นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยเคล็ด (ไม่) ลับฉบับซัมมิต

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

ลูกไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ในสายตาพ่อแม่ และในสายตาครู ลูกศิษย์ทั้งหลายก็จะเป็นลูกศิษย์วันยังค่ำ

แต่คุณอาจลองหลับตาแล้วจินตนาการว่า หากตัดความห่วงหาโดยธรรมชาติออกแล้ว เมื่อไรกันที่คุณจะมั่นใจได้ว่านักเรียน ลูก หรือหลานเล็กๆ ของคุณ ‘พร้อม’ ใช้ชีวิตในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งจริงๆ เมื่อเขาหรือเธอบรรลุนิติภาวะและได้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อย่างนั้นหรือ หรือเมื่อพวกเขาได้ใบปริญญา มีเงินเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศสองเท่า หรือแท้จริงแล้วคุณไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนั้นเลย!

ทว่าเพราะอะไรกัน … ลองหาคำตอบในใจสักครู่ หากเป็นพราะคุณยังคิดว่าต้องประคับประคองพวกเขาร่ำไป คงถึงเวลาต้องยกเครื่องการสนับสนุนเด็กๆ ใหม่ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่คุณต้องการไม่ใช่เกียรตินิยมอันดับหนึ่งหรือทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก แต่เป็นความสามารถในการ ‘นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง’ ของเด็กๆ ต่างหาก

 

การ์ตูนเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

 

นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง สำคัญอย่างไร

ก่อนจะเป็นซีอีโอและผู้ก่อตั้งหนึ่งในโรงเรียนที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริการ ไดแอน ทาเวนเนอร์ ผู้เขียน Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต มีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ย่ำแย่ในโรงเรียนมาก่อน

ไดแอนและเพื่อนๆ คุ้นเคยกับห้องปฏิบัติการเคมีของครูแมตธิวส์ที่ไม่มีอะไรตื่นเต้นนัก เด็กๆ ชั่งตวงสารและเพียงปฏิบัติตามคำสั่งในเอกสารที่ครูแจกให้ การเรียนรู้ตลอดภาคเรียนดำเนินไปอย่างราบรื่นพอๆ กับที่ราบเรียบ กระทั่งการปฏิบัติการทางเคมีครั้งหนึ่งของเธอ “เละไม่เป็นท่า” เพราะครูแมตธิวส์ตั้งใจ ‘เซอร์ไพรส์’ เด็กๆ ด้วยการให้พวกเขาทำขนมถั่วตัดก่อนวันหยุดคริสต์มาส น่าเสียดายที่ความตั้งใจดีนั้นลงเอยด้วย “นักเรียนชั้นม. 4 หน้าตาเหลอหลา ตาจ้องดูซากส่วนผสมอุดมน้ำตาลที่ไหลเลอะเทอะ แถมมีถั่วลิสงลอยฟ่อง”

เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี ไดแอนจึงมีโอกาสทบทวนความทรงจำนั้น และสะท้อนคิดอย่างน่าสนใจว่า “ถ้าเรารู้เสียหน่อยว่าจุดประสงค์ของการทดลองนั้นคืออะไร หรือรู้ว่าผลการทดลองที่ควรเป็นคืออะไร เราอาจรู้แต่เนิ่นๆ ว่าผลที่ได้ไม่เป็นไปอย่างที่ควรเป็น เราอาจแก้ไขปัญหาหรือกระทั่งขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที แต่เพราะขณะนั้นเราไม่รู้ว่าเรากำลังทดลองเพื่อจุดมุ่งหมายหรือด้วยเหตุผลอะไร เราจึงแค่ทำต่อไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย” (หน้า 94)

แนวคิดพื้นฐานของการจัดการศึกษาโดยรัฐคือการรับประกันว่าเด็กๆ จะมีองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในฐานะผู้ใหญ่และพลเมืองของรัฐ ครูมีหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นให้ และโรงเรียนก็มีหน้าที่แสดงให้เห็นว่าเด็กมีองค์ความรู้ครบถ้วนด้วยแบบทดสอบมาตรฐาน ทว่าหากทบทวนเรื่องราวของไดแอนอีกครั้ง (และอาจรวมถึงเรื่องราวของคุณด้วย) คุณก็อาจระลึกได้ว่าแนวทางนั้นขาดตกบกพร่องสิ่งใด

 

 

คำตอบคือวัตรปฏิบัติเช่นนี้ไม่ตอบโจทย์ความหลากหลายทางบุคลิกภาพและกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ตลอดจนไม่อาจสร้างเป้าหมายในชีวิตให้พวกเขา ไม่ทำให้พวกเขารู้จักหรือเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตนเองมากเพียงพอจะพัฒนาตนเองและแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งที่ในอนาคตพวกเขาต้องเผชิญปัญหาด้วยองค์ความรู้มหาศาลที่ยังไม่ถูกคิดค้นในปัจจุบัน

และนั่นคือคำตอบว่าเพราะเหตุใดผู้ใหญ่ในวันนี้จึงยังห่วงหาเด็กๆ ของตนอยู่ร่ำไป ตลอดจนเป็นที่มาของ ‘กระบวนการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง’ (self-directed learning) ที่คณาจารย์ซัมมิตร่วมกันพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

วัตรปฏิบัติเช่นนี้ไม่ตอบโจทย์ความหลากหลายทางบุคลิกภาพและกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ตลอดจนไม่อาจสร้างเป้าหมายในชีวิตให้พวกเขา ไม่ทำให้พวกเขารู้จักหรือเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตนเองมากเพียงพอจะพัฒนาตนเองและแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งที่ในอนาคตพวกเขาต้องเผชิญปัญหาด้วยองค์ความรู้มหาศาลที่ยังไม่ถูกคิดค้นในปัจจุบัน

 

ไดแอนอธิบายกระบวนการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างครอบคลุมไว้ว่า “อันดับแรก นักเรียนของซัมมิตต้องกำหนดเป้าหมาย [การเรียนรู้] ซึ่งมีที่มาจากความมุ่งมั่นของตน โดยเป้าหมายนั้นอาจเป็นการใช้หลักฐานสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนเสมอ หรือการจัดการเวลาเพื่อจะได้ไม่ต้องคร่ำเคร่งทำโครงงานที่จริงๆ ต้องใช้เวลาทำสามสัปดาห์ให้เสร็จในคืนเดียวก่อนวันกำหนดส่ง จากนั้นพวกเขาต้องร่างแผนของตนเพื่อระบุว่าจะทำอย่างไรเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และขั้นตอนต่อไปคือการดำเนินการตามแผนนั้น อันเป็นโอกาสที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านการ ลงมือทำ

 

 

“โดยระหว่างทาง พวกเขายังต้องทบทวนความคืบหน้า ตลอดจนหารือกับครูพี่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว และได้พัฒนาพฤติกรรมการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างที่ควรจะเป็น พวกเขาอาจต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนรู้ ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือหาความท้าทายอื่นเพิ่มเติม จานั้นพวกเขาต้องแสดงให้เห็นว่าตนได้เรียนรู้อะไรแล้วบ้าง โดยอาจผ่านการแสดงศักยภาพหรือผลงานที่สมบูรณ์ ติดตามด้วยการประเมินตนเองว่าที่ผ่านมามีอะไรบ้างที่ทำแล้วได้ผล และมีอะไรบ้างที่ไม่ประสบความสำเร็จพร้อมบอกเหตุผล”

“พวกเขาต้องดำเนินกระบวนการดังกล่าวครั้งแล้วครั้งเล่าในชั้นเรียนอื่นๆ ต่อไป และผู้ใหญ่ในชั้นเรียนนั้นก็มีหน้าที่ตอบคำถามตลอดจนชี้แนะแนวทางโดยไม่เข้าไปบังคับควบคุมแต่อย่างใด”

อ่านแล้วหลายคนอาจมีคำถามในใจว่าจะทำได้อย่างไร โรงเรียนที่จัดการเรียนรู้เช่นนี้ได้มีจริงหรือ และเด็กๆ ที่ได้รับอิสระเต็มที่เหล่านี้จะนำการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร คำตอบของไดแอนคือต้องวางอคตินั้นลงก่อน และทุ่มเทความสนใจให้ประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับเมื่อพวกเขามีกระบวนการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองที่สมบูรณ์ ตลอดจนร่วมกันเป็นกระบอกเสียงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ดังกล่าวในสังคม และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย โรงเรียน หรือผู้ปกครอง เพราะข่าวดีคือ ใครๆ ก็สามารถทำความใจหลักการนี้ และช่วยเหลือเด็กๆ ได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

 

กลไกในโรงเรียน
ที่เอื้อต่อการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ซัมมิตถือกำเนิดจากการบ้านชิ้นหนึ่งของไดแอนเมื่อเธอเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เธอต้องร่างโรงเรียนในฝันขึ้นจากความว่างเปล่า โดยปราศจากเงื่อนไขที่รัดรึงโรงเรียนต่างๆ ในปัจจุบัน โรงเรียนที่เธอออกแบบจึงเติบโตอย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกฉุดรั้งด้วยความกลัวหรืออคติใดๆ และด้วยเหตุนั้นเอง คณาจารย์ของซัมมิตจึงร่วมกันสร้างสรรค์กลไกในโรงเรียนและแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อพาเด็กๆ ไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นได้ ดังนี้

 

ชั้นเรียนพิเศษวันละหนึ่งชั่วโมง
เพื่อการกำหนดเป้าหมายที่ S.M.A.R.T

เพราะตระหนักว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกฝึกฝนให้นำการเรียนรู้ด้วยตนเองในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ซัมมิตจึงต้อง “ปรับพื้นฐาน” เด็กๆ เหล่านี้ ใน ชั้นเรียนการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง หนึ่งชั่วโมงในแต่ละวัน

เด็กๆ ทุกคนในซัมมิตจะกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ในแต่ละภาคเรียนหรือแต่ละสัปดาห์ร่วมกับครูพี่เลี้ยงของตน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำโครงงาน เขียนเรียงความ ร่างสุนทรพจน์ หรือการทำความเข้าใจประเด็นสังคมหนึ่งๆ ในชั้นเรียนพิเศษนี้ พวกเขาจะได้แบ่งเป้าหมายการเรียนรู้เหล่านั้นเป็นเป้าหมายย่อยประจำวัน และทดลองใช้กระบวนการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง คือกำหนดเป้าหมาย กำหนดแผน ดำเนินการตามแผน แสดงผลการเรียนรู้ และสะท้อนคิด

การกำหนดเป้าหมายนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะจะเป็นเครื่องกำหนดความมีประสิทธิภาพของแผนที่ติดตามมา เด็กๆ จึงต้องเรียนรู้ที่จะกำหนดเป้าหมายให้เหมาะสมกับตนเองและช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว

เมื่อชั้นเรียนดังกล่าวเริ่มต้น นักเรียนจะมีเวลาสองนาทีในการกำหนดเป้าหมายที่ S.M.A.R.T คือเป็นเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจง (Specific) ประเมินผลได้ (Measurable) ทำได้จริง (Actionable) เป็นไปได้จริง (Actionable) และมีกรอบเวลาชัดเจน (Timebound) ไม่ว่าจะเป็นการหาที่มาของสงครามโลกครั้งแรกด้วยตนเอง หรือการทำความเข้าใจจำนวนเชิงซ้อนและเลขยกกำลังที่มีเลขชี้กำลังเป็นจำนวนตรรกยะ จากนั้น พวกเขาจะกรอกเป้าหมายที่กำหนดลงบนแพลตฟอร์มที่จะฉายให้เห็นทั่วกันบนกระดานหน้าชั้นเรียน

 

นักเรียนจะมีเวลาสองนาทีในการกำหนดเป้าหมายที่ S.M.A.R.T คือเป็นเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจง (Specific) ประเมินผลได้ (Measurable) ทำได้จริง (Actionable) เป็นไปได้จริง (Actionable) และมีกรอบเวลาชัดเจน (Timebound) จากนั้น พวกเขาจะกรอกเป้าหมายที่กำหนดลงบนแพลตฟอร์มที่จะฉายให้เห็นทั่วกันบนกระดานหน้าชั้นเรียน

 

ครูผู้ดูแลชั้นเรียนจะวิเคราะห์เป้าหมายของพวกเขาและบอกให้ปรับปรุงหากเป้าหมายนั้นไม่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ด้วยการแก้ไขให้โดยตรง โดยครูอาจถามว่า “เป้าหมายของเธอจะได้ทำสำเร็จจริงใน 60 นาทีหรือเปล่า” หรือ “อ่านแล้วครูยังไม่เข้าใจนักว่าเธอกำลังคิดอะไร แก้ไขความเจาะจงของเป้าหมายได้ไหม” เมื่อหมดเวลาสองนาที ครูจะให้นักเรียนแต่ละคนอ่านเป้าหมายของเพื่อนๆ และดูว่าใครมีเป้าหมายคล้ายคลึงกันบ้าง เพราะพวกเขาอาจเรียนรู้ร่วมกันได้ หรือไม่ก็ขอความช่วยเหลือจากกันและกัน

เด็กๆ จะมีเวลาอีกสองนาทีในการกำหนดแผนการเรียนรู้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย จากนั้นจะต้องดำเนินการตามแผนเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง หากเวลาผ่านไปและนักเรียนบรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว พวกเขาก็เพียงคลิกปุ่ม “สำเร็จ” ด้านหลังเป้าหมายของตัวเอง เป็นอันเสร็จสิ้นการเรียนรู้ในชั้นเรียนวันนั้น แต่ยังไม่ใช่กิจกรรมสุดท้ายในคาบเรียน

เมื่อหมดเวลาหนึ่งชั่วโมง ก็ถึงคราวครูผู้ดูแลให้พวกเขาแสดงผลการเรียนรู้ของตนว่าเป็นอย่างไร และตั้งคำถามว่าครั้งหน้าจะปรับปรุงการเรียนรู้ของตนอย่างไรด้วย

 

“มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างตลอดหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา อะไรที่ทำแล้วได้ผลดี และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

“หนูไม่เข้าใจสมการเชิงเส้นมาพักหนึ่งแล้วค่ะ และก็ทำตามเป้าหมายนี้ไม่สำเร็จมาสองสามครั้งแล้ว แต่วันนี้หนูเห็นอิงกริดและราชมีเป้าหมายเดียวกัน จึงจับกลุ่มกันเพื่อช่วยอีกฝ่ายเรียนรู้หัวข้อนี้ ในที่สุดหนูก็เข้าใจเรื่องที่สับสนมานาน และทำได้ตามเป้าหมายแล้วค่ะ”

“แล้วมีอะไรบ้างที่ติดขัด และเป็นเพราะอะไร”

“เป้าหมายของผมคือการเข้าใจเซลล์อย่างลึกซึ้ง แต่ไม่เคยศึกษามันมาก่อนแม้แต่นิดเดียว ผมทำได้ดีหัวข้ออื่นๆ ของวิชาชีววิทยาจึงอาจมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป เมื่อตระหนักว่าผมไม่รู้เลยก็เริ่มท้อแท้ จึงไม่ได้พยายามมากเท่ากับที่เคยทำ”

“แล้วเธอคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรบ้างใน 60 นาทีที่ผ่านมา มีอะไรที่พอจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ครั้งต่อไปไหม”

“ผมใช้เวลาบางส่วนโดยเปล่าประโยชน์ ผมควรเปลี่ยนเป้าหมายทันทีที่รู้ว่าคงทำไม่สำเร็จในวันนี้ แบบนั้นอาจช่วยให้ผมกระตือรือร้นขึ้นได้”

 

บทสนทนาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนคิดที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนี้ โดยหลังจากได้ร่วมกันสะท้อนคิดกับนักเรียนแล้ว ครูจะตั้งคำถามอีกด้วยว่า พวกเขาได้แสดงพฤติกรรมใดใน พฤติกรรมห้าประการ ของผู้เรียนรู้ด้วยตนเองบ้าง ได้แก่ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ การแสวงหาความท้าทาย ความพากเพียร การจัดการอุปสรรค และการขอความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

ไดแอนชี้ว่า การตั้งชื่อให้พฤติกรรมเหล่านั้น และการหมั่นให้เด็กๆ ได้สะท้อนคิดว่าตนได้แสดงพฤติกรรมใดบ้างเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้พวกเขาตระหนักรู้เกี่ยวกับการกระทำของตนเอง และเข้าใจแนวทางพัฒนาตนเองอย่างลึกซึ้ง ซึ่งปฏิบัติได้ไม่ว่าที่บ้านหรือโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม จากเรื่องราวน่าประทับใจข้างต้น เห็นได้ชัดว่าเพียงห้องเรียนพิเศษนั้นไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาเด็กๆ ให้มีกระบวนการนำการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ซัมมิตมีเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

เพลย์ลิสต์การเรียนรู้และบาร์กวดวิชา

ซัมมิตเปิดโอกาสให้นักเรียนได้กำหนดเป้าหมายระยะยาวในการเรียนรู้และเลือกแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองอย่างแท้จริง โดยนักเรียนไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในห้องเรียนแต่อย่างใด!

การตัดสินใจไม่ให้เด็กเข้าเรียนในห้องเรียนนั้นเป็นเรื่องใหญ่เช่นกันแม้สำหรับโรงเรียนที่ดูจะล้ำหน้าอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ครูจะตะขิดตะขวงใจเพราะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ตนถูกฝึกหัดให้ทำเท่านั้น เด็กๆ ยังกลัวว่าโรงเรียนจะเอาผิดพวกเขาภายหลัง และผู้ปกครองก็กระวนกระวายเพราะคิดว่าลูกๆ ถูกทอดทิ้งด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเจ็ดสัปดาห์หลังการทดลองครั้งแรก แนวทางนี้กลับให้ผลลัพธ์ดีเกินคาด เพราะบางครั้งจะมีนักเรียนเพียงไม่กี่คนในชั้น เด็กๆ จึงสามารถขอความช่วยเหลือที่ตนต้องการจากครูได้ทันที โดยไม่ต้องอดทนเรียนแม้แผนการจัดการเรียนรู้ของครูไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตน และครูเองก็พึงพอใจเช่นกันที่พวกเขาสนับสนุนนักเรียนได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปเจ็ดสัปดาห์หลังการทดลองครั้งแรก แนวทางนี้กลับให้ผลลัพธ์ดีเกินคาด เพราะบางครั้งจะมีนักเรียนเพียงไม่กี่คนในชั้น เด็กๆ จึงสามารถขอความช่วยเหลือที่ตนต้องการจากครูได้ทันที โดยไม่ต้องอดทนเรียนแม้แผนการจัดการเรียนรู้ของครูไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตน และครูเองก็พึงพอใจเช่นกันที่พวกเขาสนับสนุนนักเรียนได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

การทดลองดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนา บาร์กวดวิชา ที่ซัมมิต โดยเด็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากครูเล็กๆ น้อยๆ สามารถไปที่บาร์กวดวิชาซึ่งมีลักษณะเหมือนจุดให้บริการในห้างสรรพสินค้าได้ทันที โดยเมื่อแถวบริเวณบาร์กวดวิชายาวมากจนครูไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนได้ทั่วถึง เด็กๆ ที่เรียนรู้แล้วว่าพวกเขาส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้อื่นได้เช่นกันก็จับกลุ่มให้ความช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่หน้าบาร์กวดวิชา เกิดเป็นการสนับสนุนกันทั้งระหว่างครู-นักเรียน และนักเรียน-นักเรียน ที่น่าชื่นชมมากทีเดียว

 

 

นอกจากบาร์กวดวิชา ซัมมิตยังมีการจัดการเรียนรู้ผ่าน เพลย์ลิสต์การเรียนรู้ อยู่เดิมด้วย เด็กๆ จึงคุ้นเคยกับการมีอำนาจกำหนดการเรียนรู้ของตนพอสมควร

“เราอยากให้พวกเขามีอิสระและทางเลือกในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา เราไม่กำหนดว่านักเรียนต้องอ่านแบบเรียนบทใดบ้าง แต่ให้พวกเขาใช้เวลานำการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่เราจัดเป็นเพลย์ลิสต์ซึ่งพวกเขาเลือกเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะผ่านการอ่าน ดูวิดีโอ ฟังพอดแคสต์ ฝึกฝนในสถานการณ์จำลองหรือทำแบบฝึกหัด”

 

เด็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากครูเล็กๆ น้อยๆ สามารถไปที่บาร์กวดวิชาซึ่งมีลักษณะเหมือนจุดให้บริการในห้างสรรพสินค้าได้ทันที โดยเมื่อแถวบริเวณบาร์กวดวิชายาวมากจนครูไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนได้ทั่วถึง เด็กๆ ที่เรียนรู้แล้วว่าพวกเขาส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้อื่นได้เช่นกันก็จับกลุ่มให้ความช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่หน้าบาร์กวดวิชา

 

“นอกจากนี้ เรายังเปิดโอกาสให้พวกเขามีความรับผิดชอบในตนเอง และมีเครื่องมือพิสูจน์ว่าตนเรียนรู้อะไรแล้วบ้างโดยเลือกว่าจะทดสอบความรู้นั้นๆ เมื่อไร นักเรียนไม่ต้องทำแบบทดสอบฉบับเดียวกันในวันเดียวกันอีกต่อไป ตรงกันข้าม แต่ละคนสามารถทำแบบทดสอบได้เมื่อพวกเขารู้สึกพร้อม และหากพวกเขายังไม่อาจแสดงให้เห็นว่าตนเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ดังกล่าวเพียงพอ ก็ต้องเรียนรู้ต่อไปจนกว่าจะทำได้” ไดแอนกล่าว

ทั้งนี้ เหล่านักเรียนที่ซัมมิตจะมีครูพี่เลี้ยงประจำตัว และจะได้พบครูพี่เลี้ยงเพื่อหารือกันทุกสัปดาห์ เมื่อพวกเขาต้องการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองจึงได้รับคำปรึกษาจากครูที่รู้จักพวกเขาถ่องแท้เสมอ จนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การส่งเสริมกระบวนการนี้ที่บ้าน

ข่าวดีคือคุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญจึงจะส่งเสริมกระบวนการนี้ของลูกได้ เพราะการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองเริ่มต้นได้ที่บ้าน! ขอเพียงคุณเปิดโอกาสให้ลูกได้แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันและลองผิดลองถูกเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

การอดทนให้ลูกล้มเหลวและแสวงหาแนวทางพัฒนาตนเองดูจะเป็นขั้นตอนที่ไดแอนกังวลที่สุด เพราะการส่งเสริมการนำการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่บ้านมักจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุนั้น คือผู้ใหญ่กุลีกุจอเข้าไปแก้ไขปัญหาให้เด็ก กระทั่งพวกเขาไม่มีโอกาสแสวงหาแนวทางแก้ไขด้วยตนเอง

ไดแอนได้เปิดเผยประสบการณ์ฝึกฝนกระบวนการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองของลูก ตลอดจนกลเม็ดก้ามข้ามความกังวลนั้น และวิธีของเธอก็น่าสนใจ ทั้งยังปรับใช้ได้ทั้งในสังคมตะวันตกและตะวันออก นั่นคือโครงการ สัปดาห์ละมื้อ หรือการเปิดโอกาสให้เร็ตต์ ลูกชายของตน ทำอาหารสำหรับครอบครัวจำนวนหนึ่งมื้อต่อสัปดาห์

 

การอดทนให้ลูกล้มเหลวและแสวงหาแนวทางพัฒนาตนเองดูจะเป็นขั้นตอนที่ไดแอนกังวลที่สุด เพราะการส่งเสริมการนำการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่บ้านมักจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุนั้น คือผู้ใหญ่กุลีกุจอเข้าไปแก้ไขปัญหาให้เด็ก กระทั่งพวกเขาไม่มีโอกาสแสวงหาแนวทางแก้ไขด้วยตนเอง

 

ไดแอนไม่ได้เริ่มด้วยการให้เร็ตต์มีอิสระเต็มที่ในการทำอาหาร เธอและสามีเริ่มต้นด้วยการสรรหาสูตรอาหารที่ไม่ซับซ้อนให้เร็ตต์เลือกทำในแต่ละสัปดาห์ โดยทั้งครอบครัวจะไปซื้อวัตถุดิบสำหรับทำอาหารด้วยกัน แรกๆ เธอ ‘พลาด’ เพราะไม่ได้อยู่กับเร็ตต์ตลอดกระบวนการ ลูกชายจึงมักทำอาหารไหม้ และแล้วเธอก็พลาดอีกหน เพราะให้ความช่วยเหลือเขามากเกินไป กระทั่งไดแอนต้องเตือนตัวเองว่า เธอเองก็ยังต้องเรียนรู้นับสิบปีกว่าจะจับมีดทำอาหารได้อย่างถูกต้องและปรุงผักหรือเนื้อให้สุกกำลังดี เธอจะอดทนรอให้เร็ตต์เรียนรู้หน่อยไม่ได้เชียวหรือ

“หากเราไม่เคยเหนื่อยหน่ายที่ต้องพูดคำว่า ‘แม่’ ซ้ำๆ ถึง 500 ครั้ง กว่าลูกจะพูดคำนั้นกลับมาได้ แล้วเหตุใดเมื่อลูกเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เรากลับทึกทักว่าสอนอะไรเขาครั้งเดียวก็ควรจะเข้าใจแล้วเล่า” (หน้า 254)

 

หากเราไม่เคยเหนื่อยหน่ายที่ต้องพูดคำว่า ‘แม่’ ซ้ำๆ ถึง 500 ครั้ง กว่าลูกจะพูดคำนั้นกลับมาได้ แล้วเหตุใดเมื่อลูกเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เรากลับทึกทักว่าสอนอะไรเขาครั้งเดียวก็ควรจะเข้าใจแล้วเล่า

 

ด้วยเหตุนี้ เธอและสามีจึงตกลงกันว่าจะอยู่ใกล้ๆ ระหว่างที่ลูกชายทำอาหารเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือตอบคำถามเมื่อจำเป็น แต่ทั้งสองต้องอยู่ไกลจากเตา และต้องทำอย่างอื่นไปด้วยระหว่างนั้น เช่น อ่านหนังสือ อ่านบทความ ทำงาน ฯลฯ จึงจะอดใจได้ ไม่ให้ความช่วยเหลือเขามากเกินไป นอกจากนี้ ทั้งสองต้องรับได้หากอาหารมื้อนั้นจะไม่ถูกปากหรือครัวเละเทะกว่าที่ควร โดยหลังจากนั้น ไดแอนและสามีจะให้คะแนนพร้อมอธิบายว่าตนชอบหรือไม่ชอบอะไรในอาหารของเร็ตต์ แม้จะใช้เวลาสักพัก รวมถึงความอดกลั้นอย่างยิ่ง (หลายครั้งที่เธอต้องกินซีเรียลเป็นอาหารเย็นแทน) ในที่สุด เร็ตต์ก็จะมีทักษะเพียงพอในการดูแลตนเองในอนาคต และนั่นก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับไดแอน

 

เห็นได้ชัดว่าจุดเริ่มต้นของการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ใช่การลงแรงที่ยิ่งใหญ่ และอาจไม่ได้เริ่มต้นด้วยความขวนขวายของเด็กๆ แต่เริ่มต้นด้วยความเข้าใจของพวกเราผู้ใหญ่นี่เองว่าไม่มีกระบวนการเรียนรู้ของใครที่เหมือนกัน ตลอดจนการยอมรับความหลากหลายของปัจเจกบุคคลอย่างที่ครั้งหนึ่งพวกเราเคยปรารถนา

นอกจากนี้ ยังเริ่มต้นจากการให้อำนาจแก่เด็กเพื่อตัดสินใจในประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา เริ่มต้นจากการให้เกียรติ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความอดทนในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง เพราะในที่สุดเด็กๆ ในวันนี้จะต้องเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงในชีวิตลำพัง ในอนาคตที่ไม่มีใครในปัจจุบันล่วงรู้ และการประคบประหงมพวกเขาด้วยความกังวลตลอดไปย่อมไม่ใช่ทางออกที่ดี

ลูกนกตัวหนึ่งจะบินได้ก็หลังจากตกลงมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวที่ไม่เคยก้าวพ้นรังไม่อาจโบยบินไปสู่จุดหมาย แล้วเด็กจะปีกกล้าขาแข็งได้อย่างไร หากไม่มีสักครั้งที่พวกเขาจะได้หัดบินด้วยปีกของตนเอง

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต

Diane Tavenner เขียน

รสลินน์ ทวีกิตติกุล แปล

304 หน้า