[su_note note_color=”#fcf5e2″]หนังสือ หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (The Art of Screen Time: How Your Family Can Balance Digital Media and Real Life) เขียนโดย Anya Kamenetz คู่มือไขข้อข้องใจหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับการใช้ “หน้าจอ” โดยเฉพาะข้อมูลที่เคยรับรู้กันมา เข้าใจบทบาทและผลกระทบที่แท้จริงของหน้าจอ เพื่อให้ทุกคนใช้งานหน้าจอได้อย่างสนุก และทวงความสุขของชีวิตกลับคืนมาได้อีกครั้ง
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือเล่มนี้ อธิบายและขยายความประเด็นที่น่าสนใจให้เข้าใจง่าย พร้อมสอดแทรกตัวอย่างและคำแนะนำที่เอาไปใช้ได้จริง[/su_note]
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
แนวคิดเรื่องให้นักเรียนมีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นของตัวเองมีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ก่อนหน้าที่จะมีแอปเปิลทู (Apple II) เสียอีก ผมจำได้ว่าตอนที่รู้จักแอปเปิลทูครั้งแรกเมื่อทศวรรษ 1970 ผมทำเป็นเพียงเล่นเกมและคิดว่าเรื่องมันยากเกินไป
ในขณะที่เขียนเสมอว่ามิให้เด็กดูหน้าจอก่อนสองขวบ ผมก็เขียนเสมอด้วยว่านักเรียนทุกคนควรได้ใช้แท็บเล็ตเพื่อ “การเรียนรู้” ตั้งแต่ประถมหนึ่ง ดังนั้นระยะเวลาระหว่างอายุ 3-6 ขวบเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะค่อยๆ introduce (แนะนำ) ให้เด็กๆ รู้จักคอมพิวเตอร์ ส่วนจะด้วยวิธีการอย่างไร เชื่อได้ว่าไม่มีใครสักคนในโลกรู้คำตอบ เป็นงานของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเรียนรู้เอาเอง
พูดง่ายๆ ว่าทำให้เด็กรู้จักใช้คอมพิวเตอร์เพื่อ serve (รับใช้) ชีวิตของตนเอง มิใช่ปล่อยให้ชีวิตของตัวเองติดอยู่กับคอมพิวเตอร์ถึงระดับไม่พัฒนา
ตอนที่รัฐไทยแจกแท็บเล็ตไปที่โรงเรียน โรงเรียนหนึ่งที่ผมรู้จักให้นักเรียนเปิดฝาแท็บเล็ตพร้อมกัน กดปุ่มสตาร์ทพร้อมกัน และทำทุกอย่างพร้อมกันไปตามการขานบอกของครูหน้าชั้น จนกระทั่งถึงหน้าที่มีคำศัพท์ชุดหนึ่ง แล้วให้ท่องพร้อมกัน เหตุการณ์นี้ไม่เกิน 10 ปี หลังไอแพดวางขายเมื่อปี 2010 และก่อนการรัฐประหารปี 2014
เป็นไปได้ว่าเวลานั้นยังมีแอปพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาที่ดีไม่มากนัก ส่วนมากเป็นเพียงบัตรคำหรือเกมที่แปรรูปจากอิเล็กทรอนิกส์ธรรมดาเป็นดิจิทัลเท่านั้น ก่อนจะมีแอปพลิเคชั่นเพื่อการศึกษาที่ดีออกตามกันมาในภายหลัง
หนังสือเล่มนี้บอกว่าแอปพลิเคชั่นที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
- สามารถสร้างความกระตือรือร้นให้แก่เด็กได้
- ส่งเสริมการค้นคว้าและคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง
- ไม่มีลูกเล่นมากเกินไปจนกระทั่งรบกวนความต่อเนื่อง
- และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
ผมเขียนสี่ข้อนี้ขึ้นใหม่ด้วยสำนวนตัวเอง เนื้อหาที่แท้หาอ่านได้จากหนังสือเล่มนี้
พูดอย่างสั้นคือแท็บเล็ตมิได้มีไว้ให้ท่องจำอย่างตื้นเขิน แต่มีไว้ให้นักเรียนสามารถทำงานเป็นทีมเพื่อการเรียนรู้ ค้นคว้า วิเคราะห์ และสร้างงานด้วยความสามารถของตนเองอย่างแท้จริง เป็นไปตามหลักการ constructivism (ทฤษฎีประกอบสร้างนิยม) นั่นคือนักเรียนเองที่เป็นผู้สร้าง
ชวนให้นึกถึงเวลาผมพูดว่าให้ยกเลิกหลักสูตรแกนกลาง นักวิชาการกระทรวงศึกษาธิการเป็นเดือดเป็นแค้นทุกครั้ง ส่วนเรื่องยุบกระทรวงศึกษาธิการผมไม่เคยพูด เป็นผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนที่ผมไม่เอ่ยนามในที่นี้พูด บางคนก็ผ่านการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้มาก่อนแล้ว
เรื่องลูกเล่นมากเกินไปเป็นเรื่องสำคัญ ตอนที่โปรแกรมพาวเวอร์พอยต์ถือกำเนิดเป็นครั้งแรก คงจำได้ว่าเราตื่นเต้นกับการนำเสนอผลงานหรือการบรรยายทางวิชาการด้วยสไลด์พรีเซนเทชั่นที่น่าตื่นตะลึงตามห้องประชุม มหาวิทยาลัย และศูนย์ประชุมต่างๆ อยู่พักใหญ่ ในที่สุดเราก็รู้สึกได้ว่ามันมากไปจนกลบหรือดึงความสนใจไปจากตัวเนื้อหาสำคัญ
อีบุ๊กประสบปัญหาเช่นเดียวกัน การอ่านหนังสือเล่มมีข้อดีที่เราได้อ่านอย่างลื่นไหลต่อเนื่องยาวนานหลายสิบหน้า เว้นเสียแต่มีเชิงอรรถจำนวนมากเกินไปมาคั่นและเราใส่ใจทุกเชิงอรรถมากเสียจนหยุดกระแสการอ่านอย่างต่อเนื่อง ที่เรารู้กันภายหลังคือการอ่านอย่างต่อเนื่องยาวนานส่งผลต่อสมองและการเรียนรู้มากเท่าๆ กับเนื้อหาที่ได้ ครั้นเปลี่ยนหนังสือเป็นอีบุ๊กซึ่งสามารถแทรกคำขยายหรือความรู้ขยายลงไปในทุกๆ ประโยคหรือย่อหน้า หรือสามารถแทรกรูปภาพประกอบง่ายดายด้วยการคลิกครั้งเดียว เหล่านี้รบกวนการอ่านต่อเนื่องอย่างมาก ทำให้การประกอบสร้างความรู้กลับติดขัด
แอปพลิเคชั่นและลูกเล่นจึงเป็นประเด็น
หน้าจอในโรงเรียนควรส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
- จำนวนกระดาษที่น้อยลงจะเป็นประโยชน์มาก และเป็นประโยชน์แก่ครูมากกว่านักเรียน ครูปัจจุบันหมดเวลาไปกับงานเอกสารที่ซ้ำซ้อนและไร้คุณค่า เสียเวลากับการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน หรือการประเมินนักเรียนเป็นรายบุคคล แอปพลิเคชั่นที่ดีควรช่วยให้ครูลดเวลาการทำงานลักษณะนี้ลง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนปรากฏและมีหลักฐานบันทึกไว้แบบเรียลไทม์ แอปพลิเคชั่นที่ดีจะช่วยให้เด็กแต่ละคนพัฒนาตนเองได้ตามจังหวะก้าวของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นด้านการเรียนรู้คณิตศาสตร์หรือภาษา แอปพลิเคชั่นที่ดียังมีประโยชน์สูงมากต่อเด็กพิเศษแทบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม มีรายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าเด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำการบ้านมากเกินไปมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์หรือการอ่านน้อยกว่าตามไปด้วย วิธีแก้ไขคือคุณครูยังคงต้องจัดเวลาให้นักเรียนได้เรียนรู้จากทั้งสองวิธี คือจากคอมพิวเตอร์และจากการพูดคุยเป็นส่วนตัวหรือเป็นกลุ่มกับคุณครูด้วย
- การใช้หน้าจอที่โรงเรียนมิได้ลบปัญหาต่างๆ นานาออกได้ด้วยตัวเอง ปัญหาจุกจิกมากมายยังคงเกิดขึ้น ได้แก่ คุณภาพของเครื่องแต่ละเครื่องที่ไม่เท่ากัน ปัญหาการชาร์จไฟ ปัญหาไวไฟไม่เพียงพอ รวมทั้งเด็กๆ สามารถเปิดสองหน้าต่างเล่นไปเรียนไปได้ตลอดเวลา ไม่นับเรื่องที่ความแปรปรวนเหล่านี้ลามจากโรงเรียนกลับมาที่บ้านได้ง่ายขึ้น การบ้านที่ควรทำเสร็จด้วยกระดาษในหนึ่งชั่วโมงกลายเป็นสี่ชั่วโมงได้สบายๆ
สำหรับระบบใหญ่ การเปลี่ยนแปลงจากกระดาษมาเป็นดิจิทัลทำให้เกิดการรวมศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ง่ายต่อการจารกรรม การแฮ็กข้อมูลนักเรียนนับหมื่นคน ศิษย์เก่าหรือพ่อแม่ เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ที่สำคัญกว่านี้คือ ปรากฏการณ์สอดส่องนักเรียนก็เกิดตามมาด้วย พลันที่นักเรียนคีย์อะไรที่คอขาดบาดตาย เช่น คิดฆ่าตัวตาย เรื่องก็สามารถไปถึงผู้บริหารโรงเรียนได้
ผู้เขียนบทความนี้ขอแทรกตรงนี้ มีนักเรียนมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัยบ้านเราป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ขอใบรับรองแพทย์เพื่อนำไปยื่นแก่ทางโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หากใบรับรองแพทย์นั้นเป็นกระดาษเข้าแฟ้มเป็นเรื่องหนึ่ง หากมีใครสักคนคีย์ลงหรือสแกนลงฐานข้อมูลจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งในทันที ทั้งสองประการสามารถส่งผลต่ออนาคตการศึกษาของเด็กได้อย่างคาดไม่ถึง
ที่ควรทำมากกว่าคือเราควรบอกกล่าวคุณครูที่ไว้ใจได้ด้วยวาจาก็พอ
เมื่อประเมินผลดีผลเสียทั้งหมด แนวโน้มเป็นไปในทางที่ดีมากกว่า หน้าจอช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้จริง ด้วยการทำงานเป็นทีมที่มีเป้าหมายร่วมกัน ด้วยวิธีการนี้เด็กๆ สามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อในหลายท้องที่ของหลายประเทศที่มีจุดสนใจร่วมกัน และถ้าเราสามารถพัฒนาการเขียนโค้ดให้ได้ด้วยแล้ว ทักษะอื่นๆ ก็จะพัฒนาไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากยิ่งขึ้น
หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล
Anya Kamenetz เขียน
บุณยนุช ชมแป้น แปล
360 หน้า