รู้จัก “อุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จ” ฉบับซัมมิต

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

ซัมมิตเป็นโรงเรียนชั้นนำอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หนทางสู่ความสำเร็จของซัมมิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ วันหนึ่ง ครูประวัติศาสตร์ เคลลี การ์เซีย บอกไดแอนว่า “ฉันจะไม่ให้แซ็กผ่านวิชาของฉัน”

“แซ็กจะไม่ผ่านวิชาของคุณได้อย่างไร” ไดแอน ทาเวนเนอร์ ผู้เขียน Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต ถามอย่างประหลาดใจ

พลันความรู้สึกของเคลลีพรั่งพรูเหมือนน้ำหลาก “เพราะเขาไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันระหว่างอยู่ในห้องเรียนเลย ไม่ยอมจับปากกาเขียนอะไร แล้วก็ไม่กลับไปทบทวนอะไรที่บ้านด้วย”

แซ็กเป็นนักเรียนที่มีทักษะหลากหลาย มีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูงกว่าใคร แต่แซ็กไม่แม้จะทำการบ้านสักชิ้นที่ได้รับมอบหมายตลอดปี และแม่ของแซ็กก็ไม่ใส่ใจว่าเขาจะทำหรือไม่ทำอะไร

คุ้นๆ บ้างไหม คุณมีนักเรียนในความทรงจำที่เป็นเหมือนแซ็กหรือเปล่า และคุณจะทำอย่างไรเมื่อลูกศิษย์ที่ฉายแววรุ่งจวนเจียนจะร่วงจากฟ้า “น่าเสียดาย” คุณจะพูดอย่างนั้นหรือไม่ “ถ้าเพียงแต่เขาจะขยันกว่านี้ ใส่ใจการเรียนกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม ไดแอนและเคลลีตัดสินใจว่าจะไม่ยอมแพ้ นักการศึกษาทั้งสองหันมาหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดแซ็กจึงไม่ตั้งใจเรียน และในที่สุดก็รู้ว่าเพราะแซ็กไม่เห็นความหมายของการเรียนรู้ ไม่คิดว่าเขาจะ ‘ไปได้ไกล’ บนเส้นทางสายวิชาการ พวกเธอจึงทุ่มเทความใส่ใจให้นักเรียนคนนี้ พยายามสื่อสารให้แซ็กเข้าใจว่าครูทั้งสองเชื่อมั่นในศักยภาพของเขาเพียงใด กระทั่งแซ็กเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ และกลับมาสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ

เห็นได้ชัดว่าแนวโน้มประสบความสำเร็จของนักเรียนไม่ได้ผูกพันกับองค์ความรู้และทักษะที่สนับสนุนการเรียนรู้ของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “อุปนิสัย” ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งพัฒนาตนเองได้อย่างตลอดรอดฝั่งด้วย และ “อุปนิสัย” ที่ไดแอนกับเคลลีพยายามบ่มเพาะในตัวแซ็กนั่นเอง คือ “อุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จ” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่ค้ำจุนการเติบโตของนักเรียนทุกคนที่ซัมมิต

 

ความสำคัญของอุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จที่ซัมมิต

 

แล้ว อุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จ คืออะไร

อุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จหมายถึงทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต นักการศึกษาชั้นนำทั่วโลกให้ความสำคัญแก่อุปนิสัยเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยถือว่าเป็นองค์ประกอบของการมีชีวิตที่ผาสุกและ เติมเต็ม กล่าวคือไม่เพียงรุดหน้าในการงานและการเรียน แต่อุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จจะสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง และบุคลิกภาพที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม

งานวิจัยเพื่อพัฒนาอุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จกำลังทวีจำนวน อย่างไรก็ตาม ซัมมิตเลือกปรับใช้แผนภาพ ‘องค์ประกอบการเรียนรู้’ ขององค์กรเทิร์นอะราวนด์ฟอร์ชิลเดรน (Turnaround for Children) เพื่อกำหนดกรอบแนวคิดของอุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จดังแผนภาพด้านล่าง

 

 

อุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จของซัมมิตประกอบด้วยทักษะทางสังคมและอารมณ์ 16 ประการ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับการพัฒนาอย่างแข็งแรง ระดับความพร้อมต่อการเรียนรู้ ระดับการรับรู้ต่อตนเองและโรงเรียน ระดับความอุตสาหะพากเพียร และระดับปัจเจกภาพและความยั่งยืน โดยการพัฒนาทักษะระดับพื้นฐาน (ชั้นล่างสุดของพีระมิด) จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะระดับสูงขึ้นต่อไป

ก่อนจะอ่านบรรทัดถัดไป เตรียมกายและใจของคุณให้พร้อม เพราะการพัฒนาทักษะในแต่ละขั้นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือและสายสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก ตลอดจนเด็กกับผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในชีวิตประจำวันมากทีเดียว

 

การพัฒนาอย่างแข็งแรง

 

 

ไดแอนอธิบายว่าอุปนิสัยระดับ ‘ฐาน’ ของพีระมิดสู่ความสำเร็จ หรือระดับการพัฒนาอย่างแข็งแรง อันประกอบด้วยความผูกพัน (Attachment) การจัดการความเครียด (Stress Management) และการกำกับตนเอง (Self-Regulation) นั้นจะเริ่มเติบโตในระดับปฐมวัย ครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะสามประการนี้ เพราะจุดเริ่มต้นของความผูกพันคือการใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกันในครอบครัว ไม่ว่าจะด้วยการเล่น การทำงานบ้าน การฟังนิทาน หรือการได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่

สายสัมพันธ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การจัดการความเครียดของเด็กเล็ก โดยมีที่มาจากความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยที่ได้รับจากครอบครัว ขณะที่การกำกับตนเองนั้นหมายถึงการมีสมาธิจดจ่อกับงานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง การควบคุมอารมณ์เชิงลบ และการกลับสู่ภาวะปกติหลังเผชิญอารมณ์ที่รุนแรง เช่น ความขมขื่น ความตื่นเต้น ฯลฯ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น

เครื่องมือที่ดีที่สุดในการพัฒนาการกำกับตนเองของเด็กคือการให้การสนับสนุนทางอารมณ์ทุกครั้งที่พวกเขาต้องการ เมื่อเด็กเผชิญอารมณ์ที่รุนแรง คุณอาจให้ลูกตั้งชื่ออารมณ์นั้นและอธิบายอารมณ์ของตนอย่างละเอียด ใส่ใจความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของลูก อาจถามลูกว่า “หนูโยนของเล่นเพราะโกรธที่มันไม่ทำงานใช่ไหมจ๊ะ มาช่วยกันคิดดีไหมว่านอกจากโยนของเล่นแล้วแม่กับหนูทำอะไรได้บ้าง” เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาวิธีรับมืออารมณ์นั้นๆ ต่อไป

 

สายสัมพันธ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การจัดการความเครียดของเด็กเล็ก โดยมีที่มาจากความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยที่ได้รับจากครอบครัว ขณะที่การกำกับตนเองนั้นหมายถึงการมีสมาธิจดจ่อกับงานชิ้นใดชิ้นหนึ่ง การควบคุมอารมณ์เชิงลบ และการกลับสู่ภาวะปกติหลังเผชิญอารมณ์ที่รุนแรง เช่น ความขมขื่น ความตื่นเต้น ฯลฯ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น

 

ความพร้อมต่อการเรียนรู้

 

 

เมื่อทักษะข้างต้นก่อตัวแข็งแรง เด็กจะเริ่มพัฒนาทักษะที่หลายคนคิดว่าเป็นสัญญาณความพร้อมเข้าโรงเรียน ได้แก่ ความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง (Self-Awareness) การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (Social Awareness/Relationship Skills) รวมถึงทักษะความสัมพันธ์และการบริหารจัดการตนเอง (Executive Functions: EF) อาทิ การกำหนดเป้าหมายและแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ

ความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองคือความเข้าใจอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง ยิ่งเข้าใจตนเองเท่าไร โอกาสที่จะมีความมั่นใจและเห็นคุณค่าของตนเองก็ยิ่งสูงเท่านั้น เพราะความเข้าใจตนเองจะทำให้เด็กรู้ว่าพวกเขามีจุดอ่อน-จุดแข็งอย่างไร เข้าใจแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับตนเอง และยอมรับความรู้สึกของตนเอง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นซึ่งเป็นหัวใจของทักษะความสัมพันธ์

ผู้ปกครองร่วมพัฒนาความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองของเด็กได้ง่ายๆ ด้วยการถามเสมอว่าโรงเรียนเป็นอย่างไร การเล่นวันนี้เป็นอย่างไร เด็กๆ ประสบปัญหาใดบ้าง และแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร เมื่อได้อธิบายความรู้สึกและประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน เด็กๆ จะเข้าใจบุคลิกภาพของตนดียิ่งขึ้น ตลอดจนตัดสินใจแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ในโอกาสต่อไป

 

ความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองคือความเข้าใจอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง ยิ่งเข้าใจตนเองเท่าไร โอกาสที่จะมีความมั่นใจและเห็นคุณค่าของตนเองก็ยิ่งสูงเท่านั้น เพราะความเข้าใจตนเองจะทำให้เด็กรู้ว่าพวกเขามีจุดอ่อน-จุดแข็งอย่างไร เข้าใจแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับตนเอง และยอมรับความรู้สึกของตนเอง อันจะนำไปสู่ความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นซึ่งเป็นหัวใจของทักษะความสัมพันธ์

 

พัฒนาการเหล่านี้จะส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการตนเองพื้นฐาน หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ EF ซึ่งจะเติบโตรวดเร็วที่สุดเมื่อเด็กมีอายุ 4-6 ปี ประกอบด้วย ความจำเพื่อใช้งาน ความยั้งคิด ความยืดหยุ่นทางความคิด สมาธิ การควบคุมอารมณ์ การประเมินตนเอง การลงมือทำ การวางแผน และการมุ่งสู่เป้าหมาย เด็กที่มี EF เหมาะสม จึงเป็นเด็กที่ไม่มีพฤติกรรมรบกวนผู้อื่น ควบคุมอารมณ์ที่รุนแรงของตนได้ เรียนรู้จากความผิดพลาด จดจ่อกับงานที่ทำ ตลอดจนตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะแนวทางพัฒนา EF ที่ดีที่สุดในวัยเด็กคือการเล่นและการทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน เพราะการเล่นจะกระตุ้นการคิดและทักษะหลากหลาย โดยเฉพาะการแสดงบทบาทสมมติ การเล่นที่ต้องอาศัยสมาธิและปฏิบัติตามกติกา นอกจากนี้ การให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดกติการเล่นก็เป็นแนวทางพัฒนา EF ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยทีเดียว

 

การรับรู้ต่อตนเองและโรงเรียน

 

 

หลังก้าวสู่ระบบการศึกษาและต้องเผชิญความท้าทายทางวิชาการซึ่งจะกำหนดเส้นทางในอนาคตเมื่อเติบใหญ่ ไดแอนหวังว่าเด็กๆ ผู้มุ่งสู่ความสำเร็จจะได้พัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) และการเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ (Relevance of School)

กรอบความคิดแบบเติบโตคือความเชื่อมั่นในการพัฒนาการของตนเอง เชื่อว่าสามารถพัฒนาตนเองได้ และความล้มเหลวเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของเส้นทางสู่จุดหมายเท่านั้น ไม่ใช่ปลายทางแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น ความล้มเหลวของผู้มีกรอบความคิดแบบเติบโตยังไม่ใช่ผลของชาติกำเนิด พันธุกรรม หรือความเฉลียวฉลาดที่พวกเขากำหนดไม่ได้ เพราะทุกคนแก้ไขข้อบกพร่องได้ผ่านการสะท้อนคิดและปรับปรุงตนเอง

ครูมีส่วนร่วมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตให้เด็กได้เช่นกัน โดยหลีกเลี่ยงการตีตราว่าเด็กโง่ ขี้เกียจ หรือไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะการตีตรานั้นเป็นการสร้างกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) ที่ฉุดรั้งพัฒนาการของพวกเขา ทั้งนี้ ครูต้องสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการลองผิดลองถูกและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อชี้ให้เห็นว่าความล้มเหลวมีคุณค่าต่อการเติบโตเช่นกัน

เมื่อกรอบความคิดแบบเติบโตเข้าที่เข้าทางแล้ว เด็กก็จะรับรู้และมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตน เด็กๆ ที่มีอุปนิสัยดังกล่าวจะเห็นอุปสรรคเป็นเพียงความท้าทายหนึ่งในชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่ทางตันหรือจุดสิ้นสุด อันจะนำไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ซึ่งเกิดจากความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตนอย่างถ่องแท้ กำหนดแนวทางการเรียนรู้และจัดการอุปสรรคในการเรียนรู้ของตนได้ ในที่สุดก็จะเห็นคุณค่าของการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นก้าวแรกสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง

 

ครูมีส่วนร่วมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตให้เด็กได้เช่นกัน โดยหลีกเลี่ยงการตีตราว่าเด็กโง่ ขี้เกียจ หรือไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะการตีตรานั้นเป็นการสร้างกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) ซึ่งเป็นขั้วตรงกันข้ามของกรอบความคิดแบบเติบโต ทั้งนี้ ครูต้องสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการลองผิดลองถูกและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อชี้ให้เห็นว่าความล้มเหลวมีคุณค่าต่อการเติบโตของพวกเขาเช่นกัน

 

ครูสามารถขยายโอกาสการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ด้วย โดยเปิดโอกาสให้เด็กๆ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้อื่น หรือพัฒนานวัตกรรมที่สร้างประโยชน์จากองค์ความรู้ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบปัญหาการเรียนรู้ การรวมกลุ่มกับเพื่อนที่สนใจประเด็นเดียวกัน หรือการจัดทำโครงงานเพื่อพัฒนาชุมชน ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมคุณค่าของการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนสำหรับนักเรียนต่อไป

 

ความอุตสาหะพากเพียร

 

 

เมื่อพบเป้าหมายของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองแล้ว สิ่งใดเล่าจะเป็นความท้าทายใหม่หากไม่ใช่ความท้าทายทางวิชาการที่จะยิ่งเข้มข้นเมื่อพวกเขาเติบใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะที่ตอบโจทย์วิชาชีพที่ฝันใฝ่ การทุ่มเทเรียนรู้ศาสตร์ที่สนใจจนเกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือความสามารถในการรับมือความล้มเหลวทางวิชาการที่สั่นคลอนความมั่นใจได้ไม่น้อยกว่าอุปสรรคอื่นๆ ในชีวิต

อุปนิสัยที่จะได้รับการพัฒนาต่อไปคือความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญปัญหา (Resilience) การตัดสินใจและลงมือกระทำด้วยตนเอง (Agency) ตลอดจนความมุ่งมั่นทางวิชาการ (Academic Tenacity) โดยแครอล เดว็ก (Carol Dweck) หนึ่งในนักจิตวิทยาที่ไดแอนไว้วางใจอธิบายว่า ความมุ่งมั่นทางวิชาการนั้นเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ในระยะยาวและนำไปสู่ความสำเร็จทางวิชาการ ความมุ่งมั่นดังกล่าวประกอบด้วยความอดทน พากเพียร และการพลิกแพลงแนวทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อต้านทานความล้มเหลว ‘ระยะสั้น’ ที่ปรากฏระหว่างการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายระยะยาวที่สุดของตนเอง

สำหรับเดว็ก ตัวอย่างที่พบบ่อยของความผิดพลาดระยะสั้นคือความกังวลว่าจะถูกดูแคลนหากทำคะแนนได้น้อยที่โรงเรียน หรือถูกกีดกันจากสังคมวิชาการในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนความไม่เต็มใจที่จะทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อเป้าหมายในอนาคต

 

ความมุ่งมั่นทางวิชาการนั้นเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ในระยะยาวและนำไปสู่ความสำเร็จทางวิชาการ ความมุ่งมั่นดังกล่าวประกอบด้วยความอดทน พากเพียร และการพลิกแพลงแนวทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อต้านทานความล้มเหลว ‘ระยะสั้น’ ที่ปรากฏระหว่างการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายระยะยาวที่สุดของตนเอง

 

เด็กที่เดว็กชี้ว่ามีความมุ่งมั่นทางวิชาการ คือเด็กที่เชื่อว่าตนเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้นั้นๆ และโรงเรียนเป็นพาหนะนำพวกเขาไปสู่อนาคตที่ปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือการหาเลี้ยงครอบครัวก็ตาม พวกเขาจึงยินยอมอดทนและทุ่มเทขณะเผชิญความท้าทายทางวิชาการใหม่ๆ เพราะเชื่อว่าผลลัพธ์นั้นมีคุณค่าต่อตนเอง พวกเขาไม่เห็นความผิดพลาดเป็นความอดสูหรือรอยด่างในเกียรติภูมิของตน ทว่าเห็นมันเป็นโอกาสในการเติบโตและแสวงหาแนวทางเอาชนะอุปสรรค

ยังเป็นดังที่ไดแอนระบุข้างต้น คือเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะมีโอกาสเป็นผู้เรียนที่ถึงพร้อมเช่นนี้ หากปราศจากความร่วมมือของผู้ใหญ่ที่ผลักดันให้เด็กๆ ก้าวข้ามความขมขื่นและความล้มเหลว ให้โอกาสพวกเขาเติบใหญ่ และสื่อสารอย่างชัดเจนว่าเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กๆ เพียงใด

 

ปัจเจกภาพและความยั่งยืน

 

 

เมื่อเด็กๆ มีอุปนิสัยทั้งหมดนี้เท่านั้น ความสามารถในการกำหนดทิศทางของตนอย่างสมบูรณ์ (Self-Direction) ความใฝ่รู้ระยะยาว (Curiosity) และการมีจุดมุ่งหมายในชีวิต (Purpose) ที่ชัดเจนจึงจะติดตามมาได้ ไดแอนเชื่อว่า “เด็กที่พร้อมต่อการเป็นผู้ใหญ่จะนำทักษะทั้งสามข้อไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน สถานที่ทำงาน ครอบครัว หรือชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนใดๆ ”

การมีจุดมุ่งหมายในชีวิตนั้นเป็นเสมือนปลายทางของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะจุดมุ่งหมายในชีวิตเกิดจากความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง การพบคุณค่าที่ตนเองยึดถือ และการกำหนดเส้นทางสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีที่มาจากสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เข้าใจว่าตนมีความสัมพันธ์กับผู้คนและชุมชนอย่างไร สายสัมพันธ์นี้จะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างเหมาะสมเมื่อเผชิญปัญหาในชีวิตประจำวันที่ซับซ้อนและขัดแย้งกับคุณค่าที่พวกเขายึดถือ ตลอดจนมีอิทธิพลต่อเป้าหมายระยะยาวของพวกเขาด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยปรากฏการณ์ทางสังคมในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันซัมมิตปรับปรุงสามทักษะสูงสุดเป็นความสามารถในการกำหนดทิศทางของตนอย่างสมบูรณ์ (Self-Direction) ความใฝ่รู้ระยะยาว (curiosity) และอัตลักษณ์พลเมือง (Civic Identity) เพื่อพัฒนาสำนึกพลเมืองของเยาวชน โดยเฉพาะพลเมืองที่ยอมรับความหลากหลายและอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมร่วมกับผู้อื่นได้ มีความรับผิดชอบต่อการลงคะแนนเสียงของตนที่ย่อมสร้างผลกระทบข้ามพรมแดนในยุคโลกาภิวัตน์ และกระเทือนถึงปัญหาสภาพแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรง

 

 

การมีจุดมุ่งหมายในชีวิตนั้นเป็นเสมือนปลายทางของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะจุดมุ่งหมายในชีวิตเกิดจากความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง การพบคุณค่าที่ตนเองยึดถือ และการกำหนดเส้นทางสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีที่มาจากสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง เข้าใจว่าตนมีความสัมพันธ์กับผู้คนและชุมชนอย่างไร

 

เพราะให้ความสำคัญแก่การพัฒนาอุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จ ซัมมิตจึงไม่เพียงกำหนดเป้าหมายเมื่อสำเร็จการศึกษาให้นักเรียนได้ ‘ไปต่อ’ ดังความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัยหรือศูนย์ฝึกอาชีพเท่านั้น แต่รวมถึงการแสดงอุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จ 16 ประการเป็นที่ประจักษ์ด้วย

และเพราะเข้าใจว่าการบ่มเพาะอุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จต้องพึ่งพาสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมนั่นเอง ซัมมิตจึงออกแบบกลไกให้การสนับสนุนเปี่ยมประสิทธิภาพในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น…

 

ระบบครูพี่เลี้ยง

 

ที่ซัมมิตนั้น เด็กๆ ทุกคนจะมีครูพี่เลี้ยงเป็นของตนเอง และจะได้พบครูพี่เลี้ยงเป็นประจำทุกสัปดาห์ ครูพี่เลี้ยงจะดูแลเด็กๆ ตลอดสี่ปีในโรงเรียน และยังไปเยี่ยมบ้านของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ปัญหา และสถานการณ์ที่เด็กแต่ละคนต้องเผชิญ จนอาจกล่าวได้ว่าไม่มีครูคนใดในซัมมิตรู้จักเด็กคนหนึ่งๆ ดีเท่ากับครูพี่เลี้ยงของพวกเขา และครูพี่เลี้ยงนั่นเองที่จะเป็นผู้ผลักดันเด็กๆ สู่ความสำเร็จด้วยความเข้าอกเข้าใจลึกซึ้ง ไม่ว่าจะด้วยการแก้ไขปัญหาในครอบครัว การให้คำปรึกษา หรือการเขียนจดหมายแนะนำเมื่อพวกเขาสมัครเข้ามหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ครูพี่เลี้ยงยังเป็นผู้ดูแลเด็กจำนวน 15-20 คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศสภาพ อุปนิสัย และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ เด็กกลุ่มนี้จะได้พบปะกันเป็นประจำ ตลอดจนสนับสนุนกันและกัน ดังนั้น พวกเขาทุกคนจึงได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่างจากตนเอง และเติบโตเป็นพลเมืองผู้สร้างประโยชน์ได้ในที่สุด

 

การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและชุมชน

 

เพื่อพัฒนาความรู้สึกผูกพันและเป็นเจ้าของชุมชน นักเรียนทุกคนที่ซัมมิตจะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่หลากหลายของชุมชนโดยรอบโรงเรียนเพื่อพัฒนาสายสัมพันธ์ รวมถึงเรียนรู้ปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยเด็กเกือบทุกคนต้องผ่านการเข้าค่ายในชุมชน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือการดำเนินโครงงานในความร่วมมือกับผู้คนในชุมชน พวกเขาจึงสำเร็จการศึกษาพร้อมความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบของการตัดสินใจของตนเองต่อชุมชน และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและผู้อื่นดียิ่งขึ้นด้วย

 

แนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจตนเอง
การกำหนดเป้าหมาย และความมุ่งมั่นทางวิชาการ

 

เด็กๆ ที่ซัมมิตมีแนวทางการเรียนรู้หลากหลายตามแต่กระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคน โดยพวกเขาจะเข้าเรียนในห้องเรียนหรือไม่ก็ได้ และเรียนรู้ผ่านเพลย์ลิสต์การเรียนรู้ที่เด็กๆ สามารถลำดับเนื้อหาและเลือกเวลาทดสอบได้ตามความต้องการ ตลอดจนใช้บาร์กวดวิชาหรือพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้เฉพาะประเด็นที่จะมีครูประจำอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ห้องเรียนของพวกเขายังไม่ใช่ห้องเรียนที่พบเห็นได้ทั่วไป ทว่าเป็นห้องเรียนที่นักเรียนแต่ละคนเรียนรู้ด้วยวิธีของตนเอง โดยมีครูเป็นผู้ให้การสนับสนุนที่จำเป็นเมื่อพวกเขาต้องการ

ยิ่งกว่านั้น การเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานของนักเรียนที่ซัมมิตยังถูกออกแบบให้เป็น ‘อาหารจานหลัก’ ของการเรียนรู้ ไม่ใช่ ‘ของหวาน’ ที่จะมีหรือไม่ก็ได้ โดยเด็กๆ จะเป็นผู้กำหนดหัวข้อโครงงานที่พวกเขาต้องการเรียนรู้ และยึดโยงกับชีวิตประจำวันของพวกเขาเอง พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอจากครูให้การจัดทำโครงงานนั้นอยู่ในร่องในรอย ก้าวหน้า และลุล่วงในเวลาที่กำหนด

เมื่อได้พัฒนาองค์ความรู้ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ พวกเขาจึงเติบโตเป็นผู้รู้จักและเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ รวมถึงเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ และพร้อมสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยองค์ความรู้นั้นต่อไป

 

เพราะอุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จพัฒนาได้ และไม่มีใครล้มเหลวตลอดไป ในอนาคต ก่อนจะบอกว่า “น่าเสียดาย” ที่เด็กคนใดไปไม่ถึงฝั่งฝันด้วยอุปนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ คุณอาจหยุดเพื่อถามตัวเองว่าได้พยายามพัฒนาพวกเขาอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เด็กๆ เหล่านี้ขาดตกอุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จประการใดไปหรือไม่ เพราะเพียงให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ก่อนที่จะสายเกินไป พวกเขาก็พร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ส่งต่อความรักและเข้าใจเดียวกันสู่สังคม

 

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่

Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต

Diane Tavenner เขียน

รสลินน์ ทวีกิตติกุล แปล

304 หน้า