เรียนรู้ด้วยภาพ: 1. ชุดความคิดสานสัมพันธ์

ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน

 

เข้าใจแนวคิดและเรียนรู้เคล็ดลับสานสัมพันธ์กับนักเรียน เพราะนี่คือรากฐานความสำเร็จที่ทำได้เลยตั้งแต่เปิดเทอมวันแรก สำหรับผู้ปกครอง เราช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ได้ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน

ชุดความคิดสานสัมพันธ์นี้มุ่งเน้นการพัฒนาสายสัมพันธ์และความเอาใจใส่ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นรายคน ตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมเริ่มทำความรู้จักกัน ช่วงท้ายคาบเรียน ไปจนถึงชีวิตที่บ้านหรือชุมชนของนักเรียน ซึ่งจะพัฒนาและต่อยอดไปสู่ชุดความคิดอื่นๆ ต่อไป

 

ทุกสิ่งที่คุณจะทำล้วนต้องเริ่มด้วยการสานสัมพันธ์กับนักเรียนทั้งสิ้น! มีผลการศึกษาระบุว่าความสัมพันธ์สำคัญต่อนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหาครอบครัวมากกว่าต่อนักเรียนที่มีครอบครัวอบอุ่น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนมัธยมต้น เมื่อนักเรียนไม่เครียดหรือวิตกกังวล ก็ย่อมแสดงพฤติกรรมทางบวก เรียนรู้ได้ดีขึ้น และมีสภาวะอารมณ์ที่ผ่อนคลายยิ่งขึ้น

มายาคติ
“โรงเรียนจ้างครูมาสอนเนื้อหาเป็นหลัก ครูไม่มีเวลามากพอจะมาสอนทักษะการใช้ชีวิตในสังคมนะ เขาไม่ได้จ้างครูมาเป็นพ่อแม่เด็กสักหน่อย!”

แนวคิดหลักของชุดความคิดสานสัมพันธ์
“ชีวิตเราทุกคนล้วนสัมพันธ์กัน ครูควรเริ่มสานสัมพันธ์ในฐานะบุคคล (และเพื่อน) ก่อน แล้วจึงค่อยทำในฐานะครู”

ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อการสานสัมพันธ์อันดี

  • เรียนรู้ตามศักยภาพเฉพาะบุคคล

    >> จำชื่อนักเรียนให้ขึ้นใจ เมื่อขานชื่อ ให้ยิ้มและสบตาด้วยเสมอ วิธีช่วยจำคือช่วงเปิดเทอม ให้นักเรียนเอ่ยชื่อตัวเองก่อนพูดหรือตอบคำถามเสมอ

    >> กิจกรรม “กระเป๋าของฉัน” กิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนเห็นว่าคนอื่นๆ ก็มีชีวิตที่ยากลำบาก โดยเฉพาะคนที่คิดว่า “ไม่มีใครเข้าใจฉันหรอก นอกจากเพื่อนๆ” และอาจลดกำแพงในใจลง

  • เครือข่ายสู่ความสำเร็จ

    ครูผู้สอนควรแบ่งเวลาในชั้นเรียนออกเป็นเวลาเข้าสังคมและเวลาเรียนส่วนตัว เพื่อให้เกิดผลสำเร็จทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกง่ายๆ ว่ากฎ 50-50

    >> กฎ 50-50 ช่วยนักเรียนแบ่งเวลา + เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน

  • แสดงออกอย่างเข้าใจ

    ความเข้าอกเข้าใจ (empathy) = เข้าใจและแบ่งปันความรู้สึกที่มีร่วมกัน

    >> 5 คำพูดสื่อสารถึงความเข้าอกเข้าใจนักเรียน + อย่าด่วนตัดสินปัญหาของนักเรียน!
    “ครูเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นนะ”
    “เรื่องนี้ทำให้ครูรู้สึกแย่ไปด้วย”
    “พวกเราเป็นห่วงเธอนะ”
    “สบายดีหรือเปล่า”
    “แย่เลยนะ ครูนึกไม่ออกเลยว่าถ้าเป็นตัวเองจะจัดการเรื่องนี้ได้ดีเท่าเธอไหม”


ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครู-นักเรียนกระตุ้นความใส่ใจและการมีส่วนร่วมหลายด้าน อาทิ

1. นำไปสู่การสั่งสอนแนะนำ แก้ไข เป็นตัวอย่าง และสนับสนุนผู้เรียน เกิดรากฐานความสัมพันธ์ครู-นักเรียน
2. สร้างความไว้ใจ และกระตุ้นความอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียน
3. ความสัมพันธ์อันดีส่งเสริมความสำเร็จของนักเรียนได้ดีกว่าการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น มีงานวิจัยระบุว่าความสัมพันธ์เชิงบวกหรือลบของนักเรียนเทียบได้กับระดับไอคิว หรือคะแนนทดสอบของโรงเรียน เมื่อนำไปใช้ประเมินแนวโน้มการลาออกของนักเรียนคนนั้นๆ

ความสัมพันธ์อันดีช่วยลดอัตรานักเรียนลาออกกลางคันได้! สำหรับเด็กยากจน ความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียนเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่จูงใจให้พวกเขามาโรงเรียน และนี่คือรากฐานสู่ความสำเร็จของเด็กทุกคน

 

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่