อ่าน ‘จิตวิทยาสังคม’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

[su_note note_color=”#e3fcf5″]บทความสองตอนจบเรื่อง อ่าน ‘จิตวิทยาสังคม’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นี้เป็นข้อเขียนเพื่อขยายความหนังสือ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา เขียนโดย Richard J. Crisp แปลโดยทิพย์นภา หวนสุริยา

เมื่อมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “โลก” เราจึงควรพกพาแว่นตาของ “จิตวิทยาสังคม” ไว้ใช้มองโลก นี่คือเสาหลักแห่งสาขาจิตวิทยาร่วมสมัยที่สะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคล-สังคมได้อย่างแจ่มชัด ซึ่งจะนำไปสู่คำตอบว่าเราคือใคร มีบทบาทแบบใด และเราจะร่วมกันรับมืออุปสรรคและปัญหาทั้งหลายได้อย่างไรในอนาคต[/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

แม้ว่าหนังสือเล่มเล็กชื่อ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา นี้จะเขียนแต่ละเรื่องค่อนข้างสั้น อีกทั้งการใช้คำศัพท์วิชาการค่อนข้างซ้อนทับกับตำราจิตเวชศาสตร์สมัยใหม่ การแปลไทยให้ได้วิสามานยนามที่ชัดเจนในตัวเองเป็นเรื่องยาก ข้อเขียนชิ้นนี้จะหยิบยกบางคำที่สำคัญและคนทั่วไปควรรู้มาขยายความ

กุสตาฟ เลอบง (Gustav Le Bon, 1841-1931) ปี 1885 เสนอความคิดเรื่อง จิตของฝูงชน (collective mind) โดยยกตัวอย่างมดหรือผึ้ง กล่าวคือเป็น “กลุ่มที่มีจิตของมันเอง ซึ่งกดครอบเจตคติ ค่านิยม และความเชื่อของแต่ละบุคคลเอาไว้” เป็นแนวคิดที่เหลือเชื่อมากในเวลานั้น

งานของเลอบงชิ้นนี้มิใช่เรื่องธรรมดา ว่ากันว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และเบนิโต มุสโสลินี รวมทั้งธีโอดอร์ รูสเวลต์ แม้กระทั่งวลาดิมีร์ เลนิน ได้อ่านงานของเขาและใช้งานของเขาในการทำงานเพื่อเรียกจิตของฝูงชนให้โดดเด่นขึ้นมาแทนที่ปัจเจกชน ก่อนหน้านี้งานของเขาก็เชื่อว่ามีอิทธิพลต่องานของซิกมันด์ ฟรอยด์ ด้วย ไม่พบข้อเขียนที่ว่างานของเลอบงมีอิทธิพลต่อคาร์ล จุง มากเพียงใด

คาร์ล จุง (Carl Jung, 1875-1961) เป็นนักจิตวิเคราะห์คนสำคัญที่เขียนเรื่อง จิตใต้สำนึกรวมหมู่ (collective unconscious) โดยขยายความว่าปัจเจกชนมีจิตใต้สำนึกที่เป็นส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึกของบรรพบุรุษหรือเผ่าพันธุ์ด้วย เรียกโครงสร้างของจิตใต้สำนึกของเผ่าพันธุ์นี้ว่า อาร์คีไทป์ (archetype) ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เราไม่รู้ตัวและไม่รู้จักอยู่มาก แต่ที่พอรู้ตัวและรู้จักอยู่บ้างคือเรื่องเล่าปรัมปรา ตำนาน และพิธีกรรม เหล่านี้เป็นอะไรที่อยู่เหนือเราและคอยครอบงำเราไว้ตลอดเวลา

หลายครั้งที่อาร์คีไทป์เหล่านี้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในเชิงสัญลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญลักษณ์ของ “มารดา” เช่น ทุ่งนาข้าว น้ำพุ แม่น้ำ ผืนป่า หรือเทพีใดๆ พูดง่ายๆ ว่าปมเอดิปุสใดๆ ที่จะเกิดจากแม่ที่แท้สามารถเกิดกับทุ่งนาข้าว น้ำพุ แม่น้ำ ผืนป่า หรือเทพีใดๆ ได้ด้วย และถ้าเลื่อนสูงขึ้นมาเป็นระดับจิตสำนึก สายสัมพันธ์ที่เกิดจากแม่ ตัวตนที่เกิดจากแม่ ก็น่าจะสืบสายมาได้จากอาร์คีไทป์ต่างๆ เหล่านี้ได้ด้วย

งานของเลอบงและจุงไปไกลกว่าคำว่า “โฆษณาชวนเชื่อ” เราอาจจะบอกได้ชัดเจนว่าฮิตเลอร์ มุสโสลินี รูสเวลต์ และเลนินทำการโฆษณาชวนเชื่อในแนวราบ แต่เรื่องที่เป็นมากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อคือเรื่องอาร์คีไทป์และจิตใต้สำนึกรวมหมู่ที่ทำให้ฝูงชนหนึ่งๆ สามารถรวมตัวกันทำอะไรบางอย่างที่เหลือเชื่อ เช่น ยินยอมให้ฮิตเลอร์ชักนำทำเรื่องเลวร้าย หรือยินยอมเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองของชาวอเมริกัน หรือยินยอมอดตายเพื่อโซเวียต เป็นต้น

เพราะอะไรครั้งหนึ่งพรรคประชากรไทยจึงเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ในเขตกรุงเทพมหานครถล่มทลาย ทั้งๆ ที่ดูเผินๆ เหมือนใครๆ จะเกลียดชังพรรคนี้และหัวหน้าพรรคเวลานั้นมาก คำตอบคือเพราะคนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งมีจิตใต้สำนึกรวมหมู่กับหัวหน้าพรรค การเลือกตั้งเวลานั้นหักปากกานักวิจารณ์ไปหลายคน

เหตุการณ์แบบปีนั้นเกิดเป็นระยะเสมอมาเท่าจำนวนการปฏิวัติของบ้านเรา ทำไมบ้านเราปฏิวัติสำเร็จบ่อยครั้งและสำเร็จเสมอมา คำตอบง่ายๆ คือเพราะคนไทยส่วนใหญ่ยินดีกับมัน เป็นไปได้ว่าการปฏิวัติเป็นรูปธรรมของอาร์คีไทป์บางอย่างที่ครอบงำคนไทยส่วนใหญ่เอาไว้ นี่เป็นคำอธิบายที่เหลือเชื่อมากก็จริง แต่เป็นคำอธิบายที่สมเหตุผลและยังความสบายใจได้มากด้วย

“อ๋อ พวกเราเป็นเช่นนี้เองนั่นแหละ อย่าเครียด”

เหตุการณ์เหลือเชื่ออีกมากมายเกิดแก่บ้านเมืองของเราซ้ำๆ เราอธิบายให้ตัวเองสบายใจได้ด้วยแนวคิดของเลอบง กล่าวคือเรามิได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง มีเจ้าแม่บางอย่างที่ครอบงำเราทั้งหมดอยู่ เราจึงยินยอมและสมยอมกันได้ง่ายๆ เสมอมา นับตั้งแต่การฆ่าหมู่กลางเมือง 6 ตุลาคมอย่างไม่น่าเชื่อสายตามาจนถึงการต่อต้านนักเรียนไม่แต่งเครื่องแบบจาก “ผู้ใหญ่” รวมทั้งพ่อแม่มากมายอย่างเหลือเชื่ออีกเช่นเดียวกัน แทนที่เรื่องจะเป็นไปตามที่คนบางกลุ่มคาด นั่นคือคนไทยควรยินดีกับเสรีภาพ แต่หามิได้ ที่แท้แล้วพวกเราไม่ต้องการเสรีภาพ หากแสดงออกมาผ่านจิตใต้สำนึกของฝูงชนซึ่งถ่ายทอดมาจากจิตใต้สำนึกของบรรพบุรุษอีกต่อหนึ่ง

ทำไมความรู้เหล่านี้ทำให้หลายคนสบายใจ เพราะมันคือหน้าที่ของจิตใต้สำนึกอยู่ก่อนแล้ว จิตใต้สำนึกมีหน้าที่หลักคือปัดเป่าความไม่สบายใจของคนคนหนึ่งออกไป จิตใต้สำนึกของฝูงชนทำหน้าที่ปัดเป่าความไม่สบายใจของฝูงชนเช่นเดียวกัน ความไม่สบายใจเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเมื่อพบว่าเด็กไทยไม่ยอมแต่งเครื่องแบบ เป็นเรื่องที่รบกวนความรู้สึก เจตคติ ค่านิยม และความเชื่อของคนไทยรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เอ็กซ์ และบางส่วนของวายอย่างมาก เชื่อได้ว่ามีคนไทยจำนวนมากที่มิได้เห็นด้วยกับเรื่องการบังคับแต่งเครื่องแบบ บังคับแต่งชุดราชการวันจันทร์ บังคับแต่งชุดไทยเดิมวันศุกร์ หรือบังคับแต่งชุดนั่นนี่วันนั้นวันนี้ก็จะได้สบายใจไปด้วยว่าเราไม่ต้องฝืน “ตนเอง” มากไป

“ยอมๆ เจ้าแม่ไปเถอะ ไม่เป็นไรหรอก”

แล้วเมื่อไรจิตใต้สำนึกส่วนบุคคลหรือจิตใต้สำนึกรวมหมู่จะไม่ทำงาน คำตอบคือเมื่อมันทำงานไม่ได้อีกต่อไปแล้ว พลังของจิตใต้สำนึกหรือจิตใต้สำนึกรวมหมู่มีจำกัด มิใช่ไม่มีวันหมดแรง หรืออีกเหตุผลหนึ่งคือเมื่อมันกำลังสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่เจ้าตัวหรือฝูงชนทั้งหมดพร้อมๆ กัน เช่นนี้เจ้าแม่ที่ไหนก็ต้องกระโดดหนีออกไปชั่วคราวทั้งนั้น เหตุการณ์ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมามีสัญญาณหลายข้อว่าเวลานั้นใกล้เข้ามาทุกที คำอธิบายน่าจะเป็นเพราะคนรุ่นแซด และบางส่วนของเด็กอัลฟ่าที่เข้าสู่วัยทีนแล้วได้รับข้อมูลจากทั้งโลกมากมายเกินกว่าที่อาร์คีไทป์ของบรรพบุรุษหรือเผ่าพันธุ์ใดๆ จะเอาอยู่อีกต่อไปแล้ว

งานของของฟรอยด์และจุงเขียนทำนองนี้มาก่อนแล้ว ก่อนจะมีการรวบรวมเป็นศาสตร์ใหม่คือ social psychology หรือ จิตวิทยาสังคม เพราะอะไรรัฐบาลทหารจึงอยู่ได้นาน คำอธิบายคือเพราะคนไทยส่วนใหญ่ต้องการเท่านั้นเอง จิตของฝูงชนบอกว่าอยู่กันสงบๆ แบบนี้ดีแล้วแม้ว่าจะไม่มีอะไรกินก็ไม่เป็นไร พอจะอยู่ได้อยู่บ้าง ไม่เปิดประเทศก็ได้เที่ยวทั่วไทยก็พอจะมีกินอยู่บ้าง ไม่ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาภูเก็ตหรือกระบี่ หรือเชียงใหม่หรือเชียงรายก็ได้ ครึ่ง-ครึ่งกันเองไปเรื่อยๆ ก็พอมีกินอยู่บ้าง เป็นต้น

เราจึงเรียกร้องให้โควิดเป็นศูนย์ได้ตลอดเวลาโดยไม่ทันเฉลียวใจ

งานของกุสตาฟ เลอบง ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ แต่งานชิ้นต่อๆ มาของนักจิตวิทยาสังคมคนต่อๆ มาได้ทำให้สาขาจิตวิทยาสังคมเป็นเรื่องที่วิจัยและวัดเป็นตัวเลขได้ พิสูจน์ให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นชีววิทยาที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและเป็นเรื่องของกระบวนการคิดที่เรียกว่า cognition ด้วย ทำให้เราได้คำศัพท์อีกคำหนึ่งคือ social cognition คือกระบวนการคิดเชิงสังคม และสาขาวิชา cognitive psychology คือจิตวิทยาด้านการคิด ซึ่งจะเป็นรากฐานของการทำจิตบำบัดสมัยใหม่ที่เรียกว่า cognitive therapy สำหรับโรคทางจิตเวชศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้า

เพราะอะไรสังคมต้องกลายเป็นหนึ่งเดียวเพียงนี้ คำตอบมิได้อยู่ที่จิตใต้สำนึกและจิตใต้สำนึกที่มาจากบรรพบุรุษเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ด้วย หนังสือเล่มนี้ได้พาดพิงถึงสงครามเย็นในช่วงทศวรรษ 1940-1960 ซึ่งสามารถทำลายล้างมนุษยชาติได้ง่ายๆ (ด้วยระเบิดปรมาณู) เพราะอันตรายที่แท้มิได้อยู่ที่สงครามเย็น (และระเบิดปรมาณู) แต่อันตรายที่แท้จริงอยู่ในใจคนเราเอง หากปล่อยให้ใจคนเป็นอิสระมากเกินไปสังคมไม่น่าจะรอด สังคมจึงมีกระบวนการที่จะทำตนเองให้อยู่เหนือจิตใจ จะเห็นว่าสังคมก็มี “ตัวตน” คือ self เช่นเดียวกัน

ไปที่หน้า 41 actor-observer bias ความเอนเอียงในการระบุสาเหตุของผู้กระทำกับผู้สังเกต เรื่องนี้มีพื้นฐานมาจากจิตวิเคราะห์เช่นกัน คือเรื่องการเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง เรียกว่า self-centered และ egocentricism สองคำนี้มีความต่างอยู่บ้าง คำแรกมักใช้เมื่อเป็นจิตสำนึก (conscious) คำที่สองมักใช้เมื่อเป็นจิตใต้สำนึก (unconscious) คนเราเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งประมาณเจ็ดขวบจะเริ่มลดลง

แต่พัฒนาการทุกประเด็นของคนเรามิได้เคยหมดไปจริงๆ จะหลงเหลืออยู่ในวัยผู้ใหญ่ไม่มากก็น้อย ขึ้นกับว่าเรา ติดขัด (fixation) หรือ ถดถอย (regression) มากน้อยเพียงใดตามแต่ที่ชีวิตของคนแต่ละคนจะเติบโตมา พูดง่ายๆ ว่าวันนี้เราทุกคนยังเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง

จิตวิทยาสังคมอธิบายอคติที่เกิดจากใครเป็นผู้สังเกตการณ์ดังนี้ เวลาเราพบคนอื่นทำไม่เข้าท่า เราจะเป็นผู้สังเกตการณ์ เราจะอธิบายเหตุผลที่เขาทำไม่เข้าท่าจากภาพที่เห็นทั้งหมดคือทั้ง ฉากหน้า (foreground) และ ฉากหลัง (background) กล่าวคือเราเอาภูมิหลัง พื้นเพ และสถานการณ์รอบด้าน รวมทั้งนิสัยของเขาเอามาวิพากษ์ด้วย เช่น “ที่จอดรถคนพิการต้องเป็นของคนพิการเท่านั้น พ่อแม่เขาไม่สั่งสอนมารึอย่างไร” 

แต่ในเหตุการณ์เดียวกันที่เราทำลงไป เราจะไม่เห็นฉากหลังของตัวเอง อย่างมากที่สุดเราอาจจะเห็นตัวเราเองและเหตุผลของเราเอง เช่น “จอดครู่เดียว วิ่งเข้าไปซื้อของแป๊บเดียวเดี๋ยวออกมาไม่เป็นอะไรหรอก ว่างๆ อยู่” แต่เรามิได้เฉลียวใจว่าพ่อแม่ของเราก็ไม่สั่งสอนเช่นกัน

ความรู้ข้อนี้อาจจะใช้อธิบายเรื่องว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองได้เรื่อยๆ เช่น ตัวเองอยู่บ้านหลวงได้ คนอื่นอยู่ไม่ได้ หรือครูแต่งตัวสวยงามประกวดประขันอย่างฟุ่มเฟือยได้ แต่จะให้นักเรียนทำแบบเดียวกันยอมไม่ได้ ยกตัวอย่างไปเถอะ สมัยนี้มีอะไรมากมายรอบตัวเป็นเช่นนี้ คนจนทำผิดเข้าคุก คนรวยทำแบบเดียวกันรอดตัว อธิบายว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งการเช่นนั้นได้เพราะมิได้มองฉากหลังของตัวว่าที่แท้แล้วตัวเองอยู่เหนือกว่าคนทุกคนในสังคมมากเพียงใด เป็นต้น

หน้า 52 schema และ stereotype โครงสร้างความคิดและภาพเหมารวม เป็นอีกสองเรื่องที่ครอบงำคนทั้งสังคมอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างโครงสร้างความคิดที่หนังสือยกมาดีมากอยู่แล้ว เวลาเราพูดถึงผลไม้เรานึกถึงส้มก่อนเป็นส่วนใหญ่เพราะมีขายทั่วไปตลอดปี ถ้าเป็นที่อังกฤษคนน่าจะคิดถึงแอปเปิลมากที่สุดเพราะตกเต็มพื้นทั่วไป ถ้าเราพูดถึงช่างซ่อมรถ สมองคนหลายคนจะคิดภาพผู้ชายออกมาก่อน จะเห็นว่าโครงสร้างความคิดขึ้นกับวิธีจำแนกคือ classification วิธีจำแนกมิได้มีชั้นเดียว แต่มีหลายชั้น เรียกว่า hierarchy classification

เรื่องนี้สำคัญ ลองนึกภาพเด็กไทยตอบ ก ข ค ง มา 12 ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความสามารถของสมองในการจำแนกพวกมีจำกัดมาก สมมติว่าเราปฏิรูปการศึกษาเสียใหม่ ให้เด็กไทยได้ใช้สมองจำแนกสรรพสิ่งด้วยตัวแปร (parameters) ของเขาเอง เช่น สัตว์มีกี่ชนิด ให้เด็กๆ จำแนกด้วยตัวแปรของเขาเอง คนหนึ่งอาจจะจำแนกเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ คนหนึ่งอาจจะจำแนกเป็นสัตว์กินพืช สัตว์กินเนื้อ บางคนอาจจะจำแนกตามลักษณะนิสัย เช่น สิงโตดุร้าย ปลาทองใจดี เป็นต้น ด้วยวิธีนี้สมองจะเปิดกว้างไม่ติดในกะลาโดยง่าย สุดท้ายคนเราย่อมมีชุดความคิดที่ตายตัวอยู่บ้างแต่ก็จะไม่ตายตัวมากไป ไม่รวบรัดปักใจเชื่อมากไปว่าช่างซ่อมรถต้องเป็นผู้ชายแน่ๆ

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ลองนึกถึงการเข้าห้างซื้อของ เข้าเซเว่น เข้าบิ๊กซี เข้าอิเกีย สมองของคนเราต้องใช้ความสามารถในการจำแนกสินค้าต่างๆ กันมากจึงจะเดินหาของพบในเวลาที่จำกัด เป็นต้น

ชุดความคิดที่ซ้ำๆ และคับแคบนำไปสู่การคิดเหมารวมได้ง่าย เช่น คนดำต้องเป็นอาชญากรแน่ๆ มาจนถึงวันนี้ เสื้อแดงต้องโง่เป็นควายแน่ๆ หรือเสื้อเหลืองต้องสลิ่มแน่นอน ไปทำงานที่สถานบันเทิงเมียนม่าต้องเป็นผู้หญิงไม่ดีแน่ๆ เป็นต้น แต่ว่าช่างซ่อมรถยนต์ไม่จำเป็นต้องเป็นชาย คนดำไม่จำเป็นต้องเป็นอาชญากร เสื้อแดงไม่จำเป็นต้องเป็นควาย เสื้อเหลืองไม่จำเป็นต้องเป็นสลิ่ม และสตรีที่ต้องไปทำงานนอกประเทศ มิใช่เพราะเขาไม่รักดีแต่เขาไม่มีจะกินจริงๆ

หน้า 63 เรื่อง mere exposure effect คนเราชอบสิ่งที่คุ้นเคยเป็นข้อความง่ายๆ ที่เราหลงลืม ยกตัวอย่าง คนเรามักไม่ชอบรูปตัวเองในกระจกเหตุเพราะเราไม่คุ้นเคยกับการมองตัวเองอยู่ก่อนแล้ว ไม่นับว่าไม่มีทางเลยที่คนเราจะเห็นใบหน้าหรือรูปร่างตัวเองได้ทั้งหมดผ่านกระจกเงา ในขณะที่คนอื่นมองเห็นร่างกายและใบหน้าของเราทั้งหมดได้มากกว่าและคุ้นเคยกว่า ถึงวันนี้ปรากฏการณ์นี้ยิ่งเห็นเด่นชัด ทุกครั้งที่เราเซลฟี่เรามักไม่พอใจภาพที่ออกมา ในขณะที่คนอื่นจะพูดว่าเธอก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว แม้กระทั่งเรื่องเสียง คนเราไม่ได้ยินเสียงของตัวเองตามที่เป็นจริงเพราะเสียงบางส่วนผ่านกะโหลกศีรษะออกมาด้วย เราจึงมักประท้วงว่าเสียงของเราในเครื่องบันทึกเทปไม่ตรงกับเสียงของเราที่แท้จริง แต่คนที่ฟังจะบอกว่าเสียงของเธอก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว

หน้า 69 social desirability ความน่าพึงปรารถนาทางสังคม อาจพูดให้ง่ายขึ้นว่าการรักษาภาพลักษณ์หรือภาพพจน์ที่ดีของตนเอง ยกตัวอย่างงานวิจัยในหนังสือเล่มนี้ เมื่อนักวิจัยคนหนึ่งพาคนจีนคู่สามีภรรยาไปร้านอาหารโดยไม่บอกล่วงหน้า พวกเขาได้รับการต้อนรับเสมอ แต่ถ้ามีการโทรนัดหมายล่วงหน้าโดยระบุว่าลูกค้าเป็นชาวจีนสองคน พบว่าพวกเขาถูกปฏิเสธการจองโต๊ะเสียเป็นส่วนมาก ประเด็นคือความต้องการที่จะรักษาภาพลักษณ์หรือภาพพจน์ของเจ้าของร้านอาหารสามารถบดบังเจตคติส่วนบุคคลได้ชั่วคราว

ความรู้เรื่องคนเราชอบสิ่งที่คุ้นเคยและความต้องการจะรักษาภาพลักษณ์นี้นำไปสู่เรื่องสำคัญที่น่าปวดหัวที่สุดของทุกบ้านเมืองคือ เรื่อง cognitive dissonance หนังสือเล่มนี้แปลว่าความไม่สอดคล้องกับการรู้คิด คำอธิบายไม่ยาก คนเราพร้อมจะเปลี่ยนเจตคติของตัวเองให้เข้ากับพฤติกรรม เหตุเพราะพฤติกรรมนั้นเปลี่ยนยาก หรือทำไปแล้ว หรือถูกครอบงำด้วย mere exposure effect และ social desirability ดังที่อธิบายไปก่อนหน้านี้

พูดง่ายๆ ว่าใครๆ ก็ทำกัน เราก็ทำด้วย แต่ที่แท้เรามิได้คิดแบบนั้นจริงๆ หรอก ดังนั้นเปลี่ยนความคิดเสียดีกว่า

ความไม่สอดคล้องกับการรู้คิดเป็นปัญหามาก เพราะมันทำให้คนเราเชื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อเอาเสียจริงๆ ทั้งที่ที่แท้แล้วก็ไม่ได้เป็นเอามากขนาดนั้นในตอนแรก

จะว่าไปเรื่องนี้มิใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับนักจิตวิเคราะห์ ฟรอยด์ใช้คำศัพท์ rationalization เพื่อเรียกกลไกทางจิตซึ่งเป็นจิตใต้สำนึกซึ่งมีหน้าที่ปัดเป่าความขัดแย้งในจิตใจ แปลเป็นไทยว่า ข้ออ้าง คนเราจะทำอะไรสักอย่างต้องอ้างนั่นอ้างนี่เสมอเพื่อให้ตนเองรู้สึกได้ว่าตนเองเป็นคนมีเหตุผล และหลงเชื่ออย่างสนิทใจว่าตัวเองเป็นคนมีเหตุผลจริงๆ มิได้ข้างๆ คูๆ หรือหน้าด้านแต่อย่างใด

ทั้งที่ในความเป็นจริงคือ หน้าด้าน

 

จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา

Richard J. Crisp เขียน

ทิพย์นภา หวนสุริยา แปล

184 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่