อ่าน ‘Read-Aloud Handbook’ มหัศจรรย์แห่งการอ่านออกเสียง กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#fcfcf0″]นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ชวนอ่านหนังสือ Jim Trelease’s Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง เขียนโดย จิม เทรลีส บรรณาธิการฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 8 โดย ซินดี จิออร์จิส แปลโดย อสมาพร โคมเมือง และจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป

การอ่านออกเสียงมีประโยชน์อย่างไร สำคัญแค่ไหน และต้องทำอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบผ่านหนังสือเล่มดังของโลก ที่บรรจุงานวิจัยที่น่าสนใจไว้มากมาย ขยายความและตีความโดยนายแพทย์ผู้คร่ำหวอดและทำงานสนับสนุนการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในประเทศไทยมาเนิ่นนาน[/su_note]

 

 

– 1 –

อ่านทุกวัน อ่านให้สนุก (1)

 

นี่เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วเสียดายว่าทำไมผมไม่ชิงเขียนเสียก่อนตั้งแต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ่านคำนำแล้วพบว่าผู้เขียนคือจิม เทรลีส (Jim Trelease) มิใช่นักวิชาการจากที่ไหน เขาเป็นเพียงคุณพ่อที่มีความสุขกับการอ่านนิทานให้ลูกฟังเท่านั้นเอง – เหมือนผม

คำตอบคือผมมีงานประจำวันมากเกินกว่าจะไปตามหาเอกสารอ้างอิงมายืนยันเรื่องที่ตนเองพูด บรรยาย และเขียนเสมอมา นั่นคือ

“พ่อแม่ควรอ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังทุกคืนไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะไม่เอาเรา”  

แต่ที่จิมเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้มีมากกว่านั้น แม้พวกเขาจะไม่เอาเราเราก็จะอ่าน และที่จริงแล้วครูทุกโรงเรียนไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าไรแล้วก็ตามควรจัดให้มีชั่วโมงอ่านออกเสียง

“ฉันอ่านหนังสือให้ลูกฟังเพราะฉันชอบ” นี่คือประโยคหนึ่งในบทที่ 1 เป็นดังที่ผมตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่ที่มักเขียนมาถามว่า “อ่านหนังสือเล่มไหนดีคะ” แล้วผมก็จะตอบเสมอว่า “เล่มไหนก็ได้ที่คนอ่านสนุก”

การอ่านนิทานให้ลูกฟังมีข้อสำคัญข้อหนึ่งคือเราต้องสนุก จะเป็นนิทานเรื่องอะไร เหมาะกับเด็กอายุเท่าไร อาจจะเป็นเรื่องควรพิจารณาอยู่บ้าง แต่สำหรับบ้านเราที่วัฒนธรรมการอ่านไม่เข้มแข็ง ผมเลือกที่จะสื่อสารสาธารณะซ้ำๆ ว่า “อ่านไปเถอะ”

จะนิทานจากหนังสือพิมพ์รายวัน ถุงกล้วยแขก หรือหนังสือนิทานประกอบภาพสี่สีสวยสดปกแข็งราคาเป็นร้อย ขอให้คนอ่านสนุกเป็นใช้ได้ ความสนุกนั้นเองที่เป็นแรงผลักดันให้คนอ่านอ่านได้ทุกวันนับสิบปี อาจจะมีเว้นบ้างบางคืนเพราะเราไม่สบายหรือไม่อยู่บ้าน แต่ถ้าเราสนุกเสียแล้ว เราเองที่จะไม่ยอมพลาดกิจกรรมแสนวิเศษก่อนนอนนี้ได้ และจะอ่านได้ปีละไม่ต่ำกว่า 300 คืนอย่างสบายๆ

หากต้องเลือกระหว่างงานส่วนตัวกับอ่านนิทานให้ลูกฟัง เราจะเลือกอย่างหลังก่อนเสมอ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่างานรอได้แต่อายุของลูกไม่รอ

ในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 7 ของบทที่ 1 ซึ่งท่านที่สงสัยสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้เองสรุปไว้ว่าเด็กที่ทำคะแนนการทดสอบ PISA ได้ดีเมื่ออายุ 15 ปี มีประวัติพ่อแม่อ่านออกเสียงให้เด็กฟังตั้งแต่เล็ก ยิ่งตอนเด็กๆ พ่อแม่อ่านออกเสียงให้ฟังมากเท่าไรคะแนนที่ทำได้เมื่ออายุ 15 สูงขึ้นเท่านั้น  ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวกับรายได้ของครอบครัว

เอกสารอ้างอิงหมายเลข 7 และ 9 ของบทที่ 1

 

ความข้อนี้สนับสนุนเรื่องที่ผมพยายามเขียนถึงอีกเรื่องหนึ่งนั่นคือ

“ชนชั้นล่างในสังคมไทยไม่จำเป็นต้องส่งต่อความยากจน ทำได้เมื่อพ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน”

อย่างไรก็ตามผมยอมรับว่าชนชั้นล่างของสังคมไทยจะเอาเวลาที่ไหนมาอ่านนิทาน และจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหนังสือนิทาน นำไปสู่เรื่องที่บ้านเราต้องทำอีก 2 เรื่องคือ

  1. จัดระบบหนังสือแห่งชาติใหม่ให้ราคาหนังสือถูกลง เพราะหนังสือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ควรปล่อยไว้กับราคาตลาด
  2. จัดระบบห้องสมุดชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ให้เด็กไทยทุกคนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงหนังสือนิทานโดยเสรีและไม่เสียค่าใช้จ่าย

รู้ตัวนะครับว่าเขียนง่ายแต่ทำยาก อย่างไรก็ตามนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์และชาญฉลาดควรพยายาม

เรื่องชนชั้นนี้มิใช่เรื่องพูดจาเพ้อเจ้อ ในเอกสารอ้างอิงหมายเลข 9-10 ของบทที่ 1 นี้ พูดถึงงานวิจัยที่ทำในครอบครัว 42 ครอบครัว แล้วพบว่าเด็ก 4 ขวบจากชนชั้นวิชาชีพได้ยินคำ 45 ล้านคำใน 4 ปี ชนชั้นแรงงานได้ยิน 26 ล้านคำ ชนชั้นพึ่งสวัสดิการได้ยิน 13 ล้านคำ จะเห็นว่าความแตกต่างนี้สูงมาก คือ มากกว่า 3 ต่อ 2 ต่อ 1 (คำแปลที่ย่อหน้านี้ไม่น่าจะใช้คำว่า “คำศัพท์”) เช่นกัน ท่านที่สงสัยสามารถค้นคว้าต่อเองได้

ทำไมการได้ยินเป็นเรื่องสำคัญ คำอธิบายง่ายๆ คือทารกได้ยินเสียงก่อนการอ่าน เราไม่จำเป็นต้องรอเด็กเล็กให้อ่านได้ เราควรพูดกับเขาและอ่านออกเสียงให้เขาฟังได้เลย นั่นเท่ากับการสร้างคลังคำศัพท์จำนวนมหาศาลตั้งแต่วันแรก และในงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่เราเคยได้ยินมาบอกแล้วว่าท่านอ่านนิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ แม้ว่าประการหลังนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างคลังคำศัพท์ แต่เสียงที่คุ้นเคยของแม่ตั้งแต่ในครรภ์จะช่วยให้เขาเป็นเด็กที่มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีได้ (temperament)

คลังคำศัพท์ที่ต่างกันมากมายนี้ไม่สามารถชดเชยได้ในเวลาต่อมา เป็นอีกประโยคหนึ่งที่สำคัญ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยหมายเลข 11 คือหลักฐานสนับสนุนประโยคที่ผมพูดไว้ “การอ่านคือกิจกรรมที่ไม่มีวันไล่กันทัน”

ตอนที่ผมพูดประโยคนี้ครั้งแรกผมเพียงคิดว่าใครที่เริ่มต้นชีวิตนักอ่านได้ก่อนจะสปีดความเร็วของการอ่านและการทำงานของสมองเร็วขึ้นทุกขณะ ในขณะที่ผู้ที่เริ่มอ่านช้ากว่าแม้จะดีกว่าไม่อ่านแต่จะเร่งสปีดอย่างไรก็ไม่ทันคนที่ออกวิ่งไปล่วงหน้า ปรากฏว่าความข้อนี้เป็นจริงกับเรื่องการอ่านออกเสียงให้เด็กฟังด้วย

“เล่านิทานได้มั้ยครับ” เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผมได้รับเป็นประจำ คำถามนี้มาจากพ่อมากกว่าแม่ หรือไม่ก็เป็นพ่อฝากแม่มาถาม เราคงไม่ตีความว่าผู้ชายขี้เกียจอ่านมากกว่าผู้หญิง หรืออัตราส่วนของการอ่านหนังสือคล่องในผู้ชายไทยมีน้อยกว่า แต่ก็ไม่แน่?

การพูดจากันในชีวิตประจำวันของคนเราใช้คำศัพท์เพียง 5,000 คำ อย่างมากไม่เกิน 10,000 คำ และคำที่ใช้บ่อยจริงๆ มีเพียง 1,000 คำ ตัวเลขเหล่านี้แตกต่างกันบ้างในตำราเล่มต่างๆ แต่ก็ใกล้เคียงกัน ความละเอียดมีปรากฏในบทที่ 1 หน้า 43 ของหนังสือเล่มนี้ แต่ในหนังสือนิทานสำหรับเด็ก หรือหนังสือนิทาน หรือหนังสือวรรณกรรมเยาวชน มีคลังคำศัพท์มากมายกว่าตัวเลขนี้มาก ดังนั้นการอ่านนิทานด้วยการอ่านออกเสียงเป็นเรื่องสำคัญ

จะเล่านิทานก็ไม่ห้ามแต่ขอให้รู้ว่าผลลัพธ์ต่างกันไกล

 

– 2 –

อ่านทุกวัน อ่านให้สนุก (2)

 

เอกสารอ้างอิงของบทที่ 1 หมายเลข 11 เล่าถึงงานวิจัยในปี 2010 ที่ทำกับเด็ก 6,800 คนอายุ 3-12 ปี

“พวกเขาพบว่าเด็กจากฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำกว่าจะมีจำนวนคลังคำศัพท์น้อยกว่าเมื่อเริ่มเข้าเรียน (ล้าหลังกว่าคนอื่น 12-14 เดือน)

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือประโยคถัดมา

“แล้วเมื่อโตขึ้นก็ยังชดเชยความสูญเสียนั้นมิได้”

หากใช้คำพูดของเพจเพจหนึ่งบนโลกออนไลน์วันนี้ก็จะอุทานว่า “เรื่องสำคัญแบบนี้ทำไมไม่บอกกู!” บ้านที่เริ่มอ่านนิทานช้ากว่า-โตขึ้นก็ชดเชยความเสียหายไม่ได้!

หากเรายึดหลักเรื่อง epigenesis พัฒนาการมีลำดับชั้นของมัน และเรื่อง critical period พัฒนาการมีเวลาวิกฤตของมัน หากเราไม่ทำสิ่งที่ควรทำในเวลาที่ควรทำเราจะทำงานนั้นมิได้อีกเลย และไม่อาจจะชดเชย “เวลาที่สูญหาย” ได้ด้วย อย่างมากก็เพียงเริ่มต้นใหม่ซึ่งช้ากว่าเด็กที่ออกวิ่งไปก่อนแล้ว

เพราะอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงกว่าจึงได้เปรียบ ว่าที่จริงประโยคนี้ก็อาจจะมีปัญหาในบ้านเราอยู่ดี ดังที่พอทำนายได้ว่าชนชั้นกลางก็ไม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเช่นกัน นี่คือโอกาสของชนชั้นล่างที่จะวิ่งแซง

เพื่อให้เข้าใจความข้อนี้มากขึ้นจะเล่าเรื่องธรรมชาติของการรักษาทางจิตเวชศาสตร์ให้ฟัง

สมมติว่าเราวินิจฉัยเด็กคนหนึ่งเป็นออทิสติกเทียม คือไม่สบตาแม่ ไม่สบตาใคร ไม่ยิ้มตอบแม่ ไม่ยิ้มตอบใคร และไม่พูด อาการเหล่านี้เหมือนเด็กออทิสติกที่เป็นแต่กำเนิดแต่เราใช้คำศัพท์ออทิสติกเทียมเพราะส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยให้เด็กดูหน้าจอมือถือมากจนเกินไปตั้งแต่แรก

แม้ว่าเราจะรักษาได้บ้าง ด้วยการหยุดหน้าจอทันที แต่บุคคลที่เป็นต้นเหตุของการให้เด็กดูหน้าจอมักไม่ให้ความร่วมมือ และพ่อแม่บ้านเราก็ได้แต่เกรงใจผู้อื่นจนลูกตนเองป่วย ดังนั้นเรื่องรักษาจึงไม่ง่าย และถึงแม้ว่ารักษาได้หายดี เด็กกลับมามองหน้าแม่ มองหน้าคน ยิ้มให้แม่ ยิ้มให้คน และพูดได้ แต่ระยะเวลาของความเจ็บป่วย 12-36 เดือนนั้นคือ “เวลาที่สูญหาย”

ความหมายคือพัฒนาการหลายอย่างจะสูญหายไป มันไม่กลับมาโดยอัตโนมัติ เด็กจะต้องใช้เวลา 12-36 เดือนเพื่อพัฒนาตนเองซึ่งจะไม่มีวันไล่ทันเด็กที่พัฒนาไปก่อนหน้าแล้ว

แม้ว่าปรากฏการณ์นี้จะเป็นกึ่งอุปมาอุปไมย กล่าวคือเด็กป่วยที่ถดถอยมิได้ต้องใช้เวลาตีทุนคืนเท่าเวลาที่เจ็บป่วยเสมอไป แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ใช้เวลานาน และขึ้นอยู่กับว่าพัฒนาการอะไรที่สูญหายและพัฒนาการอะไรที่เร่งสปีดได้ พัฒนาการอะไรที่ไม่มีทางเร่งสปีดได้

บทที่ 1 หน้า 45 ภาพประกอบที่ 1.2 คือภาพที่ง่ายและช่วยให้เราเข้าใจเรื่องทั้งหมดโดยง่าย

ภาพประกอบ 1.2 บทที่ 1

 

เราอ่านนิทานให้เด็กฟังเพื่อสร้างคลังคำ คลังคำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับชั้น

กลุ่มแรก คือคำศัพท์เพื่อการฟัง (listening vocabulary) อ่างน้ำที่ใช้เก็บคลังคำเพื่อการฟังได้จากการฟัง ฟังจนล้นแล้วจึงไหลลงสู่อ่างที่สองอันเป็นที่อยู่ของคลังคำกลุ่มต่อมาคือคำศัพท์เพื่อการพูด (speaking vocabulary)

พัฒนาการด้านภาษาเป็นเช่นนี้เอง การสร้างคลังคำที่เกิดจากการได้ยินจึงเป็นเรื่องสำคัญและเราสร้างได้ทันทีตั้งแต่แรกเกิด เด็กที่มีคลังคำเพื่อการฟังมากกว่าจะฟังเก่งขึ้นทุกวัน นำไปสู่พัฒนาการของคลังคำด้านอื่นๆ มากขึ้นทุกเดือน แล้วเรื่องก็จะไปจบที่โรงเรียน

เด็กที่มีคลังคำไปจากบ้านมากกว่าจะฟังครูพูดรู้เรื่องมากกว่า ง่ายๆ เท่านี้เอง เด็กๆ ไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือก็จริงแต่จะเอาอะไรไปใส่เนื้อหาหากไม่มีคลังคำไว้ใส่เนื้อหาตั้งแต่แรก ง่ายๆ เท่านี้เอง

ถ้าการอ่านที่โรงเรียนเป็นเรื่องไม่สนุก ถ้าการอ่านเป็นยาขม ไม่มีทางเลยที่จะให้เขาอ่านนอกห้องเรียน คำถามคือโรงเรียนของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนอนุบาลทำให้การอ่านเป็นยาขมตั้งแต่ปฐมวัยมากน้อยเพียงใด

ดูเอกสารอ้างอิงหมายเลข 29 ของบทที่ 1 นี้ งานวิจัยที่ทำในนักเรียน 150,000 คนจาก 35 ประเทศเมื่อปี 2010 พบว่าบ้านที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ ทำคะแนนเมื่อชั้นประถม 4 มากกว่าบ้านที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นบางครั้ง 30 คะแนน เช่นเดิม หากแคลงใจการค้นพบนี้กรุณาไปหาเอกสารหมายเลข 29 เพื่ออ่านเอง

บ้านเรานิยมส่งลูกไปเรียนก่อน 3 ขวบ โรงเรียนของเรานิยมสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ก่อน 4 ขวบ ค่านิยมเหล่านี้ผิดทั้งธรรมชาติและวิชาการ วิชาการที่ว่านี้คือวิชาการเรื่องพัฒนาการเด็กซึ่งมีเขียนในตำราแพทย์มามากกว่าครึ่งศตวรรษ ว่าเราไม่ควรพรากลูกไปจากแม่ก่อน 3 ขวบเพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดพยาธิสภาพทางจิตในอนาคต และเราไม่ควรเร่งเรียนในช่วง 4-7 ขวบ เพราะเป็นเวลาวิกฤตของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ในสนาม และการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของนิ้วมือด้วยการละเล่น ศิลปะ กีฬา และดนตรี

การอ่านนิทานให้ลูกๆ กับเด็กนักเรียนฟังเป็นพื้นฐานของการเล่น ศิลปะ กีฬา และดนตรี เป็นรากฐานที่เราสร้างได้ตั้งแต่แรกเกิด ถ้าบ้านใดเชื่อแล้วลงมือทำวันนี้ผลลัพธ์ในสิบปีข้างหน้าต่างจากบ้านที่ไม่ทำอย่างเห็นได้ชัด

และถ้าการศึกษาไทยยอมเปลี่ยนแปลงวันนี้ สิบปีสังคมไทยก็เปลี่ยนไปแล้ว

 

– 3 –

คลังคำและความจำใช้งาน (1)

 

ในตอนต้นของบทที่ 2 นี้ผู้เขียนอ้างถึงหนังดังในอดีตปี 1987 เรื่อง Three Men and a Baby ซึ่งสร้างใหม่จากหนังฝรั่งเศสชื่อ Trois hommes et un couffin (Three Men and a Cradle) ฉบับฮอลลีวู้ดเข้ามาฉายในเมืองไทยโดยใช้ชื่อว่า อะไรอยู่ในตะกร้า นำแสดงโดยทอม เซลเล็ค สตีฟ กุทเทนเบิร์ก และเทด แดนสัน

โปสเตอร์ “Three Men and a Baby”

หนังเล่าเรื่องชายหนุ่มสามคนตกที่นั่งเป็นพ่อของเด็กทารกหญิงคนหนึ่งซึ่งถูกนำใส่ตะกร้ามาทิงไว้หน้าบ้านของคนทั้งสาม เป็นหนังครอบครัวที่ดูสนุกและทำรายได้มหาศาลในปีนั้น มีตอนหนึ่งในหนังที่ตัวละครของทอม เซลเล็ค พูดว่าที่เขาอ่านหนังสือให้ทารกฟังมิได้คิดว่าทารกตัวเท่านี้จะฟังอะไรรู้เรื่อง เขาเพียงแค่ต้องการให้ทารกได้ยิน (โทน) เสียงของเขาเท่านั้นเอง ทั้งนี้เพื่อสร้าง “สายสัมพันธ์”

เป็นไปดังที่ผมเขียนเสมอว่า เราอยากให้พ่อแม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืน โดยมิได้คาดหวังว่าเด็กจะฉลาดหรือเด็กจะรักการอ่าน แต่เพียงเพื่อประกันว่าพ่อแม่จะปรากฏตัวในห้องนอนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน อันจะเป็นการสร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริง ตามด้วยสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในที่สุด

แต่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนต่อไปว่าเด็กที่พ่อแม่เริ่มอ่านออกเสียงให้ฟังก่อน เป็นไปได้ว่าเด็กจะรักการอ่านมากกว่าจริงๆ อธิบายว่าเด็กที่ฟังพ่อแม่อ่านออกเสียงมามากกว่าจะมีคลังคำมากกว่า เด็กที่มีคลังคำมากกว่าจะอ่านหนังสือที่มีคำศัพท์มากกว่ารู้เรื่อง ทำให้ได้คลังคำเพิ่มเติม แล้วสร้างความสามารถที่จะอ่านหนังสือที่มีคำศัพท์มากขึ้นได้เรื่อยๆ เปรียบเทียบกับเด็กที่พ่อแม่อ่านออกเสียงน้อยกว่าทำให้มีคลังคำน้อยกว่า นำไปสู่ความไม่สามารถเลือกหนังสืออ่านได้มากนักเพราะคลังคำที่จำกัด เด็กสองคนนี้จึงทิ้งห่างจากกันมากขึ้นทุกที

คือคำอธิบายสำหรับคำพูดที่ว่าเพราะอะไรเด็กที่มีคลังคำน้อยกว่าจะไม่สามารถลดช่องว่างที่ห่างกันนี้ได้ในภายหลัง

พ่อแม่อ่านออกเสียงให้ลูกฟังทำให้เด็กมีคำศัพท์เพื่อการฟังมากกว่า นำไปสู่คำศัพท์เพื่อการพูด การอ่าน และการเขียนมากกว่าตามลำดับ ปรากฏการณ์นี้อธิบายได้ด้วยระบบสัญลักษณ์ คือภาษามิได้มีอยู่ในตอนแรก แต่เกิดจากเส้นสมมติของชนชาติต่างๆ เพื่อแทนคำพูด การฟังซ้ำ พูดซ้ำ และอ่านซ้ำจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสัญลักษณ์นี้แล้วนำไปสู่ความสามารถในการเขียนในที่สุด ทำให้ช่องว่างด้านความสามารถทางภาษาของเด็กที่มีคลังคำมากและคลังคำน้อยทิ้งห่างจากกันมากขึ้นไปอีก

หนังสือเล่มนี้เขียนมานานแล้ว ปัจจุบันเรารู้แล้วว่าพ่อแม่อ่านออกเสียงตั้งแต่แรกเกิดช่วยให้ทารกพัฒนาความจำใช้งาน ความจำใช้งานมี 2 ชนิดคือ ความจำใช้งานด้านเสียง เรียกว่า phonological loop และความจำใช้งานด้านภาพ เรียกว่า visuospatial sketchpad ทั้งสองส่วนประสานเข้าหากันด้วยส่วนที่สามคือส่วนบริหารกลาง เรียกว่า central executive

กล่าวเฉพาะความจำใช้งานด้านเสียง เสียงพ่อแม่ที่อ่านนิทานให้ฟังจะช่วยพัฒนาโมเดลความจำใช้งานโดยตรง ทารกบางคนนอนฟังนิทานดีๆ แต่บางคนเล่นยุกยิก และเมื่อถึงวันที่เขาคลานหรือเดินเตาะแตะได้เขาจะเดินไปรอบห้องนอนทำให้พ่อแม่บางท่านหมดกำลังใจที่จะอ่านนิทานออกเสียงต่อ

แต่พ่อแม่ควรอ่านนิทานออกเสียงต่อไป เพราะทุกย่างเท้าที่ทารกเดินเกาะไปรอบห้องนอน หูเขายังคงได้ยิน เขาอาจจะมีลักษณะเหมือนเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาในตอนแรกๆ แต่ที่แท้แล้วสมองกำลังพัฒนาโมเดลความจำใช้งาน เขากำลังถือครองความจำของประโยคที่หนึ่งแม้ว่าจะคลานหรือเดินอยู่เพื่อรอให้ประโยคที่สองมาต่อติด จากนั้นถือครองความจำของประโยคที่หนึ่งและสองเพื่อรอให้ความจำใช้งานของประโยคที่สามมาต่อติด เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป เขาถือครองได้กี่ประโยคเป็นเวลานานเท่าไรคือขนาดของถังความจำใช้งานที่ใหญ่ขึ้น วันนี้เขาเป็นเพียงทารกที่ยังไม่เข้าใจเรื่องที่พ่อแม่อ่าน ดังที่ตัวละครของสตีฟ กุทเทนเบิร์ก หยอกตัวละครของทอม เซลเล็ค ในหนังอะไรอยู่ในตะกร้าตอนต้นบทความว่าเด็กจะไปรู้อะไร แต่การอ่านออกเสียงนั้นมิได้สูญเปล่า นอกเหนือจากสร้างสายสัมพันธ์แล้วยังเปิดปากถังความจำใช้งานให้กว้างขึ้น เพื่อรอเวลาที่เด็กจะประมวลผล (process) ประโยคหลายประโยคที่พ่อแม่อ่านออกเสียงให้ฟังเป็น “อ่านเอาเรื่อง” ในตอนท้าย

เรื่องโมเดลปากถังความจำใช้งานนี้เป็นเรื่องสำคัญ ปากถังที่กว้างกว่าช่วยให้เด็กประมวลผลหลายข้อมูลได้ในเวลาเดียวกัน เด็กกลุ่มนี้จะสามารถวางแผนทำการบ้านล่วงหน้าได้หลายวัน ตื่นเช้าแล้วแต่งตัวไปโรงเรียนทันเวลาเพราะรู้ขั้นตอนกระจ่าง เริ่มตั้งแต่ไปล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินอาหารเช้า ใส่รองเท้า ถือกระเป๋า แล้วออกจากบ้าน ในขณะที่เด็กซึ่งมีปากถังความจำใช้งานแคบกว่าจะปล่อยข้อมูลนำเข้าได้เพียงครั้งละ 1-2 ข้อมูลแล้วประมวลผลเพียงเท่านั้น เด็กเหล่านี้จึงไม่รู้ว่าตนเองต้องทำการบ้านตอนนี้เพื่อจะส่งวันพรุ่งนี้ หรือไม่รู้ว่าการแต่งตัวไปโรงเรียนตอนเช้านั้นใช้กระบวนการทั้งหมดกี่ขั้นตอนตั้งแต่การใช้แขนหนึ่งสอดเข้าแขนเสื้อหนึ่ง ไปจนถึงผูกเชือกรองเท้าเสร็จ ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องล้างหน้า แปรงฟัน และอาบน้ำ มีขั้นตอนย่อยทั้งหมดกี่ขั้นตอน

พัฒนาการของโมเดลความจำใช้งานนี้ช่วยอธิบายเรื่องที่หนังสือเล่มนี้เขียนอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องความจำใช้งานเพื่อการฟังมาก่อนความจำใช้งานเพื่อการพูด

เด็กได้ยิน จำไว้สักครู่ แล้วก็จะลืมในเวลาไม่กี่วินาที เด็กจะถือครองความจำใช้งานได้นานขึ้นเมื่อพูดกับตัวเอง เวลาเราเห็นเด็กพูดคนเดียว หรือพากย์การกระทำของตัวเองระหว่างเล่นทำครัวมิใช่เรื่องผิดปกติ เขากำลังพัฒนา “ความยาวของความจำใช้งาน”

พ่อแม่อ่านออกเสียงหลายคำ เขาจำได้ไม่กี่คำ จำนวนคำที่ได้ฟังมีมากกว่าจำนวนคำที่ได้พูด แต่ถ้าเราอ่านออกเสียงมากเท่าไร จำนวนคำที่ได้ฟังจะมากขึ้น แล้วจำนวนคำที่ได้พูดจะมากตามไปด้วย นั่นคือคำศัพท์เพื่อการฟังมากกว่าคำศัพท์เพื่อการพูด การพูดคนเดียวหรือการพูดกับคนอื่นเป็นการตอกลิ่มคำศัพท์เพื่อการพูดบ่อยให้ฝังแน่นและคงทน เด็กสามารถทำให้คงทนได้มากยิ่งขึ้นด้วยการอ่านและการเขียน อ่านหนังสือที่ตัวอ่านออกด้วยคลังคำตั้งต้น แต่หนังสือที่ดีจะนำเข้า (import) คลังคำใหม่ๆ อีกจำนวนมากที่เรามิได้ใช้ในการพูดประจำวัน หรือแม้กระทั่งในการเล่านิทาน

วรรณกรรมเรื่อง “แมงมุมเพื่อนรัก”

ยกตัวอย่าง แมงมุมเพื่อนรัก (Charlotte’s Web) วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกปี 1952 ของอี.บี. ไวต์ เล่าเรื่องมิตรภาพระหว่างชาร์ล็อตต์ แมงมุมในโรงนา กับวิลเบอร์ หมูเลี้ยงน่ารักน่าเอ็นดู จะว่าไปนี่คือหนังสือที่เด็กไทยทุกคนควรอ่าน ไม่เพียงเพราะเนื้อเรื่อง เนื้อหา และกลวิธีการเขียนที่ดีเลิศ แต่เพราะเป็นหนังสือที่มีคลังคำใหม่ๆ จำนวนมาก ดังที่หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่าง

 

– 4 –

คลังคำและความจำใช้งาน (2)

 

คลังคำที่ได้จากการอ่านออกเสียงให้ลูกฟังมีมากกว่าคลังคำที่ได้จากการพูดคุยหรือเล่านิทาน ดังนั้นเราจึงควรอ่านออกเสียงให้ลูกฟังนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่เป็นความจริงที่ว่าเราควรเลิกอ่านออกเสียงเมื่อพบว่าลูกอ่านหนังสือเองเป็นแล้ว

ใจความสำคัญของครึ่งหลังของบทที่สองนี้มีอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก

เรื่องที่หนึ่ง คือการอ่านออกเสียงให้เด็กพิเศษ 

หนังสือได้ยกตัวอย่างเจนนิเฟอร์ เจนนิเฟอร์คลอดก่อนกำหนดและเป็นดาวน์ซินโดรม เธอรับการผ่าตัดแก้ไขหัวใจพิการแต่กำเนิดและต้องอยู่ในห้องไอซียู แล้วอยู่โรงพยาบาลอีกเจ็ดสัปดาห์ คุณหมอบอกกล่าวว่าเธออาจจะตาบอด หูหนวก และปัญญาอ่อน

นี่คือเรื่องที่คุณแม่ของเจนนิเฟอร์ทำ คุณแม่อ่านนิทานคืนละ 10 เล่มทุกวันตั้งแต่แรก ช่วงที่เจนนิเฟอร์อยู่ในไอซียูคุณแม่จะเปิดเสียงนิทานทิ้งเอาไว้ และคุณแม่ทำเช่นนี้เสมอมาจนกระทั่งเจนนิเฟอร์เรียนชั้นประถมหนึ่ง

เจนนิเฟอร์อ่านเก่งที่สุดในห้องและมีคลังคำศัพท์มากมาย สอบอ่านได้คะแนนเต็มทุกครั้ง เธอเป็นนักเรียนดีเด่น เป็นนักไวโอลิน เรียนจบประกาศนียบัตรหลังประถมปลายสำหรับผู้มีปัญหาการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยเวสลีย์ วันนี้เธอมีคอนโดมิเนียมของตนเองและมีพจนานุกรมสองเล่มวางอยู่บนโต๊ะตลอดเวลา

ผมได้รับคำถามจากคุณพ่อคุณแม่ของเด็กพิเศษเสมอๆ ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตดี การไปพบนักพัฒนาการหรือนักแก้ไขการพูดทุก 1-2 เดือนเป็นเรื่องที่กระทำอยู่แล้วแต่เห็นความก้าวหน้าไม่มากนัก

คำตอบที่ผมให้เสมอคือควรไปพบนักพัฒนาการหรือนักฝึกพูดตามนัดเสมอ อย่าหมดหวังหรือหมดกำลังใจ และให้ตั้งใจฝึกหรือกระตุ้นลูกตามคำแนะนำของนักพัฒนาการหรือนักฝึกพูดตลอดช่วงเวลาที่อยู่บ้านเพื่อรอนัดครั้งต่อไป เราต้องทำเอง มิใช่ยกหน้าที่ให้นักพัฒนาการหรือนักฝึกพูดทำเพียงเดือนละ 1 ชั่วโมง หากเราลงมือทำเองทุกวันเด็กจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ผมเติมเสมอว่าให้อ่านนิทานก่อนนอนทุกคืน อย่าหยุดอ่าน ที่ผมไม่ได้พูดคืออ่านอย่างน้อย 10 เล่มแบบคุณแม่ของเจนนิเฟอร์ ที่ผมพูดเสมออีกเรื่องคืออ่านเล่มไหนก็ได้ที่ลูกฟัง และคนอ่านสนุกกับการอ่าน

หนังสือเล่มนี้ได้ให้คำแนะนำเรื่องการเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็กพิเศษในตอนเริ่มต้นไว้ดังนี้

  1. ใส่ใจหน้าปก ขนาด หน้าหนังสือ ขนาดรูปภาพ และขนาดตัวอักษร
  2. เลือกที่มีคำซ้ำหรือคำคล้องจอง
  3. เลือกเรื่องสั้นๆ ข้อความไม่เยอะ
  4. เลือกเรื่องที่มีรูปภาพง่ายๆ ไม่รกตา
  5. เลือกเรื่องที่มีการตั้งคำถาม
หน้าปก “The Very Hungry Caterpillar”

ทั้งนี้โดยยกตัวอย่างหนังสือหลายเล่ม เล่มที่มีแปลไทยแล้วคือ หนอนจอมหิว (The Very Hungry Caterpillar) ของเอริก คาร์ล อย่าลืมว่าเด็กพิเศษหรือเด็กสมาธิสั้นไม่อยู่นิ่งในวันแรกๆ ขอให้อดทนที่จะอ่านต่อไป เด็กจะนิ่งหรือมีสมาธิเพิ่มขึ้นได้เมื่อมีระบบความจำใช้งานที่แข็งแรงขึ้น ทั้งหมดนี้ใช้เวลาหลายเดือน

เมื่อหมดกำลังใจให้ดูเจนนิเฟอร์เป็นตัวอย่าง

เรื่องที่สอง คือเรื่องการอ่านออกเสียงให้วัยทีนหรือวัยรุ่น

คำแนะนำคือเราอ่านออกเสียงให้ลูกฟังได้จนกระทั่งเขาอายุประมาณ 11-12 ปี และอายุ 11-12 ปีนี้เป็นที่ยืนยันว่าที่จริงแล้วเขายังอยากฟัง

หนังสือยกตัวอย่างกรณีของคริสเตน โบรซินา ที่พ่อของเธอ จิม โบรซินา อ่านหนังสือให้เธอฟังรวม 3,218 คืน โดยไม่มีใบงานหรือการทดสอบคำศัพท์ อีกครั้งหนึ่ง อ่านนิทานให้ลูกฟังด้วยความสนุกสนาน ไม่ต้องมีใบงานหรือทดสอบคำ

“เธอมีอะไรตอบแทนความพยายามของพ่อบ้างนอกเหนือจากความรัก ความผูกพัน และประสบการณ์ร่วมกัน” คำตอบคือเกรดเอเกือบทุกวิชาในสี่ปีที่วิทยาลัย ชนะเลิศงานเขียนระดับประเทศสองครั้ง และเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ที่เธอมีร่วมกับพ่อหนึ่งเล่มโดยใช้นามปากกาว่า อลิซ ออซมา ชื่อหนังสือว่า สัญญาที่จะอ่าน พ่อของฉันและหนังสือที่เราอ่านด้วยกัน (The Reading Promise: My Father and the Books We Shared)

หนังสือ “The Reading Promise: My Father and the Books We Shared” โดย อลิซ ออซมา และจิม โบรซินา

 

การชักชวนวัยรุ่นให้มาอ่านหนังสือด้วยกันมิใช่เรื่องง่ายนักหากมิได้มีการเตรียมตัวมาก่อนจนกระทั่งคุ้นเคย คำแนะนำที่หนังสือนี้มีให้ คือ 3 B

ในประดาวัฒนธรรมคำย่อที่แสนน่าเบื่อ ผมพบว่าคำย่อ 3 B นี้เข้าท่ามาก

  • Books ให้หนังสือแก่เด็ก ให้เด็กได้เขียนชื่อตัวเองและเป็นเจ้าของหนังสือ มิใช่ทุกเล่มต้องขอยืมจากห้องสมุด
  • Baskets ทำตะกร้าหนังสือไว้ในที่ที่เด็กจะได้หยิบ และหยิบง่าย วางหนังสือไว้ทั่วบ้านดีกว่าเก็บหนังสือไว้กระจุกเดียว
  • Bed Lamp ซื้อโคมไฟหัวเตียงอ่านหนังสือให้แก่ลูก ข้อนี้อ่านแล้วออกจะโหดเล็กน้อย ถ้าเด็กอ่านหนังสือเราจะเปิดไฟให้อ่านแล้วขยายเวลาเข้านอนไปได้อีก 15 นาที ถ้าเด็กไม่อ่านหนังสือเราจะปิดไฟนอนตามเวลาเดิม เป็นไปได้หากทำจนเป็นนิสัยตั้งแต่เล็กเพียงเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านก่อนเข้านอน

มีอีกคำแนะนำหนึ่งข้อที่เข้าท่า อ่านออกเสียงในรถให้ลูกฟังเมื่อขับรถส่วนตัวเดินทางไกล ถ้าพ่อหรือแม่ขับรถเองและอีกคนมิได้ไปด้วยให้เปิดเทปนิทาน นวนิยาย หรือวรรณกรรมไประหว่างทาง

ทั้งหมดนี้ภายใต้ข้อเท็จจริงที่พูดถึงแล้วนั่นคือ คำศัพท์เพื่อการฟัง มาก่อนคำศัพท์เพื่อการอ่าน

 

– 5 –

หนังสือสำหรับปฐมวัย ประถม และมัธยม (1)

 

“เรายังไม่ได้ข้อสรุปว่าช่วงเวลาสามขวบปีแรกของชีวิตนั้นแท้จริงแล้วมีความสำคัญแค่ไหน ประตูแห่งโอกาสนั้นปิดตายลงหลังจากสามขวบจริงๆ หรือ หรือว่ายังจะมีโอกาสครั้งที่สอง สาม และสี่ต่อไปอีก”

บทที่สามเริ่มต้นย่อหน้าแรกด้วยข้อความนี้ ตามด้วยเอกสารอ้างอิงทั้งที่เป็นเอกสารหรือคลิปเสียงให้ท่านผู้สนใจได้ศึกษารายละเอียดของวิวาทะนี้

ที่บ้านเรามีวิวาทะเรื่องนี้ไม่มาก ปัญหาไปอยู่ที่เราตีความความข้อนี้อย่างไรมากกว่า คำพูดที่ว่าสมองเด็กเรียนรู้ได้มากที่สุดในหนึ่งพันวันแรกถูกนำไปใช้คนละวัตถุประสงค์ กลุ่มหนึ่งใช้เพื่อเร่งการเรียนรู้บางประการ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งใช้เพื่อเตรียมความพร้อม

“การศึกษาปฐมวัยไม่ควรเป็นแค่การศึกษา แต่ควรเป็นการเล่นสนุก การสำรวจค้นคว้า และการหล่อเลี้ยงพัฒนาการทางอารมณ์ พูดสั้นๆ คือทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเด็ก” เป็นข้อสรุปของ ดร.แจ็ก ชองกอฟฟ์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการสมองของเด็ก

“งานวิจัยยืนยันว่าการเก็บสะสมรูปแบบของเสียงและคำศัพท์ระยะยาวที่สามารถวัดได้นั้นเริ่มต้นตั้งแต่อายุแปดเดือน เด็กที่ได้ยินภาษามากที่สุดจะมีโอกาสมากที่สุดที่จะมีทักษะทางภาษาที่ดี” และ “เป็นหนทางสู่การเรียนรู้และประสบความสำเร็จในโรงเรียน”

แล้วย้ำว่า “ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความตั้งใจที่จะสร้างทารกอัจฉริยะ” แต่เป็น “การสร้างสายสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างพ่อแม่กับลูก และการสร้างสะพานเชื่อมแสนสุขระหว่างเด็กกับหนังสือ ให้พวกเขาพร้อมข้ามไปเมื่อไรก็ได้ที่มีพัฒนาการพร้อมจะอ่านหนังสือเอง”

หนังสืออะไรเหมาะกับทารกที่สุด? คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมได้รับเป็นส่วนตัวเสมอว่าหนังสืออะไรเหมาะกับอายุเท่าไร เป็นที่สังเกตได้ว่าผมไม่ตอบคำถามนี้ลงในรายละเอียดด้วยเหตุผลที่จำเพาะต่อสถานการณ์การอ่านและสังคมวัฒนธรรมของบ้านเราซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างหรือหาเช้ากินค่ำ ดังจะอธิบายต่อไป

แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายไว้อย่างยืดยาวและลงรายละเอียดตามสมควรเหมาะแก่บุคคลที่สนใจรายละเอียดได้อ่านด้วยตนเอง กล่าวอย่างสั้นคือหนังสือสำหรับทารกควรเป็นหนังสือที่มีรูปภาพขนาดใหญ่ เห็นชัด สีสันสดใส และมีตัวหนังสือไม่มากนัก ดีกว่านี้คือมีตัวหนังสือคล้องจองหรือมีคำอ่านซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง

ส่วนรูปลักษณ์ของหนังสือที่อาจจะต้องใช้คือบอร์ดบุ๊ค หนังสือกันน้ำ และหนังสือผ้า เหล่านี้เพื่อป้องกันการฉีกกัดและดูดอมของเด็กเล็ก

หนังสือของจิมเล่มนี้ได้ยกตัวอย่างหนังสือสำหรับทารกและเด็กเล็กขวบหรือสองขวบปีแรกไว้มากมาย แต่ไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา หากจะยกตัวอย่างเป็นหนังสือไทยและยังร่วมสมัย ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง เกริก ยุ้นพันธ์ หนังสือของท่านเป็นภาพวาดสองมิติ ตัดเส้นคมชัดหรือมีขอบเขตของรูปชัดเจน ใช้คำสั้น น้อย และบางเล่มใช้คำซ้ำหรือคำคล้องจอง มีหนังสือลักษณะนี้อีกในตลาดหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กฝีมือนักเขียนไทยท่านอื่นๆ อีก ลูกสองคนของผมเติบโตมากับหนังสือของอาจารย์เกริกมากกว่าท่านอื่นๆ นั่นคือเหตุการณ์เมื่อสามสิบปีก่อน

ตัวอย่างผลงานโดยเกริก ยุ้นพันธ์

กลับมาที่เพราะอะไรผมมักไม่ตอบคำถามว่าหนังสืออะไรเหมาะกับเด็กอายุเท่าไร ที่ผมตอบมักจะมีเพียงว่า “อ่านอะไรก็ได้ที่คว้าได้” หรือ “อ่านอะไรก็ได้ที่คนอ่านสนุก”

เหตุผลคือลำพังการเริ่มต้นอ่านนิทานให้ลูกฟังก็เป็นเรื่องยากแล้วสำหรับพ่อแม่บ้านเราที่ส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ชนชั้นกลางกว่าจะเลิกงานฝ่าจราจรถึงบ้านก็มืดค่ำ ชนชั้นล่างปากกัดตีนถีบหาเงินเลี้ยงตัวแทบไม่รอดมิพักพูดถึงซื้อหนังสือนิทานเข้าบ้าน บอร์ดบุ๊ค หนังสือกันน้ำ และหนังสือผ้าไม่ต้องฝัน

ดังนั้นที่ผมพยายามทำเสมอมาคือ “สตาร์ตให้ได้ก่อน” เรื่องอื่นว่ากันทีหลัง

แล้วเราจะพบปรากฏการณ์ที่น่ามหัศจรรย์ เพราะเรามิได้ต้องการสร้างทารกอัจฉริยะ เราแค่จะสร้างสายสัมพันธ์พ่อแม่ลูก และสะพานเชื่อมเด็กกับหนังสือ แน่นอนว่าหนังสือบางเล่มไม่เหมาะกับเด็กบางอายุ แต่กฎเหล่านี้ก็ไม่แน่นัก หนังสือบางเล่มหากเราไม่อ่านวันนี้จะพบภายหลังว่าน่าเสียดายเวลาที่เสียไปมาก เพราะลูกของเราชอบมันมากแม้ว่าหนังสือจะเกินอายุ

หนังสือบางเล่มอาจจะไม่เหมาะกับเด็กบางคนไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม ดังนั้นถ้าเราพบเหตุการณ์ที่ว่าหนังสือบางเล่มไม่เหมาะกับลูกของเรา เราเพียงเก็บขึ้นปีหน้าว่ากันใหม่เท่านั้นเอง

บ้านเรามีความอ่อนไหวกับประเด็นทางศีลธรรมและจริยธรรมมากมายเป็นพิเศษ ทำให้หนังสือบางเล่มไม่เหมาะกับพ่อแม่บางท่าน ดังที่มีคำถามเสมอว่าแจ็กผู้ฆ่ายักษ์เป็นตัวอย่างไม่ดีด้วยประการทั้งปวงตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นต้น

เมื่อเด็กพ้นวัยทารก เขาย่อมไม่นอนนิ่งๆ ฟังพ่อแม่อ่านนิทานอีกแล้ว เพราะเขาพัฒนากล้ามเนื้อมือและนิ้วมือได้แข็งแรงมากพอจะแย่งหนังสือในมือแม่มาขยำและฉีก เขาสามารถพลิกหน้าต่อไปได้โดยที่พ่อแม่อ่านยังไม่จบหน้า และกล้ามเนื้อขาของเขาทรงพลังมากพอที่จะเดินไปจากเราในขณะที่เราอ่าน นอกจากนี้เขายังมีสมอง สติปัญญา และปากที่จะถามขัดจังหวะการอ่าน เรื่องเหล่านี้สร้างความเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ หรือหงุดหงิดกับพ่อแม่ต่างๆ กัน

คำตอบที่ผมตอบเสมอคือ “อ่านต่อไป” ตามด้วย “แล้วอะไรๆ จะดีเอง” ซึ่งรับรองว่าจริง

แต่ถ้าท่านต้องการอ่านวิธีแก้ไขละเอียดมากกว่าที่ผมเขียนสักเล็กน้อยก็ลองหาอ่านจากหนังสือของจิมเล่มนี้ได้ แต่เชื่อเถอะว่า “อ่านต่อไป แล้วอะไรๆ จะดีเอง” ง่ายกว่าเยอะ

ที่ผมแนะนำทำได้ง่ายๆ คือเตรียมหนังสือสำรองไว้ข้างตัว แย่งได้แย่งไป ฉีกได้ฉีกไป เราก็อ่านเล่มใหม่ไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องเดินไปรอบห้องนอนนั้น ให้ทำห้องนอนให้ไม่กว้างนักและเอาสิ่งเร้าคือตุ๊กตา หนังสืออื่นๆ แจกันดอกไม้ และทุกสิ่งทุกอย่างออกไปเสียบ้าง เขาเดินจนเบื่อก็จะวนกลับมาหาเราเอง

อย่างไรก็ตาม จิมได้ยกตัวอย่างบทสนทนาที่แม่ท่านหนึ่งคุยกับลูกสลับกับอ่านให้ฟังได้อย่างลื่นไหลและน่าฟัง จะเลือกใช้วิธีนี้ก็ได้ แต่ก็เป็นทักษะที่พ่อแม่ต้องฝึกฝน อ่านบ้าง คุยบ้าง ถามบ้าง หยุดเพื่อตอบคำถามบ้าง แล้วชวนอ่านต่ออย่างนางเอก

มิใช่แม่ทุกคนจะเป็นนางเอกได้

 

– 6 –

หนังสือสำหรับปฐมวัย ประถม และมัธยม (2)

 

เมื่ออายุ 2-3 ขวบ เด็กเริ่มเตาะแตะไปจากเราด้วยจังหวะก้าวที่มั่นคงขึ้นและไปไกลมากขึ้น คือวันเวลาที่เด็กจะสนใจ “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ที่พบเห็น แม้กระทั่ง “รู” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รู”

เพราะอะไรเด็กๆ จึงมักสนใจรู คำตอบง่ายมาก เขาอยากรู้ว่าในรูมีอะไรอีก นั่นคือเหตุผลที่อลิซผ่านรูกระต่ายไปสู่อีกโลกหนึ่ง [จากหนังสือ อลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventures in Wonderland)]

หน้าปก “อลิซในแดนมหัศจรรย์”

จิมเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการแปะป้าย เด็กจะสนใจและสนุกกับการแปะป้ายชื่อสิ่งของต่างๆ การอ่านหนังสือประเภทรวบรวมวัตถุสิ่งของเป็นหมวดหมู่แล้วบอกชื่อจึงมิใช่ข้อห้าม ในทางตรงข้ามเด็กๆ มักให้ความสนใจมาก มีหนังสือประเภทนี้มากมายในท้องตลาดบ้านเรา

หนังสือที่มีแต่รูปโดยไม่มีตัวหนังสือเลยก็น่าสนใจและมิใช่ข้อห้ามเช่นกัน หนังสือประเภทนี้คุณพ่อคุณแม่จะอ่านแบบชี้ให้ดูส่วนประกอบต่างๆ ก็ทำได้ไม่ยาก ในกรณีที่ท่านขยันเล่าเรื่องก็สะดวกที่ท่านจะเล่าเอาเอง ตัวอย่างหนังสือลักษณะนี้ในตลาดบ้านเรามีไม่มากนัก

อีกคำถามหนึ่งที่ผมได้รับเสมอคือเรื่องลูกชอบอ่านเล่มเดิมซ้ำๆ ทำอย่างไรดีคะ?

คำตอบที่ให้เสมอคืออ่านต่อไป

จิมให้ข้อมูลงานวิจัยตั้งแต่ปี 2011 ว่าเด็กชอบฟังคำซ้ำและหนังสือซ้ำ พวกเขาจะเรียนรู้คำศัพท์ซ้ำๆ จากหนังสือเล่มเดิมได้ดีกว่าฟังคำศัพท์คำเดิมจากหนังสือต่างเล่ม

เราเรียกกระบวนการเรียนรู้คำศัพท์ของเด็กวัยนี้ว่า immersion คือที่ผมมักอธิบายเสมอว่าสมองของเด็กสร้างจุดเชื่อมต่อประสาทจำนวนมากมายทุกคืน เส้นประสาทที่ยืดยาวออกนับร้อยเส้นต่อเซลล์สมอง 1 ตัวไขว้และประสานกันเป็นจุดเชื่อมต่อประสาทเหล่านี้ด้วยความเร็วสูง หนังสือบางเล่มให้ตัวเลขประมาณ 40,000 จุดต่อวินาที คำศัพท์คำเดิมได้ immerse ทุกคืนและคมชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

“ช้างคืนนี้ไม่เหมือนช้างตัวเมื่อคืน และช้างคืนพรุ่งนี้จะไม่เหมือนช้างตัววันนี้ ในตอนแรกๆ เด็กอาจจะมีมโนภาพของช้างลายเส้น ก่อนที่จะเป็นช้างเอราวัณใน 7 วันข้างหน้า”

พูดสั้นๆ ว่า “ช้างตัวใหญ่ขึ้นทุกวัน” แม้ว่าจะมาจากหนังสือเล่มเดียวกัน

เด็กชอบถามคำถามขัดจังหวะการอ่านแล้วทำให้แม่ๆ หงุดหงิดได้เสมอ ที่จริงเราควรดีใจที่เด็กถามเพราะเด็กสนใจใคร่รู้ เราไม่ควรหงุดหงิด เราแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ ด้วยการตอบสั้นๆ แล้วอ่านต่อไปด้วยท่าทีเรียบง่าย

พลันที่เราหงุดหงิดเขาจะถามซ้ำอีกเสมอ อีกวิธีหนึ่งคือบอกลูกว่าแม่ไม่รู้แต่แม่จะจดไว้ก่อนนะ แล้วเตรียมโพสต์อิทจดแปะคั่นหน้าไว้ตรงนั้น วิธีนี้เท่ากับบอกลูกว่าเราใส่ใจ แต่ก็อย่าลืมที่จะหาเวลามาคุยกัน

จิมแนะนำให้มีช่วงเวลาการคุยกันหลังหนังสือจบ มิใช่จบแล้วนอนเลย แต่วิธีนี้ผมเกรงว่าอาจจะไม่เหมาะในบ้านเราเหตุเพราะบ้านเรานิยมการสั่งสอน ถ้าจบแล้วพูดต่อเป็นได้ไปไม่พ้นถามลูกว่า “นิทานเรื่องนี้สอนว่าอะไร” หรือเราเองสรุป หรือเริ่มเอาการคำศัพท์หรือเนื้อหาวิชาการไปเสีย ดังนั้นอ่านจบแล้วนอนๆๆๆ จะดีกว่า

พ่อแม่จะได้ย่องลงไปตั้งวงปิกนิกกันส่วนตัว

ถ้าอยากจะถาม คิดยังไง รู้สึกยังไง สงสัยอะไรบ้าง เป็นสามคำถามที่เราถามลูกได้หนังสือจบ หรือครูถามนักเรียนได้ในบุ๊คคลับ เป็นคำถามปลายเปิด ชวนใช้สมอง และไม่ครอบงำ

การเปลี่ยนผ่านจากหนังสือนิทานประกอบภาพเป็นหนังสือนวนิยายขนาดยาวเป็นเรื่องควรทำ และทำเป็นขั้นเป็นตอน หลักง่ายๆ คือ

  • อ่านนิทานประกอบภาพสั้นๆ
  • อ่านนิทานประกอบภาพที่ยาวขึ้น
  • อ่านนวนิยายที่มีภาพประกอบที่มีความยาวต่อบทสั้น
  • อ่านนวนิยายที่มีภาพประกอบที่มีความยาวต่อบทยาวขึ้น
  • อ่านนวนิยายที่ไม่มีภาพประกอบเลย 100 หน้า

อ่านถึงตรงนี้อย่าลืมว่าจิมกำลังเขียนเรื่องการอ่านออกเสียง ในบริบทของหนังสือเล่มนี้คือพ่อแม่อ่าน หรือครูอ่าน และเป็นการอ่านออกเสียง การพาเด็กข้ามสะพานแห่งการอ่านไปสู่ระดับที่สูงขึ้นจึงทำได้ไม่ยาก

สมมติวัฒนธรรมอ่านออกเสียงบ้านเราไม่เข้มแข็ง การแนะนำหนังสือให้เด็กอ่านโดยใช้หลักค่อยๆ ขยับเป็นขั้นเป็นตอนตามความสามารถของเด็กเป็นเรื่องควรพิจารณา ระมัดระวังอย่าทำให้การอ่านเป็นยาขมเท่านั้นเอง

  • เราอ่านวรรณกรรมให้เด็กประถมฟังได้หรือไม่ – ได้
  • เราอ่านวรรณกรรมเยาวชนให้เด็กอนุบาลฟังได้หรือไม่ – ได้
  • เราอ่านนิทานประกอบภาพให้วัยรุ่นฟังได้หรือไม่ – ได้
  • เราควรเลิกอ่านนิทานประกอบภาพเมื่อลูกอายุเท่าไร – ไม่เลิก

ที่จริงแล้วจิมใช้คำว่า “ห้ามเลิก”

ประเด็นคือเราอ่านวรรณกรรมให้เด็กเล็กฟังได้พอๆ กับที่จะอ่านนิทานประกอบภาพให้วัยรุ่นฟังก็ได้ สำคัญที่เราอาจจะต้องสละเวลาลงไปคัดสรรหนังสือด้วยตนเอง หนังสือเล่มนี้ให้ตัวอย่างหนังสือไว้มากมายที่ไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา (เข้าใจว่าผมต้องเปิดคอลัมน์แนะนำวรรณกรรมเยาวชนเร็วๆ นี้เสียแล้ว)

แนนซี ฟุต เมืองฮิกลีย์ รัฐแอริโซนา เป็นครูทำงานที่โรงเรียนมัธยมปลายซึ่งประกอบด้วยนักเรียนวัยรุ่นติดยาและก่ออาชญากรรม เธอเริ่มชั่วโมงเช้าด้วยการอ่านวรรณกรรม จากห้องเรียนที่ว่างเปล่าในตอนแรกเพราะเด็กมาสาย ปรากฏว่ามีนักเรียนทยอยมาโรงเรียนเร็วขึ้นเพื่อฟังเธออ่านมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนขอให้เธออ่านส่วนที่ผ่านไปแล้ว บางคนขอยืมหนังสือไปอ่านต่อเอง

นักเรียนอายุ 19 ที่ติดยาไอซ์คนหนึ่งซึ่งกำลังเผชิญปัญหาการเลี้ยงลูกวัยทารกที่เกิดจากแม่ที่หนีไปใช้ยาได้เดินมาขอบคุณคุณครูที่ช่วยให้ชีวิตใหม่แก่เขา

 

– 7 –

อ่านอิสระเพื่อความบันเทิง (1)

  • อ่านตามลำพัง
  • อ่านในใจ
  • อ่านอิสระ
  • อ่านเพื่อความบันเทิง

ไม่น่าเชื่อว่า 4 เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องได้

มีผู้ที่คัดค้านว่าเราไม่ควรปล่อยให้เด็กอ่านโดยไร้จุดหมายโดยอ้างอิงงานวิจัย ในขณะเดียวกันมีผู้คัดค้านงานวิจัยเหล่านั้นและอ้างอิงงานวิจัยอีกชุดหนึ่งเพื่อสนับสนุนการ “อ่านตามลำพัง อ่านในใจ อ่านอิสระ อ่านเพื่อความบันเทิง”

อ่านเรื่องนี้แล้วก็นึกถึงวิวาทะในบ้านเรา จนถึงปัจจุบันก็ยังมีงานวิจัยโต้แย้งเรื่องการปล่อยเด็กอนุบาลเล่นอิสระ และยืนยันว่าเราควรเร่งเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลและใช้ตำรามาตรฐาน

จิมเริ่มบทที่ 4 นี้ได้น่ารัก เด็กถามแม่ว่าทำอะไรอยู่ แม่บอกว่าอ่านหนังสืออยู่ เด็กถามต่อว่าแล้วทำไมไม่มีเสียงออกมา จะเห็นว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการ นั่นแปลว่ามีขั้นตอน และเป็นเหมือนพัฒนาการทุกเรื่อง นั่นคือ “ถ้าเด็กเกิดมาปกติดีเราจะเร่งขั้นตอนเหล่านั้นมิได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีจังหวะก้าวต่างๆ กัน”

อ่านตามลำพังและอ่านอิสระเป็นสองเรื่องที่ควรพูดถึงในบ้านเรา การมีชั่วโมงให้เด็กเลือกหนังสืออิสระและอ่านอิสระเป็นเรื่องควรทำ แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่หลายท่านเกรงว่าเวลาจะสูญเปล่าและเชื่อเรื่องการกะเกณฑ์ให้อ่านเสียมากกว่า

อ่านเพื่อความบันเทิงยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ในบ้านเรา ชอบทำเหมือนการอ่านนวนิยายเป็นอาชญากรรมไปเสียแล้วสกัดกั้นความสามารถในการอ่านของเด็กๆ ไปแล้วนักต่อนัก ที่จริงแล้วอ่านเพื่อความบันเทิง ไม่มีการบังคับ และไม่มีการสอบ เป็นเรื่องควรส่งเสริมอย่างยิ่ง

เรามักมีคำพูดว่าขืนปล่อยชั่วโมงอิสระ เด็กไทยก็ไม่อ่าน ผมก็จะบอกว่าปล่อยไปเรื่อยๆ กับกองหนังสือในห้องสมุดที่ดีสักที่ จะกี่เดือนเราก็จะรอ

“ปัญหาของบ้านเราคือไม่เคยเชื่อศักยภาพของเด็ก”

นึกถึงครั้งที่ตนเองสมัครสมาชิกนิตยสารสารคดีให้ห้องสมุดโรงเรียนประชาบาลสมัยก่อน ครูใหญ่บอกว่าเสียเงินเปล่าไม่มีคนอ่านหรอก ครูยังไม่อ่านเลย เราไม่เพียงไม่เชื่อในศักยภาพของเด็ก เราไม่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์

เด็กจะอ่านในใจได้เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า mental representation เด็กจะมีสิ่งนี้ได้เมื่อมีอีโก้ (ego) อีโก้จะแข็งแรงได้เมื่อเด็กได้เล่นมากพอตั้งแต่แรก หากอธิบายด้วยความรู้ใหม่เรื่อง EF เด็กจะอ่านในใจได้เมื่อมีการถือครอง working memory ได้นานพอ เด็กจะถือครองได้นานพอเมื่อเล่นและทำงานมากพอ

จิมอ้างงานวิจัยจำนวนหนึ่งเพื่อบอกว่าเด็กที่ผ่านการอ่านตามลำพัง อ่านในใจ อ่านอิสระ อ่านเพื่อความบันเทิงจะมีผลสัมฤทธิ์การศึกษาดีกว่า

เราสามารถเลือกหนังสือให้เด็กอ่านได้ แต่มิใช่บังคับ หลักการทั่วไปคือมีจำนวนหนังสือที่ควรอ่านมากพอแล้วจึงปล่อยอิสระ นอกจากนี้ท่าทีของครูก็มีความสำคัญ ครูที่นั่งเปิดหนังสืออ่านตามลำพังไปด้วยจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ มากกว่าครูที่คอยเดินตรวจตราหรือจับผิดว่านักเรียนคนไหนแกล้งทำเป็นอ่าน

และถ้าครูคนนั้นอ่านไปหยุดเปิดพจนานุกรมไปจะยิ่งเป็นตัวอย่างที่ดี เราพบว่าเด็กๆ จะรู้จักเปิดพจนานุกรมตามไปด้วย

“ชั่วโมงอ่านตามลำพังมิได้ห้ามพูดกัน ในทางตรงข้ามเราอนุญาตให้เด็กได้สนทนากัน พูดง่ายๆ ว่านี่คือชั่วโมงการอ่านที่รื่นรมย์ เมื่อไรที่ไม่รื่นรมย์หรือเด็กไม่อ่าน มีคำตอบเดียวคือเราจัดการได้ไม่ดีพอ”

ในต่างประเทศก็มีครูใหญ่ประเภทไม่สนับสนุนให้มีชั่วโมงการอ่านอย่างอิสระ ด้วยเหตุผลว่าทำให้นักเรียนเสียเวลาเรียน แต่ครูที่รู้ประโยชน์ของการมีชั่วโมงอ่านอย่างอิสระคิดต่างออกไป เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนและอยู่กันอย่างแออัดในบ้านหลังเล็ก ชั่วโมงการอ่านอิสระและการอ่านเพื่อความบันเทิงจะมีคุณค่ามาก คือเวลาน้อยนิดที่พวกเขาได้อ่านหนังสือสนุกๆ อย่างสงบ นอกจากนี้ยังมีพวกวัยรุ่นที่วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่ด้วยพลังของฮอร์โมนและการเจริญเติบโต ชั่วโมงการอ่านอย่างอิสระเพื่อความบันเทิงคือเวลาทองที่พวกเขาจะได้นั่งนิ่งๆ ดื่มด่ำกับความสุขอีกแบบหนึ่งอย่างแท้จริง

ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาอันตราย เด็กที่ไม่รักการอ่านจะถดถอยทางภาษาหนักยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่การปิดภาคฤดูร้อน รวมทั้งเด็กยากจนที่ที่บ้านไม่มีใครอ่านหนังสือให้ดูเป็นตัวอย่าง ในขณะที่เด็กรักการอ่านจะพุ่งทะยานไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านมีคนอ่านหนังสือให้ดูเป็นตัวอย่าง และมีสิ่งแวดล้อมที่อุดมไปด้วยหนังสือ นิตยสาร ห้องสมุด และอินเทอร์เน็ตที่เพียบพร้อม ผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาถูกถ่างให้กว้างขึ้นไปอีกเมื่อพ้นฤดูร้อน

จิมพูดถึงงานวิจัยที่บอกว่าการอ่านหนังสือ 4-6 เล่มในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนจะสามารถป้องกันและชดเชยการถดถอยของเด็กที่เรียนไม่ดีหรือไม่รักการอ่านเป็นทุนเดิม ดังนั้นเราไม่ส่งเสริมการเรียนพิเศษในช่วงปิดเทอมแต่เราควรส่งเสริมการอ่านในช่วงปิดเทอมด้วยวิธีการต่างๆ

จิมเล่าเรื่องครูที่ให้การอ่านไปเป็นการบ้านในช่วงปิดเทอมว่าเป็นวิธีการที่ดี แต่วิธีเช่นนี้อาจจะไม่ดีนักในบ้านเรา เดาว่าต่างประเทศมิได้ถึงกับว่าจะเอาคำศัพท์หรือความรู้ที่ได้จากการอ่าน แต่น่าจะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น บุ๊คคลับ เพื่อให้นักเรียนได้มาพูดคุย สนทนา ถกเถียง หรือแม้กระทั่งเล่าสู่กันฟังว่าปิดเทอมฤดูร้อนใครอ่านอะไร พูดง่ายๆ ว่าการอ่านควรนำมาซึ่งความสุข การพูดคุยระหว่างการอ่านในชั่วโมงอ่านอิสระ หรือหลังการปิดเทอมฤดูร้อนก็ควรนำมาซึ่งความสุขด้วยเช่นกัน

กลับมาบ้านเรา ยอมรับว่าหนังสืออ่านนอกเวลาที่คัดสรรแล้วเป็นหนังสือดีทุกเล่มจริง แต่เพราะอะไรเวลาไปสัมภาษณ์เด็กๆ ทุกคนจึงพูดเหมือนกับว่าหนังสือนอกเวลาเหล่านั้นเป็นยาขม ต้องมีอะไรผิดพลาดในเรื่องนี้แน่ๆ

“A Midsummer Night’s Dream” บทละครชื่อดังของเชกสเปียร์

ฤดูร้อนอันแสนยาวนานเริ่มต้นขึ้นแล้ว อ่านหนังสือสนุกๆ กันเถอะครับ

จะให้เด็กอ่านเชกสเปียร์ก็ได้ ไม่มีข้อห้าม

 

– 8 –

อ่านอิสระเพื่อความบันเทิง (2)

 

เราควรบังคับเด็กอ่านหนังสือหรือไม่?

ผมเคยได้รับคำถามทางบ้านจากคุณแม่ท่านหนึ่งซึ่งตั้งรางวัลล่อใจให้ลูกวัยประถมอ่านหนังสือนวนิยายหรือวรรณกรรมเยาวชนทุกวัน คุณแม่ท่านนั้นไม่แน่ใจนักกับสิ่งที่ทำทั้งที่พบว่าลูกมีความก้าวหน้าด้านการอ่านเป็นอย่างมาก

จิมให้คำตอบในครึ่งหลังของบทที่สี่นี้ว่าการบังคับเด็กอ่านหนังสือเป็นเรื่องควรทำ เหมือนบังคับเด็กแปรงฟัน บางเรื่องกว่าประโยชน์จะมาถึงหรือเจ้าตัวกว่าจะเห็นประโยชน์ด้วยตนเองก็ต้องใช้เวลา

แต่จิมไม่เห็นด้วยที่จะใช้คำว่า “บังคับ” เขาเลือกใช้คำว่า “กำหนด” คล้ายๆ ข้อกำหนดการขับขี่รถยนต์

การช่วยให้เด็กคนหนึ่งที่ไม่อ่านหนังสือติดใจรสชาติของหนังสือเป็นเรื่องยากแน่นอน เราไม่ทำอะไรเลยก็มิได้ เราบังคับก็มิได้ ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวในกุศโลบายนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ผิดคาดได้อยู่เสมอ

จิมยกตัวอย่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเร่งการอ่านหนังสือของบางโรงเรียน คอมพิวเตอร์จะคัดเลือกหนังสือจำนวนหนึ่ง เด็กมีหน้าที่เก็บแต้มจากการอ่านหนังสือจำนวนนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือพ่อแม่จำนวนหนึ่งให้เด็กอ่านหนังสือเฉพาะที่คอมพิวเตอร์กำหนดให้เพื่อสะสมคะแนนให้ครบและสอบผ่าน เด็กที่รักการอ่านหลายคนจำเป็นต้องเลิกอ่านหนังสือที่ตนเองชอบเพื่อใช้เวลากับการอ่านหนังสือที่โปรแกรมนี้กำหนด อีกทั้งครูและครูบรรณารักษ์เลิกอ่านหนังสือไปเลยเมื่อพบว่ามีโปรแกรมทำงานให้แล้ว

ระบบเล็กไซล์ (Lexile) ตั้งขึ้นเพื่อให้คะแนนหนังสือตามรูปประโยคและคำศัพท์ แล้วกำหนดช่วงคะแนนที่เด็กแต่ละช่วงอายุควรอ่าน เช่น เด็กเกรดสี่ควรอ่านหนังสือที่มีคะแนนเล็กไซล์ระหว่าง 470L-950L ปรากฏว่าหนังสือ Diary of Wimpy ของเจฟฟ์ คินนีย์ ได้ 950L To Kill a Mocking Bird ของฮาเปอร์ ลี ได้ 870L และ The Grape of Wrath ของจอห์น สไตน์เบค ได้ 680L สำหรับท่านที่รู้จักหนังสือสามเล่มนี้ดีย่อมคิดออกได้ว่าเด็กเกรดสี่ควรได้อ่านอะไร

เรื่องสำคัญที่เราควรระวังคือเรากำลังส่งเสริมการอ่านมิใช่ตั้งข้อจำกัดการอ่าน

โอปราห์ วินฟรีย์ นักจัดรายการที่มีชื่อเสียงทุกคนรู้จักดีได้จัดรายการบุ๊คคลับในรายการโทรทัศน์ของเธอด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อเราดูเกมฟุตบอลจบ ดูหนังดีๆ สักเรื่องจบ หรืออ่านหนังสือดีๆ สักเล่มจบ ที่เราอยากทำคือ “คุย” คุยเกี่ยวกับเกมที่น่าตื่นเต้น หนังและหนังสือที่จบไป มิใช่การสอบหรือการวัดผล แค่คุย

ผลจากการจัดรายการของเธอทำให้เกิดบุ๊คคลับจำนวน 250,000 แห่ง เธอเลิกจัดรายการนี้ทางโทรทัศน์เมื่อปี 2011 แต่ยังคงทำอยู่บนเว็บ ถึงวันนี้มีบุ๊คคลับ 500,000 แห่ง อย่างไรก็ตามสมาชิกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง

จิมมิได้ให้เหตุผลว่าเพราะอะไรผู้หญิงจึงเข้าบุ๊คคลับมากกว่าผู้ชาย

จิมตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเด็กๆ ชอบหนังสือที่มีลักษณะเป็นชุดมากกว่าหนังสือเดี่ยว ตัวอย่างเช่น หนังสือชุดวิมปี้ที่เอ่ยถึง หนังสือชุดทำให้เด็กสามารถเกาะติดตัวละครได้ง่ายกว่า สร้างความผูกพัน และรับรู้บุคลิกของตัวละคร สามารถรับส่งมุกในตอนต่อๆ มาได้ง่าย เมื่อนักเขียนบางคนต้องการยุติการเขียนหนังสือชุด มีหลายครั้งที่เด็กๆ ส่งจดหมายเข้าไปขอให้เขียนต่อแล้วนักเขียนก็ต้องเขียนเล่มใหม่ต่ออีกซึ่งมักจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างร่วมสมัยที่ทุกคนรู้จักคือแฮร์รี่ พอตเตอร์ แม้ว่าบางครั้งจะไม่ใช่ความต่อเนื่องของตัวละคร แต่ก็เป็นความต่อเนื่องของจักรวาลที่ตัวละครอาศัยอยู่

ถึงตรงนี้ควรพูดถึงตัวอย่างหนังสือชุดในบ้านเราที่มีการแปลจำหน่าย หากข้อสังเกตนี้เป็นจริงกล่าวคือเด็กๆ เลือกหนังสือชุดมากกว่าหนังสือเดี่ยว การช่วยกันลิสต์รายชื่อหนังสือชุดออกมาน่าจะช่วยได้มาก คนรุ่นผมจะรู้จักหนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ (Little House in the Big Woods) ของลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ กันมาก ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าปัจจุบันมีการแปลหรือพิมพ์จำหน่ายกี่สำนวน

หนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่

ส่วนเด็กผู้ชายก็อาจจะติดตามหนังสือชุดของทอม ซอว์เยอร์ (Tom Sawyer) หรือฮัคเคิลเบอร์รี ฟินน์ (Huckleberry Finn) ของมาร์ก ทเวน เสียมากกว่า

  • ชุดวัยใสของ Jacqueline Wilson
  • ชุดจอร์เจีย นิโคลสัน ของ Louise Rennison
  • ชุด Princess Diary ของ Meg Cabot
  • ชุด The A List ของ Zoey Dean
  • ชุด Doctor Judy Moody ของ Megan McDonald

รวมทั้งวิมปี้ หนังสือชุดเหล่านี้เคยเห็นฉบับแปลไทย ไม่ทราบว่ายังมีอยู่บนแผงหรือเปล่า และถึงปัจจุบันน่าจะมีหนังสือชุดอีกหลายหัวในตลาดเมืองไทยวันนี้

สำหรับเด็กผู้ชายบ้านเรา หนังสือนวนิยายจีนกำลังภายในเป็นตัวเลือกที่ใช้ได้หากจะจัดกลุ่มหนังสือชุด ที่รู้จักกันดี เช่น ชอลิ้วเฮียง เล็กเซียวหงส์ หรือแม้กระทั่งลี้คิมฮวงและเอี๊ยบไคก็มีการผจญภัยต่อเนื่องกันไปหลายเล่ม

หนังสือนวนิยายฆาตกรรมเป็นอีกตระกูลหนึ่งที่จัดเป็นหนังสือชุดได้ง่าย ที่รู้จักกันสมัยก่อนคือ แฮร์คูล ปัวโรต์ และมิสมาร์เปิ้ล ของอกาธา คริสตี้ สมัยนี้มีนวนิยายฆาตกรรมที่มีพระเอกต่อเนื่องมากมายของนักเขียนหลายคนและหลายสำนักพิมพ์ที่แปลไทยแล้ว ชุดแจ็ก รีชเชอร์ ของลี ไชลด์ หรือชุดไมรอน โบลิตาร์ ของฮาลาน โคเบน ของเกาหลีและญี่ปุ่นก็มีอีกมากมาย

กลุ่มนิยายวิทยาศาสตร์ก็มีตัวละครต่อเนื่องนะครับ อย่างเช่น อีไลจาห์ เบลีย์ และ ห.ดาเนียล สองนักสืบคู่หูมนุษย์และหุ่นยนต์ในหนังสือหลายเล่มของไอแซค อาสิมอฟ

ข้อเสนอเรื่องการอ่านหนังสือชุดนี้เป็นเรื่องที่หลายคนมิได้คาดคิดมาก่อน ด้วยสามัญสำนึกอยากให้เด็กๆ อ่านหนังสือหลากหลายมากกว่าจมอยู่กับตัวละครตัวเดียว แต่ถ้ามีงานวิจัยบ่งชี้ว่าเด็กชอบก็เป็นเรื่องน่าทดลองมาก

 

– 9 –

ความสำคัญของพ่อ

 

“พวกคุณมีโอกาสถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้มากกว่าเด็กผู้หญิงสองเท่า พวกคุณมีโอกาสทำคะแนนสอบมาตรฐานด้านการอ่านและการเขียนได้แย่กว่า พวกคุณมีโอกาสถูกให้ซ้ำชั้นมากกว่า พวกคุณมีโอกาสต้องออกจากโรงเรียนกลางคันมากกว่า ถ้าเรียนจบมัธยมปลาย พวกคุณก็มีโอกาสได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยน้อยกว่า ถ้าได้เข้ามหาวิทยาลัย พวกคุณก็จะได้เกรดต่ำกว่า และมีโอกาสเรียนจบน้อยกว่าอีกเหมือนเดิม พวกคุณจะมีโอกาสติดแอลกอฮอล์มากกว่าถึงสองเท่า และหากยังอายุไม่ถึง 24 ปี พวกคุณก็มีโอกาสจะฆ่าตัวตายมากกว่าถึงห้าเท่า พวกคุณมีโอกาสจะติดคุกมากกว่าถึง 16 เท่า”

ทอม เคียเรลลา เขียนถึงเด็กผู้ชายเอาไว้ในบทที่ 5 ของหนังสือเล่มนี้

ไม่น่าเชื่อว่ามีงานวิจัยที่ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูกๆ ช่วยส่งผลให้ผลการเรียนของลูกดีขึ้น

แต่ปัญหาคือพ่อมักไม่อยู่บ้าน

เมื่อเทียบระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง เราพบว่าเด็กชายอ่านหนังสือน้อยกว่า และผลการเรียนโดยเฉลี่ยก็น้อยกว่า ซ้ำเติมข้อกล่าวหาที่ว่าการอ่านในผู้ชายลดลง และบุ๊คคลับส่วนใหญ่มีแต่ผู้หญิง

ไม่ว่าเรื่องผู้ชายอ่านหนังสือน้อยกว่าหรือเรียนหนังสือสู้ไม่ได้จะเป็นเพียงข้อกล่าวหาหรือข้อเท็จจริงก็ตาม เรามีคำแนะนำว่าพ่อควรสละเวลาอ่านหนังสือนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง

มีโครงการดีๆ มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ในกองทหารของสหรัฐฯ ซึ่งทหารอาจจะไม่ได้กลับบ้านนานถึงหกเดือน คือ 180 วัน กองทัพได้ส่งเสริมให้พ่ออ่านนิทานใส่คลิปส่งให้ลูกแทนที่จะอ่านสดๆ เมื่อมีเวลาเฟซไทม์เพราะไม่รู้ว่าใครจะว่างครั้งต่อไปเมื่อไร

โครงการนี้มีที่เรือนจำด้วย นักโทษชายสามารถอ่านนิทานลงเทปเพื่อมอบให้แก่ลูกๆ ได้

สำหรับคุณพ่อทั่วไปที่ทำงานในแดนไกล และประสบปัญหาไม่รู้จะคุยอะไรเวลาเฟซไทม์มาหาลูก วิธีที่แนะนำวิธีหนึ่งคืออ่านนิทานขณะเฟซไทม์ มีรายงานว่าความสัมพันธ์ที่ห่างเหินจะกลับมาดีอีกรอบได้อย่างไม่น่าเชื่อ

อาจจะไม่เป็นความจริงที่เด็กชายอ่านหนังสือน้อยกว่าเด็กหญิง เป็นไปได้ว่าพวกเขาอ่านเท่าๆ กันแต่เป็นเพราะเด็กผู้ชายไม่ชอบอ่านหนังสือที่พ่อแม่หรือครูยื่นให้ พวกเขาอ่านอย่างอื่นที่เขาสนใจมากกว่า จิมได้ยกตัวอย่างเด็กชายที่ชอบอ่านนิตยสารกีฬามากกว่าที่จะอ่าน สงครามและสันติภาพ ของลีโอ ตอลสตอย

พบว่าที่จริงแล้วเด็กผู้ชายชอบอ่านเรื่องเบาสมองมากกว่า

การดูแลเด็กชายให้อ่านหนังสือมีข้อแนะนำว่าควรวางหนังสือหลากหลายไว้ในบ้าน รวมทั้งนิตยสารหลายหัวเอาไว้ด้วย เด็กชายมีความสนใจในคอลัมน์ต่างๆ หลากหลายมากกว่าเด็กผู้หญิง เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มจะอ่านอะไรที่จริงจังและเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า

กลับมาที่บ้านเรา

มีสมมติฐานโดยยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าคุณพ่อรับหน้าที่อ่านนิทานก่อนนอนมากกว่าคุณแม่ จริงเท็จประการใดไม่ทราบเหมือนกัน แต่ผมเองเป็นคนรับหน้าที่อ่านหนังสือให้ลูกๆ ฟังทุกคืนตลอดสิบปีจริงๆ และมีความสุขกับงานนี้มาก

มีคำอธิบายหนึ่งคือนั่นเป็นเวลาเดียวที่พ่อว่าง และพ่อก็ไม่อยากเสียโอกาสอันมีอยู่น้อยนิดนี้ไป วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง ได้คลุกคลีอ่านหนังสือคืนละ 30 นาที ผลที่ได้มากมายเหลือคณนา

ผู้ชายที่อ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟังยอมรับว่านี่เป็นงานเลี้ยงลูกที่ง่ายกว่าหน้าที่อื่นๆ หากทำได้รีบช่วงชิงงานอ่านนิทานมาทำเองเสียยังจะดีกว่าต้องทำอย่างอื่นซึ่งยากกว่ามาก

ผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็ค้นพบว่างานอ่านนิทานก่อนนอนเป็นงานที่ยุและยกให้สามีทำได้เป็นดีที่สุด นอกเหนือจากตัวเองจะได้พักผ่อนในนาทีสุดท้ายของวัน และการได้พักเสียงหลังจากรบกับลูกมาทั้งวัน ดีกว่าปล่อยให้ผู้ชายช่วยทำงานอย่างอื่น เช่น ล้างจานหรือพับผ้า ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เธอต้องกลับไปทำใหม่หมดทีหลัง

บ้านเราไม่มีลูกจ้าง ผมรับอ่านนิทานก่อนนอน ในขณะที่ภรรยายังคงทำหน้าที่เก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน เมื่อลูกหลับ เราได้ตั้งวงปิกนิกกันต่ออย่างมีความสุข

การอ่านนิทานก่อนนอนเป็นโมเมนต์ที่ดีมากจนกระทั่งน่าเสียดายมากที่คุณพ่อคนไหนจะพลาดไปนะครับ ทั้งชีวิตที่เราจะได้ใช้อยู่กับลูกเพียงช่วงสั้นๆ สิบปี นี่คือเวลาทองที่สั้นมาก แต่ก็ยังประโยชน์และทรงพลังอย่างยิ่ง ดังที่ทราบกันดีว่าสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงสร้างขึ้นเมื่อสามขวบปีแรก

จิมลงท้ายบทนี้ด้วยข้อเท็จจริงอีกข้อหนึ่งว่าการอ่านนิทานก่อนนอนเป็นโอกาสที่สองของชีวิตที่จะเรียกคืนสิ่งที่พลาดไปตอนที่เราเป็นเด็ก นั่นคือนิทานดีๆ หลายๆ เล่มซึ่งผู้ใหญ่มักลืมที่จะอ่าน

ความข้อนี้ก็จริงอีก นิทานประกอบภาพสำหรับเด็กหลายเรื่องเหมือนจะสอนผู้ใหญ่เสียมากกว่า และมีปรัชญาสอดแทรกอยู่เสมอๆ

 

– 10 –

หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์

 

บทนี้เริ่มต้นงานวิจัยมากมายเล่าเรื่องเด็กที่มีหนังสือให้อ่านมากกว่ามีผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาสูงกว่า ท่านสามารถค้นหารายละเอียดได้จากหนังสือเล่มนี้ จิมเขียนเชิงอรรถและบรรณานุกรมไว้ให้ค้นต่อได้ถ้าท่านยังไม่เชื่อหรือไม่จุใจ

งานวิจัยเหล่านี้ลงลึกเรื่องจำนวนหนังสือในบ้าน จำนวนหนังสือที่ห้องสมุด จำนวนเวลาที่เด็กใช้อ่านต่อวัน แม้กระทั่งจำนวนชั่วโมงการทำงานของบรรณารักษ์ ตัวแปรเหล่านี้สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาทั้งสิ้น หากเร่งเรียนแต่ไม่มีหนังสือให้อ่านก็เหมือนการยื่นพายแต่ไม่มีเรือให้พาย

เอ๊ะ หรือว่าซื้อเรือให้แต่ไม่ให้พายไปด้วย

มีงานวิจัยหนึ่งน่าสนใจมาก ติดตามเด็กๆ ในชุมชนยากจนที่จะได้รับหนังสืออ่านฟรีในช่วงฤดูร้อนเป็นเวลาสามปี เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่มีหนังสือให้อ่านตอนฤดูร้อน ผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านในตอนท้ายต่างกันมาก

สมัยนี้คนทุกคนอ่านจากมือถือหรือแท็บเล็ตได้ พ่ออ่านหนังสือพิมพ์บนมือถือ แม่ฟังพอดคาสต์ระหว่างขับรถไปส่งลูก พี่สาวอ่านจากเฟซบุ๊ก น้องชายดูดิสนีย์ออนไลน์ สิ่งที่หายไปมิใช่เพียงหนังสือพิมพ์รายวันที่พิมพ์เป็นกระดาษ แต่คือภาพคุณพ่อนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ และนี่อาจจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กๆ อ่านหนังสือน้อยลง

เด็กคนหนึ่งควรมีหนังสือเป็นของตัวเอง อาจจะไม่ต้องถึง 50 เล่ม แต่ 10-20 เล่มนั้นควรมี ชุมชนทุกแห่งควรมีห้องสมุด เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ห้องสมุดมักเป็นรายการแรกๆ ที่ถูกตัดงบประมาณเมื่อชุมชนพบปัญหาการเงิน ทั้งๆ ที่การลงทุนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในวันนี้คือการป้องกันอาชญากรรมและก่อการร้ายในวันหน้า

จิมเล่าเรื่องแผนการร้ายของเมืองเมืองหนึ่งในการปกป้องห้องสมุดของชุมชน ผลจากการโหวตสองครั้งมีมติให้ปิดห้องสมุดชุมชนลงเพราะขาดแคลนงบประมาณ การประชุมแต่ละครั้งมีประเด็นอภิปรายคือเรื่องงบประมาณมากกว่าจะพูดเรื่องห้องสมุด

หลังจากการแพ้โหวตสองรอบ กลุ่มที่สนับสนุนห้องสมุดกำเงินที่เหลืออยู่ไปปรึกษาบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง เขาได้รับคำแนะนำว่าถ้าผู้มาประชุมเพื่อโหวตรอบที่สามมีจำนวนเท่าเดิมก็จะแพ้อีก ผู้สนับสนุนห้องสมุดต้องหาทางดึงคนที่ไม่มาโหวตในสองครั้งแรกให้ออกมาโหวตให้ได้ และจำเป็นต้องพูดเรื่องอื่นที่มิใช่เรื่องงบประมาณ

กลุ่มผู้สนับสนุนห้องสมุดจึงวางแผนการกอบกู้ห้องสมุดจนดูเหมือนจะเป็นการก่อการร้ายย่อมๆ เลยทีเดียว เมื่อพวกเขาตั้งกลุ่มปลอมเพื่อรณรงค์การปิดห้องสมุดและจะเผาหนังสือไปทั่วเมือง ผลปรากฏว่ามีประชาชนออกมาโหวตเพื่อป้องกันห้องสมุดกันมากมาย

ห้องสมุดไม่ถูกยุบและบริษัทโฆษณาแห่งนั้นได้รับรางวัลประจำปี

จิมเล่าต่อไปถึงการกระทำต่อครูบรรณารักษ์ประจำโรงเรียนของรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งโหดร้ายอีกเช่นกัน ด้วยเหตุที่แคลิฟอร์เนียมีกฎหมายให้ครูบรรณารักษ์ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูด้วย ฝ่ายคิดจะยุบงบประมาณห้องสมุดจึงใช้วิธีสอบวุฒิครูของครูบรรณารักษ์ใหม่หมด ทั้งที่ครูเหล่านั้นมิได้มีชั่วโมงสอนแต่อย่างใด

มุมหนังสือในห้องเรียนเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่โต้เถียงกันได้มาก เมื่อมีห้องสมุดโรงเรียนแล้วยังจะมีมุมหนังสืออีกทำไม ครูจำนวนมากชอบทำมุมหนังสือเพราะเด็กๆ เข้าถึงได้ง่ายและอ่านมากกว่า ครูคนหนึ่งรายงานเรื่องการจัดมุมหนังสือว่าในตอนแรกเธอให้มีระบบการยืม เซ็นชื่อ และปรับเมื่อส่งคืนล่าช้า ปรากฏว่าเด็กๆ อ่านหนังสือลดลงทุกทีๆ เธอจึงเปลี่ยนใหม่ยกเลิกระเบียบนั้นทั้งหมด หยิบตามสบายและส่งคืนตามสบาย

หนังสือหายหรือไม่ หาย

หนังสือเลอะเทอะหรือไม่ เลอะเทอะ

เด็กอ่านหนังสือหรือไม่ อ่าน

การจัดมุมหนังสืออาจจะไม่ต้องจัดตามระบบการจัดหนังสือแห่งชาติ ครูคนหนึ่งปล่อยเด็กๆ จัดมุมหนังสือกันเอง บางครั้งพวกเขาจัดตามชื่อเรื่อง บางทีตามชื่อผู้แต่ง บางทีตามขนาด บางทีตามหน้าปก แม้กระทั่งตามสี จะอย่างไรก็ตามเด็กๆ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของมุมหนังสือกันมาก

ห้องสมุด มุมหนังสือ และหนังสือควรเป็นของเรา เราจะรักมัน

 

 

เมื่อโลกออนไลน์มาถึง ห้องสมุดที่มีหนังสือหลายหมื่นเล่มหลายแห่งจำเป็นต้องปรับตัว ลดจำนวนหนังสือเล่มลง บริจาคหนังสือเล่มออกไป เปลี่ยนหน้าที่ของบรรณารักษ์ ลงทุนกับเครื่องมือไอทีและเทคโนโลยีการสืบค้นทุกรูปแบบรวมทั้งอีบุ๊คมากมาย เปลี่ยนสถานที่ที่เงียบขรึมเพื่อนั่งค้นคว้าเป็นกึ่งร้านกาแฟที่สามารถพูดคุยและทานอาหารว่างได้ด้วย ทั้งนี้แล้วแต่ห้องสมุดแต่ละแห่งจะบริหารจัดการอย่างไร

ในตอนแรกดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี ผู้คนมาที่ห้องสมุดมากขึ้นเพราะมันมีชีวิตชีวามากขึ้น เป็นที่พบปะสังสรรค์ได้พอๆ กับเป็นที่ค้นคว้า อย่างไรก็ตามทั้งผู้ใช้บริการเองและบรรณารักษ์ส่วนใหญ่ก็พบว่าความไม่จริงจังของการค้นคว้านั่นเองที่เริ่มไม่เป็นที่นิยม ห้องสมุดหลายแห่งกำลังเริ่มต้นหวนคืนสู่สภาพเดิม มีหนังสือและเอกสารอ้างอิงที่อ้างอิงได้อย่างมั่นใจมากกว่าที่จะปล่อยให้นักศึกษางมกับข้อมูลดิจิทัลแล้วไม่รู้ว่าจะเชื่ออันไหนดี

อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงแน่ เมื่อวิกิพีเดียซึ่งเขียนและแก้ไขโดยอาสาสมัครได้รับความนิยมอย่างพุ่งพรวด มีมากถึง 300 ภาษา ในขณะที่เอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกามีเพียงภาษาอังกฤษภาษาเดียว ในที่สุดเอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกาฉบับพิมพ์ก็ถูกยกเลิกไปเหลือเพียงฉบับออนไลน์ อย่างไรก็ตามการเข้าถึงมิได้สะดวกสบายเหมือนวิกิพีเดีย แม้ว่าความถูกต้องจะเป็นที่วางใจได้ด้วยจำนวนบรรณาธิการที่มากกว่า

แต่วิกิพีเดียก็ได้เพิ่มจำนวนและระดับมาตรฐานของบรรณาธิการมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่การแก้ไขข้อมูลอ่อนไหวทำไม่ได้ง่ายๆ เหมือนแต่ก่อน วิกิพีเดียจึงยังคงครองความนิยมเพราะโอกาสที่เราจะค้นพบข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับบ้านเกิดของเราเองจะอย่างไรก็มีมากกว่าที่จะไปค้นในเอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกา

บทที่ 6 สั้นๆ นี้มิได้ต่อต้านการอ่านออนไลน์ อย่างไรก็ตามการอ่านหนังสือมีความแม่นยำ ชัดเจน และอ้างอิงได้ง่ายกว่าแน่

 

– 11 –

สื่ออิเล็กทรอนิกส์และการอ่าน

 

ตกลงเรื่องคำศัพท์ก่อน

เวลาอ่านเอกสารที่ว่าด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์มักอ้างงานวิจัยมากมายและยืดยาว แสดงตัวเลขต่างๆ มากมาย และใช้คำศัพท์ต่างๆ มากมาย ซึ่งสรุปได้ว่าข้อเสียสำหรับเด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่นนั้นมีมากกว่าข้อดี แต่เราจะปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงก็มิได้

เขียนใหม่ให้สั้นและเข้าใจตรงกัน ดังนี้

  1. สื่ออิเล็กทรอนิกส์หมายถึงโทรทัศน์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และโซเชียลมีเดีย
  2. สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกา (American Academy of Pediatrics – AAP) มีประกาศตั้งแต่ปี 1999 ว่าเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบไม่ให้ดูหน้าจอเลย เมื่อไม่นานมานี้ได้แก้ไขใหม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 18 เดือนพูดคุยกับพ่อแม่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ส่วนเด็กอายุมากกว่า 18 เดือนให้ดูได้บ้าง (พูดง่ายๆ ว่าเฟซไทม์กับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายได้ แต่กรุณารักษาเวลา)
  3. เด็กวัยเตรียมอนุบาล คือ 2-5 ขวบ ไม่ให้ดูโทรทัศน์เพื่อการศึกษานานกว่าวันละ 1 ชั่วโมง (เขียนไม่ผิด 1 ชั่วโมง)
  4. รายการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษาเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องคัดเลือกและอยู่ด้วยเสมอ (ย้ำ อยู่ด้วยเสมอ)

เด็กพัฒนาการด้วยการมองหน้าพ่อแม่ สบสายตาพ่อแม่ และมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เด็กมิได้พัฒนาด้วยการมองไปที่หน้าจอพร้อมกับพ่อแม่ ท่องไว้

วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง สื่ออิเล็กทรอนิกส์จะมีประโยชน์เพียงใดก็แย่งเวลาไปจากเด็กๆ ทั้งสิ้น มีงานวิจัยจำนวนมากที่บอกว่าจำนวนเวลาที่เด็กใช้ดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์สัมพันธ์กับสมาธิสั้น ผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่ลดลง และ EQ ที่ลดลง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้คลังคำของเด็ก 3 ขวบมากขึ้นแต่หลังจากนั้นจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และจะไม่มีคำใหม่อะไรอีกเลยหลังจาก 10 ขวบ เพราะรายการทั้งหมดที่เราดูใช้คำศัพท์วนเวียนไปมาในจำนวนคงที่

วิธีสอนให้ลูกใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ดังนั้นท่านจะให้โซเชียลมีเดียแย่งเวลาท่านไปจากครอบครัวมากเพียงใด หรือท่านควรเอาแต่คุยมือถือในรถแทนที่จะคุยกับลูกระหว่างขับรถมากเพียงใด เหล่านี้พ่อแม่คือผู้กำหนด พูดง่ายๆ ว่าถ้าเกิดปัญหา สาเหตุคือพ่อแม่เองตั้งแต่แรก

หนังสือเสียง (audiobook และ podcast) เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อคนทุกคนบนโลกใช้ชีวิตบนรถมากขึ้น การเลือกหนังสือเสียงที่ดีจึงเป็นเรื่องควรใส่ใจและพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเสียงแนวสารคดีที่ทำได้ดีเยี่ยม หรือหนังสือเสียงที่เป็นนวนิยายหรือที่เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กหรือเยาวชนเป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นเช่นเดียวกับวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบดูหน้าจอนั่นคือพ่อแม่ควรพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกๆ เกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้ฟังพร้อมกัน สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างแน่นอนคือติดหน้าจอไว้ในรถให้เด็กๆ ได้ดูหนัง รายการ หรือเล่นเกมระหว่างใช้ชีวิตบนรถ (ซึ่งใครๆ ก็ทำ)

อีบุ๊คไม่มีรูปเล่มให้จับและไม่มีกลิ่น แต่อีบุ๊คมีประโยชน์ที่เราปฏิเสธมิได้ด้วย ได้แก่ น้ำหนักเบา เอาไปได้ทุกที่ ประหยัดไม้ ประหยัดกระดาษ ประหยัดภาษี และราคาน้อยกว่า เด็กๆ เข้าถึงอีบุ๊คได้มากกว่าจริง แต่อีบุ๊คมีข้อเสียที่สำคัญคือเด็กอ่านจับใจความได้น้อยกว่า ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะอีบุ๊คมีลูกเล่นมากเกินไป พ่อแม่ที่เห็นเด็กอ่านอีบุ๊คก็มีแนวโน้มจะคุยเรื่องวิธีใช้เครื่องมือหรือเรื่อง “ลูกเล่น” แทนที่จะชวนคุยเรื่องเนื้อหาในหนังสือ

อย่างไรก็ตามอีบุ๊คมีประโยชน์มากกับเด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน เด็กพิเศษ รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาทางสายตา เพราะลูกเล่นมากมายที่อีบุ๊คทำได้ในขณะที่หนังสือเล่มทำไม่ได้

มีเรื่องเล็กๆ อีกสองเรื่องที่น่ารู้

เด็กอ่านอีบุ๊คได้ช้ากว่าอ่านหนังสือ และเด็กจะอ่านหนังสือน้อยลงสัมพันธ์กับจำนวนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากขึ้น

คำอธิบายเข้าใจได้ไม่ยาก ยิ่งหนังสือมีลูกเล่นมาก การอ่านต่อเนื่องย่อมช้าลง และยิ่งมีเครื่องมือเครื่องไม้มากเวลาที่หมดไปกับการเซ็ตอัปนั่นนี่ก็จะมากตามไปด้วย แต่ที่สำคัญคือจำนวนสื่อที่ไหลบ่าเข้าหาเด็กๆ ก็มากเกินไปด้วย

นึกภาพยื่นหนังสือให้เด็ก 1 เล่ม เขานั่งลงเปิดอ่าน กับยื่นเครื่องมืออ่านหนังสือให้เด็ก 1 ชุด เขาจะทำอะไรก่อนการเริ่มอ่าน

นึกภาพเด็กๆ นั่งดูสื่อการสอนเพื่อการศึกษา หรืองมอยู่กับแอปพลิเคชั่นเพื่อการอ่านหรือการศึกษาสักชิ้น เปรียบเทียบกับเด็กอีกคนที่เดินร้องเพลงโง่ๆ ไม่เป็นคำอยู่ในสวนอย่างเป็นอิสระ เด็กคนไหนกำลังพัฒนา

ตัดการเชื่อมต่อบ้าง

ศิลปิน นักเขียน รวมทั้งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทุกคนพบว่าและยอมรับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาจำเป็นต้องตัดการเชื่อมต่อจากการไหลบ่าของข้อมูลเข้าหาตัว แม้ว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้เขาเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ง่ายขึ้น  และสร้างสรรค์งานได้เรื่อยๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาจำเป็นต้องหยุดทุกอย่างเพื่อฟังเสียงกระซิบของแรงบันดาลใจ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่มา: commons.wikimedia.org

เป็นความจริงที่ว่าระหว่างที่เราใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แบตเตอรี่จะหมดลงเรื่อยๆ รวมทั้งแบตเตอรี่ในใจเราด้วย หากจะให้หยุดเพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยจิตวิเคราะห์ ก็เป็นเพราะเราและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยเดียวกัน อาจจะเถียงว่าเราไม่มีวันเสื่อมพลังถ้าใช้ไฟกระแสสลับ แต่ไฟกระแสสลับนั่นเองที่จะดูดจิตวิญญาณไปไม่เหลือหลอในที่สุด

คราวนี้นึกถึงวัยรุ่นวันนี้ที่วันๆ ก้มใช้มือถือเพื่อติดต่อพูดคุยกับเพื่อนแทบจะทุกช่วงเวลาที่ว่าง ไม่นับเรื่องกระบวนการคิดแบบใคร่ครวญที่ถูกขัดจังหวะตลอดเวลา เอาแค่เรื่องพลังที่ถูกดูดไปนั้นก็มากพอที่เขาจะไม่เหลือเสียงกระซิบแห่งแรงบันดาลใจอะไรนั้นเลย

 

– 12 –

ภาพและเสียง

 

บทที่ 8 ของหนังสือพลังแห่งการอ่านออกเสียงนี้พูดเรื่องภาพและเสียง จะว่าไปเรื่องนี้เขียนแล้วทุกวันเสาร์ตอนเช้าที่เพจนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความหมายของภาพและเสียงในหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็ก ข้อเขียนรวมเล่มได้เป็นหนังสือสองเล่มคือ เลี้ยงลูกด้วยนิทาน และ พลังนิทานอ่านก่อนนอน ของสำนักพิมพ์อมรินทร์คิดส์ นั่น! เปิดหน้าโฆษณาแต่เช้า

บทที่ 8 นี้เปิดหน้าด้วยข้อความคลาสสิกของ อลิซในแดนมหัศจรรย์ งานเขียนของลูว์อิส แคร์รอล

“แล้วหนังสือจะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีภาพและบทสนทนา”

ใช่เลย ไม่เพียงหนังสือสำหรับเด็กเล็ก วรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่มีรูปประกอบคลาสสิกตั้งแต่ปกหน้า ปกใน และเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเล่ม ไปจนถึงปกหลังด้านในและปกหลัง แต่ละรูปไม่ใช่ใส่เข้ามาเพราะไม่มีอะไรจะใส่ แต่สื่อความหมายอันเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวม นั่นคือความหมายของหนังสือทั้งเล่ม

ซึ่งอีบุ๊คทำมิได้

รูปภาพเป็นส่วนสำคัญของมนุษย์อยู่ก่อนแล้ว เมื่อโลกมาถึงยุคไอทีที่ซึ่งมีคัตเอาต์ริมถนนมากมาย หน้าโฆษณาเน้นรูปมากกว่าคำ และเราใช้อีโมติคอนหรือสติ๊กเกอร์สื่อความหมายมากพอๆ กับตัวหนังสือ ศาสตร์ด้านการตีความหมายรูปภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นสำหรับเด็กๆ ที่เติบโตในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้ยังไม่นับว่างานวิจัยเรื่องความจำใช้งาน (working memory) สมัยใหม่พบว่าเด็กที่มีความพร่องของสติปัญญา (intelligence disability) ทุกประเภท มีความจำใช้งานด้านภาพ (visuospatial patch) เทียบเท่ากับเด็กที่มีอายุสมองเท่ากัน (equal mental age) และพัฒนาได้ เรื่องนี้เป็นความหวังและให้กำลังใจแก่พ่อแม่ของเด็กๆ กลุ่มนี้จำนวนมาก กล่าวคือการอ่านนิทานก่อนนอนยิ่งทวีความสำคัญยิ่งยวด

ความรู้เรื่องการตีความคำพูด (verbal literacy) มีมากเท่าๆ กับความรู้เรื่องการตีความรูปภาพ (visual literacy) เราจึงเริ่มด้วยคำถามง่ายๆ ได้เลย

“เห็นรูปอะไร” และ “รูปนี้บอกอะไรเราบ้าง” ยากกว่านี้คือชี้ไปที่ตัวละครสักตัวหนึ่งแล้วตั้งคำถาม “เขารู้สึกอย่างไร”

ทั้งนี้อย่าได้หลงลืมเป็นอันขาดว่าเราเองมิได้รู้คำตอบที่ถูกต้อง เพราะนักวาดได้ปล่อยของออกสู่สาธารณะแล้ว สาธารณะสามารถตีความได้ตามบริบทของสังคมและของนักอ่านเอง ดังนั้นเด็กๆ จะตอบอะไรล้วนถูกทั้งนั้น ก่อนที่เราอาจจะชวนคุยต่อไปได้ว่า “เพราะอะไร”

หนังสือที่มีตัวอักษรประกอบและหนังสือที่มีแต่ภาพเท่านั้นโดยไม่มีตัวอักษรเลยแม้แต่ตัวเดียวมีความต่างกัน ในหนังสือที่มีตัวอักษรประกอบ หน้าหนังสือ ตัวอักษร และรูปภาพจะทำงานร่วมกันเสมอ หากให้แจกแจงว่าส่วนประกอบทั้งหมดมีอะไรบ้าง ได้แก่

ขนาดของหนังสือ แนวตั้งหรือแนวนอน หน้าปกและใบหุ้มปก ปกรอง หน้าแรก ฟอนต์ ขนาดและสีของตัวพิมพ์ กรอบและพื้นที่นอกกรอบ บัลลูนคำพูด เครื่องหมายพิเศษ เช่น อัศเจรีย์ ปรัศนี รวมทั้งจำนวนและขนาดของปรัศนีหรืออัศเจรีย์ ลายเส้น การลงสี มุมมอง พื้นผิว และพื้นที่ว่าง รวม 15 องค์ประกอบ จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กเป็นการผจญภัยของนักสร้างงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด

หนังสือเด็กที่ให้ความสำคัญแก่ภาพมากคือหนังสือการ์ตูนและหนังสือนิยายภาพ ทั้งสองประการมีส่วนคล้ายกันและส่วนที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย องค์ประกอบหลัก ได้แก่

ช่อง กรอบ คำบรรยาย ขอบระหว่างช่อง ภาพล้นกรอบ ตัวพิมพ์ กล่องคำบรรยาย เฉดและสี น้ำหนักภาพ และบัลลูนคำพูด รวม 10 องค์ประกอบ เป็นเช่นเดียวกับหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กคือนักสร้างงานสามารถเล่นกลกับองค์ประกอบเหล่านี้ได้ไม่สิ้นสุด

บทที่ 8 นี้เป็นการแนะนำหนังสือนิทาน การ์ตูน หรือนิยายภาพในต่างประเทศเสียมาก ที่เห็นมีการแปลและตีพิมพ์ในประเทศไทย ได้แก่ หนังสือของจอน คลาสแซน (Jon Klassen) เอริก คาร์ล (Eric Carle) และเดวิด แมคกี (David McKee) เป็นตัวอย่างหนังสือที่ครบสมบูรณ์ทุกองค์ประกอบทั้งเสียงและภาพ นั่นคือตัวอักษรและรูป

หนังสือของนักเขียนสามคนนี้มีแปลไทยในบ้านเราหลายเล่ม

จิมปิดท้ายบทนี้ด้วยการพูดถึงหนังสือการ์ตูนที่มีคุณค่าสูงและได้รับการยอมรับจากนักวิชาการคือ The Adventures of Tintin ซึ่งมีแปลไทยมานานตั้งแต่ครั้งที่ตีพิมพ์หน้าคู่ในนิตยสาร วีรธรรม (รายสัปดาห์) มาจนถึงฉบับไม่มีลิขสิทธิ์แล้วแปลย่อเสียจนเข้าข่ายหนังสือคัลต์หายาก จนกระทั่งมาถึงฉบับลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์เนชั่นเอ็กมอนท์

 

The Adventures of Tintin คือหนึ่งในหนังสือชุดที่เคยได้รับความนิยมและมีฉบับแปลภาษาไทยมาเนิ่นนาน

หนังสือชุดการผจญภัยของตินติน หรือแต๋งแต๋ง ตามการออกเสียงในภาษาฝรั่งเศส เป็นงานเขียนของแอร์เช ซึ่งเป็นนามปากกาของ Georges Remi นักเขียนชาวเบลเยียม มีจำนวนเล่มตามมาตรฐาน 22 เล่ม เล่มพิเศษแยกต่างหาก แต่ละเล่มหนา 64 หน้า ตีพิมพ์ด้วยสีสันสดใส ยกเว้นเล่ม 1 ผจญภัยในโซเวียต มี 137 หน้าและเป็นรูปขาวดำ งานของแอร์เชเป็นตัวอย่างของการเขียนภาพด้วยการตัดเส้นที่คมชัด เรียกว่า clear line

การผจญภัยของตินตินแต่ละเล่มประกอบด้วยกรอบรูปภาพประมาณ 700 กรอบ และมีคำศัพท์ประมาณ 8,000 คำ เป็นหนังสือที่มีอายุมานานเกือบศตวรรษแล้ว มีแปลจำหน่ายมากกว่า 80 ภาษา ยอดขายหลายร้อยล้านเล่มทั่วโลก หากไม่นับเรื่องการถากถางชนชาติอื่นหรือข้อสังเกตที่ว่าแทบไม่มีตัวละครสตรีในการ์ตูนชุดนี้เลย นี่เป็นหนังสือที่น่าอ่านมากที่สุดชุดหนึ่ง ความสนุกสนานและแปลกใหม่ไปจนถึงตลกขบขันของแต่ละเล่มทำให้เด็กๆ ลืมไปเลยว่ากำลังอ่านคำศัพท์ 8,000 คำอยู่

กล่าวเฉพาะเล่มการผจญภัยในคองโก เมื่อเวลาผ่านไปแอร์เชจำต้องกลับไปแก้ไขบางหน้าที่เข้าข่ายสร้างความอ่อนไหวเรื่องชาติพันธุ์และการอนุรักษ์สัตว์ป่า ฉบับภาษาไทยเป็นฉบับที่มีการแก้ไขรูปภาพบางภาพแล้ว

 

– 13 –

นัยสำคัญของประสบการณ์อ่านออกเสียง

 

จิมเริ่มบทที่ 9 ด้วยคำถามว่าจะเลือกหนังสืออ่านให้เด็กฟังอย่างไร เขาตอบว่าเลือกเรื่องที่ตัวเองชอบครั้งเป็นเด็ก หรือค้นหาบัญชีรายชื่อหนังสือสำหรับเด็กที่แนะนำกัน

เรื่องต่อไปคืออ่านให้เสียงมีอารมณ์รัก เศร้า ตลก เด็กๆ จะชอบ

จิมเขียนต่อไปว่าประโยคแรกของหนังสือมีความสำคัญที่จะช่วยดึงดูด (ทำนองว่าการเลือกหนังสือดีจึงสำคัญ?) และหนังสือควรจบแบบลงตัวไม่ค้างคา อาจจะมีอะไรเหลือให้ค้นหาต่อได้หากเป็นหนังสือชุด (จบแบบแล้วอิหยังวะดีมั้ย?)

จะเห็นว่าที่ผ่านมาผมพูดและเขียนตรงข้ามกับจิมแทบทุกข้อ ด้วยประโยคเดียวคือ

“อ่านอะไรก็ได้ อ่านอย่างไรก็ได้” ตามด้วยขอให้เริ่มอ่าน

ผมรู้ว่าจิมพูดถูก เพียงแต่เมื่อมองมาที่บริบทของบ้านเราที่หนังสือเป็นปัจจัยอันดับท้ายๆ ของชีวิต มีคนและครูน้อยมากที่อ่านหนังสือ มีพ่อแม่และนายแพทย์น้อยมากที่อ่านหนังสือ สถานการณ์การอ่านของเราเรียกได้ว่าสาหัส

ดังนั้นผมจะพูดเสมอว่า “อ่านอะไรก็ได้ อ่านอย่างไรก็ได้” สั้นกว่านี้คือ

“อ่านไปเถอะ ขอให้เริ่ม” และบางครั้งตามด้วยถุงกล้วยแขกก็อ่านได้

โดยลืมไปว่าเราหาถุงกล้วยแขกไม่พบแล้ว

ผมเป็นคุณพ่อที่ไม่เคยอ่านตลกเลย และไม่เคยใส่อารมณ์อะไร ทำไปมันก็ไม่ตลกเพราะฝืนทำ ตัวเองเป็นอย่างที่เด็กๆ แซวในเวลาต่อมาว่า “ป๊าเป็นเด็กพิเศษ” ซึ่งเมื่อนึกย้อนดูก็เห็นจริง ผมช้าทุกเรื่องตอนเป็นเด็กไม่เคยทำอะไรได้เลยในขณะที่เพื่อนๆ ทำได้ โชคดีที่ไม่มีใครจับไปหาหมอเท่านั้นเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังพูดไม่ชัดจนถึงประถมศึกษาปีที่ 3

สมัยนั้น เกือบหกสิบปีก่อน เอสโซ่มีสโลแกนว่า “ตับเตื๋อใต่ตั๋งพะลังตู๋ง” คือเสียงของผมเมื่อปอสาม

พอเป็นพ่อ จึงอ่านไปเรียบๆ เสมอๆ ไม่มีอารมณ์และไม่มีตลก จนกระทั่งบางเล่มอ่านรอบที่สิบแล้วเบื่อเองจึงเริ่มอ่านแบบปรับปรุงเปลี่ยนแปลงปรากฏว่าลูกๆ โวยวายกันขนานใหญ่ “อ่านดีๆ!”

กลับมาที่จิม จิมเขียนย่อหน้าสุดท้ายของเซ็คชั่นแรกนี้ว่า “ไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดในการอ่านออกเสียง เว้นแต่จะไม่ทำ! ดังนั้นคว้าหนังสือสักเล่ม พาลูกมา แล้วเริ่มอ่านเลย”

รอดตัวไป จิมและผมเห็นตรงกันในตอนท้าย

อ่านออกเสียงเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มคลังคำ เราเคยพูดเรื่องนี้มาแล้ว ภาษาพูดมีคำไม่กี่คำ สิ่งพิมพ์ทั่วไปมีคลังคำมากขึ้น แต่นิทาน นวนิยาย วรรณกรรม และวรรณคดีมีคลังคำมากที่สุด คำว่า “สวย” มีในภาษาพูด แต่เด็กๆ จะไม่ได้ยินและไม่รู้จักคำอื่นๆ ที่แปลว่าสวยเลยถ้าไม่อ่านหนังสือ

เลอโฉม งามจับตา สวยพริ้ง สวยเก๋ โสภา ไฉไล สวยสะคราญ เช้งวับ เช้งกระเด๊ะ สะสวย หยดย้อย สวยซึ้ง หยาดเยิ้ม พริ้งเพรา งามพิศ งามผาด น่ารัก น่าฮัก สวยสะดุดตา ผุดผาด งามผ่อง เปล่งปลั่ง งามจับจิตจับใจ งามจับตา สวยต้องตา งามเปล่งปลั่ง ทรงโฉมสิริโสภาคย์ ฯลฯ

ไวยากรณ์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเรียนไวยากรณ์ที่ดีที่สุดคืออ่านหนังสือแล้วจะได้ไวยากรณ์เอง จิมเขียนว่า “ไวยากรณ์เข้าใจได้เองมากกว่าสอน และวิธีที่จะเข้าใจก็เหมือนการติดไข้หวัด” ประโยคนี้จริงมาก จิมเพิ่มเติมต่อไปว่าดีกว่านั้นคืออ่านออกมา เมื่อเราอ่านแล้วพบว่าสะดุดนั่นแปลว่ามีบางอย่างผิดพลาดที่ไวยากรณ์

นักเขียนทุกคนอ่านมากกว่าเขียน การอ่านทำให้เราจดจำ “รูปภาพของคำศัพท์” และช่วยให้สะกดคำได้ดีกว่าด้วยกลไกการจดจำรูปภาพมากกว่าที่จะท่องโดยตรง

ลองเขียนตัวสะกดของคำศัพท์หนึ่งที่เราไม่ค่อยแน่ใจออกมาทุกแบบ เช่น กะเพรา กระเพรา กระเพา แล้วเลือกดูตามความเคยชิน โอกาสเลือกถูกมากกว่าเลือกผิด เราทำแบบนี้กับการย่อหน้า การวรรค เครื่องหมายวรรคตอน และไวยากรณ์ด้วย

“นักเขียนวัยเรียนที่ทำคะแนนสูงสุดไม่ใช่คนที่เขียนเยอะที่สุดในแต่ละวัน แต่เป็นนักเรียนที่อ่านเพื่อความบันเทิงเยอะที่สุด มีสิ่งพิมพ์ในบ้านเยอะที่สุด และเขียนความเรียงในชั้นเรียนเป็นประจำ”

สมองส่วนรับภาพมีขนาดมากกว่าสมองส่วนรับเสียง 30 เท่า นั่นแปลว่าหากเราได้ยินคำนั้นในบทสนทนาและโทรทัศน์เท่านั้น เทียบกับ “มองเห็น” คำคำนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างหลังเพิ่มคลังคำได้มากกว่ามาก เปรียบเสมือนการอัปโหลดข้อมูลขึ้นเก็บไว้รอวันดาวน์โหลดลงมาในงานเขียน ถ้าไม่มีการอัปโหลดจะเอาอะไรดาวน์โหลดลงมา

หลายหน้าต่อมาเป็นคำแนะนำเรื่องการอ่าน อย่างไรก็ตามรวบให้สั้นก็ยังคงเหลือเพียงแค่ว่า “อ่านให้สนุก” และ “อย่าเปลี่ยนการอ่านเป็นการสอนหรือเอาการ” ถึงตรงนี้ขอเล่าเรื่องหนึ่งซึ่งเล่าทุกที่หลายครั้ง

เด็กเล็กคนหนึ่งถือหนังสือนิทานประกอบภาพแสนสวยมายื่นให้แม่ว่าอยากได้

“ไม่เอา เอาไปคืนเดี๋ยวนี้” แม่ตอบ

เหตุการณ์นี้เกิดในกรุงเทพมหานคร ในร้านหนังสือของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เราอาจจะแก้ตัวแทนประชาชนคนไทยทุกคนได้ว่าเพราะเรายากจน แต่เพราะยากจนนั่นแหละคือเหตุผลที่คุณแม่ควรกัดฟันซื้อหนังสือให้เด็กคนนั้นอ่าน ดีกว่านั้นคือนั่งอ่านให้ลูกฟัง แล้วลูกจึงจะมีโอกาสไปพ้นจากความยากจน

หนังสือบันเทิงคดีสำคัญกว่าหนังสือสารคดี เมื่อทั้งโลกสนใจไอคิวและผลสัมฤทธิ์การศึกษา หนังสือของเด็กจะเหลือเพียงตำราเรียนมาตรฐานเพื่อเพิ่มคะแนน และหนังสือสารคดีเพื่อเพิ่มความรู้ แต่จากงานวิจัยของ OECD ตามเอกสารอ้างอิงหมายเลข 19 ในบทที่ 9 นี้ สำรวจเด็ก 250,000 คนใน 32 ประเทศ พบว่าเด็กที่ทำคะแนน PISA สูงเป็นเด็กที่อ่านบันเทิงคดีมาก

หนังสือสารคดีและกวีนิพนธ์เล่า ทั้งสองอย่างควรอ่าน แต่โจทย์การเลือกมักจะยากขึ้น หนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญเป็นหนังสือที่ควรเลือกเล่มที่เขียนสนุกๆ ให้เด็กอ่าน หนังสือกวีนิพนธ์สามารถคัดสรรให้เด็กอ่านเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับคำคล้องจองได้ อารมณ์ที่สั่งสมจากกวีนิพนธ์หรือร้อยกรองใดๆ เป็นเรื่องต้องค่อยๆ ฟูมฟักขึ้นเช่นกัน

ปิดท้ายบทนี้ ยาวเล็กน้อย แต่ดีทุกประโยค

“ขอผมเตือนใจคุณว่าวรรณกรรมรูปแบบต่างๆ ล้วนมีศักยภาพที่จะขยายขอบเขตความรู้ของเด็กทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังหรือประสบการณ์แบบไหน จะมีอภิสิทธิ์หรือความยากจน เมื่อเราอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง เราทำให้พวกเขาได้เห็นสิ่งใหม่ๆ และมีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เราทำให้พวกเขามีวิธีใหม่ๆ ในการรับมือกับความทุกข์และสุขในชีวิต เรามอบโอกาสใหม่ๆ ในการเพิ่มพูนภาษาและความเข้าใจ เราช่วยให้พวกเขาตระหนักว่ายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากมายแค่ไหน เมื่อเราอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง เราแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเมื่อมีความรู้เพิ่มขึ้นนิดหน่อยเราก็ตั้งคำถามได้ดีขึ้น และเมื่อตั้งคำถามได้ดีขึ้นก็ยิ่งผลักดันให้เราอ่านมากขึ้น เมื่อเราอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง เราแนะนำพวกเขาให้รู้จักผู้คนที่เหมือนกับพวกเขา และผู้คนที่พวกเขาไม่เคยแม้แต่จะจินตนาการถึง … เราช่วยให้พวกเขาตระหนักว่าครอบครัวของพวกเขา เป็นเพียงหนึ่งในครอบครัวหลากหลายรูปแบบ … แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่สื่อออกมาจากการอ่านออกเสียงให้เด็กฟังก็คือ การใช้เวลาอ่านหนังสือกับเด็กๆ เป็นเรื่องคุ้มค่าสำหรับเรา”

 

– 14 –

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ

 

เมื่อเริ่มต้น

“เริ่มต้นอ่านออกเสียงได้ตั้งแต่เกิด”

เลือกหนังสือที่มีคำคล้องจอง

เลือกหนังสือที่มีเพียง 1-3 ประโยคในหนึ่งหน้า แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น รูปค่อยๆ น้อยลง จนกระทั่งถึงวรรณกรรมเยาวชนในที่สุด

เมื่อเลือกหนังสือ

เลือกทั้ง 3 อย่าง บันเทิงคดี สารคดี กวีนิพนธ์

เลือกที่เนื้อหาไม่ยาวเกินไป ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความสามารถที่เด็กจะจินตนาการได้

เลือกหนังสือที่ง่ายไว้ก่อน แต่ไม่ผิดที่จะเลือกหนังสือที่ท้าทาย

“เคารพการเลือกของเด็กเองด้วย เขาเลือกคือเขาชอบแม้ว่าเราจะไม่ชอบ”

เด็กหลายคนอายุต่างๆ กันอาจจะต้องพิถีพิถันหาที่ทุกคนฟังได้พร้อมกันหมด แล้วแยกอ่านรายคนอีกที

เมื่อเริ่มต้น

อ่านทุกคืน การเว้นระยะการอ่านนานมากเกินไปเป็นผลเสีย

ไม่เริ่มด้วยการออกคำสั่ง “นั่งนิ่งๆ!”

ถ้าเด็กบางคนยุกยิกมาก ไม่ผิดกติกาที่จะวางกระดาษเปล่าและดินสอสีให้เขาทำข้างๆ

เมื่ออ่าน

อ่านชื่อผู้เขียน ผู้วาด ทุกครั้ง

ให้เวลากับหน้าปกสักนิดหนึ่ง

ให้เวลากับรูปภาพในแต่ละหน้าสักนิดหนึ่งก่อนเริ่มอ่าน

ทำเสียงเร้าอารมณ์

หยุดตรงที่น่าตื่นเต้นสักพักหนึ่ง

ถามเด็กเล็กๆ น้อยๆ ได้

ถ้าหมดเวลา พยายามหยุดที่หน้าตื่นเต้น

ใครอ่าน

กระตุ้นให้พ่ออ่าน เพราะครูส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็กชายจะรับรู้ได้ว่าผู้ชายก็อ่าน

พี่อ่านให้น้องฟัง เราไม่ห้าม

กระตุ้นให้ญาติที่ชอบแชตมาอ่านให้ลูกฟัง

มีเวลาอิสระให้เด็กๆ หยิบหนังสือมาลูบคลำ ดูรูปและอ่านเอง

และโปรดจำไว้ว่า

“การอ่านมิได้สำเร็จชั่วข้ามคืน”

ให้เด็กพกหนังสือไปทุกที่

อ่านตรงเวลาดีกว่าอ่านไม่ตรงเวลา

เรื่องที่ไม่ควรทำ

“อย่าทนอ่าน ถ้าไม่สนุก”

อย่าเลือกหนังสือที่มีบทสนทนามากไป เพราะคนฟังไม่รู้เรื่องด้วยว่าใครพูด

อย่าเลือกหนังสือที่มีการสร้างเป็นหนังไปแล้วเพราะเด็กจะสนใจน้อยกว่า

อย่าโดนหลอกเพราะรางวัลที่หนังสือได้รับ เปิดใจให้กว้าง

อย่ายึดติดกับการอ่านเพื่อวิชาการ

อย่าเริ่มต้นอ่านถ้ามีเวลาเหลือสั้นมาก เด็กจะหงุดหงิด

อย่าเบื่อที่จะตอบคำถาม การอ่านยังมีเวลา แต่การถามมีเวลาที่เขาจะทำไม่มากนัก

อย่าตีความเนื้อเรื่องหรือสรุปความ ถามได้ว่าเด็กๆ คิดอย่างไร

อย่าสับสนระหว่างปริมาณและคุณภาพ

อย่าขู่เด็กด้วยการบอกว่า “ถ้าไม่ทำ จะไม่อ่านหนังสือ”

 

 

Read-Aloud Handbook (8th Edition): พลังแห่งการอ่านออกเสียง
Cyndi Giorgis เขียน
อสมาพร โคมเมือง แปล
488 หน้า
อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่