อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (9)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ตอนที่ 9 ความสำคัญของพ่อ

 

“พวกคุณมีโอกาสถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้มากกว่าเด็กผู้หญิงสองเท่า พวกคุณมีโอกาสทำคะแนนสอบมาตรฐานด้านการอ่านและการเขียนได้แย่กว่า พวกคุณมีโอกาสถูกให้ซ้ำชั้นมากกว่า พวกคุณมีโอกาสต้องออกจากโรงเรียนกลางคันมากกว่า ถ้าเรียนจบมัธยมปลาย พวกคุณก็มีโอกาสได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยน้อยกว่า ถ้าได้เข้ามหาวิทยาลัย พวกคุณก็จะได้เกรดต่ำกว่า และมีโอกาสเรียนจบน้อยกว่าอีกเหมือนเดิม พวกคุณจะมีโอกาสติดแอลกอฮอล์มากกว่าถึงสองเท่า และหากยังอายุไม่ถึง 24 ปี พวกคุณก็มีโอกาสจะฆ่าตัวตายมากกว่าถึงห้าเท่า พวกคุณมีโอกาสจะติดคุกมากกว่าถึง 16 เท่า”

ทอม เคียเรลลา เขียนถึงเด็กผู้ชายเอาไว้ในบทที่ 5 ของหนังสือเล่มนี้

ไม่น่าเชื่อว่ามีงานวิจัยที่ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูกๆ ช่วยส่งผลให้ผลการเรียนของลูกดีขึ้น

แต่ปัญหาคือพ่อมักไม่อยู่บ้าน

เมื่อเทียบระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง เราพบว่าเด็กชายอ่านหนังสือน้อยกว่า และผลการเรียนโดยเฉลี่ยก็น้อยกว่า ซ้ำเติมข้อกล่าวหาที่ว่าการอ่านในผู้ชายลดลง และบุ๊คคลับส่วนใหญ่มีแต่ผู้หญิง

ไม่ว่าเรื่องผู้ชายอ่านหนังสือน้อยกว่าหรือเรียนหนังสือสู้ไม่ได้จะเป็นเพียงข้อกล่าวหาหรือข้อเท็จจริงก็ตาม เรามีคำแนะนำว่าพ่อควรสละเวลาอ่านหนังสือนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง

มีโครงการดีๆ มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ในกองทหารของสหรัฐฯ ซึ่งทหารอาจจะไม่ได้กลับบ้านนานถึงหกเดือน คือ 180 วัน กองทัพได้ส่งเสริมให้พ่ออ่านนิทานใส่คลิปส่งให้ลูกแทนที่จะอ่านสดๆ เมื่อมีเวลาเฟซไทม์เพราะไม่รู้ว่าใครจะว่างครั้งต่อไปเมื่อไร

โครงการนี้มีที่เรือนจำด้วย นักโทษชายสามารถอ่านนิทานลงเทปเพื่อมอบให้แก่ลูกๆ ได้

สำหรับคุณพ่อทั่วไปที่ทำงานในแดนไกล และประสบปัญหาไม่รู้จะคุยอะไรเวลาเฟซไทม์มาหาลูก วิธีที่แนะนำวิธีหนึ่งคืออ่านนิทานขณะเฟซไทม์ มีรายงานว่าความสัมพันธ์ที่ห่างเหินจะกลับมาดีอีกรอบได้อย่างไม่น่าเชื่อ

อาจจะไม่เป็นความจริงที่เด็กชายอ่านหนังสือน้อยกว่าเด็กหญิง เป็นไปได้ว่าพวกเขาอ่านเท่าๆ กันแต่เป็นเพราะเด็กผู้ชายไม่ชอบอ่านหนังสือที่พ่อแม่หรือครูยื่นให้ พวกเขาอ่านอย่างอื่นที่เขาสนใจมากกว่า จิมได้ยกตัวอย่างเด็กชายที่ชอบอ่านนิตยสารกีฬามากกว่าที่จะอ่าน สงครามและสันติภาพ ของลีโอ ตอลสตอย

พบว่าที่จริงแล้วเด็กผู้ชายชอบอ่านเรื่องเบาสมองมากกว่า

การดูแลเด็กชายให้อ่านหนังสือมีข้อแนะนำว่าควรวางหนังสือหลากหลายไว้ในบ้าน รวมทั้งนิตยสารหลายหัวเอาไว้ด้วย เด็กชายมีความสนใจในคอลัมน์ต่างๆ หลากหลายมากกว่าเด็กผู้หญิง เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มจะอ่านอะไรที่จริงจังและเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า

กลับมาที่บ้านเรา

มีสมมติฐานโดยยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าคุณพ่อรับหน้าที่อ่านนิทานก่อนนอนมากกว่าคุณแม่ จริงเท็จประการใดไม่ทราบเหมือนกัน แต่ผมเองเป็นคนรับหน้าที่อ่านหนังสือให้ลูกๆ ฟังทุกคืนตลอดสิบปีจริงๆ และมีความสุขกับงานนี้มาก

มีคำอธิบายหนึ่งคือนั่นเป็นเวลาเดียวที่พ่อว่าง และพ่อก็ไม่อยากเสียโอกาสอันมีอยู่น้อยนิดนี้ไป วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง ได้คลุกคลีอ่านหนังสือคืนละ 30 นาที ผลที่ได้มากมายเหลือคณา

ผู้ชายที่อ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังยอมรับว่านี่เป็นงานเลี้ยงลูกที่ง่ายกว่าหน้าที่อื่นๆ หากทำได้รีบช่วงชิงงานอ่านนิทานมาทำเองเสียยังจะดีกว่าต้องทำอย่างอื่นซึ่งยากกว่ามาก

ผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็ค้นพบว่างานอ่านนิทานก่อนนอนเป็นงานที่ยุและยกให้สามีทำได้เป็นดีที่สุด นอกเหนือจากตัวเองจะได้พักผ่อนในนาทีสุดท้ายของวัน และการได้พักเสียงหลังจากรบกับลูกมาทั้งวัน ดีกว่าปล่อยให้ผู้ชายช่วยทำงานอย่างอื่น เช่น ล้างจานหรือพับผ้า ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เธอต้องกลับไปทำใหม่หมดทีหลัง

บ้านเราไม่มีลูกจ้าง ผมรับอ่านนิทานก่อนนอน ในขณะที่ภรรยายังคงทำหน้าที่เก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน เมื่อลูกหลับ เราได้ตั้งวงปิกนิกกันต่ออย่างมีความสุข

การอ่านนิทานก่อนนอนเป็นโมเมนต์ที่ดีมากจนกระทั่งน่าเสียดายมากที่คุณพ่อคนไหนจะพลาดไปนะครับ ทั้งชีวิตที่เราจะได้ใช้อยู่กับลูกเพียงช่วงสั้นๆ สิบปี นี่คือเวลาทองที่สั้นมาก แต่ก็ยังประโยชน์และทรงพลังอย่างยิ่ง ดังที่ทราบกันดีว่าสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงสร้างขึ้นเมื่อสามขวบปีแรก

จิมลงท้ายบทนี้ด้วยข้อเท็จจริงอีกข้อหนึ่งว่าการอ่านนิทานก่อนนอนเป็นโอกาสที่สองของชีวิตที่จะเรียกคืนสิ่งที่พลาดไปตอนที่เราเป็นเด็ก นั่นคือนิทานดีๆ หลายๆ เล่มซึ่งผู้ใหญ่มักลืมที่จะอ่าน

ความข้อนี้ก็จริงอีก นิทานประกอบภาพสำหรับเด็กหลายเรื่องเหมือนจะสอนผู้ใหญ่เสียมากกว่า และมีปรัชญาสอดแทรกอยู่เสมอๆ

 

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ย้อนหลังได้ที่นี่

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่