อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (11)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

ตอนที่ 11 สื่ออิเล็กทรอนิกส์และการอ่าน

 

ตกลงเรื่องคำศัพท์ก่อน

เวลาอ่านเอกสารที่ว่าด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์มักอ้างงานวิจัยมากมายและยืดยาว แสดงตัวเลขต่างๆ มากมาย และใช้คำศัพท์ต่างๆ มากมาย ซึ่งสรุปได้ว่าข้อเสียสำหรับเด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่นนั้นมีมากกว่าข้อดี แต่เราจะปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงก็มิได้

เขียนใหม่ให้สั้นและเข้าใจตรงกัน ดังนี้

  1. สื่ออิเล็กทรอนิกส์หมายถึงโทรทัศน์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และโซเชียลมีเดีย
  2. สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกา (American Academy of Pediatrics – AAP) มีประกาศตั้งแต่ปี 1999 ว่าเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบไม่ให้ดูหน้าจอเลย เมื่อไม่นานมานี้ได้แก้ไขใหม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 18 เดือนพูดคุยกับพ่อแม่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ส่วนเด็กอายุมากกว่า 18 เดือนให้ดูได้บ้าง (พูดง่ายๆ ว่าเฟซไทม์กับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายได้ แต่กรุณารักษาเวลา)
  3. เด็กวัยเตรียมอนุบาล คือ 2-5 ขวบ ไม่ให้ดูโทรทัศน์เพื่อการศึกษานานกว่าวันละ 1 ชั่วโมง (เขียนไม่ผิด 1 ชั่วโมง)
  4. รายการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษาเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องคัดเลือกและอยู่ด้วยเสมอ (ย้ำ อยู่ด้วยเสมอ)

เด็กพัฒนาการด้วยการมองหน้าพ่อแม่ สบสายตาพ่อแม่ และมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เด็กมิได้พัฒนาด้วยการมองไปที่หน้าจอพร้อมกับพ่อแม่ ท่องไว้

วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง สื่ออิเล็กทรอนิกส์จะมีประโยชน์เพียงใดก็แย่งเวลาไปจากเด็กๆ ทั้งสิ้น มีงานวิจัยจำนวนมากที่บอกว่าจำนวนเวลาที่เด็กใช้ดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์สัมพันธ์กับสมาธิสั้น ผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่ลดลง และ EQ ที่ลดลง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้คลังคำของเด็ก 3 ขวบมากขึ้นแต่หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และจะไม่มีคำใหม่อะไรอีกเลยหลังจาก 10 ขวบ เพราะรายการทั้งหมดที่เราดูใช้คำศัพท์วนเวียนไปมาในจำนวนคงที่

วิธีสอนให้ลูกใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ดังนั้นท่านจะให้โซเชียลมีเดียแย่งเวลาท่านไปจากครอบครัวมากเพียงใด หรือท่านควรเอาแต่คุยมือถือในรถแทนที่จะคุยกับลูกระหว่างขับรถมากเพียงใด เหล่านี้พ่อแม่คือผู้กำหนด พูดง่ายๆ ว่าถ้าเกิดปัญหา สาเหตุคือพ่อแม่เองตั้งแต่แรก

หนังสือเสียง (audiobook และ podcast) เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อคนทุกคนบนโลกใช้ชีวิตบนรถมากขึ้น การเลือกหนังสือเสียงที่ดีจึงเป็นเรื่องควรใส่ใจและพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเสียงแนวสารคดีที่ทำได้ดีเยี่ยม หรือหนังสือเสียงที่เป็นนวนิยายหรือที่เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กหรือเยาวชนเป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นเช่นเดียวกับวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบดูหน้าจอนั่นคือพ่อแม่ควรพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกๆ เกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้ฟังพร้อมกัน สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างแน่นอนคือติดหน้าจอไว้ในรถให้เด็กๆ ได้ดูหนัง รายการ หรือเล่นเกมระหว่างใช้ชีวิตบนรถ (ซึ่งใครๆ ก็ทำ)

อีบุ๊คไม่มีรูปเล่มให้จับและไม่มีกลิ่น แต่อีบุ๊คมีประโยชน์ที่เราปฏิเสธมิได้ด้วย ได้แก่ น้ำหนักเบา เอาไปได้ทุกที่ ประหยัดไม้ ประหยัดกระดาษ ประหยัดภาษี และราคาน้อยกว่า เด็กๆ เข้าถึงอีบุ๊คได้มากกว่าจริง แต่อีบุ๊คมีข้อเสียที่สำคัญคือเด็กอ่านจับใจความได้น้อยกว่า ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะอีบุ๊คมีลูกเล่นมากเกินไป พ่อแม่ที่เห็นเด็กอ่านอีบุ๊คก็มีแนวโน้มจะคุยเรื่องวิธีใช้เครื่องมือหรือเรื่อง “ลูกเล่น” แทนที่จะชวนคุยเรื่องเนื้อหาในหนังสือ

อย่างไรก็ตามอีบุ๊คมีประโยชน์มากกับเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน เด็กพิเศษ รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาทางสายตา เพราะลูกเล่นมากมายที่อีบุ๊คทำได้ในขณะที่หนังสือเล่มทำไม่ได้

มีเรื่องเล็กๆ อีก 2 เรื่องที่น่ารู้

เด็กอ่านอีบุ๊คได้ช้ากว่าอ่านหนังสือ และเด็กจะอ่านหนังสือน้อยลงสัมพันธ์กับจำนวนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากขึ้น คำอธิบายเข้าใจได้ไม่ยาก ยิ่งหนังสือมีลูกเล่นมาก การอ่านต่อเนื่องย่อมช้าลง และยิ่งมีเครื่องมือเครื่องไม้มากเวลาที่หมดไปกับการเซ็ตอัพนั่นนี่ก็จะมากตามไปด้วย แต่ที่สำคัญคือจำนวนสื่อที่ไหลบ่าเข้าหาเด็กๆ ก็มากเกินไปด้วย

นึกภาพยื่นหนังสือให้เด็ก 1 เล่ม เขานั่งลงเปิดอ่าน กับยื่นเครื่องมืออ่านหนังสือให้เด็ก 1 ชุด เขาจะทำอะไรก่อนการเริ่มอ่าน

นึกภาพเด็กๆ นั่งดูสื่อการสอนเพื่อการศึกษา หรืองมอยู่กับแอปพลิเคชั่นเพื่อการอ่านหรือการศึกษาสักชิ้น เปรียบเทียบกับเด็กอีกคนที่เดินร้องเพลงโง่ๆ ไม่เป็นคำอยู่ในสวนอย่างเป็นอิสระ เด็กคนไหนกำลังพัฒนา

ตัดการเชื่อมต่อบ้าง

ศิลปิน นักเขียน รวมทั้งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทุกคนพบว่าและยอมรับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาจำเป็นต้องตัดการเชื่อมต่อจากการไหลบ่าของข้อมูลเข้าหาตัว แม้ว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้เขาเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ง่ายขึ้น  และสร้างสรรค์งานได้เรื่อยๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาจำเป็นต้องหยุดทุกอย่างเพื่อฟังเสียงกระซิบของแรงบันดาลใจ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่มา: commons.wikimedia.org

เป็นความจริงที่ว่าระหว่างที่เราใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แบตเตอรี่จะหมดลงเรื่อยๆ รวมทั้งแบตเตอรี่ในใจเราด้วย หากจะให้หยุดเพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยจิตวิเคราะห์ ก็เป็นเพราะเราและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยเดียวกัน อาจจะเถียงว่าเราไม่มีวันเสื่อมพลังถ้าใช้ไฟกระแสสลับ แต่ไฟกระแสสลับนั่นเองที่จะดูดจิตวิญญาณไปไม่เหลือหลอในที่สุด

คราวนี้นึกถึงวัยรุ่นวันนี้ที่วันๆ ก้มใช้มือถือเพื่อติดต่อพูดคุยกับเพื่อนแทบจะทุกช่วงเวลาที่ว่าง ไม่นับเรื่องกระบวนการคิดแบบใคร่ครวญที่ถูกขัดจังหวะตลอดเวลา เอาแค่เรื่องพลังที่ถูกดูดไปนั้นก็มากพอที่เขาจะไม่เหลือเสียงกระซิบแห่งแรงบันดาลใจอะไรนั้นเลย

 

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ย้อนหลังได้ที่นี่

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่