อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (8)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ตอนที่ 8 อ่านอิสระเพื่อความบันเทิง (2)

 

เราควรบังคับเด็กอ่านหนังสือหรือไม่?

ผมเคยได้รับคำถามทางบ้านจากคุณแม่ท่านหนึ่งซึ่งตั้งรางวัลล่อใจให้ลูกวัยประถมอ่านหนังสือนวนิยายหรือวรรณกรรมเยาวชนทุกวัน คุณแม่ท่านนั้นไม่แน่ใจนักกับสิ่งที่ทำทั้งที่พบว่าลูกมีความก้าวหน้าด้านการอ่านเป็นอย่างมาก

จิมให้คำตอบในครึ่งหลังของบทที่สี่นี้ว่าการบังคับเด็กอ่านหนังสือเป็นเรื่องควรทำ เหมือนบังคับเด็กแปรงฟัน บางเรื่องกว่าประโยชน์จะมาถึงหรือเจ้าตัวกว่าจะเห็นประโยชน์ด้วยตนเองก็ต้องใช้เวลา

แต่จิมไม่เห็นด้วยที่จะใช้คำว่า “บังคับ” เขาเลือกใช้คำว่า “กำหนด” คล้ายๆ ข้อกำหนดการขับขี่รถยนต์

การช่วยให้เด็กคนหนึ่งที่ไม่อ่านหนังสือติดใจรสชาติของหนังสือเป็นเรื่องยากแน่นอน เราไม่ทำอะไรเลยก็มิได้ เราบังคับก็มิได้ ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวในกุศโลบายนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ผิดคาดได้อยู่เสมอ

จิมยกตัวอย่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเร่งการอ่านหนังสือของบางโรงเรียน คอมพิวเตอร์จะคัดเลือกหนังสือจำนวนหนึ่ง เด็กมีหน้าที่เก็บแต้มจากการอ่านหนังสือจำนวนนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือพ่อแม่จำนวนหนึ่งให้เด็กอ่านหนังสือเฉพาะที่คอมพิวเตอร์กำหนดให้เพื่อสะสมคะแนนให้ครบและสอบผ่าน เด็กที่รักการอ่านหลายคนจำเป็นต้องเลิกอ่านหนังสือที่ตนเองชอบเพื่อใช้เวลากับการอ่านหนังสือที่โปรแกรมนี้กำหนด อีกทั้งครูและครูบรรณารักษ์เลิกอ่านหนังสือไปเลยเมื่อพบว่ามีโปรแกรมทำงานให้แล้ว

ระบบเล็กไซล์ (Lexile) ตั้งขึ้นเพื่อให้คะแนนหนังสือตามรูปประโยคและคำศัพท์ แล้วกำหนดช่วงคะแนนที่เด็กแต่ละช่วงอายุควรอ่าน เช่น เด็กเกรดสี่ควรอ่านหนังสือที่มีคะแนนเล็กไซล์ระหว่าง 470L-950L ปรากฏว่าหนังสือ Diary of Wimpy ของเจฟฟ์ คินนีย์ ได้ 950L To Kill a Mocking Bird ของฮาเปอร์ ลี ได้ 870L และ The Grape of Wrath ของจอห์น สไตน์เบค ได้ 680L สำหรับท่านที่รู้จักหนังสือสามเล่มนี้ดีย่อมคิดออกได้ว่าเด็กเกรดสี่ควรได้อ่านอะไร

เรื่องสำคัญที่เราควรระวังคือเรากำลังส่งเสริมการอ่านมิใช่ตั้งข้อจำกัดการอ่าน

โอปราห์ วินฟรีย์ นักจัดรายการที่มีชื่อเสียงทุกคนรู้จักดีได้จัดรายการบุ๊คคลับในรายการโทรทัศน์ของเธอด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อเราดูเกมฟุตบอลจบ ดูหนังดีๆ สักเรื่องจบ หรืออ่านหนังสือดีๆ สักเล่มจบ ที่เราอยากทำคือ “คุย” คุยเกี่ยวกับเกมที่น่าตื่นเต้น หนังและหนังสือที่จบไป มิใช่การสอบหรือการวัดผล แค่คุย

ผลจากการจัดรายการของเธอทำให้เกิดบุ๊คคลับจำนวน 250,000 แห่ง เธอเลิกจัดรายการนี้ทางโทรทัศน์เมื่อปี 2011 แต่ยังคงทำอยู่บนเว็บ ถึงวันนี้มีบุ๊คคลับ 500,000 แห่ง อย่างไรก็ตามสมาชิกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง

จิมมิได้ให้เหตุผลว่าเพราะอะไรผู้หญิงจึงเข้าบุ๊คคลับมากกว่าผู้ชาย

จิมตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเด็กๆ ชอบหนังสือที่มีลักษณะเป็นชุดมากกว่าหนังสือเดี่ยว ตัวอย่างเช่น หนังสือชุดวิมปี้ที่เอ่ยถึง หนังสือชุดทำให้เด็กสามารถเกาะติดตัวละครได้ง่ายกว่า สร้างความผูกพัน และรับรู้บุคลิกของตัวละคร สามารถรับส่งมุกในตอนต่อๆ มาได้ง่าย เมื่อนักเขียนบางคนต้องการยุติการเขียนหนังสือชุด มีหลายครั้งที่เด็กๆ ส่งจดหมายเข้าไปขอให้เขียนต่อแล้วนักเขียนก็ต้องเขียนเล่มใหม่ต่ออีกซึ่งมักจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างร่วมสมัยที่ทุกคนรู้จักคือแฮร์รี่ พอตเตอร์ แม้ว่าบางครั้งจะไม่ใช่ความต่อเนื่องของตัวละคร แต่ก็เป็นความต่อเนื่องของจักรวาลที่ตัวละครอาศัยอยู่

ถึงตรงนี้ควรพูดถึงตัวอย่างหนังสือชุดในบ้านเราที่มีการแปลจำหน่าย หากข้อสังเกตนี้เป็นจริงกล่าวคือเด็กๆ เลือกหนังสือชุดมากกว่าหนังสือเดี่ยว การช่วยกันลิสต์รายชื่อหนังสือชุดออกมาน่าจะช่วยได้มาก คนรุ่นผมจะรู้จักหนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ (Little House in the Big Woods) ของลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ กันมาก ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าปัจจุบันมีการแปลหรือพิมพ์จำหน่ายกี่สำนวน

หนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่

ส่วนเด็กผู้ชายก็อาจจะติดตามหนังสือชุดของทอม ซอว์เยอร์ (Tom Sawyer) หรือฮัคเคิลเบอร์รี่ ฟินน์ (Huckleberry Finn) ของมาร์ค ทเวน เสียมากกว่า

  • ชุดวัยใสของ Jacqueline Wilson
  • ชุดจอร์เจีย นิโคลสัน ของ Louise Rennison
  • ชุด Princess Diary ของ Meg Cabot
  • ชุด The A List ของ Zoey Dean
  • ชุด Doctor Judy Moody ของ Megan McDonald

รวมทั้งวิมปี้ หนังสือชุดเหล่านี้เคยเห็นฉบับแปลไทย ไม่ทราบว่ายังมีอยู่บนแผงหรือเปล่า และถึงปัจจุบันน่าจะมีหนังสือชุดอีกหลายหัวในตลาดเมืองไทยวันนี้

สำหรับเด็กผู้ชายบ้านเรา หนังสือนวนิยายจีนกำลังภายในเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้หากจะจัดกลุ่มหนังสือชุด ที่รู้จักกันดี เช่น ชอลิ้วเฮียง เล็กเซียวหงส์ หรือแม้กระทั่งลี้คิมฮวงและเอี๊ยบไคก็มีการผจญภัยต่อเนื่องกันไปหลายเล่ม

หนังสือนวนิยายฆาตกรรมเป็นอีกตระกูลหนึ่งที่จัดเป็นหนังสือชุดได้ง่าย ที่รู้จักกันสมัยก่อนคือ แฮร์คูล ปัวโรต์ และมิสมาร์เปิ้ล ของอกาธา คริสตี้ สมัยนี้มีนวนิยายฆาตกรรมที่มีพระเอกต่อเนื่องมากมายของนักเขียนหลายคนและหลายสำนักพิมพ์ที่แปลไทยแล้ว ชุดแจ็ค รีชเชอร์ ของลี ไชลด์ หรือชุดไมรอน โบลิตาร์ ของฮาลาน โคเบน ของเกาหลีและญี่ปุ่นก็มีอีกมากมาย

กลุ่มนิยายวิทยาศาสตร์ก็มีตัวละครต่อเนื่องนะครับ อย่างเช่น อีไลจาห์ เบลีย์ และ ห.ดาเนียล สองนักสืบคู่หูมนุษย์และหุ่นยนต์ในหนังสือหลายเล่มของไอแซค อาสิมอฟ

ข้อเสนอเรื่องการอ่านหนังสือชุดนี้เป็นเรื่องที่หลายคนมิได้คาดคิดมาก่อน ด้วยสามัญสำนึกอยากให้เด็กๆ อ่านหนังสือหลากหลายมากกว่าจมอยู่กับตัวละครตัวเดียว แต่ถ้ามีงานวิจัยบ่งชี้ว่าเด็กชอบก็เป็นเรื่องน่าทดลองมาก

 

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ย้อนหลังได้ที่นี่

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่