อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง – นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (10)

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ตอนที่ 10 หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์

 

บทนี้เริ่มต้นงานวิจัยมากมายเล่าเรื่องเด็กที่มีหนังสือให้อ่านมากกว่ามีผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาสูงกว่า ท่านสามารถค้นหารายละเอียดได้จากหนังสือเล่มนี้ จิมเขียนเชิงอรรถและบรรณานุกรมไว้ให้ค้นต่อได้ถ้าท่านยังไม่เชื่อหรือไม่จุใจ

งานวิจัยเหล่านี้ลงลึกเรื่องจำนวนหนังสือในบ้าน จำนวนหนังสือที่ห้องสมุด จำนวนเวลาที่เด็กใช้อ่านต่อวัน แม้กระทั่งจำนวนชั่วโมงการทำงานของบรรณารักษ์ ตัวแปรเหล่านี้สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาทั้งสิ้น หากเร่งเรียนแต่ไม่มีหนังสือให้อ่านก็เหมือนการยื่นพายแต่ไม่มีเรือให้พาย

เอ๊ะ หรือว่าซื้อเรือให้แต่ไม่ให้พายไปด้วย

มีงานวิจัยหนึ่งน่าสนใจมาก ติดตามเด็กๆ ในชุมชนยากจนที่จะได้รับหนังสืออ่านฟรีในช่วงฤดูร้อนเป็นเวลาสามปี เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่มีหนังสือให้อ่านตอนฤดูร้อน ผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านในตอนท้ายต่างกันมาก

สมัยนี้คนทุกคนอ่านจากมือถือหรือแท็บเล็ตได้ พ่ออ่านหนังสือพิมพ์บนมือถือ แม่ฟังพอดคาสต์ระหว่างขับรถไปส่งลูก พี่สาวอ่านจากเฟซบุ๊ก น้องชายดูดิสนีย์ออนไลน์ สิ่งที่หายไปมิใช่เพียงหนังสือพิมพ์รายวันที่พิมพ์เป็นกระดาษ แต่คือภาพคุณพ่อนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ และนี่อาจจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กๆ อ่านหนังสือน้อยลง

เด็กคนหนึ่งควรมีหนังสือเป็นของตัวเอง อาจจะไม่ต้องถึง 50 เล่ม แต่ 10-20 เล่มนั้นควรมี ชุมชนทุกแห่งควรมีห้องสมุด เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ห้องสมุดมักเป็นรายการแรกๆ ที่ถูกตัดงบประมาณเมื่อชุมชนพบปัญหาการเงิน ทั้งๆ ที่การลงทุนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในวันนี้คือการป้องกันอาชญากรรมและก่อการร้ายในวันหน้า

จิมเล่าเรื่องแผนการร้ายของเมืองเมืองหนึ่งในการปกป้องห้องสมุดของชุมชน ผลจากการโหวตสองครั้งมีมติให้ปิดห้องสมุดชุมชนลงเพราะขาดแคลนงบประมาณ การประชุมแต่ละครั้งมีประเด็นอภิปรายคือเรื่องงบประมาณมากกว่าจะพูดเรื่องห้องสมุด

หลังจากการแพ้โหวตสองรอบ กลุ่มที่สนับสนุนห้องสมุดกำเงินที่เหลืออยู่ไปปรึกษาบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง เขาได้รับคำแนะนำว่าถ้าผู้มาประชุมเพื่อโหวตรอบที่สามมีจำนวนเท่าเดิมก็จะแพ้อีก ผู้สนับสนุนห้องสมุดต้องหาทางดึงคนที่ไม่มาโหวตในสองครั้งแรกให้ออกมาโหวตให้ได้ และจำเป็นต้องพูดเรื่องอื่นที่มิใช่เรื่องงบประมาณ

กลุ่มผู้สนับสนุนห้องสมุดจึงวางแผนการกอบกู้ห้องสมุดจนดูเหมือนจะเป็นการก่อการร้ายย่อมๆ เลยทีเดียว เมื่อพวกเขาตั้งกลุ่มปลอมเพื่อรณรงค์การปิดห้องสมุดและจะเผาหนังสือไปทั่วเมือง ผลปรากฏว่ามีประชาชนออกมาโหวตเพื่อป้องกันห้องสมุดกันมากมาย

ห้องสมุดไม่ถูกยุบและบริษัทโฆษณาแห่งนั้นได้รับรางวัลประจำปี

จิมเล่าต่อไปถึงการกระทำต่อครูบรรณารักษ์ประจำโรงเรียนของรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งโหดร้ายอีกเช่นกัน ด้วยเหตุที่แคลิฟอร์เนียมีกฎหมายให้ครูบรรณารักษ์ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูด้วย ฝ่ายคิดจะยุบงบประมาณห้องสมุดจึงใช้วิธีสอบวุฒิครูของครูบรรณารักษ์ใหม่หมด ทั้งที่ครูเหล่านั้นมิได้มีชั่วโมงสอนแต่อย่างใด

มุมหนังสือในห้องเรียนเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่โต้เถียงกันได้มาก เมื่อมีห้องสมุดโรงเรียนแล้วยังจะมีมุมหนังสืออีกทำไม ครูจำนวนมากชอบทำมุมหนังสือเพราะเด็กๆ เข้าถึงได้ง่ายและอ่านมากกว่า ครูคนหนึ่งรายงานเรื่องการจัดมุมหนังสือว่าในตอนแรกเธอให้มีระบบการยืม เซ็นชื่อ และปรับเมื่อส่งคืนล่าช้า ปรากฏว่าเด็กๆ อ่านหนังสือลดลงทุกทีๆ เธอจึงเปลี่ยนใหม่ยกเลิกระเบียบนั้นทั้งหมด หยิบตามสบายและส่งคืนตามสบาย

หนังสือหายหรือไม่ หาย

หนังสือเลอะเทอะหรือไม่ เลอะเทอะ

เด็กอ่านหนังสือหรือไม่ อ่าน

การจัดมุมหนังสืออาจจะไม่ต้องจัดตามระบบการจัดหนังสือแห่งชาติ ครูคนหนึ่งปล่อยเด็กๆ จัดมุมหนังสือกันเอง บางครั้งพวกเขาจัดตามชื่อเรื่อง บางทีตามชื่อผู้แต่ง บางทีตามขนาด บางทีตามหน้าปก แม้กระทั่งตามสี จะอย่างไรก็ตามเด็กๆ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของมุมหนังสือกันมาก

ห้องสมุด มุมหนังสือ และหนังสือควรเป็นของเรา เราจะรักมัน

 

 

เมื่อโลกออนไลน์มาถึง ห้องสมุดที่มีหนังสือหลายหมื่นเล่มหลายแห่งจำเป็นต้องปรับตัว ลดจำนวนหนังสือเล่มลง บริจาคหนังสือเล่มออกไป เปลี่ยนหน้าที่ของบรรณารักษ์ ลงทุนกับเครื่องมือไอทีและเทคโนโลยีการสืบค้นทุกรูปแบบรวมทั้งอีบุ๊คมากมาย เปลี่ยนสถานที่ที่เงียบขรึมเพื่อนั่งค้นคว้าเป็นกึ่งร้านกาแฟที่สามารถพูดคุยและทานอาหารว่างได้ด้วย ทั้งนี้แล้วแต่ห้องสมุดแต่ละแห่งจะบริหารจัดการอย่างไร

ในตอนแรกดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี ผู้คนมาที่ห้องสมุดมากขึ้นเพราะมันมีชีวิตชีวามากขึ้น เป็นที่พบปะสังสรรค์ได้พอๆ กับเป็นที่ค้นคว้า อย่างไรก็ตามทั้งผู้ใช้บริการเองและบรรณารักษ์ส่วนใหญ่ก็พบว่าความไม่จริงจังของการค้นคว้านั่นเองที่เริ่มไม่เป็นที่นิยม ห้องสมุดหลายแห่งกำลังเริ่มต้นหวนคืนสู่สภาพเดิม มีหนังสือและเอกสารอ้างอิงที่อ้างอิงได้อย่างมั่นใจมากกว่าที่จะปล่อยให้นักศึกษางมกับข้อมูลดิจิทัลแล้วไม่รู้ว่าจะเชื่ออันไหนดี

อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงแน่ เมื่อวิกิพีเดียซึ่งเขียนและแก้ไขโดยอาสาสมัครได้รับความนิยมอย่างพุ่งพรวด มีมากถึง 300 ภาษา ในขณะที่เอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกามีเพียงภาษาอังกฤษภาษาเดียว ในที่สุดเอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกาฉบับพิมพ์ก็ถูกยกเลิกไปเหลือเพียงฉบับออนไลน์ อย่างไรก็ตามการเข้าถึงมิได้สะดวกสบายเหมือนวิกิพีเดีย แม้ว่าความถูกต้องจะเป็นที่วางใจได้ด้วยจำนวนบรรณาธิการที่มากกว่า

แต่วิกิพีเดียก็ได้เพิ่มจำนวนและระดับมาตรฐานของบรรณาธิการมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่การแก้ไขข้อมูลอ่อนไหวทำไม่ได้ง่ายๆ เหมือนแต่ก่อน วิกิพีเดียจึงยังคงครองความนิยมเพราะโอกาสที่เราจะค้นพบข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับบ้านเกิดของเราเองจะอย่างไรก็มีมากกว่าที่จะไปค้นในเอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกา

บทที่ 6 สั้นๆ นี้มิได้ต่อต้านการอ่านออนไลน์ อย่างไรก็ตามการอ่านหนังสือมีความแม่นยำ ชัดเจน และอ้างอิงได้ง่ายกว่าแน่

 

อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง ย้อนหลังได้ที่นี่

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่