อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (7)

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ตอนที่ 7 อ่านอิสระเพื่อความบันเทิง (1)

  • อ่านตามลำพัง
  • อ่านในใจ
  • อ่านอิสระ
  • อ่านเพื่อความบันเทิง

ไม่น่าเชื่อว่า 4 เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องได้

มีผู้ที่คัดค้านว่าเราไม่ควรปล่อยให้เด็กอ่านโดยไร้จุดหมายโดยอ้างอิงงานวิจัย ในขณะเดียวกันมีผู้คัดค้านงานวิจัยเหล่านั้นและอ้างอิงงานวิจัยอีกชุดหนึ่งเพื่อสนับสนุนการ “อ่านตามลำพัง อ่านในใจ อ่านอิสระ อ่านเพื่อความบันเทิง”

อ่านเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงวิวาทะในบ้านเรา จนถึงปัจจุบันก็ยังมีงานวิจัยโต้แย้งเรื่องการปล่อยเด็กอนุบาลเล่นอิสระ และยืนยันว่าเราควรเร่งเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลและใช้ตำรามาตรฐาน

จิมเริ่มบทที่ 4 นี้ได้น่ารัก เด็กถามแม่ว่าทำอะไรอยู่ แม่บอกว่าอ่านหนังสืออยู่ เด็กถามต่อว่าแล้วทำไมไม่มีเสียงออกมา จะเห็นว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ นั่นแปลว่ามีขั้นตอน และเป็นเหมือนพัฒนาการทุกเรื่อง นั่นคือ “ถ้าเด็กเกิดมาปกติดีเราจะเร่งขั้นตอนเหล่านั้นมิได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีจังหวะก้าวต่างๆ กัน”

อ่านตามลำพังและอ่านอิสระเป็นสองเรื่องที่ควรพูดถึงในบ้านเรา การมีชั่วโมงให้เด็กเลือกหนังสืออิสระและอ่านอิสระเป็นเรื่องควรทำ แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่หลายท่านเกรงว่าเวลาจะสูญเปล่าและเชื่อเรื่องการกะเกณฑ์ให้อ่านเสียมากกว่า

อ่านเพื่อความบันเทิงยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ในบ้านเรา ชอบทำเหมือนการอ่านนวนิยายเป็นอาชญากรรมไปเสียแล้วสกัดกั้นความสามารถในการอ่านของเด็กๆ ไปแล้วนักต่อนัก ที่จริงแล้วอ่านเพื่อความบันเทิง ไม่มีการบังคับ และไม่มีการสอบ เป็นเรื่องควรส่งเสริมอย่างยิ่ง

เรามักมีคำพูดว่าขืนปล่อยชั่วโมงอิสระ เด็กไทยก็ไม่อ่าน ผมก็จะบอกว่าปล่อยไปเรื่อยๆ กับกองหนังสือในห้องสมุดที่ดีสักที่ จะกี่เดือนเราก็จะรอ

“ปัญหาของบ้านเราคือไม่เคยเชื่อศักยภาพของเด็ก”

นึกถึงครั้งที่ตนเองสมัครสมาชิกนิตยสารสารคดีให้ห้องสมุดโรงเรียนประชาบาลสมัยก่อน ครูใหญ่บอกว่าเสียเงินเปล่าไม่มีคนอ่านหรอก ครูยังไม่อ่านเลย เราไม่เพียงไม่เชื่อในศักยภาพของเด็ก เราไม่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์

เด็กจะอ่านในใจได้เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า mental representation เด็กจะมีสิ่งนี้ได้เมื่อมีอีโก้ (ego) อีโก้จะแข็งแรงได้เมื่อเด็กได้เล่นมากพอตั้งแต่แรก หากอธิบายด้วยความรู้ใหม่เรื่อง EF เด็กจะอ่านในใจได้เมื่อมีการถือครอง working memory ได้นานพอ เด็กจะถือครองได้นานพอเมื่อเล่นและทำงานมากพอ

จิมอ้างงานวิจัยจำนวนหนึ่งเพื่อบอกว่าเด็กที่ผ่านการอ่านตามลำพัง อ่านในใจ อ่านอิสระ อ่านเพื่อความบันเทิงจะมีผลสัมฤทธิ์การศึกษาดีกว่า

เราสามารถเลือกหนังสือให้เด็กอ่านได้ แต่มิใช่บังคับ หลักการทั่วไปคือมีจำนวนหนังสือที่ควรอ่านมากพอแล้วจึงปล่อยอิสระ นอกจากนี้ท่าทีของครูก็มีความสำคัญ ครูที่นั่งเปิดหนังสืออ่านตามลำพังไปด้วยจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ มากกว่าครูที่คอยเดินตรวจตราหรือจับผิดว่านักเรียนคนไหนแกล้งทำเป็นอ่าน

และถ้าครูคนนั้นอ่านไปหยุดเปิดพจนานุกรมไปจะยิ่งเป็นตัวอย่างที่ดี เราพบว่าเด็กๆ จะรู้จักเปิดพจนานุกรมตามไปด้วย

“ชั่วโมงอ่านตามลำพังมิได้ห้ามพูดกัน ในทางตรงข้ามเราอนุญาตให้เด็กได้สนทนากัน พูดง่ายๆ ว่านี่คือชั่วโมงการอ่านที่รื่นรมย์ เมื่อไรที่ไม่รื่นรมย์หรือเด็กไม่อ่าน มีคำตอบเดียวคือเราจัดการได้ไม่ดีพอ”

ในต่างประเทศก็มีครูใหญ่ประเภทไม่สนับสนุนให้มีชั่วโมงการอ่านอย่างอิสระ ด้วยเหตุผลว่าทำให้นักเรียนเสียเวลาเรียน แต่ครูที่รู้ประโยชน์ของการมีชั่วโมงอ่านอย่างอิสระคิดต่างออกไป เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนและอยู่กันอย่างแออัดในบ้านหลังเล็ก ชั่วโมงการอ่านอิสระและการอ่านเพื่อความบันเทิงจะมีคุณค่ามาก คือเวลาน้อยนิดที่พวกเขาได้อ่านหนังสือสนุกๆ อย่างสงบ นอกจากนี้ยังมีพวกวัยรุ่นที่วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่ด้วยพลังของฮอร์โมนและการเจริญเติบโต ชั่วโมงการอ่านอย่างอิสระเพื่อความบันเทิงคือเวลาทองที่พวกเขาจะได้นั่งนิ่งๆ ดื่มด่ำกับความสุขอีกแบบหนึ่งอย่างแท้จริง

ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาอันตราย เด็กที่ไม่รักการอ่านจะถดถอยทางภาษาหนักยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่การปิดภาคฤดูร้อน รวมทั้งเด็กยากจนที่ที่บ้านไม่มีใครอ่านหนังสือให้ดูเป็นตัวอย่าง ในขณะที่เด็กรักการอ่านจะพุ่งทะยานไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านมีคนอ่านหนังสือให้ดูเป็นตัวอย่าง และมีสิ่งแวดล้อมที่อุดมไปด้วยหนังสือ นิตยสาร ห้องสมุด และอินเทอร์เน็ตที่เพียบพร้อม ผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาถูกถ่างให้กว้างขึ้นไปอีกเมื่อพ้นฤดูร้อน

จิมพูดถึงงานวิจัยที่บอกว่าการอ่านหนังสือ 4-6 เล่มในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนจะสามารถป้องกันและชดเชยการถดถอยของเด็กที่เรียนไม่ดีหรือไม่รักการอ่านเป็นทุนเดิม ดังนั้นเราไม่ส่งเสริมการเรียนพิเศษในช่วงปิดเทอมแต่เราควรส่งเสริมการอ่านในช่วงปิดเทอมด้วยวิธีการต่างๆ

จิมเล่าเรื่องครูที่ให้การอ่านไปเป็นการบ้านในช่วงปิดเทอมว่าเป็นวิธีการที่ดี แต่วิธีเช่นนี้อาจจะไม่ดีนักในบ้านเรา เดาว่าต่างประเทศมิได้ถึงกับว่าจะเอาคำศัพท์หรือความรู้ที่ได้จากการอ่าน แต่น่าจะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น บุ๊คคลับ เพื่อให้นักเรียนได้มาพูดคุย สนทนา ถกเถียง หรือแม้กระทั่งเล่าสู่กันฟังว่าปิดเทอมฤดูร้อนใครอ่านอะไร พูดง่ายๆ ว่าการอ่านควรนำมาซึ่งความสุข การพูดคุยระหว่างการอ่านในชั่วโมงอ่านอิสระ หรือหลังการปิดเทอมฤดูร้อนก็ควรนำมาซึ่งความสุขด้วยเช่นกัน

กลับมาบ้านเรา ยอมรับว่าหนังสืออ่านนอกเวลาที่คัดสรรแล้วเป็นหนังสือดีทุกเล่มจริง แต่เพราะอะไรเวลาไปสัมภาษณ์เด็กๆ ทุกคนจึงพูดเหมือนกับว่าหนังสือนอกเวลาเหล่านั้นเป็นยาขม ต้องมีอะไรผิดพลาดในเรื่องนี้แน่ๆ

A Midsummer Night’s Dream บทละครชื่อดังของเชกสเปียร์

ฤดูร้อนอันแสนยาวนานเริ่มต้นขึ้นแล้ว อ่านหนังสือสนุกๆ กันเถอะครับ

จะให้เด็กอ่านเชกสเปียร์ก็ได้ ไม่มีข้อห้าม

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่