อภิรดา มีเดช เรื่อง
“ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ฉันถึงกับเข่าอ่อน แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ ฉันหยัดยืนขึ้นและเริ่มตั้งคำถาม” นาดีน เบิร์ก แฮร์ริส (Nadine Burke Harris) กุมารแพทย์และผู้เขียนหนังสือ ลบบาดแผลลึกสุดใจ: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังภาวะเครียดเป็นพิษ และแนวทางเยียวยาแผลใจวัยเยาว์ (The Deepest Well: Healing the Long-Term Effects of Childhood Trauma and Adversity) ได้แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสผู้ป่วยที่คลินิกโรคเด็กประจำชุมชนในย่านเบย์วิวฮันเทอร์สพอยต์ของซานฟรานซิสโก
ในย่านชุมชนชาวผิวสีรายได้ต่ำและขาดแคลนทรัพยากรซึ่งซุกตัวอยู่ในเมืองอันมั่งคั่งและเพียบพร้อมด้วยทรัพยากรทั้งหมดทั้งมวลในโลก ทุกๆ วันที่ศูนย์สุขภาพไม่แสวงผลกำไรแห่งนี้ เธอได้พบกับผู้ป่วยตัวน้อยที่ต้องรับมือกับบาดแผลทางใจและความเครียดหนักหนาสาหัส
“ฉันเชื่อว่าเราเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์เลวร้ายเสียใหม่และยุติวงจรภาวะความเครียดเป็นพิษที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้”
นอกจากจะได้เข้าใจว่าประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (adverse childhood experience – ACE) ดำเนินไปอย่างไรในตัวผู้คนแล้ว ที่สำคัญกว่านั้น เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ยังช่วยให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือเยียวยาซึ่งเริ่มจากคนคนหนึ่งหรือชุมชนแห่งหนึ่ง แต่ทรงพลังเพียงพอที่จะปฏิวัติสุขภาพของคนทั้งประเทศ
ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ หรือมะเร็ง อาจมาจากสิ่งที่ไม่คาดคิด
ปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะตื่นขึ้นมาพบว่า ร่างกายซีกหนึ่งของเรากลายเป็นอัมพาต (และเป็นโรคอื่นๆ อีกสารพัด) พบได้ทั่วไปจนเราไม่ทันสังเกต สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สารอันตรายอย่างตะกั่ว แร่ใยหิน หรือว่าบรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารเคมี แล้วมันคืออะไร
คำตอบคือ เหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก และนี่คือสิ่งที่ประชากรสองในสามของสหรัฐอเมริกาประสบพบเจอ
คนส่วนใหญ่ไม่ได้เฉลียวใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในวัยเด็กจะเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง แต่พวกเราจำนวนมากตระหนักดีว่า เมื่อบางคนประสบเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็ก อาจเกิดผลกระทบทางอารมณ์และจิตวิทยาตามมา
สำหรับผู้โชคร้าย เรารู้ว่าผลร้ายที่สุดนั้นเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเสพติด วงจรความรุนแรง การต้องโทษคุมขัง หรือปัญหาสุขภาพจิต
ความจริงคือ ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามมากแค่ไหน ผู้มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กก็ยังมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไป
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เหตุใดการประสบความเครียดในวัยเด็กจึงกลายเป็นปัญหาสุขภาพในวัยกลางคนหรือกระทั่งวัยเกษียณ เรามีหนทางรักษาที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ เราทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องสุขภาพของตัวเราเองและลูกๆ
หลักฐานอ้างอิงสำคัญ
มีงานวิจัยอย่างน้อย 5 ชิ้นที่ช่วยให้เราเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กและปัญหาสุขภาพอย่างโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง ในวัยกลางคน ระบบการตอบสนองต่อความเครียด ภาวะเจ็บป่วยบางอย่างที่กระทบกระเทือนพัฒนาการจนแสดงออกตั้งแต่ยังไม่พ้นวัยรุ่น ไปจนถึงงานวิจัยในแม่หนูและลูกๆ ที่พิสูจน์ว่าพฤติกรรมด้านการตอบสนองต่อความเครียดนั้นอาจคงอยู่ไปตลอดชีวิตและส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น แต่ที่น่าแปลกใจคือไม่ได้เกิดขึ้นแบบเดียวกันกับหนูทุกตัว
1. ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กกับผลเสียต่อสุขภาพ
งานศึกษาเมื่อปี 1998 ตีพิมพ์ใน American Journal of Preventative Medicine ชื่อว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างทารุณกรรมในวัยเด็ก และความระหองระแหงในครัวเรือนกับสาเหตุการเสียชีวิตหลักในผู้ใหญ่: งานศึกษาประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก” โดย ดร.วินเซนต์ เฟลิตตี ดร.โรเบิร์ต แอนดา และคณะ รายงานข้อมูลที่ได้จากคน 17,421 คน ในซานดีเอโก สหรัฐฯ
พวกเขาได้จำแนกคำจำกัดความของการกระทำทารุณ การปล่อยปละละเลย และความระหองระแหงในครัวเรือน ออกเป็นประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กที่เฉพาะเจาะจง 10 ประเภท ได้แก่
- ทารุุณกรรมทางอารมณ์ (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า)
- ทารุุณกรรมทางร่างกาย (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า)
- ทารุุณกรรมทางเพศ (มีการแตะเนื้้อต้องตัว)
- การปล่อยปละละเลยทางร่างกาย
- การปล่อยปละละเลยทางอารมณ์
- การใช้สารในทางที่ผิดในครัวเรือน (เช่น อาศัยอยู่กับผู้ป่วยโรคพิษสุราหรือผู้มีปัญหาการใช้สารในทางที่ผิด)
- ความเจ็บป่วยทางจิตในครัวเรือน (เช่น อาศัยอยู่กับผู้มีภาวะซึมเศร้า ความเจ็บป่วยทางจิต หรือผู้เคยพยายามฆ่าตัวตาย)
- แม่ถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรง
- การหย่าร้างหรือการแยกกันอยู่ของพ่อแม่
- พฤติกรรมอาชญากรในครอบครัว (เช่น สมาชิกในครอบครัวติดคุก)
ผลการศึกษาพบว่า ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กนั้นพบได้ทั่วไปจนน่าประหลาดใจ มีประชากร 67 เปอร์เซ็นต์ มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กอย่างน้อยหนึ่งประเภท และ 12.6 เปอร์เซ็นต์มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กอย่างน้อยสี่ประเภท
นอกจากนี้งานศึกษายังพบความสัมพันธ์ของการตอบสนองต่อปริมาณที่ได้รับระหว่างประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กกับผลเสียต่อสุขภาพ พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งคนคนนั้นมีคะแนนประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กสูงเท่าไร ความเสี่ยงต่อสุขภาพของเขาหรือเธอก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่างเช่น ผู้มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กอย่างน้อยสี่ประเภทมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งสูงกว่า สองเท่า และมีแนวโน้มเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือซีโอพีดี (chronic obstructive pulmonary disease – COPD) สูงกว่า สามเท่าครึ่ง เมื่อเทียบกับผู้ไม่มีประสบการณ์เหล่านี้
นี่คือหลักฐานอันทรงพลังของความเชื่อมโยงที่นาดีนพบระหว่างการรักษาผู้ป่วยเด็ก แต่ไม่เคยเห็นบทพิสูจน์ในงานวิจัยต่างๆ หลังจากได้อ่านงานศึกษาประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กในปี 2008 เธอก็ค้นพบความเชื่อมโยงทางการแพทย์ระหว่างความเครียดจากการทารุณกรรมและการปล่อยปละละเลยในวัยเด็กกับความเปลี่ยนแปลงและความเสียหายทางร่างกายที่อาจคงอยู่ไปตลอดชีวิต
“บัดนี้ดูเหมือนจะชัดเจนแล้วว่า มีการสัมผัสที่เป็นอันตรายในบ่อที่เบย์วิวฮันเทอร์สพอยต์ มันไม่ใช่ตะกั่ว ไม่ใช่สิ่งปฏิกูลที่เป็นพิษ ไม่ใช่แม้กระทั่งตัวความยากจนเอง แต่เป็นเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็กต่างหากที่กำลังทำให้ผู้คนเจ็บป่วย”
– นาดีน เบิร์ก แฮร์ริส
4 คำถามหลักระหว่างการวินิจฉัยผู้ป่วย
- การสัมผัสปัจจัยเสี่ยง (บาดแผลทางใจ/เหตุการณ์เลวร้าย) คือสาเหตุที่ทำให้เจ็บป่วยหรือไม่
- การสัมผัสปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวกลายเป็นสาเหตุได้อย่างไร
- แพทย์หาทางพิสูจน์ได้หรือไม่
- แพทย์ทำอะไรกับปัญหานี้ได้บ้างในทางการแพทย์
2. ระบบการตอบสนองต่อความเครียด
งานศึกษาในปี 2009 โดยแจ็กเกอลีน บรูซ (Jacqueline Bruce) ฟิล ฟิชเชอร์ (Phil Fisher) และคณะ ทำวิจัยเพื่อระบุให้ได้ว่าประสบการณ์เลวร้ายของเด็กอุปถัมภ์ก่อนวัยเรียนมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของระบบการตอบสนองต่อความเครียด โดยเฉพาะแกนเอชพีเอหรือไม่
พวกเขาวิเคราะห์ระดับคอร์ติซอล (ฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งเมื่อเกิดความเครียด) ของเด็กอุปถัมภ์ 117 คน และเด็กจากครอบครัวรายได้ต่ำ 60 คน ซึ่งไม่ได้ถูกปฏิบัติอย่างทารุณ
ผลการศึกษาในกลุ่มเด็กอุปถัมภ์แสดงให้เห็นระดับคอร์ติซอลที่ผิดปกติเมื่อเทียบกับเด็กๆ ที่ไม่มีประสบการณ์เลวร้ายอย่างเดียวกัน
ฟิชเชอร์ยังได้ร่วมงานกับคณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยเด็กที่กำลังมีพัฒนาการ ในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามขนานใหญ่เพื่อรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่า เหตุการณ์เลวร้ายในวัยเยาว์ส่งผลกระทบต่อสมองและร่างกายที่กำลังมีพัฒนาการของเด็กๆ อย่างไร
คณะกรรมการก็พบเช่นเดียวกันว่า ระบบการตอบสนองต่อความเครียดที่ผิดปกติคือแกนกลางของปัญหานี้ ประเด็นสำคัญคือ เมื่อการตอบสนองต่อความเครียดถูกกระตุ้นบ่อยเกินไป หรือถ้าปัจจัยก่อความเครียดรุนแรงเกินไป ร่างกายอาจสูญเสียความสามารถที่จะระงับการทำงานของแกนเอชพีเอและแกนเอสเอเอ็ม หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ตัวควบคุมอุณหภูมิความเครียดของร่างกายชำรุด”
3 ประเภทการตอบสนองต่อความเครียด
คณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้ระบุการตอบสนองต่อความเครียดไว้ 3 ประเภท ได้แก่
1. การตอบสนองต่อความเครียดเชิงบวก เป็นส่วนที่ปกติและสำคัญของพัฒนาการที่ดีต่อสุขภาพ มีลักษณะเด่นคืออัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้นเป็นระยะสั้นๆ และการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพียงเล็กน้อย เช่น นักกีฬาที่เกิดความกังวลก่อนวันแข่งขัน หรือความรู้สึกก่อนเข้ารับวัคซีน
2. การตอบสนองต่อความเครียดที่ทนได้ กระตุ้นระบบเตือนภัยของร่างกายในระดับสูงกว่า เนื่องจากประสบความยากลำบากรุนแรงกว่า และกินเวลานานกว่า เช่น การสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการบาดเจ็บที่น่าหวาดหวั่น
3. การตอบสนองต่อความเครียดที่เป็นพิษ อาจเกิดขึ้นเมื่อเด็กคนหนึ่งประสบเหตุการณ์เลวร้ายที่รุนแรง เกิดซ้ำบ่อยครั้ง และ/หรือกินเวลายืดเยื้อ เช่น ทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางอารมณ์ การปล่อยปละละเลย การใช้สารในทางที่ผิดหรือความเจ็บป่วยทางจิตของผู้ดูแล การเผชิญความรุนแรงและ/หรือภาระความยากลำบากทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่อย่างเพียงพอ การกระตุ้นระบบการตอบสนองต่อความเครียดอันยืดเยื้อเช่นนี้อาจขัดขวางพัฒนาการของโครงสร้างสมองและระบบอวัยวะอื่นๆ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับความเครียดและความบกพร่องด้านการรู้คิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
3. ภาวะความเครียดเป็นพิษ: วิธีที่ความเครียดส่งผลต่อสมอง
ดร.วิกเตอร์ แคร์เรียน (Victor Carrion) จิตแพทย์เด็กและผู้อำนวยการโปรแกรมความเครียดในวัยเยาว์และความวิตกกังวลในเด็ก ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทำการศึกษาผู้ป่วย 702 คน อายุระหว่าง 10-16 ปี โดยกำหนดเกณฑ์ไว้ว่า ผู้เข้าร่วมต้องเคยประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ และมีอาการพีทีเอสดี
จากนั้นทำการบันทึกภาพเอ็มอาร์ไอและตรวจวัดปริมาณคอร์ติซอลในน้ำลายของเด็กแต่ละคนวันละสี่ครั้ง เมื่อได้ภาพสแกนสมองมาแล้วก็ตรวจดูขนาดฮิปโปแคมปัสของเด็กแต่ละคน โดยวัดปริมาตรในแบบสามมิติ พบว่า ยิ่งเด็กคนหนึ่งมีอาการมาก ระดับคอร์ติซอลก็ยิ่งสูงและปริมาตรฮิปโปแคมปัสก็ยิ่งน้อย
หลังการตรวจวัดขนาดฮิปโปแคมปัสครั้งแรก พวกเขาตรวจวัดเด็กๆ กลุ่มเดิมอีกครั้งในอีก 12-18 เดือนถัดมา แม้ว่าเด็กๆ เหล่านี้จะไม่ได้ประสบเหตุการณ์สะเทือนใจอีกต่อไป แต่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ด้านการเรียนรู้และความจำยังคงหดเล็กลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าความเครียดก่อนหน้านั้นยังคงมีผลกระทบต่อระบบประสาท แคร์เรียนรายงานผลการศึกษาในวารสาร Pediatrics เดือนเมษายน 2007
หนทางยังอีกยาวไกลกว่าเราจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอาการเชิงพฤติกรรมของภาวะความเครียดเป็นพิษ (toxic stress) แสดงถึงผลการวินิจฉัยที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงหรือไม่ ปัญหาอย่างหนึ่งคือการวินิจฉัยภาวะความเครียดเป็นพิษต่างจากโรคสมาธิสั้นตรงที่ยังไม่ปรากฏในงานวิจัยทางการแพทย์
4. ภาวะความเครียดเป็นพิษกับระบบภูมิคุ้มกัน
เยอร์เกอร์ คาร์เลน (Jerker Karlen) นักวิจัยชาวสวีเดน จากมหาวิทยาลัยลินเชอปิง (Linköping University) และผู้ร่วมงาน ทำการศึกษาในปี 2015 พบว่า เด็กๆ ที่เผชิญความเครียดก่อนวัยอันควรอย่างน้อยสามประเภทมีระดับคอร์ติซอลสูงขึ้น และมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพทั่วไปในวัยเด็กมากขึ้น
ปัญหาสุขภาพที่เด็กๆ ต้องประสบ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (ไข้หวัด) ภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (หวัดลงกระเพาะ) และการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ
อีกงานวิจัยในประเด็นใกล้เคียงกันมาจากทีมวิจัยในเมืองดะนีดิน ประเทศนิวซีแลนด์ แสดงให้เห็นว่า อันที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงของระดับการอักเสบนั้นตรวจวัดได้
พวกเขาติดตามกลุ่มคนจำนวน 1,000 คนเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยคอยสังเกตและบันทึกข้อมูลสุขภาพที่สำคัญจำนวนหนึ่งในช่วงเวลานั้น นักวิจัยที่ดะนีดินค้นพบว่า แม้ผ่านไป 20 ปีหลังจากผู้เข้าร่วมงานวิจัยเหล่านี้ถูกปฏิบัติอย่างทารุณตั้งแต่เด็ก แต่พวกเขายังมีตัวบ่งชี้การอักเสบสี่ประการสูงกว่าผู้ไม่เคยถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย
สิ่งที่ทำให้งานศึกษาชิ้นนี้ช่วยเสริมข้อมูลสำคัญให้งานวิจัยเกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กคือ มีการรายงานเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็กของผู้ป่วย ในช่วงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเน้นให้เห็นความเป็นเหตุเป็นผลของเรื่องนี้ด้วยการบันทึกว่าเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นก่อนความเสียหายทางชีววิทยา
5. พัฒนาการด้านการตอบสนองต่อความเครียดจากการทดลองในหนู
งานศึกษาอันเป็นหมุดหมายสำคัญมาจาก ดร.ไมเคิล มีนีย์ (Michael Meaney) และเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ แคนาดา ในปี 2005
มีนีย์และคณะพิจารณาแม่หนูและลูกหนูสองกลุ่ม พวกเขาสังเกตเห็นว่าหลังจากนักวิจัยจับต้องลูกหนู แม่หนูจะปลอบประโลมลูกๆ ที่เครียด ด้วยการเลียทำความสะอาดเนื้อตัวให้ โดยพื้นฐานแล้วนั่นเทียบเท่าเวลาที่มนุษย์ได้รับการกอดจูบ
ที่มา: https://www.meaney.lab.mcgill.ca/
สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่แม่ทุกตัวจะทำอย่างนั้นเท่าๆ กัน แม่หนูบางตัวแสดงพฤติกรรมเลียทำความสะอาดตัวลูกในระดับสูง ขณะที่แม่ตัวอื่นๆ แสดงพฤติกรรมดังกล่าวในระดับต่ำ
นักวิจัยสังเกตเห็นว่าพัฒนาการด้านการตอบสนองต่อความเครียดของลูกหนูได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่แม่ “เลียเนื้อตัวให้มาก” หรือ “ไม่ค่อยเลียเนื้อตัวให้” พวกเขาพบว่า เมื่อลูกที่แม่เลียเนื้อตัวให้มากกว่าถูกนักวิจัยจับต้องหรือเกิดความเครียดจากสาเหตุอื่น จะมีระดับฮอร์โมนความเครียด รวมทั้งคอร์ติโคสเตอโรนต่ำกว่า
ปรากฏการณ์การเลียเนื้อตัวมากซึ่งนำไปสู่ระดับความเครียดต่ำนี้ยังแสดงให้เห็นรูปแบบความสัมพันธ์ของการตอบสนองต่อปริมาณที่ได้รับอีกด้วย กล่าวคือ ยิ่งแม่เลียทำความสะอาดเนื้อตัวให้ลูกมากเท่าไร ลูกจะยิ่งมีระดับฮอร์โมนความเครียดต่ำเท่านั้น นอกจากนี้ ลูกหนูที่แม่เลียเนื้อตัวให้มากกว่ายังมี “ตัวควบคุมอุณหภูมิความเครียด” ที่ไวกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าด้วย
ในทางตรงกันข้าม ลูกหนูที่แม่ไม่ค่อยเลียเนื้อตัวให้นั้นไม่เพียงมีระดับคอร์ติโคสเตอโรนพุ่งสูงกว่าเมื่อได้รับปัจจัยก่อความเครียด (ในกรณีนี้คือการถูกกักขังไว้ 20 นาที) แต่พวกมันยังระงับการตอบสนองต่อความเครียดได้ยากกว่าลูกหนูที่แม่เลียเนื้อตัวให้มากอีกด้วย
พฤติกรรมการเลียทำความสะอาดเนื้อตัวที่เกิดขึ้นในช่วง 10 วันแรกของชีวิตลูกหนูคือตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงด้านการตอบสนองต่อความเครียดซึ่งคงอยู่ไป ตลอดชีวิต
ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงนี้ยังถ่ายทอดสู่ รุ่นต่อไป เพราะลูกหนูเพศเมียที่แม่เลียเนื้อตัวให้มากจะกลายเป็นแม่ที่เลียเนื้อตัวให้ลูกมากเช่นกันเมื่อมีลูกของตัวเอง
มีนีย์และทีมยังศึกษาต่อเนื่องด้วยการสลับลูกหนูบางตัวในกลุ่มที่เคยมีแม่เลียตัวให้มากไปให้แม่หนูที่ไม่ค่อยเลียลูกตั้งแต่เกิด และลูกหนูที่แม่ไม่ค่อยเลียตัวให้ไปอยู่กับแม่ที่เลียตัวให้มาก
พวกเขาพบว่า ลูกหนูที่เกิดจากแม่ซึ่งเลียเนื้อตัวลูกมากแต่ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่ที่ไม่ค่อยเลียเนื้อตัวลูก มันจะโตขึ้นเป็นหนูตัวเต็มวัยขี้กังวล มีฮอร์โมนความเครียดระดับสูง และเป็นแม่ที่ไม่ค่อยเลียเนื้อตัวลูกเมื่อมีลูกของตัวเอง มีนีย์และคณะพบว่าความแตกต่างในการเลียทำความสะอาดเนื้อตัวที่เกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ (ในกรณีนี้คือช่วงเวลา 10 วันแรก) สร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวง
พันธุกรรม VS การเลี้ยงดู
จากงานวิจัยของมีนีย์ซึ่งมุ่งค้นหาว่า พฤติกรรมการลดความเครียดจากแม่สู่ลูกเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อการตอบสนองต่อความเครียดและพฤติกรรมของหนูไปตลอดชีวิตได้อย่างไร
พูดอีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาพบว่า แท้จริงแล้วแม่หนูถ่ายทอดข้อความอย่างหนึ่งไปสู่ลูกๆ เป็นข้อความที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการวางระบบการตอบสนองต่อความเครียดของลูกๆ ทว่ากลไกที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นดำเนินไปอย่างไร กลับไม่ใช่เรื่องของพันธุศาสตร์ แต่เป็นเรื่องทาง เอพิเจเนติก
คนจำนวนมากยังคงมองว่ายีนกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ คุณเกิดมาพร้อมรหัสพันธุกรรมบางอย่างที่กำหนดลักษณะทางชีววิทยาและสุขภาพของคุณ และคุณก็มีประสบการณ์ซึ่งปั้นแต่งสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่านั้น เช่น อุปนิสัยและค่านิยม การแบ่งแยกยีนกับสภาพแวดล้อมไว้คนละมุมเช่นนี้จุดประเด็นถกเถียงมาหลายปีว่าระหว่างพันธุกรรมกับการเลี้ยงดู อย่างไหนสำคัญกว่ากัน
ผู้คนโต้แย้งเรื่องนี้กันมายาวนาน แต่เมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ก็มีประเด็นให้โต้แย้งน้อยลงทุกที ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์พูดได้เต็มปากว่าเราแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันไม่ได้ อันที่จริงในปัจจุบันเรารู้แล้วว่า ทั้ง สภาพแวดล้อมและรหัสพันธุกรรมมีส่วนกำหนดปั้นแต่ง ทั้ง ลักษณะทางชีววิทยาและพฤติกรรม
ความเครียดที่ฝังลึกระดับ “เอพิเจเนติก”
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ในเซลล์มีทั้งจีโนม (genome คือรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของคุณ) และเอพิจีโนม (epigenome) อันเป็นเครื่องหมายทางเคมีอีกชั้นหนึ่งซึ่งอยู่ด้านบนดีเอ็นเอ และเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องอ่านและถอดรหัสยีนใดเป็นโปรตีน รวมทั้งต้องไม่อ่านและไม่ถอดรหัสยีนใดบ้าง
คำว่าเอพิเจเนติกนั้นมีความหมายว่า “เหนือจีโนม” นั่นเอง เครื่องหมายทางเอพิเจเนติกเหล่านี้จะส่งต่อจากพ่อแม่สู่ลูกควบคู่ไปกับดีเอ็นเอ
การกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดคือหนทางสำคัญหนึ่งที่สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ทางเอพิเจเนติกได้ เมื่อร่างกายพยายามปรับตัวเข้ากับความเครียดในประสบการณ์ของคุณ มันจะกระตุ้นหรือยับยั้งการแสดงออกของยีนบางยีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยีนที่ควบคุมการตอบสนองต่อเหตุการณ์ตึงเครียดในอนาคต
กระบวนการที่เอพิจีโนมทำงานร่วมกับจีโนมในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมดังกล่าวเรียกว่า การควบคุมทางเอพิเจเนติก และการควบคุมนี้ทำให้เราเข้าใจว่า เหตุใดภาวะความเครียดเป็นพิษจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราได้มากมายไป ตลอดชีวิต
เมื่อเด็กวัยสี่ขวบกระดูกหัก การบาดเจ็บนั้นไม่ได้เข้ารหัสไว้ในเอพิจีโนมของเขา จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเขาในระยะยาว แต่เมื่อเด็กวัยสี่ขวบประสบความเครียดเรื้อรังและเหตุการณ์เลวร้าย ยีนบางส่วนที่ควบคุมการตอบสนองต่อความเครียดของสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบฮอร์โมนจะถูกกระตุ้นให้แสดงออก ขณะที่ยีนอื่นๆ ถูกระงับการแสดงออก
และหากปราศจากการแทรกแซง มันจะคงอยู่ในรูปแบบนั้นพร้อมกับเปลี่ยนลักษณะการทำงานของร่างกายเด็กคนนั้นไป และบางกรณีก็นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เหตุการณ์เลวร้ายในวัยเยาว์กับผลกระทบร้ายแรงต่อพัฒนาการเด็ก
งานวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาอธิบายว่า เหตุใดเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเยาว์จึงส่งผลกระทบร้ายแรงเป็นพิเศษต่อพัฒนาการของเด็ก ระยะก่อนเกิดและวัยเด็กตอนต้นเป็นหน้าต่างบานพิเศษที่เปิดสู่โอกาส เพราะเป็น “ระยะวิกฤตและระยะอ่อนไหว” ของพัฒนาการ
ระยะวิกฤต คือช่วงพัฒนาการที่การมีหรือไม่มีประสบการณ์อย่างหนึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจแก้ไขได้
ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับระยะวิกฤตได้มาจากงานวิจัยเกี่ยวกับการเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตา (ความสามารถในการรับรู้ความลึกและสร้างภาพสามมิติ จากปัจจัยนำเข้าของทั้งสองตา) เมื่อทารกเกิดมาพร้อมภาวะที่ตาสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน (ตาเขหรือตาขี้เกียจ) สมองจะประสบปัญหาในการสร้างภาพสามมิติที่สอดคล้องกันและการรับรู้ความลึกจะบกพร่อง แต่ถ้าระบุและแก้ไขภาวะที่ตาสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกันภายในช่วงอายุไม่เกินเจ็ดหรือแปดขวบ เด็กคนนั้นจะพัฒนาการเห็นเป็นภาพเดียวด้วยสองตาได้
อย่างไรก็ตาม หลังวัยแปดขวบหน้าต่างบานนั้นจะปิดลง และจะสูญเสียโอกาสมองเห็นเป็นภาพสามมิติตามปกติอย่างถาวร นับตั้งแต่มีการค้นพบระยะวิกฤตในคอร์เทกซ์ ส่วนการมองเห็นของสมอง นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าวงจรสมองอีกมากมายแสดงให้เห็นระยะวิกฤตเช่นกัน
ระยะอ่อนไหว คือช่วงเวลาที่สมองตอบสนองต่อสิ่งเร้าในสภาพแวดล้อมเป็นพิเศษ แต่ที่ต่างจากระยะวิกฤตก็คือ หน้าต่างไม่ได้ปิดสนิทเมื่อสิ้นสุดระยะอ่อนไหว เพียงแค่มีขนาดเล็กลงมากเท่านั้น
พัฒนาการทางภาษาเป็นตัวอย่างดีเยี่ยมของวงจรประสาทที่แสดงให้เห็นระยะอ่อนไหว ทุกคนรู้ว่าการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ ตอนเป็นเด็กนั้นง่ายกว่าตอนเป็นผู้ใหญ่มาก
ยาแก้พิษ: ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก
นอกเหนือจากการตรวจคัดกรองประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ระหว่างการตรวจสุขภาพประจำปีของเด็กทุกคน แผนการรักษายังให้ความสำคัญกับภาวะความเครียดเป็นพิษอย่างยิ่ง
ผู้เขียนเริ่มมองหาโมเดลการรักษาที่มีหลักฐานรองรับ ซึ่งพุ่งเป้าไปยังลักษณะทางชีววิทยาที่แฝงอยู่เบื้องหลังของเด็กๆ พ่อแม่ และชุมชนที่กำลังรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์เลวร้าย
ในปี 2008 นอกจากคลินิกของนาดีนแล้ว เธอก็ไม่รู้จักคลินิกกุมารเวชศาสตร์ที่ตรวจคัดกรองประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กเป็นประจำเลย ส่วนใหญ่กุมารแพทย์จะสังเกตว่าผู้ป่วยมีภาวะความเครียดเป็นพิษเมื่อมีอาการแล้ว เช่น ปัญหาเชิงพฤติกรรมหรือโรคสมาธิสั้น นั่นคือข่าวดีสำหรับผู้ป่วย เพราะหมายความว่าพวกเขามีแนวโน้มจะได้ส่งตัวไปหาผู้ประกอบวิชาชีพสาขาสุขภาพจิต หนึ่งในสาขาเฉพาะทางด้านการดูแลสุขภาพไม่กี่สาขาที่ตระหนักเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็กกับความเจ็บป่วย
โชคร้ายที่แพทย์จำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าโรคทางคลินิกอย่างโรคหืดและโรคเบาหวานอาจเป็นการแสดงออก ของภาวะความเครียดเป็นพิษเช่นกัน
อันที่จริงจิตบำบัดเป็นหนึ่งในการแทรกแซงด้วยการบำบัดซึ่งได้รับการสนับสนุนมากที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการภาวะความเครียดเป็นพิษ ไม่ว่าอาการนั้นจะเป็นอาการเชิงพฤติกรรมหรือไม่ก็ตาม
เมื่อแพทย์ปฐมภูมิเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพจิตสำหรับผู้ป่วยของพวกเขาได้ง่าย ผู้ป่วยเหล่านั้นจะพยายามเข้ารับการรักษาที่จำเป็นต่อพวกเขาเองมากขึ้น ในการนี้ แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับช่วยเหลือแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กและภาวะความเครียดเป็นพิษ (ในเชิงสถิติก็คือแพทย์ทุกคนในอเมริกา) คือบริการดูแลสุขภาพเชิงพฤติกรรมแบบบูรณาการ นั่นหมายถึงการมีบริการดูแลสุขภาพจิตในคลินิกกุมารแพทย์ (หรือแพทย์ปฐมภูมิ) นั่นเอง
นี่คือแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่กำลังแพร่หลาย เป็นแนวปฏิบัติซึ่งทุกวันนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลบริการดูแลสุขภาพระดับชาติแทบทุกแห่ง รวมทั้งกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ
ความเชื่อที่ผิด: เด็กเล็กและทารกไม่ต้องการการรักษาบาดแผลทางใจ
เพราะพวกเขาไม่เข้าใจหรือจำประสบการณ์ที่ตนเผชิญไม่ได้
ดร.อลิเซีย ลีเบอร์แมน (Alicia Lieberman) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานฟรานซิสโก นักจิตวิทยาเด็กชื่อดังผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัดสำหรับเด็กและพ่อแม่ คือผู้หักล้างความเชื่อข้างต้น
ผลงานของเธอตั้งอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็กมักส่งผลกระทบร้ายแรงเป็นพิเศษต่อทารกและเด็กเล็ก
หลังจากเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยอยู่หลายปี ดร.ลีเบอร์แมนก็เข้าใจว่า แท้จริงแล้วเหตุที่เด็กๆ จำเป็นต้องแต่งเรื่องขึ้นจากเหตุการณ์ชวนสับสนนั้นเป็นเรื่องปกติอย่างยิ่ง เด็กๆ ต้องให้ความหมายแก่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา เมื่อไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน พวกเขาจึงผูกเรื่องขึ้นมา การบรรจบกันระหว่างเหตุการณ์สะเทือนใจกับการถือตัวเองเป็นศูนย์กลางตามพัฒนาการในวัยเด็กมักทำให้เด็กเล็กคิดว่าฉันก่อเรื่องนี้ขึ้น
ในที่สุด ดร.ลีเบอร์แมนได้จัดระบบระเบียบปฏิบัติจิตบำบัดสำหรับเด็กและพ่อแม่ และแสดงประสิทธิผลของมันในการทดลองแบบสุ่มที่แยกจากกันห้าครั้ง
ปัจจุบันจิตบำบัดสำหรับเด็กและพ่อแม่ได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ และเป็นหนึ่งในวิธีรักษาบาดแผลทางใจสำหรับเด็กเล็กอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ครอบครัวเริ่มเยียวยาตัวเองได้
แนวทางจิตบำบัดสำหรับเด็กและพ่อแม่อาศัยความเข้าใจที่ว่า คุณภาพของความสัมพันธ์และระดับความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับลูกมีความสำคัญยิ่งต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุข ซึ่งจิตบำบัดแนวทางนี้ได้แนะนำให้แก่ชาร์ลีนและเนีย ดังกรณีศึกษาที่ผู้เขียนเพิ่งยกตัวอย่างไป
แก้ไขประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กตอนเป็นผู้ใหญ่ทันไหม?
แล้วจะทำอย่างไรถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่และมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก มีวิธีรักษากรณีนี้หรือไม่
“ผลกระทบจากการแทรกแซงภาวะความเครียดเป็นพิษในผู้ใหญ่ อาจไม่น่าทึ่งเท่ากับในลูกๆ ของเรา แต่ก็ยังสร้างความแตกต่างอย่างมากได้” นาดีน กล่าวและย้ำว่าเรื่องนี้ฟังดูเรียบง่าย แต่ไม่ใช่การพูดเกินจริงเลย สิ่งสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวคือการตระหนักว่าปัญหาต้นตอคืออะไร
ผู้เขียนมักอธิบายให้ผู้ป่วยฟังว่า คนจำนวนมากที่มีการตอบสนองต่อความเครียดมากเกินไปไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในร่างกายตัวเอง จึงใช้เวลาทั้งหมดไล่รักษาตามอาการแทนที่จะมุ่งรักษาต้นตอของปัญหา ทั้งที่หากเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นก็เท่ากับย่างเท้าก้าวแรกสู่การเยียวยาแล้ว
6 ข้อที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วยเพื่อบรรเทาภาวะความเครียดเป็นพิษ
- การนอนหลับ
- การออกกำลัง
- โภชนาการ
- การเจริญสติ
- สุขภาพจิต
- ความสัมพันธ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
สิ่งเหล่านี้ล้วนสำคัญไม่แพ้กันสำหรับผู้ใหญ่ การตรวจสอบว่าคุณทำหกอย่างนี้ได้ดีแค่ไหนและการพูดคุยกับแพทย์เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าจำเป็น คุณอาจขอให้แพทย์ส่งตัวไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ นักโภชนาการ หรือผู้ให้บริการดูแลสุขภาพจิตได้
อย่างไรก็ตาม แนวคิดพื้นฐานคือ ยิ่งทำทั้งหกข้อที่กล่าวไปมากแค่ไหน คุณก็ยิ่งลดฮอร์โมนความเครียด ลดการอักเสบ เพิ่มความยืดหยุ่นของสมอง และชะลอการแก่ตัวของเซลล์ได้มากเท่านั้น
ข้อสังเกตสำคัญอีกประการที่ผู้เขียนพูดถึงคือ ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กสูงมีความเสี่ยงจะเกิดปัญหาสุขภาพสูงขึ้น เพราะเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเขาที่จะต้องถามแพทย์ว่าเคยได้ยินเรื่องงานศึกษาประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กหรือไม่ แพทย์จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าคะแนนประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กและประวัติครอบครัว ส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิดของคุณอย่างไร จากนั้นคุณกับแพทย์ก็สามารถร่วมกันวางแผนป้องกันและตรวจหาแต่เนิ่นๆ
การปฏิวัติอันแสนเรียบง่าย
เมื่อเราเข้าใจว่าที่มาของปัญหามากมายในสังคมคือการเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ทางออกก็แสนเรียบง่าย นั่นคือ ลดระดับเหตุการณ์เลวร้ายที่เด็กต้องเผชิญและเพิ่มความสามารถของผู้ดูแลในการเป็นตัวกันกระแทก
หนังสือเล่มนี้นับเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งของผู้เขียน ซึ่งยิ่งทรงพลังเมื่อเธอเปิดเผยประสบการณ์ส่วนตัวในวัยเด็กที่มีส่วนผลักดันให้เธอทุ่มเทศึกษาและก้าวเข้ามาปฏิวัติองค์ความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กอย่างจริงจังมากว่าทศวรรษ
“ฉันเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อพ่อแม่ พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง พ่อแม่อุปถัมภ์ และปู่ย่าตายายทุกคน ตลอดจนผู้ดูแลทุกรูปแบบซึ่งกำลังหาทางให้เด็กตัวน้อยๆ ที่พวกเขาดูแลมีโอกาสที่ดีที่สุดในโลกนี้ แม้ชีวิตจะส่งอุปสรรคต่างๆ มาขวางทางและแม้บ่อยครั้งที่พวกเขาเองก็มีประวัติพานพบเหตุการณ์เลวร้ายมาก่อน
“ฉันเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเด็กและเยาวชนทุกคนในโลกนี้ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายใหญ่หลวงเป็นพิเศษ และเพื่อผู้ใหญ่ที่สุขภาพได้รับผลกระทบจากมรดกตกทอดของวัยเด็ก
“ฉันหวังจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดบทสนทนา ไม่ว่าจะรอบโต๊ะอาหาร ในห้องทำงานแพทย์ ในการประชุมสมาคมผู้ปกครองและครู ในห้องพิจารณาคดี หรือที่สภาเทศบาล แต่ความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สุดของฉันคือการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการกระทำ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กก็ตาม”
หนังสือเล่มนี้คือการส่งมอบ ความกล้า ให้แก่ทุกคนเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหา และจากนั้นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ไม่เพียงสุขภาพของเรา แต่รวมถึงโลกของเราด้วยเช่นกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ
ลบบาดแผลลึกสุดใจ: วิทยาศาสตร์เบื้องหลังภาวะเครียดเป็นพิษ และแนวทางเยียวยาแผลใจวัยเยาว์
The Deepest Well: Healing the Long-Term Effects of Childhood Adversity
Nadine Burke Harris, M.D. เขียน
ลลิตา ผลผลา แปล