[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป
การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ตอนที่ 12 ภาพและเสียง
บทที่ 8 ของหนังสือพลังแห่งการอ่านออกเสียงนี้พูดเรื่องภาพและเสียง จะว่าไปเรื่องนี้เขียนแล้วทุกวันเสาร์ตอนเช้าที่เพจนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความหมายของภาพและเสียงในหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็ก ข้อเขียนรวมเล่มได้เป็นหนังสือสองเล่มคือ เลี้ยงลูกด้วยนิทาน และ พลังนิทานอ่านก่อนนอน ของสำนักพิมพ์อมรินทร์คิดส์ นั่น! เปิดหน้าโฆษณาแต่เช้า
บทที่ 8 นี้เปิดหน้าด้วยข้อความคลาสสิกของ อลิซในแดนมหัศจรรย์ งานเขียนของลูว์อิส แคร์รอล
“แล้วหนังสือจะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีภาพและบทสนทนา”
ใช่เลย ไม่เพียงหนังสือสำหรับเด็กเล็ก วรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่มีรูปประกอบคลาสสิกตั้งแต่ปกหน้า ปกใน และเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเล่ม ไปจนถึงปกหลังด้านในและปกหลัง แต่ละรูปไม่ใช่ใส่เข้ามาเพราะไม่มีอะไรจะใส่ แต่สื่อความหมายอันเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวม นั่นคือความหมายของหนังสือทั้งเล่ม
ซึ่งอีบุ๊คทำมิได้
รูปภาพเป็นส่วนสำคัญของมนุษย์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อโลกมาถึงยุคไอทีที่ซึ่งมีคัตเอาต์ริมถนนมากมาย หน้าโฆษณาเน้นรูปมากกว่าคำ และเราใช้อีโมติคอนหรือสติ๊กเกอร์สื่อความหมายมากพอๆ กับตัวหนังสือ ศาสตร์ด้านการตีความหมายรูปภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นสำหรับเด็กๆ ที่เติบโตในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ยังไม่นับว่างานวิจัยเรื่องความจำใช้งาน (working memory) สมัยใหม่พบว่าเด็กที่มีความพร่องของสติปัญญา (intelligence disability) ทุกประเภท มีความจำใช้งานด้านภาพ (visuospatial patch) เทียบเท่ากับเด็กที่มีอายุสมองเท่ากัน (equal mental age) และพัฒนาได้ เรื่องนี้เป็นความหวังและให้กำลังใจแก่พ่อแม่ของเด็กๆ กลุ่มนี้จำนวนมาก กล่าวคือการอ่านนิทานก่อนนอนยิ่งทวีความสำคัญยิ่งยวด
ความรู้เรื่องการตีความคำพูด (verbal literacy) มีมากเท่าๆ กับความรู้เรื่องการตีความรูปภาพ (visual literacy) เราจึงเริ่มด้วยคำถามง่ายๆ ได้เลย
“เห็นรูปอะไร” และ “รูปนี้บอกอะไรเราบ้าง” ยากกว่านี้คือชี้ไปที่ตัวละครสักตัวหนึ่งแล้วตั้งคำถาม “เขารู้สึกอย่างไร”
ทั้งนี้อย่าได้หลงลืมเป็นอันขาดว่าเราเองมิได้รู้คำตอบที่ถูกต้อง เพราะนักวาดได้ปล่อยของออกสู่สาธารณะแล้ว สาธารณะสามารถตีความได้ตามบริบทของสังคมและของนักอ่านเอง ดังนั้นเด็กๆ จะตอบอะไรล้วนถูกทั้งนั้น ก่อนที่เราอาจจะชวนคุยต่อไปได้ว่า “เพราะอะไร”
หนังสือที่มีตัวอักษรประกอบและหนังสือที่มีแต่ภาพเท่านั้นโดยไม่มีตัวอักษรเลยแม้แต่ตัวเดียวมีความต่างกัน ในหนังสือที่มีตัวอักษรประกอบ หน้าหนังสือ ตัวอักษร และรูปภาพจะทำงานร่วมกันเสมอ หากให้แจกแจงว่าส่วนประกอบทั้งหมดมีอะไรบ้าง ได้แก่
ขนาดของหนังสือ แนวตั้งหรือแนวนอน หน้าปกและใบหุ้มปก ปกรอง หน้าแรก ฟอนต์ ขนาดและสีของตัวพิมพ์ กรอบและพื้นที่นอกกรอบ บัลลูนคำพูด เครื่องหมายพิเศษ เช่น อัศเจรีย์ ปรัศนี รวมทั้งจำนวนและขนาดของปรัศนีหรืออัศเจรีย์ ลายเส้น การลงสี มุมมอง พื้นผิว และพื้นที่ว่าง รวม 15 องค์ประกอบ จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กเป็นการผจญภัยของนักสร้างงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด
หนังสือเด็กที่ให้ความสำคัญแก่ภาพมากคือหนังสือการ์ตูนและหนังสือนิยายภาพ ทั้งสองประการมีส่วนคล้ายกันและส่วนที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย องค์ประกอบหลัก ได้แก่
ช่อง กรอบ คำบรรยาย ขอบระหว่างช่อง ภาพล้นกรอบ ตัวพิมพ์ กล่องคำบรรยาย เฉดและสี น้ำหนักภาพ และบัลลูนคำพูด รวม 10 องค์ประกอบ เป็นเช่นเดียวกับหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กคือนักสร้างงานสามารถเล่นกลกับองค์ประกอบเหล่านี้ได้ไม่สิ้นสุด
บทที่ 8 นี้เป็นการแนะนำหนังสือนิทาน การ์ตูน หรือนิยายภาพในต่างประเทศเสียมาก ที่เห็นมีการแปลและตีพิมพ์ในประเทศไทย ได้แก่ หนังสือของจอน คลาสแซน (Jon Klassen) เอริก คาร์ล (Eric Carle) และเดวิด แมคกี (David McKee) เป็นตัวอย่างหนังสือที่ครบสมบูรณ์ทุกองค์ประกอบทั้งเสียงและภาพ นั่นคือตัวอักษรและรูป
หนังสือของนักเขียนสามคนนี้มีแปลไทยในบ้านเราหลายเล่ม
จิมปิดท้ายบทนี้ด้วยการพูดถึงหนังสือการ์ตูนที่มีคุณค่าสูงและได้รับการยอมรับจากนักวิชาการคือ The Adventures of Tintin ซึ่งมีแปลไทยมานานตั้งแต่ครั้งที่ตีพิมพ์หน้าคู่ในนิตยสาร วีรธรรม (รายสัปดาห์) มาจนถึงฉบับไม่มีลิขสิทธิ์แล้วแปลย่อเสียจนเข้าข่ายหนังสือคัลต์หายาก จนกระทั่งมาถึงฉบับลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์เนชั่นเอ็กมอนท์
หนังสือชุดการผจญภัยของตินติน หรือแต๋งแต๋ง ตามการออกเสียงในภาษาฝรั่งเศส เป็นงานเขียนของแอร์เช ซึ่งเป็นนามปากกาของ Georges Remi นักเขียนชาวเบลเยียม มีจำนวนเล่มตามมาตรฐาน 22 เล่ม เล่มพิเศษแยกต่างหาก แต่ละเล่มหนา 64 หน้า ตีพิมพ์ด้วยสีสันสดใส ยกเว้นเล่ม 1 ผจญภัยในโซเวียต มี 137 หน้าและเป็นรูปขาวดำ งานของแอร์เชเป็นตัวอย่างของการเขียนภาพด้วยการตัดเส้นที่คมชัด เรียกว่า clear line
การผจญภัยของตินตินแต่ละเล่มประกอบด้วยกรอบรูปภาพประมาณ 700 กรอบ และมีคำศัพท์ประมาณ 8,000 คำ เป็นหนังสือที่มีอายุมานานเกือบศตวรรษแล้ว มีแปลจำหน่ายมากกว่า 80 ภาษา ยอดขายหลายร้อยล้านเล่มทั่วโลก หากไม่นับเรื่องการถากถางชนชาติอื่นหรือข้อสังเกตที่ว่าแทบไม่มีตัวละครสตรีในการ์ตูนชุดนี้เลย นี่เป็นหนังสือที่น่าอ่านมากที่สุดชุดหนึ่ง ความสนุกสนานและแปลกใหม่ไปจนถึงตลกขบขันของแต่ละเล่มทำให้เด็กๆ ลืมไปเลยว่ากำลังอ่านคำศัพท์ 8,000 คำอยู่
กล่าวเฉพาะเล่มการผจญภัยในคองโก เมื่อเวลาผ่านไปแอร์เชจำต้องกลับไปแก้ไขบางหน้าที่เข้าข่ายสร้างความอ่อนไหวเรื่องชาติพันธุ์และการอนุรักษ์สัตว์ป่า ฉบับภาษาไทยเป็นฉบับที่มีการแก้ไขรูปภาพบางภาพแล้ว
อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ย้อนหลังได้ที่นี่
Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่