ฝันให้ไกล ไปให้ถึง! เติบโตพร้อมจุดมุ่งหมาย ด้วยเคล็ด (ไม่) ลับฉบับซัมมิต

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

การมีจุดมุ่งหมายในชีวิตนั้นไม่ใช่เพียงการเข้าร่วมการฝึกอบรมวิชาชีพหนึ่งหรือการมุ่งสู่ผลลัพธ์หนึ่งๆ แต่หมายถึงการมุ่งสู่วิสัยทัศน์แห่งอนาคตของตนเอง การมีจุดมุ่งหมายในชีวิตจะสร้างแรงจูงใจทั้งต่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาโลกของตน เมื่อเด็กคนหนึ่งขับเคลื่อนชีวิตด้วยจุดมุ่งหมายของตนเอง เขาหรือเธอจะมีความใฝ่เรียนรู้ ความพอใจในชีวิต ความเข้าใจตนเอง และความสำเร็จในอาชีพมากกว่าเด็กที่ไม่มีจุดมุ่งหมายใดๆ

— แอนเจลา ดั๊กเวิร์ธ นักจิตวิทยา

 

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย” บทกวีที่หลายคนคุ้นเคย แสดงความกระตือรือร้นจะบุกเบิกเส้นทางของตนในโลกอันกว้างใหญ่ จบลงด้วยสองวรรคทองแสนเศร้า “ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”

ปลายทางการศึกษาที่ลงเอยด้วยใบปริญญาหนึ่งแผ่น ไม่ยึดโยงกับความหลงใหลใฝ่ฝันใดๆ ของเด็กคนหนึ่ง ไม่อาจฉายความหวังแห่งอนาคตให้เขาหรือเธอได้เห็น และไม่จุดประกายให้รู้ว่าพวกเขาจะใช้องค์ความรู้ที่เก็บเกี่ยวมาให้เป็นคุณแก่ตัวและสังคมได้อย่างไร ช่างเป็นปลายทางที่ว่างเปล่าและไร้ความหมาย

และเป็นปลายทางที่ไดแอน ทาเวนเนอร์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนในเครือซัมมิต ตลอดจนผู้เขียนหนังสือ Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต ไม่ปรารถนาให้เป็นชานชาลาสุดท้ายของเด็กคนใดก็ตามในการดูแลของเธอ

 

 

ไม่เพียงนักเรียนเท่านั้นที่ซัมมิตหมายมั่นจะพัฒนาให้เต็มศักยภาพ โรงเรียนอันล้ำหน้าแห่งนี้มุ่งมั่นพัฒนาครูของตนเช่นกัน ด้วยความเชื่อว่าครูที่มีคุณภาพและใฝ่รู้จะเป็นแบบอย่างของผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตที่ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้ ในโรงเรียนจึงมี “ชั้นหนังสือเพื่อความผู้นำ” ที่เหล่าครูจะได้อ่านและถกเถียงกันเพื่อปรับใช้องค์ความรู้ดังกล่าวในชั้นเรียนของตน

หนึ่งในหนังสือที่ไดแอนสนใจมากที่สุดและได้นำองค์ความรู้ในหนังสือมาปรับใช้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กๆ คือ Drive โดยแดเนียล พิงก์ (Daniel Pink) หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า ความชำนาญรอบรู้ อำนาจในตนเอง และการมีจุดมุ่งหมายในชีวิตนั้น เป็นเครื่องสร้างแรงจูงใจที่ดีที่สุดของมนุษย์

ความชำนาญรอบรู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีและเชี่ยวชาญ อำนาจในตนเองเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ควบคุมหรือกำหนดทิศทางของตนเองได้ ขณะที่จุดมุ่งหมายในชีวิตนั้นปรากฏเมื่อมนุษย์มีเหตุผลรองรับการกระทำของตนซึ่งสะท้อนตัวตนของคนผู้นั้นจริงๆ

ซัมมิตนั้นประสบความสำเร็จในการสร้างความชำนาญรอบรู้แก่นักเรียนอย่างไม่ต้องสงสัย รวมถึงอำนาจในตนที่ถึงพร้อม เพราะนักเรียนจะได้ทำความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตน และออกแบบการเรียนรู้ของตนเองด้วยคำแนะนำของครูพี่เลี้ยงผู้ใส่ใจ ตลอดจนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางการศึกษา และได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนอย่างเต็มที่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายทางวิชาการของตน

เหลือเพียงการมีจุดมุ่งหมายในชีวิต (sense of purpose) เท่านั้นที่อาจต้องอาศัยกลไกในโรงเรียนเพื่อผลักดันสักหน่อย และนั่นคือที่มาของเคล็ด (ไม่) ลับ การสร้างจุดมุ่งหมายในชีวิต ที่ซัมมิตได้เผยแพร่สู่โรงเรียนอื่นๆ ผ่านโครงการซัมมิตเลิร์นนิ่ง (Summit Learning) หรือโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างซัมมิตและโรงเรียนอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา

 

ความชำนาญรอบรู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีและเชี่ยวชาญ อำนาจในตนเองเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ควบคุมหรือกำหนดทิศทางของตนเองได้ ขณะที่จุดมุ่งหมายในชีวิตนั้นปรากฏเมื่อมนุษย์มีเหตุผลรองรับการกระทำของตนซึ่งสะท้อนตัวตนของคนผู้นั้นจริงๆ

 

จะสร้างการเติบโตพร้อมจุดมุ่งหมายได้อย่างไร

ด้วยความหวังว่าเด็กๆ ทุกคนจะสำเร็จการศึกษาโดยมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ชัดเจน ไดแอนและคณาจารย์ซัมมิตจึงระดมสมองเพื่อตอบคำถามว่า “การมีจุดมุ่งหมาย” นั้นเป็นอย่างไร สำหรับพวกเขา การมีจุดมุ่งหมายในชีวิต หมายถึงการเข้าใจความสนใจของตนเอง คุณค่าที่ตนยึดถือ ตลอดจนทักษะที่ตนมีและยังบกพร่อง จนสามารถออกแบบเส้นทางชีวิตที่ยึดโยงกับความสนใจ คุณค่า และทักษะเหล่านั้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวที่สอดคล้องกับองค์ประกอบสามประการข้างต้นได้ ด้วยการสนับสนุนของครอบครัว ครู และกัลยาณมิตรทั้งหลาย

 

 

องค์ประกอบที่ไดแอนระบุว่านำไปสู่การเติบโตอย่างมีจุดมุ่งหมายนั้น ประกอบด้วย

 

  1. การรู้จักและเข้าใจตนเอง ตนมีความสนใจเกี่ยวกับอะไรบ้าง มีทักษะใดและยังไม่มีทักษะใด มีความเชี่ยวชาญด้านใด มีบุคลิกภาพและอุปนิสัยอย่างไร โดยนักเรียนควรมีเวลาสำรวจความสนใจที่หลากหลาย และควรมีทักษะที่จำเป็นต่อการสืบเสาะหาความรู้ อาทิ ทักษะการค้นคว้าข้อมูล ตลอดจนมีโอกาสลองผิดลองถูก และไล่ตามความสนใจนั้นๆ
  2. มีคุณค่าที่ตนยึดถือ นักเรียนควรเข้าใจก่อนสำเร็จการศึกษาและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ว่าพวกเขาให้คุณค่าแก่สิ่งใด เช่น ความยุติธรรมทางสังคม เสรีภาพทางวิชาการ ความเสมอภาคทางการศึกษา ฯลฯ และจะมีชีวิตที่ เติมเต็ม โดยสัมพันธ์กับคุณค่านั้นๆ ได้อย่างไร
  3. มีสายสัมพันธ์อันทรงคุณค่า เพราะมนุษย์ย่อมไม่อาจใช้ชีวิตลำพังบนโลก ไดแอนจึงหวังอีกด้วยว่านักเรียนของเธอจะเห็นคุณค่าของสายสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ และมุ่งมั่นสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและทรงคุณค่ากับผู้คนที่พร้อมเกื้อกูลกันและกันให้บรรลุเป้าหมายของตนเอง
  4. มีเส้นทางสู่เป้าหมายที่ชัดเจน คุณลักษณะหนึ่งของผู้มีจุดมุ่งหมายในชีวิตคือความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง และผู้มีความเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ก็จะกำหนดเส้นทางที่นำไปสู่ปลายทางอันพึงปรารถนาของตนได้ ด้วยการกำหนดเป้าหมายระยะสั้นอย่างรัดกุม ระยะเวลาที่ตนมุ่งมั่นจะบรรลุแต่ละเป้าหมาย รวมถึงขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อจำเป็น เพื่อผลักดันตนเองสู่ความสำเร็จนั้นในที่สุด
  5. ความช่วยเหลือเมื่อถึงจุดเปลี่ยนผ่าน ชีวิตนั้นไม่คงที่และเต็มไปด้วยจุดเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าการสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย การมีคู่ครอง การมีบุตร การหย่าร้าง หรือการเปลี่ยนอาชีพ การมีแผนที่ชัดเจนเพื่อนำทางตนเองข้ามจุดเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนกำลังใจและความช่วยเหลือจากกัลยาณมิตร จะทำให้มนุษย์ยึดมั่นในเป้าหมายของตนได้ และมีก้าวที่ไม่แคลนคลอน

หากสามารถพัฒนาให้เด็กๆ ให้มีจุดมุ่งหมายที่ค้ำจุนด้วยองค์ประกอบเหล่านี้แล้ว ไดแอนเชื่อว่าพวกเขาจะ “มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนและมั่นคง เพื่อบรรลุเป้าหมายซึ่งมีความหมายต่อตนเองและจะส่งผลกระทบต่อโลกที่ตนอาศัย” อันเป็นคำจำกัดความ “จุดมุ่งหมาย” ของวิลเลียม แดมอน (William Damon) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อย่างแน่นอน

 

แล้วซัมมิตสร้างจุดมุ่งหมาย
ในชีวิตของนักเรียนผ่านกลไกใด

แน่นอนว่าการมีจุดมุ่งหมายชัดเจนในชีวิตไม่ใช่คุณสมบัติที่เด็กคนหนึ่งจะมีได้อย่างปุบปับ ทว่าต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจากผู้ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญและความเข้าใจ โดยซัมมิตไม่รอช้าที่จะสร้างกลไกในโรงเรียนเพื่อสนับสนุนการมีจุดมุ่งหมายของเยาวชน ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้

 

 

การฝึกกำหนดเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

นักเรียนที่ซัมมิตจะได้ฝึกฝนกำหนดเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงงานที่พวกเขาจะลงลึกศึกษา โดยต้องเป็นหัวข้อที่ท้าทายและยึดโยงกับชีวิตประจำวันของตนเอง หรือการกำหนดแผนการเรียนรู้ส่วนบุคคลร่วมกับครูพี่เลี้ยง โดยเด็กๆ จะมีโอกาสพบครูพี่เลี้ยงผู้ได้รับการฝึกฝนให้สามารถให้คำแนะนำอย่างตรงจุด รวมถึงสนับสนุนการสะท้อนคิดของพวกเขาเป็นประจำทุกสัปดาห์

เด็กๆ จึงเชื่อมโยงการตัดสินใจเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะสั้นเข้ากับเป้าหมายในระยะยาวกว่าได้ เช่น การทำความเข้าใจประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างลึกซึ้งขณะที่ยังอยู่ในโรงเรียน เพื่อการเรียนในมหาวิทยาลัยหรือการฝึกอาชีพ ฯลฯ ทั้งนี้ เพราะพวกเขาสามารถติดตามการเรียนรู้ของตนได้เสมอในแพลตฟอร์มที่โรงเรียนจัดทำเพื่อบันทึกเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กๆ จึงเข้าใจว่าความพยายามในแต่ละวันของตนมีความหมายต่ออนาคตอย่างไร

 

พวกเขาสามารถติดตามการเรียนรู้ของตนได้เสมอในแพลตฟอร์มที่โรงเรียนจัดทำเพื่อบันทึกเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กๆ จึงเข้าใจว่าความพยายามในแต่ละวันของตนมีความหมายต่ออนาคตอย่างไร

 

การมีครูพี่เลี้ยงผู้ห่วงใย

ครูพี่เลี้ยงของเด็กๆ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดของซัมมิต โดยเด็กๆ ทุกคนจะมีครูพี่เลี้ยงของตนเอง ครูพี่เลี้ยงจะได้เยี่ยมบ้าน ทำความรู้จักครอบครัว และทำความเข้าใจวิถีชีวิต ภูมิหลัง ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่เด็กคนนั้นๆ ต้องเผชิญ นอกจากนี้ ครูพี่เลี้ยงยังมีโอกาสดูแลพวกเขาตลอดสี่ปีในรั้วโรงเรียน โดยจะได้พบกันทุกสัปดาห์เพื่อให้คำปรึกษาอย่างเข้าใจ

บทสนทนาเพื่อการสะท้อนคิดกับครูพี่เลี้ยงผู้ผ่านการฝึกฝนอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กๆ รู้จักตนเองลึกซึ้งยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น เด็กๆ กลุ่มที่มีครูพี่เลี้ยงคนเดียวกัน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ เพศสภาพ และความสนใจ ยังจะได้พบปะกันเป็นประจำด้วย การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันย่อมขัดเกลาบุคลิกภาพและพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เด็กๆ เหล่านี้จึงพร้อมเกื้อกูลกันและกันให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวของตนเอง

 

เด็กๆ กลุ่มที่มีครูพี่เลี้ยงคนเดียวกัน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ เพศสภาพ และความสนใจ ยังจะได้พบปะกันเป็นประจำด้วย การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันย่อมขัดเกลาบุคลิกภาพและพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

 

 

การแสวงหาประสบการณ์ชีวิต
ผ่าน การออกสำรวจ การฝึกอาชีพ
และ การบริการชุมชน

นับแต่การก่อตั้ง ซัมมิตให้ความสำคัญแก่การเปิดโอกาสให้นักเรียนลองผิดลองถูกขณะสำรวจและไล่ตามความสนใจที่หลากหลายของตนเอง โดยเฉพาะในการ ออกสำรวจ หรือการดำดิ่งศึกษาประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ผ่านการลงพื้นที่หรือการทำกิจกรรมนอกโรงเรียน

ซัมมิตจัดการออกสำรวจเป็นรายวิชาเลือกอันละลานตา ทั้งยังอนุญาตให้เด็กๆ ออกแบบการออกสำรวจใหม่หากพวกเขาไม่พอใจทางเลือกที่โรงเรียนเสนอ ขอเพียงเด็กๆ พร้อมรับความท้าทายในการสร้างรายวิชาที่มีมาตรฐานสูง โดยที่ผ่านมามีนักเรียนซัมมิตที่ทำสำเร็จจริงๆ อาทิ นักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ออกแบบ “สหประชาชาติจำลอง” ให้เพื่อนๆ และน้องๆ ได้เรียนรู้วิธีการดำเนินงานในองค์การสหประชาชาติอย่างลึกซึ้ง

 

ซัมมิตจัดการออกสำรวจเป็นรายวิชาเลือกอันละลานตา ทั้งยังอนุญาตให้เด็กๆ ออกแบบการออกสำรวจใหม่หากพวกเขาไม่พอใจทางเลือกที่โรงเรียนเสนอ ขอเพียงเด็กๆ พร้อมรับความท้าทายในการสร้างรายวิชาที่มีมาตรฐานสูง

 

นอกจากนี้ ซัมมิตยังร่วมมือกับสถานประกอบการในท้องถิ่นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพในชุมชน โดยหลังฝึกประสบการณ์วิชาชีพ พวกเขาจะได้หารือกับครูพี่เลี้ยงเพื่อหาคำตอบว่าอาชีพนั้นๆ ตอบโจทย์และนำพวกเขาไปสู่เป้าหมายระยะยาวของตนได้หรือไม่ ยิ่งกว่านั้น เด็กๆ ยังมีโอกาสบริการชุมชนร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ นำไปสู่การค้นพบคุณค่าที่ตนยึดถือ ทั้งยังสร้างความผูกพันระหว่างเด็กๆ กับชุมชนซึ่งจูงใจให้พวกเขาเป็นผู้สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม และพร้อมสร้างความร่วมมือกับผู้อื่นด้วย

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กๆ มีจุดมุ่งหมายในชีวิต

นอกจากแนวทางพัฒนาเด็กๆ ให้สามารถเติบโตพร้อมจุดมุ่งหมายในชีวิตแล้ว ซัมมิตยังมีกลไกประเมินจุดมุ่งหมายในชีวิตของพวกเขาด้วย ดังนี้

 

ประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงานนักเรียน (Portfolio)

การประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงานนักเรียนเป็นการประเมินที่ง่ายที่สุดและสะดวกที่สุดสำหรับเด็กๆ เพราะพวกเขามีแพลตฟอร์มติดตามการเรียนรู้ของตนซึ่งจัดเก็บหลักฐานการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการสนทนากับครูพี่เลี้ยง หรือหลักฐานการเรียนรู้นอกโรงเรียน จึงจัดทำแฟ้มสะสมผลงานได้รวดเร็ว

นักเรียนจะเป็นผู้จัดทำแฟ้มสะสมผลงานของตนร่วมกับครูพี่เลี้ยง ตลอดจนร่วมกันวิเคราะห์ผลการเรียนรู้ว่านำไปสู่เป้าหมายระยะยาวได้มากน้อยเพียงใด ในที่สุด แฟ้มสะสมผลงานจะได้รับการประเมินโดยใช้เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่คณาจารย์ออกแบบอย่างพิถีพิถัน ร่วมกับการสอบความคืบหน้าปากเปล่าโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนบุคคลในภาคการเรียนแรกของปีการศึกษาสุดท้ายในโรงเรียน

 

การจัดตั้งคณะกรรรมการที่ปรึกษาส่วนบุคคล
(Personal Advisory Board)

เมื่อเด็กๆ ใกล้สำเร็จการศึกษา พวกเขาต้องจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนบุคคลโดยคัดเลือกจากสมาชิกครอบครัว ครู ครูพี่เลี้ยง ผู้ดูแลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และบุคคลอื่นที่มีความสำคัญในชีวิต คนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ดูและช่วยเหลือพวกเขา ทั้งยังพร้อมผลักดันเด็กๆ ต่อไปในอนาคต โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้ช่วยปรับปรุงแฟ้มสะสมผลงาน และเป็นกลุ่มผู้ประเมินหลักในการสอบความคืบหน้าปากเปล่า

ระหว่างการสอบความคืบหน้าปากเปล่านั้น คณะกรรมการมีหน้าที่ถามคำถามต่อไปนี้

 

  • การนำเสนอแฟ้มสะสมผลงานด้วยวาจาวันนี้สะท้อนความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง (self-awareness) ของนักเรียนอย่างไร และความรับรู้ต่อตนเองของนักเรียน (self-perception) สอดคล้องกับความรับรู้ของคณะกรรมการต่อนักเรียนหรือไม่
  • เป้าหมายระยะยาวของนักเรียนสมเหตุสมผลหรือไม่ หากพิจารณาจากตัวตนของนักเรียนในวันนี้ แผนการดำเนินชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวของนักเรียนเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด มีความมุ่งมั่นเพียงพอหรือไม่ และสอดคล้องกับตัวตนของนักเรียนหรือยัง
  • แผนที่นักเรียนกำหนดนั้นเพียงพอจะนำนักเรียนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวหรือไม่ เหตุผลที่นักเรียนนำเสนอน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการมากน้อยเพียงใด

 

 

การสอบความคืบหน้าปากเปล่า (Oral Defense)

การสอบความคืบหน้าปากเปล่าในภาคการเรียนแรกก่อนพวกเขาสำเร็จการศึกษาเป็นโอกาสที่เด็กๆ จะได้นำเสนอหลักฐานการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในแฟ้มสะสมผลงานของตนเอง โดยการสอบประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

 

  • นักเรียนต้องบรรยายการเดินทางตลอดสี่ปีในโรงเรียนโดยย่อ พวกเขาผ่านรายวิชาใดบ้าง ได้จัดทำโครงงานใดบ้าง และได้เรียนรู้อะไรบ้าง พวกเขามีจุดอ่อนและจุดแข็งอย่างไร และจะพัฒนาตนเองต่อไปอย่างไรบ้าง ความสนใจและความหลงใหลใฝ่ฝันของพวกเขาได้แก่อะไรบ้าง
  • นักเรียนต้องตอบคำถามเกี่ยวกับจุดเปลี่ยนผ่านที่จะมาถึงเมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษาจากซัมมิต พวกเขาจะก้าวต่อไปบนเส้นทางใด และความตั้งใจนั้นสอดคล้องเพียงใดกับเป้าหมายระยะยาวของตนเอง ตลอดจนคุณค่าที่เด็กๆ ยึดถือ โดยเด็กๆ ต้องเป็นผู้อธิบาย (รวมถึงแก้ต่าง) ให้แก่ทางเลือกทั้งในอดีตและอนาคตของตนเอง
  • ความคิดเห็นของนักเรียนต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนบุคคลผู้ให้การสนับสนุนพวกเขาเสมอมา ตลอดจนพร้อมให้ความช่วยเหลือพวกเขาในอนาคต นักเรียนต้องระบุความช่วยเหลือที่พวกเขาต้องการจากคณะกรรมการ (หรือจะเพียงขอบคุณก็ได้) และจากนั้นคณะกรรมการจะให้คำมั่นต่อสาธารณะว่าจะช่วยเหลือเด็กคนดังกล่าวต่อไป

 

ผู้ใหญ่อาจเป็นผู้จัดการศึกษา ทว่าผู้ต้องดำรงชีวิตต่อไปด้วยผลลัพธ์แห่งการจัดการศึกษานั้นคือเด็ก การให้โอกาสพวกเขามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้เพื่อมุ่งสู่ปลายทางที่สอดคล้องกับความฝันและความปรารถนาของตนจึงจำเป็น

ซัมมิตได้แสดงให้เห็นว่าการไร้จุดมุ่งหมายในชีวิตอันเป็นข้อบกพร่องของระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ใช่ปัญหาที่ไร้ทางออก ทั้งยังเสนอแนวทางแก้ไขที่เรียบง่ายทว่าครอบคลุมไว้อย่างชัดเจน ทั้งหมดนี้ด้วยจุดประสงค์เดียวเท่านั้น คือการสร้างเด็กที่ ‘พร้อม’ ดำเนินชีวิตในฐานะผู้ใหญ่ ผู้หยัดยืน ‘สู้อนาคต’ ที่ผันผวนเพียงลำพัง และมุ่งมั่นส่งต่อความช่วยเหลือนี้ ตลอดจนความปรารถนาดีที่พวกเขาได้รับต่อไป

มาร่วมกันเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างความหมายให้ชีวิตของเด็กๆ บ่มเพาะพวกเขาให้พร้อมหยิบยื่นโอกาสเดียวกันให้เด็กๆ ในอนาคตอันไกล เพื่อสร้างเยาวชนที่ดีกว่า สังคมที่ดีกว่า และโลกที่ดีกว่าไปด้วยกัน

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต

Diane Tavenner เขียน

รสลินน์ ทวีกิตติกุล แปล

304 หน้า