7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน : 1. ชุดความคิดสานสัมพันธ์

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

ภาพ: เพชรลัดดา แก้วจีน

 

หากคุณไม่อยากให้นักเรียนลาออกกลางคัน จงสานสัมพันธ์อันดีไว้!

ในแต่ละวัน ลองถามตัวเองด้วยคำถามสำคัญว่า ครูที่สานความสัมพันธ์อันดีกับนักเรียนได้ เขาทำอย่างไรกัน? เราจะเชื่อมความสัมพันธ์กับนักเรียนอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เด็กๆ มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง? และเราจะทำให้นักเรียนไว้วางใจ รู้สึกได้รับความเคารพ และเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างไร?

ทุกสิ่งที่คุณจะทำล้วนต้องเริ่มด้วยการสานสัมพันธ์กับนักเรียนทั้งสิ้น! ก่อนจะพลิกชีวิตใครสักคน หรือมุ่งสู่ความสำเร็จไปพร้อมๆ กับเด็กทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักชุดความคิดสานสัมพันธ์ (relational mindset) และความสำคัญของชุดความคิดนี้กันก่อน

กล่าวสั้นๆ ชุดความคิดสานสัมพันธ์นี้มุ่งเน้นการพัฒนาสายสัมพันธ์และความเอาใจใส่ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นรายคน ตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมเริ่มทำความรู้จักกัน ช่วงท้ายคาบเรียน ไปจนถึงชีวิตที่บ้านหรือชุมชนของนักเรียน ซึ่งความสัมพันธ์อันดีถือเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จที่จะพัฒนาและต่อยอดไปสู่ชุดความคิดอื่นๆ ต่อไป

หมายเหตุ: สรุปความจากหนังสือ สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน 

 

สานสัมพันธ์เพื่อความสำเร็จ: พิจารณาผลวิจัยโดยสังเขป

ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและนักเรียนส่งผลต่อการสำเร็จการศึกษาของนักเรียน โดยส่งผลแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนระดับการศึกษาของนักเรียนคนนั้นๆ มีผลการศึกษาวิจัยระบุว่าความสัมพันธ์สำคัญต่อนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหาครอบครัวมากกว่าต่อนักเรียนที่มีครอบครัวอบอุ่น หรือพร้อมหน้าทั้งพ่อและแม่ ความสัมพันธ์จึงถือเป็นปัจจัยกระตุ้นขนาดผลกระทบที่สำคัญและมีน้ำหนักอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมต้น

ส่วนกลุ่มเด็กนักเรียนประถม ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูตั้งแต่ชั้นอนุบาลส่งผลสืบเนื่องโดยตรงต่อผลการเรียน และส่งผลเรื่อยมาจนถึงระดับมัธยมต้น ซึ่งจะเห็นขนาดผลกระทบได้ชัดเจนกว่าในกลุ่มเด็กผู้ชาย ข้อเท็จจริงคือ ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนนั้นเป็นปัจจัยคาดคะเนสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียน

ในประเด็นความสัมพันธ์กับกลุ่มนักเรียนด้อยโอกาส มีงานวิจัยระบุว่าความสัมพันธ์อันดีของผู้ใหญ่ช่วยบรรเทาความตึงเครียดของเด็กได้เป็นอย่างดี เมื่อนักเรียนไม่เครียดหรือวิตกกังวล ก็ย่อมแสดงพฤติกรรมในทางบวก เรียนรู้ได้ดีขึ้น และมีสภาวะทางอารมณ์ที่ผ่อนคลายยิ่งขึ้น

เมื่อครูผู้สอนเอาใจใส่ทั้งด้านการสอนและอารมณ์ความรู้สึก นักเรียนจากครอบครัวฐานะยากจนจะมีทักษะและผลการเรียน ในระดับเดียวกับ เพื่อนนักเรียนจากครอบครัวฐานะดี ฉะนั้น ความทุ่มเทของคุณจะช่วยยกระดับผลการเรียนของนักเรียนทุกคนให้เทียบเท่ากับเพื่อนร่วมชั้นจากครอบครัวฐานะปานกลางและร่ำรวยได้

ความจริงแล้ว นักเรียนทุกระดับชั้นที่มีความสัมพันธ์อันดีกับครูผู้สอนมีแนวโน้มจะใส่ใจการเรียนมากกว่า ผลศึกษาข้อนี้สะท้อนข้อเท็จจริงของนักเรียนระดับมัธยมต้นเป็นพิเศษ เพราะนักเรียนช่วงอายุนี้มักรู้สึกโดดเดี่ยว และเมื่อนักวิจัยศึกษาข้อมูลในช่วงระยะเวลาหลายปี พบว่านักเรียนที่ได้เรียนกับครูผู้สนับสนุนและทุ่มเทอย่างเต็มที่ และไม่มีปัญหาขัดแย้งกัน จะมีระดับผลคะแนนตามเกณฑ์ประเมินด้านวิชาการและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สูงกว่า นักเรียนอีกกลุ่มที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับครูผู้สอน

ในชั้นเรียน ความสัมพันธ์กระตุ้นความใส่ใจและการมีส่วนร่วมหลากหลายด้านด้วยกัน

  1. ปฏิสัมพันธ์ที่ดีอันสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์นำไปสู่การสั่งสอนแนะนำ การแก้ไข การเป็นตัวอย่าง และการสนับสนุนผู้เรียน เกิดเป็นรากฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและนักเรียน
  2. ความสัมพันธ์ครู-นักเรียนเชิงบวกสร้างความรู้สึกไว้วางใจ และกระตุ้นความอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียน
  3. ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์อันดีส่งเสริมความสำเร็จของนักเรียนได้ดีกว่าการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น

งานวิจัยอีกชิ้นระบุว่าความสัมพันธ์เชิงบวกหรือลบของนักเรียน เทียบได้กับ ระดับไอคิว หรือคะแนนทดสอบของโรงเรียน เมื่อนำไปใช้ประเมินแนวโน้มการลาออกของนักเรียนคนนั้นๆ

 

3 กลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์อันดี

เพื่อให้เด็กๆ ในชั้นร่วมเดินทางไปกับคุณอย่างเต็มใจ ทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึกและด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม นี่คือ 3 กลยุทธ์ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครู-นักเรียนที่เปี่ยมประสิทธิภาพและประยุกต์ใช้ได้จริงในห้องเรียน

 

 

-1-

เรียนรู้ตามศักยภาพเฉพาะบุคคล

 

คำว่า “เฉพาะบุคคล” ในที่นี้หมายถึงเชื่อมโยงการสอนให้สอดคล้องกับบุคลิกของนักเรียนแต่ละคน เพื่อดึงความสนใจและให้นักเรียนตั้งใจเรียนรู้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวพวกเขาเอง มีตัวอย่างกิจกรรมหรือกลยุทธ์ 4 หัวข้อที่ปรับใช้ได้ดังนี้

 

จำชื่อนักเรียนให้ขึ้นใจ

 

การเรียกชื่อเด็กนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการสร้างความสัมพันธ์ในชั้นเรียน แต่ครูหลายคนกลับมองข้ามไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตามศักยภาพเฉพาะบุคคลตั้งแต่เปิดเทอมวันแรก พยายามจำชื่อนักเรียนทุกคนในชั้นให้ได้ ลองคิดหาวิธีจำชื่อนักเรียน จากนั้นก็ฝึกฝนและทบทวน เหมือนที่เด็กๆ ทบทวนบทเรียน เมื่อขานชื่อนักเรียน ควรยิ้มและสบตาด้วยเสมอ

การให้นักเรียนรู้จักชื่อเพื่อนร่วมชั้นเรียนช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เพราะความเหนียวแน่นทางสังคมจะช่วยส่งเสริมการเคารพสิทธิ เสริมสร้างความคุ้นเคย และปลูกฝังความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นี่เองจะช่วยทลายกำแพงและลดการแบ่งแยกในชั้นเรียน

นอกจากนี้ ในกิจกรรมกลุ่ม ลองให้นักเรียนเรียกชื่อเพื่อนร่วมชั้นเสมอ และเมื่อต้องสลับคู่กัน ก็ให้เด็กๆ แนะนำตัวเอง พร้อมสบตา กล่าวสวัสดี และทักทายกันทุกครั้ง

 

ลองใช้ “กระเป๋าของฉัน”

 

นี่เป็นกิจกรรมที่ได้ผลดีทั้งกับเด็กประถมและมัธยม เพราะเด็กๆ มักสนใจใคร่รู้เรื่องส่วนตัวบางมุมของครู เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยถุงกระดาษที่ใส่ของจุกจิกของคุณไว้ จะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่ารูปถ่าย ใบเสร็จ ตั๋ว ขนมยี่ห้อโปรด กุญแจ หรือของที่ระลึกที่หยิบขึ้นมาประกอบเรื่องเล่าของคุณได้ ใช้เวลาสัก 7-10 นาที แบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวจากข้าวของเหล่านั้น

กิจกรรมนี้ช่วยทลายกำแพงที่นักเรียนสร้างขึ้น โดยเฉพาะคนที่คิดว่า “ไม่มีใครเข้าใจฉันหรอก นอกจากเพื่อนๆ” เมื่อนักเรียนเห็นว่าคนอื่นๆ ก็มีชีวิตที่ยากลำบาก หรืออย่างน้อยก็ล้วนมีอุปสรรคที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ เด็กๆ จะลดระดับกำแพงในใจตนเองลง ดังนั้น ลองแบ่งปันเรื่องดี เรื่องร้าย เรื่องน่าขำ (แม้แต่เรื่องขายหน้า) ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในชั้น

 

บอกเล่าปัญหา

 

ไม่ว่าคุณจะอยากเป็นต้นแบบให้กับคนอื่นหรือไม่ อย่างไรคุณก็ คือ ต้นแบบสำหรับนักเรียนทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น จงมอบสิ่งที่เด็กทุกคนต้องการให้กับพวกเขา เด็กๆ จะได้รับรู้ว่าต้นแบบการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นเช่นไร หากจะมองว่านี่คือกิจกรรมต่อเนื่องหรือภาคต่อจากกิจกรรมกระเป๋าของฉันก็คงไม่ผิดนัก

ลองแบ่งปันประสบการณ์ในโลกของคุณกับเด็กนักเรียนสัปดาห์ละครั้ง ไม่ว่าประสบการณ์ที่ท้าทายหรือปัญหาที่คุณต้องเผชิญ อาจเป็นเรื่องที่เพิ่งเจอมาช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ได้ เรื่องเล่าเสี้ยวหนึ่งในชีวิตครูเพียงสามนาทีสามารถสร้างผลลัพธ์สุดอัศจรรย์ต่อการปลูกฝังชุดความคิดสานสัมพันธ์ได้เลย

ประสบการณ์ของคุณช่วยแง้มหน้าต่างบานเล็กสู่โลกของผู้ใหญ่ให้กับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณทำให้ประสบการณ์นั้นๆ กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาชีวิตในโลกความเป็นจริง โดยเชื่อมโยงเข้ากับบทเรียนที่คุณตั้งใจจะสอนในคาบเรียนอย่างลงตัว

หลังจากเล่าปัญหาจบ ให้นักเรียนจับกลุ่มระดมความคิดว่าหากเกิดสถานการณ์เดียวกันนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร จากนั้นให้นักเรียนนำเสนอแนวคิดของตน ไม่ควรด่วนตัดสินวิธีการของเด็กๆ ว่าผิดหรือถูก เพียงคอยกระตุ้นในเชิงบวก เช่น “ครูลืมนึกไปเลยว่ามีวิธีการนี้ด้วย ขอบใจมากนะ” หรือ “ขอบคุณทุกคนมากที่ช่วยครูคิดไอเดียดีๆ” หลังจากที่นักเรียนแสดงความคิดเห็นไปพอสมควร ให้เล่าเรื่องราวที่เหลือจนจบว่าสุดท้ายแล้ว คุณแก้ปัญหานั้นๆ อย่างไร และได้รับบทเรียนอะไรบ้าง

กิจกรรมนี้คุณได้เป็นต้นแบบให้เด็กๆ ในชั้นเรียนถึง 3 ประเด็น

  1. คุณบอกกับเด็กๆ ว่า “ผู้ใหญ่ ก็มี ปัญหาเหมือนกัน” และตัวอย่าง วิธีการ ที่ผู้ใหญ่ใช้แก้ปัญหาย่อมเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ
  2. ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่ แก้ไขได้ยาก หรือน่าวิตกกังวลมากเพียงใด ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหานั้นจะไม่มีทางออก
  3. นี่คือโอกาสสำคัญในการสาธิตกระบวนการแก้ไขปัญหา ทั้งคุณยังได้แบ่งปันสิ่งที่คุณยึดมั่น ชุดความคิด และขั้นตอนสู่ความสำเร็จให้กับเด็กๆ อีกด้วย

 

แบ่งปันความก้าวหน้าสู่เป้าหมาย

 

การตั้งเป้าหมายและแบ่งปันเป้าหมายกับนักเรียนในชั้นเป็นวิธีการที่ได้ผลดีเยี่ยมต่อการสร้างชุดความคิดสานสัมพันธ์ ลองเขียนและแปะเป้าหมายของคุณไว้ในชั้นเรียน (และให้นักเรียนทุกคนทำเช่นเดียวกัน) จากนั้น แบ่งปันความก้าวหน้าเป็นระยะๆ ตลอดทั้งปีหรือตลอดเทอม นอกจากนี้ ควรแปะเป้าหมายร่วมของทุกคนในชั้นไว้ด้วย

ตัวอย่างเป้าหมาย

  • เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของชุมชน
  • ปรับนิสัยการกินและออกกำลังให้ดีขึ้น
  • ทำตามเป้าหมายในการพัฒนาการสอนให้สำเร็จ
  • ลงสมัครวิ่งระยะ 5 กิโลเมตร
  • สนับสนุนวัฒนธรรมดีๆ ในโรงเรียน

ระหว่างทำตามเป้าหมาย ให้บอกเล่าหมุดหมายแห่งความสำเร็จ และฉลองความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นเสมอๆ การบอกเล่าแต่ละก้าวที่ผ่านมา ตลอดจนอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นให้นักเรียนฟัง พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องปกติ และหาทางพัฒนาตนเอง

 

-2-

เครือข่ายสู่ความสำเร็จ

 

ปัจจัยสำคัญทางสังคมที่ส่งผลมหาศาลต่อความสำเร็จทางวิชาการประกอบด้วย (1) การเป็นที่ยอมรับ และ (2) การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม นักเรียนตั้งแต่ระดับ ป.2 ขึ้นไปจะมีพัฒนาการทางพันธุกรรมที่กระตุ้นให้สร้างความสัมพันธ์ เด็กๆ จะเริ่มรวมกลุ่มกับเพื่อนที่มีนิสัยใจคอคล้ายคลึงกัน

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงสำคัญเชิงบวกระหว่างความสำเร็จทางวิชาการและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน โดยมีนักเรียนกลุ่มเล็กๆ ที่นักวิจัยพบความเชื่อมโยงกับการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ การได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียนหรือโรงเรียนยังช่วยป้องกันเด็กกลุ่มดังกล่าวไม่ให้ทำลายบรรยากาศการเรียนรู้ และปกป้องพวกเขาจากปัญหาสังคมได้อีกด้วย ดังนั้น ครูผู้สอนจึงควรแบ่งเวลาในชั้นเรียนออกเป็นเวลาเข้าสังคมและเวลาเรียนส่วนตัว เพื่อให้เกิดผลสำเร็จทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกง่ายๆ ว่ากฎ 50-50 บางวัน คุณอาจแบ่งเวลาเข้าสังคมและเวลาส่วนตัวเป็น 70-30 หรือ 10-90 ก็ได้ แต่ในภาพรวมทั้งสัปดาห์เวลาดังกล่าวควรแบ่งให้เท่าๆ กัน

 

กฎ 50-50

 

รูปแบบกลุ่มและทีมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

กลุ่มการเรียนรู้ร่วมกัน

ครูหลายคนเชื่อว่าการเรียนเป็นกลุ่มหรือทำงานเป็นทีมนั้นเป็นกิจกรรมที่เสียเวลา จริงๆ แล้วกลุ่มหรือทีมเป็นเพียงโครงสร้างเท่านั้น นักเรียนในชั้นจำเป็นต้องมีทักษะ ความพร้อม และความเข้าใจระบบทางสังคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมตามมา

ผู้เขียนแลกเปลี่ยนว่า ในระดับมัธยม เด็ก 5 คนต่อกลุ่มจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนระดับประถม กลุ่มการเรียนรู้หรือทีมรายกิจกรรมที่ประกอบด้วยเด็ก 4 คนจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปได้ดี

 

บัดดี้เพื่อนเรียน

ในช่วงเปิดเทอมหรือเริ่มต้นปีการศึกษา ครูหลายคนมักจะจับคู่นักเรียนกับบัดดี้เพื่อนเรียนตลอดเทอม โดยมีหน้าที่รับผิดชอบให้คู่บัดดี้ของตัวเองมีผลการเรียนที่ดี นักเรียนแต่ละคู่จะแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์และอีเมลไว้พูดคุย ส่งข้อความถึงกัน เมื่อเกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ คู่บัดดี้มักจะสร้างความสัมพันธ์แบบพี่น้อง ขณะที่ครูกำหนดเงื่อนไขขึ้นในความสัมพันธ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น “หากอยากได้เกรด A หรือ B เธอต้องช่วยให้เพื่อนได้เกรด A หรือ B ด้วยเหมือนกันนะ” ดังนั้น เมื่อคนใดคนหนึ่งสอบผ่าน แต่อีกคนสอบตก จึงถือว่าเป็นความล้มเหลวร่วมกัน ครูที่ใช้วิธีการดังกล่าวพบว่าวิธีการนี้ได้ผลดีกับนักเรียนระดับมัธยมปลายในการสร้างความสัมพันธ์และปลูกฝังนิสัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

วิธีช่วยจับคู่บัดดี้ได้ดีคือให้นักเรียนแต่ละคนเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองหลงใหลและเกี่ยวข้องกับเนื้อหารายวิชาลงบนกระดาษ ตัวอย่างเช่น ในวิชาศิลปะการใช้ภาษา คุณอาจให้นักเรียนเติมประโยคต่อไปนี้ให้สมบูรณ์ “สิ่งที่ฉันคิดว่าควรต้องเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้คือ…” รวบรวมคำตอบของนักเรียน และจับกลุ่มคำตอบที่แสดงถึงความสนใจที่คล้ายคลึงกัน ในเทอมนั้นๆ นักเรียนก็จะได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มีความตั้งใจจะแก้ไขปัญหา หรือหลงใหลในประเด็นที่ใกล้เคียงกัน

หากนักเรียนไม่ต้องการจับคู่กับบัดดี้ที่คุณเลือกให้ ก็ให้เวลาเด็กได้ปรับตัวสักนิด หรือลองใช้สื่อการสอนใหม่ๆ ควรจัดเวลาเพื่อสานสัมพันธ์และกระตุ้นให้นักเรียนได้รู้จักคู่บัดดี้ของตัวเองมากขึ้นด้วยกิจกรรมง่ายๆ 1-2 นาที เช่น ให้พูดถึงทักษะหรือรายวิชาที่ถนัดเป็นพิเศษ หรือวิชาที่ต้องการเพื่อนช่วยติว หรือสิ่งสำคัญในชีวิตพวกเขาตลอดช่วงเวลาที่เติบโตมา กิจกรรมถามตอบเช่นนี้ช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ทั้งยังให้เวลาทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความชอบ-ไม่ชอบ นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและการแก้ไขความขัดแย้ง การเปลี่ยนคู่บัดดี้นั้นจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ เลย หากนักเรียนขาดทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อน

 

เพื่อนที่ปรึกษา

การมีเพื่อนที่ปรึกษาเป็นอีกวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เด็กนักเรียนทุกคนจะได้รับประโยชน์จากคำแนะนำ กำลังใจ และการชี้แนวทางจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเสมอ นักเรียน ป.4 ย่อมให้คำปรึกษากับเด็ก ป.2 ได้ เด็ก ม.2 สามารถให้คำปรึกษากับเด็ก ป.6 ได้ และเด็ก ม.5 ก็เป็นที่ปรึกษาให้กับเด็ก ม.3 และ 4 ได้เช่นกัน

ในการสอนระดับมัธยม ลองทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยในเขตพื้นที่ ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีมาเป็นที่ปรึกษาหรือติวเตอร์ให้กับเด็กมัธยมต้นและปลาย เช่น อาจให้นักศึกษาช่วยติวหนังสือให้นักเรียนประมาณ 45 นาทีหลังเลิกเรียน โรงเรียนขยายโอกาสในลอสแอนเจลิสให้นักศึกษาร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน ป.4 และ 5 และประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม สังเกตได้ว่าโครงการที่ปรึกษานั้นมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม (ทั้งกับพ่อแม่ ที่ปรึกษา หรือเพื่อนร่วมชั้น) และลดปัญหาความขัดแย้ง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ปรึกษาอื่นๆ ที่บ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ของเยาวชนกับพ่อแม่และครูผู้สอน อีกทั้งส่งผลเชื่อมโยงสู่พัฒนาการด้านอื่นๆ ของเยาวชน อาทิ ความมั่นใจในตนเอง ทัศนคติต่อการเรียนรู้ พฤติกรรมพึงประสงค์ทางสังคม และการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมที่ลดน้อยลง

 

บัดดี้รายกิจกรรม

เพื่อให้การเรียนและประสบการณ์การเข้าสังคมสดใหม่น่าสนใจอยู่เสมอ ครูอาจใช้วิธีการจับคู่บัดดี้เรียนชั่วคราวเป็นรายกิจกรรม โดยคิดหาวิธีจับคู่ด้วยกิจกรรมสนุกๆ ที่ให้นักเรียนได้ขยับตัวตามเพลง ยืดเส้นยืดสาย และเจอเพื่อนหน้าใหม่ๆ

เมื่อจับคู่เรียบร้อยแล้ว ครูสามารถนำเข้าสู่กิจกรรมต่อไปได้ เช่น ให้นักเรียนสลับบทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านเพื่อถกประเด็นต่างๆ ให้ร่วมสรุปใจความสำคัญของบทเรียน ให้ตั้งคำถามเจาะลึกหรือที่น่าสนใจยิ่งขึ้น หรือจะให้ร่วมแบ่งปันข้อคิดที่ได้และประเด็นอื่นๆ ที่ต้องการจะรู้ก็ย่อมได้

เมื่อนักเรียนคู่ไหนทำกิจกรรมเสร็จ ให้ยกมือส่งสัญญาณ และเมื่อทุกคู่เสร็จกิจกรรม ให้นักเรียนกล่าวขอบคุณคู่บัดดี้ของตน ก่อนอนุญาตให้กลับไปนั่งที่ของตัวเอง หรือหากต้องการให้นักเรียนร่วมกิจกรรมต่อเนื่องยิ่งขึ้น ลองใช้เพลงส่งสัญญาณให้หยุดหรือเริ่มต้นกิจกรรมใหม่ได้

 

 

-3-

แสดงออกอย่างเข้าใจ

 

ถึงจะตระหนักดีว่าทุกคนล้วนมีปัญหากันทั้งนั้น แต่เด็กด้อยโอกาสอาจขาดทักษะทางความคิด ทักษะการแก้ปัญหา และการเอาใจใส่ด้านอารมณ์ความรู้สึก ที่ล้วนจำเป็นต่อการรับมือกับความยากลำบาก

ทางออกของปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ความเห็นอกเห็นใจ แต่อยู่ที่การแสดงออกอย่างเข้าใจแล้วปรับใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม ก่อนอื่นอยากให้แยกความต่างของสองคำนี้สักนิด ความเห็นใจ (sympathy) คือการเข้าใจความทุกข์ใจของผู้อื่นเมื่อประสบเคราะห์ภัย ส่วนความเข้าใจความรู้สึก (empathy) นั้นอยู่ในขั้นกว่าขึ้นมาอีกนิด มันคือการเข้าใจและแบ่งปันความรู้สึกที่มีร่วมกัน

ข่าวดีคือความเข้าอกเข้าใจนั้นเป็นทักษะที่เรียนรู้กันได้! ต่อจากนี้คุณจะเห็นความจำเป็นและวิธีการแสดงออกว่าคุณเข้าใจความรู้สึกพวกเขา ตลอดจนวิธีสานสัมพันธ์แบบเร่งด่วนเพื่อสื่อถึงความเข้าอกเข้าใจ 3 วิธีด้วยกัน

 

ทำไมถึงควรเข้าใจความรู้สึกของนักเรียน

 

ประการแรก สำคัญมากที่เราต้องเข้าใจก่อนกว่า เหตุใด นักเรียนจึงต้องการให้ คุณ เข้าใจความรู้สึกพวกเขา เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยวางรากฐานอันหนักแน่นให้กับความมั่นคงทางอารมณ์

รายงานจากสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ชี้ว่าเด็กด้อยโอกาสที่มีปัญหาทางสภาวะอารมณ์ 3 ใน 4 คน มาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกกันอยู่ เด็กนักเรียนไม่ได้ต้องการให้ใครมาคอยย้ำเตือนว่าชีวิตของพวกเขายากลำบากเพียงใด พวกเขาเพียงต้องการใครสักคนที่ใส่ใจ และคนที่พร้อมจะรับฟังปัญหาด้วยความเข้าอกเข้าใจเท่านั้น เมื่อไม่มีใครคอยสนับสนุนหรือเข้าใจความรู้สึกพวกเขา เด็กๆ จะยิ่งทุกข์ใจและเกิดความเครียดสะสม โดยเด็กยากจนมีโอกาสประสบกับปัจจัยก่อความเครียดได้มากกว่า ทั้งยังมีทักษะจัดการความเครียดที่ด้อยกว่าปกติ

มีข้อมูลระบุว่าผลกระทบจากความยากจนต่อพัฒนาการทางสมองนั้นเกิดได้ทั้งทางกายภาพและทางอารมณ์ความรู้สึก การเผชิญกับความยากจนและภาวะด้อยโอกาสตั้งแต่ยังเล็กส่งผลให้เนื้อสมองสีขาวมีขนาดเล็ก และเปลือกเนื้อสมองสีเทาบางกว่าปกติ เมื่อเทียบกับสมองของเด็กที่มีฐานะดี ทั้งยังก่อผลกระทบต่อโครงสร้างสำคัญของสมอง (ฮิปโปแคมปัส) ที่มีผลต่อการเรียนรู้ ความทรงจำ และการปรับสภาพอารมณ์อีกด้วย

แต่ก็ยังมีเรื่องดีๆ อยู่เช่นกัน เพราะประสบการณ์ที่ดีจะช่วยพัฒนาสมองส่วนฮิปโปแคมปัสให้ดีขึ้นได้ โครงสร้างสมองคนเรานั้นจะตอบสนองต่อความเห็นอกเห็นใจด้วยการลดฮอร์โมนความเครียด อาทิ ฮอร์โมนคอร์ติซอล และหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนินเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความสุขใจ เมื่อได้รับความเข้าอกเข้าใจ การเอาใจใส่ทางอารมณ์ดังกล่าวจะกระตุ้นสมองส่วนฮิปโปแคมปัสให้เติบโต นำไปสู่พัฒนาการด้านการเรียนรู้และความทรงจำที่ดีขึ้น อีกทั้งการสนับสนุนทางอารมณ์ความรู้สึกยังช่วยสร้างเนื้อเยื่อสมองส่วนดังกล่าวให้เพิ่มขึ้นใหม่ได้ด้วย ถือว่าเป็นผลพวงเชิงบวกที่เกิดขึ้น

หากคุณยังประสบปัญหาการกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้และมีพฤติกรรมพึงประสงค์ การสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพและเปี่ยมความเข้าใจถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง

 

อย่าด่วนตัดสิน แต่จงรับฟัง

 

การด่วนตัดสินปัญหาของนักเรียนรังแต่จะทำให้เรื่องยุ่งยากขึ้น เราควรเลิกบอกให้เด็กทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะขั้นตอนดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น และถือเป็นขั้นตอนท้ายๆ แม้ในขณะที่คุณอารมณ์ไม่ดี ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

หากนักเรียนร้องไห้มาพบคุณ เพราะพ่อแม่แยกทางหรือพี่น้องถูกทำร้าย พวกเขาต้องการใครสักคนคอยรับฟังเรื่องทุกข์ใจ ไม่ใช่คนที่จะพร่ำสอนเรื่องอันตรายในย่านที่อยู่อาศัย ลองพูดว่า “ครูเสียใจด้วยนะ ถ้าจะให้ช่วยเหลืออะไร บอกครูได้เลย”

หลักการเบื้องต้นใช้ได้ผลดีกับสถานการณ์ที่ไม่ร้ายแรงเช่นกัน องค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งในแนวคิดนิสัย 7 ประการของสตีเฟน อาร์. คอวีย์ (Stephen R. Covey) ระบุว่า “หาข้อมูลก่อนทำความเข้าใจ จึงจะเข้าใจได้จริง” กล่าวคือ คุณต้องหัดฟังให้มากและพูดให้น้อย

หากนักเรียนไม่ทำการบ้านมา ลองพูดกับเด็กว่า “เสียดายที่งานยังไม่เสร็จ บอกครูหน่อยสิว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น” หรือหากมีนักเรียนเข้าห้องสาย ให้ลองพูดว่า “สวัสดี(ชื่อนักเรียน) ดีใจนะที่เธอมา เข้ากลุ่มได้เลยนะ เดี๋ยวให้เพื่อนๆ บอกว่าเราเรียนอะไรไปบ้างแล้ว” หลังจากนั้น คุณจะพูดคุยกับเด็กคนดังกล่าวเป็นการส่วนตัวก็ย่อมได้ แต่ก่อนจะเริ่มคุย หรือตำหนิที่มาสาย ให้ลองสังเกตท่าทางของเด็กดูก่อน แล้วจึงพูดว่า “ปกติเธอไม่เคยสายเลยนะ เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า เธอสบายดีใช่ไหม”

การตำหนิเด็กที่มาสายนั้นไม่จำเป็นเลย จะดีกว่าหากคุณทำให้เด็กรู้สึกว่าคุณ นึกถึง และ ต้องการ ให้เด็กเข้าเรียนกับคุณ เช่นนี้ต่างหากที่จะกระตุ้นให้นักเรียนเข้าเรียน คุณต้องแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าคุณห่วงใยและใส่ใจ

 

3 วิธีสานสัมพันธ์แบบเร่งด่วน

 

ตั้งแต่เปิดเทอมวันแรก นักเรียนอยากรู้ว่าคุณเป็นใคร ใส่ใจและให้เกียรติพวกเขาหรือไม่ ดังนั้น อย่ารอให้เกิดความตึงเครียดในชั้นเรียนขึ้นก่อนจะแสดงความเป็นห่วงเป็นใยนักเรียน มีวิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะเวลาอันสั้น ที่อยากให้ลองไปปรับใช้กัน

 

  • นับหนึ่งให้นึกถึงเด็ก ช่วงเปิดเทอมเดือนแรก ให้ช่วยเหลือเด็กหนึ่งเรื่อง สร้างความเชื่อมโยงสักหนึ่งอย่าง หรือแสดงความเข้าอกเข้าใจให้ชัดเจน กระทั่งนักเรียนคนหนึ่งหรือทั้งชั้นเรียนจดจำ
  • นับสองลองให้ครบสิบ ลองสังเกตพฤติกรรมนักเรียน และพิจารณาดูว่าเด็กคนใดสมควรต้องรีบสานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เด็กกลุ่มนี้อาจมีนิสัยขี้อายหรือมักส่งเสียงดังรบกวนอยู่เสมอ อาจเป็นเด็กที่มีปัญหา ไม่อยู่นิ่ง ซึ่งบ่งชี้ถึงปัญหาการควบคุมตนเอง หรือเป็นเด็กที่มักชอบพูดคุยสร้างความสัมพันธ์กับครูผู้สอนหลังเลิกเรียน กับเด็กกลุ่มนี้ลองใช้เวลาสัก 10 วัน วันละ 2 นาที พูดคุยเรื่องต่างๆ เพื่อสานความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยอาจเป็นช่วงก่อนเริ่มคาบเรียน ระหว่างทำแบบฝึกหัด หรือตอนที่เด็กขอคุยกับคุณในประเด็นอื่นๆ วิธีนี้จะช่วยสร้างรากฐานความสัมพันธ์ที่ดีได้ตลอดทั้งเทอม
  • นับสามถามให้ครบถ้วน ตั้งคำถามกับนักเรียนระหว่างการสนทนาเรื่องต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลสัก 3 อย่าง (ไม่รวมชื่อเด็ก) จากเด็กทุกคนในชั้นเรียนภายใน 30 วัน เช่น ถามเพื่อให้รู้ว่าในครอบครัวของเด็กมีใครบ้างที่อาศัยร่วมกัน หรือนักเรียนสนใจกิจกรรมพิเศษอะไร หรืออาชีพที่พวกเขาอยากทำเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

 

ทั้งสามวิธีที่แนะนำ ลงมือทำได้ทันที นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยวิธีการต่อเนื่องอีกสามวิธีเพื่อแสดงให้นักเรียนเห็นว่าคุณใส่ใจ ได้แก่ (1) เชื่อมโยงความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มเรียน (2) เชื่อมโยงความสัมพันธ์หลังเลิกเรียน และ (3) เชื่อมโยงชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้านของนักเรียน

 

เชื่อมโยงความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มเรียน

ระหว่าง 2-3 นาทีแรกของการเรียนหรือก่อนเริ่มเรียน ลองเดินสำรวจนักเรียนไปรอบๆ และประเมินดูว่าเด็กทำกิจกรรมอุ่นเครื่องก่อนเรียนได้ดีแค่ไหน โดยลองสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของเด็กๆ ที่แสดงออก ระหว่างนี้คุณจะแสดงความเป็นมิตร สานความสัมพันธ์ และแสดงความใส่ใจได้ด้วยการสนทนาสั้นๆ

ครูหลายคนมักใช้วิธีพูดคุยเรื่องสัพเพเหระ อย่างเรื่องทีมกีฬาที่เด็กชอบ หรือผลการแข่งขันแพ้ชนะของทีมนั้นๆ หรือจะชมผมทรงใหม่หรือรองเท้าใหม่ของนักเรียน ชวนคุยเรื่องกิจกรรมชุมชนที่กำลังจะเข้าร่วม หรือกิจกรรมของครอบครัวก็ได้ ใช้เวลาระหว่างเริ่มเรียนช่วง 3-7 นาทีแรก สังเกตดูว่ามีเด็กคนไหนติดขัดเรื่องการเรียนหรือต้องการความช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษบ้างหรือไม่

 

เชื่อมโยงความสัมพันธ์หลังเลิกเรียน

ระหว่างที่นักเรียนกำลังออกจากห้องหลังเลิกเรียน ลองสังเกตอากัปกิริยาของเด็ก เพราะบ่อยครั้งที่ภาษากายสื่อถึงสภาวะทางอารมณ์ของเด็กได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องถามด้วยวาจา ตัวอย่างเช่น หากนักเรียนแสดงท่าทีเสมือนหนึ่งต้องลากตัวเองออกจากห้องเรียน เด็กคนนั้นอาจไม่อยากไปเรียนวิชาต่อไป ไม่เข้าใจว่าต้องทำการบ้านอย่างไร หรือไม่นักเรียนอาจกำลังเผชิญปัญหาสภาวะทางอารมณ์อยู่ก็เป็นได้ นี่แหละคือโอกาสที่ครูควรยื่นมือเข้าช่วย

ก่อนที่นักเรียนจะออกจากห้องเรียน ลองถามว่า “มีเวลาคุยกับครูหน่อยไหม” จากนั้นจึงกล่าวว่า “รู้ใช่ไหมว่าถ้ามีปัญหาอะไร คุยกับครูได้เสมอ ถ้าเธอกำลังมีปัญหา ครูพอจะช่วยแนะนำให้จัดการได้ง่ายขึ้นนะ” นักเรียนของคุณก็จะเริ่มเล่าปัญหา หรือไม่ก็อาจปิดปากเงียบ แต่อย่างน้อยคุณก็ได้แสดงความเข้าอกเห็นใจ และเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสัมพันธ์เอาไว้แล้ว บางทีครั้งต่อไปเด็กคนดังกล่าวอาจยอมเปิดใจและเล่าปัญหาให้ฟัง

โรงเรียนมัธยมที่มีประสิทธิภาพด้านการสอนหลายแห่ง กำหนดให้คาบสุดท้ายของการเรียนเป็นชั่วโมงทำการบ้าน และถึงแม้ว่าการศึกษาวิจัยที่ว่าด้วยประโยชน์ของการบ้านยังมีทั้งสองด้าน แต่ในระดับมัธยมศึกษานั้น ผลชี้ว่ามีประโยชน์ คุณสามารถใช้ช่วงเวลานี้แสดงความใส่ใจต่อเด็กได้

ในแต่ละวันลองสับเปลี่ยนและให้เวลากับเด็กนักเรียนสัก 2-3 นาที ไม่จำกัดเฉพาะการช่วยแนะนำการบ้าน แต่ถือโอกาสรับฟังปัญหา เพื่อให้เด็กๆ เห็นว่าคุณเอาใจใส่ แต่หากโรงเรียนไม่ได้กำหนดช่วงเวลาพิเศษนี้ ก็ยังใช้เวลาช่วงระหว่างการทำแบบฝึกหัดในชั้นเรียนได้เช่นกัน

 

เชื่อมโยงชีวิตที่บ้านของนักเรียน

การสานความสัมพันธ์กับนักเรียนในประเด็นอื่นๆ นอกชั้นเรียนนั้นมีหลายวิธี และเนื่องจากช่วงเวลาสานความสัมพันธ์ครู-นักเรียนเป็นเรื่องสำคัญ คุณจึงควรเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมและเริ่มปีการศึกษาเพื่อให้นักเรียนเห็นความเอาใจใส่ และเพื่อความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้ทำความเข้าใจกับชีวิตส่วนตัวนักเรียน (โดยไม่ด่วนตัดสิน) ด้วยวิธีการที่จะช่วยให้ได้ข้อมูล และกระตุ้นความคิด การกระทำ และความรู้สึกที่ต่างออกไป เช่นเดียวกับเข้าใจพื้นฐานชีวิตของนักเรียนคนนั้นๆ เช่นนี้จะนำไปสู่ช่วงเวลาที่ก่อประโยชน์สูงสุด

คุณอาจลองเข้าร่วมกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่นักเรียนสนใจเป็นพิเศษ เช่น แข่งกีฬา เดินห้างสรรพสินค้า ดูภาพยนตร์ ดูคอนเสิร์ต เล่นบาสเกตบอล ร่วมงานศพ หรือทำกิจกรรมในสวนสาธารณะ (แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายมาตรการลงแล้ว แต่คุณอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมไปบ้าง) การเข้าใจชีวิตส่วนตัวของนักเรียนจะสื่อให้เด็กเห็นว่าคุณเอาใจใส่พวกเขามากเพียงใด การทำเช่นนี้อาจดูเหมือนว่ามีงานหนักเพิ่มขึ้น แต่ลองคิดว่าการลงแรงเพียง 2-3 ชั่วโมงในช่วงเริ่มปีการศึกษา จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าตลอดทั้งปีการศึกษา และตลอดชั่วชีวิตของเด็กนักเรียนเลยทีเดียว

 

เพราะคุณมีทางเลือกเสมอ เลือกชุดความคิดของตัวคุณเองได้เลย

“ชุดความคิดสานสัมพันธ์”

 

จะดีกว่าไหม ถ้าทุกๆ วันเป็นวันที่ดีเยี่ยม? เชื่อเถอะว่าเป็นไปได้ เพราะหลายคนก็ใช้ชีวิตกันได้แบบนั้น แต่การจะไปถึงจุดนั้น คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงความเชื่อให้ตอบโจทย์การสร้างสรรค์วันดีๆ ให้ได้เสียก่อน แล้วต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างล่ะ ต้องตื่นนอนเร็วกว่าปกติสัก 10 นาที? หรือต้องออกกำลังกายหลังตื่นนอน? หรือควรจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กันแน่?

หากคุณระลึกอยู่เสมอว่าชีวิตของตัวเองนั้นมีทางเลือก คุณย่อมสามารถเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตได้ และการทำเช่นนั้นเท่ากับว่าคุณจะเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตของเด็กนักเรียนไปด้วย เพราะคุณคือต้นแบบของเด็กๆ และคุณได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อของตัวเองสำเร็จมาแล้ว

การตัดสินใจว่าคุณจะช่วยนักเรียนให้เติบโตก็เท่ากับว่าคุณได้ปลูกฝังความเชื่อใหม่ที่เกี่ยวพันกับชุดความคิดสานสัมพันธ์ไปแล้ว จงเริ่มต้นลงมือทำทันที เลือกสักหนึ่งกลยุทธ์ในเนื้อหาส่วนนี้ เพื่อเริ่มสานสัมพันธ์อันดี ขอความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน และกำหนดเป้าหมายเพื่อความก้าวหน้า เมื่อคุณมีความตั้งใจและได้ลองออกแบบกิจกรรมไว้ปรับใช้กับบทเรียนแล้ว ชุดความคิดสานสัมพันธ์ก็จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

ขอให้เข้าใจว่าการสร้างความสัมพันธ์อันดีนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสำเร็จหรือล้มเหลวได้กับนักเรียนทุกคนหรือกับโรงเรียนทุกแห่ง แต่สำหรับเด็กยากจนและด้อยโอกาสแล้ว ความสัมพันธ์เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่จูงใจให้มาโรงเรียน ลองช่วยให้เด็กกลุ่มนี้เกิดแรงจูงใจนั้น และมีความสุขกับรางวัลที่ได้รับจากชุดความคิดสานสัมพันธ์กันเถอะ

 

 

สอนเปลี่ยนชีวิต: 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน
Eric Jensen เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร, ลลิตา ผลผลา แปล
448 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่