อ่าน ‘หน้าจอ-โลกจริง’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5 – ตอนจบ)

[su_note note_color=”#fcf5e2″]หนังสือ หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (The Art of Screen Time: How Your Family Can Balance Digital Media and Real Life) เขียนโดย Anya Kamenetz คู่มือไขข้อข้องใจหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับการใช้ “หน้าจอ” โดยเฉพาะข้อมูลที่เคยรับรู้กันมา เข้าใจบทบาทและผลกระทบที่แท้จริงของหน้าจอ เพื่อให้ทุกคนใช้งานหน้าจอได้อย่างสนุก และทวงความสุขของชีวิตกลับคืนมาได้อีกครั้ง

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือเล่มนี้ อธิบายและขยายความประเด็นที่น่าสนใจให้เข้าใจง่าย พร้อมสอดแทรกตัวอย่างและคำแนะนำที่เอาไปใช้ได้จริง[/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

หน้าจอโลกจริง ภาค 2 “อุปกรณ์ของเราเอง พ่อแม่และหน้าจอ” มีความยาวสี่บท คือบทที่ 7-10 มีรายละเอียด ตัวเลขจากงานวิจัย และเอกสารอ้างอิงน่าสนใจเช่นเดิม ท่านที่แคลงใจเรื่องอะไร ที่ควรทำคือไปค้นเอกสารอ้างอิงท้ายบทแต่ละบทแล้วค้นไปให้ถึงนิพนธ์ต้นฉบับ

คัดมาเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้

เรื่องแรก ข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวของลูกเรา ดังที่ทราบว่าพ่อแม่สมัยใหม่ชอบโพสต์รูปลูกเล็กของตัวเอง (อ่านแล้วพ่อแม่ชาวอเมริกันน่าจะอาการหนักกว่าเราอีก) เรื่องผู้ร้ายได้ทุกอย่างของลูกเราไปรวมทั้งของเราและญาติๆ ของเราไปนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง มีอีกเรื่องหนึ่งที่มากับยุคสมัยคือยิ่งท่านดังมากโอกาสที่ทัวร์จะลงก็มากตามไปด้วย

เรื่องที่ 2 พ่อแม่ที่ใช้มือถือต่อหน้าลูกเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีจริงหรือ

การใช้สมาร์ตโฟนดึงเวลาของพ่อแม่ไปจริงหรือไม่?

มีตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าในเขตที่ใช้สมาร์ตโฟนได้ อุบัติเหตุในเด็กเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 10 ในทารกที่ต่ำกว่า 1 ขวบ ตัวเลขนี้นำมาซึ่งความอกสั่นขวัญแขวนไม่น้อย อีกตัวเลขหนึ่งที่เรารู้อยู่แล้วคืออุบัติเหตุรถชนสูงขึ้นเมื่อเราใช้มือถือขณะขับรถ เดาได้ว่าทั้งสองกรณีมีข้อโต้แย้งคือ อุบัติเหตุที่สูงขึ้นเกิดเพราะพ่อแม่เป็นคนประมาทเลินเล่ออยู่ก่อนแล้ว  หรือมาจากสถานะสังคมที่ต่ำกว่าเสียมากกว่า ไม่มีอะไรเกี่ยวกับมือถือเลย

เพจและหนังสือเลี้ยงลูกสมัยใหม่เทิดทูนความสมบูรณ์ของพ่อแม่เหนือจริง มากเสียจนกระทั่งการเล่นมือถือในสนามเด็กเล่นเป็นความผิดร้ายแรง การใช้มือถือในบ้านแล้วสนใจลูกน้อยลงกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูดถึง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพ่อแม่เกือบทุกบ้านบนโลกทำงานบนสมาร์ตโฟนเมื่ออยู่ที่บ้าน เราจะพบกันครึ่งทางได้อย่างไร

เพจและหนังสือเลี้ยงลูกสมัยใหม่พูดเองว่าเด็กต้องการเสรีภาพในการพัฒนา มาเรีย มอนเตสซอรี่ ก็พูดอะไรคล้ายๆ เช่นนี้  ดังนั้นทุกขณะที่เรากำลังใช้สมาร์ตโฟนในบ้าน มิได้เกิดข้อเสียกับเด็กเสมอไป ข้อดีมีอยู่นั่นคือเป็นเวลาที่เด็กมีเสรีภาพมากพอที่จะเดิน วิ่ง และปีนไปได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่นับเรื่องสำรวจเครื่องใช้ในครัวเรือนและขว้างแก้วสักใบ ประเด็นควรอยู่ที่เรามีปฏิกิริยาอย่างไรกับเรื่องแบบนี้เสียมากกว่า

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างคดีที่แม่ลูกห้าคนหนึ่ง เธอเสียลูกสามคนไปในสระว่ายน้ำขณะที่กำลังใช้โทรศัพท์มือถือ ครั้นเป็นที่เปิดเผยว่าเธอเป็นแม่ผิวสี ไม่มีรายได้ และกำลังเครียดกับเรื่องงาน เสียงวิจารณ์ในสังคมก็แตกกระเจิง

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เล่างานวิจัยน่าขนลุกอีกเรื่อง นั่นคือแม่ทำหน้านิ่งไม่มีความรู้สึกให้ทารกดู เราจะพบอาการงุนงง ไม่เข้าใจ กระสับกระส่าย ตามด้วยความพยายามของทารกที่จะแตะ ดึง ตี หรือตบใบหน้าแม่เพื่อให้แม่กลับคืนมา มีเสียงวิพากษ์งานวิจัยทำนองนี้ด้วยเช่นกัน (ไม่ต้องทดลองเองนะครับ) งานทดลองนี้บอกเป็นนัยว่าไม่ว่าพ่อแม่จะยุ่งมากเพียงไร ที่ไม่ควรทำคือ “ทำๆ  หยุดๆ และคาดเดามิได้”

โดยไม่ต้องทดลอง ผมเขียนเสมอว่าที่พ่อแม่ควรทำคือ “อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องยาวนาน” เด็กเรียนรู้และพัฒนาได้จากประโยคหลัง

โดยสรุปคือเรามีหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย และมีเวลาเสรีให้เด็กได้สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วพัฒนา โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงคอร์สพัฒนาอะไรมากมาย (หนังสือเขียน มิใช่ผมเขียน) ในระหว่างที่เด็กๆ กำลังสำรวจโลกรอบตัวนั้นเองคือเวลาที่เราจะเช็คอีเมล ตอบหัวหน้า ทักคนรัก หรือทักเพื่อนฝูงผ่านโทรศัพท์มือถือได้

สมมติลูกโตพอจะถามได้ว่าทำอะไร หรือแม้กระทั่งไม่จำเป็นต้องให้ลูกโตพอ เราก็สามารถบอกลูกได้เสมอว่ากำลังทำอะไรกับมือถือ กำลังส่งงานหัวหน้า กำลังสั่งงานลูกน้อง กำลังรับออเดอร์ลูกค้า หรือกำลังจ่ายค่าไฟฟ้า บอกลูกได้ด้วยว่าเพราะแม่จ่ายค่าไฟฟ้าด้วยโทรศัพท์มือถือนี่ไงถึงได้มีเวลาอยู่บ้านกับลูกตอนนี้ ตัวอย่างหลังนี้แสดงให้เห็นความย้อนแย้งของวาทกรรมที่ว่า “มือถือแย่งเวลาคุณไปจากลูก” ได้ดีมาก

อย่างไรก็ตาม ผมขอเตือนอีกครั้งหนึ่งไว้ตรงนี้  ให้ระวังว่าเราจะใช้มือถือเป็น “ข้ออ้าง” จนเคยชิน (คือกลไกทางจิต rationalization เพื่อสร้างความชอบธรรมและยังความสบายใจในสิ่งที่เราทำ)

“แม่กำลังส่งข้อความให้พ่อซื้อมะกะโรนีและชีสมาเพิ่ม” บอกลูกได้ครับ ว้าว! น่ากินๆ เมื่อลูกโตขึ้นยื่นโทรศัพท์มือถือให้เขากดอิโมจิรักพ่อสักรูปก็เป็นเรื่องที่ทำได้

เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย โซเชียลมีเดียมีประโยชน์มาก แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ด้วยหากไม่ระวัง คำแนะนำง่ายๆ คือให้เราเข้าไปเขียนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นโดยไม่สนใจยอดไลก์และคำวิพากษ์ หรือแม้กระทั่งเพื่อประโยชน์ทางการค้า ด้วยวิธีนี้โอกาสที่จะเป็นทุกข์ก็จะน้อยลง แต่ถ้าคาดหวังเพียงยอดไลก์หรือคำเยินยอ โอกาสที่จะเป็นทุกข์ก็จะสูงขึ้น มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้ากับจำนวนผู้ติดตามที่เราไม่รู้จักในอินสตาแกรม ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ร่ม “การเปรียบเทียบเชิงลบ” อีกต่อหนึ่ง

เมื่อเราเป็นพ่อแม่ เราทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดโดยไม่เปรียบเทียบลูกของเรากับลูกของคนอื่น นี่เป็นข้อแนะนำที่หนึ่ง มากกว่านี้คือไม่เปรียบเทียบความสามารถของเรากับความสามารถของพ่อแม่คนอื่น นี่เป็นคำแนะนำที่สอง และเป็นดังที่ผมพูดเสมอนั่นคือ “มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ทำวันนี้ดีกว่าเมื่อวานนี้ได้”

“มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานนี้ได้” คือคำที่ฌอง ลุค พิกคาร์ด กัปตันสตาร์เทร็คพูดกับร่างโคลนวัยหนุ่มของตัวเขาเองใน Star Trek the Next Generation, Nemesis นักแสดงที่รับบทร่างโคลนวัยหนุ่มของเขาคือทอม ฮาร์ดี้ สมัยที่คนยังไม่รู้จัก ซึ่งจะกลายเป็นดาราระดับแม่เหล็กในเวลาต่อมา

ช่วงท้ายๆ ของหนังสือ หน้าจอ-โลกจริง เล่มนี้เล่าเรื่องนวัตกรรมไอทีใหม่ๆ ที่พ่อแม่ไม่ไอทีไม่ค่อยรู้จัก ท่านสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่ผมจะเล่าเสริมเป็นประสบการณ์ตรงที่ได้พบมาจริงๆ ยังไม่ต้องไปถึงระดับ VR, AR, MR, AI หรือ IoT ในหนังสือด้วยซ้ำไป

เรื่องที่ 1 แอปพลิเคชั่นสุขภาพลูกสารพัด แอปพลิเคชั่นเหล่านี้มีข้อเสียคือกำหนดข้อปฏิบัติมากเสียจนพ่อแม่สูญเสียศักยภาพของตนเองไป เรื่องนี้มีประเด็นทางจิตวิเคราะห์ด้วย เมื่อ “ตัวตน” ของท่านหายไปกับแอปพลิเคชั่น แล้วลูกจะไปเหลืออะไร

เรื่องที่ 2 แอปพลิเคชั่นวัดค่าตัวเลขต่างๆ นานาของลูก สามีท่านหนึ่งพาภรรยามาพบเพราะเธอเช็คตัวเลขของลูกตลอดเวลา ทั้งไข้ ชีพจร ความดัน การหายใจ แม้กระทั่งเม็ดเลือด เมื่อถึงหน้าฝุ่นควัน PM 2.5 ก็หายห่วง ไม่เพียงเช็คตัวเลข AQI ทั้งวันแต่ยังนั่งอ่านผลกระทบของฝุ่นควันต่อสุขภาพลูกเพิ่มเติม ขออนุญาตเขียนสั้นๆ ว่าเธอสติดีอยู่ครับ และรู้ตัวดีว่ากำลังเป็นอะไร

เรื่องที่ 3 คือกล้องวงจรปิดติดตามลูก รวมทั้งที่ใช้ส่องทารกตอนที่เราออกไปทำงาน พบว่าเป็นเครื่องมือที่ปู่ย่าตายายไม่เพียงจะได้สอดส่องหลาน แต่ได้สอดส่องพ่อแม่ด้วยว่าทำอะไรผิด บกพร่อง หรือไม่ถูกใจ  แล้วออนไลน์เรียลไทม์เตือนมาได้เลย เมื่อเราสูญเสียตัวตนให้เครื่องมือและร่างเสมือนของปู่ย่าตายายเสียแล้ว ลูกจะไปเหลืออะไร

VR, AR, MR, AI หรือ IoT จะทำให้พรมแดนระหว่างพ่อแม่-ลูกหายไปเลย ขอปิดท้ายข้อเขียนเรื่องหน้าจอ-โลกจริงด้วยหนังซีรีส์เรื่องหนึ่งที่เชื่อว่าคนไทยน้อยคนจะได้ดูคือ Caprica

Caprica เป็นซีรีส์ปี 2010 ความยาว 18 ตอน ออกอากาศ 9 ตอนแรกแล้วหยุด ก่อนที่จะคืนชีพอีกครั้งจำนวน 9 ตอนแล้วจบซีซันที่ 1 จากนั้นไม่มีสร้างเพิ่มอีก ท่านที่สนใจสามารถหาซื้อชมได้ในชื่อ Caprica Complete Edition แล้วดูให้แน่ใจว่ามีครบ 18 ตอน ตอนที่ 1 เป็นตอนไพล็อตความยาว 2 ชั่วโมง ทำให้บางกล่องจะเขียนว่ามี 19 ตอน

ถ้าหากล่อง Caprica Complete Edition ไม่พบ อาจจะพบ Caprica season1 และ Caprica season1.5 แทน รวมทั้งสองกล่องจะต้องได้ 18-19 ตอนเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เป็นซีรีส์ที่ดี น่าเสียดายที่ไม่ทำเงินจึงถูกงดสร้างไป หนังเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนที่ไซลอนจะล้างจักรวาลในซีรีส์ระดับมหากาพย์ Battlestar Galactica ฉบับ 2004-2009 (สมัยผมเรียนมัธยม มีฉบับลอร์น กรีน และเดิร์ก เบเนดิกต์) เอ็ดเวิร์ด เจมส์ ออลมอส รับบทวิลเลียม อดามา ผู้นำกองคาราวานมนุษย์หนีตายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของไซลอน

ซีรีส์เรื่อง Caprica นี้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนดาวแคปริกา เมืองหลวงของสิบสองอาณานิคม ก่อนจะมาถึงหนังชุดนี้คนดูรู้แล้วว่าไซลอนเป็นหุ่นชีวะ หนังชุดนี้จะเล่าการกำเนิดของหุ่นชีวะและเหตุการณ์ก่อนที่วิลเลียม อดามา จะเกิด หนังชวนให้คนดูติดตามว่าเด็กคนไหนในหนังที่จะเป็นทายาทของตระกูลอดามากันแน่

กลับมาที่เรื่องของเราและไซลอน  58 ปีก่อนที่ไซลอนจะทำลายอาณานิคมของมนุษย์ทั้ง 12 พิภพ ดร.แดเนียล เกรย์สโตน ผลิตแว่นตาสำหรับเข้าไปในความจริงเสมือน (VR Virtual Reality) เป็นสินค้ายอดนิยมอยู่ก่อนแล้ว อีกขาหนึ่งเขาผลิตหุ่นยนตร์รบให้กองทัพด้วย

ลูกสาววัยรุ่นหัวขบถของเขา โซอี้ (ฉากลูกสาววัยรุ่นทะเลาะกับแม่ในตอนต้นเป็นฉากคลาสสิกมาก ดูลูกต้อนแม่จนมุมทุกประตูอย่างสะใจ) โซอี้ชอบเข้าไปในความจริงเสมือนมากกว่าที่จะอยู่ข้างนอก วันหนึ่งเธอไปกับเพื่อนแล้วเพื่อนกดระเบิดสังหารตนเองพร้อมขบวนรถไฟทั้งขบวน มีคนตายหลายร้อยคน โซอี้เป็นหนึ่งในนั้น มีลูกสาวของตระกูลอดามาเป็นเหยื่อคนหนึ่งด้วย

แต่ข้อมูลส่วนตัวของโซอี้ที่ทิ้งค้างไว้ในความจริงเสมือนมีมากมาย มากมายเสียจนยังเหลือโซอี้อีกคนหนึ่งมีชีวิตในความจริงเสมือน ดร.แดเนียลค้นพบเรื่องนี้ในที่สุด เขาย้าย “ลูกสาว” ของเขามาฝากไว้ในหุ่นยนต์รบ นั่นคือจุดเริ่มต้น ของซีรีส์ความยาว 19 ตอนนี้ หนังมีซับพล็อตอีกมากมายให้ค้นหา

จะเห็นว่าจิตวิเคราะห์มิได้พูดเล่นๆ เรื่องตัวตนที่สูญหาย ดร.แดเนียลเสียตัวตนไปเพราะเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันโซอี้ก็ย้ายตัวตนด้วยนวัตกรรมไอทีสมัยใหม่ได้จริงๆ ด้วย และเมื่อใครบางคนคิดทำความจริงเสมือนเป็นสวรรค์ ถ้าเช่นนั้นเราจะมัวเสียเวลาอยู่ข้างนอกนี้ทำไม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล

Anya Kamenetz เขียน

บุณยนุช ชมแป้น แปล

360 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่