อ่าน ‘Teach Like Finland’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (5)

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]ตอนสุดท้ายของซีรีส์ อ่าน ‘Teach Like Finland’ ซึ่งขยายความและตีความเนื้อหาในแต่ละบทแต่ละตอนของหนังสือ Teach Like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ เพื่อจูงใจให้ครูไทยสมัยใหม่ได้ลองทำ ด้วยรู้อยู่ว่าในระบบราชการที่รัดรึงพวกเราอยู่ทุกวันนี้นั้นใครจะไม่ทำอะไรก็ไม่เป็นอะไร การอบรมต่างๆ จึงไร้ผลอยู่เสมอๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง หวังว่าการขยายความและตีความนี้จะช่วยให้ครูสมัยใหม่เข้าถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ได้มากขึ้นและมีแรงจูงใจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลง[/su_note]

 

ตอนที่ 5 กรอบคิด

 

ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างครูสหรัฐอเมริกากับครูฟินแลนด์คือเรื่องที่ครูสหรัฐฯ จำนวนมากขวนขวายที่จะเพิ่มวุฒิของตนเอง พวกเขาขยัน กระตือรือร้น และไม่อยู่นิ่ง พวกเขารักงานที่ทำและจ่ายเงินส่วนตัวเพื่อการนี้ อย่างไรก็ตามครูฟินแลนด์เป็นนักแก้ปัญหาชั้นเลิศ ครูทุกคนทำงานได้อย่างดีที่สุดแล้วพักผ่อนเมื่อถึงเวลาพักผ่อน ครูฟินแลนด์มิได้สนใจ ครูต้นแบบ (master teacher) มากเท่ากับในสหรัฐฯ และไม่ขวนขวายฝึกอบรมนั่นนี่เพื่อรับ ประกาศนียบัตรย่อย (microcredentials) มาประดับ

นักปราชญ์คนหนึ่งพูดว่าโลกมีคน 2 จำพวก พวกหนึ่งคือโลกขาดแคลนเราต้องสู้ อีกพวกหนึ่งคือโลกอุดมสมบูรณ์พอสำหรับทุกคน เด็กๆ เป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบหลังนี้ พวกเขาสนุกสนานและเบิกบานกับเรื่องตรงหน้าได้เสมอ ครูฟินแลนด์น่าจะเป็นแบบหลังนี้ด้วย

สี่บทที่ผ่านมาได้พูดถึง สุขภาวะ ความสัมพันธ์ที่ดี อิสระ และความเชี่ยวชาญ บทที่ห้านี้คือเรื่อง กรอบคิด (mindset)

 

1. แสวงหาภาวะลื่นไหล

 

ภาวะลื่นไหลคืออะไร ภาวะลื่นไหล (flow) หมายถึงสภาพจิตที่คนเราจดจ่อและดื่มด่ำกับงานตรงหน้าจนกระทั่งได้ปลดปล่อยศักยภาพที่ดีที่สุดออกมา ความข้อนี้ผมอ่าน ตีความ และเขียนเอาเอง หากต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อตีความเอาเองควรอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยตนเอง

ภาวะลื่นไหลแตกต่างจากการแข่งขัน ทิมยกตัวอย่างครูบอสตันที่ชอบติดผลงานนักเรียนของตัวเองไว้เต็มหน้าห้อง โถงทางเดิน และรุกล้ำบอร์ดคนอื่น เพียงเพื่ออวดว่านักเรียนของตัวเองมีผลงานมากกว่า วัฒนธรรมเช่นนี้เป็นเรื่องที่รบกวนภาวะลื่นไหลได้มากกว่าเสียงโทรศัพท์มือถือและเสียงพูดคุยจอแจ

ครูลดการแข่งขันลง นักเรียนลดการแข่งขันลง เพื่อเข้าสู่ภาวะลื่นไหลได้มากขึ้น

โดยส่วนตัวผมเรียกคำนี้ว่าสติ เป็นหลักการปกติของชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันหรือการทำงาน

ชีวิตประจำวันที่ยุ่งเหยิงและมีเรื่องเครียดเข้ามารบกวนได้ทุกวันนั้นเรากำจัดมันได้ด้วยการดึงความจดจ่อมาที่มือและเท้า มือกำอะไรอยู่ เท้าไหนกำลังย่างไปข้างหน้า เพียงชั่วครู่ที่โลกรอบข้างหายไป เราก็ทำงานตรงหน้าได้ดีที่สุดเท่าที่ปัจจุบันขณะจะอำนวย ชีวิตและงานจึงเป็นเรื่องเดียวกันเสมอ

คือภาวะลื่นไหล

 

2. หนังหนาเข้าไว้

 

ทิมใช้คำนี้ (ตามบทแปล) ซึ่งดูเหมือนจะสื่อความทางลบในวัฒนธรรมไทย ชวนให้คิดถึงคำว่า “หน้าด้าน” ซึ่งมิใช่เรื่องที่ทิมอยากจะบอก

ทิมเล่าเรื่องที่เขาพบปะผู้ปกครองแล้วถูกรุม เพื่อนครูฟินแลนด์ที่ยืนสังเกตการณ์อยู่ได้เข้ามาบอกทิมว่าเขาตามใจผู้ปกครองมากจนเกินไป ผู้ปกครองเป็นผู้เชี่ยวชาญที่บ้าน ครูคือผู้เชี่ยวชาญที่โรงเรียน เราเป็นวิชาชีพ เมื่อทำงานตามมาตรฐานแล้ว เราควรยืนหยัดความเป็นมืออาชีพ

ทิมเล่าว่าฟินแลนด์มีคำศัพท์หนึ่งคือ ซิสุ (sisu) หมายถึงความเด็ดเดี่ยว หรือความกล้าหาญที่ต้องเผชิญความยากลำบาก

ผมเรียกว่า integrity ซึ่งจนป่านนี้ยังหาคำแปลไทยที่เหมาะๆ มิได้ ในฐานะแพทย์เรามีจริยธรรมวิชาชีพกำกับ และการที่เราจะต้านความไม่ถูกต้องได้ก็ด้วย integrity เช่น มี integrity มากพอที่จะไม่รับสินน้ำใจจากบริษัทยาหรืออุปกรณ์การแพทย์เพื่อจ่ายยาหรือให้การรักษาเกินจำเป็นแก่ผู้ป่วย หรือปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเมื่อถูกสั่งให้จ่ายยาราคาถูกแก่ผู้ป่วยเพื่อประหยัดเงินโรงพยาบาล ทั้งที่รู้ว่าผู้ป่วยควรได้รับยาที่ดีกว่าแต่ว่าราคาแพงกว่า เป็นต้น

ตัวอย่างด้านครูที่ดุดันมีมากมาย ทั้งโรงเรียนในระบบราชการและโรงเรียนเอกชน ไม่ต่างจากโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนล้วนมีความไม่ถูกต้องในแบบของตนเอง ดังนั้นครูหรือหมอควรมี ซิสุ หรือ integrity  ไม่ว่าจะแปลว่าความเด็ดเดี่ยวหรือความกล้าหาญที่ต้องเผชิญความยากลำบากก็ตาม ทั้งนี้ในชีวิตจริงความเด็ดเดี่ยวมักนำมาซึ่งความยากลำบากในการใช้ชีวิตในองค์กรอยู่ก่อนแล้ว

ทิมยกตัวอย่างเรื่องหนักใจของครู เช่น ผู้ปกครองประท้วงเนื้อหาการสอน หรือประท้วงเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เป็นต้น โดยที่ครูทิมไม่พบความผิดปกติของสองเรื่องดังกล่าว ดังนั้นเขาต้องเด็ดเดี่ยวและเผชิญหน้าปัญหาอย่างกล้าหาญ

 

3. ร่วมมือกันบนโต๊ะกาแฟ

 

ทิมเคยสัมภาษณ์ครูฟินแลนด์ว่าเพราะอะไรครูฟินแลนด์ถึงเบิกบานได้ตลอดเวลา คำตอบคือพวกเขาร่วมมือกันทำงาน ความร่วมมือกันนี้เป็นการร่วมมือกันทุกขั้นตอนโดยไม่มีข้อยกเว้น และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในห้องพักครูชั่วโมงละ 15 นาทีระหว่างจิบกาแฟ

การร่วมมือกันนี้เกิดได้เมื่อทุกคนรู้สึกถึงความเป็นพวกเรา และควรร่วมมือกันด้วยการพบหน้ากันมากกว่าใช้เครื่องมือไอทีคุยกัน ครูทิมได้ยกคำพูดที่น่าตื่นเต้นคือ

“เมื่อคุณให้ทรัพยากรแก่คุณครู พวกเขาจะหาทางแก้ปัญหากันได้เอง” เป็นคำพูดจากเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ

วัฒนธรรมบ้านเรา ส่วนกลางมักไม่เชื่อใจ (trust) ส่วนท้องถิ่น หน่วยเหนือไม่ไว้ใจหน่วยงาน อย่างน้อยก็ไม่ไว้ใจมากพอที่จะให้ทรัพยากรที่พอเพียง เราติดกับดักการให้นโยบายและคำสั่งโดยไม่มีทรัพยากรตามมาให้ใช้อย่างอิสระ เราจึงสร้างสรรค์งานได้ลำบาก ได้แต่ทำงานแบบปลอดภัยตามๆ กันไป

นอกเหนือจากนี้คือเรามิได้ทำงานเป็นทีมมากพอ

 

4. เชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญ

 

เวลาพูดถึงผู้เชี่ยวชาญ เรามักคิดถึงผู้เชี่ยวชาญที่เรียกว่า experts จากภายนอก แต่ทิมเล่าเรื่องผู้เชี่ยวชาญในโรงเรียนและรอบตัวโรงเรียนเอง

เป็นเรื่องปกติที่ครูฟินแลนด์จะตอบรับคำเชิญของครูอีกคนหนึ่งเพื่อไปช่วยสอนบทเรียนหนึ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ การข้ามห้วยเช่นนี้ทำได้ทั้งในระดับชั้นเดียวกันหรือข้ามชั้นไปหลายชั้นก็มี นอกเหนือจากการเชิญครูแล้วการยกนักเรียนของเราทั้งห้องไปเรียนร่วมกับห้องอื่นก็ทำได้ ทั้งในสายชั้นเดียวกันหรือข้ามชั้นปีก็ทำได้ ระหว่างเด็กเล็ก-เด็กโตก็มิใช่ข้อห้าม

อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ปกครอง การเชิญผู้ปกครองอาชีพต่างๆ มาช่วยสอนหรือจัดบทเรียนเป็นเรื่องทำได้ หรือแม้กระทั่งหากรู้ว่ามีนักเรียนคนหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็สามารถเชิญนักเรียนคนนั้นมาช่วยงานได้  พูดง่ายๆ ว่าผู้เชี่ยวชาญของครูฟินแลนด์มีรอบตัว

ในความเป็นจริงแล้วทุกคนคือผู้เชี่ยวชาญ เมื่อนึกถึงบ้านเราแล้ว รวมทั้งโรงเรียนในชนบท เรามีผู้เชี่ยวชาญมากมายทุกอาชีพทุกครัวเรือน เราไม่เคยใช้ประโยชน์จากพวกเขาเลยเพราะสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญนั้นไม่ปรากฏในหลักสูตรและการสอบเท่านั้นเอง

 

5. พักผ่อนในวันหยุดพักผ่อน

 

ทิมเล่าว่าเขาตามหาครูใหญ่ไม่พบในวันปิดภาคฤดูร้อน ครูใหญ่ได้ฝากงานครูคนหนึ่งเอาไว้หากมีเรื่องอะไรก็ขอปรึกษาได้ แต่ทิมหาครูคนนั้นไม่พบเช่นเดียวกัน

ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ครูฟินแลนด์จะพักร้อนกันจริงจังและไม่ทำงาน พวกเขาจะกลับมาอีกครั้งก่อนถึงวันเปิดเทอมไม่นานนัก เวลาพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ

ทิมยกงานวิจัยเรื่องความสุข ที่น่าพูดถึงคืองานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการไม่บังคับให้พนักงานต้องตรวจอีเมลและตอบทันทีนั้นช่วยให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ทำงานเสร็จมากขึ้น และความเครียดลดลง

ช่างแตกต่างจากที่ได้ยินเสมอว่าเจ้านายบ้านเราบางคนใช้ไลน์สั่งงานและตามงานเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่คำนึงถึงเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดพักผ่อนเลย

 

6. อย่าลืมความเบิกบาน

 

หนังสือนี้จบลงด้วยตอนที่ 6 ของบทที่ 5 โดยไม่มีบทปิดท้ายอีก และตอนที่ 6 นี้ก็สั้นมาก ทิมเขียนทิ้งท้ายด้วยงานวิจัยบางชิ้นและสรุปว่า

กุญแจสำคัญของหนังสือทั้งเล่มนี้คือ “ความเบิกบาน”

 

 

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ผมไม่สงสัยอีกแล้วว่าเพราะอะไรคณะดูงานจากบ้านเราไปฟินแลนด์กลับมาจึงไม่ค่อยจะได้อะไรกลับมาเท่าไรนัก สมมติว่าอะไรที่ทิมเขียนเป็นเรื่องจริงและเป็นปัจจัยความสำเร็จของการศึกษาฟินแลนด์ เราน่าจะพบแล้วว่าข้อคิดหรือข้อสังเกตของทิมต่อการศึกษาฟินแลนด์ 33 ตอนนี้ไม่มีอะไรที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าง่ายๆ หรือจับต้องได้ด้วยมือเลย

นอกจากนี้หากจะนำทั้งหมดนี้มาปฏิบัติในบ้านเรา ซึ่งผมยืนยันเสมอและยืนยันต่อไปว่าโรงเรียนของเราในชนบทมีทรัพยากรรอบโรงเรียนเหลือเฟือที่จะสร้างโรงเรียนทางเลือกราคาไม่แพงเพื่อชาวบ้านและประชาชน แต่ที่เราทำไม่ได้คือวัฒนธรรมและอำนาจส่วนกลาง

“เมื่อคุณให้ทรัพยากรแก่คุณครู พวกเขาจะหาทางแก้ปัญหากันได้เอง” เราไม่มีทัศนคติแบบนี้ในระบบราชการ ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยราชการแทบทุกหน่วยทำงานเพื่อรับใช้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยเหนือในส่วนกลาง ความเป็นจริงก็คือเรามิได้ตื่นเช้ามาเพื่อรับใช้ชาวบ้านและประชาชนเท่าไรนัก

ถ้าจะให้ผมเองสรุปอะไรสักประโยคเกี่ยวกับหนังสือของครูทิมเล่มนี้ น่าจะเป็น

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่”