5 ข้อที่ควรทำและไม่ควรทำเมื่ออ่านออกเสียงให้เด็กฟัง

 

การอ่านออกเสียงไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดเสียทีเดียว แต่มีข้อแนะนำบางประการเพื่อให้การอ่านออกเสียงมีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้น

 

DOs

  1. ทดลองอ่านหนังสือเองก่อน การอ่านล่วงหน้าทำให้เห็นจุดที่เราอาจอยากย่อให้สั้นลง ตัดทิ้งไป หรือขยายความเพิ่ม
  1. ตั้งคำถามเป็นครั้งคราว ดึงความสนใจของเด็กๆ ด้วยการถามเป็นครั้งคราวว่า “หนูคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป” หรือ “จนถึงตอนนี้หนูชอบอะไรในเรื่องนี้บ้าง”
  1. หยุดบางจังหวะเพื่อให้เด็กพูดคำหรือวลีออกมา หนังสือคาดเดาได้คือหนังสือที่มีเนื้อเรื่องซ้ำวน มีคำหรือวลีปรากฏซ้ำๆ จนเด็กๆ จำได้ ให้หยุดนิดหนึ่งเมื่อจะอ่านถึงคำหรือวลีเหล่านั้น แล้วปล่อยให้เด็กๆ พูดคำหรือวลีนั้นๆ ออกมา
  1. ใส่อารมณ์และท่าทางเยอะๆ เวลาอ่านให้แสดงอารมณ์ความรู้สึกมากๆ และทำท่าทางประกอบ รวมทั้งเปลี่ยนน้ำเสียงให้เข้ากับบทสนทนา ตัวละครกำลังสุขหรือเศร้า ตะโกนหรือกระซิบ
  1. อ่านช้าๆ อ่านช้าลงเพื่อให้เด็กวาดภาพในใจตามสิ่งที่ได้ฟัง และเพื่อให้เด็กได้ดูภาพในหนังสือโดยไม่ต้องรีบร้อน การอ่านเร็วๆ ทำให้เราไม่มีเวลาใส่อารมณ์และความรู้สึกในน้ำเสียงด้วย

 

DON’Ts

  1. อย่าเลือกนวนิยายที่มีบทสนทนาเยอะๆ นวนิยายที่มีบทสนทนาเยอะๆ ยากต่อทั้งการอ่านและการฟัง เวลาฟังเด็กๆ ไม่เห็นย่อหน้าหรือเครื่องหมายคำพูด จึงอาจสับสนได้ว่าใครพูดอยู่
  1. หนังสือรางวัลอาจไม่เหมาะสำหรับอ่านออกเสียงเสมอไป ส่วนใหญ่แล้วรางวัลหนังสือจะมอบสำหรับคุณภาพของการเขียน ไม่ได้ดูที่คุณสมบัติของการเป็นหนังสือสำหรับอ่านออกเสียง
  1. อย่าอยู่ในท่าที่สบายเกินไปขณะอ่าน การเอนหลังหรือนอนงอตัวขณะอ่านหรือฟังอาจทำให้ง่วงได้
  1. อย่าหงุดหงิดเมื่อเด็กถามแทรก การอ่านหนังสือไม่มีเวลาจำกัด แต่ความอยากรู้ของเด็กมีเวลาจำกัด สนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นนั้นด้วยการตอบคำถามอย่างอดทน แล้วค่อยกลับมาอ่านต่อ แต่หากเป็นในห้องเรียนอาจต้องรอจนกว่าจะอ่านจบแล้วค่อยถามถ้าเป็นไปได้
  1. อย่าตีความเนื้อเรื่องแทนเด็ก ควรปล่อยให้เด็กๆ พูดคุยตีความด้วยตัวเอง เด็กจะมีทักษะการอ่านเขียนสูงสุดเมื่อได้พูดคุยถกเถียงกันหลังจากอ่านหนังสือจบลง

จำไว้ว่ายิ่งอ่านออกเสียงบ่อยๆ เราก็จะยิ่งทำได้ดีขึ้น อย่ากลัว อย่าขาดความมั่นใจ เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ไม่ว่าเราจะอ่านออกเสียงได้เก่งหรือไม่ ช่วงเวลาที่พวกเขาได้อยู่เคียงข้างใกล้ชิดเรา ฟังเรื่องราวที่เราอ่าน เป็นช่วงเวลาล้ำค่าที่จะติดตรึงและส่งผลดีกับพวกเขาไปอีกนานเท่านาน

 

การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง: กุญแจสำคัญสู่การเรียนรู้

 

คลังศัพท์ที่เด็กๆ มีอยู่ในสมองเป็นต้นทุนสำคัญในการทำความเข้าใจบทเรียน เด็กที่รู้จักศัพท์มากกว่าจะฟังและอ่านได้คล่องกว่า เข้าใจเนื้อหาที่ฟังและอ่านได้มากกว่า จึงมีโอกาสเรียนรู้ได้มากกว่า

พ่อแม่เพิ่มพูนคลังศัพท์ในสมองให้ลูกๆ ได้สองวิธี คือผ่านการมองเห็นและการได้ยิน แน่นอน สำหรับเด็กเล็กในช่วงขวบปีแรก การอ่านเองอาจเร็วเกินไป หูจึงเป็นแหล่งเรียนรู้คำศัพท์ที่ดีที่สุด เด็กๆ เริ่มเรียนรู้คำและไวยากรณ์ได้จากการได้ยินได้ฟังบ่อยๆ (immersion) เมื่อพ่อแม่อ่านออกเสียงให้ลูกฟัง เด็กๆ จะได้โอกาสเรียนรู้ภาษาในหนังสือ ซึ่งเป็นระบบ น่าสนใจ และหลากหลายซับซ้อนมากกว่าภาษาพูดโดยทั่วไป ทั้งยังได้พูดคุยกับพ่อแม่เกี่ยวกับความหมายของคำเหล่านั้น คำศัพท์ที่ได้เรียนรู้จากการฟังในช่วงวัยนี้ ภายหลังจะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจคำที่ผ่านตาเมื่อพวกเขาเริ่มหัดอ่าน

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co‑operation and Development – OECD) ใช้เวลากว่าทศวรรษทำการทดสอบเด็กอายุ 15 ปีหลายแสนคน รวมทั้งสอบถามพ่อแม่ของพวกเขา และพบว่ายิ่งเด็กๆ ได้ฟังพ่อแม่อ่านออกเสียงมาก ตอนอายุ 15 พวกเขาก็ยิ่งทำคะแนนได้สูงขึ้น

นอกจากนั้น สมาคมนานาชาติเพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (International Association for the Evaluation of Educational Achievement – IEA) ได้เปรียบเทียบทักษะการอ่านของนักเรียน 210,000 คน และพบว่านักเรียนที่ทำคะแนนสูงสุดอยู่ในกลุ่มที่ครูอ่านออกเสียงให้ฟังเป็นประจำทุกวัน และอ่านหนังสือเพื่อความบันเทิงเป็นประจำทุกวันมากที่สุด

นอกจากช่วยปูทางสู่ห้องเรียน การอ่านออกเสียงยังช่วยปูทางสู่โลกกว้าง การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ช่วยให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จักกับสังคม ผู้คน วัฒนธรรม ช่วงเวลา และแนวคิดที่พวกเขาไม่เคยพบเจอหรือคุ้นเคย การอ่านออกเสียงให้เด็กฟังทำให้พวกเขาเข้าอกเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เปิดวิสัยทัศน์ และขยายขอบเขตโลกของพวกเขาให้ไกลเกินกว่าบ้านหรือห้องเรียนที่พวกเขาคุ้นเคย

เส้นทางสู่การเรียนรู้เริ่มต้นขึ้นที่บ้าน ช่วงเวลาสองสามขวบแรก ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะได้หว่านและฟูมฟักเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน ซึ่งจะเติบโตงอกงามเป็นหน่ออ่อนแห่งความสำเร็จ กระทั่งหยั่งรากมั่นคงเมื่อเด็กๆ เติบใหญ่ในที่สุด การอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง คือกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูให้เด็กๆ ทั้งสู่ห้องเรียน และสู่โลกกว้าง

 

บทบาทของพ่อกับการอ่านออกเสียง

 

คุณพ่อหลายคนคิดว่าการอ่านออกเสียงเป็นหน้าที่ของแม่ ซึ่งอาจเกิดจากอุปาทานเรื่องบทบาททางเพศ หรือความรู้สึกว่าตัวเองอ่านได้ไม่ดีพอ แต่ที่จริงแล้ว คุณพ่อมีบทบาทสำคัญมากในการอ่านออกเสียง

การสำรวจเด็กอเมริกันวัย 6-17 ปี โดยสำนักพิมพ์ Scholastic ในปี 2016 ชี้ว่าเด็กชายอ่านหนังสือน้อยลง และยังมีทัศนคติเชิงบวกต่อหนังสือน้อยกว่าเด็กหญิงด้วย การที่พ่ออ่านออกเสียงจะช่วยให้เด็กชายมีต้นแบบด้านการอ่าน และเกิดแรงบันดาลใจในการอ่าน ทั้งยังลบเลือนความเชื่อที่ว่าการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรม “ไม่แมน” เท่าการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ด้วย

นอกจากนั้น พ่อมักจะเลือกอ่านหนังสือคนละประเภทกับแม่และมีวิธีอ่านไม่เหมือนแม่ พ่อมักจะเลือกหนังสือตลกๆ กวนๆ และสามารถทำให้เด็กๆ สนุกไปกับช่วงเวลาอ่านออกเสียงได้

พ่อมักจะเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่ในหนังสือกับชีวิตของลูกได้ดีกว่า ในขณะที่แม่สนใจความรู้สึกของตัวละครมากกว่า พ่อจะกระตุ้นความคิดของลูก เช่น ถ้าอ่านหนังสือเกี่ยวกับไดโนเสาร์ พ่ออาจพูดว่า “ลูกจำได้ไหมว่าสเตโกซอรัสที่เราเห็นในพิพิธภัณฑ์ตัวใหญ่แค่ไหน”

ในครอบครัวที่ไม่มีพ่อ เราอาจมองหาผู้ชายต้นแบบคนอื่นๆ รวมถึงครูหรือคนในชุมชน ที่จะมาช่วยอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟังบ้าง เพื่อให้เด็กๆ เห็นว่าผู้ชายก็อ่านก็อ่านหนังสือได้เช่นกัน แถมยังอ่านสนุกเสียด้วย!