quote – The 99% Invisible City: มองเมืองให้เห็นคน-มองคนให้เห็นเมือง

ชนม์นิภา บรรณจิรกุล เรียบเรียง

 

เมืองที่ “ดี” ควรเป็นอย่างไร

ผู้คนจำนวนมากต้องอาศัยอยู่ในเมือง เมืองอยู่ร่วมกับเราทุกขณะ แน่นอนเราคุ้นเคยดีกับเมืองที่เราอยู่อาศัย ทว่าในความคุ้นเคยนั้น อาจทำให้เรามองข้ามหลายอย่างจนเมืองนี้ “ล่องหน” ไป การมองเห็นเมืองให้ชัดนั้นคือเรื่องสำคัญ เพราะอาจทำให้เราได้ค้นพบว่า การเปลี่ยนเมืองไม่อาจทำได้ด้วยกำลังของใครเพียงคนเดียว

bookscape ร่วมกับสำนักพิมพ์มติชนและพันธมิตร จัดงานเสวนา Book Talk “มองเมืองให้เห็นคน-มองคนให้เห็นเมือง” จากหนังสือ มหัศจรรย์เมืองที่มองไม่เห็น: คู่มือสำรวจโลกซ่อนเร้นของเมืองผ่านงานออกแบบรอบตัว (The 99% Invisible City) เขียนโดยโรมัน มาร์ส และเคิร์ต โคห์ลสเต็ดต์ แปลโดยมิ่งขวัญ รัตนคช เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ งาน “Knowledge Book Fair เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” @ มิวเซียมสยาม

มาร่วมกันอ่านบทบาทของเมืองที่มีต่อชีวิตคน ตั้งคำถามกับเมืองที่เราใช้ชีวิตอยู่ และมองหาสิ่งที่เราทำได้ เพื่อร่วมสร้าง “เมือง” ที่เป็นเมือง “ของเรา”

ร่วมเสวนาโดย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC – Urban Design and Development Center)

ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้ง City Cracker, we!park และร่วมก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River

ชวนสนทนาโดย

สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียน นักคิด นักเล่าเรื่อง เจ้าของนามปากกา “นิ้วกลม”

ชมคลิปงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/iZST_hmJkd/

รูปชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนิรมล เสรีสกุล โดย เมธิชัย เตียวนะ, The101World

.

“เมืองที่น่าอยู่คือเมืองที่เราเข้าถึงสิ่งจำเป็นในชีวิตได้โดยไม่ยาก เด็กสามารถไปโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้บ้าน เข้าถึงการศึกษา เข้าถึงห้องสมุด เข้าถึงสวนที่มีคุณภาพได้ มีแหล่งงานที่เข้าไปอยู่ใกล้บ้าน หรือบ้านอยู่ใกล้แหล่งงาน และสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม ผมว่าแค่นี้แหละ พื้นฐาน แต่ละคนอาจมีความสามารถในการเจริญเติบโตต่างกัน แต่พื้นฐานต้องดี โรงเรียนดีต้องตั้งอยู่ใกล้บ้าน การสาธารณสุขที่ดีต้องอยู่ใกล้บ้าน พื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพต้องเข้าถึงได้ ต้องมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย”

— ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

“ทำไมในอดีตคนถึงเข้ามาอยู่ในเมือง เพราะเมืองเป็นพื้นที่ที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ เมืองมีทั้งเรื่องของการกระจุกตัวของผู้คน การกระจุกตัวของแหล่งงานในทางเศรษฐกิจ และการเดินทางต่างๆ  ซึ่งในพื้นที่ชนบทไม่มี และเมืองในปัจจุบันยังควรต้องมีบทบาทนั้นอยู่ ที่มันจะทำให้เรากลายเป็นคนที่อยากเป็น สามารถใช้ชีวิตที่เราอยากใช้ได้ เมืองที่ดีควรทำให้เรากลายเป็นคนแก่ที่เราอยากเป็นในอนาคต”

— นิรมล เสรีสกุล

 

“ถามว่าเรามีสุนทรียะไหม เรามีสุนทรียะแน่นอน เพราะเรามีเวลากัน แต่กับคนจำนวนมาก เขาแค่ว่ามีชีวิตรอดได้ไปเป็นวันๆ หรือเป็นเดือนๆ เขาอาจไม่มีเวลาจะมาสนใจด้วยซ้ำว่าบ้านเมืองเราสวยยังไง เราก็รู้กันดี ก่อนที่เราจะเห็นความสวยงาม ก่อนที่เราจะไปอนุรักษ์อะไร มันต้องกินอิ่ม ท้องอิ่มก่อน ญี่ปุ่นเริ่มต้นอนุรักษ์อะไรต่างๆ ก็ตอนที่เขากอบกู้ประเทศหลังจากการแพ้สงคราม ถึงค่อยมาว่ากันเรื่องนี้

“จำได้ว่าคุณสราวุธเคยเขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ หากความเข้าใจยังมีอยู่จริง จำประโยคในหนังสือที่ชัดๆ ไม่ได้ แต่แนวคิดคือ เมืองควรมีพื้นที่หรือโอกาส ที่ทำให้คนไม่ว่ายากดีมีจนสามารถเข้าถึงความสุขได้ประมาณหนึ่ง เช่น เราสามารถเดินกลับบ้านได้ มีทางเท้าที่สวยงาม ต้นไม้หอมๆ สะอาด มีงานวิจัยบอกว่าถ้าเราได้เห็นพื้นที่สีเขียว ความเครียดเราจะลดลง เมืองเราจะเย็นลง ฝุ่นจะน้อยลง นี่เป็นสิ่งที่นักออกแบบอาจจะช่วยได้ในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ คือทำสภาพแวดล้อมเมืองให้สามารถเข้าถึงความสบายใจได้บ้าง โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ”

— นิรมล เสรีสกุล

 

“เราอาจต้องเริ่มจากชุดความคิดนี้ก่อน ที่ว่าเมืองไม่ได้เป็นของรัฐ หรือของผู้ว่าฯ หรือของรัฐบาล แต่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม เมืองเป็นทรัพยากรร่วม และรัฐมีหน้าที่ดูแลทรัพยากรของเรา ถ้าชุดความคิดนี้ถูกสื่อสารออกมาและทำความเข้าใจร่วมกันว่าเรามีสิทธิ์ในเมือง ก็แสดงว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้เช่นกัน

“อย่างที่อาจารย์นิรมลถามไว้ก่อนหน้าว่าฝันของเราคืออะไร จะได้นิยามได้ว่าเราต้องลงมืออย่างไรต่อ ถ้าเราอยากได้เมืองที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม รัฐก็ต้องออกแบบกลไกในการได้มาซึ่งเมืองแบบนั้น เพราะถ้าไปออกแบบมาเป็นเมืองอีกแบบหนึ่ง มันก็จะเป็นฝันของบางคน แต่ไม่ใช่ฝันของทุกคน”

— ยศพล บุญสม

 

“ชุมชนแต่ละที่แต่ละบริบทมีคุณค่าและข้อจำกัดไม่เหมือนกัน การที่รัฐตัดสินใจว่าจะทำแบบเดียวกันกับทุกที่และมีระบบคุณค่าเดียว นอกจากจะไปลบบริบท ยังทำให้ไม่สามารถต่อยอดหรือเพิ่มคุณค่าหรือมูลค่าได้ ทุกอย่างกลายเป็นของปลอมหมด ขณะที่ชุมชนเองบอกว่าฉันมีของแท้ ฉันมีสิ่งที่อยากจะต่อยอดแต่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด ซ้ำร้ายกว่านั้นคือการลดทอนความเป็นมนุษย์

“เราต้องเชื่อก่อนว่าเราเป็นเจ้าของเมือง ถ้ารัฐอยู่เหนือคนทั่วไป รัฐไม่ได้จะรับฟังเพื่อสร้างเมืองที่ดี สุดท้ายปลายทางก็เห็นอยู่ว่าคุณอยากได้เมืองอีกแบบที่คนไม่เท่ากัน กระบวนการสร้างเมืองเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วม หมายความว่ารัฐเองก็เรียนรู้จากชุมชน ชุมชนเรียนรู้จากนักออกแบบ ผมคิดว่านั่นคือสุนทรียะของเมืองที่เราอยากเห็น

“กระบวนการในปัจจุบันที่เราใช้ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการออกแบบสวนต่างๆ เราใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์ เสียงได้ถูกรับฟัง เกิดการปรับไปตามความเหมาะสมในแต่ละบริบทของแต่ละที่ ความเป็นเจ้าของ ความรู้สึกว่าเราจะมาช่วยกันดูแลสวน มาช่วยกันดูแลจัดการได้เกิดขึ้น จากนั้นความรู้สึกเชื่อใจจะค่อยๆ กลับมา จะไม่ได้เป็นเรื่องระหว่าง ‘รัฐ’ กับ ‘ฉัน’ แต่เป็น ‘เรา’ ที่ทำงานไปด้วยกัน”

— ยศพล บุญสม

 

“เมื่อวานผมไปชุมชนหัวตะเข้ ตลาดหัวตะเข้มหัศจรรย์มาก ชุมชนเขาทำของเขาเอง ราชการไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง เราแค่อำนวยความสะดวกให้เขา จากตลาดเดิมที่อายุร้อยปี เขาพัฒนาเป็นตลาดศิลปะได้ เพราะอยู่ใกล้กับวิทยาลัยช่างศิลป์ อยู่ใกล้กับ ม.ลาดกระบัง ที่นั่นมีศูนย์ที่เด็กมาเรียนศิลปะกัน ชุมชนวิวัฒนาการไปด้วยตัวเอง รัฐไม่ได้ไปสั่งว่าคุณต้องเป็นโรงเรียนศิลปะ แต่ชุมชนเขาเป็นคนเลือก ป้าเจ้าของร้านที่อยู่มานานก็ยังขายของได้ ไม่ใช่ร้านกาแฟหรูๆ ที่อยู่ๆ ลอยมาแล้วก็ไม่เข้ากับชุมชน แต่นี่คือศิลปะที่อยู่ร่วมกับชุมชนมาหลายสิบปี”

Q: การที่ชุมชนรวมตัวกันสร้างไอเดียหนึ่งๆ ขึ้นมา เริ่มต้นจากอะไร และเชื่อมต่อกับภาครัฐอย่างไร

“ต้องมีกลุ่มชุมชนที่เข้มแข็ง เราต้องเสริมพลังให้เขา และต้องเริ่มจากคำนี้ คือคำว่าความไว้วางใจกัน คือคำว่า trust เราต้องไว้ใจเขาระดับหนึ่ง และเขาก็ต้องไว้ใจเราระดับหนึ่ง ปัจจุบันเรามีกระบวนการที่ให้งบประมาณกับชุมชนเลย คุณอยากจะทำอะไรในชุมชน คุณขอมาได้ ไม่ใช่ว่าเขาอยากได้ไม้กวาดเราให้ถังขยะ รัฐซื้ออะไรมาก็ส่งไปให้ ไม่ได้ตรงกับความต้องการของชุมชน ต้องให้เขามีสิทธิ์เลือกสิ่งที่เขาต้องการ ผมคิดว่าหน้าที่ของเราคือการอำนวยความสะดวก”

 

“กับคำถามที่ว่า กทม. ให้คุณค่ากับอะไร มันเป็นคำถามที่หน่วยงานรัฐยังไม่ถามตัวเองเลย เพราะเขาไม่รู้จะถามไปทำไม เพราะวันๆ แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าฉันก็จะตายอยู่แล้ว เพราะ กทม. ไม่ได้มีอำนาจเต็ม กทม. คือเมืองที่มีขนาดใหญ่เท่ากับจังหวัด และยังเป็นศูนย์กลางของการอพยพ อาจารย์ชัชชาติต้องดูแลห้าสิบเขต ถ้าไปดูอย่างที่เมืองโตเกียว ชิบุยะซึ่งเป็นเขตที่อยู่ย่อยลงมาในโตเกียวเขาก็มีนายกฯ ที่เขาเลือกตั้งกันเอง ช่วยแบ่งเบาภาระ และชิบุยะเขาก็มีความฝันของเขาเอง คนโตเกียวก็มีความฝัน แต่คนที่อิเคะบุคุโระ คนชินจุกุ เขาก็มีความฝันของเขา เขามีภาพในอนาคตหรือ vision ของตัวเขา แล้วเรามีไหม ภาพในอนาคตของสาทรเป็นอย่างไร ภาพในอนาคตของปทุมวันเป็นอย่างไร

“ด้วยลักษณะของรัฐไทยที่รวมศูนย์ ทำให้ กทม. อาจไม่สามารถจะฝันอะไรได้ ฉันขอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนแล้วกัน ต้องปะผุไป”

— นิรมล เสรีสกุล

 

“ผมสนใจเรื่อง invisible of the invisible คือยังมีกระบวนการหรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังในการทำเมืองให้น่าอยู่ ทีนี้คำถามก็ตามมาว่าแล้วทำไมเราไม่ได้ใส่ใจในกระบวนการหรือการได้มาซึ่งเมืองที่น่าอยู่แบบนั้น ผมคิดว่าโดยสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ เราต้องการคุณภาพชีวิตของเมืองที่ดี ไม่ว่าจะในเมืองไหน เมื่อสักครู่ที่เราพูดถึงเรื่องการสร้างบทสนทนา การสร้างระบบนิเวศหรือบรรยากาศที่เปิดโอกาสให้เราได้สื่อสารกับผู้ว่าฯ สื่อสารกับผู้ปกครอง ว่าฉันอยากได้เมืองแบบนี้ ฉันอยากจะทำแบบนี้ แล้วมีการตอบสนองเพื่อให้สุนทรียะหรือความต้องการของคนได้ผลิออกมา โดยไม่ได้มีระบบคุณค่ามากดว่าแบบนี้ทำได้ แบบนี้ทำไม่ได้ ผมคิดว่าตรงนี้อาจเป็นสิ่งที่บ้านเรา หรือเมืองหลายๆ เมือง มีความแตกต่างกัน อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ระบบคุณค่าของแต่ละประเทศแต่ละเมืองก็สำคัญเหมือนกัน มันสะท้อนว่าเราให้คุณค่ากับอะไร”“กับคำถามที่ว่ากรุงเทพมหานครให้คุณค่ากับอะไร จะบอกว่าให้คุณค่ากับคนก็คงไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราถามว่าสิงคโปร์ให้คุณค่ากับอะไร สิงคโปร์ให้คุณค่ากับต้นไม้ พื้นที่สีเขียว คุณภาพชีวิต แต่ กทม.เหมือนจะให้คุณค่ากับการประนีประนอม แบบ ‘แค่นี้ก็อาจจะเพียงพอแล้วมั้ง’ ‘อยู่กันแบบนี้ก็อาจจะโอเคแล้วมั้ง’

“เมื่อสักครู่ที่อาจารย์นิรมลบอกว่า เราไม่ใช่ไม่เห็นนะ เราเห็น แต่เราไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร คุณจะไปบอกใครว่าอยากให้เมืองดีกว่านี้ แล้วพอคุณไปบอกเขาเสร็จ อีกกี่ปีถึงจะดีขึ้น มันเป็นความกดทับอัดอั้นที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันยังไปได้ไม่สุด

“ผมคิดว่าลำดับแรกคือการรับฟังกัน … ต้องมีการรับฟังกัน ข้อขัดแย้งนั้นเป็นสิ่งปกติ แต่การรับฟังกันแล้วนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อันนี้แหละคือระบบนิเวศที่เมืองต้องการ ซึ่งจะเผยสุนทรียะหรือความต้องการของแต่ละคนออกมา มันอาจไม่สำคัญว่าเมืองจะ visible หรือสวยแบบไหน แต่มันสำคัญว่าคุณได้ทำให้เสียงที่ invisible ได้ถูกได้ยิน แล้วทำให้เสียงนั้นกลายเป็นมวลพลังไหมมากกว่า”

— ยศพล บุญสม

 

“สุดท้ายผมว่าเมืองจะแค่ liveable หรือน่าอยู่ไม่พอ ต้องเป็นเมืองที่ loveable หรือเรารักด้วย ต้องทำให้เรารู้สึกว่าฉันมีความหวังและรัก คือทั้งด่าและรัก เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณเลิกบ่น แสดงว่าคุณไม่รักแล้ว แต่ถ้าคุณยังด่ายังบ่นมันอยู่ แต่คุณก็ยังสามารถที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงได้ แสดงว่ามันมีหวังอยู่ เมื่อสักครู่ที่คุณสราวุธถามอาจารย์ชัชชาติว่าเวลาสี่ปีจะพอไหมในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ผมว่าก็คงไม่พอ ภารกิจของอาจารย์ชัชชาติมันเป็นงานของทุกคน เราอยู่ในเมืองนี้ เราใช้ชีวิตกับมัน ฉะนั้นคุณยอมแพ้กับบ้านของคุณไม่ได้ คุณต้องทำมันต่อไป อยู่กับมัน มีบทสนทนากับมัน ทั้งกับผู้ว่าฯ กับเพื่อนบ้าน กับชุมชน กับนักออกแบบ และมองทุกคนว่านี่คือพลังที่เดินไปด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เมืองนี้น่าอยู่”

— ยศพล บุญสม

 

อ่านรายละเอียดหนังสือประกอบบทความและงานเสวนาได้ที่

มหัศจรรย์เมืองที่มองไม่เห็น: คู่มือสำรวจโลกซ่อนเร้นของเมืองผ่านงานออกแบบรอบตัว

The 99% Invisible City: A Field Guide to the Hidden World of Everyday Design

Roman Mars และ Kurt Kohlstedt เขียน

มิ่งขวัญ รัตนคช แปล