Phenomenal Learning from Finland – สมรรถนะที่ 3 การดูแลตนเองและการจัดการชีวิตประจำวัน

เรื่อง : นันท์ชนก คามชิตานนท์

 

[su_note note_color=”#f7d843″]เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมความท้าทายใหม่ๆ ฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆ ที่โดดเด่นเรื่องการศึกษา ขานรับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยแนวคิดด้านการศึกษาที่ร้อยเรียงมาเป็นหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่

หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เน้นทักษะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลและควบคุมตนเอง ทักษะทางสังคม หรือทักษะการสื่อสาร ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนเอาตัวรอดและสร้างคุณค่าในตัวเองได้ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของคนเรามากขึ้นทุกที

สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการจึงเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่สำคัญในหลักสูตรการศึกษาใหม่ของฟินแลนด์ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมทักษะความเป็นมนุษย์ของเยาวชนแห่งอนาคต

สมรรถนะที่ 3 คือการดูแลตนเองและการจัดการชีวิตประจำวัน ปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักรับผิดชอบการใช้ชีวิตประจำวัน สุขภาวะ และความปลอดภัยของทั้งตนเองและคนรอบข้าง เพื่อสร้างสังคมที่ทำหน้าที่ได้ดีและมั่นคง[/su_note]

ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำแพร่กระจายกัดกินชีวิตในทุกมิติ เด็กๆ มากมายถูกลิดรอนโอกาสเหลือเพียงเศษกระพร่องกระแพร่ง และกลายเป็นกลุ่ม ‘ด้อย’ ที่มิอาจไล่ตามคนอื่นทันไปตลอดช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในโลกการทำงาน ในห้องเรียน หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน

เป้าหมายหนึ่งของการศึกษาฟินแลนด์คือการเติมเต็มส่วนที่ขาด ต่อเติมส่วนที่หาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เยาวชนในสังคม โดยเริ่มตั้งแต่ช่วยปฐมวัย และต่อเนื่องไปตลอดชีวิตการเรียนรู้ของเด็กๆ

แง่มุมหนึ่งที่โรงเรียนฟินแลนด์เห็นความสำคัญ และมองว่าเป็นสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 อันจะนำพาเยาวชนก้าวสู่โลกการใช้ชีวิตจริงได้อย่างแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพคือ ‘การดูแลและจัดการชีวิตประจำวัน’

หลายคนอาจเข้าใจว่าทักษะชีวิตประจำวันและการดูแลตนเองนี้เป็นทักษะที่เด็กควรได้เรียนรู้จากบ้าน ผ่านการอบรมสั่งสอนโดยผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด แต่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำมากางกั้นระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ ระหว่างเด็กๆ กับการเรียนรู้ที่บ้าน โรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะเข้ามาโอบอุ้มและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนี้

เป้าหมายของการเรียนรู้สมรรถนะการดูแลตนเองและการจัดการชีวิตประจำวันคือ ทักษะและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่พัฒนาสุขภาวะทั้งของตนเองและผู้อื่น  รวมถึงความเข้าใจว่าการกระทำของตนส่งผลในวงกว้างต่อชุมชนและผู้อื่นได้อย่างไรบ้าง เด็กๆ ต้องรู้จักจัดการชีวิตประจำวันของตนเอง เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ และรักษาความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่นได้

 

สาระสำคัญที่ 1 : การจัดการชีวิตประจวัน

ทักษะสำคัญที่นักเรียนควรได้เรียนรู้เพื่อที่จะจัดการชีวิตประจำวันของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การบริหารเวลา การตระหนักรู้ในฐานะผู้บริโภค และการควบคุมตนเองในยุคดิจิทัล

การบริหารเวลา

การบริหารเวลาคือการรู้เวลา การคาดคะเนและการกะประมาณการใช้เวลา รวมถึงการปรับตัวและการจัดระบบระเบียบ ซึ่งล้วนแล้วแต่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตที่ชีวิตการทำงานจะยืดหยุ่นมากขึ้นทั้งด้านเวลาและสถานที่

เราสามารถส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักบริหารเวลาได้ด้วยแนวทางต่างๆ เช่น

  • ให้นักเรียนเรียนรู้การจัดตารางเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝึกฝนด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น ตารางเวลาและปฏิทินออนไลน์
  • ให้นักเรียนสังเกตดูกิจกรรมที่ทำซ้ำๆ (routine) และกิจวัตรประจำวัน ว่าพวกเขาต้องใช้เวลาและความพยายามแค่ไหนเพื่อทำกิจกรรมประเภทต่างๆ เมื่อนักเรียนประเมินเวลาที่ใช้ต้องใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ พวกเขาก็จะพิจารณากระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้ดีขึ้นด้วย เช่น การทำภารกิจหนึ่งชิ้นใช้ระยะเวลาเท่าใด และจะต้องเผื่อเวลาสำหรับการเรียนรู้แค่ไหน

ทักษะการบริหารเวลาสามารถเริ่มปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเยาว์วัย นักเรียนควรค่อยๆ ลดการพึ่งพาผู้อื่นหรือเครื่องมือภายนอกลงไปทีละน้อย จนพึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด

การตระหนักรู้ในฐานะผู้บริโภค

หนุ่มสาวในปัจจุบันอาศัยอยู่ในสังคมบริโภคนิยมที่รายล้อมด้วยสื่อสารพัด พวกเขาอาจถูกชักจูงได้ง่ายๆ หากขาดทักษะผู้บริโภคที่ดีพอ โรงเรียนควรสอนให้เยาวชนรู้เท่าทันพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง และรู้ว่าการบริโภคของตนส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรอบอย่างไรบ้าง โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น

  • การบริหารเงินส่วนบุคคล โรงเรียนควรจะส่งเสริมเรื่องความพอดี การแบ่งปัน และความมัธยัสถ์ โดยเฉพาะในสังคมที่มีการพึ่งพาเงินกู้เพิ่มมากขึ้นทุกที
  • วิถีชีวิตแบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับระบบนิเวศ นักเรียนควรตระหนักปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและสำคัญยิ่งในปัจจุบัน และควรเข้าใจว่าตนจะบริโภคอย่างยั่งยืนเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง
  • การดูโฆษณาอย่างวิพากษ์ นักเรียนต้องอาศัยการคิดและการใช้เหตุผล รวมไปถึงทักษะการสื่อสารรอบด้าน (multiliteracy) เพื่อเสพโฆษณาอย่าวรู้เท่าทัน พวกเขาควรตระหนักว่าระบบติดตามทางดิจิทัลทำงานอย่างไร โซเชียลมีเดียชี้นำพฤติกรรมเราอย่างไร และโฆษณาถูกนำมาใช้เพื่อสร้างอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร โลกโซเชียลมีเดียมีกฎการตลาดแตกต่างจากการโฆษณาแบบดั้งเดิม โดยมักใช้การตลาดทางอ้อม เช่น ใช้บุคคลสาธารณะมาสร้างภาพให้แบรนด์ หรือวางผลิตภัณฑ์ประกอบฉากเพื่อโฆษณา (product placement)

การควบคุมตนเองในยุคดิจิทัล

งานวิจัยชี้ว่าการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สัมพันธ์กับคุณภาพและปริมาณการนอนของเด็กและวัยรุ่น หากพวกเขาใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไปก็อาจมีคุณภาพการนอนหลับแย่ลง เข้านอนช้าลง หรือนอนได้น้อยลง นอกจากนั้น การใช้สื่อในปริมาณมากยังมีความสัมพันธ์กับทั้งสุขภาวะและความเจ็บป่วยทางจิตด้วย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีงานวิจัยหรือการศึกษาใดสรุปได้ชัดเจนว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลักษณะใดที่ทำลายหรือส่งเสริมสุขภาวะ และเวลาใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับเด็กและวัยรุ่นคือแค่ไหน

โรงเรียนควรปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักควบคุมการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลด้วยตัวเอง เพื่อให้พวกเขาใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอย่างมีสมดุล เกิดเป็นพลังเชิงบวกและสร้างสรรค์ในการดำเนินชีวิต

ตัวอย่างเช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งอาจเป็นปัญหารบกวนที่สุดประการหนึ่งของการเรียนการสอนในห้องเรียนปัจจุบัน นักเรียนและครูสามารถร่วมกันระดมความคิดหาวิธีการควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน อาจเขียนกฎประจำห้องเรียนแล้วติดไว้ในบริเวณที่ทุกคนมองเห็นได้

อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวอุปกรณ์ดิจิทัลจนเกินไป ในโลกสมัยใหม่ อุปกรณ์เหล่านี้เป็นทรัพยากรที่หากใช้อย่างถูกวิธีก็มีประโยชน์ มีความหมาย และสร้างสรรค์ทั้งสำหรับการเรียนรู้และการจัดการชีวิตประจำวันได้

 

สาระสำคัญที่ 2 : การเป็นสมาชิกของสังคมที่ทำหน้าที่ได้ดี

สังคมที่ทำหน้าที่ได้ดี (well-functioning society) ต้องมีพลเมืองที่รับผิดชอบซึ่งดูแลเศรษฐกิจและสุขภาพของตนเองได้ หนี้สินของประเทศและรายจ่ายด้านสุขภาพกำลังพุ่งขึ้นในหลายๆ ประเทศ เยาวชนควรเรียนรู้ทักษะเหล่านี้เพื่อมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงของสังคม

สุขภาวะและสุขภาพถือเป็นความรับผิดชอบพื้นฐานของพลเมืองทุกคน เราต่างมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสุขภาวะของตนเอง รวมถึงสุขภาวะส่วนรวมและของประชาชนในสังคม เด็กๆ ควรมองเห็นว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อสุขภาวะของตนเองได้ เช่น

  • การใช้เทคโนโลยีอย่างคร่ำเคร่งจนเกินไป เด็กๆ ในโลกยุคดิจิทัลไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรร์เทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิง การเรียนรู้ การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำงาน หากพวกเขาไม่รู้จักใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างมีสมดุลก็อาจเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอ ปวดศีรษะ และปัญหาทางสรีระอื่นๆ เด็กๆ ควรจัดเวลาการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและการทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างเหมาะสม เช่น การออกกำลังกายหรือกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ นอกจากนั้น ในอนาคตเราจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการหาความรู้แบบอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับร่างกายมากขึ้นด้วย
  • การหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะและสุขภาพ รวมถึงการวิเคราะห์ประเมินข้อมูลนั้น เมื่อข้อมูลต่างๆ มากมายไหลท่วมท้นอินเทอร์เน็ต และไหลบ่าเข้ามาในการรับรู้ของเด็กๆ พวกเขาต้องรู้จักแยกแยะระหว่างข้อมูลที่อ้างอิงจากหลักฐานกับโฆษณาและความคิดเห็น โดยอาศัยทักษะการคิดและทักษะการสื่อสารรอบด้าน

เพื่อสนับสนุนการตระหนักรู้ด้านสุขภาวะและสุขภาพ โรงเรียนอาจสอดแทรกวิชาสุขศึกษาเข้าไปในรายวิชาต่างๆ ด้วย เช่น ชีววิทยา เคมี กีฬา และอื่นๆ นอกจากนั้น วิชาพลศึกษาและคหกรรมศาสตร์ก็ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ด้านสุขภาวะและสุขภาพได้เป็นอย่างดี

 

สาระสำคัญที่ 3 : ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน

ความปลอดภัยในชีวิตประจำวันนั้นเกิดจากความรู้สึกว่าตนเองปลอดภัย รวมถึงความสามารถในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเองได้ ทั้งความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ความปลอดภัยโดยทั่วไป

ความปลอดภัยไม่ได้เป็นแค่เพียงสภาวะทางกาย แต่รวมถึงจิตใจด้วย สมาชิกในโรงเรียนควรได้ร่วมกันพูดคุยว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างความรู้สึกปลอดภัยขึ้นมาในโรงเรียนได้ หรือปัจจัยใดบ้างที่บ่อนทำลายความรู้สึกนี้ นักเรียนควรได้ฝึกฝนการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในสถานการณ์อันตราย เพื่อเรียนรู้วิธีการประคับประคองความปลอดภัยให้ตนเองและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการเดินทาง ในโรงเรียน หรือในบ้าน แต่ละโรงเรียนต้องมีแผนงานความปลอดภัยและการช่วยเหลือรวมทั้งมีการฝึกซ้อมหนีภัยเป็นประจำ

สถานการณ์อันตรายประการหนึ่งที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ ในสังคมปัจจุบันคือการกลั่นแกล้ง ซึ่งนับเป็นความรุนแรงที่เป็นปัญหาเรื้อรังในโรงเรียนหลายแห่ง หนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการกลั่นแกล้งคือ การสร้างบรรยากาศแห่งความปลอดภัยและเชื่อใจขึ้นในโรงเรียน เด็กที่กลั่นแกล้งผู้อื่นมักจะมีประวัติถูกกลั่นแกล้งในอดีต และเป็นเหยื่อของความไม่ปลอดภัยในโรงเรียนมาก่อนเช่นกัน

ภาครัฐฟินแลนด์ได้เข้าแทรกแซงช่วยเหลือเพื่อป้องกันและจัดการกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เช่น โครงการต่อต้านการกลั่นแกล้ง KiVa (https://www.kivaprogram.net)

ความเป็นส่วนตัว

ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยในโรงเรียนอีกประการคือ การปกป้องความเป็นส่วนตัว ความเป็นส่วนตัวในทางกายภาพหมายความว่า นักเรียนควรปลอดภัยจากการรุกล้ำ การสัมผัส ความรุนแรง และการกลั่นแกล้ง

การรณรงค์ #MeToo ในฟินแลนด์เมื่อปี 2018 ยิ่งเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศและวิธีป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ ครูบางคนในฟินแลนด์ถึงกับถูกให้ออก ครูอาจารย์ถูกห้ามไม่ให้กลั่นแกล้งหรือคุกคามเด็กนักเรียนโดยเด็ดขาด หลายปีก่อนการสั่งให้เด็กบางคนออกไปยืนบริเวณโถงนอกชั้นเรียน (เรียกกันว่า “กล่องลงทัณฑ์”) ก็กลายเป็นเรื่องต้องห้ามด้วย

ในโลกดิจิทัล การปกป้องความเป็นส่วนตัวยิ่งกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ นักเรียนต้องได้เรียนรู้วิธีการสร้างขอบเขตความเป็นส่วนตัวในโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเอง เช่น การป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์และการตั้งค่าความปลอดภัยบนโซเชียลมีเดีย

ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งมีการค้นพบว่าบริษัทบางแห่งนำข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียไปใช้ในทางที่ผิด เช่น กรณีเคมบริดจ์อะนาไลติกา (Cambridge Analytica) ในปี 2018 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวนั้นลึกซึ้งและซับซ้อนเพียงใด

 

การดูแลตนเองและการจัดการชีวิตประจำวันเป็นสมรรถนะสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่พึ่งพาและรับผิดชอบตนเองได้ อันเป็นรากฐานของความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทั้งในระดับบุคคล สังคม และประเทศในที่สุด