อ่าน “Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต”

เรื่อง: ชลิดา หนูหล้า

 

ทุกอย่างเริ่มต้นจากเด็กๆ ตลอดจนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง การนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง การสะท้อนคิด และการสร้างความร่วมมือ ที่สำคัญคือเริ่มเมื่อผู้ใหญ่เชื่อว่าเราสามารถเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมได้มากกว่าเพียงฝึกฝนให้พวกเขาอ่านออกเขียนได้ เริ่มจากการยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข

— เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต, หน้า 266-7

 

อ่าน “Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต”

 

การมีโรงเรียนที่ ‘ตอบโจทย์’ ช่างยากเสียนี่กระไร

เพราะโจทย์ของโรงเรียนและระบบการศึกษาที่ใช่ในศตวรรษที่ 21 นี้ไม่ธรรมดา พวกเราผู้ใหญ่ไม่เพียงต้องผลักดันเด็กๆ ให้สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แต่พวกเขาต้องเห็นคุณค่าของการเรียนรู้นั้นๆ จึงจะมีความใฝ่รู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต ต้องมีอุปนิสัยที่เหมาะสมแก่การรับมือโลกอันผันผวนหลังอำลาโรงเรียน เป็นพลเมืองโลกที่เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล เผชิญเหตุไม่คาดฝัน แก้ไขปัญหาในอนาคต ใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่ถูกคิดค้น และประกอบอาชีพที่เกินจินตนาการในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข

ช่างเป็นโจทย์ที่ท้าทาย พ่วงสารพันคำถามตอบยาก เด็กๆ ต้องมีองค์ความรู้ใด ต้องฝึกฝนอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จและมีชีวิตเปี่ยมสุข หลักสูตรใดจะเป็นคาถาสารพัดนึก และ นี่ คือคำตอบของไดแอน ทาเวนเนอร์ ผู้ก่อตั้งซัมมิต เครือโรงเรียนสุดล้ำที่พลิกโฉมการศึกษาอเมริกา เธอเลือกจะ “สร้างโรงเรียนใหม่จากศูนย์” เพื่อทำให้เด็กๆ ‘พร้อม’ ต่อความท้าทายที่ว่านั้นอย่างแท้จริง

 

https://www.youtube.com/watch?v=6IG7KnQ8zek

วิสัยทัศน์โรงเรียนเครือซัมมิต

 

ว่าด้วย ‘ความพร้อม’

นับวันงานที่เราต้องจัดการให้เสร็จสิ้นเพื่อก้าวหน้าต่อไปยิ่งชัดเจนและตรงไปตรงมาน้อยลง ชีวิตของเราซับซ้อนยุ่งเหยิง … นายจ้างต้องการเด็กที่มีเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมีทักษะการแก้ไขปัญหา รวมถึงมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมตั้งแต่เริ่มงานเพื่อปฏิบัติงานให้ลุล่วง พ่อแม่ก็หวังให้ลูกสามารถไตร่ตรองเพื่อดำเนินชีวิตต่อไปได้หากวันหนึ่งต้องตกงานโดยไม่คาดฝัน … สังคมของเราต้องการผู้ใหญ่ที่จัดการปัญหาเชิงจริยธรรมอันซับซ้อนได้ด้วยทักษะการตัดสินใจอันเฉียบคม คือพิจารณาข้อดีและข้อเสียได้ครบถ้วน ตลอดจนให้เหตุผลและตั้งสมมติฐานได้หลากหลาย

— หน้า 91

 

เป็นผลลัพธ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพึงปรารถนา และไม่ว่าใครก็คงเห็นพ้องว่าเป็น ‘ความพร้อม’ ต่ออนาคต พวกเราคาดหวังให้การสำเร็จการศึกษามีความหมายถึงเพียงนั้น คือบรรลุเป้าหมายแห่งการเคี่ยวกรำทักษะและพัฒนาปัญญาของมนุษย์ ปัญหาคือโรงเรียนในปัจจุบันให้ผลลัพธ์ดังที่ไดแอนคาดหมายได้หรือไม่ เมื่อเห็นได้ชัดว่าไม่ คำถามคือ ทำไม

ประสบการณ์ที่เธอถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้บอกอย่างชัดเจนว่า ชนวนเหตุแห่งความไม่พร้อมของเด็กๆ นั้นมีหลากหลาย เช่นเดียวกับบุคลิกภาพของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความยากจน การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ไม่จูงใจให้เด็กๆ รักการเรียนรู้ ไม่สร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงไม่นำไปสู่การรู้จักและเข้าใจตนเอง ตลอดจนอุปสรรคอันเกิดจากอุปนิสัย ไม่ว่าจะเป็นการขาดความกระตือรือร้น หรือทักษะการจัดการเวลาซึ่งไม่อาจแก้ไขได้ลำพังนอกจากจะได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม

ไดแอนอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้ครบถ้วนด้วยสามแนวทางหลัก คือการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันซึ่งจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะทางวิชาการ การพัฒนาวัฏจักรการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งจะทำให้เด็กๆ พัฒนาตนเองได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ตลอดจนการมีครูพี่เลี้ยงที่จะพัฒนาทักษะความสัมพันธ์ของพวกเขา และอยู่เคียงข้างเด็กๆ จนสำเร็จการศึกษา

 

โครงงานที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน

งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าหลังเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงาน  นักเรียนจดจำเนื้อหาที่เรียนรู้ได้นานขึ้นและมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น … แก้ไขปัญหาได้ดีกว่าและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในสถานการณ์จริงได้ดีกว่า … เข้าเรียนบ่อยครั้งกว่าและมีส่วนร่วมในการเรียนมากกว่า … ทำให้วิธีจัดการเรียนรู้เช่นนี้เป็นแนวทางหลักในการส่งเสริมนักเรียน ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนที่เรียนได้ดีอยู่เดิม

— หน้า 81-82

 

ไดแอนยอมรับว่าการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงานนั้น ‘ไม่ใช่เรื่องใหม่’ หลายโรงเรียนมีการจัดการเรียนรู้เช่นนั้น แต่ปัญหาที่แท้จริงคือโครงงานในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเพียง “ของหวาน” ไม่ใช่ “อาหารจานหลัก” ของการเรียนรู้ เพราะนอกจากจะไม่ส่งเสริมองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นแล้ว นักเรียนยังไม่เห็นความสำคัญของโครงงานเหล่านี้ด้วย และไม่รู้ว่าจะต่อยอดองค์ความรู้จากการจัดทำโครงงานอย่างไร

โครงงานที่ซัมมิตไม่ใช่โครงงานลักษณะนั้น ทว่าเป็นโครงงานที่คณะครูร่วมกันออกแบบอย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่การกำหนดหัวข้อถึงการนำเสนอ กระทั่งแน่ใจว่าเป็นโครงงานที่พัฒนาทักษะอันพึงประสงค์ เช่น ทักษะการสื่อสาร การใช้เหตุผล การจัดการเวลา ฯลฯ ได้จริง โดยบรรดาครูรวบรวมทักษะเหล่านั้นจากข้อมูลทักษะที่เหล่านายจ้างต้องการ มีนิยาม และมาตรฐานชัดเจน

นอกจากนี้ โครงงานเหล่านั้นยังท้าทายและยึดโยงกับความสนใจของนักเรียน พวกเขาไม่ได้ถูกบังคับให้จำวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ วงจรชีวิตของพืช หรือเรียนรู้ศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นตั้งๆ ตรงกันข้าม เด็กๆ อาจลงมือศึกษาผลิตภัณฑ์ปริศนาที่ตนสนใจในศตวรรษที่ 18 และต่อยอดองค์ความรู้จากการศึกษาผลิตภัณฑ์นั้นๆ จนเข้าใจพัฒนาการของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในที่สุด

ในหลายวิชา เด็กๆ ยังได้ดำดิ่งในประเด็นที่ใคร่รู้ผ่านการจัดทำโครงงานด้วย อาทิ โครงงาน ออกความเห็น ในวิชาภาษาอังกฤษ ที่นักเรียนจะมีโอกาสศึกษาประเด็นทางสังคมที่ตนตระหนักถึงเพื่อเขียนบทสุนทรพจน์และนำเสนอ นักเรียนคนหนึ่งขุดคุ้ยเบื้องหลังการให้เงินอุดหนุนการเกษตรในสหรัฐอเมริกา และนำเสนอโครงงานด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ว่าเงินอุดหนุนข้างต้นเป็นภาษีที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างไร ทั้งที่เขาเพิ่งมีอายุเพียง 14-15 ปีเท่านั้น! ทั้งนี้ ในปีสุดท้ายที่ซัมมิต นักเรียนที่จวนจะจากบ้านเพื่อศึกษาต่อและลงหลักปักฐานในเมืองอื่นยังต้องจัดทำโครงงานซิมซิตี้ (Sim City) โดยออกแบบเมืองใหม่ที่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ผ่านการแบ่งหน้าที่กันศึกษาศาสตร์หลากหลายอย่างลึกซึ้ง

แล้วจะไม่ให้โครงงานเหล่านี้เป็นอาหารจานหลักของการเรียนรู้ได้อย่างไร

 

การนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง

หลายคนอาจสงสัยว่าเด็กๆ จัดทำโครงงานที่ยากแม้สำหรับผู้ใหญ่จนลุล่วงได้อย่างไร

ทักษะน่าทึ่งเหล่านี้เป็นผลลัพธ์ของการอุดอีกช่องโหว่หนึ่งที่ซัมมิต ด้วยการฝึกฝนให้เด็กๆ นำการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ และสร้างวัฏจักรการนำการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนนั้นผ่านชั้นเรียนพิเศษวันละหนึ่งชั่วโมงที่เด็กๆ จะได้ฝึกกำหนดเป้าหมายที่ S.M.A.R.T คือเจาะจง (Specific) ประเมินผลได้ (Measurable) ทำได้จริง (Actionable) เป็นไปได้จริง (Actionable) และมีกรอบเวลาชัดเจน (Timebound)

เป้าหมายที่นักเรียนกำหนดในชั้นเรียนนั้นต้องเชื่อมโยงกับโครงงานที่กำลังจัดทำด้วย เช่น กำหนดเป้าหมายว่าวันนี้จะทำความเข้าใจสมการทางคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้ในการจัดทำโครงงานให้ได้ และแสวงหาแนวทางบรรลุเป้าหมายในชั้นเรียนนั้น กระทั่งพวกเขาคุ้นเคยวัฏจักรการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง คือกำหนดเป้าหมาย วางแผนการเรียนรู้และดำเนินการตามแผนนั้น แสดงให้เห็นว่าตนได้เรียนรู้อะไร และสะท้อนคิดเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ในอนาคต

 

วัฏจักรการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่ทุกครั้งที่เป้าหมายหนึ่งๆ จะลุล่วงในกรอบเวลาจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ยังไม่สามารถประเมินศักยภาพของตนหรือความยาก-ง่ายของงานได้ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำอย่างไรดี

 

“ผมทำไม่สำเร็จตามเป้าหมายครับ”

“เธอคงรู้สึกไม่ดีนัก แต่เธอได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้างไหม”

“เป้าหมายของผมคือการเข้าใจเซลล์อย่างลึกซึ้ง แต่ผมไม่เคยศึกษามันมาก่อนแม้แต่นิดเดียว … เมื่อได้ทำแบบทดสอบประเมินความรู้ก็ตระหนักว่าผมไม่รู้อะไรเลย ผมเริ่มท้อแท้จึงไม่ได้พยายามมากเท่ากับที่เคยทำ … ผมควรเปลี่ยนเป้าหมายทันทีที่รู้ว่าคงทำไม่สำเร็จในวันนี้”

— หน้า 106-7

 

การเปลี่ยนเป้าหมายข้างต้น เป็นหนึ่งใน ห้าพฤติกรรมของผู้นำการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งประกอบด้วย

 

  1. การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์

  2. การแสวงหาความท้าทาย

  3. ความพากเพียร

  4. การจัดการอุปสรรค

  5. การขอความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

 

เมื่อเด็กๆ ได้ทบทวนว่าพวกเขามี หรือไม่มีพฤติกรรมใดบ้างระหว่างการสะท้อนคิดแต่ละครั้ง ไม่ช้า พวกเขาก็จะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้บ่อยครั้งโดยธรรมชาติ และเติบโตเป็นผู้สามารถนำการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้น ซัมมิตยังมีกลไกอื่นๆ ที่สนับสนุนให้นักเรียนนำทักษะจากชั้นเรียนนี้ไปใช้ และเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตนมากขึ้น เพราะนักเรียนของซัมมิตไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในห้องเรียน โรงเรียนสุดล้ำแห่งนี้ได้ออกแบบทางเลือกการเรียนรู้ที่หลากหลายให้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเพลย์ลิสต์การเรียนรู้ที่เด็กๆ ลำดับเนื้อหาวิชาที่ต้องการเรียนรู้ และเลือกเวลาทดสอบได้เอง ทั้งยังเรียนรู้ที่ใดก็ได้ บาร์กวดวิชาอันเป็นที่พื้นที่ที่นักเรียนขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการเรียนรู้จากครูได้โดยตรง ทดแทนการเรียนรู้ในห้องเรียนที่อาจตอบสนองความต้องการของเด็กได้ไม่ครบทุกคน เมื่อรวมกับการจัดการเรียนรู้ผ่านการจัดทำโครงงาน และการได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมโดย ‘ครูพี่เลี้ยง’ ที่จะกล่าวถึงต่อไปแล้ว ก็ไม่น่าประหลาดใจว่าเพราะเหตุใดโรงเรียนแห่งนี้จึงสามารถผลักดันเด็กๆ กว่าร้อยละ 99 ให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ และยังได้ใบปริญญามามากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศถึงสองเท่าด้วย

 

ครูพี่เลี้ยงนั้นสำคัญไฉน

เด็กที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ใหญ่ในโรงเรียนมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่าเด็กที่ไม่มี แต่จะเชื่อมโยงพวกเขากับผู้ใหญ่ที่พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างไรดี นี่ คืออีกคำถามหนึ่งของไดแอน

เมื่อปัญหาคือไม่มีกลไกใดๆ ในโรงเรียนรัฐบาลที่จะสร้างสายสัมพันธ์นั้นได้ และครูผู้มีนักเรียนในความรับผิดชอบหลายร้อยคน ทั้งยังได้ดูแลพวกเขาเพียงผิวเผินในเวลาหนึ่งปีย่อมไม่ใช่ทางออก นวัตกรรมที่ล้ำหน้าที่สุดนวัตกรรมหนึ่งของซัมมิต จึงเป็นตำแหน่ง “ครูพี่เลี้ยง” ผู้เป็นมากกว่า “ครูที่ปรึกษา” ที่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา เพราะครูพี่เลี้ยงเหล่านี้เป็นผู้แนะแนวทางที่นักเรียนไว้วางใจและรู้จักนักเรียนในความดูแลอย่างถ่องแท้ ตลอดจนได้รับการฝึกฝนให้มีทักษะการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้นักเรียนสะท้อนคิด ทบทวนสถานการณ์และความคิดอ่านของตน จนแสวงหาทางออกของปัญหาได้ด้วยตนเอง

นักเรียนทุกคนที่ซัมมิตจะมีครูพี่เลี้ยงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพวกเขา โดยครูพี่เลี้ยงจะเป็นผู้นำกลุ่มนักเรียนในความดูแลราว 15-20 คน ซึ่งจะได้พบปะกันประจำ เปรียบเสมือน ‘ครอบครัวเดี่ยว’ ที่โรงเรียนของเด็กๆ ครูพี่เลี้ยงจะดูแลนักเรียนกลุ่มเดิมทุกปี ไปเยี่ยมบ้านของพวกเขา และเรียนรู้รายละเอียดของแต่ละครอบครัว จึงเข้าใจสถานการณ์ที่เด็กๆ แต่ละคนเผชิญอย่างลึกซึ้ง และให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาความสัมพันธ์ หรือปัญหาการเรียนรู้

นักเรียนทุกคนที่ซัมมิตจึงมีผู้ประคับประคองผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต และเติบใหญ่โดยมีพัฒนาการทางจิตใจที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ซัมมิตยังคัดเลือกนักเรียนที่มีครูพี่เลี้ยงคนเดียวกันอย่างรอบคอบ โดยนักเรียนในกลุ่มต้องมีความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ เพศ เป้าหมาย และอุปนิสัย ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้เรียนรู้การสานความสัมพันธ์และอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทั้งยังร่วมมือกันฟันฝ่าปัญหาในชีวิตประจำวัน

 

การฝึกเด็กให้พัฒนาและถนอมความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นไม่ได้อยู่ในขอบเขตรับผิดชอบของโรงเรียนทั่วไป การที่โรงเรียนแห่งหนึ่งจะส่งเสริมทักษะนี้จึงต้องอาศัยความมุ่งมั่นมาก โดยต้องเป็นชุมชนที่เห็นคุณค่าของทุกความสัมพันธ์ … เมื่อไรก็ตามที่โรงเรียนมุ่งมั่นจะให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดและสนับสนุนนักเรียนให้สะท้อนคิด ประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับย่อมมากกว่าแค่การพัฒนามนุษยสัมพันธ์และความรู้สึกปลอดภัย กระบวนการสะท้อนคิดที่ว่านี้ทำให้เด็กๆ เข้าใจตนเอง รู้ว่าตนเป็นใคร และพัฒนาตัวตนได้ในที่สุด

— หน้า 139

 

โดยหนึ่งเรื่องราวสุดประทับใจจากสายใยระหว่างครูพี่เลี้ยงและเด็กคือเรื่องราวของ แม็กซ์ เด็กชายผู้ขยันขันแข็งแต่พูดติดอ่าง แม็กซ์เขียนบทสุนทรพจน์ได้ดีที่สุดในชั้นเรียน จึงได้รับเลือกให้กล่าวสุนทรพจน์นั้นต่อหน้าคนทั้งโรงเรียน! แม็กซ์กลัวและโกรธเพื่อนๆ ที่เลือกเขามาก เพราะเขาไม่เชื่อเลยว่าตนจะทำได้ แม้เพื่อนๆ จะยืนยันว่าสุนทรพจน์ของแม็กซ์ยอดเยี่ยมจริงๆ

ทันทีที่ครูพี่เลี้ยงของเขารู้อย่างนั้นก็ให้กำลังใจและคำแนะนำ ทั้งยังตั้งคำถามให้แม็กซ์ได้สะท้อนคิดว่ามีอะไรบ้างในชีวิตที่เขาวาดฝัน ฝันนั้นมีความหมายต่อแม็กซ์เพียงใด และเขาได้พยายามไขว่คว้าฝันนั้นอย่างเต็มที่หรือยัง บทสนทนานั้นผลักดันแม็กซ์ให้ก้าวข้ามขีดจำกัด และเปลี่ยนมุมมองที่เขามีต่อตัวเองในที่สุด เป็นครั้งแรกที่แม็กซ์ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือลดอาการพูดติดอ่าง ฝึกฝนอย่างหนัก เผชิญหน้าอุปสรรคอย่างเข้มเข็ง และกล่าวสุนทรพจน์จนจบด้วยเสียงปรบมือเกรียวกราว

นี่เป็นเพียงเรื่องราวเดียวจากหลายร้อยเรื่องราวที่ไดแอนกล่าวว่า “เป็นข้อพิสูจน์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง … หากเด็กๆ มีพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะได้ทำความรู้จักและเข้าใจผู้อื่น เท่าที่กับสัมผัสและเข้าใจตนเอง”

 

 

ตลอดหลายปีที่ห่างเหินจากโรงเรียนและความฝันในวัยเยาว์ พวกเราอาจหลงลืมเสียแล้วว่าวัตถุประสงค์ของโรงเรียนและการศึกษาคืออะไร ไม่ใช่การเตรียมเด็กๆ ให้พร้อมเผชิญโลกเมื่อสำเร็จการศึกษาหรอกหรือ ไม่ใช่การถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต่อการยืดหยัดด้วยตนเองในวันที่พวกเราผู้ใหญ่แก่ชราหรอกหรือ หากวัตถุประสงค์แท้จริงของการศึกษาและโรงเรียนเป็นเช่นนั้น ก็ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะ ลงมือ เปลี่ยนแปลงบางสิ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ไม่ใช่สำหรับเพียงเด็กคนใดคนหนึ่ง หรือพ่อแม่คนหนึ่งคนใด แต่เป็นสำหรับเด็ก ทุกคน และพวกเรา ทุกคน ดังที่ไดแอนบรรยายอย่างจับใจว่า

 

ขณะนี้หลายสิ่งอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ไม่ว่าคุณจะเป็นครู พ่อแม่ หรือเพียงผู้มีใจห่วงใยก็คงเห็นเหมือนกัน ประชาธิปไตยในสังคมหนึ่งๆ จะเข้มแข็งรุ่งเรืองได้ย่อมอาศัยพลเมืองผู้มีความรู้รอบและไม่เพิกเฉย พลเมืองเหล่านี้ต้องเข้าใจว่าคะแนนเสียงของตนมีน้ำหนัก และความคิดเห็นของพวกเขามีคุณค่าเพียงใด … เรามักมองข้ามสิ่งสำคัญที่สุดในสังคมของเรา นั่นคือประชาชน … เรามักหลงลืมว่าความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีชีวิตอันบริบูรณ์ของประชาชนย่อมส่งผลดีต่อชุมชนและสังคมโดยรวม … ฉันหวังว่าคุณจะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือ เครื่องชี้นำ หรือแผนการเพื่อประกอบการพิจารณาและลงมือทำต่อไป และหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้ว่าเราจะได้รับประโยชน์มากเพียงใด หากคนหนุ่มสาวในพิธีสำเร็จการศึกษาของเรานั้น มีความพร้อม อย่างครบถ้วนกระบวนความ

— หน้า 38

 

อ่านตัวอย่างหนังสือและดูรายละเอียดสั่งซื้อได้ที่นี่

Prepared: เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต

Prepared: What Kids Need for a Fulfilled Life

Diane Tavenner เขียน

รสลินน์ ทวีกิตติกุล แปล

304 หน้า