อับอาย บกพร่อง ไร้ค่า: ร่วมสร้างชั้นเรียนที่ทลายการทำร้ายนักเรียนด้วยความอับอาย

บุญชัย แซ่เงี้ยว เรียบเรียง

 

เคยไหม เคยเจอครูหรือโค้ชกีฬาในโรงเรียนชอบกระตุ้นนักเรียนด้วยการประจานให้อับอาย ในแบบที่ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าตนไร้ค่า พวกเขาเข้าใจผิดคิดว่าความอับอายใช้สร้างแรงจูงใจได้ดี

แท้จริงแล้ว การทำให้นักเรียนอับอายไม่มีประโยชน์อื่นใด นอกจากลดทอนคุณค่าในตัวเด็กๆ ทั้งยังทำให้พวกเขารู้สึกไม่คู่ควรและไม่เป็นที่ต้องการ ความอับอายเป็นแรงผลักที่ทรงพลัง แต่ไม่ใช่แรงผลักในทางที่ดี เพราะมันผลักให้คนปิดใจ ไม่อยากมีส่วนร่วม

มาร่วมกันหาคำตอบว่าเราจะก้าวข้ามการลดทอนคุณค่านักเรียนได้อย่างไร แล้วมองหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเหมาะควรแบบที่เพิ่มพลังให้พวกเขา

 

ความอับอายคืออะไร

ความอับอายเป็นเรื่องที่เกิดกับทุกคนและเป็นประสบการณ์พื้นฐานของมนุษย์ นักวิจัยด้านความอับอายและความเปราะบาง เบรเน บราวน์ (Brené Brown) ซึ่งศึกษาเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน นิยามความอับอายว่าคือ

“ความรู้สึกหรือประสบการณ์อันเจ็บปวดจากความเชื่อว่าตนบกพร่องและไม่มีค่าพอที่จะเป็นที่รักหรือได้รับการยอมรับจากผู้อื่น”

เบรเน บราวน์, ภาพจาก wikipedia.org

เมื่อรู้สึกว่าตัวเองประหม่าตอนอยู่กับคนหมู่มาก นั่นก็เป็นความอับอายแบบหนึ่ง เมื่อรู้สึกพ่ายแพ้เพราะไม่อาจบรรลุเป้าหมาย นั่นก็คือความอับอาย เมื่อไม่สบายใจเพราะรู้สึกไม่ดีพอ ไม่โดดเด่น หรือไม่มีคุณค่าทั้งในชีวิตประจำวันและอาชีพการงาน นั่นก็เป็นความอับอาย ความอับอายเป็นอารมณ์ที่ทรงพลัง เพราะเมื่อรู้สึกอับอาย เราจะเชื่อว่าตัวเองไม่มีคุณค่าและไม่เป็นที่ต้องการ

บราวน์กล่าวว่าทุกวันนี้ความอับอายยังคงเป็นเครื่องมือจัดการชั้นเรียนที่ได้รับความนิยมที่สุด และจากการพูดคุยกับกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเรื่องความอับอาย กว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่าพวกเขายังคงจำช่วงเวลาในโรงเรียนที่ทำให้รู้สึกอับอายได้เป็นอย่างดี และมันส่งผลต่อความคิดที่พวกเขามีต่อการเรียนรู้

ความอับอายและชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) เกี่ยวข้องกันอย่างไม่อาจแยกได้ โรงเรียนมีส่วนในการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความอับอายทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ โรงเรียนที่ยึดถือวัฒนธรรมการประจานให้อับอายย่อมไม่อาจเปิดรับชุดความคิดแบบเติบโตได้

 

ชั้นเรียนที่เท่าทันความอับอาย

ความอับอายมีผลกระทบถึงชุดความคิดแบบเติบโตอย่างลึกซึ้ง ความอับอายจะทำลายความเชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้  เมื่อเราทำให้นักเรียนอับอาย ก็เท่ากับเราทำลายศักยภาพในการเติบโตของนักเรียนไปด้วย

ในชั้นเรียนที่เท่าทันเรื่องนี้ ครูจะเลี่ยงการประจานนักเรียนและเลือกใช้วิธีที่เข้าอกเข้าใจนักเรียนมากขึ้น

ชั้นเรียนที่ทุกคนพูดถึงความอับอายได้อย่างอิสระ และรับมือด้วยความเข้าอกเข้าใจ คือชั้นเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้โต้ตอบโต้พลังลบที่มาจากความอับอาย เมื่อครูและนักเรียนร่วมกันต่อสู้กับความอับอายด้วยความเข้าอกเข้าใจ ความอับอายย่อมไม่อาจคงอยู่ได้

การจะบอกเลิกประเพณีการประจานให้อับอายในโรงเรียนได้ คือต้องรู้เท่าทันเมื่อมันเกิดขึ้น บางครั้งครูอาจเป็นผู้สร้างความอับอายให้นักเรียนได้โดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นการที่ครูแบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ ซึ่งแม้จะเกิดจากความตั้งใจดี แต่หากทำให้เด็กๆ รู้สึกอับอายจนส่งผลระยะยาวต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง เราก็ต้องถามตัวเองว่าผลที่ตามมาระยะยาวคุ้มค่ากับประโยชน์ระยะสั้นที่ได้หรือไม่

เราลองมาศึกษากรณีตัวอย่างการประจานให้อับอายที่พบบ่อย และร่วมกันคิดหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้ใครต้องเจอกับเรื่องแบบนี้อีก ดังนี้

 

สถานการณ์ที่สร้างความอับอาย: ครูโทรรายงานผู้ปกครองถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียนขณะอยู่ต่อหน้า
เพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ

วิธีแก้ไข: เมื่อพูดถึงนักเรียน (แม้กระทั่งกับครูคนอื่น) การสนทนาต้องเป็นไปอย่างมืออาชีพ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว

 

สถานการณ์ที่สร้างความอับอาย: นักเรียนที่ถูกจับได้ว่าแอบส่งข้อความทางโทรศัพท์ ถูกบังคับให้อ่านออกเสียงข้อความให้เพื่อนทั้งชั้นฟัง

วิธีแก้ไข: แนะนำวิธีใช้โทรศัพท์ที่เหมาะสมให้แก่นักเรียนด้วยการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว แต่หากนักเรียนยังทำผิดซ้ำอีก ให้กำหนดวิธีลงโทษที่สมเหตุสมผล

 

สถานการณ์ที่สร้างความอับอาย: ครูแบ่งกลุ่มนักเรียนตามระดับความสามารถ มีการแบ่งกลุ่มนักเรียนที่ “อ่าน” เก่ง และกลุ่มที่ผลการเรียนไม่ดี

วิธีแก้ไข: หากใช้วิธีจับกลุ่มตามความสามารถ สมาชิกในกลุ่มต้องเวียนกันเข้ากลุ่มใหม่ๆ เรื่อยๆ หรือให้ใช้วิธีจัดกลุ่มผสมแบบสุ่มโดยนักเรียนเลือกได้เอง

 

สถานการณ์ที่สร้างความอับอาย: เพื่อนครูคนหนึ่งไม่ค่อยอยากจะรับผิดกับเรื่องใดๆ ทั้งยังมักประจานความผิดและจับผิดผู้อื่น

วิธีแก้ไข: ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี พยายามรับผิดชอบในหน้าที่ของตน รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมที่จะช่วยเชื่อมต่อถึงกัน โดยเผยความเปราะบางออกมา เข้าอกเข้าใจกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จะทำให้ทีมทำงานได้ดียิ่งขึ้น

 

สถานการณ์ที่สร้างความอับอาย: ครูให้นักเรียนตรวจงานของเพื่อน และประกาศผลคะแนนให้ทุกคนทราบ

วิธีแก้ไข: เก็บข้อมูลผลการประเมินเป็นความลับเสมอ และหันมาส่งเสริมห้องเรียนที่มีวัฒนธรรมเน้นการเติบโต มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับ “เกรด”

 

คุมความประพฤติโดยไม่พึ่งความอับอาย

เราวางแผนจัดการความประพฤติอย่างมีประสิทธิภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดความอับอาย หนังสือ The Growth Mindset Playbook กล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง “ความรู้สึกผิด” กับ “ความอับอาย” ไว้ คำแรกหมายถึง “ฉันทำสิ่งไม่ดี” คำหลังหมายถึง “ฉันเป็นคนไม่ดี” และทั้งสองคำนี้มีนัยต่อการคุมความประพฤติไม่เหมือนกัน

แอน มอนโร (Ann Monroe) ศาสตราจารย์ด้านการประถมศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี กล่าวว่าถึงแม้ความรู้สึกผิดและความอับอายจะคล้ายคลึงกันมากเมื่อมองผ่านๆ แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าความหมายโดยนัยของความรู้สึกทั้งสองประเภทนั้นแตกต่างกันมาก มอนโรกล่าวว่า

“… ความรู้สึกที่ส่งผลกระทบน้อยกว่าอย่างความรู้สึกผิดหรือความเขินอายใช้เป็นเครื่องมือสร้างวินัยได้เช่นเดียวกับความอับอายโดยไม่เสี่ยงก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจต่อความเชื่อมั่นในตนเอง … อีกทั้งงานวิจัยยังเผยว่าความรู้สึกเหล่านี้รุนแรงน้อยกว่าและส่งผลกระทบต่อจิตใจน้อยกว่าความอับอายมากนัก”

นี่ไม่ได้หมายความว่าให้ครูและโรงเรียนทุกแห่งยกเลิกการลงโทษทางวินัยเมื่อนักเรียนละเมิดกฎ หากแต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าภาษาและวิธีการที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมนั้นสำคัญเพียงใด ถ้อยคำที่ใช้ควรสื่อความหมายชัดเจน แทนที่เมื่อนักเรียนประพฤติตัวไม่เหมาะสมแล้วบอกว่า “เธอจะทำตัวดีๆ สักครั้งไม่ได้เลยหรือไง” จนนักเรียนรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่เป็นที่ต้องการ และเป็นคนไม่ดี ก็ควรเปลี่ยนวิธีมาเป็นการเรียกมาคุยส่วนตัวและบอกเตือนตรงๆ ซึ่งจะทำให้นักเรียนรู้สึกผิดต่อสิ่งที่ทำและไม่ตีความผิดไปไกลถึงขั้นว่า “ผมเป็นเด็กไม่ดี”

ผลกระทบหนึ่งที่เกิดจากการถูกทำให้อับอายบ่อยๆ คือการรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง บราวน์กล่าวว่า “หากคนเราไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง เราจะไม่ร่วมทำกิจกรรม เราจะไม่อยากทำงาน และเราจะเลิกใส่ใจ”

จำเป็นยิ่งที่ครูต้องเข้าใจในเรื่องนี้ ทั้งยังต้องตระหนักว่าความอับอายคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนตีตัวออกห่างจากห้องเรียน หากคุณสังเกตเห็นว่านักเรียนคนใดไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในชั้นเรียน นักเรียนคนดังกล่าวอาจกำลังรู้สึกอับอายอยู่ โดยในกรณีนี้ ครูช่วยนักเรียนให้เอาชนะความรู้สึกอับอายได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ

 

การพูดถึงความอับอาย

เมื่อพบเห็นเหตุการณ์การประจานให้อับอาย จงอย่ากลัวที่จะพูด เหตุที่ความอับอายมีอำนาจเหนือจิตใจคนเรา เป็นเพราะเราไม่กล้าที่จะพูดถึงมัน ทุกครั้งที่เราอับอาย เราจะอยากแทรกแผ่นดินหนีและแกล้งทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่อยากจะเอามาเป็นประเด็นในการพูดคุย แต่ที่จริงแล้วศัตรูโดยธรรมชาติของความอับอายก็คือความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ดังนั้นหากเราบอกเล่าเรื่องราวความอับอายกับใครสักคนที่เข้าอกเข้าใจความเจ็บปวด ความละอาย หรือความเสียใจของเรา ความรู้สึกอับอายนั้นจะบรรเทาลงได้เอง

 

ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เข้าอกเข้าใจ และสานสัมพันธ์

ทุกคนล้วนเคยรู้สึกอับอาย เมื่อรู้สึกอับอายหรือพบเจอคนที่กำลังรู้สึกเช่นนั้น การขอความช่วยเหลือและให้ความช่วยเหลือคือวิธีเยียวยาที่ดีที่สุด

เบรเน บราวน์ เคยกล่าวไว้ว่า

“หากเราสามารถบอกเล่าเรื่องที่ทำให้อับอายกับคนที่พร้อมรับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจได้ ความอับอายย่อมค่อยๆ ลบเลือนไป”

การสร้างชั้นเรียนที่เท่าทันความอับอายหมายความว่าคุณต้องกล้าที่จะเล่าเรื่องราวที่น่าอับอายของตัวเองกับนักเรียน และเป็นตัวอย่างให้พวกเขาเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการขอความช่วยเหลือและสานสัมพันธ์

ทั้งการแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อนักเรียนที่รู้สึกอับอาย การแสดงให้นักเรียนเห็นถึงคุณค่าของความสัมพันธ์ และความกล้าที่จะบอกเล่าความรู้สึกของตัวเอง เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างแนวทางปฏิบัติที่ดีแก่นักเรียน เมื่อพวกเขาต้องรับมือกับความอับอายในห้องเรียนหรือในชีวิตส่วนตัว

 

The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปกอ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่