ภาพ: ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
“โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ใครก็รู้ แต่เปลี่ยนแปลงอย่างไร ในลักษณะไหน เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากมิได้ตระหนักในรายละเอียด หนังสือชุด Global Change ของ วรากรณ์ สามโกเศศ พยายามตอบคำถามนี้ โดยเลือกกระแสการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจรอบโลก แต่ไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงกันบ่อยนักในสังคมไทย มาเล่าด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุกและสบาย ไม่ใช่ข้อเขียนทางเทคนิคที่ชวนปวดหัว
“ผู้เขียนตั้งใจให้หนังสือชุด Global Change เป็นบทบันทึกการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยดิจิทัล เมื่อพูดถึงโลกดิจิทัล ย่อมไม่ได้หมายถึงเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่รอบๆ เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าทันสมัย ยังมีมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม อยู่แวดล้อมด้วยเสมอ และส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและสังคมอย่างมหาศาล”
ร่วมจับตากระแสความเปลี่ยนแปลงรอบโลกระลอกล่าสุด ชวนคิด ชวนมองความเปลี่ยนแปลงรอบโลก แล้วก้าวให้ทันโลกไปด้วยกันในงานเสวนา “Global Change: โลกเปลี่ยน – เปลี่ยนทันโลก” กับ วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เขียนหนังสือชุด Global Change
ชวนพูดคุยโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์ bookscape เมื่อวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน ณ ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ชั้นสอง ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว และเปลี่ยนในทุกมิติ เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์เพิ่งเขียนบทความชื่อ “ต้องรู้เท่าทันอะไรในยุคหน้า” พูดถึงการรู้เท่าทันในหลายมิติ ตั้งแต่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันใจตนเอง รู้เท่าทันมนุษย์ด้วยกัน และรู้เท่าทันการมีคุณค่าของมนุษย์ คือการเปลี่ยนแปลงทั้งข้างนอก ข้างใน และข้างนอกกับข้างในที่ปะทะกัน อยากชวนอาจารย์คุยว่าเราต้องรู้เท่าทันอะไรกันบ้างในยุคหน้า
ก่อนอื่น ผมขอเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังครับ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ผมมีโอกาสไปร่วมงานคารวะศาสตราจารย์ นพ.เปรม บุรี ครบ 100 ปีที่โรงพยาบาลรามาธิบดี สังคมไทยอาจจะไม่รู้จักหมอเปรม บุรีเท่าไร แต่สำหรับคนรามาธิบดีและคนศิริราชแล้ว ท่านเป็นปรมาจารย์ที่มีแพทย์รักมากที่สุดคนหนึ่ง ท่านเป็นแพทย์ศัลยกรรมคุณธรรมสูงในยุคแรกของประเทศไทย และร่วมสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดี สร้างหมอศัลยกรรมมือดีในประเทศมากมาย สิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านเป็นที่รักของทุกคนก็คือความเป็นคนดีและเสียสละ
คุณหมอเปรม บุรีท่านแข็งแรงมาก อายุ 100 ปีแล้วแต่ยังพูดได้อย่างชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ผมนึกขึ้นมาได้คือ คุณหมอเปรม บุรีเป็นเพื่อนกับท่านอาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) คนอาจจะไม่ค่อยทราบกัน ท่านเป็น 1 ใน 36 คนที่เป็นเสรีไทย และเป็นหนึ่งในสามคนแรกที่โดดร่มเข้ามาในไทยพร้อมกับดร.ป๋วย แล้วก็ถูกจับ (ดร.ป๋วยถูกจับที่ชัยนาท) คุณหมอเปรม บุรี และคุณประทาน เปรมกมล ก็ถูกจับเช่นเดียวกัน
มีคนขอให้ท่านพูดในงาน ท่านก็พูดแบบคนอายุร้อยปี ท่านบอกว่า ทุกคนชมผม แต่จริงๆ แล้วผมก็ทำอะไรเลวๆ เหมือนกันในชีวิต สิ่งที่ผมทำเลวก็คือครั้งหนึ่งเมื่อตอนเด็กๆ เป็นเด็กคะนองมาก เอาหนังสติ๊กไปยิงนกตายไป เรื่องนี้ทำให้ท่านยังเสียใจถึงทุกวันนี้ อีกเรื่องก็คือ หลายปีก่อนนี้ ท่านพูดกับคุณหมอท่านหนึ่งแรงไปหน่อย จึงรู้สึกว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับคุณหมอ
ท่านคิดดูนะครับ คนอายุ 100 ปี นึกถึงเมื่อครั้งตัวเองเป็นเด็ก ทำความไม่ดีไว้อย่างหนึ่งก็คือ ยิงหนังสติ๊กไปโดนนกตาย คือผมลองนึกย้อนไปแล้วผมนี่ทำอะไรที่แย่กว่าท่านมากเลย ทั้งที่ยังอายุไม่ถึงร้อยปี แต่ที่คนขำกันมากเลยก็คือ ท่านบอกว่า ท่านก็ไม่นึกเหมือนกัน แต่มันบังเอิญอยู่มาได้ถึงร้อยปี
เรื่องนี้ทำให้ผมเกิดความคิดขึ้นมาคือ เวลาที่มีคนดีขึ้นมาสักคน มันเป็นเหมือนกับโรคติดต่อ คุณหมอหลายคนบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากท่าน นอกจากนี้ท่านริเริ่มเรื่องแพทย์ชุมชน สุดท้ายก็กลายเป็นแพทย์ชนบททุกวันนี้
ผมก็เลยคิดว่าคนดีคนเดียวนั้นสร้างคนดีได้อีกมากมายเหลือเกิน เชื่อว่าหมอที่อยู่ในห้องนั้นเป็นคนดีทั้งนั้นเพราะส่วนหนึ่งติดมาจากคุณหมอเปรม บุรี และทุกคนมาด้วยใจรัก
คนสองคนที่ดีอย่างท่านอาจารย์ป๋วยกับคุณหมอเปรม ผมเชื่อว่าได้เปลี่ยนโลก
ถ้าถามว่าควรรู้เท่าทันอะไร ผมขอเริ่มด้วยเรื่องนี้
ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร เทคโนโลยีสมัยหน้าจะเป็นอย่างไร โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่คงที่และพิสูจน์มาหลายพันปีแล้วก็คือการมีคุณธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้คนอยู่รอดได้ในระยะยาว
การบูชาความดี ความงาม ความจริง การมีคุณธรรม การมีจิตเมตตาที่นึกถึงคนอื่น อย่างที่ท่านทาไลลามะพูดว่า compassion นั่นคือความเห็นอกเห็นใจอย่างมีเมตตากรุณาต่อคนอื่น
ผมพูดถึงท่านทาไลลามะเพราะเพิ่งมีโอกาสเฝ้าท่านที่อยู่ในวัย 83 ปี ผมรู้สึกประทับใจมาก เพราะผมมีโอกาสถามคำถามที่อยู่ในใจผมมาตลอดชีวิต แล้วผมก็ได้คำตอบ
คงต้องถามเลยว่า อาจารย์ถามคำถามอะไรท่านทาไลลามะ
คือเราคนไทยไปกัน 14 คน ท่านอยู่ที่เมืองธรรมศาลา ลี้ภัยมาจากทิเบตตอนที่จีนยึดทิเบต ห้องที่นั่งคุยกันก็เป็นห้องธรรมดามากเลย เพราะท่านเป็นคนที่สมถะมาก ท่านก็รอให้คนอื่นไปก่อน แล้วก็คุยกับพวกเราอยู่ประมาณ 45 นาที
ท่านบอกอย่างแรกก่อนว่า เราเป็นพุทธด้วยกัน ท่านกล้าพูดหลายๆ อย่างที่คนอื่นท่านไม่กล้าพูดด้วย ท่านบอกว่าศาสนาเรานี่ไม่ใช่ศาสนาปกติที่เป็นเรื่องของความเชื่อ เราเป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้องจำไว้นะ มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เพราะว่าเป็นเรื่องของเหตุและผล ไม่ใช่เรื่องของศรัทธา เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่ค่อยกล้าพูดกับฝรั่ง ท่านก็พูดมาทำนองนี้
ผมเป็นคนที่ทางทีมมอบให้ถามคำถาม เพราะว่าผมอยากถามคำถามนี้มาก ผมก็ถามท่านว่า (ขอประทานโทษถ้าขัดแย้งกับความเชื่อของท่าน) คนเป็นพุทธที่ดี ต้องเชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิดไหม
อาจารย์ถามท่านทาไลลามะแบบนั้นเลยหรือ
ครับ ผมถามไปแบบนั้น คือศาสนาพุทธในโลกเราจะมีสามนิกายใหญ่คือ หินยาน(เถรวาท) มหายาน และเกิดอีกนิกายขึ้นในทิเบตที่เรียกว่า วัชรยาน แล้ววัชรยานก็ยังแยกย่อยออกเป็นหลายนิกาย
วัชรยานเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดมาก เมื่อทาไลลามะเสียชีวิต (ท่านเป็นองค์ที่ 14 ท่านเป็นทั้งพระสังฆราชด้วย พระเจ้าแผ่นดินด้วยในเวลาเดียวกัน) ก็มีการทำนายว่าจะต้องมีลามะคนใหม่มาเกิดตามทิศที่บอกไว้ แล้วก็จะออกไปแสวงหาเด็กในหมู่บ้านอายุ 5-6 ขวบ พาเข้ามาเลี้ยงในวัง เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงจะตัดสินใจว่าคนไหนเป็นทาไลลามะที่แท้จริง แต่ของท่านนั้นยกเว้น เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองในจีนตอนนั้น ท่านก็เลยมาตอน 5 ขวบ แล้วก็มาเติบโตในวัง
แล้วท่านทาไลลามะตอบอาจารย์ว่าอย่างไร
พอผมถามไป ท่านก็ตอบทันทีเลยว่า ไม่จำเป็น คนเป็นพุทธไม่จำเป็นต้องเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด เพราะว่าพุทธนั้นเป็นเรื่องของเหตุและผล และเรื่องของวิทยาศาสตร์ ถึงไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ขอให้ทำให้ดีที่สุดในชาตินี้ และถ้าสมมติมีการกลับชาติมาเกิดจริง ท่านก็ได้ประโยชน์ไปเอง ผมฟังแล้วอัศจรรย์มากเลย เพราะผมเป็นคนคลางแคลงมากในเรื่องการกลับชาติมาเกิด ผมเชื่อว่าชาตินี้ เกิดมาแล้วทำดีที่สุดก็พอแล้ว
อาจารย์เริ่มตั้งโจทย์จาก “ข้างใน” คือความดี คุณธรรม ทีนี้ในโลกยุคใหม่ โลกดิจิทัล เรื่องคุณธรรมความดีมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือเปล่า หรือเป็นสิ่งข้ามยุคข้ามสมัย มันมีดีเบตอะไรในเรื่องพวกนี้บ้าง
ผมเชื่อนะว่า โลกสมัยใหม่มันทำให้คุณค่าความดีถูกลดลงไป อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนี้มีวิกฤตเกิดขึ้นในโลก คือเรื่องของความเชื่อและศรัทธาในประชาธิปไตยแบบทุนนิยมมันน้อยลงไปมาก
เหตุผลแรกเห็นชัดเจนว่า ความเหลื่อมล้ำในโลกมีมากเหลือเกิน อย่างที่อเมริกา โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph E. Stiglitz) ทำคลิปขึ้นมาบอกว่า ใน 40 ปีที่ผ่านมา TOP 1% (คนรวยที่สุดในอเมริกา 1 เปอร์เซ็นต์) มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงของคนอเมริกัน 90 เปอร์เซ็นต์ใน 40 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย
อีกตัวเลขหนึ่งก็คือ 40 ปีที่ผ่านไป 50 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกัน มีรายได้ต่ำกว่าสมัยพ่อตัวเอง แสดงว่า 40 ปีที่ผ่านมานี้ มันไม่ใช่ความฝันของอเมริกันแล้วที่บอกว่า ลูกจะรวยกว่าพ่อ และจะร่ำรวยได้ แต่พบว่าคนครึ่งหนึ่งจนกว่ารุ่นพ่อ
ความจริงตรงนี้ทำให้เกิดความสั่นคลอนในโลกขึ้นมาว่า ระบอบประชาธิปไตยกับทุนนิยมจะเป็นคำตอบจริงหรือเปล่า มีการสำรวจคนอเมริกันเมื่อปี 2016 ถามเด็กอเมริกันว่า ทุนนิยมเป็นสิ่งสำคัญของอเมริกาหรือเปล่า ครึ่งหนึ่งตอบว่า ไม่ใช่ แล้วก็บอกว่า ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
อันนี้เป็นการสำรวจที่ช็อกมากเลย เพราะว่าศรัทธาของคนมันถอยลงไป เพราะว่าอันแรกอย่างที่ผมเรียน ถ้าหันไปดูจีน บอกว่าจีนไม่เห็นมีประชาธิปไตย แต่ตอนนี้รายได้รายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีเกิน 10,000 เหรียญสหรัฐ แซงประเทศไทยไปแล้วครับ
แต่ความเหลื่อมล้ำของจีนก็ไม่ได้น้อย?
จีนก็เหลื่อมล้ำ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเหลื่อมล้ำมากน้อยแค่ไหน แต่มีคนมองเห็นแล้วบอกว่า รูปแบบของจีนก็ประสบความสำเร็จ คราวนี้ไม่ใช่คนอเมริกันอย่างเดียว คนในโลกจำนวนมากขณะนี้ก็หันไปมองจีนแล้วก็อยากจะเลียนแบบ
เพราะฉะนั้น ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เคยเป็นมา ผมว่ามันกำลังเซาะกร่อน ที่มาคร็อง (ประธานาธิบดีฝรั่งเศส) จัดประชุมเร็วๆ นี้ที่ยุโรปก็เพราะความกังวลเรื่องการเสื่อมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยม
นิตยสาร The Economist ที่ผมเพิ่งได้รับเมื่อเช้า ก็ยกเรื่องนี้ขึ้นมาว่า จะต้องมี next capitalist revolution ใหม่ เพราะเกิดปัญหาในระบอบ เนื่องจากว่าทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมากและคนคิดว่าระบอบทุนนิยมอย่างที่เป็นอยู่ถูกยึดครอง ครอบงำโดยธุรกิจใหญ่ มีตัวอย่างในหลายอุตสาหกรรมของอเมริกา มีสามสี่บริษัทที่ครอบครองตลาดเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น ผมก็เชื่อว่าโลกมันเปลี่ยนไป ความเลวร้ายของคนก็มีมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้คนอยู่รอดได้อย่างดีก็คือคุณธรรม ผมเชื่ออย่างนั้นเพราะมันได้รับการพิสูจน์มายาวนานว่าทำให้เราอยู่รอดและอยู่ดีได้ในระยะยาว ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
โดยเนื้อหามันเปลี่ยนไปไหม ตัวคุณธรรมแบบไหนที่อาจเปลี่ยนไป นิยามคุณธรรมมันกว้างขวางขึ้นอย่างไร และมีดีเบตอะไรที่สนุกๆ บ้าง
เรื่องนี้มีคนตั้งคำถามมากมาย อย่างเช่น อัลไบรต์ (Madeleine K. Albright) ที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยโอบามา เธอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วก็เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Fascism บอกว่า คำว่าฟาสซิสต์ไม่ได้หมายถึงมุสโสลินี ไม่ได้หมายถึงระบอบแบบนาซี แต่เป็นความคิดที่ว่าผู้คนจะชื่นชมอำนาจนิยม (เผด็จการ) มากยิ่งขึ้น
คือแทนที่จะเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ก็หันมาเชื่อในระบอบของการใช้อำนาจว่าเป็นระบอบที่แก้ไขปัญหาได้ อย่างเช่น ตุรกี รัสเซีย ทรัมป์เองก็เชื่ออย่างนี้ หรือประเทศจีน และหลายประเทศในยุโรป ฝ่ายขวาก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ในเยอรมนีก็มีความนิยมฝ่ายขวาและต่อต้านผู้อพยพมากขึ้น
อย่างการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ที่ปารีสของ 40 ประเทศ คือต้องการมาแลกเปลี่ยนกันว่า เราจะเอาอย่างไรในโลกเรา เกี่ยวกับการเสื่อมของความชื่นชมระบอบประชาธิปไตยและทุนนิยมอย่างที่เป็นมา
ผมเชื่อว่า มีการพูดกันเรื่องนี้มากเลย และเป็นเรื่องกังวลระดับโลกว่า คนเราจะไม่นิยมประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิของคนอย่างเก่า มองข้ามไปถึงเรื่องผลประโยชน์ขั้นสุดท้ายว่า เอาล่ะ ขอให้ฉันมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนเส้นทางจะเป็นยังไง เสรีภาพจะเป็นยังไงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ขอให้บรรลุเป้าหมายไว้ก่อน อันนี้ก็เป็นแนวคิดของคนในโลกที่มีอยู่ไม่น้อย
อาจารย์บอกว่า รากฐานของปัญหาอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำ ที่ทำให้คนตั้งคำถามเรื่องคุณภาพของประชาธิปไตย คุณภาพทุนนิยม ทีนี้ทางออกของการพัฒนาคุณภาพของประชาธิปไตยหรือทุนนิยมควรจะไปทางไหน วิถีอำนาจนิยม วิถีชาตินิยม วิถีที่มันยิ่งกดสิทธิเสรีภาพจะเป็นคำตอบไหม หรือจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้นไปอีก ยังมีทางอื่นๆ อีกไหม ในแง่ของการพัฒนาคุณภาพของทั้งทุนนิยมและประชาธิปไตยบนเส้นทางที่ไม่ได้ทำลายสิทธิเสรีภาพของปัจเจก และไม่ต้องคลั่งชาติ คลั่งอำนาจ
ตั้งแต่ปี 1991 ที่สหภาพโซเวียตล่มสลายไป โลกก็เดินมาในเส้นทางเดียวคือทุนนิยม ไม่มีทางเลือกอื่น ก็เป็นทุนนิยมกันทั้งโลกเลย แต่จากปี 1991 ถึงปัจจุบันก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่ได้เป็นทางที่ดีที่สุด ก็เกิดทางเลือกเล็กๆ ขึ้นมา อย่างเช่น social enterprise ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นในอังกฤษอย่างมากมาย คือเป็นธุรกิจเอกชนแต่ตั้งเป้าหมายไว้ว่า กำไรจะมุ่งสู่สังคม ให้มูลนิธิ คือเป็นธุรกิจที่มุ่งทำกำไร แต่กำไรไม่ได้อยู่กับเจ้าของทุน
ตอนนี้ประเทศไทยก็พยายามจะมี social enterprise เหมือนกัน พยายามจะออกกฎหมายมาเพื่อทำให้บริษัททั้งหลายที่ทำ CSR แทนที่จะไปปลูกป่า หรือไปทำอะไรที่เงินหายไปทุกปี จะเอาไปตั้งธุรกิจ social enterprise ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคน
แต่นี่ก็เป็นทางเลือกที่เล็กเกินไป ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรที่ดีกว่ารูปแบบที่มีการควบคุมโดยรัฐที่เป็นทุนนิยมที่มีการแข่งขัน แล้วก็ประชาธิปไตย ผมคิดว่านี่คือทางออก เพราะมันก็พิสูจน์มาหลายร้อยปี เราก็ทดลองกันมาหลายรูปแบบในโลก อย่างที่เชอร์ชิลล์บอกว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เลวร้ายที่สุด แต่ยังหาอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เราต้องทนกับมันต่อไป
อาจารย์พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติเรื่องคุณค่า จริยธรรม และมิติเศรษฐกิจการเมืองมาบ้างแล้ว อยากชวนคุยต่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และน่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าใครได้อ่าน Global Change 4 แล้วจะรู้สึกตลอดเลยว่า มีอะไรที่คาดการณ์ไม่ได้และเซอร์ไพรส์เราตลอดเวลา ทำให้เราต้องปรับตัว จะอยู่นิ่งๆ กินบุญเก่า ทั้งบุญส่วนตัว หรือบุญประเทศแบบเดิม คงไปต่อไม่ได้ ที่แน่ๆ มันทำให้เราคึกคักตลอดเวลา
มีประเด็นซึ่งผมคิดว่าเป็นการค้นพบทางวิชาการที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม คือพบว่ามนุษย์ไม่สามารถไว้ใจได้ คือไม่ได้มีเหตุมีผลเหมือนที่เราเคยเข้าใจกัน ถ้าเรามีเหตุมีผลโลกเราคงไม่ยุ่งอย่างนี้ครับ
ยกตัวอย่าง มีการทดลองบ่อยๆ ว่า เวลาตัดสินใจ มนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจด้วยความเป็นอิสระของความคิด แต่ส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว แล้วก็ไปถามความเห็นคนอื่นเพื่อยืนยันการตัดสินใจหรือความเชื่อของตัวเอง
ผมลองย้อนนึกดูในชีวิต ก็มีนักศึกษามาปรึกษาผม เกือบทั้งหมดเขาตัดสินใจมาเรียบร้อยแล้ว อาจารย์ครับ ผมจะลงวิชานี้ดีหรือเปล่า ทีแรกผมก็ให้ความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ เขาก็ ครับๆๆ ขอบคุณ แล้วเขาก็ไปหาอาจารย์คนอื่นเพื่อยืนยันสิ่งที่เขาเชื่อแล้วก็ทำตามนั้น
เป็นความจริงที่ว่ามนุษย์ทั่วไป มีลักษณะของ confirmation bias คือตัดสินใจเรียบร้อยแล้วจากข้อมูลที่มีเล็กๆ น้อยๆ หรือจากความเชื่อ ความคิดเห็นของตัวเอง แล้วก็ต้องการให้คำตอบนั้นดูขลังมากยิ่งขึ้น ก็เลยต้องไปถามคนอื่น ถ้าคนหนึ่งปฏิเสธก็ไปหาคนใหม่ จนกระทั่งยืนยันว่าใช่ก็จะสบายใจ ผมเจอมาตลอดชีวิต ผมว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของคำหารือของเรานี่เป็นแบบนี้ทั้งนั้นเลย อย่างคนที่พาแฟนไปหาพระ ผมรับรองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่า เมื่อถามพระว่าเป็นเนื้อคู่หรือเปล่า คงมีพระน้อยมากเลยที่จะบอกว่าไม่ใช่ เพราะเขาพาไปเพื่อให้บอกว่าใช่ จะได้สบายใจ
ลองสังเกตหรือนึกย้อนดูสิครับ เวลาคนมาขอคำแนะนำจากท่าน อีหรอบนี้ทุกคน น้อยคนที่มีปัญญา คือฟังสองข้าง ทั้งดีทั้งไม่ดี แล้วค่อยตัดสินใจ แต่ส่วนใหญ่ตัดสินใจมาเรียบร้อยแล้ว แต่มาหาเราเพื่อความสบายใจเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น มนุษย์ไม่ได้มีเหตุมีผลอย่างที่เราเข้าใจ ถ้ามนุษย์มีเหตุมีผล ทำไมมนุษย์กินหวานทุกวันล่ะครับ และจากการสังเกตของตัวผมเองคือ ยิ่งออกไปนอกกรุงเทพฯ ความหวานของเครื่องดื่มอย่างเดียวกันจะเพิ่มขึ้นตามระยะทางที่ห่างกรุงเทพฯ หรือห่างเมือง เพราะว่าคนที่อยู่ไกลออกไปยิ่งกินหวานมากยิ่งขึ้น
จากที่ผมอ่านเรื่องความก้าวหน้าของการแพทย์อะไรต่างๆ บอกได้เลยครับว่า ยาพิษที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษย์คือน้ำตาล อินเดียนแดงเรียกว่ายาพิษคนผิวขาว แต่ก่อนอินเดียนแดงตายยากแต่พอคนผิวขาวบุกเข้าไปในดินแดนอเมริกา อินเดียนก็ร่วงกันเป็นใบไม้เลย น้ำตาลเป็นตัวสำคัญที่สุด เพราะเป็นยาเสพติดที่มากกว่าโคเคน
ลองสังเกตดูสิครับ วันไหนถ้าไม่ได้กินน้ำตาลจะหงุดหงิด เกิดจากเมื่อเราบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล สมองจะหลั่งสารโดพามีน (dopamine) ออกมาเป็นปริมาณมาก ถ้าเรากินน้ำตาลมากๆ และบ่อยๆ ตัวรับโดพามีน (dopamine receptor) จะเริ่มควบคุมการรับโดพามีนได้น้อยลง ต่อมาก็จะมีจำนวนตัวรับโดพามีนน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรายิ่งต้องบริโภคน้ำตาลมากขึ้นในรอบถัดไป เพื่อให้รับโดพามีนได้ในปริมาณเท่าเดิม และถ้าเรากินน้ำตาลมากขึ้นๆ ก็จะนำไปสู่หลายเรื่องเลย
ล่าสุดผมอ่านข้อมูล มีความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างน้ำตาลกับอัลไซเมอร์ น้ำตาลกับเบาหวานนี่ไม่ต้องพูดถึง แล้วเบาหวานมันนำไปสู่โรค NCD (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง non-communicable disease) เช่น โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคความดันสูง ฯลฯ ตามมาเป็นชุดเลย ฉะนั้นน้ำตาลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ผมเองพยายามจะไม่กินน้ำตาลจากการเติม เพราะสถิติของ สสส. บอกว่า คนไทยกินน้ำตาลชนิดที่เติมมากกว่าเฉลี่ยในโลก 6 เท่า คนอเมริกันประมาณ 4 เท่า แต่คนไทย 6 เท่า แล้วผมมองไปรอบๆ ตัวก็เห็นนะครับ
ผมไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้เพราะทำให้คนเขาไม่มีความสุข นี่พูดเพราะความจำเป็น คือน้ำอัดลมผมก็เลิกกินมาเกือบสิบปีแล้ว กินแต่น้ำเปล่า ไปร้านอาหารเขาถามว่าเอาน้ำอะไรไหม ผมไม่เอา แล้วที่ผมก็ไม่กินน้ำเพราะว่า คนไต้หวันคนจีนปกติเขาจะไม่กินอะไรหลังอาหาร เขาจะให้ความอร่อยของอาหารมันซึมซาบเข้าไปในลิ้นและกระพุ้งแก้มน่าจะเหมือนกับตอนกินไวน์ ฉะนั้น ผมจึงตัดพวกน้ำหวานพวกนี้ออกไป
อาจารย์พูดถึงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เป็นศาสตร์มาแรงที่สุดในวงการเศรษฐศาสตร์ บอกว่าจริงๆ มนุษย์ไม่ได้มีเหตุมีผลขนาดนั้น มนุษย์จริงๆ มีอคติอยู่ในใจ มีการตัดสินใจ มีพฤติกรรมอะไรในทางที่คอนเฟิร์มความเชื่อของตนเองอยู่แล้ว เป็นคนคิดถึงประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ยอมทำอะไรบางอย่างเพื่อความสุขสั้นๆ ความรู้ใหม่พวกนี้ มันทำให้เราเข้าใจตัวเองใหม่ได้อย่างไรบ้าง ให้เราตรวจสอบทบทวนตัวเองได้อย่างไรบ้าง และทำให้เราเข้าใจโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างไร
เมื่อปีที่แล้ว มีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนหนึ่งคือ ริชาร์ด เธเลอร์ เขาบอกว่า ในร่างมนุษย์เรา เหมือนกับมีคนอยู่สองคน คนหนึ่งนั้นตัดสินใจตามสัญชาตญาณของตัวเอง กับอีกคนตัดสินใจตามความรู้ ตามปัญญาที่ตัวเองมี ฉะนั้น ในร่างเดียวกันจะมีการต่อสู้ของคนสองคนตลอดเวลา
ถ้าร่างแรกแข็งแรงกว่า จะพบว่าคนเหล่านั้นมักทำอะไรตามสัญชาตญาณก็คือ อยากทำอะไรก็ทำตามที่ตัวเองต้องการ และมันนำไปสู่การเจ็บป่วย เพราะว่าการป่วยไข้ของคน 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากพฤติกรรม
กับคนที่มีร่างสองเหนือกว่า จะตัดสินใจบนพื้นฐานของประสบการณ์ชีวิต ได้เรียนหนังสือ ได้คิดมา ทำให้จะทำอะไรก็ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ
เพราะฉะนั้น ในโลกสมัยใหม่ที่มีความเย้ายวนมากมาย เราก็คงคิดว่า แล้วตอนนี้ร่างไหนกำลังครอบงำเราอยู่ ถ้าเรายอมให้ร่างแรกครอบงำ เราก็คงจะต้องมีปัญหาในอนาคตข้างหน้า รวมทั้งการใช้เงินด้วย
เขายังพบอีกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการปรับตัวสูงมาก ไม่ว่าจะสูญเสียอะไรก็แล้วแต่ มนุษย์จะปรับตัวได้ พอเวลาผ่านไป ความเศร้าจะหายไป และขณะเดียวกันก็ปรับตัวได้สูงด้วยในเรื่องเงิน หรือเรื่องของที่เราได้รับด้วย
พอเราได้อะไรมาใหม่ เราจะมีความสุขขึ้นมาปรู๊ดเลย แล้วเราก็จะปรับความสุขมาสู่ระดับปกติอีกครั้ง ถูกล็อตเตอรี่ก็ดีใจมากตอนแรก ได้ของมาก็ดีใจมาก ได้เลื่อนตำแหน่งก็ดีใจมาก แต่ต่อมาก็งั้นๆ แหละ พอเราเข้าใจอย่างนี้ มันก็ทำให้เราบ้าซื้อของน้อยลงเพราะเมื่อซื้อมาแล้วก็กลับไปสู่ระดับความสุขเก่า สู้ไม่ซื้อดีกว่า เอาเงินเก็บไว้ทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กว่า แนวคิดแบบนี้ก็ช่วยเราได้ในโลกยุคใหม่ที่เป็นโลกของการบริโภค
แต่ผมก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาเหมือนกัน ก็ใช้เงินเลอะๆ เทอะๆ บ้าง ก็มีความสุขกับการใช้เงินโดยที่ไม่คิดอะไรมากมาย ถ้าเป็นนักเศรษฐศาสตร์อยู่ตลอดเวลา จะซื้ออะไรก็คิดคำนวณ โอ๊ย ผมว่าโรคประสาทกินเสียก่อน คืออยากจะใช้อะไรก็ใช้ แต่ว่าอย่าให้มากเกินขอบเขต ที่เขาเรียกว่า ซื้อ monkey business คืออะไรบ้าๆ บอๆ ใช้เงินเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละเดือนแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก แล้วเรามีความสุขก็ทำไปเถอะ
พอพูดถึงการซื้อของ หลายคนน่าจะมีปัญหาที่ต้องจัดการเพราะมีแต่ของไม่จำเป็นเต็มบ้านไปหมด อย่างในบทความเมื่อเร็วๆ นี้ของอาจารย์เพิ่งเล่าเกี่ยวกับแนวคิดจัดบ้านก่อนตาย อยากให้ช่วยเล่าให้ฟัง
สิ่งที่ผมเขียนก็สรุปมาจากความคิดของคนสวีเดนเขียนอีกที ไม่ใช่ความคิดผมโดยตรง เขาเล่าว่า มนุษย์ควรจะรีบจัดของไว้ก่อนตาย เพราะทุกคนจะมีของเยอะแยะมากมาย เก็บๆๆ เอาไว้เพราะเสียดายหรือผูกพันกับความหลัง เขาบอกว่า ควรจะเคลียร์ให้หมดก่อนที่เราจะตาย ของบางอย่างให้คนที่เขาอยากได้ ถ้าคิดว่ามีประโยชน์กับคนอื่น ก็ให้เขาไปเถอะ เพราะถ้าตายไปแล้ว คุณจะไม่รู้เลยว่าใครจะทำอะไรกับของที่มีอยู่
อย่างผมมีญาติคนหนึ่งรักตุ๊กตาคริสตัลมาก ไปไหนก็ต้องซื้อมาสะสมตลอดเวลา มีเป็นตู้ๆ แต่ตายไปแล้ว ไม่มีคุณค่าอะไรเลย เพราะคนที่ได้ไปอาจไม่เห็นคุณค่าของของที่เขาสะสมมาตลอดชีวิต ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าผมจะซื้อนกฮูกอย่างที่ชอบจะมีประโยชน์อะไรไหม อีกหน่อยคนก็โยนทิ้ง ตอนนี้เลิกซื้อแล้ว เพราะป่วยการณ์ ตายไปก็ไม่มีใครเห็นคุณค่า ช่างมันเถอะ เอาเงินไปซื้ออย่างอื่นดีกว่า
เวลาจะให้ของคน ควรให้ตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ เพราะเราจะรู้ว่าใครจะได้ไป เขาให้คุณค่ากับของอะไร ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปสะสมมัน เพราะเวลาตายไปก็ไม่มีอะไรติดตัวไปได้ อย่างผมก็หลังๆ ก็เริ่มเพลาๆ ลง จะซื้ออะไรก็ให้นึกว่า เราก็เหลือเวลาอีกไม่กี่เปอร์เซ็นต์แล้วในชีวิต
ผมเล่าให้ท่านฟัง ผมเกิดปี 2490 ไม่ต้องบวกลบหรอกครับ 71 ปีครับ ปีหน้าจะ 72 แล้ว 72 ก็คืออายุขัยเฉลี่ยของคนไทยผู้ชายแล้วนะ คือผู้ชายกับผู้หญิงจะต่างกันประมาณ 3-4 ปี ผู้ชายอยู่ที่ 72 ผู้หญิงน่าจะ 75 ทุกสังคมก็เหมือนกันหมดคือผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่าผู้ชาย เคยมีคนถามว่า ทำไมผู้หญิงอายุขัยเฉลี่ยมากกว่าผู้ชาย มีคนตอบให้ขำว่า เพราะว่าพระเจ้าต้องการให้ผู้หญิงได้มีความสงบในบั้นปลายของชีวิต คือให้สามีเธอตายไปก่อน
คนวัย 72 คือเท่ากับอายุขัยเฉลี่ย ที่เหลือก็กำไรแล้ว แล้วถ้าสมมติว่ามันยาวไปจนถึง 80 ช่วงอายุ 71-80 เหลือเปอร์เซ็นต์น้อยมากเลย ถ้าเราไม่คิดประเด็นนี้ แล้วเราไม่ใช้เวลาที่เหลือให้เป็นประโยชน์ มันก็สูญ เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดเรื่องนี้บ้าง
คงไม่บังเอิญอย่างที่คุณหมอเปรมบอกว่า ตัวท่านเองบังเอิญอยู่ได้ถึงร้อย เพราะจากสถิติบอกว่า คนที่อายุ 70-80 เป็นช่วงของอายุที่สำคัญที่สุด เพราะว่าคนมักจะป่วยและเสียชีวิตในช่วง 70-80 มากที่สุด แต่ถ้าพ้น 80 ไปแล้ว มีโอกาสที่จะอยู่ยืนยาวคล้ายๆ กับร่างกายจะเสถียรขึ้น เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าอยู่รอดได้ถึง 80 ก็จะอยู่ได้โดยไม่เจ็บป่วยมากเท่าไหร่ 70-80 จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องระวังให้มาก
จากการสังเกตของตัวเอง ทั้งโลกเมื่อก่อนเกษียณอายุกันที่ 60 ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเวลา 60 คงจะมีลักษณะทางกายภาพหรือทางสุขภาพอะไรสักอย่างที่เป็น turning point ของทุกสังคม ซึ่งตอนนี้คงขยับไปเป็น 65-66
เพราะฉะนั้น พอถึง 60 ก็ต้องระวัง โดยเฉพาะ 70-80 ผมเองก็ระวังมาก แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ ก็พยายามใช้เวลาที่คิดว่าจะเหลืออีก 10-15 เปอร์เซ็นต์ให้มีประโยชน์มากที่สุด
เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงโลก เรามักนึกถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี อาจารย์เขียนในเล่มนี้ก็พูดถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ สื่อ หุ่นยนต์ และอีกหลายๆ เรื่อง อยากให้อาจารย์ฉายภาพให้เห็นว่า ในอนาคตมีอะไรน่าตื่นเต้นรอเราอยู่บ้าง
ผมว่าท่านคงคุ้นเคยกับมันอยู่บ้าง ขอเริ่มต้นที่เรื่องใหม่ๆ เกี่ยวกับ AI แล้วกัน AI ก็คือปัญญาประดิษฐ์ อย่างแรกเลย ถ้าสังเกตดูในวันเปิดห้าง Icon Siam จะเห็นโดรนเป็นหมื่นตัวอยู่บนฟ้าคอยแปรอักษรเป็นรูปและสีสันต่างๆ โดรนก็เหมือนเครื่องบินเล็กๆ ที่มีสมองกลฝังอยู่ในนั้น แล้วก็มีคอมพิวเตอร์บังคับอยู่สองตัว เพียงแต่ว่าจะต้องเขียนโปรแกรมให้รู้ว่าจะแปรเป็นภาพอะไรบ้าง ตำแหน่งของตัวมันจะต้องอยู่ตำแหน่งไหน แล้วต้องเปลี่ยนตำแหน่งอย่างไร นี่ล่ะครับตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เกี่ยวกับ AI
อย่างที่สองที่เกิดขึ้นแล้วก็กำลังจะมากขึ้นในโลกเรา รวมทั้งในประเทศไทย คือหุ่นยนต์ผ่าตัดชื่อว่า da Vinci ซึ่งตอนนี้มี 6 ตัวในประเทศไทย ราคาแพงเช่นเดียวกับค่าซ่อมบำรุงแต่ละปี จาก 6 ตัว มี 5 ตัวอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ของมหาวิทยาลัยของรัฐ อีกตัวหนึ่งเป็นของเอกชน
AI ที่ฝังไว้กับหุ่นยนต์นี้ก็ผ่าตัดได้ทุกอย่าง แต่ที่ใช้กันมากในบ้านเราคือผ่าตัดเต้านม ช่วงท้อง และต่อมลูกหมาก ในอเมริกา 95 เปอร์เซ็นต์ของการผ่าตัดต่อมลูกหมากใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด มันเป็นเครื่องมือที่เอาข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการตรวจ ข้อมูลประวัติการรักษาทั้งหมดใส่ไปในเครื่อง แล้วมันจะวิเคราะห์แล้วถ่ายทอดภาพที่จะผ่าตัดออกมาเป็นสามมิติและมีสีด้วย
ปกติภาพบนจอที่ถ่ายมาจะเป็นสองมิติเท่านั้น ซึ่งจะเห็นไม่ชัดเจน แต่อันนี้จะขยายหลายเท่า แล้วสมมติถ้าเป็นการผ่าท้อง คุณหมอจะเอาอุปกรณ์ที่เหมือนขาหยั่งไว้ตรงหน้าท้อง แล้วก็ส่งตัวที่เป็นเหมือนกล้องลงไปในท้อง แล้วถ่ายทอดภาพขึ้นมาบนจอ ในจอจะเป็นเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็จะมีเครื่องมือ สมมติจะผ่าตัดตรงไหน ข้างบนก็มีใบมีดอยู่ ลากจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง เมื่อยืนยันว่าจะผ่า ใบมีดนี้จะตัดตามนั้นทันที
ปกติเส้นประสาทจะมองไม่ค่อยเห็นเพราะเส้นมันเล็กมาก แต่พอเป็นหุ่นยนต์แล้วมันขยายภาพให้เห็นแต่ละเส้นใหญ่มากและยังเป็นสามมิติ เพราะฉะนั้นจะหลีกเลี่ยงการโดนเส้นประสาทต่างๆ ได้ดีมาก
อย่างที่สาม ตอนนี้จีนจะเป็นผู้นำในเรื่องการแพทย์ อย่างหนึ่งที่จีนเก่งก็คือเรื่องของ predictive medicine คือพยากรณ์ว่าเป็นโรคอะไร ตัวอย่างคือเรื่องเบาหวาน ปกติเวลาดูเบาหวาน หมอจะสั่งเจาะเลือดเพื่อดูน้ำตาลในเลือดทุกๆ สามเดือน ดูการทำงานต่างๆ แต่เครื่อง predictive medicine ของจีนคือใส่ค่าเลือด ข้อมูลต่างๆ ลงไป เครื่องจะวิเคราะห์ผลกลับมาด้วยความแม่นยำเกือบ 98 เปอร์เซ็นต์ว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ หรือจะเป็นในอนาคต ภายในเวลาเท่าไรด้วยเพราะใช้ AI ของฝรั่ง
อีกไม่นานก็จะมี AI ที่ต่อกับสมาร์ตโฟนที่สามารถวัดน้ำตาลในเลือด วัดการเต้นของหัวใจได้ จริงๆ ก็มีมาแล้ว แต่ว่ายังต้องมีอุปกรณ์เสริมอยู่ ฉะนั้น AI จึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างมากในเรื่องการดูแลสุขภาพ
นอกจาก AI รูปแบบต่างๆ สิ่งที่มาคู่กันคืออัลกอริธึม ซึ่งเราอาจคุ้นเคยกับคำนี้จากการใช้โซเชียลมีเดีย อาจารย์คิดว่าเราต้องรู้เท่าทันอัลกอริธึมรวมถึงโซเชียลมีเดียยุคนี้อย่างไร
ขออธิบายความหมายของอัลกอริธึมก่อนเลย มันคือขั้นตอนของการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้รับคำตอบ ยกตัวอย่าง ผมมีกระเป๋าเอกสารที่ตัวล็อกมีโค้ดเป็นเลขสามหลัก อัลกอริธึมก็คือ ลองเปิดไปที่ 000 ก่อน อันนี้คืออัลกอริธึมที่หนึ่ง 001 คืออัลกอริธึมที่สอง ไล่ไปเรื่อยๆ จนครบ 999 เพื่อให้เปิดกระเป๋าได้ อันนี้เป็นตัวอย่างอัลกอริธึมที่โง่ เพราะมันไล่เรียงทีละเบอร์ แต่ถ้าเป็นอัลกอริธึมฉลาด มันจะทดลองที่วันเกิดก่อน ปีเกิด เดือนเกิด วันเกิดลูก วันเกิดภรรยา เพราะเวลามนุษย์เราใส่โค้ดมักจะใส่โค้ดเป็นวันเกิดตัวเอง อัลกอริธึมก็สามารถหาและเปิดล็อกได้ทันที
อัลกอริธึมทำงานหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ให้ข้อมูลกับเครื่องมือที่ทำอยู่ อย่างถ้าหุ่นยนต์จะเดิน อัลกอริธึมจะถามก่อนว่า ข้างหน้ามีอะไรกีดขวางอยู่ไหม เมื่อได้คำตอบแล้ว หุ่นยนต์ก็ค่อยๆ ขยับไปได้ ซึ่งการถามตอบนี้ใช้เวลาเพียง 1/100 วินาที
และมันไม่ได้ทำเพียงแค่นั้น แต่ยังเข้าไปถึงเรื่องของโซเชียลมีเดียด้วย ที่ผมเคยเขียนไว้แล้วว่าขณะนี้เราเป็นสมาชิกโซเชียลมีเดีย สมมติเป็นสมาชิกเฟซบุ๊ก จริงๆ เปรียบเสมือนเราเป็นสัตว์ในกรงทดลอง เพราะอัลกอริธึมมันทำงานอยู่ตลอดเวลา เรากดไลก์ภาพอะไร เรามีภาพอะไร เราแสดงความเห็นอะไร จะมีหุ่นยนต์คอยอ่านเพื่อหาข้อความ keyword ทั้งหลาย แล้วประมวลว่าเราเป็นคนลักษณะแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วหลังจากนั้นจะมีโฆษณาที่เหมาะกับเราขึ้นมา
ไม่เชื่อลองดูยูทูบครับ ถ้าเราดูเรื่องอะไร อย่างเช่นเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง มันจะมี feed ให้ท่านดูตลอดเวลาเลย ถามว่ามันรู้ได้อย่างไร รู้ได้จากอัลกอริธึม มันรู้ว่าเราดูเรื่องนี้นานกี่นาที เราชอบเรื่องแบบไหน ฉะนั้นคราวหน้าก็เอาเรื่องแนวนี้มา feed ให้ เมื่อเราดูมากๆ ก็มีโอกาสจะขายของได้มาก
ที่สำคัญ มันเอาข้อมูลเหล่านี้ไปขายทางการค้าได้ รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะฉะนั้น AI และอัลกอริธึมมันทำงานร่วมกัน แล้วเอาไปใช้เกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวพันกับ AI อย่างเช่น รถที่ไม่มีคนขับ มันก็ใช้อัลกอริธึมเหมือนกันว่า ถ้าจะขยับไปทางซ้าย มีรถอยู่ไหม ถ้าไม่มีก็ไปได้
อย่างที่บอกว่า โซเชียลมีเดียใช้ได้ แต่ต้องใช้อย่างระวัง เพราะมันสามารถรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเราดีกว่าตัวเราเสียเองอีก มีการทดลองให้คนกดไลก์ 300 ครั้ง อัลกอริธึมสามารถพยากรณ์ความชอบไม่ชอบ รวมทั้งบุคลิกของเราได้แม่นยำกว่าคู่ชีวิตที่แต่งงานกันมา 10 ปี เพราะอัลกอริธึมมันได้ข้อมูลจากเราไป ถ้าเห็นภาพนี้แล้วชอบ เห็นไอศกรีมแล้วชอบ มันจะเก็บไว้ในสมอง รู้แล้วว่าคนนี้ชอบอะไรแบบนี้ แต่ถ้าเจออย่างนี้มาแล้วไม่เคยกดไลก์เลย แสดงว่าไม่ชอบ หรือบางอย่างมีข้อมูลว่าดูนานกว่าปกติ เวลามีภาพกระเป๋าขึ้นมา แสดงว่ามีโอกาสจะขายกระเป๋าให้คนนี้ได้
อันหนึ่งที่ผมได้พบ แล้วกำลังจะเขียนบทความก็คือ ตอนนี้ทางโลกตะวันตก เขาจะคำนวณค่าของแต่ละคนที่เรียกว่า customer lifetime value หรือ CLV แล้วเขาจะประเมินว่าเรามีมูลค่าทางการค้ามากน้อยแค่ไหน ถ้าประเมินแล้วเรามีมูลค่าทางการค้ามาก เวลาเราโทรศัพท์ไปที่บริษัทเขา เขาจะตอบโทรศัพท์ทันที แต่ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ค่อยซื้อของ ไม่ค่อยชอปปิ้ง แต่ชอบเอาของมาคืนบ่อยๆ เวลาโทรไป ก็คอยไปสัก 5 นาทีเลยครับ เพราะว่าเรามีโอกาสทางการค้าน้อยกว่าคนอื่นที่เป็นลูกค้ารายใหญ่
นี่ก็ไม่ได้ผิดปกติอะไรนะ ตอนผมขับรถติดไฟแดงแล้วเห็นคนขายพวงมาลัย เขาก็ทำรูปแบบเดียวกับ CLV คือดูว่าในรถมีใครบ้าง ถ้าผู้ชายโสดมาคนเดียวคงไม่ซื้อพวงมาลัยแน่นอน จะซื้อก็ต่อเมื่อเป็นคนสูงอายุหน่อย มากันสองคน อย่างนี้โอกาสที่จะขายพวงมาลัยได้ก็มากขึ้น เขาก็ทำเหมือนกัน เพราะแค่เวลาที่ติดไฟแดง ถ้าไปหาเป้าหมายที่ยังไงก็ขายไม่ได้ เขาก็ไม่ไป มันก็ไม่ต่างอะไรกับวิธี CLV เพียงแต่ว่าเราโกรธน่ะครับ เฮ้ย โทรไปแล้วเราต้องรอครึ่งชั่วโมง เพราะเรามีสกอร์ CLV ต่ำกว่าลูกค้าคนอื่นๆ
นี่เป็นเรื่องจริงนะครับ เขาคำนวณหมดเวลาที่ไปติดต่อธุระ หรือไปขอเครดิตอะไรต่างๆ คนที่มีมูลค่าสกอร์ต่ำเขาไม่ค่อยอยากจะได้หรอก ต้องชอบพวกคนอายุ 40 ขึ้นไป เป็นผู้หญิง มีการศึกษา กลุ่มนี้เป็นพวกที่ชอบซื้อของ แต่พวกที่อายุน้อยๆ แล้วไม่จบปริญญาตรี แล้วเป็นโสดด้วย จะซื้อของน้อยกว่า ฉะนั้นก็ให้สกอร์กับคนเหล่านี้น้อยกว่า อัลกอริธึมจะให้คะแนนไว้เลย แล้วเรียงตามคะแนน อย่างขอเครดิตการ์ด ก็มีแต้มด้วย อันนี้ก็ทำให้เรากลายเป็นสิ่งของไป แต่ว่าในโลกทุนนิยม ทุกคนก็กลายเป็นสิ่งของหมด แล้วก็ใช้อัลกอริธึมจัดการกับเรา
นี่คือ AI ที่จะอยู่ในชีวิตของเราค่อนข้างมาก อีกตัวหนึ่งที่คู่กับ AI ก็คือ 5G จะเปิดตัวในปี 2020 (ส่วนประเทศไทย กสทช. บอกว่าจะประมูลกันในปี 2563)
แล้ว 5G ต่างจาก 4G อย่างไร และชีวิตเราจะดีกว่าเดิมแค่ไหน
5G จะเร็วกว่า 4G ในปัจจุบัน 100 เท่า ข้อมูลที่จะอัปโหลดและดาวน์โหลดจะเร็วกว่าเดิม 100 เท่า แต่ข้อเสียคือรัศมีทำการจะน้อยลง ขณะนี้ Wi-Fi หรือ 4G จุดหนึ่งไปได้เกือบ 3-4 กิโลเมตร แต่พอเป็น 5G แล้วจะไปได้เพียง 500-600 เมตรเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องติดตั้งจำนวนเยอะมากเพื่อให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ หรือทุกๆ 300-400 เมตรต้องมีเสา อาจไม่ต้องเป็นเสาก็ได้ แต่ใช้เครื่องไปติดไว้ อย่างที่อินเดียเขาเอาไปติดตั้งใต้สะพานทางด่วนเต็มไปหมดเลย ก็คงเตรียมพร้อมรับ 5G เหมือนกัน
ทีนี้ 5G ดีอย่างไร มันดีเพราะว่า รถยนต์ที่ไม่มีคนขับจะขับได้ก็ต่อเมื่อมีสัญญาณแบบ 5G คือมันเร็วมาก แล้วเครื่องมือที่ใช้ได้มันใช้ได้นับล้านๆ ชิ้น ขณะที่ 4G ถ้าคนใช้มากในแต่ละจุดมันจะทำงานช้าลง อย่างเวลาเราเข้าไปใช้เครือข่ายอะไรก็แล้วแต่ มีแค่ร้อยเครื่องก็ช้าแล้ว แต่ 5G รับได้เป็นล้านๆ
มีผู้กล่าวว่า 3G คนที่ได้ประโยชน์คือยุโรป 4G อเมริกาได้ประโยชน์เพราะเริ่มก่อนคนอื่น แต่ 5G จีนได้ประโยชน์ เรื่องเทคโนโลยีขณะนี้จีนมาแรงมากเลย
ข้อมูลจาก Asian Review บอกว่า ในงานวิจัยที่มีคนอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด Top 1 % มีบทความสักประมาณ 300-400 ชิ้น อันดับที่หนึ่งคือ มหาวิทยาลัยซิงหัว สแตนฟอร์ดอยู่ประมาณที่ 2-3 ใน 13 มหาวิทยาลัยใน Top 1 % ที่มีงานวิจัยที่มีคนอ้างอิงมากที่สุดนี้ เป็นมหาวิทยาลัยจีน 6 มหาวิทยาลัย
จีนนั้นมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านไบโอเทค ที่ก้าวหน้าที่สุดของจีนคือการตกแต่งดีเอ็นเอของมนุษย์ และเรื่องสเต็มเซลล์ เพราะจีนไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับเรื่องของกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ของฝรั่งนี่ไม่ได้ แม้แต่สัตว์ทดลองตัวหนึ่งก็ต้องขออนุญาต จะมาทำกับคนเลอะๆ เทอะๆ หรือทำกับตัวอ่อนหรือสเต็มเซลล์ไม่ได้ แต่จีนทำได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นมันก็เลยก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก แล้วก็ไม่ต้องบอกคนอื่นด้วย
ตัวอ่อนหรือสเต็มเซลล์นี่คือเซลล์ที่ยังไม่ได้กลายเป็นเซลล์แบบไหน ปกติจะอยู่ในรก พอยังไม่ได้เป็นเซลล์อะไรก็สามารถเอามาทำให้กลายเป็นเซลล์ตามที่ต้องการได้ ถ้าฉีดเข้าหัวใจก็ไปเสริมกล้ามเนื้อหัวใจที่ตายหรือขาดเลือด อะไรที่งอกไม่ได้ก็ทำให้งอกได้ ขณะที่ทางตะวันตกลำบากมากเลย เวลาจะทดสอบยาอะไรก็ต้องขออนุญาต มีขั้นตอนต่างๆ ควบคุมอยู่ แต่ของจีน free for all ฉะนั้น ต่างชาติจึงยินดีไปทดลองในจีนมาก เพราะได้ผลเร็ว ในอเมริกากว่าจะมียามาตัวหนึ่ง ใช้เวลา 10-15 ปี ต้องพิสูจน์ว่ามันปลอดภัย เทียบกับของจีนออกได้เร็วกว่า เพราะสามารถทดลองได้เลย
จุดอ่อนของจีนคือด้านสังคมวิทยา (social science) จีนยังสู้ฝรั่งไม่ได้ แต่ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จีนไปไกลมากเลย และ 5G เชื่อว่าจีนจะได้เปรียบเหนือคนอื่น ตอนนี้ก็ผลิตอุปกรณ์ 5G ออกมามากมาย เตรียมพร้อมที่จะออกมาในปี 2020
5G กับ Internet of Things (IoT) เกี่ยวพันกันอย่างไร
IoT เป็นวงจรไฟฟ้าหรือชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งเอามาใช้ในชีวิตประจำวันของคนได้มากมาย แล้วมันจะมีข้อมูลที่ออกมาแล้วควบคุมโดยคอมพิวเตอร์
ยกตัวอย่าง IoT หรือวงจร จะใส่เข้าไปในเม็ดยาที่เรากินตอนเช้า สมมติว่าวันนั้นต้องกิน 10 เม็ด ในแต่ละมื้อเราอาจจะลืมกินได้ ก็เลยฝังไว้ในเม็ดยาแล้วมีการปล่อยสัญญาณเพื่อให้ยาละลายและเกิดผลมากที่สุด ตามวันเวลาที่สั่งให้มันละลาย IoT จะจัดการและทำงานเอง เพราะคอมพิวเตอร์สั่งไว้แล้วว่า สามเม็ดแรกต้องทำงานตอน 8 โมงเช้าหลังอาหาร เป็นต้น
อย่างที่สองที่เห็นชัดเจนก็คือ เวลาเราไปตามโรงแรม พื้นจะมืด แต่พอก้าวข้างหน้าปั๊บ ไฟจะติดขึ้นมาอัตโนมัติ เพราะฝังเซ็นเซอร์ไว้ เวลาเราเดินปั๊บ ตัดแสงปุ๊บ มันจึงเปิดไฟให้เราทันที
ส่วนอย่างที่สามก็คือ ไปโรยไว้ในดิน แล้วส่งสัญญาณกลับมาว่า มีความชื้นเท่าไร มีสารเคมีอะไรเท่าไร ก็เก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า big data แล้ว big data ก็เอามาวิเคราะห์ว่าดินนั้นเหมาะสมต่อการปลูกพืชชนิดใด
สี่ ช่วยดูแลเรื่องอาหาร เช่น ใส่ในตู้เย็นไว้ เวลาไข่ไก่หมด มันจะเตือนที่มือถือเราเองว่าอย่าลืมซื้อไข่ไก่ เพราะมีเซ็นเซอร์อยู่ใต้น้ำหนักไข่ไก่ พอน้ำหนักไข่ไก่หายไปจากตู้เย็น มันก็เตือนเรา
ห้า ใช้ในหุ่นยนต์ที่ตรวจสอบการประกอบรถยนต์ อย่างเช่น ถ้าชิ้นส่วนรถยนต์มีปัญหา เช่น ล้อใส่สกรูไม่ดี มันก็จะเตือนหุ่นยนต์ว่า ต่อไปให้ดูให้ดี หรือใส่ในเครื่องยนต์ของอะไหล่เครื่องบิน สมมติว่าเครื่องยนต์มีปัญหาดับ ตัวที่เสียจะส่งสัญญาณไปยังอีกตัวให้ทำงานแทน
ห้า ใช้ในหุ่นยนต์ที่ตรวจสอบการประกอบรถยนต์ อย่างเช่น ถ้าชิ้นส่วนรถยนต์มีปัญหา เช่น ล้อใส่สกรูไม่ดี มันก็จะเตือนหุ่นยนต์ว่า ต่อไปให้ดูให้ดี หรือใส่ในเครื่องยนต์ของอะไหล่เครื่องบิน สมมติว่าเครื่องยนต์มีปัญหาดับ ตัวที่เสียจะส่งสัญญาณไปยังอีกตัวให้ทำงานแทน
IoT จำนวนมากจะใช้งานได้ก็ต้องใช้ระบบ 5G ที่มีความเร็วสูง และมีความสามารถรับมือวงจรไฟฟ้าจำนวนมหาศาลเหล่านี้ได้
ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนำโดยภาคเอกชน คำถามคือบทบาทของภาครัฐ ซึ่งโดยหลักการอาจจะเข้ามาในรูปแบบของการกำกับดูแล ในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐของเราพร้อมไหม คือพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน อาจารย์คิดว่าเราอยู่ในสถานการณ์ประมาณไหน แล้วเราต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าของไทยยังช้าอยู่ ขอยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ดูแล้วน่าจะปรับตัวยากมากเลย เพราะว่า หนึ่ง คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยก็กลัวตัวเองจะไม่มีวิชาสอน มีมหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่ง มีหลักสูตรทั้งมหาวิทยาลัยเป็นพันหลักสูตร และในพันหลักสูตรมีคนไม่เรียนอยู่ 300-400 หลักสูตร ก็ค่อยๆ ปิดไป แต่จริงๆ ควรจะปิดเมื่อสองสามปีที่แล้ว แต่ไม่ปิดเพราะมีคนเรียนห้าคนก็ยังเปิดต่อไป เพราะฉะนั้น โอกาสที่งานวิจัยจะเกิดในมหาวิทยาลัย ผมคิดว่ายาก
การตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ผมคิดว่าเป็นหนทางหนึ่ง เพราะต่อไปงานวิจัยจะมารวมที่เดียวที่กระทรวงนี้ แล้วแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะแบ่งกันวิจัย เมื่อก่อนเป็นเบี้ยหัวแตก แต่ตอนนี้จะเอางานวิจัยมารวมไว้ในที่เดียวกัน เป็นความหวังว่าจะทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
ทีนี้ถ้าเรามองรอบๆ บ้านเรา ที่น่าเสียดายคือคนไทยยังไม่มีบริษัทที่เกี่ยวพันกับไอทีที่ออกมา อย่างผมจดมา ท่านเชื่อไหมครับ บริการแท็กซี่แบบ Uber ขณะนี้เกิดขึ้นในโลกเยอะมากเลย ที่อินโดนีเซียชื่อโกเจ็ก บนถนนวิ่งกันเต็มไปหมดเลยครับ คนขับใส่เสื้อโกเจ็ก ทั้งแท็กซี่ทั้งมอเตอร์ไซค์ส่งของ หรือโอล่าของอินเดียก็ออกมา Uber นี่ถอนไปแล้ว เพราะถูก Grab ซื้อไปเรียบร้อยแล้ว และ Uber ก็ถอนตัวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน
Grab ที่จริงเป็นของมาเลเซีย ตอนนี้สิงคโปร์เป็นเจ้าของ แล้วก็มี Didi ของจีน ก็ไปบุกออสเตรเลีย ขณะนี้ทั้งโลกก็ปั่นป่วนไปหมดเพราะแท็กซี่แบบนี้ออกมา ทำให้แท็กซี่ท้องถิ่นว่างงานไปตามๆ กัน หลายคนก็ต่อต้าน แต่มันเป็นความพร้อมใจกันระหว่างคนขับกับคนใช้ด้วยกัน ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ฉะนั้น ภาครัฐไทยผมว่ายังอยู่ข้างหลัง แต่ถ้าพูดถึงความน่ากลัว มีอีกเรื่องที่เกี่ยวพันกับระบอบประชาธิปไตยและสิทธิของคนด้วย นั่นคือโปรแกรม facial recognition ของจีน ตอนนี้จีนพัฒนาซอฟต์แวร์โปรแกรมไปไกลถึงขนาดว่า ถ่ายหน้าคนแล้วบอกได้เลยว่าคุณชื่ออะไร บ้านอยู่ที่ไหน ที่เซินเจิ้น คนที่ไม่เดินข้ามถนนตรงทางม้าลาย พอกล้องจับได้ปั๊บก็ประจานชื่อขึ้นจอเลย น่ากลัวมาก ไม่มีใครกล้าประท้วง เพราะพอเห็นหน้าปั๊บ ยังไม่ทันทำอะไร ก็ไปรอจับอยู่ที่บ้านเรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้คงมีผลต่อสิทธิและประชาธิปไตยมากในยุคต่อไป แล้วมันแม่นยำมากครับ ไม่ว่าจะผ่าตัดอย่างไรก็ตาม เพราะมันยึดระยะทางระหว่างจุดต่างๆ บนใบหน้าเป็นพันๆ จุดสร้างเป็นสมการจนเป็นเลขประจำตัวของแต่ละคนเลย
ถ้าอย่างนั้น นโยบายประเทศไทย 4.0 นั้นยังห่างไกลความเป็นจริง หรือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ยังมีคำถามอยู่ เพราะไม่มีใครรู้ว่า 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
แต่เขาก็ปรับไปเรื่อยๆ ได้นะ ผมว่า 20 ปีก็ต้องมีเป้าเพราะมาเลเซียก็มี 2020 อีกหลายประเทศก็มี คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องมีเป้าหมายและปรับเป็นระยะ
แต่แผนเรามันไม่ได้กำหนดเป้าหมาย มันไปล็อก ไปกำกับอะไรไว้พอสมควรเลย
ผมคิดว่าไม่ได้ล็อกนะ ตอนนี้ร่างใหญ่เสร็จเรียบร้อยลงราชกิจจาฯ เพียงแต่รายละเอียดยังไม่เสร็จ
พูดถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี หลายคนคงนึกถึงการพิมพ์สามมิติที่เวลานี้ไปไกลมาก
ใช่ เดี๋ยวนี้เวลาปรินต์ออกมา ไม่ได้ออกมาเป็นกระดาษสองมิติแล้ว แต่ปรินต์ออกมาเป็นสิ่งของได้เลย เพราะตัวคอมพิวเตอร์เป็นเหมือนหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ ราคาก็ไม่แพง ถ้าเราอยากมีรูปปั้นเหมือนตัวเรา ไม่ต้องไปจ้างคนปั้น แค่ถ่ายรูป 200 รูป แล้วปรินต์ออกมา จะออกมาเป็นรูปปั้นที่หน้าตาเหมือนเราทุกอย่าง เพราะฉะนั้นใครที่เล่นเหรียญ เล่นพระที่เป็นโลหะ ระวังให้ดีนะครับ จะออกมาเหมือนต้นฉบับเลย เพราะมันปรินต์ให้อย่างดีมาก
ที่เมืองไทยที่ผมเห็นทำอยู่คือเรื่องฟัน อย่างเวลาทำครอบฟัน บางทีทำออกมาแล้วไม่ค่อยพอดี แต่ถ้าใช้เครื่องพิมพ์สามมิติผลิตออกมา จะได้ขนาดแทบไม่ผิดเพี้ยนเลย
ถ้าให้อาจารย์จินตนาการอย่างเป็นรูปธรรม อีก 5-10 ปีข้างหน้า เราตื่นนอนขึ้นมา โลกที่เราเจอจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
คือตอนนี้ ถ้าเราเป็นคนไฮเทคจริงๆ มันไปไกลมาก คือนาฬิกาจะปลุกเอง เตือนเอง แอร์เปิดเอง คือถ้าจะทำจริงๆ มันทำได้หมด
แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาแบบผม ผมคิดว่า ตื่นตอนเช้าก็อยากเห็นแสงแดดแบบปกติและเปิดหน้าต่างเอง อาหารก็จะเน้นพวกผักผลไม้มากขึ้น เพราะคนคงเห็นชัดว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการเป็นของที่สร้างปัญหาต่อมนุษย์แน่นอน ส่วนรถยนต์นี่ภายใน 20 ปีคงมีรถยนต์ที่ไร้คนขับมากขึ้นและใช้ก๊าซกับน้ำมันน้อยลง
อาจารย์ตั้งโจทย์ใหญ่มาตั้งแต่ต้นทางว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นต้นเหตุที่ทำให้การเมืองมีปัญหา เศรษฐกิจมีปัญหา แล้วโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยน อาจารย์เล่าภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจให้ฟัง แบบนี้มันจะยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นไหม คนจะเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เท่ากันไหม แล้วมันจะยิ่งนำไปสู่โลกแบบไหนในอนาคต
ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมเห็นกับตา คนที่ไม่ทันเทคโนโลยีไม่สามารถเป็นสมาชิก Grab ได้ พอขึ้นแท็กซี่ ผมจะถามคนขับว่า ทำไมไม่สมัครสมาชิก Grab เขาตอบว่าผมใช้ไม่เป็นครับ ผมใช้เป็นแค่โทรเข้าโทรออกอย่างเดียว ผมก็ถามคนที่ไม่ได้เป็น Grab เขาบอกว่า ก็ไม่เป็นไร ผมก็ใช้ปกติ เสิร์ชนู่นนี่ ดูคลิปอะไรต่างๆ
คิดดูสิครับ คนที่ตกรุ่น ใช้มือถือไม่เป็น ไม่สามารถจะได้ผู้โดยสาร ผมขึ้น Grab แท็กซี่บ่อย ผมจะถามตลอดคนขับจะบอกว่า ผมแทบไม่มีเวลากินข้าวเลย คือพอส่งลูกค้าลงปั๊บ ถ้าเป็นสมาชิก Grab มันจะขึ้นมาทันทีว่า ในรัศมีกี่ร้อยเมตร มีลูกค้าต้องการรถ ท่านจะรับหรือไม่รับ ใครกดก่อนคนนั้นก็ได้ลูกค้าไป ดังนั้นถ้าท่านขยัน ทันทีที่ส่งคนลงปุ๊บ กด Grab ปั๊บ ก็ขึ้นมาทันที เดี๋ยวนี้มี line ด้วยนะครับ
แต่ถ้าท่านเป็นคนยุคเก่า ท่านก็ต้องวิ่งรถเปล่าหาผู้โดยสารตามที่ต่างๆ จะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิก digital society ได้ กลายเป็นช่องว่างระหว่างดิจิทัล (digital divide) จะมากยิ่งขึ้น แล้วคนที่ไม่สามารถใช้งานดิจิทัลได้เลยจะลำบาก
อีกเรื่องที่อาจารย์เขียนไว้น่าสนใจคือเรื่อง quantum computing อยากให้ช่วยขยายความเพิ่มเติม
ผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้นะครับ แต่ไปค้นข้อมูลมา คือตอนนี้คอมพิวเตอร์ที่เราใช้ อยู่ในระบบ 0 และ 1 คือส่งสัญญาณเป็นแสงสว่าง แบบประเภท 0 และ 1
เมื่อก่อนนี้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เรือที่อยู่ใกล้กัน เวลาส่งสัญญาณถึงกันจะใช้ไฟกะพริบ (ซึ่งก็คือรหัสมอร์ส) ทั้งกะพริบสั้น กะพริบยาว สมมุติถ้ากะพริบยาวคือ 1 กะพริบสั้นคือ 0 เช่น ก ไก่เขียนเป็น 010 แสงสว่างดีกว่าแม่เหล็กไฟฟ้าเพราะวิ่งได้เร็วมาก อย่างที่ทราบกันว่า แสงมีความเร็วถึง 186,000 ไมล์ต่อวินาที ดวงอาทิตย์กับโลกอยู่ห่างกัน 93 ล้านไมล์ แสงจากดวงอาทิตย์ใช้เวลา 8 นาทีครึ่งก็วิ่งมาถึงโลกเรา เพราะฉะนั้น คนเลยบอกว่า ถ้าใช้แสงสว่างแทนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็น่าจะดี ก็คิดมาตลอดแต่ยังไม่สามารถผลิตของที่ใช้ได้จริงๆ
จนกระทั่งปี 1970 ถึงได้มีใยแก้วนำแสงออกมา ใยแก้วนำแสงอย่างที่เราเห็นรุงรังอยู่ตามข้างถนน นี่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยเลยนะ สายดำๆ พวกนั้น ข้างในจะเป็นหลอดแก้วบางๆ ขนาดเท่าเส้นผม ที่ส่งสัญญาณ 0 และ 1 ฉะนั้น สัญญาณจากโทรศัพท์ที่เป็นคลื่นวิ่งไปตามลวดทองแดง มันก็กลายเป็นแสงสว่างที่วิ่งตามหลอดแทน จำนวนที่สามารถส่งก็เพิ่มได้มากขึ้น
ความสามารถในการรองรับโทรศัพท์ก็มากขึ้น แต่สัญญาณไม่ได้เป็นแม่เหล็กไฟฟ้าอีกต่อไป แต่เป็นการเปิดและปิดแบบเร็วๆ ของแสงสว่าง (เปิดคือหนึ่ง ปิดคือศูนย์) เพราะฉะนั้น จะส่งข้อความก็เปิดๆ ปิดๆ มันก็วิ่งอย่างเร็วมากเลย ไปถึงตามที่ต่างๆ อย่างเราไปเบิกเงิน ATM เราก็กดรหัส ข้อมูลก็วิ่งไปตามใยแก้วนำแสงไปถึงสำนักงานใหญ่ เช็กว่าเรามีเงินไหม คอมพิวเตอร์บอกว่าเรามีเงิน ก็ส่งสัญญาณกลับมาตามใยแก้วนำแสงที่โยงมาถึงตู้ ATM นั้น เราจึงสามารถเบิกเงินออกมาได้
ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในประเทศไทยก็คือ เอาใยแก้วนำแสงเข้ามาแทนลวดทองแดง คือยุคแรกมันเป็นลวดทองแดงในซอยแยกแต่ตอนนี้จะเปลี่ยนเป็นใยแก้วนำแสงทั้งหมดถึงหมู่บ้าน มันเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเรา แล้วคงทำให้คนเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ถ้าใครตามไม่ทัน
ตอนนี้อาจารย์อายุ 71 และปีหน้าจะครบรอบ 72 ปี ทำไมอาจารย์เข้าใจการเปลี่ยนแปลงโลกมากกว่าคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ อยากทราบว่าอาจารย์อ่านอะไร อาจารย์ไปรู้เรื่องเหล่านี้มาจากไหน อาจารย์รู้ทั้งเรื่องสุขภาพ เทคโนโลยี คิดว่าหลายคนคงสงสัยเรื่องนี้ เผื่อมีใครสนใจจะได้ตามรอยไปอ่านเรื่องเหล่านี้ได้บ้าง
ผมเป็นคนอยากรู้อยากเห็นทุกอย่างในโลก ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องเขียน มันทำให้ต้องอ่านครับ ผมเขียนหนังสือมาตั้งแต่ปี 2535 เขียนอาทิตย์ละสองสามชิ้น (แนวหน้า สุดสัปดาห์) ปัจจุบันนี้ก็เกือบ 30 ปีแล้ว ก็หลายพันชิ้นอยู่ครับ
เมื่อก่อนนี้ก็เขียนให้มติชน และยังต้องจัดรายการวิทยุ เลยบีบบังคับให้ผมต้องอ่าน เพราะผมไม่ใช่คนเขียนเก่งที่สุด และไม่ใช่คนเขียนคนแรก ผมก็ต้องแตกต่างจากคนอื่น ผมก็หาจุดต่างที่ผมจะขายได้ นั่นคือ เขียนเรื่องที่คนอื่นไม่เขียน และเขียนด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้
ผมไม่ได้เป็นคนเก่งกาจอะไรหรอก แต่ผมนำเสนอเรื่องที่ไม่มีคนอื่นนำเสนอ ฉะนั้น ผมก็เลยต้องอ่านมากหน่อย
ถ้าอยากเข้าใจโลกแบบอาจารย์ ต้องอ่านอะไรบ้าง
พื้นฐานผมเรียนวิทยาศาสตร์ตอนมัธยมปลาย แล้วก็มาเรียนเศรษฐศาสตร์ ฉะนั้น ผมก็สนใจด้านวิทยาศาสตร์มา 30-40 ปีแล้ว นิตยสารเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ผมก็อ่าน แต่ที่อ่านมายาวนานที่สุดคือ Time กับ Newsweek จนกระทั่งมันเลิกไป แล้วเพิ่งกลับมาใหม่
ตอนนี้ที่อ่านอยู่ประจำ เป็นพวกนิตยสาร Discover แล้วก็ Wall Street Journal กับ Asian Review ของญี่ปุ่น และ The Economist อีกเล่มหนึ่ง แค่นี้ก็ไม่มีเวลาแล้วครับ
นอกจากนิตยสารต่างๆ ทราบมาว่าอาจารย์ยังอ่านหนังสือเล่มอยู่เรื่อยๆ ด้วย
คือเดือนๆ หนึ่งที่บ้านผมก็ไม่เคยไปกินข้าวตามโรงแรม วันเกิดก็ไม่เคยฉลอง ก็อยู่อย่างพอเพียง แต่ละเดือนผมก็มีเงินเหลือที่จะไปซื้อ monkey business พวกนี้ คือบางทีซื้อมาก็ไม่ได้อ่านนะ แต่จับๆ ต้องๆ ก็มีความสุขแล้ว
หรือเวลาคนพูดถึงอะไรน่าสนใจ ผมก็รีบไปเสิร์ชอินเทอร์เน็ต ถ้าเข้าท่า ผมก็ซื้ออีบุ๊ก แล้วอย่าง amazon จะมี sample ให้อ่าน ที่คุณไม่ต้องเสียเงิน ผมก็โหลดตัวอย่างมาอ่าน แล้วมันอัศจรรย์มากในสมัยนี้ คือเราไปพบหนังสือเล่มหนึ่งที่เข้าท่า ภายในเวลาสองนาทีเราก็ได้อ่านมันแล้วครับ
อย่างเรื่องหนึ่งที่ผมเขียน คือเรื่องหนังสือ เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind) ผมก็ทำแบบนี้ คือหนังสือมันเล่มหนามาก ยังไม่ได้อ่านจนจบหรอกครับ ผมก็ใช้อ่านโดยค้นจากอินเทอร์เน็ต และอ่านที่สรุปด้วย คือ Sapiens เป็นหนังสือที่ขายดีระดับโลก เล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดมา 150,000 ปี แล้วก็เป็นหนังสือที่คนพูดถึงเยอะมาก โอบามาก็พูดถึง บิล เกตส์ก็พูดถึง
ตัวคนเขียนก็น่าสนใจมากเลย เขาชื่อว่า ยูวัล โนอาห์ แฮรารี เป็นคนอิสราเอล จบปริญญาเอกประวัติศาสตร์ที่ออกซฟอร์ดตั้งแต่อายุ 23 แต่ที่ตื่นเต้นที่สุดคือ เขานั่งสมาธิกับอาจารย์อินเดียที่มีชื่อเสียงมาก เขานั่งสมาธิมานานมาก แต่ละวันเขาจะนั่งสมาธิสองชั่วโมง ปีหนึ่งเขาต้องไปปลีกวิเวก 20 วัน เขาบอกว่า ได้พลังใจในการเขียน รวมทั้งมีสมาธิได้ ก็เพราะการนั่งสมาธิ ถึงเขาจะเป็นยิวก็ตาม
แล้วเขาเขียนหนังสือที่ขายดีมากๆ เล่มหนึ่งขึ้นมา แล้วก็เขียนออกมาอีกเล่มด้วยชื่อว่า Homo Deus ไปที่ไหนคนก็อ่านทั้งนั้น แต่คงไม่มีใครอ่านจบ เพราะเล่มหนามาก เล่าถึงอนาคตของมนุษย์ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่เขาเขียนมาจากการค้นคว้า (คือไม่ได้นั่งเทียน) ต้องไปหามาว่า ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร
สิ่งที่เขาเล่าแล้วน่าตื่นเต้นก็คือ เขาอธิบายว่าทำไมมนุษย์เรา หรือ Homo sapiens จึงเป็นพันธุ์ที่ครองโลก ทั้งที่เรามาหลังสุด คือโลกมีมาตั้ง 4,500 ล้านปีแล้ว แต่มีสิ่งมีชีวิตที่จะเป็นคนต่อไปเมื่อ 1 ล้านปีมานี้เอง แล้วกลายเป็นคน ที่ยืนสองขา หน้าตาแบบเราๆ เมื่อประมาณ 200,000 ปีมานี้ ซึ่งเราก็เพิ่งมีบทบาทเมื่อ 70,000 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง ในประวัติศาสตร์โลก 4,500 ล้านปี
ทีนี้ก็มีตระกูลมนุษย์หลายพันธุ์ด้วยกัน อย่างเช่นนีแอนเดอร์ธัล โฮโมอิเร็กตัส ประมาณ 10-15 พันธุ์ แต่ Homo sapiens โดดเด่นมากเลย จนกระทั่งอยู่เหนือคนอื่นหมด พันธุ์สุดท้ายที่ใกล้เคียงกับเราคือนีแอนเดอร์ธัล สูญพันธุ์เมื่อ 20,000 กว่าปีมาแล้ว เขาก็ตั้งคำถามว่า ทำไม Homo sapiens ถึงผงาดขึ้นมาในโลกได้ เขาอธิบายว่า ก็เพราะเราเป็นสัตว์ประเภทเดียวที่มีจินตนาการ และใช้จินตนาการสร้างความเชื่อ แล้วเอาความเชื่อนี้ไปบีบบังคับให้คนทำตามจนกระทั่งอยู่เป็นหมู่เหล่าได้
ยกตัวอย่างเช่น มีจินตนาการในเรื่องผีป่า บอกว่าต้นไม้นี้มีผีอยู่ แล้วบนฟ้ามีพระเจ้า เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราไม่กลัวพระเจ้า เราต้องตายแน่นอน เมื่อกลัวพระเจ้าเราก็ต้องมาอยู่เป็นหมู่เป็นเหล่า แล้วก็มีความเชื่ออีกหลายๆ อย่าง ทำให้มนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ และอยู่กันอย่างเป็นระเบียบได้เพราะเอาความเชื่อเหล่านั้นมาเป็นกรอบกติกาที่ทำให้มนุษย์นั้น พูดง่ายๆ คือนั่งพับเพียบพนมมือตามได้ ทำให้เราอยู่กันมา 70,000 ปีแล้วยังเป็นหมู่เป็นเหล่าอยู่ได้ ทั้งยังใช้สติปัญญาที่มีอยู่แล้ว ต่อเติมจนกระทั่งเป็นพันธุ์ที่ครองโลกในปัจจุบัน
อีกตัวอย่างที่เขายกมาคือให้ลองเปรียบเทียบกับชิมแปนซีดู ชิมแปนซีเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของเรา แยกขาดจากเราเมื่อ 2 ล้านปีที่แล้ว มีดีเอ็นเอเหมือนมนุษย์ 99.5 เปอร์เซ็นต์ ใน 3,000 ล้านข้อมูล (ในยีนของเรา) จินตนาการว่าลองเอาชิมแปนซี 50,000 ตัวไปนั่งในสนามเวมบลีย์ แล้วพอฟุตบอลเลิก คุณสามารถควบคุมชิมแปนซีให้เดินกลับบ้านเรียบร้อยเหมือนมนุษย์ได้ไหม เขาบอกว่า คุณไม่มีวันทำได้ เพราะชิมแปนซีไม่มีความเชื่ออย่างเดียวกัน ไม่มีความตั้งใจที่จะร่วมมือกัน และไม่มีความกลัวอย่างเดียวกัน แต่มนุษย์มีกฎกติกาที่สืบทอดกันมาคือจินตนาการ แล้วเอาจินตนาการเหล่านั้นมาสร้างความเชื่อ เป็นปรัชญา เป็นศาสนาทั้งหลาย จนกระทั่งทุกคนสามารถเดินออกจากสนามฟุตบอลได้อย่างเรียบร้อยทั้ง 50,000 คนโดยไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน
ทุกวันนี้อาจารย์อ่านหนังสือทุกวันไหม
ก็อ่านทุกวัน ทุกคนก็อ่านทุกวันนี่ครับ แต่ถ้าพรุ่งนี้มีเดดไลน์ต้องส่งก็ต้องอ่านมากหน่อย คือมนุษย์เราถ้ามีอะไรบังคับ เราทำได้ แต่ถ้าไม่มีใครบังคับผม ยี่สิบปีที่ผ่านมาผมคงไม่ได้เขียนมากขนาดนี้หรอก
คืออย่างนี้ครับ ถ้าพูดตรงๆ เวลาเราได้พื้นที่ในหนังสือพิมพ์ มันจำเป็นที่เราต้องรักษาแชมป์ไว้นะ อย่างใน กรุงเทพธุรกิจ วันอังคาร ผมมีพื้นที่อยู่ เขาให้ผมมา ถ้าผมเขียนไม่เข้าท่า ไม่ช้าไม่นานต้องมีคนอื่นแย่งชิงไปแน่นอน เพราะคนเก่งๆ ในประเทศไทยมีเยอะแยะไปหมด ทำอย่างไรผมถึงจะรักษาพื้นที่นี้ไว้ได้ ผมต้องคิดหาเรื่องอะไรที่มันแปลก ตรงกับใจคน อย่างเช่นเรื่องจัดบ้านก่อนตาย ผมรู้ว่าคนชอบ ผมเห็นแชร์ไปแชร์มา กลับมาที่ผมก็มี ก็หาเรื่องประหลาดๆ แบบนี้มาเขียน
หรือ “10 เหตุผลที่ต้องลบบัญชีโซเชียลมีเดีย” บทความนี้คนอ่านเยอะมาก เพราะเขาแนะนำได้น่าสนใจว่า เหมือนเราเป็นสัตว์อยู่ในกรง จริงๆ แล้วเขาก็ทดลองกับเราตลอดเวลา แล้วก็หาประโยชน์จากเรา เวลาได้ชื่อเรามา ก็เอาไปขายต่อ พูดง่ายๆ คือเอาไว้ขายของให้เรา
ในประเทศอย่างเรายังไม่มากเท่าไร แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว มันจะมีโอกาสในทางทำมาหากินได้เยอะมาก อย่างเวลาเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า มันรู้หมดเลยว่าเราจะซื้ออะไร มันรู้ได้ยังไงว่าเราชอบอะไร ก็มันอ่านอีเมลของเราตลอด มันรู้หมดว่าพฤติกรรมของเราเป็นยังไง ภาพที่เราถ่าย ทุกอย่างก็เป็นลิขสิทธิ์ของเขา ไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างเป็นของเขาหมดเลย
มันมีโปรแกรมของอเมริกาที่ผมเคยเล่าไว้ ชื่อว่า Prism ใช้เครื่องจักรอ่านทุกเมลของคนในโลกนี้ อ่านเพื่อที่จะหาสองกลุ่ม คือ เรื่องยาเสพติดกับผู้ก่อการร้าย เขาจะมี keyword เกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายอยู่ แล้วเขาก็ให้เครื่องนี้อ่าน ถ้าเจอ keyword เหล่านี้บ่อยๆ ค่อยเข้าไปอ่านละเอียด คนนี้โยงถึงคนนี้ คนนี้โยงถึงคนนี้ ในคำพูดแบบนี้ คือเข้าไปดูละเอียดมากขึ้น นี่คือวิธีการติดตามผู้ก่อการร้าย อีกอย่างคือไปทางการค้า คือถ้ากลุ่มนี้พูดถึงการออกกำลังกาย วิตามิน น้ำผลไม้บ่อยๆ กลุ่มนี้เสร็จแน่นอน พอถึงเวลา บนเฟซบุ๊กก็จะมีแต่วิตามินหรือสิ่งที่เราพูดถึงบ่อยๆ
พูดถึงวิตามิน ทำให้นึกถึงเรื่องที่ นพ.ยศ (นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยอาวุโสโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ) เล่าว่า จากการที่เรามีบัตรทองที่ไม่ต้องจ่ายเงินเลย ทำให้คนไทยมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่พอป่วยมาก็หมดตัว คือคนไทยประหยัดเงินได้ในภาพรวม แต่จากการศึกษาพบว่า เงินที่ประหยัดได้ มันหมดไปกับการซื้อวิตามินกิน รวมทั้งยาและอาหารเสริมต่างๆ
ความจริงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยควรจะลดลง แต่กลายเป็นว่า ตัวเลขของประเทศไทย ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น แล้วส่วนที่เพิ่มขึ้นไปลงอยู่กับวิตามิน อาหารเสริม ซึ่งในทางแพทย์แล้วมองว่าไม่จำเป็น
ใช่ครับ ทางแพทย์บอกว่าไม่จำเป็น แต่กินเพื่อความสบายใจ ผมก็กิน ทุกคนก็กินทั้งนั้นนะครับ มันอาจจะมีประโยชน์หรือไม่ แต่มันทำให้สบายใจ
อีกเรื่องที่อาจารย์เคยพูดถึงในบทความ คืองานวิจัยที่ยาวนานที่สุดในโลก เป็นงานที่น่าสนใจมากๆ เขาทำวิจัยเกี่ยวกับอะไรจึงต้องใช้เวลายาวนานถึง 72 ปี
เป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดครับ ทำมา 3 ชั่วคน เขาอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้คนมีความสุข ก็ใช้อาสาสมัคร 200 คน ทั้งในมหาวิทยาลัยและคนข้างนอกที่ค่อนข้างหลากหลาย แล้วคอยติดตามเป็นระยะๆ ทั้งสัมภาษณ์ ตรวจโรคด้วย ข้ามระยะเวลา 72 ปี กระทั่งได้ผลสรุปมาเมื่อเร็วๆ นี้ที่มาแถลงใน TED Talk
เขาพบว่า สิ่งที่ทำให้คนมีความสุขไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ยศตำแหน่ง แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งคนในครอบครัว กับเพื่อน กับคนรอบตัว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง อันสุดท้ายผมแถมให้
นี่เป็นความจริงที่บางทีคนรุ่นใหม่อาจยังไม่เข้าใจ อายุยังไม่ถึง 25 ความเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ยังไม่มี ก็นึกว่าทำอะไรตามใจตัวเองก็โอเคแล้ว เพราะสิ่งสำคัญคือตัวเราเอง เรารู้สึกอย่างไรก็พูดไปตามนั้น แต่จริงๆ มันอาจไม่ใช่ก็ได้
อาจารย์มองว่า ถ้ามี AI แล้ว อีก 20-30 ปีข้างหน้า คนเราจะไปทำอะไร
ผมคิดว่าตอบยากเหมือนกัน ผมคิดว่า AI ในประเทศไทยคงยังไม่มาเร็วๆ นี้ หลายคนบอกว่าจะทำให้คนว่างงาน ผมก็เห็นด้วยว่าคงว่างงานบ้างใน 5-10 ปี แต่ยังไม่ใช่วันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นก็คงจะมีงานอีกประเภทหนึ่ง เช่น สร้าง AI หรือสร้างซอฟต์แวร์มาเพื่อทำให้ AI ทำงานได้ตรงกับความต้องการของคน หรือทักษะของคนก็เปลี่ยนไป ไม่ใช่เป็นทักษะอย่างเก่า
แต่ก็มีทักษะบางอย่างที่ต่อให้ AI เก่งยังไงก็แทนที่ไม่ได้ มันมีผลสำรวจใหม่ๆ ว่าทักษะอะไรที่จำเป็นสำหรับเด็กรุ่นใหม่ๆ ในโลกยุคใหม่ ซึ่งไม่ใช่ทักษะในการเรียนอย่างเดียว แต่เป็นทักษะการคิดแก้ปัญหาซับซ้อน ทักษะเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การทำงานเป็นทีม ความสามารถในการวิพากษ์ ต่างๆ พวกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่าการตั้งคำถามยังสำคัญอยู่ บางที ถ้าเจอตัวเลขเยอะๆ data เยอะๆ AI มันช่วยตอบคำถาม แต่ความสำคัญของเรื่องต่างๆ อยู่ที่คำถามตั้งต้นด้วยเหมือนกัน ซึ่งคนก็มีโอกาสที่จะตั้งคำถามดีๆ ให้เครื่องพวกนี้มาตอบ
ผมคิดว่า ต่อให้เครื่องจักรก้าวหน้าอย่างไร แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ลองดูเรื่องเล่าต่างๆ ไม่ว่าสมัยพุทธกาล อยู่ในพระไตรปิฎก ไม่ว่าเรื่องโรมิโอ จูเลียต ของเชกสเปียร์เมื่อ 450 ปีก่อน นิยายวันนี้ ละครโทรทัศน์ มันมีรักโลภโกรธหลงอยู่แค่นี้แหละครับ มนุษย์ก็วนเวียนอยู่แค่นี้ โลภะ โทสะ ราคะ โมหะ วนอยู่อย่างนี้ ชายหนึ่งหญิงสอง ชายสองหญิงหนึ่ง ชายสองหญิงสอง มันก็มีอยู่แค่นี้ ภรรยาผมดูละคร ผมก็บอกว่าไม่ต้องดูก็ได้ เพราะมันเดาได้ว่าเรื่องจะเป็นยังไง มันก็มีอยู่แค่นี้ เพียงแต่เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม แต่ความเป็นมนุษย์มันไม่เปลี่ยนแปลง มันยังอยู่เหมือนเดิม
ฉะนั้นผมเชื่อว่า ถึงจะมีเครื่องมือเครื่องจักรอย่างไรก็แล้วแต่ มนุษย์ก็ไม่แตกต่างจากเดิม เพียงแต่มันอาจทำให้ความแตกต่างระหว่างมนุษย์อาจจะมีมากขึ้นในการทำมาหากิน หรือโอกาสของคนมันจะไม่เท่ากันมากขึ้น เพราะคนบางคนมีทักษะบางอย่างที่หลายคนไม่มี ซึ่งตรงกับยุคสมัย
ผมว่าพยากรณ์ยากว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่งานต่างๆ อย่างไรบ้าง แต่บางอย่างมันพอเห็นแล้วอย่างทนายความ ที่มี AI ชื่อวัตสัน ที่รวบรวมเอาคดีทั้งหลายของอเมริกาที่ตัดสินกันมาหลายร้อยปีในหลายรัฐเข้ามาเป็นข้ออ้างอิง เวลาต่อสู้คดีก็พิมพ์ข้อมูลของตัวเองเข้าไป แล้วก็กดดูว่าคดีแบบเดียวกัน มีคำตัดสินแบบนี้มาก่อนหรือเปล่า อันนี้ก็ทำให้ทนายความแม่นยำมากขึ้น เพราะทนายความต้องรู้ทุกอย่าง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
หรือกระทั่งแพทย์ก็ตาม บริษัทนี้ก็ทำเหมือนกัน เป็น AI แพทย์ ปกติโรคที่เราเป็นมีอยู่ประมาณ 12,000 โรค เวลาใช้งานก็จะใส่ข้อมูลลงไปว่า มีอาการอย่างนี้ๆ รวมทั้งผลตรวจเลือด ผลเอกซเรย์ ฯลฯ เข้าไปด้วย แล้วก็ให้วินิจฉัยความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคอะไร แล้วก็บอกได้ว่า โรคแบบนี้ควรรักษาด้วยยาอะไร ยาใหม่สุดที่มีในโลก มีการรักษาหรือผลข้างเคียงอย่างไร แต่คนตัดสินใจก็ยังคงเป็นหมออยู่เหมือนเดิม ว่าจะเลือกวิธีแบบไหน เพราะจริงๆ หมอก็เป็นคอมพิวเตอร์นะครับ เพียงแต่เป็นคอมพิวเตอร์ที่ไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง เพราะตัวเองไม่รู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ ข้างนอก
หรือกระทั่งแพทย์ก็ตาม บริษัทนี้ก็ทำเหมือนกัน เป็น AI แพทย์ ปกติโรคที่เราเป็นมีอยู่ประมาณ 12,000 โรค เวลาใช้งานก็จะใส่ข้อมูลลงไปว่า มีอาการอย่างนี้ๆ รวมทั้งผลตรวจเลือด ผลเอกซเรย์ ฯลฯ เข้าไปด้วย แล้วก็ให้วินิจฉัยความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคอะไร แล้วก็บอกได้ว่า โรคแบบนี้ควรรักษาด้วยยาอะไร ยาใหม่สุดที่มีในโลก มีการรักษาหรือผลข้างเคียงอย่างไร แต่คนตัดสินใจก็ยังคงเป็นหมออยู่เหมือนเดิม ว่าจะเลือกวิธีแบบไหน เพราะจริงๆ หมอก็เป็นคอมพิวเตอร์นะครับ เพียงแต่เป็นคอมพิวเตอร์ที่ไม่สมบูรณ์เท่านั้นเอง เพราะตัวเองไม่รู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ ข้างนอก
ขออนุญาตเล่าอีกนิด เผื่อเป็นอุทาหรณ์ ภรรยาผม ตอนถึงวัยทองก็ไปหาหมอ หมอก็บอกว่าฮอร์โมนลดจึงให้กินฮอร์โมนเพื่อจะได้สดชื่นเหมือนเดิม ก็กินมาสองปี ผมก็ไปอ่านบทความในวารสารฉบับหนึ่งที่สวีเดน เขาทำการศึกษาในผู้หญิง 200,000 กว่าคน พบว่าผู้หญิงที่มีทางโน้มที่จะมีเนื้องอกที่ไม่เป็นพิษมาก่อน ถ้ากินยาฮอร์โมนต่อเนื่อง 5-6 ปี มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งในเต้านมสูงกว่าคนอื่นถึง 3-4 เท่า แล้วแฟนผมสมัยสาวๆ เคยมีเนื้องอกที่ไม่ได้เป็นพิษสองครั้งด้วยกัน ฉะนั้น ถ้ากินยาอย่างนี้ต่อไป จะมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งสูงมาก
ผมก็เอางานวิจัยนี้ฝากไปให้คุณหมอ คุณหมอของภรรยาผมก็เป็นคุณหมอผู้ใหญ่มากเลยของประเทศไทย ก็นับถือกัน ผมก็ฝากเอาไปให้คุณหมอ หมอบอกว่าคุณอย่าไปอ่านเลย ไม่จริงหรอก กินต่อไปไม่มีปัญหาอะไร คือท่านก็รักษาของท่านทุกวันๆ ไม่เคยมาอ่านบทความใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา
เพราะฉะนั้น คนก็ไม่ได้เป็นคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ ผมเลยบอกภรรยาว่า นี่เป็นปัญหาเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะเลย ต้องเลือกแล้วล่ะ ถ้ากินต่อไป โอกาสที่จะเป็นมะเร็งมีสูง แต่ถ้าไม่กิน ผลเสียก็คือจะเกิดกระดูกพรุน เธอต้องเลือกเอาว่าจะกินฮอร์โมนต่อไป แล้วร่างกายสดชื่น กับร่างกายเหี่ยวลง แต่มีโอกาสจะไม่เป็นมะเร็ง จะเลือกแบบไหน ภรรยาผมก็เลือกเอาไม่กิน
แต่พอไม่กิน ปีกว่าก็ได้เรื่องครับ เจ็บขา เดินไม่ได้ สุดท้ายต้องไปผ่ากระดูกสันหลัง พอไม่มีฮอร์โมน กระดูกก็เสื่อม ก็ต้องเสี่ยงเอาอีก ต้องตัดสินใจทั้งนั้นแหละว่าจะผ่าหรือไม่ผ่า หมอก็บอกว่า ผ่ากระดูกสันหลังสมัยนี้ไม่ต้องห่วงหรอก คุณหมอท่านนี้ คืนหนึ่งมีคิวผ่าถึงเจ็ดคน ท่านเริ่มผ่าตั้งแต่ทุ่มหนึ่งถึงตีสาม แล้วก็ผ่านไปได้ด้วยดี นี่ก็คือวิกฤตอย่างหนึ่งของชีวิตที่คิดว่าตัดสินใจถูก
คือหมอทุกคนเก่งอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ก็ไม่ใช่คนที่จะมีข้อมูลทางคอมพิวเตอร์สมบูรณ์ที่สุด ถึงมีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ การรักษาต้องสงสัย ถ้ามีโอกาสลองหาอ่านนะครับ เพิ่งออกมาใหม่ เป็นหนังสือที่แปลแล้ว 80 ภาษาทั่วโลก อธิบายว่าหมอไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป ให้สงสัยหมอไว้ก่อน อย่าเชื่อหมอทั้งหมด เพราะจะต้องมีความเห็นหลายความเห็นด้วยกัน เพราะหมอแต่ละคนก็ถนัดกันคนละอย่าง หมอผ่าตัดก็จะผ่าตัดอย่างเดียว หมอยาก็จะกินยาอย่างเดียว
เราคุยกับหมอที่มีความรู้สมัยใหม่ มีความเชื่อเดิมๆ ที่ผิดๆ เยอะครับ อย่างยาลดความดัน จริงๆ เรื่องความดันอาจจะไม่ต้องกินยามากมาย แต่ว่ามันมีเปอร์เซ็นต์ที่มีโอกาสจะเป็นปัญหาได้ตามอายุ เช่น อายุ 60 ขึ้นไป ความดัน 130 กว่าๆ มีความเป็นไปได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ที่จะทำให้เกิด stroke ขึ้นมา แต่หมอต้องกันเหนียวครับ เพราะฉะนั้น ถ้าใครอายุเกิน 60 ขึ้นไป ถ้าความดัน 130 หมอจะให้กินยาหมดเลย ทั้งที่จริงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกินเลย
หรือเรื่องใกล้ตัวอีกเรื่อง เมื่อก่อนจะมีความเชื่อว่าให้ลูกนอนคว่ำ กลายเป็นว่าตอนหลังงานวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่า การให้เด็กทารกนอนคว่ำ ทำให้เด็กทารกตายเป็นหมื่นคนในช่วงที่ความเชื่อนี้แพร่กระจาย เหล่านี้จะอยู่ในหนังสือ การรักษาต้องสงสัย ถ้าใครสนใจ ยังมีความเชื่ออีกหลายๆ อย่างที่เรามักจะเข้าใจผิดโดยที่เราไม่รู้ แล้วไม่ใช่แค่เรานะครับ หมอก็ไม่รู้ เพราะฟังต่อกันมา ไม่ได้ตามถึงโจทย์ใหม่ๆ ที่มันก้าวหน้าไปในวงการแพทย์ ก็เป็นหนังสือที่น่าสนใจ
อีกเรื่องหนึ่งคือควรระวังแป้งกระป๋องครับ มีคดีฟ้องร้องกันเมื่อไม่นานนี้ที่อเมริกา ผู้ฟ้องชนะคดีจอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้เงินไปหลายพันล้าน อ้างว่าที่ตัวเองเป็นมะเร็งที่มดลูก เป็นเพราะว่าใช้แป้งจอห์นสัน เพราะว่าแป้งคือทัลคัม มาจากสารธรรมชาติซึ่งจะมีใยหินผสมอยู่ และใยหินพิสูจน์แล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogenic) ผู้หญิงคนนี้ก็อ้างว่า เธอใช้แป้งมา 40-50 ปี มันเข้าไปในอวัยวะเพศ ทำให้กลายเป็นมะเร็ง ในศาลชั้นต้นพิพากษาให้เธอได้รับเงินชดเชย 2,000 ล้านดอลลาร์
ตอนนี้ก็ปรากฏว่าห้ามใช้ในเด็ก ถ้าสังเกตดู เด็กเกิดใหม่จะไม่มีการใช้แป้งกระป๋อง ตอนนี้บริษัทแป้งกระป๋องเลิกผลิตแป้งกระป๋องไปแล้ว เพราะกลัวถูกฟ้องร้อง ผมเองก็เลิกใช้ไปแล้ว เพราะมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า ทัลคัมที่มาจากสารธรรมชาติ ถ้าคุณภาพไม่ดีจะมีใยหินปนอยู่ด้วย แต่ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเขาโฆษณาว่า ได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วว่าไม่มีใยหินปน แต่ผู้หญิงคนนี้ก็ฟ้องแล้วชนะ
เรื่องรถยนต์ไฟฟ้าอาจารย์มองว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร
ตัวเลขของ The Economist บอกว่า ใน 20 ปีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนอย่างเดียวจะสูญหายไปแล้ว เพราะต่อไปจะมีรถแค่สองอย่างคือ plug-in คือตอนกลางคืนก็เสียบชาร์จไว้ แล้วแบตเตอรี่มันดียิ่งขึ้น แบบเทสลา สามารถวิ่งได้ 400 กิโลเมตร หรือไม่ก็เป็นแบบไฮบริด ที่ล้อหมุนแล้วสะสมไฟฟ้าเป็นพลังงาน
ที่น่าสนใจคือญี่ปุ่น ในปี 2020 ที่มีโอลิมปิก ญี่ปุ่นจะผลิตรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนขับเคลื่อน ญี่ปุ่นพยายามสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ไฮโดรเจนเป็นตัวนำ ซึ่งไฮโดรเจนมาจากน้ำ แล้วเอามาแยกไฮโดรเจนกับออกซิเจนออกจากกัน การทำงานของเครื่องคือ แยกแล้วให้ทั้งสองมาพบกัน แต่ไม่พบกันจริงๆ ด้วยการเอาแผ่นอะไรบางๆ มากั้นก็จะเกิดความร้อนแล้วเปลี่ยนความร้อนให้เป็นพลังงานมาขับเคลื่อนรถยนต์
หลายคนบอกว่าไม่เข้าท่า แต่โอลิมปิกครั้งนี้จะเป็นการเปิดตัว hydrogen society ของเขา ผมเชื่อว่า ถ้าใครจะซื้อรถตอนนี้แล้วใช้น้ำมันล้วนๆ ต้องคิดหน่อยแล้ว เพราะอีกไม่กี่ปีน่าจะมีรถยนต์ไฮบริดออกมาแข่งขันกันเยอะมาก แล้วก็จะมี plug-in ออกมา เทสลาถ้าทำได้ราคาถูกก็จะออกมาเยอะมาก
อนาคตของสิ่งแวดล้อมโลก คิดว่าเรายังมีหวังอยู่ไหม
ผมว่าเรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะตอนแรกมีความหวังเพราะการตกลง COP21 ที่ปารีส ที่ทุกคนในโลกร่วมมือกันครั้งแรก มีประเทศสำคัญคือจีนและอเมริกามาร่วม ก็เป็นความหวัง แต่ปรากฏว่า พอทรัมป์ขึ้นมา สหรัฐฯ ก็ถอนตัวออก ฉะนั้น ข้อมติว่าภายในกทศวรรษนี้จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 2 องศาจากเมื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 250 ปีที่แล้วก็อาจจะเป็นหมันไป ซึ่งตอนนี้ใช้ความสมัครใจของแต่ละประเทศเข้าไป ผมเชื่อว่ามันไม่ได้ผลหรอกครับ เพราะประเทศใหญ่ๆ ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดคืออเมริกา จีนกับอเมริกาสองประเทศรวมกันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก จีนเป็นสมาชิกแล้ว แต่อเมริกาไม่เป็น
ผมอ่านเจอใน Wall Street Journal บอกว่า ตอนนี้ราคาบ้านที่อยู่ใกล้ทะเลราคาตก เพราะกลัวว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น แล้วที่เห็นตอนนี้พายุเข้ามาเต็มไปหมดเลย ผมก็คิดถึงเมืองไทย ภูเก็ต คนภูเก็ตเล่าว่าก่อนนี้ พ่อแม่ถ้าลูกรักคนไหนจะให้บ่อลูกรังข้างในแผ่นดิน ลูกคนไหนที่ไม่รักจะให้ที่ชายทะเล เพราะฉะนั้น ลูกไม่รักทั้งหลายก็เลยรวยไปตามๆ กัน แต่ตอนนี้ลูกไม่รักทั้งหลายอาจจะโชคร้ายแล้วเพราะว่าน้ำท่วม อาจจะทำให้บ้านที่อยู่ชายฝั่งทะเลหรือริมน้ำราคาตก
ตอนนี้ปรากฏการณ์ระดับน้ำสูงขึ้นนั้นเกิดขึ้นไปทั่วโลก ผมเห็นแผนที่อันหนึ่งที่ว่า ใน 50 ปีข้างหน้า เมืองที่จะจมคือเมืองไหนบ้าง ของเราก็จมด้วยนะ เหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่อยู่เหนือน้ำ ก็คิดว่าน่าเป็นห่วงครับ และ climate change เป็นเรื่องจริง
แต่ผมดีใจอย่างหนึ่งคือเรื่องพลาสติก ภายในไม่กี่เดือนมานี้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมากเลย คือซื้อของแล้วไม่ให้ถุงพลาสติก เพราะตอนนี้คนไทยใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย 8 ถุงต่อวันต่อคน ฉะนั้นกรุงเทพฯ อย่างเดียว 10 ล้านคน วันละ 80 ล้านถุง แล้วตอนนี้พิสูจน์ว่าพลาสติกที่ใช้มันแตกเป็นผง เป็นนาโนพลาสติกที่มองไม่เห็น มีงานวิจัยที่พบว่ามันไปปนอยู่ในสัตว์ทะเลต่างๆ ซึ่งไม่รู้ว่ากินเข้าไปมากๆ จะเป็นผลเสียต่อร่างกายหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ประเทศเราเลิกใช้ถุงกันถือเป็นของดีมากเลย ผมเองก็ยินดีนะ เดี๋ยวนี้ไปไหนก็จะพกถุงผ้าไปด้วย
แล้วผมเชื่อว่า ประเทศไทยทำได้ดี เพราะดูจะให้ความร่วมมือกันค่อนข้างมาก เพียงแต่ร้านค้าบางแห่งก็ยังให้ถุงเยอะอยู่ครับ
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติของโลก เป็นสัจธรรม และในธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซึ่งบางครั้งความไม่แน่นอนก็ทำให้เรากลัว ในด้านหนึ่งก็ไม่รู้ว่าจะไปจบที่ไหน แต่อีกด้านก็เป็นด้านสว่าง ที่ทำให้เรามีความหวังไปพร้อมกัน
นอกจากนั้น ยังช่วยเปิดพื้นที่และมุมมองใหม่ๆ และทำให้เราพัฒนาขึ้น เพราะเราต้องสู้ ต้องโต้คลื่นลมของการเปลี่ยนแปลง และต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
บทเรียนที่เราน่าจะได้รับจากอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศก็คือ เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง สนุกกับมัน แล้วปรับตัวตลอดเวลา แล้ววิธีที่ถูกที่สุดในการรับมือความเปลี่ยนแปลงคือการอ่านและเขียน นี่เป็นสิ่งที่อาจารย์สอนให้ดูด้วยการกระทำตลอดมา
หนังสือหนึ่งเล่มถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับภูมิปัญญาของคนที่สะสมมา จากต้นทางที่อ่านมาไม่รู้กี่เล่ม แล้วเอามาสกัด เรียกว่าคนอ่านได้ทางลัด ดังนั้น หนังสือจึงเป็นวิธีหรือทางลัดที่ดีที่สุด เพื่อให้เราพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีสติและรู้เท่าทัน
รับชมคลิปเสวนา “Global Change: โลกเปลี่ยน – เปลี่ยนทันโลก” ย้อนหลังได้ที่นี่