อ่าน ‘หน้าจอ-โลกจริง’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2)

[su_note note_color=”#fcf5e2″]หนังสือ หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล (The Art of Screen Time: How Your Family Can Balance Digital Media and Real Life) เขียนโดย Anya Kamenetz คู่มือไขข้อข้องใจหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับการใช้ “หน้าจอ” โดยเฉพาะข้อมูลที่เคยรับรู้กันมา เข้าใจบทบาทและผลกระทบที่แท้จริงของหน้าจอ เพื่อให้ทุกคนใช้งานหน้าจอได้อย่างสนุก และทวงความสุขของชีวิตกลับคืนมาได้อีกครั้ง

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองอ่านหนังสือเล่มนี้ อธิบายและขยายความประเด็นที่น่าสนใจให้เข้าใจง่าย พร้อมสอดแทรกตัวอย่างและคำแนะนำที่เอาไปใช้ได้จริง[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

หลังจากอารัมภบทมาพอสมควร ช่วงต่อไปของหนังสือเป็นส่วนที่ควรตั้งใจอ่านและดูเอกสารอ้างอิงถ้าแคลงใจ ผู้เขียนจะเขียนถึงข้อดีของการใช้หน้าจอเลี้ยงลูกไปทีละเรื่อง ด้วยความที่เป็นข้อความพรรณนา ผมสกัดเอาส่วนที่น่าสนใจและเชื่อได้ว่าน่าจะดีแน่ คุณพ่อคุณแม่ลองดูได้ไม่มีอะไรเสียหาย

เรื่องที่ 1 คือรายการเซซามีสตรีต

มีงานวิจัยที่พบว่า ‘เด็กอนุบาล’ ที่นั่งดูรายการเซซามีสตรีตกับพ่อแม่มีผลสัมฤทธิ์การศึกษาดีกว่า  “การดูเซซามีสตรีตแทบจะได้ผลดีๆ พอๆ กับการเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาล” เด็กอายุ 3-5 ขวบสามารถใช้รายการเซซามีสตรีตเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียนได้ ซึ่งเป็นข่าวดีเพราะเด็กเล็กในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากมิได้ไปโรงเรียนอยู่แล้ว

เด็กเรียนรู้คำศัพท์ พยัญชนะ การออกเสียง ตัวเลข การนับ และอวัยวะของร่างกาย เป็นหกข้อที่หนังสือเล่มนี้เขียนถึง

ที่ผมควรชี้คือหนังสือพูดถึงวัยอนุบาล 3-5 ขวบ มิได้พูดถึงวัยก่อนอนุบาลคือ 1-2 ขวบ นอกจากนี้แม้ว่าท่อนนี้จะมิได้เขียนชัดๆ ว่าอย่าปล่อยเด็กวัยอนุบาลนั่งดูคนเดียว แต่บริบทของหนังสือทั้งก่อนหน้าส่วนนี้และที่จะตามมา พ่อแม่จะนั่งดูอยู่ด้วยเสมอ

เรื่องที่สองคือเรื่องประโยชน์ของเกมต่อเด็กที่มีความบกพร่องเรื่องการอ่าน (dyslexia)

อันนี้จริง มีเอกสารอ้างอิงที่ผมเคยอ่านผ่านมาหลายครั้ง แต่ก็เฉพาะเด็กพิเศษบางประเภทที่มีการวิจัยแล้ว หลักๆ คือเด็กที่มีความบกพร่องการเรียนรู้และเด็กออทิสติก (Learning Disability – LD และ Autistic Disorder) จะได้ประโยชน์

เด็กแอลดีสามารถใช้ฟังชั่นของแท็บเล็ตที่สามารถขยายและหดลงเพื่อเพิ่มพูนความสามารถด้านการอ่านและเขียน  ไม่นับว่ามีแอปพลิเคชั่นที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือโดยเฉพาะ ส่วนเด็กออทิสติกสามารถใช้แอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้พูดคุยติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้น แต่ประการหลังนี้ขึ้นกับทัศนคติของพ่อแม่ด้วยว่าต้องการให้เด็กออทิสติกสื่อสารได้ในระดับไหน ทำนองว่าถ้าพูดหรือเขียนเช่นคนทั่วไปไม่ได้ ใช้แอปพลิเคชั่นทดแทนเลยจะยินยอมหรือเปล่า

เรื่องที่สามคือเรื่องเกม Minecraft

มีงานวิจัยที่รองรับประโยชน์ของเกมนี้อีกเช่นกัน  ผู้เขียนถึงกับระบุว่าเป็นเกมที่เข้ากันได้กับปรัชญาการศึกษาแบบ constructivism อย่างสั้นๆ คือผู้เรียนคือเด็กเป็น ‘ผู้สร้าง’ ความรู้เอง จะเห็นเป็นประเด็นที่เราต้องการความใจกว้างของครูและพ่อแม่มาก นั่นคือยอมรับทั้งปรัชญาใหม่และเทคโนโลยีใหม่  ส่วนนี้ผู้เขียนย้ำชัดเจนว่าพ่อแม่ควรมีส่วนร่วมด้วย

ชวนให้นึกถึงเกมออฟไลน์ชุด Simcity รุ่นแรกๆที่คนเจนวายได้เล่น แม้กระทั่งเกม Tetris รุ่นที่หนึ่งว่ามีงานวิจัยรองรับมากเพียงใดในแง่ประโยชน์ต่อการสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ส่วนที่สี่เป็นส่วนสำคัญคือเรื่องการใช้หน้าจอเพื่อการเรียนรู้ตั้งแต่หนึ่งขวบ

ส่วนนี้ชี้ชัดอีกเช่นกันว่าพ่อแม่ควรอยู่ด้วยและค่อนข้างเป็นผู้นำทางในการชี้ชวนเด็ก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจวิธีใช้หน้าจอดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรื่องพื้นฐาน กล่าวคือเป็นพ่อแม่ที่โดยปกติก็อุ้มลูกนั่งตักชี้ชวนดูนั่นนี่และพูดคุย เป็นพ่อแม่ที่รู้จักพาเด็กนั่งกินข้าวบนโต๊ะอาหารพร้อมหน้ากันให้เรียบร้อย ทั้งยังเป็นพ่อแม่ที่รู้ความสำคัญของกิจกรรมกลางแจ้งและสามารถรักษาสมดุลระหว่างการใช้จอเพื่อการเรียนรู้กับกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกับลูกได้

พูดง่ายๆ ว่านี่เป็นพ่อแม่ที่ทรงประสิทธิภาพตั้งแต่ต้น

นำไปสู่คำถามเชิงวิจัยที่ผู้เขียนหนังสือได้ชี้ให้เห็นตั้งแต่บทแรกๆ ว่าการที่เด็ก 1-2 ขวบได้รับความเสียหายจากหน้าจอนั้นเป็นเพราะรายการนั้น หรือเป็นเพราะหน้าจอ หรือเป็นเพราะบริบทของพ่อแม่กันแน่

ส่วนที่ห้า การพูดคุยมีความสำคัญมากกว่าการตั้งกติกา

ส่วนนี้น่าสนใจอีกเช่นเดียวกัน  คำแนะนำส่วนใหญ่ที่มีแก่พ่อแม่คือการตั้งกติกา แต่มักจะละไว้เพราะน่าจะเข้าใจอยู่แล้วว่าสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการตั้งกติกาคือการพูดคุย ตัวอย่างที่พบบ่อยคือการตั้งกติกาให้ลูกเล่นเกมได้วันละกี่ชั่วโมง เราควรพูดคุยและตั้งกติการ่วมกันมากกว่าที่เราเป็นฝ่ายตั้งแล้วให้เด็กทำตาม หนังสือเล่มนี้แนะนำให้ใช้วิธีนี้กับการใช้หน้าจอกรณีอื่นๆ และที่จริงคือใช้กับทุกเรื่องรวมทั้งเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหน้าจอ เช่น เวลากลับบ้าน เราควรพูดคุยมากกว่าตั้งกติกา

แต่ผู้เขียนก้าวหน้ามากไปอีก การพูดคุยเพื่อการตั้งกติกานี้อาจจะมิใช่การกระทำทางเดียว  แต่ควรเป็นการกระทำสองทาง  กล่าวคือลูกๆ มีสิทธิพูดคุยกับพ่อแม่เรื่องเวลาที่พ่อแม่ใช้ไปกับหน้าจอด้วย ซึ่งฟังดูเข้าท่าทีเดียว

ส่วนที่หกเรื่องหนังโป๊

ผู้เขียนระบุไว้เหมือนที่ผมพบมาจากประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยบ้านเรา กล่าวคือเด็กอายุ 9-10 ขวบก็เริ่มสอดส่ายสายตาหาหนังโป๊แล้ว

หนังโป๊ที่ว่านี้มิใช่ soft porn หรือเรท R แต่เป็น xxx ไปจนถึง xxxx คำแนะนำคือเราควรพูดคุยกับลูกเรื่องนี้ได้เหมือนเรื่องอื่นๆ แต่การพูดคุยจะมีอุปสรรคที่เราไม่สามารถพูดได้ดีนักถ้าไม่เตรียมพร้อมว่าอาจจะต้องเปิดเผยทัศนคติส่วนตัวและพฤติกรรมของตัวเองด้วย

สำหรับวัฒนธรรมบ้านเรา หากไม่กล้าพูด อย่างน้อยก็ควรเห็นเป็นเรื่องธรรมดาก็ยังดี และไปเน้นที่วินัยการใช้เวลาเป็นหลัก หากเด็กควบคุมตัวเองได้ดี การเข้าออกหนังโป๊หรือเกมรุนแรงจะถูกจำกัดด้วย ‘เวลา’ ไปในตัว

ส่วนที่เจ็ดว่าด้วยการสร้างแฟนคลับ

เด็กๆ สามารถเขียนหรือเล่านิทานผ่านจอและมีแฟนคลับติดตามได้ไม่ผิดกติกาอะไร เขาได้เรียนรู้วิธีสื่อสารออนไลน์และกฎ กติกา มารยาทในการพูดและเขียนซึ่งเป็นเรื่องดีมาก บ้านเรามีนักเขียนเด็กหน้าจอหลายคนแล้ว

ส่วนเรื่องการเรียนรู้ดนตรีผ่านหน้าจอไม่มีข้อห้ามน่ากังวลเหมือนเรื่องอื่นๆ ตั้งแต่แรก ดูเหมือนทัศนคติที่มีต่อดนตรีจะเป็นไปทางบวกโดยง่ายดาย

คั่นรายการตรงนี้ด้วยสองข้อที่น่าบันทึกไว้

ข้อแรก พ่อแม่ควรชวนลูกคุยเรื่องโลกออนไลน์บนโต๊ะอาหาร แทนที่จะถามแค่ว่าวันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไร เราควรมีคำถามประเภทวันนี้โลกออนไลน์เป็นอย่างไรด้วย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการชวนคุยมิใช่การคาดคั้น นำไปสู่ข้อที่สองที่ดีมากๆ

ข้อสอง ความรักมิได้แปลว่าไม่มีความลับ พ่อแม่ชาวอังกฤษเคารพความเป็นส่วนตัวของลูกมากกว่าพ่อแม่ชาวอเมริกันที่มักสอดส่องตรวจตราโลกออนไลน์ของลูก พ่อแม่ที่สุดโต่งคือพ่อแม่ที่ต้องการล่วงรู้รหัสผ่านของลูก หากเราแปลว่าความรักคือการไม่มีความลับ โลกออนไลน์ของลูกจะเปลี่ยนไปเพื่อหลบหลีกเราอย่างไม่ต้องสงสัย

ความรักคือการให้เกียรติและไว้วางใจ

ส่วนที่แปด หลังเจ็ดขวบเราควรเลิกกำหนดกติกาเวลาได้แล้ว

เป็นอีกหนึ่งข้อที่ชวนหนาวได้ไม่ยาก เหตุผลคือเด็กโตและวัยรุ่นตอนต้นเริ่มมีหน้าที่สร้างอัตลักษณ์ตามจิตวิทยาพัฒนาการ ต้นแบบของอัตลักษณ์วันนี้บางส่วนหรือหลายส่วนอยู่ในโลกออนไลน์ การจำกัดเวลาจึงมิใช่แนวคิดที่ถูกต้องเท่าไรนัก

โลกออนไลน์มิได้น่ากลัวตราบเท่าที่พ่อแม่ชวนลูกคุยอยู่เสมอ เกม Minecraft สัมพันธ์กับชนชั้นและโครงสร้างสังคมอย่างไร หรือถ้าลูกสาวตัวน้อยของเราเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายหน้าจอ เราชวนเขาคุยถึงผลงานการออกแบบในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร

ตัวอย่างที่ผู้เขียนหนังสือยกมาชวนให้รู้สึกได้ว่าเราต้องการพ่อแม่ที่มีคุณภาพจริงๆ

แต่การพูดเช่นนี้ตกกับดักเดียวกันกับคำพูดประเภทที่ว่า “เราสร้างหนังไทยที่ดีกว่านี้ไม่ได้หรอกเพราะคนไทยชอบดูหนังไทยแบบนี้” แล้วในที่สุดเราก็ฝ่าด่าน “เราสร้างหนังไทยที่ดีกว่านี้ไม่ได้หรอกเพราะกฎหมายบ้านเราไม่อนุญาตให้พูดเรื่องบางเรื่อง” ไปไม่ได้

กับดักที่ว่าคือเราไม่ไว้ใจพ่อแม่บ้านเรามากพอ

“แล้วมันสมควรไว้ใจเสียที่ไหนล่ะ” ฝ่ายควบคุมวัฒนธรรมจะพูดเช่นนี้  ซึ่งก็เป็นประโยคเดียวกับที่พ่อแม่บางบ้านพูดถึงวัยรุ่นที่ใช้ยาเสพติด “แล้วมันสมควรไว้ใจเสียที่ไหนล่ะ” ว่าแล้วก็ไล่ตามสอดส่องและจับลูกตรวจปัสสาวะต่อไป

ส่วนที่เก้าเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว หน้าจอเป็นประโยชน์มากสำหรับคนรักที่ห่างไกลกัน

นั่นรวมถึงพ่อแม่และลูกด้วย การใช้เฟซไทม์ไม่มีข้อห้ามและข้อน่ากังวล หนังสือเล่าเรื่องโปรแกรมเฉพาะที่ศาลใช้เพื่อกำหนดเวลาการเยี่ยมลูกออนไลน์ในคดีหย่าร้างด้วย ซึ่งน่าสนใจมาก

เรามาถึงส่วนสุดท้าย ผู้เขียนย้ำอีกครั้งที่ท้ายบทที่ 4 นี้ว่าการใช้หน้าจอเหมือนการกินข้าวร่วมกับลูกๆ บนโต๊ะอาหาร เราอยู่พร้อมหน้าและชวนเขาคุยสัพเพเหระได้อย่างไร โลกออนไลน์ก็อย่างนั้น

คำเปรียบเปรยนี้ชวนให้ผมหวั่นไหวอย่างเลี่ยงมิได้ และถ้าเผลอเมื่อไรก็จะตก “กับดัก” ที่ตัวเองเผลอขุดเอาไว้เอง

มีกี่หลังคาเรือนในบ้านเราที่นั่งกินข้าวพร้อมหน้ากับลูกๆ บนโต๊ะอาหาร

 

หน้าจอ-โลกจริง: สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล

Anya Kamenetz เขียน

บุณยนุช ชมแป้น แปล

360 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่