อ่าน ‘หน้าจอ-โลกจริง’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)

[su_note note_color=”#fcf5e2″]หนังสือ หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (The Art of Screen Time: How Your Family Can Balance Digital Media and Real Life) เขียนโดย Anya Kamenetz คู่มือไขข้อข้องใจหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับการใช้ “หน้าจอ” โดยเฉพาะข้อมูลที่เคยรับรู้กันมา เข้าใจบทบาทและผลกระทบที่แท้จริงของหน้าจอ เพื่อให้ทุกคนใช้งานหน้าจอได้อย่างสนุก และทวงความสุขของชีวิตกลับคืนมาได้อีกครั้ง

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือเล่มนี้ อธิบายและขยายความประเด็นที่น่าสนใจให้เข้าใจง่าย พร้อมสอดแทรกตัวอย่างและคำแนะนำที่เอาไปใช้ได้จริง[/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

ถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าพ่อแม่ทั่วโลกมีระเบียบปฏิบัติคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการจัดการหน้าจอสำหรับเด็กๆ นักวิชาการของแต่ละประเทศพูดคล้ายๆ กัน พ่อแม่หลายประเทศปฏิบัติตามคล้ายๆ กัน ส่วนที่แตกต่างกันเป็นเรื่องเล็กน้อย การยืดหยุ่นและการผ่อนคลายกฎและกติกาหน้าจอเป็นไปตามบริบทและบุคลิกภาพของพ่อแม่แต่ละบ้านและแต่ละประเทศ

จากงานสำรวจของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พบว่าระเบียบปฏิบัติใหญ่ๆ ของบ้านส่วนใหญ่เป็นไปดังนี้

1. ประเด็นเรื่องเวลา

ดูทีวีหรือไอแพดได้นาน 1 ชั่วโมงและมากขึ้นในวันเสาร์ อาทิตย์

แต่ต้องมีช่วงเวลาสลับไปทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย

ระเบียบปฏิบัติข้อนี้ไม่จริงจังกับเรื่องนิยามของหน้าจอเท่าไรนักว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง รวมทั้งมิได้แยกแยะอย่างเคร่งเครียดว่าใช้หน้าจอเพื่อทำอะไร เช่น ทำการบ้าน หรือ เล่นเกม รายละเอียดเป็นเรื่องของแต่ละบ้านที่จะตกลงกับเด็กๆ ได้

2.ประเด็นเรื่องสถานการณ์

ไม่ให้ดูหน้าจอบนโต๊ะอาหาร และห้ามนำหน้าจอเข้าห้องนอน

ระเบียบปฏิบัติข้อนี้ค่อนข้างจริงจังในบ้านส่วนใหญ่เลยทีเดียว มากกว่านี้คืองดหน้าจอก่อนเวลานอน 1 ชั่วโมง หรือห้ามอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดในห้องนอนยกเว้นนาฬิกาปลุกธรรมดาๆ

การใช้หน้าจอระหว่างกินข้าวเป็นเรื่องที่ยอมรับทั่วไปทั้งในหมู่นักวิชาการและพ่อแม่ทั่วโลกว่าทำให้การสร้างวินัยอื่นๆ รวมทั้งความสามารถในการควบคุมตนเองเรื่องอื่นๆ เสียหายตามไปด้วยอย่างมาก

ส่วนเรื่องการใช้หน้าจอในตอนกลางคืนมีงานวิจัยว่ารบกวนคุณภาพการนอนส่งผลต่อโรคอ้วน การเจริญเติบโต และสมรรถนะในการศึกษาค่อนข้างชัดเจน

3.ประเด็นเรื่องลำดับความสำคัญ

การบ้านเสร็จ เกรดดี  ดนตรีและกีฬาเรียบร้อย จึงจะดูหน้าจอได้

พบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ใส่ใจเรื่องสุขภาพและการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงการช่วยทำงานบ้าน (ที่จริงพูดอยู่แต่ยกไปเป็นข้อปลีกย่อย) ผู้เขียนบทความนี้จะยังคงเน้นย้ำเรื่องการช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้านด้วย (เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี) ดีกว่านั้นคือช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานอาชีพของพ่อแม่ด้วย (เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี)

ส่วนเรื่องเกรดดีเอาแค่ไม่ย่ำแย่ก็พอ ด้วยบริบทเฉพาะของการศึกษาบ้านเราที่บังคับให้เรียนเรื่องที่ไม่มีสาระเสียมาก แต่เรื่องการบ้านเสร็จและกิจกรรมสำคัญต่อ EF เช่น ดนตรีและกีฬา หากเรียบร้อยดีก่อนนี้ก็จะดีมากเลย

จะว่าไป เมื่อคำนวณเวลาที่ทุกบ้านใช้ไปที่โรงเรียนวันละแปดชั่วโมง และใช้ไปกับการจราจรของบ้านเรา เวลาที่เหลืออยู่ในแต่ละวันมีไม่มาก การบริหารเวลาย่อมยากกว่าประเทศที่เรียนแค่ตอนบ่ายหรือครึ่งวันแล้วมีขนส่งสาธารณะให้เดินทางได้โดยง่าย (เลิกเรียนไปเรียนดนตรีก็ง่าย แวะไปยิมก็ง่าย แล้วกลับบ้านก็ง่าย)

4.ข้อปลีกย่อย

“อ่านหนังสือจริงๆ (ที่มิใช่หนังสือการ์ตูน) อย่างน้อย 25 นาที”

ความข้อนี้เป็นผู้เขียนหนังสือเขียน มิใช่ผู้เขียนบทความนี้เขียน เขาเขียนมาแบบนี้จริงๆ นั่นคือไม่นับการ์ตูน และกำหนดเวลาที่ชัดเจนคือ 25 นาที สารภาพว่าไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะอะไรต้องเป็นตัวเลข 25 นาที

หลักการใหญ่ๆ มีเพียง 4 ข้อนี้เท่านั้นเอง จะว่าไปมิใช่เรื่องยากเกินกำลังที่จะจัดการ ย้ำคำว่า “จัดการ” มิใช่ “คำสั่ง” นั่นแปลว่าพ่อแม่จำเป็นต้องนั่งลงตกลงกติกากับลูกอย่างชัดเจนเสมอ และถกปัญหากันอย่างรอบด้าน การรับฟังที่ดีจะช่วยให้เด็กๆ รับข้อเสนอของพ่อแม่ได้ไม่ยาก การเจรจาต่อรองเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่น

พ่อแม่ที่จริงจังมักเป็นคนที่เคยเห็นพฤติกรรมทุรนทุรายไปจนถึงก้าวร้าวของเด็กๆ เมื่อถูกสั่งให้ออกจากหน้าจอมาก่อนแล้ว

“พวกเด็กๆ ใช้หน้าจอเหมือนฉีดเฮโรอีน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและร้องโอดครวญเมื่อเราปิด”

“ลูกๆ หงุดหงิดฉุนเฉียวเมื่อตอนปิดหน้าจอเหมือนอาการถอนยา”

สัญญาณเตือนก่อนจะถึงเหตุการณ์ทำนองนี้คือ “ลูกๆ เล่นหน้าจอจนตาปรือ”

ตัวชี้วัดคือตาปรือ

เรื่องตาปรือนี้มิใช่พูดเล่น เป็นที่ทราบกันว่าระหว่างที่เด็กเล่นเกม เกมทุกชนิดออกแบบให้ผู้เล่นจำเป็นต้องตื่นตัวตลอดเวลา รูม่านตาขยาย สารโดปามีนหลั่ง ความสดชื่นที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นเกิดจากการซูเปอร์ชาร์จพลังงานที่ล้นเกิน เมื่อถึงเวลาถอนตัวออกจากเกมย่อมเกิดอาการถอนยา สารโดปามีนเหือดหาย กล้ามเนื้อตาอ่อนกำลัง และเด็กมีอาการมึนซึม

คำแนะนำที่ช่วยป้องกันมิให้เด็กๆ ออกอาการเกินกว่าจะรับได้หลังจากหยุดจอคือเทคนิคการตั้งเวลา 55 นาทีแล้วให้เวลาลูก 5 นาทีในการถอยออกมา จะว่าไปนี่เป็นเทคนิคเก่าแก่ที่เราได้ยินมานาน เป็นเทคนิคที่เป็นที่ยอมรับและยังใช้งานได้อยู่ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนจากอินเทอร์เน็ตมีสายเป็นไร้สายนานแล้วก็ตาม

ปัญหาของกติกาสี่ข้อข้างต้นเป็นกติกาของบ้านเดียว ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กแต่ละบ้านมารวมกัน  อาจจะเป็นวันรวมญาติหรืองานเลี้ยงระหว่างเพื่อนหรือเพื่อนบ้าน ในขณะที่ลูกของลุงและป้าได้เล่นไอแพดทุกที่ทุกเวลาตามสบายทั้งบนโต๊ะอาหาร ห้องนอน และไม่ต้องทำการบ้าน เมื่อมาพบลูกเรา พวกเขามิได้มีปัญหาอะไร แต่ที่เกิดปัญหาคือตัวเราและลูกของเรา

เหตุการณ์เช่นนี้แก้ไขได้ด้วยความมั่นคงระดับสูงของพ่อแม่เท่านั้นที่จะยืนยันกติกาเวลานั้นในบางเรื่อง (เช่น มิให้ใช้หน้าจอบนโต๊ะอาหารเด็ดขาด) หรือผ่อนปรนเมื่อไปงานเลี้ยงแล้วกลับมายืนยันกติกาเดิมเมื่อถึงบ้าน เหล่านี้อาศัยการตกลงกันกับลูกของเราให้เรียบร้อยก่อนถึงวันงาน

ทำไมบางบ้านจึงไม่ใส่ใจคำแนะนำหรือหลักปฏิบัติอะไรเลย คำตอบเรื่องนี้พาดพิงเรื่องชนชั้นด้วย การไม่ให้ลูกดูหน้าจอแลกมากับการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในครัวเรือนมากกว่าเดิม

“คนที่มีอภิสิทธ์หรือต้นทุนทางสังคมสูงเท่านั้นที่จะจำกัดเวลาการใช้หน้าจอได้”

พวกเขาสามารถบริหารเวลาของตัวเองอยู่กับลูกมากขึ้น สามารถจ่ายค่าเลี้ยงดูเด็กด้วยมาตรฐานและคุณภาพระดับสูง สามารถจัดหากิจกรรมหรือของเล่นส่งเสริมพัฒนาการได้เต็มที่ ในขณะที่บ้านซึ่งไม่มีกำลังจ่ายทำอะไรอย่างที่ว่ามาได้ลำบาก การปล่อยลูกไว้หน้าจอเป็นหนทางที่ประหยัดที่สุดจะช่วยให้ลูกอยู่นิ่งๆ เพื่อตัวเองจะได้ไปทำงานอื่น

“การห้ามใช้จอเป็นกับดักค่านิยมของชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง” อันนี้ก็เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เขียน

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังเขียนเหมือนที่ผู้เขียนบทความนี้ยืนยันเสมอมาว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ อาจจะด้วยระบบสาธารณสุขหรือด้วยการศึกษา ที่จะช่วยสร้างระบบที่ช่วยเหลือพ่อแม่ทุกชนชั้นได้มากกว่าเดิม

ผู้เขียนบทความนี้ได้ข้ามส่วนที่ว่าด้วยเนื้อหาของเกมหรือหน้าจอไป เพราะไม่อยากจะตัดสินใจหรือชี้นำแทนใคร ท่านที่ใส่ใจเรื่องการควบคุมเนื้อหาหน้าจอด้วยโปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นใดๆ สามารถศึกษาเรื่องนี้ด้วยตนเองได้

ส่วนท่านที่เชื่อว่าการควบคุมตนเองควรมาจากภายในไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไรก็ตาม หรือควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่เป็นเรื่องๆ ไป ก็จะมีวิธีการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง

 

หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล

Anya Kamenetz เขียน

บุณยนุช ชมแป้น แปล

360 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่