อ่าน “The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset”

บุญชัย แซ่เงี้ยว เรียบเรียง

 

The Growth Mindset Playbook เป็นหนังสือเล่มต่อจาก The Growth Mindset Coach ว่าด้วยการบ่มเพาะชุดความคิดแบบเติบโต (growth mindset) แก่นักเรียนและคุณครู ทักษะนี้เป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นยิ่งและสามารถยืนยงไปชั่วชีวิต

เพราะชุดความคิดแบบเติบโตนั้นคือวิถีแห่งการใช้ชีวิต คือแนวทางในการรับมือกับปัญหา คือวิธีฉุดตัวเองให้ลุกขึ้นยืนได้ใหม่เมื่อล้มลง ชุดความคิดแบบเติบโตสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่องทุกสถานการณ์

เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตมากกว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียน ด้วยการเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิต ส่งเสริมให้นักเรียนเชื่อว่าสามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ และให้เชื่อว่าความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่มีขีดจำกัด

หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับครูผู้ต้องการเผยแพร่ชุดความคิดแบบเติบโตในห้องเรียน ชุดความคิดแบบเติบโตคือแนวคิดอันทรงพลัง ที่หากนำไปใช้อย่างเหมาะสม จะประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก

ต่อไปนี้คือแนวทางในการสร้างชุดความคิดแบบเติบโต ทั้งกับตัวนักเรียน และกับตัวคุณเอง

 

สานสัมพันธ์อันดี

การสร้างความสัมพันธ์อันดีและลึกซึ้งเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนตระหนักถึงศักยภาพของตน

การสานสัมพันธ์อันดีคือก้าวแรกที่สำคัญของการเรียนรู้ ความสัมพันธ์อันดีตั้งแต่แรกเริ่มที่นักเรียนมีต่อครูผู้สอนจะสะท้อนให้เห็นออกมาผ่านผลการเรียนที่ดีเมื่อเวลาผ่านไป ในทำนองเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่ไม่ดีก็เป็นปัจจัยหนึ่งของผลการเรียนที่ไม่ดี

ข้อดีอย่างหนึ่งของการที่ครูใช้เวลาเรียนรู้และสานสัมพันธ์กับนักเรียนคือ เมื่อต้องคุยกับนักเรียนในประเด็นที่ชวนลำบากใจ หรือต้องรับมือกับปัญหาพฤติกรรมร่วมกับนักเรียน บทสนทนาจะไม่ชวนอึดอัด ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนบนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกันเปรียบได้กับฐานที่มั่นคงและยืดหยุ่นเมื่อต้องพูดคุยในประเด็นละเอียดอ่อน

ยิ่งครูพยายามจะคุยกับนักเรียนมากเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือเรื่องสัพเพเหระ ความสัมพันธ์จะยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักเรียนเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เพราะทำให้การไปโรงเรียนมีความสุขและน่าพึงพอใจมากขึ้น ทั้งสำหรับนักเรียนและตัวครูเอง

 

ฝึกสมอง

หากนักเรียนเชื่อว่าตนไม่อาจดีไปกว่านี้และเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ครูจะทำอย่างไรให้นักเรียนเชื่อว่าตัวเขานั้นสามารถเปลี่ยนได้ บางที หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อาจช่วยโน้มน้าวพวกเขาได้ หนังสือเล่มนี้จึงพุ่งตรงไปยังอวัยวะสำคัญอย่างสมอง

นักประสาทวิทยาศาสตร์เห็นพ้องว่าสมองเป็นอวัยวะที่ยืดหยุ่น หากได้รับการฝึกฝนอย่างทุ่มเทและจดจ่อ สมองจะสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ได้

หากเราเชื่อว่ากล้ามเนื้อเติบโตขึ้นได้ด้วยการยกน้ำหนัก เราก็เชื่อได้เช่นเดียวกันว่าสมองเติบโตและพัฒนาขึ้นได้ด้วยการเรียนและความทุ่มเท

สมองมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทกว่าหนึ่งแสนล้านเซลล์ เซลล์เล็กๆ เหล่านี้ทำหน้าที่เก็บข้อมูล รวมถึงส่งและรับสัญญาณระหว่างกันทั่วทั้งร่างกาย เมื่อเราเรียนรู้สิ่งใหม่ เซลล์ประสาทของเราจะส่งสัญญาณผ่านทางวิถีประสาทเพื่อทำให้การเรียนรู้สมบูรณ์ ยิ่งเราฝึกฝนทำสิ่งนั้นบ่อยมากเท่าใด สัญญาณก็จะเคลื่อนที่ผ่านวิถีประสาทเร็วขึ้นเท่านั้น และหากเราไม่ได้ทำสิ่งใดนานๆ เซลล์ประสาทย่อมทำงานช้าลงตามไปด้วย นั่นหมายถึงความเชี่ยวชาญชำนาญขึ้น และหมายถึงการหลงลืมทักษะที่ครั้งหนึ่งเราเคยทำได้ดี

แก่นของเนื้อหาส่วนนี้คือการสอนให้นักเรียนเข้าใจว่าสมองของพวกเขายังเติบโตขึ้นได้อีกมาก การสอนวิทยาศาสตร์เบื้องหลังแนวคิดเรื่องชุดความคิดเป็นส่วนสำคัญที่ไม่อาจตัดออกจากขั้นตอนการสร้างห้องเรียนที่เน้นการเติบโตได้ ข้อเท็จจริงของเนื้อหาส่วนนี้นั้นง่ายนิดเดียว นั่นคือหากเราทุ่มเทและฝึกฝน สมองของเราจะเติบโตและพัฒนา

เมื่อนักเรียนเข้าใจความมหัศจรรย์ของสมอง พวกเขาจะเริ่มมองอุปสรรคและความท้าทายเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเรียนรู้ จะไม่มองว่าตนเองนั้นด้อยความสามารถ

 

พัฒนาทักษะการรู้คิด

ทักษะการรู้คิดหรืออภิปัญญา (metacognition) หมายถึง การเข้าใจและความสามารถในการควบคุมทักษะการคิดขั้นสูง (higher-order thinking) ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เช่น การวางแผน การวางกลยุทธ์ และการประเมิน

กระบวนการรู้คิดคือการรู้ถึงการคิดและการเรียนรู้ของตัวเอง การเรียนการสอนเรื่องทักษะการรู้คิดเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันช่วยบ่มเพาะนิสัยที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคตอย่างนิสัยการคิดทบทวนและตระหนักรู้ในตนเอง ทั้งในส่วนของขั้นตอนการคิดและขั้นตอนการลงมือทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

เมื่อนักเรียนเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจะมองเห็นว่าการเรียนรู้ของตนนั้นเป็นกระบวนการที่มีหลายขั้นตอน มากกว่าที่จะมองว่ามันคือพรสวรรค์ที่มาพร้อมกับพันธุกรรม หากนักเรียนรู้ว่าวิธีการเรียนแบบใดเหมาะกับตัวเอง นักเรียนจะประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวเข้ากับการเรียนรู้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ตลอดชีวิต ทักษะการรู้คิดก็คือความสามารถที่คนคนหนึ่งจะทบทวนและตั้งคำถามว่าตัวเองจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยวิธีใด

 

ล้มแล้วต้องลุก

“ความสำเร็จสูงสุดในการใช้ชีวิตไม่ได้วัดจากการไม่เคยล้ม แต่วัดจากการลุกขึ้นยืนได้ใหม่ในทุกครั้งที่ล้มลง” – ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน

เหล่าผู้ประสบความสำเร็จทุกคนล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าหัวใจสำคัญของความสำเร็จอยู่ที่ความพากเพียรและวินัย และเมื่อทำผิดพลาดขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือการลุกขึ้นสู้ต่อ

เพราะความสำเร็จไม่อาจได้มาโดยง่าย หากนักเรียนไม่ได้เผชิญกับอุปสรรคใดๆ ก็เป็นไปได้สูงว่าพวกเขายังไม่ได้เรียนรู้เต็มประสิทธิภาพ การผสานเอาอุปสรรคปัญหาที่ต่อไปจะก่อประโยชน์และทัศนคติที่ดีต่อความล้มเหลวเข้ากับการสอนในชั้นเรียน นั่นเท่ากับการปลูกฝังให้นักเรียนไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและความล้มเหลว

ชุดความคิดแบบเติบโตไม่ได้หมายถึงความสมบูรณ์แบบ แต่หมายถึงความกล้าหาญที่จะก้าวต่อไป

หนทางแห่งการเรียนรู้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวขรุขระ ไม่สมบูรณ์ และยุ่งเหยิง การทำให้อุปสรรคและความล้มเหลวกลายเป็นเรื่องปกติในชั้นเรียน จะเป็นหมายบอกว่าครูคนนั้นกำลังใช้ชุดความคิดแบบเติบโต

 

รับมือกับความอับอาย

ความอับอายเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลัง เพียงแต่ไม่ใช่แรงผลักในทางที่ดี เพราะมันผลักให้คนปิดใจ ท้อถอย และไม่อยากมีส่วนร่วม

เบรเน บราวน์ (Brené Brown) นักวิจัยด้านความอับอายและความเปราะบาง นิยามความอับอายไว้ว่าคือ

“ความรู้สึกหรือประสบการณ์อันเจ็บปวดจากความเชื่อว่าตนบกพร่องและไม่มีค่าพอที่จะเป็นที่รักหรือได้รับการยอมรับจากผู้อื่น”

ความอับอายเป็นอารมณ์ที่ทรงพลัง เพราะเมื่อรู้สึกอับอาย เราจะเชื่อว่าตัวเองไม่มีคุณค่าและไม่เป็นที่ต้องการ

โรงเรียนนั้นมีส่วนในการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความอับอายทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ โรงเรียนที่ยึดถือวัฒนธรรมการประจานให้อับอายย่อมไม่อาจเปิดรับชุดความคิดแบบเติบโตอันเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ

แล้วชั้นเรียนที่เท่าทันความอับอายเป็นอย่างไร ในชั้นเรียนที่เท่าทันกับเรื่องนี้ ครูจะเลี่ยงการประจานนักเรียนและเลือกใช้วิธีที่เข้าอกเข้าใจนักเรียนมากขึ้น

แล้วเราจะต่อกรกับวัฒนธรรมการประจานให้อับอายในโรงเรียนได้อย่างไร คำตอบนั้นง่ายมาก เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ จงอย่ากลัวที่จะพูด บราวน์บอกว่าศัตรูโดยธรรมชาติของความอับอายคือความเข้าอกเข้าใจ หากเราบอกเล่าเรื่องราวความอับอายกับใครสักคนที่เข้าอกเข้าใจต่อความเจ็บปวด ความละอาย หรือความเสียใจของเรา ความรู้สึกอับอายนั้นจะบรรเทาลงได้เอง

การสร้างชั้นเรียนที่เท่าทันความอับอายหมายความว่าเราต้องกล้าเล่าเรื่องราวที่น่าอับอายของตัวเองกับนักเรียน และเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการขอความช่วยเหลือและสานสัมพันธ์

 

สายสัมพันธ์ระหว่างกัน

หลายส่วนในหนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญกับความเข้าอกเข้าใจ (empathy) เป็นอย่างยิ่ง หากนักเรียนรับรู้ได้ว่าครูเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา ครูย่อมสร้างสายสัมพันธ์กับนักเรียนได้ดีขึ้น ครูสามารถพัฒนาความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้ด้วยการรับรู้ถึงความรู้สึกของนักเรียน และพยายามเข้าใจความรู้สึกดังกล่าวโดยนึกย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ที่ตัวครูเองก็เคยรู้สึกแบบนั้น

ความเข้าอกเข้าใจ ในที่นี้หมายถึงความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น การขาดความเข้าอกเข้าใจหรือไม่ใส่ใจความเข้าอกเข้าใจที่ผู้อื่นมีต่อตนเอง หลายครั้งมันคือตัวการเบื้องหลังชุดความคิดแบบตายตัว

พยายามเข้าใจความรู้สึกของนักเรียน ไม่ใช่สงสารพวกเขา ครูอาจช่วยชี้แนะให้นักเรียนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง หรืออาจจะเป็นแค่เพื่อนที่อยู่เคียงข้างในยามที่นักเรียนต้องการเมื่อไม่อาจหาทางออกได้ ความเข้าอกเข้าใจต่อกันจะช่วยให้ครูกับนักเรียนมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นขึ้น และการทำตัวให้นักเรียนเห็นเป็นตัวอย่างจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

 

สร้างห้องเรียนแห่งความสุขและความร่วมมือ

หากงานของนักเรียนคือการมาโรงเรียนทุกวัน แล้วเหตุใดเราจึงไม่หนุนให้พวกเขาได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือ

การจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมให้นักเรียนได้สานสัมพันธ์และทำงานร่วมกัน จะช่วยให้นักเรียนได้รู้จักตนเองรวมถึงเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การสร้างชั้นเรียนที่มีความสุขและส่งเสริมการร่วมมือกันถือเป็นการลงทุนกับทุนทางสังคมของโรงเรียน หรือก็คือลงทุนกับความสัมพันธ์ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์การเรียนมีคุณค่าและมีความหมายมากยิ่งขึ้น

ห้องเรียนแห่งความสุขสร้างขึ้นได้ด้วยการเปิดรับความร่วมมือระหว่างกัน การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกันแทนที่จะแข่งขันกัน คือกุญแจสู่ความสำเร็จ เพราะหากสมาชิกในกลุ่มทุ่มเทให้แก่กันและพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน พวกเขาก็มีแนวโน้มจะขอความช่วยเหลือระหว่างกัน รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน หรือหากเห็นไม่ตรงกันก็จะโต้แย้งกันอย่างจริงใจและก่อประโยชน์

เราสร้างสภาวะเช่นนี้ในห้องเรียนได้ด้วยการสร้างห้องเรียนที่มีชุดความคิดแบบเติบโตเป็นหัวใจของการเรียนรู้ ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ นักเรียนทุกคนล้วนเป็นที่ต้องการ มีความเข้าอกเข้าใจเป็นค่านิยมหลัก และมีการร่วมมือกันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่การแข่งขัน

 

สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนในชั้นเรียนนับเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่มเพาะชุดความคิดแบบเติบโตให้แก่นักเรียน หากนักเรียนไม่รู้สึกว่ามีคนคอยสนับสนุนหรือรู้สึกกังวลบนเส้นทางของตัวเอง ก็มีแนวโน้มสูงที่นักเรียนจะไม่กล้าทำอะไรที่ท้าทายหรือไม่กล้าลองเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ

นักเรียนแต่ละคนมาโรงเรียนพร้อมกับปัญหาทางบ้าน ความสนใจ งานอดิเรก และความชื่นชอบที่แตกต่างกัน นักเรียนบางคนตลก บางคนตัวเล็ก บางคนสร้างสรรค์ บางคนแต่งตัวดี บางคนขี้แงเอาแต่ใจ บางคนมีลักยิ้ม บางคนมีความสุข บางคนขี้หงุดหงิด บางคนหัวอ่อน บางคนหัวดื้อ เราจะได้พบนักเรียนทุกรูปแบบ และก็เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องช่วยให้พวกเขาสานสัมพันธ์กันจนเกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ชั้นเรียนแต่ละชั้นนั้นประกอบด้วยนักเรียนหลากหลายกลุ่ม การสร้างห้องเรียนให้เป็นชุมชน จึงเป็นเหมือนการหาเส้นทางที่จะนำความสนใจ แนวคิด และวิถีชีวิตที่แตกต่างมารวมไว้ด้วยกัน

เมื่อใดที่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี ชุดความคิดแบบเติบโตย่อมงอกงาม และความสัมพันธ์ดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อใจ

ลองถามตัวเองดูว่าห้องเรียนของคุณเป็นสถานที่แห่งความเชื่อถือและความไว้ใจหรือไม่ คุณทำตามที่พูดบ่อยแค่ไหน คุณผิดสัญญาที่ให้ไว้กับนักเรียนบ่อยหรือเปล่า การระวังไม่ไปทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีอยู่ในชั้นเรียน จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างออกไป

 

กระตุ้นการมีส่วนร่วม

“บอกฉัน อีกหน่อยฉันก็ลืม
สอนฉัน ฉันอาจพอจำได้บ้าง
แต่หากให้ฉันมีส่วนร่วม ฉันจะเรียนรู้”
– เบนจามิน แฟรงคลิน

หนังสือเล่มนี้นิยาม “การมีส่วนร่วม” ว่าคือการที่นักเรียนเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับการเรียนรู้โดยร่วมทำกิจกรรมอย่างเต็มใจ  ครูผู้ส่งเสริมการเรียนรู้รอบด้านจึงควรกระตุ้นให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ในชั้นเรียน และช่วยนำพวกเขาไปสู่เส้นทางความสำเร็จซึ่งไม่จำกัดว่าต้องมีแค่เส้นทางเดียว

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ครูต้องส่งผ่านความรู้สึกที่มีต่อการเรียนรู้ออกมาระหว่างการสอน จงตื่นตัว! จงทุ่มเท! จงมีส่วนร่วม! หากครูไม่รู้สึกมีส่วนร่วมและตื่นเต้นกับการเรียนรู้เสียเอง นักเรียนก็จะไม่มีส่วนร่วมเช่นกัน

การมีส่วนร่วมคือการที่นักเรียนรู้สึกเชื่อมโยงกับประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่นักเรียนร่วมกิจกรรมอย่างเต็มใจ ดังนั้นจงพยายามอย่างที่สุดที่จะเชื่อมโยงเนื้อหาบทเรียนเข้ากับความสงสัยใคร่รู้ของนักเรียน จงกระตุ้นการมีส่วนร่วมอย่างเต็มใจของนักเรียนโดยตระหนักและยอมรับความแตกต่างและความพิเศษเฉพาะบุคคล ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์การเรียนรู้ในห้องเรียนของทุกคนพิเศษและมีคุณค่า

 

ไปให้ถึงดวงดาว

มีแนวคิดหนึ่งซึ่งมีรากฐานมาจากศาสตร์ทางเทคโนโลยีและการท่องอวกาศ แนวคิดนี้มีชื่อเรียกว่า “ความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาว” (moonshot thinking) แนวคิดนี้เชื่อในการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ ให้เป็นไปได้ แม้ต้องผ่านการล้มลุกมากเพียงใดก็ตาม

แล้วเป้าหมายสู่ดวงดาวมีลักษณะอย่างไรในบริบทของโรงเรียน หนังสือเล่มนี้อยากให้ลองนึกถึงภาพของสิ่งที่อยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างความบ้าบิ่นทางการศึกษากับนิยายวิทยาศาสตร์ แบบที่วันหนึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่พลิกเปลี่ยนโลก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราจึงต้องปลูกฝังความคิดที่ว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ให้กับนักเรียนตั้งแต่ยังเด็ก และบางทีจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการจุดประกายความคิดกล้าบ้าบิ่นก็อาจจะเริ่มจากการช่วยนักเรียนพัฒนาชุดความคิดแบบเติบโต

ความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาวต้องเริ่มจากความเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ การฝึกใช้ความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาวจะส่งผลกับวิธีคิดของเรา โดยบีบให้เรามองสถานการณ์ผ่านมุมมองใหม่ๆ ทั้งยังกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ และเปิดเส้นทางสู่ความเป็นไปได้ว่าอาจยังมีหนทางอื่นที่ดีกว่าเดิม

 

ทบทวนและใส่ใจตนเอง

เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงตัวนักเรียน คราวนี้ก็ถึงตาคุณครูบ้างแล้วที่ต้องดูแลและใส่ใจตนเองให้มากขึ้น ครูใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันจัดการกับปัญหาของคนอื่น และเมื่อต้องเผชิญกับวันทำงานที่ท้าทายและยาวนานมากๆ เข้า โดยเฉพาะวันที่ทำให้เหนื่อยทั้งใจ กาย และความรู้สึก ย่อมทำให้ครูอ่อนล้าผสมกับความหนักใจที่ถาโถมและความรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นค่า เมื่อครูรู้สึกแย่เช่นนี้บ่อยครั้งเข้า ก็จะเริ่มสะสมความอ่อนล้าทางจิตใจ จนเกิดเป็นสภาวะที่เรียกว่าอาการหมดไฟ

อาการหมดไฟเกิดขึ้นกับทุกคนได้หลายครั้งตลอดอาชีพครู ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเมื่อดูจากตัวงานที่เคร่งเครียด คริสเตน เนฟฟ์ (Kristen Neff) นักวิจัยเรื่องการรักและเมตตาตนเอง (self-compassion) เสนอแนวทางจัดลำดับความสำคัญในการดูแลจิตใจตัวเองและรักษาสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานสำหรับครูในสามองค์ประกอบด้วยกัน

หนึ่ง ให้ฝึกใจดีกับตัวเอง (self-kindness)

สอง การตระหนักถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ทุกคนมีร่วมกัน

สาม การมีสัมมาสติ (mindfulness) หรือการอยู่กับปัจจุบัน

นอกจากนั้น การทบทวนตนเองคือเรื่องจำเป็นหากต้องการเข้าใจตัวเองให้ดีขึ้น เมื่อเราทบทวนการเรียนรู้และแนวปฏิบัติของตัวเอง ก็จะพัฒนาวิธีการสอนของตัวเองได้ดีขึ้น ได้ทบทวนความผิดพลาดเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดซ้ำ และได้ค้นพบอคติหรือความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายในตัว

ด้วยการทบทวนตนเองนี้ เราจะเริ่มมองเห็นจุดที่ต้องปรับปรุงและเริ่มลงมือจัดการได้ หากปล่อยให้ตัวเองนึกถึงแต่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จหรือช่วงที่ดีที่สุดของการเป็นครู เราจะพลาดโอกาสในการเติบโตไป

เอลิซาเบธ คือเบลอร์-รอสส์ (Elisabeth Kübler-Ross) นักจิตวิทยาเคยกล่าวไว้ว่า

“คนเราก็เหมือนกับหน้าต่างกระจกสี เราจะทอประกายตอนดวงอาทิตย์ขึ้น แต่เมื่อความมืดเข้าปกคลุม ความงดงามที่แท้จริงจะปรากฏให้เห็นก็ต่อเมื่อมีแสงสว่างจากภายใน”

การมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และพัฒนาการสอนของตัวเราไปตลอดชีวิตผ่านการทบทวนตนเอง จะคอยช่วยเติมเชื้อไฟให้กับแสงสว่างภายในตัว และเมื่อความมืดมนมาเยือนชีวิตการทำงาน แสงสว่างในตัวก็จะยังคงส่องสว่างต่อไป ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพอันไม่รู้จบแห่งการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

จงต่อสู้เพื่อเปลี่ยนชั้นเรียนของเราให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการพัฒนา ที่ซึ่งนักเรียนจะพัฒนาระดับสติปัญญา พัฒนาจิตใจ พัฒนาข้อมูลความรู้ พัฒนาความสงสัยใคร่รู้ และพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น จงส่งเสริมให้นักเรียนพยายามทำตามเป้าหมายต่อเนื่องเรื่อยไป เพื่อเติบโตไปเป็นคนแบบที่พวกเขาอยากจะเป็น

 

The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่