[กาแฟดำ] จีน 5.0 กับ “สีโคโนมิกส์”

 

เรื่อง: สุทธิชัย หยุ่น

 

 

ผมได้รับหนังสือ China 5.0: สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI เขียนโดยอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แค่พาดหัวผมก็ต้องรีบหยิบอ่านแล้ว ยิ่งเห็นเป็นการรวมบทความเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับจีน ผมยิ่งต้องนั่งลงอ่านเกือบจะทันที

เห็นชื่อคนเขียน ผมก็รู้ว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับจีนที่ทันสมัย เพราะผมเคยเชิญอาจารย์อาร์มมาวิเคราะห์การเมืองและเศรษฐกิจจีนเป็นระยะๆ ทาง Suthichai Live ของเฟซบุ๊กไลฟ์ จึงรู้ว่าท่านเกาะติดเรื่องเมืองจีนอย่างลึกซึ้งและที่สำคัญคือวิเคราะห์รอบด้าน

อาจารย์อาร์มเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่พยายามนำวิชาการมาเล่าเรื่องให้คนทั่วไปฟังรู้เรื่อง

ท่านเรียนปริญญาตรีในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปริญญาโทด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจาก Harvard Law School และปริญญาเอกด้านกฎหมายและการพัฒนาจาก Stanford Law School

อาจารย์อาร์มเคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทุกวันนี้อาจารย์กลับมาประจำคณะนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการที่ “เชี่ยวชาญ” ประเทศใดมักถูกมองว่า “เชียร์” หรือ “ต่อต้าน” ประเทศนั้นๆ แต่อาจารย์อาร์มดำรงไว้ซึ่งความเป็น “นักสังเกตการณ์” และ “นักพิเคราะห์” ที่เก็บข้อมูลทุกด้านอย่างละเอียด ชี้ให้เห็นถึงทั้งด้านบวกและลบ ด้านน่าชื่นชมและน่าวิพากษ์ ทำให้เห็นภาพของจีนวันนี้ชัดเจนขึ้น แม้จะฟันธงในทุกประเด็นไม่ได้เพราะทุกอย่างมีมุมมองได้มากกว่าหนึ่งแน่นอน

แต่การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้การติดตามข่าวคราวจากเมืองจีนสนุกและได้สาระ

พูดง่ายๆ คือถ้าฟังและอ่านสิ่งที่อาจารย์อาร์มนำเสนอจะ “รู้ทันจีน”

การ “รู้ทันจีน” เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดในจังหวะที่ประเทศจีนกำลังผงาดในเวทีโลก และภายใต้การนำของสีจิ้นผิงซึ่งเป็นรุ่นที่ 5 จีนได้ปรับบทบาทในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ทุกบทในหนังสือเล่มนี้สะท้อนมุมมองที่ให้ความรู้และแนววิเคราะห์ที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงในจีนและในเวทีสากล ไม่ยึดหลักทฤษฎีแบบนักวิชาการปกติอื่นๆ

ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ อาจารย์อาร์มบอกว่า “ข่าวตะวันตกมักเปรียบเทียบสีจิ้นผิงกับเหมาเจ๋อตุง แต่สีจิ้นผิงไม่ใช่เหมาเจ๋อตุง

หลายคนกลัวว่าถ้าสีจิ้นผิงซึ่งบัดนี้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเกิดดำเนินนโยบายผิดพลาดแบบเหมาเจ๋อตุง ประเทศจีนคงถึงคราวพังแน่ แต่จนบัดนี้ สีจิ้นผิงยังไม่ได้ดำเนินนโยบายอะไรที่ผิดพลาดร้ายแรงเลย ตรงกันข้าม นโยบายของสีจิ้นผิงล้วนเป็นนโยบายกระแสหลัก สีจิ้นผิงยังคงเดินหน้าเศรษฐกิจกลไกตลาดของจีน

(ไม่มีทีท่าจะบ้ากลับไปเศรษฐกิจคอมมูนแบบเหมา และยังเดินหน้าพาจีนเข้าสู่สมัยใหม่ ไม่มีทีท่าจะบ้ากลับไปปฏิวัติวัฒนธรรมแบบเหมา)”

อีกบทหนึ่งที่ถามว่าคนจีนมองสีจิ้นผิงอย่างไร อาจารย์อาร์มวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในประเด็นนี้คนจีนอาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ

  1. พวกเสี่ยวหยาง ไม่แคร์ เพราะการเมืองจีนเป็นเรื่องไกลตัว
  2. พวกเสี่ยวฮุ่ย อึดอัด เพราะสังคมจีนเป็นภาพมายา
  3. พวกเสี่ยวฟ่าน รับได้ เพราะระบบจีนเหมาะกับสังคมจีน
  4. พวกเสี่ยวปิง รักเลย เพราะชอบใจท่านประธานสี

ภายใต้หัวข้อ “40 ปีของการปฏิรูป จีนทำได้อย่างไร” อาจารย์อาร์มอ้างความเห็นของศาสตราจารย์เหยาหยางแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นักเศรษฐศาสตร์มีชื่อเสียงของจีนที่ให้เหตุผลไว้สามข้อ คือ

  1. รัฐบาลจีนเป็นนักปฏิบัติและนักทดลอง ไม่บ้าทฤษฎีและลัทธิความเชื่อ
  2. จีนตอนเริ่มต้นพัฒนายังไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ขัดขวาง และ
  3. การกระจายอำนาจการคลังให้รัฐบาลท้องถิ่น

แต่อาจารย์อาร์มก็เตือนว่าหากจะเรียนรู้จากจีนหรือจะทำอย่างจีน “ก็อยากขอเตือนให้ดูให้ลึกซึ้ง อย่าเลียนแบบผิวเผิน พอเห็นเรานั่งวางแผนยุทธศาสตร์ฉบับแล้วฉบับเล่า ก็ต้องถามด้วยว่าเราเป็นนักปฏิบัติ นักทดลอง และนักปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างยืดหยุ่นหรือไม่ พอเห็นเราพูดเช้าพูดค่ำว่าจะปฏิรูป ก็ต้องถามต่อว่าเราจะรับมือกลุ่มผลประโยชน์อย่างไร และพอเห็นหลายพรรคมีนโยบายจะกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็อดถามไม่ได้ว่าจะกล้ากระจายระบบการคลังและการใช้จ่ายงบประมาณด้วยหรือไม่”

หัวข้ออื่นๆ ที่น่าติดตามไม่น้อยไปกว่าเรื่องที่ผมยกมาเล่าให้ฟัง เช่น “ศาสตร์และศิลป์ของสีโคโนมิกส์” หรือ “ยุทธศาสตร์ One Belt One Road” กับ “แผนการใหญ่ AI 2030 เมื่อหุ่นยนต์กุมอนาคตจีน”

แต่ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ “บทส่งท้าย: จีน vs สหรัฐฯ ใครครองอนาคต?”

นับเป็นหัวข้อที่ผมสนใจและพยายามหาข้อมูลและบทวิเคราะห์หลายๆ สำนักมาอ่าน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็น ระเบียบโลกใหม่ ที่เกิดจากบทบาทของสีจิ้นผิงในเวทีโลกประกอบกับการขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์

อาจารย์ไม่ได้ฟันธงว่าอนาคตโลกจะอยู่ในมือของมหาอำนาจใด แต่ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าฟังว่า

เราต้องไม่หลงยอยกพญามังกรหรือพญาอินทรีเกินจริง แม้ว่าจีนจะรุกคืบขยายอิทธิพล แต่สหรัฐฯ ยังถือไพ่เด็ดหลายใบที่จีนไม่มี ในขณะเดียวกัน ภายในสหรัฐฯ เองก็มีความเปราะบางทางการเมืองและเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการขยายอิทธิพลของจีน…

อาจารย์อาร์มบอกว่าสหรัฐฯ ยังมี สี่ไพ่เด็ด เหนือจีนตามแนววิเคราะห์ของโจเซฟ นาย (Joseph Nye) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เขียนลงใน Financial Times นั่นคือ

  1. ที่ตั้งของสหรัฐฯ เข้าถึงมหาสมุทรทั้งสองฝั่ง และมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แคนาดาและเม็กซิโก ต่างกับจีนที่มีอาณาเขตติดกับ 14 ประเทศ มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับเขตแดนกับหลายประเทศ เช่น อินเดีย, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, ปัญหาไต้หวันและปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
  2. ความมั่นคงทางพลังงาน เพราะอเมริกาใช้เทคโนโลยีสำรวจและขุดเจาะเจอน้ำมันดิบในชั้นหิน (shale oil) ปริมาณมหาศาล ทำให้สหรัฐฯ ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน แต่จีนยังต้องอาศัยน้ำมันจากตะวันออกกลาง
  3. จีนพึ่งพิงสหรัฐฯ มากกว่าสหรัฐฯ พึ่งพิงจีนในเรื่องการค้า มีการประเมินกันว่าถ้าสงครามเกิดในเอเชียจนการค้าหยุดชะงัก สหรัฐฯ จะเสียหายด้านเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 5% ของจีดีพี แต่จีนจะเสียหายสูงถึง 25% ของจีดีพี
  4. ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก เพราะทุนสำรองของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีเพียง 1.1% ที่เป็นสกุลเงินหยวน อีก 64% เป็นสกุลดอลลาร์

แต่จีนก็มี “ไพ่เด็ด” ของตัวเองเหมือนกัน อาจารย์ยกเอาแนววิเคราะห์ของเอียน เบรมเมอร์ (Ian Bremmer) คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์การต่างประเทศชื่อดังที่เขียนบทความให้นิตยสารไทม์พาดหัวว่า “เศรษฐกิจจีนกำลังจะครองโลก”

เขาอ้างว่าจีนมีไพ่เด็ด 4 ใบเหมือนกัน

  1. เงินทุนใหญ่ที่ควบคุมโดยรัฐ
  2. ความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
  3. จีนกุมเทคโนโลยีแห่งอนาคต
  4. อิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

อาจารย์อาร์มมองว่าเหตุผลเชียร์สหรัฐฯ เรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศนั้นไม่อาจจะประมาทจีนได้ เพราะปักกิ่งก็พยายามจะส่งเสริมให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในระบบนานาชาติ รวมทั้งทุ่มเงินวิจัยมหาศาลในเรื่องพลังงานสะอาด

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่ามหาอำนาจโลกอาจเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว เช่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ค่อยมีใครเห็นว่าสหรัฐฯ จะมาเป็นผู้นำโลกได้

แต่ด้านเชียร์จีนนั้น อาจารย์อาร์มก็ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องแปลก ที่มองว่าจีนซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยจะสามารถรักษาเสถียรภาพสังคมได้ดีกว่าสหรัฐฯ เพราะรัฐบาลจีนสามารถแทรกแซงเศรษฐกิจเพื่อสร้างงานหรือคุ้มครองธุรกิจไม่ให้ล้มจนกลายเป็นวิกฤตได้ ต่างจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ เมื่อปี 2007-2008 อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นในสังคมอเมริกัน

เมื่อต่างฝ่ายต่างมี ไพ่เด็ด ของตัวเอง การประเมินว่ามหาอำนาจใดจะครองโลกในวันข้างหน้าจึงเป็นเรื่องท้าทาย

อาจารย์อาร์มบอกว่าอาจถึงเวลาที่เราต้องปรับโลกทัศน์สำหรับโลกใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร

จีนก้าวกระโดดไปหลายด้านจนทำให้หลายคนตามไม่ทันหรือมองจีนในกรอบเก่า

จีนอาจอ่อนแอในระบบการเมืองและเศรษฐกิจอำนาจนิยม แต่ก็มีความแข็งแกร่งและอิทธิพลในรูปแบบต่างๆ ทั่วโลก

อเมริกาอาจมีเทคโนโลยีล้ำหน้ากว่า แต่ก็ต้องเจอกับความท้าทายมากมายหลายด้าน ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งอีกหลายทางที่จีนเจาะไม่เข้าในวันนี้เช่นกัน

ผมยังอยากได้แนววิเคราะห์จากนักคิดนักวิเคราะห์ของเอเชียโดยเฉพาะจากจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้ และอาเซียนในหัวข้อนี้ก่อนที่จะหาข้อสรุปให้ชัดเจนได้

แน่นอนว่าปัจจัยที่เรากำลังวิเคราะห์กันอยู่วันนี้อาจจะแปรเปลี่ยนไปได้อย่างคาดไม่ถึงหากสถานการณ์พลิกผันไปอีกด้านหนึ่ง

หัวข้อนี้จึงน่าติดตามน่าถกแถลงอย่างต่อเนื่องยิ่งนัก

ใครสนใจเรื่องจีนไม่ว่าในประเด็นใด ติดตามหาอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ได้นะครับ

 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “กาแฟดำ” หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

ตอนที่ 1 จีน 5.0 กับ “สีโคโนมิกส์”

ตอนที่ 2 จีน vs มะกัน: ใครจะครองโลกอนาคต?