
การอ่านออกเสียงไม่มีถูกหรือผิด สิ่งที่ผิดคือการไม่อ่าน แม้จะรู้อย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคนคงมีคำถามคาใจหลายข้อ มาไขข้อข้องใจ ตอบคำถามยอดฮิตห้าข้อของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เกี่ยวกับการอ่านออกเสียง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่อ่านออกเสียงอย่างเข้าใจและได้ผลกว่าเดิม

บางครั้งพ่อแม่อาจรำคาญที่ลูกถามไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะระหว่างการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
เริ่มแรก เราต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นคำถามแบบไหน ไร้สาระหรือเปล่า เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นหรือนอกประเด็น ลูกพยายามเรียนรู้บางอย่างจริงๆ หรือแค่อยากเลื่อนเวลาเข้านอนออกไป
หากลูกแค่อยากเลื่อนเวลาเข้านอน เราแก้ปัญหาได้โดยยังไม่ให้ลูกเข้านอนทันทีหลังอ่านหนังสือจบ แต่ชวนพวกเขาคุยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นก่อน แล้วจึงค่อยปิดไฟกล่าวราตรีสวัสดิ์
แต่หากเด็กๆ ถามคำถามที่ฉลาด และเป็นความรู้พื้นฐาน ให้พยายามตอบทันที จะได้ช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องมากขึ้น
คำถามนอกประเด็นอาจจัดการได้ด้วยการบอกลูกว่า “คำถามดีนี่! ไว้เราค่อยกลับมาคุยเรื่องนั้นกันตอนที่อ่านจบนะจ๊ะ” และอย่าลืมทำตามสัญญาด้วย อาจจะติดกระดาษโน้ตไว้ที่หน้านั้นเพื่อเตือนตัวเองว่าต้องกลับมาคุยอีกครั้ง
ท้ายที่สุดแล้ว เราต้องยอมรับว่าคำถามเป็นเครื่องมือเรียนรู้ขั้นแรกของเด็ก อย่าทำลายความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติด้วยการเพิกเฉย

เด็กเล็กเรียนรู้จากการทำซ้ำๆ การถามหาหนังสือเล่มเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาการด้านการเรียนรู้ภาษา กระบวนการนี้เรียกว่าการได้ยินได้ฟังบ่อยๆ หรืออิมเมอร์ชั่น (immersion) การฟังหนังสือเรื่องเดิมซ้ำๆ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้
การทำซ้ำๆ ยังเปลี่ยนแปลงสมองได้ เพราะเมื่อเด็กได้ยินและฝึกฝนคำศัพท์ แนวคิด หรือทักษะ โครงข่ายการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทก็จะแข็งแรงและเป็นปึกแผ่นมากขึ้น
รายงานการศึกษาในปี 2011 พบว่าเด็กที่ฟังหนังสือเล่มเดิมซ้ำหลายครั้งจะจดจำความหมายของคำศัพท์ใหม่ได้มากกว่าเด็กที่ได้ยินคำศัพท์คำเดียวกันนั้นจากการฟังหนังสือหลายเล่ม ก่อนวัยสองขวบ การอ่านหนังสือไม่กี่เล่มวนซ้ำไปซ้ำมาจึงดีกว่าการอ่านหนังสือหลายเล่มแต่ไม่ค่อยอ่านซ้ำเล่มเดิม
ในฐานะผู้ใหญ่ เราต้องไม่ลืมว่าเราเองก็ชอบอ่านหนังสือเล่มเดิมหรือดูหนังเรื่องเดิมซ้ำหลายครั้ง เพราะมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างหลุดรอดสายตาเราไปในครั้งแรก เด็กกับหนังสือก็เช่นเดียวกัน พวกเขากำลังเรียนรู้ภาษาที่ซับซ้อนด้วยจังหวะการพูดของผู้ใหญ่ บ่อยครั้งพวกเขาจึงเข้าใจผิด ซึ่งจะแก้ไขได้ด้วยการอ่านซ้ำ

เมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าสู่วัยอยู่ไม่นิ่งและนั่งนิ่งๆ ได้เพียงช่วงสั้นๆ เราควรประเมินตัวเลือกหนังสือและระยะเวลาในการอ่านให้พวกเขาฟัง ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาอ่านหนังสือให้พวกเขาฟัง อาจเริ่มต้นด้วยหนังสือภาพสั้นๆ เล่มสองเล่ม หรืออ่านหนึ่งเล่มแล้วเลือกอีกเล่มไว้อ่านครั้งต่อไป
ลองเลือกหนังสือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน (interactive) เด็กๆ จะได้มีส่วนร่วมทั้งด้วยวาจาและท่าทาง อย่างหนังสือภาพ pop-up ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เปิดหรือดึงส่วนต่างๆ ในหนังสือ
เมื่อเด็กๆ เริ่มมีสมาธิมากขึ้น จึงค่อยเริ่มอ่านหนังสือที่ข้อความเยอะขึ้น อาจเพิ่มจำนวนหนังสือภาพที่อ่านในแต่ละครั้ง และลองเพิ่มวรรณกรรมเยาวชนขั้นต้นและวรรณกรรมเยาวชนขนาดสั้นเข้าไป อย่าลืมว่าที่สำคัญที่สุดคือเนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องต้องน่าสนใจสำหรับเด็กๆ ด้วย

ทำไมต้องอ่านหนังสือด้วยล่ะ แค่พูดคุยกับเด็กๆ ก็น่าจะทำให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์มากมายแล้วไม่ใช่หรือ คำตอบคือ แค่การพูดคุยยังไม่พอ
เมื่อเราพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างผู้ใหญ่สองคนหรือกับเด็กๆ ส่วนใหญ่เราใช้คำศัพท์ 5,000 คำ ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เราใช้กันบ่อยๆ และอีก 5,000 คำที่เราใช้ในบทสนทนาไม่บ่อยเท่าไรนัก คำศัพท์เหล่านี้รวมกันเป็น 10,000 คำเรียกว่าคลังศัพท์ทั่วไป (Common Lexicon) นอกเหนือจากนี้จะเรียกว่า “ศัพท์หายาก” (rare word) ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในการอ่านเมื่อเราโตขึ้น และเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถด้านคำศัพท์ของเรา
เราไม่ได้ใช้ศัพท์หายากเหล่านี้บ่อยๆ ในการสนทนา แต่เราเจอมันได้ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เมื่อพูดคุยกับเด็กสามขวบ ผู้ใหญ่จะใช้ศัพท์หายากเพียง 9 ใน 1,000 คำ แต่ในหนังสือสำหรับเด็กมีศัพท์หายากมากกว่านั้นถึงสามเท่า และเจ็ดเท่าในหนังสือพิมพ์ แม้แต่หนังสือภาพก็มีคำศัพท์ที่เป็นเอกลักษณ์ (unique word) มากกว่าในบทสนทนากับเด็กโดยตรงประมาณร้อยละ 70 โดยเฉลี่ย
ดังนั้น ถ้าเราอยากเพิ่มพูนคลังศัพท์ให้เด็กๆ การพูดคุยจึงยังไม่พอ เราต้องอ่านออกเสียงให้พวกเขาฟังด้วย

ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่พอๆ กับการไม่อ่านออกเสียงให้ลูกฟังเลยก็คือการเลิกอ่านเร็วเกินไป จากการสำรวจแห่งชาติเมื่อปี 2016 โดยสำนักพิมพ์สกอลาสติก ร้อยละ 87 ของเด็กอายุ 6-11 ขวบบอกว่าชอบและอยากให้พ่อแม่อ่านออกเสียงให้ฟังต่อไปเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายที่พ่อแม่หลายคนเลิกอ่านออกเสียงให้ลูกๆ ฟังไปเสียก่อน เพราะเห็นว่าเด็กๆ โตแล้ว หรือควรอ่านหนังสือเองได้แล้ว
เหล่าผู้เชี่ยวชาญระบุว่าทักษะการอ่านและการฟังจะเริ่มมาบรรจบกันตอนประมาณ ม.2 จนกว่าจะถึงตอนนั้น เด็กๆ มักจะมีทักษะการฟังสูงกว่าการอ่าน จึงฟังและเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนและน่าสนใจกว่าสิ่งที่พวกเขาอ่านได้เอง เราควรให้เด็กได้ฟังหนังสือที่อาจจะสูงกว่าระดับการอ่านของพวกเขาเอง เพื่อให้พวกเขารู้ว่ามีหนังสือสนุกๆ มากมายรอให้พวกเขาอ่านอยู่ และยังท้าทายความสามารถด้านการอ่าน เพิ่มพูนคลังคำศัพท์ให้พวกเขาได้ด้วย
สำหรับเด็กวัยรุ่น ช่วงเวลาอ่านออกเสียงคือนาทีทองที่พ่อแม่จะได้พูดคุยหัวข้อยากๆ กับลูกวัยรุ่นได้ การอ่านและพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นในหนังสือด้วยกันทำให้พ่อแม่และลูกมีโอกาสได้พูดคุยประเด็นต่างๆ ในบริบทของตัวละครโดยไม่มีการตัดสินและความกดดัน ทั้งยังได้เชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย