อ่าน ‘จิตวิทยาสังคม’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1)

[su_note note_color=”#f9f0fc”]บทความสองตอนจบเรื่อง อ่าน ‘จิตวิทยาสังคม’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นี้เป็นข้อเขียนเพื่อขยายความหนังสือ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา เขียนโดย Richard J. Crisp แปลโดยทิพย์นภา หวนสุริยา

เมื่อมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “โลก” เราจึงควรพกพาแว่นตาของ “จิตวิทยาสังคม” ไว้ใช้มองโลก นี่คือเสาหลักแห่งสาขาจิตวิทยาร่วมสมัยที่สะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคล-สังคมได้อย่างแจ่มชัด ซึ่งจะนำไปสู่คำตอบว่าเราคือใคร มีบทบาทแบบใด และเราจะร่วมกันรับมืออุปสรรคและปัญหาทั้งหลายได้อย่างไรในอนาคต[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

ทำไมคนเราถึงเชื่อฟังคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยจริยธรรม

 

หนังโทรทัศน์ปี 1976 เรื่อง The Tenth Level นำแสดงโดย วิลเลียม แชตเนอร์ และ จอห์น ทราโวลตา เป็นหนังหาดูได้ยาก หนังเล่าเรื่องการทดลองทางสังคมศาสตร์ที่น่าตื่นตะลึงชิ้นหนึ่งเพื่อหาคำตอบว่าเพราะอะไรทหารนาซีจำนวนมากจึงเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในการทารุณและสังหารชาวยิวหกล้านคนได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นนำไปสู่คำถามที่ชวนงุนงงมากผู้ทำทำไปได้อย่างไร และผู้ไม่อยากทำทำตามคำสั่งเช่นนั้นได้อย่างไร การตอบคำถามนี้ว่าเพราะถ้าไม่ทำก็จะถูกฆ่าตายนั้นไม่พอ

วิลเลียม แชตเนอร์ เวลานั้นเป็นที่รู้จักในบทกัปตันเคิร์กจาก สตาร์เทรค ภาคหนังทีวีอยู่ก่อนแล้ว ภาคหนังใหญ่ยังไม่มา ส่วนจอห์น ทราโวลตา ยังโนเนมอยู่ แชตเนอร์รับบทตัวละครสมมติชื่อ สตีเฟน เทอร์เนอร์ ซึ่งหนังใช้เป็นตัวแทนของนักวิจัย สแตนลีย์ มิลแกรม ซึ่งมีอยู่จริง และจะถูกกล่าวถึงในหนังสือ จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา เล่มนี้

สตีเฟน เทอร์เนอร์ ในหนังทำงานวิจัยแบบที่สแตนลีย์ มิลแกรม เคยทำ เขาออกแบบให้นักศึกษาที่เข้าร่วมงานวิจัยทำหน้าที่กดปุ่มช็อกไฟฟ้านักศึกษาอีกคนหนึ่งที่ตอบคำถามผิด แล้วเพิ่มความแรงของไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่านักศึกษาซึ่งถูกช็อกนั้นจะร้องออกมาด้วยความเจ็บปวดแล้ว เทอร์เนอร์พยายามหาคำตอบว่าเพราะอะไรนักศึกษาที่กดสวิตช์จึงยอมทำตามคำสั่งโดยง่ายทั้งที่เห็นเพื่อนเจ็บปวดและรับรู้ว่าไฟฟ้ากำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต

หนังเปิดเผยในภายหลังว่านักศึกษาที่ถูกไฟช็อตนั้นมิได้ถูกไฟฟ้าจริงๆ เป็นเพียงการแสดงเพื่อตบตาผู้ถูกทดลองคือนักศึกษาที่กดสวิตช์ว่าจะทำตามคำสั่งไปได้มากเพียงใดและไกลเพียงใด ทั้งนี้ด้วยการออกแบบให้นักศึกษาทั้งสองคนคือผู้กดสวิตช์และผู้ตอบคำถามอยู่คนละห้อง คำถามมีง่ายๆ ว่านักศึกษาที่กดสวิตช์นั้นสามารถหยุดกดปุ่มได้ตลอดเวลาแล้วทำไมไม่ทำ จริยธรรรมส่วนตัวถูกผู้อื่นหรือสังคมบดบังได้มากขนาดนั้นเชียวหรือ

สแตนลีย์ มิลแกรม ทำการทดลองนี้เมื่อปี 1961 ที่มหาวิทยาลัยเยล สามเดือนหลังการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามนาซี อดอล์ฟ ไอค์แมน ที่เยรูซาเล็ม

ก่อนหน้าการทดลอง มิลแกรมได้สำรวจความคิดเห็นของคนจำนวนหนึ่งรวมทั้งจิตแพทย์ด้วยเพื่อทำนายว่าผู้กดสวิตช์จะไม่ยอมกดต่อหลังจากที่ผู้ร้องด้วยความเจ็บปวดเริ่มร้อง ตัวเลขที่ได้คือผู้กดสวิตช์ร้อยละ 86 จะไม่กดต่อเมื่อไฟฟ้าถึง 210 โวลต์ แต่ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครสักคนเดียวที่จะหยุดกดสวิตช์ต่อ คำทำนายว่าร้อยละ 96 จะหยุดกดเมื่อแรงดันไฟฟ้าถึง 315 โวลต์ แต่ผลการทดลองมีเพียงร้อยละ 22.5 เท่านั้นที่หยุดกด ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 65 ของผู้กดสวิตช์กดไปเรื่อยๆ จนถึงป้ายระดับอันตราย ทั้งหมดนี้มิลแกรมทำเพียงแค่ยืนยันคำสั่งให้ทดลองต่อไปเท่านั้นเอง – เป็นข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้

มิลแกรมพบว่าตัวแปรที่ทำให้คำสั่งของเขาได้ผลขึ้นกับบทบาททางสังคมของผู้ออกคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นชุดแต่งกายของผู้ออกคำสั่ง สถานะทางวิชาการ และสถานะของมหาวิทยาลัยที่ทำการทดลอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องระยะทางระหว่างผู้สั่งกับผู้ออกคำสั่ง ถ้ามิลแกรมสั่งให้กดต่อจากอีกห้องหนึ่งพบว่าการเชื่อฟังจะลดลง อีกตัวแปรหนึ่งคือการมีเพื่อนอยู่ข้างๆ ผู้กดสวิตช์ พบว่าผู้กดสวิตช์ที่อยู่คนเดียวจะทำตามคำสั่งได้มากกว่า งานทดลองนี้ยืนยันการทดลองอีกหลายเรื่องที่บอกว่าการแบ่งแยกแล้วปกครองนั้นมีส่วนจริงอยู่มาก

แม้ว่าจะมีผู้ทำการทดลองนี้ซ้ำอีกหลายครั้งจากหลายสถานที่ในเวลาต่อมาและผลสรุปไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่เราก็มีหลักฐานสนับสนุนมากพอที่จะบอกว่าสังคมมีอิทธิพลเหนือปัจเจกบุคคลในการตัดสินใจทางจริยธรรม ลำพังเรื่องนี้เรื่องเดียวก็อธิบายปรากฏการณ์ในสังคมได้มากมาย

เพราะอะไรครูจำนวนมาก ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไปจนถึงประชากรจำนวนหนึ่งจึงรู้สึกว่าการทำอนาจารเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แล้วการละเมิดเด็กนักเรียนหญิงคนนั้นเป็นหมู่คณะทางสื่อต่างๆ จึงเป็นเรื่องยอมรับได้ทั้งๆ ที่ผิดจริยธรรม

เพราะอะไรแพทย์คนหนึ่งที่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการมีสายสัมพันธ์กับบริษัทยาหรือบริษัทขายอุปกรณ์การแพทย์ถึงระดับรับสินน้ำใจ การเลี้ยงดูปูเสื่อ และค่าตอบแทนจากบริษัทมากมายจึงไม่ขัดขืนที่จะเป็นตัวของตัวเองแล้วปฏิเสธธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้

เพราะอะไรข้าราชการหลายหน่วยงานจึงกล้าคอร์รัปชั่นหรือกินตามน้ำเหมือนคนอื่นๆ ทั้งที่รู้ว่าเป็นความผิดและไม่สมควรทำแม้ว่าจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นงานดูแลทรัพยากรธรรมชาติ งานรับเหมาก่อสร้าง งานสร้างถนน งานดูแลความปลอดภัย งานยาเสพติด แม้กระทั่งงานสวัสดิการสังคม รวมทั้งงานบริการประชาชนปกติ

หากใช้การทดลองของมิลแกรมเป็นตัวตั้ง คำตอบที่ได้คือเพราะมี “ผู้ใหญ่” ทำให้ดูหรือออกคำสั่ง ผู้ใหญ่นั้นอยู่ใกล้มากพอที่คำสั่งหรืออิทธิพลจะครอบคลุมปัจเจกบุคคลไว้ได้อย่างแน่นหนา และผู้ถูกกระทำอยู่โดดเดี่ยวไร้คู่คิดมากเกินไป ทางออกก็จะเป็นไปตามทฤษฎีนี้ นั่นคือทำให้ผู้ใหญ่นั้นหยุดออกคำสั่งหรือลดบทบาทลงเสียที หรือเอาผู้ใหญ่นั้นออกจากสถานะที่ “ใกล้ชิด” กับผู้ทำตามคำสั่งหรือเลียนแบบ และสุดท้ายคือเพิ่มเพื่อนร่วมคิดของปัจเจกบุคคลที่หาญกล้าไม่ทำตามคำสั่ง

จะเห็นว่าหนทางแก้ไขที่ว่ามาทำได้ยากเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเพราะการสื่อสารที่มีจำกัด แต่ในโลกที่มีไวไฟครอบคลุมทุกพื้นที่และสมาร์ตโฟนบนมือนักเรียนหรือนักศึกษาแพทย์ทุกคน การครอบงำทางความคิดที่ผิดจริยธรรมต่อปัจเจกบุคคลเริ่มทำได้ยากขึ้น พวกเขามีข่าวสารอื่นและทางเลือกอื่นมากขึ้น มากไปกว่านี้คือพวกเขามีเพื่อนคู่คิดมากขึ้น และหากหาเพื่อนคู่คิดบนมือถือมิได้พวกเขาเริ่มต้นมีความสามารถออกมาหาในฝูงชนหรือม็อบได้ง่ายขึ้น หากมิลแกรมยังดึงดันจะออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลหรือจริยธรรมต่อไปเขาน่าจะได้ผลการทดลองที่แตกต่างจากเมื่อปี 1961 มาก ร้อยละของผู้ทำตามคำสั่งน่าจะลดลง

อย่างไรก็ตาม ลำพังตัวแปรเพียงสามตัวคือสถานะของผู้ออกคำสั่ง ความใกล้ชิด และจำนวนเพื่อนคู่คิดของผู้ถูกกระทำไม่สามารถไขความกระจ่างได้ทั้งหมด หนังสือจิตวิทยาสังคมเล่มนี้เล่าเรื่องแนวคิดและทฤษฎีอีกหลายเรื่องที่อธิบายว่าสังคมครอบงำคนเราอย่างไร ด้วยความที่หนังสือเล่มเล็กและเล่าแต่ละเรื่องสั้นมากจึงยากต่อการทำความเข้าใจ ตอนต่อไปเราจะมาทำความเข้าใจอีกบางเรื่องต่อ

วันนี้เอาไปเรื่องเดียวก่อน ข้อสรุปคืออย่ามั่นใจนักว่าเราเป็นตัวของตัวเอง

 

จิตวิทยาสังคม: ความรู้ฉบับพกพา

Richard J. Crisp เขียน

ทิพย์นภา หวนสุริยา แปล

184 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่