรุนแรงกว่าในทศวรรษก่อนๆ การแข่งขันเพื่ออยู่รอดในตลาดแรงงานเข้มข้นยิ่งขึ้น เดิมพันที่ต้องสูญเสียหากไม่อาจอาจประชันขันแข่งกับใครสูงขึ้น ไหนจะมีความสำเร็จของผู้อื่นให้ชื่นชมในโลกออนไลน์

 

คำว่า “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ในยุคก่อนหน้าอาจเป็นทางสามแพร่ง แต่ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ในปัจจุบันหมายถึงทางนับร้อยแพร่ง ความสับสนก่อความเครียด และเป็นความเครียดที่คนในยุคก่อนๆ อาจจินตนาการไม่ได้เลย

ไม่เพียงการบริโภคแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่อัตราการบริโภคสารกระตุ้นประสาทอย่างคาเฟอีนและสารอื่นๆ ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งที่เพื่อตอบสนองต่อเวลาพักผ่อนที่น้อยลงจากการจัดการเวลาไม่เหมาะสม และเพื่อ “เข้าสังคม” ไม่ให้ตนรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับความพยายามเข้าสังคมของวัยรุ่นอาจรุนแรงกว่าเพียงการบริโภคกาแฟอีน พวกเขาอาจเสพสารเสพติดผิดกฎหมายในงานเลี้ยง หรือเสพสารเสพติดเพื่อผ่อนคลายในปริมาณมากเกินควร ยิ่งกว่านั้น วัยรุ่นยังมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ถูกบังคับหรือหว่านล้อมให้มีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบที่ไม่พึงปรารถนา

วิลเลียมและเน็ดอธิบายว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นมักเกิดขึ้นเมื่อวัยรุ่นต้องรับผิดชอบตัวเองอย่างปัจจุบันทันด่วน ทั้งวัยรุ่นที่ปลีกตัวจากผู้ใหญ่เอง วัยรุ่นที่ถูกละเลย และวัยรุ่นที่ต้องจากบ้านไป ผลลัพธ์ของการไม่เข้าใจตนเองเพียงพอ การขาดทักษะการควบคุมตนเอง รวมถึงการขาดความพร้อมต่อการจัดการรายละเอียดปลีกย่อยในชีวิตเมื่อไม่มีตารางเรียนหรือผู้ใหญ่กำกับ จึงแสดงออกในรูปการทำลายตัวเอง

หมายความว่าผู้ใหญ่ต้องควบคุมวัยรุ่นให้ดีใช่ไหม คำตอบคือไม่ใช่เลย

 

สองประเด็นต้องรู้ ว่าด้วยวิจารณญาณของวัยรุ่น

 

ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับความพยายามเข้าสังคมของวัยรุ่นอาจรุนแรงกว่าเพียงการบริโภคกาแฟอีน พวกเขาอาจเสพสารเสพติดผิดกฎหมายในงานเลี้ยง หรือเสพสารเสพติดเพื่อผ่อนคลายในปริมาณมากเกินควร ยิ่งกว่านั้น วัยรุ่นยังมีความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ถูกบังคับหรือหว่านล้อมให้มีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบที่ไม่พึงปรารถนา

 

ดับความกังวลกันก่อนด้วยคาถาที่ว่า “ลูก (วัยรุ่น) ก็มีสมองและอยากมีชีวิตดีเหมือนกันนะ”

“เด็กมีสมองและต้องการมีชีวิตที่ดี และเมื่อเพิ่มแรงสนับสนุนไปอีกหน่อย พวกเขาจะรู้เองว่าต้องทำอย่างไร พวกเขารู้ว่าต้องตื่นนอนในตอนเช้าและเปลี่ยนเสื้อผ้า รู้ว่าต้องทำการบ้าน พวกเขารับรู้แรงกดดันได้แม้จะไม่แสดงออก ถ้ามีเรื่องไม่สบายใจ การรบเร้ารังแต่จะทำให้เด็กๆ ต่อต้านหนักข้อขึ้น เคล็ดลับคือต้องให้อิสระอย่างเพียงพอและเคารพวิธีแก้ไขปัญหาของพวกเขา”

ลองทบทวนอดีตของตนเมื่อเป็นวัยรุ่น พ่อแม่จะพบว่าผู้ใหญ่ทุกคนผ่านช่วงเวลานั้นมาก่อน ไม่มีใครชอบการถูกปฏิบัติด้วยเหมือนเป็นเด็กเล็ก ไม่มีใครชอบแบกรับความฝันและความหวังที่ไม่ใช่ของตัวเอง ไม่มีใครชอบได้ยินว่าวิธีแก้ไขปัญหาของตนไม่ได้ความ และวิธีของผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เผชิญปัญหานั้นด้วยตัวเองเข้าท่ากว่า เมื่อไม่ชอบบ่อยครั้งเข้าก็ตีตัวออกหาก กล่าวคือยิ่งรัด ลูกวัยรุ่นยิ่งดิ้น

ความห่วงใยนั้นเป็นที่เข้าใจได้ แต่พ่อแม่อาจประเมินวิจารณญาณของลูกวัยรุ่นต่ำเกินไป

 

 

ครั้งหนึ่ง โรเบิร์ต เอปสไตน์ (Robert Epstein) อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Psychology Today ออกแบบ “แบบทดสอบความเป็นผู้ใหญ่” เพื่อประเมินทัศนคติต่อความรัก วัดความเป็นผู้นำ ทักษะระหว่างบุคคล และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และพบว่าวัยรุ่นได้คะแนนเท่าๆ กับผู้ใหญ่ สอดคล้องกับงานวิจัยในปี 1982 ของโลอิส เอ. ไวต์ฮอร์น (Lois A. Weithorn) เพื่อทดสอบทักษะการตัดสินใจของเด็กวัย 9-21 ปี ไวต์ฮอร์นถามเด็กๆ ว่าจะจัดการสถานการณ์ที่เปราะบางและซับซ้อนอย่างไร อาทิ พวกเขาจะทำอย่างไรหากเด็กชายอายุ 14 ปีคนหนึ่งไม่พูดกับผู้ปกครองและขังตัวเองไว้ในห้องนานหลายสัปดาห์

ผลคือผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีอายุ 14 ปี ตัดสินใจคล้ายกลุ่มอายุ 18 ปี และ 21 ปี ทั้งยังใกล้เคียงกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่สุด คือเด็กคนดังกล่าวต้องได้รับการบำบัด ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือผู้เข้าร่วมการวิจัยอายุ 9 ปีครึ่งหนึ่งตอบคำถามเช่นนี้ด้วย กลุ่มอายุ 14 ปี จึงมีคะแนนความสามารถในการตัดสินใจเท่ากลุ่มอายุ 18 ปี และ 21 ปี โดยกลุ่มอายุ 9 ปีได้คะแนนน้อยกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

วิลเลียมและเน็ดอภิปรายผลการวิจัยนี้ว่า วัยรุ่นเพียงขาดองค์ความรู้เท่านั้น ไม่ได้ขาดวิจารณญาณ

อย่างไรก็ตาม วิจารณญาณของวัยรุ่นมีจุดอ่อนอยู่บ้าง คือแม้จะตระหนักถึงความเสี่ยงจากพฤติกรรมของตนเอง สมองของวัยรุ่นกลับสนใจ “ผลเชิงบวกที่จะได้จากการกระทำนั้น” (possible positive outcome) มากกว่า “ผลเชิงลบที่อาจเป็นไปได้” (potential risk) กล่าวคือวัยรุ่นมี “ความเป็นเหตุเป็นผลที่เกินเหตุ” (hyperrationality) หมายถึงการใช้เหตุผลโดยละเลยมิติที่ดูเป็นเหตุเป็นผลน้อยกว่า เช่น อารมณ์ ความรู้สึกเชิงกายภาพ ฯลฯ

 

วิจารณญาณของวัยรุ่นมีจุดอ่อนอยู่บ้าง คือแม้จะตระหนักถึงความเสี่ยงจากพฤติกรรมของตนเอง สมองของวัยรุ่นกลับสนใจ “ผลเชิงบวกที่จะได้จากการกระทำนั้น” (possible positive outcome) มากกว่า “ผลเชิงลบที่อาจเป็นไปได้” (potential risk)

 

กล่าวโดยสรุป คือวัยรุ่นมีศักยภาพในการควบคุมตนเองและตัดสินใจสูงเกือบทัดเทียมผู้ใหญ่ แต่ขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ เหมือนคน “มีแวว” ด้านใดด้านหนึ่ง แต่มีข้อบกพร่องให้ขัดเกลา ทว่าแทนที่จะขัดเกลาพวกเขา พ่อแม่หลายคนเลือกกำกับชีวิตลูกวัยรุ่นเข้มงวดยิ่งขึ้น ไม่เปิดโอกาสให้เด็ก “รับผิด” และ “รับชอบ” จากการตัดสินใจของตน วันหนึ่งเมื่อพวกเขาหลุดลอยจากอกไปจนได้ หลายคนจึงไม่รู้จะจัดการตัวเองอย่างไร

กุญแจสู่การควบคุมตัวเองไม่ให้สารเสพติด หรือใช้อย่างมีวิจารณญาณของวัยรุ่น จึงเป็นการปลูกฝัง “ความสามารถในการกำกับดูแลตัวเอง” (sense of control)

 

จาก “ลูกเลือกได้” สู่ “ฉันเลือกได้”

 

วิลเลียมและเน็ดยืนยันว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่ใกล้บรรลุนิติภาวะมากที่สุด และต้องการข้อความ “พ่อแม่มั่นใจว่าลูกจะตัดสินใจในชีวิตได้ดี และจะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดได้” มากกว่าวัยไหนๆ ใช่ว่าวัยรุ่นจะไม่ผิดพลาด พวกเขาพลาดแน่ แต่ทุกครั้งที่เป็นเช่นนั้น วัยรุ่นจะได้พัฒนาสัญชาตญาณและความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง (self-awareness) โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ใหญ่ร่วมวิเคราะห์สาเหตุของความผิดพลาดโดยไม่กล่าวโทษหรือพูดว่า “ฉันบอกแล้วไง”

ทั้งความสามารถในการตัดสินใจ ความเข้าใจตนเอง และการแก้ไขปัญหา ล้วนเป็นคุณลักษณะของความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง หรือความเชื่อมั่นว่าตนเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตลอดจนสถานการณ์ที่เผชิญให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้ อันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้เด็ก “อยู่เองได้ โตเองเป็น” กล่าวคือมีความยืดหยุ่นและก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิตได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาหรือสิ่งยั่วยุใด

หนึ่งในวิธีบ่มเพาะความสามารถดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการปลูกฝังให้ลูกวัยรุ่นเชื่อว่า “ลูกเลือกได้” ตั้งแต่พวกเขายังเล็ก ให้เด็กๆ มีโอกาสตัดสินใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตั้งแต่การเลือกเครื่องแต่งกายถึงการกำหนดเวลาทำงานบ้านที่ทำให้ชีวิตประจำวันของตนราบรื่นที่สุด โดยพ่อแม่เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจและเป็นเบาะรองรับไม่ว่าผลการตัดสินใจของลูกจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ผู้ควบคุมชีวิตลูก

ให้เด็กๆ มีโอกาสตัดสินใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตั้งแต่การเลือกเครื่องแต่งกายถึงการกำหนดเวลาทำงานบ้านที่ทำให้ชีวิตประจำวันของตนราบรื่นที่สุด โดยพ่อแม่เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจและเป็นเบาะรองรับไม่ว่าผลการตัดสินใจของลูกจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ผู้ควบคุมชีวิตลูก

 

ฟังเรื่องราวของแมตต์ในหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น สักหน่อย แมตต์เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่แทบไม่มีโอกาสตัดสินใจในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับชีวิต ต่อไปนี้คือปากคำของแมตต์เมื่อเขาได้รับอิสระเป็นครั้งแรกในวัย 18 ปี

 

เมื่อผ่านช่วงม. 6 มาครึ่งทาง ผมก็อายุครบ 18 ปี แม่จึงเซ็นใบรับรองของโรงเรียนให้ผมเป็นผู้ปกครองตามกฎหมายเอง … ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมแม่ตัดสินใจทำแบบนี้ ผมคิดว่าแม่คงเชื่อในตัวผม เชื่อว่าผมกำลังจะเป็นผู้ใหญ่ในไม่ช้า

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด … ผมใช้มันแบบเต็มที่ไปเลยละ ยอดไปเลย เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์บริการนักเรียนจะเตรียมใบอนุญาตออกนอกโรงเรียนที่กรอกเรียบร้อยแล้วให้ผมทุกวัน ผมจะเดินเข้าไปที่ศูนย์ แซงนักเรียนที่ต่อแถวอยู่ รับใบอนุญาตแล้วออกมาเลย แม่อาจจะรู้ว่านี่จะทำให้ผมรู้สึกดีแค่ไหน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมรู้สึกว่าควบคุมอะไรได้บ้าง

 

แมตต์เพียงใช้อิสรภาพนั้นเพื่อออกจากโรงเรียนทุกวัน แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าเขาจะไม่ใช้มันเพื่อสิ่งอื่น เขามีชีวิตอุดมศึกษาลุ่มๆ ดอนๆ ต้องย้ายมหาวิทยาลัยบ่อยครั้ง แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ และยกความดีความชอบให้พ่อแม่ “ผมคงไม่เข้ามหาวิทยาลัยแต่แรกด้วยซ้ำถ้าพ่อแม่ไม่ได้ช่วยให้ผมค้นพบตัวเองด้วยการไม่ตามติดผมทุกฝีก้าว”

ขอให้พ่อแม่ท่องกฎสามข้อต่อไปนี้ไว้

1) “ลูกรู้จักตัวเองดีที่สุด”

2) “ลูกมีสมองนะ”

3) “ลูกอยากให้ชีวิตของตัวเองไปได้สวย”

 

 

แน่นอนว่าการปลูกฝังให้ลูกเชื่อว่า “ลูกเลือกได้” กล่าวคือมีทางเลือกเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นเสมอไม่ใช่การปล่อยปละละเลยหรือเอาอกเอาใจ พ่อแม่ยังมีสิทธิและความรู้สึกในฐานะพ่อแม่ และไม่ควรทิ้งมันไป หากลูกสาววัย 16 ปีดึงดันจะขับรถยนต์ไปคอนเสิร์ตต่างจังหวัดเวลากลางคืน พ่อแม่ยังห้ามปรามได้โดยอธิบายว่าเหตุใดตนจึงไม่เห็นด้วย แล้วหาทางออกร่วมกัน พ่อแม่บอกลูกวัยรุ่นที่ใช้โทรศัพท์จนค่าโทรศัพท์พุ่งสูงได้ว่าต่อไปนี้จะไม่ชำระค่าโทรศัพท์ให้ เพราะการทำเช่นนั้นไม่ใช่การสร้างเด็กที่เชื่อฟัง แต่เป็นการสร้างเด็กที่รู้ว่าต้องปฏิบัติตนและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร

การปลูกฝังให้ลูกเชื่อว่า “ลูกเลือกได้” ยังไม่ใช่การแทรกแซงหรือเสแสร้งว่าการตัดสินใจนั้นเป็นของลูกทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นของพ่อแม่อีกด้วย วิลเลียมและเน็ดอธิบายว่า “เด็กไม่ควรรู้สึกว่าตนเป็นส่วนขยายไร้วิญญาณของพ่อแม่” กล่าวคือเป็นผู้เติมเต็มความฝันและเป้าหมายของพ่อแม่ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีเป้าหมายหรือทางเลือกของตัวเอง

 

พ่อแม่บอกลูกวัยรุ่นที่ใช้โทรศัพท์จนค่าโทรศัพท์พุ่งสูงได้ว่าต่อไปนี้จะไม่ชำระค่าโทรศัพท์ให้ เพราะการทำเช่นนั้นไม่ใช่การสร้างเด็กที่เชื่อฟัง แต่เป็นการสร้างเด็กที่รู้ว่าต้องปฏิบัติตนและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร

 

การกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่เคารพลูก ลูกอาจเชื่อฟังและเห็นผลดีในระยะสั้น แต่มักแสวงหาหนทางต่อต้านในระยะยาว แม้การตัดสินใจนั้นดูเป็นการเลือกที่สมเหตุสมผลก็ตาม ลูกวัยรุ่นอาจจะโอนอ่อนผ่อนตามพ่อแม่จนประสบความสำเร็จและมีชีวิตราบรื่นกว่าเพื่อนวัยเดียวกันได้ แต่พวกเขาก็จะรู้สึกราวกับว่าความสำเร็จนั้นไม่ใช่ความสำเร็จของตัวเอง และไม่อาจพัฒนาความเชื่อมั่นในตัวเองที่จะเติบโตเป็นความเชื่อมั่นว่าตนควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้เลย  เมื่อถึงวันที่พวกเขาต้องจากบ้าน หลายคนจึงเถลไถลออกนอกลู่นอกทาง มีชีวิตวัยทำงานที่ต้องล้มลุกคลุกคลานไม่น้อย หรือไม่เคยรับผิดชอบชีวิตของตนได้จริง

รากที่ลึกที่สุดของการประคบประหงมลูกอยู่ที่สภาพจิตใจของพ่อแม่นั่นเอง พ่อแม่ที่ต้องการให้ตนเป็นที่ต้องการของลูกตลอดเวลามักอดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นลูกเจ็บปวดหรือลำบาก หากเป็นเช่นนั้น พ่อแม่ต้องเตือนตัวเองว่าพ่อแม่ดูแลลูกตลอดไปไม่ได้ ชีวิตของลูกไม่ใช่ชีวิตของพ่อแม่ และลูกก็จะไม่มีวันพร้อมผจญโลกโดยไม่เคยลองผิดลองถูกหรือสัมผัสความทุกข์มาก่อน การเฝ้าดูแลลูกมีแต่จะทำให้ลูกขาดความเคารพในตัวเอง เพราะกระทั่งคนที่อยู่ใกล้ชิดพวกเขาที่สุดอย่างพ่อแม่ยังไม่เคารพการตัดสินใจของพวกเขาเลย

พ่อแม่ที่ต้องการให้ตนเป็นที่ต้องการของลูกตลอดเวลามักอดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นลูกเจ็บปวดหรือลำบาก หากเป็นเช่นนั้น พ่อแม่ต้องเตือนตัวเองว่าพ่อแม่ดูแลลูกตลอดไปไม่ได้ ชีวิตของลูกไม่ใช่ชีวิตของพ่อแม่ และลูกก็จะไม่มีวันพร้อมผจญโลกโดยไม่เคยลองผิดลองถูกหรือสัมผัสความทุกข์มาก่อน การเฝ้าดูแลลูกมีแต่จะทำให้ลูกขาดความเคารพในตัวเอง เพราะกระทั่งคนที่อยู่ใกล้ชิดพวกเขาที่สุดอย่างพ่อแม่ยังไม่เคารพการตัดสินใจของพวกเขาเลย

 

หากพ่อแม่เข้าใจหลักการข้างต้นแล้ว ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ทำได้จริงเพื่อพัฒนาความรู้สึกว่า “ฉันเลือกได้” ให้ลูกวัยรุ่น อันเป็นสารตั้งต้นชนิดเดียวที่จะปกป้องพวกเขาจากการใช้สารเสพติดเกินขนาดหรือการใช้ชีวิตโดยขาดความยับยั้งชั่งใจทั้งยามจากบ้านเป็นครั้งแรก และตลอดชีวิต

 

  • บอกลูกว่า “ลูกรู้จักตัวเองดีที่สุด ไม่มีใครรู้จักลูกดีเท่ากับลูกแล้ว เพราะคนอื่นไม่รู้ว่าการเป็นลูกนั้นเป็นอย่างไรบ้าง”

  • หารือกับลูกในบางประเด็นที่เคยตัดสินใจกันในครอบครัวแล้ว แต่พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่ลูก เพื่อถามความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของลูก และทบทวนการตัดสินใจร่วมกันอีกครั้ง

  • ระดมสมองในครอบครัวว่าใครต้องการรับผิดชอบงานบ้านใด และต้องการทำในเวลาใด เช่น ลูกจะพาสุนัขไปเดิน หรือจะล้างจานดี ทำวันอาทิตย์หรือวันพุธดี ฯลฯ โดยลูกต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง

  • ถามลูกว่ามีปัญหาอะไรในชีวิตไหม ไม่ว่าจะเป็นการบ้าน เวลานอน หรือการจำกัดการใช้งานโทรศัพท์ หากมีปัญหา ลูกมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับปัญหานั้น มีวิธีแก้ไขอย่างไร หรือมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง

  • เล่าให้ลูกฟังว่ามีการตัดสินใจใดบ้างในที่พ่อแม่ทำในวัยรุ่น และพบว่าผิดพลาด พ่อแม่ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดในวัยนั้นบ้าง

  • พูดคุยกับลูกเพื่อบอกลูกว่าแท้จริงแล้วพวกเขามีความคิดที่สมเหตุสมผลเพียงใด ทบทวนร่วมกันว่ามีครั้งไหนที่พวกเขาตัดสินใจได้ดี หรือมีสังหรณ์รุนแรงต่อบางสิ่งแล้วสิ่งนั้นเป็นจริงบ้าง หากลูกสะดวกใจ ให้รวบรวมการตัดสินใจเหล่านั้นไว้ในบันทึก ให้พวกเขาได้ติดตามการเติบโตของตัวเอง ภาคภูมิใจในตัวเอง และเรียนรู้จากอดีตของตัวเอง

  • บอกลูกวัยรุ่นว่าต้องการให้ลูกฝึกใช้ชีวิตเองก่อนจากบ้านไปเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นหัดทำอาหาร ทำความสะอาดเครื่องแต่งกาย หรือทำงานบ้านบางอย่าง

  • ฝึกฝนลูกให้พร้อมรับผลกระทบจากการตัดสินใจของตัวเอง ด้วยการร่วมกันกำหนดกติกาในบ้าน พร้อมบทลงโทษหากฝ่าฝืนกติกา (อาทิ ห้ามเล่นเกมในคืนวันอังคาร)

  • ร่วมกันวางแผนเข้ามหาวิทยาลัยกับลูก ถามลูกว่าเห็นตัวเองในอนาคตเป็นอย่างไร หากต้องการเข้าคณะใดคณะหนึ่งและประสบความสำเร็จต่อไป ลูกรู้หรือไม่ว่าต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้าง ทำได้ตั้งแต่วัย 14-15 ปี ถึงอย่างน้อยหกเดือนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

  • ส่งเสริมให้ลูกมีประสบการณ์การทำงาน การช่วยเหลือผู้อื่น และการริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะด้วยการทำงานพิเศษ การเป็นอาสาสมัคร การร่วมกิจกรรมฝึกอบรม การประกวด หรือกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชนและในโรงเรียน โดยที่กิจกรรมนั้นๆ สอดคล้องกับแผนในอนาคตของลูกเอง และลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมนั้นๆ

  • เมื่อลูกกำลังจะจากบ้านไปเข้ามหาวิทยาลัย พูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมาว่าพ่อแม่ห่วงใยลูก บอกลูกว่าพ่อแม่กังวลเกี่ยวกับอะไรบ้าง และพ่อแม่จะติดตามความเป็นไปของลูกหรือสนันสนุนลูกได้อย่างไรโดยไม่เป็นการล้ำเส้น

  • เตรียมจิตใจพ่อแม่เองให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่าน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของลูกวัยรุ่น พร้อมกับที่จดจ่อกับชีวิตของตัวเองให้มาก บอกลูกวัยรุ่นเสมอว่าบ้านจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา รับฟังปัญหาของลูกวัยรุ่นโดยไม่ตัดสิน ไม่เห็นว่าความผิดพลาดครั้งใดครั้งหนึ่งมีที่มาจากตัวตนของลูก แต่เป็นเพียงความผิดพลาดที่แก้ไขได้ด้วยการเรียนรู้ และเสนอความช่วยเหลือให้ลูกเลือกรับ โดยมีเป้าหมายคือความสามารถในการพึ่งพาตนเองของลูก

 

สำรวจแนวทางเลี้ยงลูกให้ “อยู่เองได้ โตเองเป็น”

ใน อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

(The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control over Their Lives)

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่