อ่าน ‘Teach Like Finland’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (4)

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

[su_note note_color=”#fdfde5″]ข้อเขียน 5 ตอนจบต่อไปนี้จะขยายความและตีความเนื้อหาในแต่ละบทแต่ละตอนของหนังสือ Teach Like Finland: สอนฟิน เรียนสนุก สไตล์ฟินแลนด์ เพื่อจูงใจให้ครูไทยสมัยใหม่ได้ลองทำ ด้วยรู้อยู่ว่าในระบบราชการที่รัดรึงพวกเราอยู่ทุกวันนี้นั้นใครจะไม่ทำอะไรก็ไม่เป็นอะไร การอบรมต่างๆ จึงไร้ผลอยู่เสมอๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง หวังว่าการขยายความและตีความนี้จะช่วยให้ครูสมัยใหม่เข้าถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ได้มากขึ้นและมีแรงจูงใจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลง[/su_note]

 

บทที่ 4 ความเชี่ยวชาญ

 

บทนี้เริ่มด้วยข่าวผลสอบ PISA ปี 2001 เมื่อฟินแลนด์ทำคะแนนสูงสุดในหมวดการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ชนะญี่ปุ่น เกาหลี และฮ่องกง แล้วยังคงทำคะแนนสูงสุดอีกในปี 2003 และ 2006 โดยที่การศึกษาฟินแลนด์มีการบ้านน้อยมาก อีกทั้งไม่มีการกวดวิชามากมายอย่างประเทศในเอเซีย

ปัจจัยสำคัญคือความเบิกบาน และความรู้สึกว่าตนเองทำได้ ซึ่งเด็กชาวฟินแลนด์จะเป็นเช่นนี้เหมือนๆ กันไม่ว่าฐานะที่บ้านจะเป็นอย่างไรหรืออยู่ในโรงเรียน ณ ส่วนใดของประเทศ ต่อไปนี้คือปัจจัยอีก 7 ข้อ

 

1. สอนแก่นสาระสำคัญ

 

ทิมเริ่มด้วยความหลงใหลในการเรียนการสอนแบบใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน ที่เรียกว่า problem-based learning หรือ PBL ว่านี่คือการเรียนรู้แบบสหสาขาวิชาที่คำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน โดยที่ยังคงเป้าหมายการอ่านและการเขียนเอาไว้ และคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของโครงงาน ด้วยความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมที่เป็นเลิศ ด้วยคุณลักษณะเหล่านี้เองที่นักเรียนจะกระตือรือร้นและทำงานสุดความสามารถ

ทิมเล่าเรื่องเขาใช้เวลามากมายไปในการจัดทำแผนการเรียนรู้เรื่องกีฬาโอลิมปิก เขาทั้งเชิญนักกีฬาตัวจริงมาพูด เปิดบล็อกให้นักเรียนเขียน และวางแผนเรียนรู้ประวัติศาสตร์พันปีของโอลิมปิก แต่แล้วเขาพบว่านี่มิใช่เรื่องสำคัญเลย และมิใช่เรื่องสำคัญของฟินแลนด์อย่างที่ร่ำลือกันด้วย

นอกจาก PBL จะมิใช่เรื่องสำคัญที่สุดแล้ว ทิมเล่าว่าครูฟินแลนด์ยังใช้แบบเรียนในการสอนหนังสืออย่างที่ทุกคนคุ้นเคย แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือพวกเขาบริหารเวลาดีมาก เป็นความจริงว่าครูแต่ละคนมีชั่วโมงสอนน้อยและมีเวลาว่างมาก แต่พวกเขาสามารถคัดแก่นสาระสำคัญในการสอนภายใต้เวลาที่จำกัด พวกเขาเอาเวลาเป็นตัวตั้ง มิใช่เอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง

เรื่องที่ทิมเล่าในตอนที่ 1 ของบทที่ 4 นี้ชวนให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่าครูฟินแลนด์เก่งมาจากไหน และทำได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือแก่นสาระสำคัญ และรู้ได้อย่างไรว่านักเรียนได้สิ่งที่ควรได้ในเวลาอันจำกัด เพื่อทำความกระจ่างเรื่องนี้เราอ่านตอนที่ 2 ต่อ

 

2. สกัดคุณค่าจากตำราเรียน

 

แต่ตอนที่ 2 ของบทนี้ก็มิได้ให้ความกระจ่างแก่เรา นอกจากไม่ได้ให้แล้วยังทำให้สงสัยมากขึ้นว่าครูฟินแลนด์ทำอย่างไรกันแน่

บทนี้ทิมเล่าเรื่องตำราเชิงพาณิชย์ซึ่งค่อนข้างเป็นที่รังเกียจของครูในสหรัฐอเมริกา ทิมมิได้ลงรายละเอียดว่าตำราเชิงพาณิชย์ที่เขาเรียกเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นพวกตำราที่สรุปเนื้อหาอย่างกระชับ สั้น อ่านจบรวดเร็ว รู้ได้อย่างเร่งรัด หากเป็นบ้านเราก็น่าจะเป็นหนังสือคู่มือครู และคู่มือวิชาต่างๆ ทิมเล่าด้วยว่าหนังสือกลุ่มนี้ผลิตจากบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจด้านนี้ และครูชาวฟินแลนด์ชอบใช้เป็นอันมาก

ครูชาวฟินแลนด์ไม่ต่อต้านคู่มือเหล่านี้ พวกเขาชอบและใช้เป็นประโยชน์ด้วยการสกัดคุณค่าจากตำราเรียนมาออกแบบกิจกรรม ทิมยกตัวอย่างกิจกรรมทางคณิตศาสตร์ แล้วตอกย้ำว่าใช้ได้กับวิชาประวัติศาสตร์ด้วย กล่าวโดยย่อคือคู่มือเหล่านี้ช่วยให้ครูชาวฟินแลนด์สอนทันเวลาอย่างมีคุณค่า

อย่างไรก็ตามทิมมิได้ขยายความให้ชัดเจนไปมากกว่ากิจกรรมทางคณิตศาสตร์ ดังนั้นสำหรับครูในประเทศที่ไม่เคยเห็นการเรียนการสอนที่ฟินแลนด์กับตาก็เป็นที่เชื่อได้ว่านึกภาพไม่ออกอยู่ดี ดังนั้นอ่านต่อไป

 

3. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

 

แทนที่ทิมจะคลายข้อสงสัยให้นักอ่านจากประเทศโลกที่สามเช่นผมซึ่งเป็นผู้เขียนบทความนี้ เขากลับพาเราฉีกออกไปที่เรื่องของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการเรียนการสอน

ทิมเล่าว่าในสหรัฐอเมริกา แต่ละโรงเรียนมีเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ 25 เครื่องซึ่งจะได้รับการเปลี่ยนทุก 2-3 ปีและมีครูคอมพิวเตอร์ 2-3 คนคอยดูแลระบบ เขาคาดว่าเมื่อตนเองย้ายมาสอนที่ฟินแลนด์เขาจะพบห้องปฏิบัติการไอทีที่น่าตื่นตาตื่นใจ

แต่ที่เขาพบคือแต่ละโรงเรียนในฟินแลนด์มีโน้ตบุ๊กหรือเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าๆ ที่น่าจะใกล้โละทิ้งจำนวนหนึ่ง และที่กระดานมีรายการบันทึกว่าเครื่องไหนมีอะไรเสียหรือกำลังส่งซ่อมอะไรบ้าง และเมื่อไปดูในแต่ละชั่วโมงเรียนหรือวิชาที่เรียน  ครูกับนักเรียนชาวฟินแลนด์ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากมายอะไร ที่เห็นใช้บ่อยมีเพียงเครื่องฉายภาพสามมิติ พ้นจากนี้เป็นครูแต่ละคนที่จะสรรหาเทคโนโลยีมาช่วยเหลือการเรียนการสอนตามความจำเป็นเป็นครั้งๆ

เทคโนโลยีเป็นผู้ช่วย มิใช่ผู้นำ

ทิมอ้างงานวิจัยของ OECD เมื่อปี 2015 ว่าเด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์ในห้องเรียนมากกว่ามีทักษะดิจิทัลแย่กว่า ทั้งนี้โดยควบคุมตัวแปรด้านประชากรและภูมิหลังทางสังคมเอาไว้แล้ว

แม้ว่าตอนที่ 3 นี้ทิมมิได้เฉลยอะไรอีกเช่นเคย และตอกย้ำความเป็นธรรมดาของการเรียนการสอนในฟินแลนด์แต่ดูเหมือนนักอ่านน่าจะเริ่มจับประเด็นได้แล้วว่าหัวใจของการศึกษามิใช่อะไรภายนอกตัวนักเรียนเลย เรื่องทั้งหมดเริ่มจากภายใน และเท่าที่ทิมเขียนมา 3 บท 21 ตอน คำสำคัญยังคงเป็นคำว่าเบิกบานที่จะเรียนรู้

เบิกบานที่จะเรียนรู้ เท่านี้เองจริงๆ หรือ  

 

4. นำดนตรีเข้ามาใช้

 

แล้วทิมจึงเริ่มเฉลยให้เราฟังในตอนที่ 4 แม้ว่าคำเฉลยของเขาจะไม่ตรงกับที่คาดหวังก็ตาม เรานึกว่าจะได้รู้เคล็ดลับว่าครูฟินแลนด์บริหารเวลาสอนหนังสือที่มีอยู่น้อยได้อย่างไร สกัดแก่นสารได้อย่างไร สกัดคุณค่าจากคู่มือได้อย่างไร ใช้เทคโนโลยีไอทีอย่างไร ปรากฏว่าไม่มีคำตอบกับความอยากรู้ของเราเลย ทิมเล่าเรื่องดนตรีแทน

ทิมพบกลองชุดหลังห้องเรียนห้องหนึ่ง และพบเครื่องดนตรีในห้องอื่นๆ แล้วแต่ว่าครูคนใดจะหยิบชิ้นใดไปใช้ประโยชน์ ทิมเล่าเรื่องห้องดนตรีใหญ่ที่มีอุปกรณ์ดนตรีให้หยิบยืม และเล่าเรื่องชั่วโมงดนตรีของประถมห้าที่มีสัปดาห์ละ 3 คาบเท่ากับคณิตศาสตร์

ดนตรีเท่าคณิตศาสตร์ “เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่”

ทิมอ้างงานวิจัยเช่นเคย และมีชิ้นหนึ่งที่กล่าวว่าดนตรีช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น ดนตรีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ลดช่องว่างความสามารถในการเรียนรู้ระหว่างเด็กรวยและเด็กจน

เขียนถึงตรงนี้ ขอแทรกความคิดเห็นไว้ 2 ข้อ

ข้อแรก ทำไมข้าราชการและผู้ทำงานด้านการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ที่ไปดูงานฟินแลนด์มิได้อะไรกลับมา หรืออาจจะได้กลับมาแต่ไม่ส่งผลอะไรต่อการเปลี่ยนแปลง สมมติฐานคือพวกเขามิได้ไปดูกลองชุดที่หลังห้อง

กล่าวคือพวกเขาตั้งใจไปหาเคล็ดลับความสำเร็จด้านการสอนและการสกัดเนื้อหาที่เป็นเลิศ พวกเขาไปดู PBL สำเร็จรูปซึ่งเป็น best practice แต่พวกเขาไม่รู้ว่าปัจจัยที่แท้อยู่ตรงอื่น เช่น กลองชุดที่หลังห้อง และต่อให้มองเห็นกลองชุดหรือกีตาร์คลาสสิกสักตัวในห้องเรียนประวัติศาสตร์ พวกเขาก็ไม่เฉลียวใจว่ากำลังดูอะไร

ข้อสอง คือเราไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมกันตั้งแต่แรก เราจึงมิได้ดูดนตรีที่แทรกอยู่ในบทเรียนไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็ตาม เรามิได้คิดว่าการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กรวยซึ่งมีฐานสนับสนุนดีกว่ากับเด็กจนซึ่งมีฐานสนับสนุนแย่จะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำก่อน เมื่อไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมเสียแล้วถึงไปฟินแลนด์กี่ครั้งก็มองไม่เห็น นั่นนำมาสู่สิ่งที่ผมพูดเสมอคือโรงเรียนบ้านนอกบ้านเรามีทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งเรียนรู้รอบตัวมากมายกว่าโรงเรียนทางเลือกราคาแพงในกรุงเทพฯ หลายพันเท่า หากเราจะใช้ทรัพยากรเหล่านี้ลดความเหลื่อมล้ำ เราทำได้ในเร็ววันโดยไม่ต้องไปดูงานให้เสียเงินและเวลา

ทิมเล่าว่าสำหรับบางห้องเรียน เครื่องเล่นเทปสักชุดก็เพียงพอแล้ว

เข้าถึงความเบิกบานและประโยชน์เชิงวิชาการของการผสมผสานดนตรีเข้าสู่ห้องเรียน

ทิมปิดตอนที่ 4 ด้วยประโยคนี้ คือความเบิกบาน

 

5. โค้ชให้มากขึ้น

 

เรียนรู้จากการลงมือทำ” และ “ฝึกฝนในโลกแห่งความเป็นจริง” คือสองย่อหน้าแรกของตอนนี้

ทิมเริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างงานไม้และคหกรรมศาสตร์ที่นักเรียนสนุกสนานกับการทำงานโดยมีครูทำหน้าที่โค้ชเดินพูดคุยกับนักเรียนเป็นรายกลุ่มหรือรายบุคคล

โค้ชมิได้มีหน้าที่เอาแต่ชมเชยแม้ว่าการชมเชยเป็นส่วนสำคัญ แต่โค้ชที่ดีควรมีความสามารถที่จะชี้จุดอ่อนและให้ข้อเสนอแนะที่จำเพาะเจาะจง มองในแง่นี้โค้ชจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานที่ตัวเองโค้ชระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามทิมได้เล่าต่อไปถึงการแบ่งกลุ่มทำงานที่กำหนดเป้าหมายของงานที่ชัดเจนให้แก่นักเรียน ปัจจัยสำคัญที่ควรทราบคือเป้าหมายของงานนั้นชัด และนักเรียนมีเสรีภาพที่จะทำ ระหว่างทางจากเป้าหมายที่ชัดไปสู่ผลงานที่ดีเลิศนั้นกลายเป็นหน้าที่ของนักเรียนล้วนๆ

“มีเสรีภาพ” แปลว่าอะไร แปลว่านักเรียนนั่นเองที่ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายย่อยและแจกแจงกระบวนการ มิใช่ครู

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ทิมเล่าเรื่องบทเรียนหนึ่ง ครูแจกสุนทรพจน์ที่ดีเลิศให้นักเรียน แล้วให้นักเรียนร่างสุนทรพจน์ที่ดีเลิศตามหัวข้อที่ได้กลับมาส่ง กระบวนการนี้แปลว่าอะไร แปลว่านักเรียนนั่นเองที่จะต้องทำหน้าที่อ่านสุนทรพจน์ที่ดีเลิศแล้วแยกแยะ แจกแจง ทำความเข้าใจ วางกระบวนการเขียน แล้วรวบยอดความคิดขึ้นมาเขียนใหม่ เป็นสุนทรพจน์ใหม่

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่”

จะเห็นว่านักเรียนฟินแลนด์ทำได้เพราะพวกเขามีเสรีภาพและความเบิกบาน (ที่ได้จากทุกชั่วโมงเรียน) เป็นพื้นฐาน พวกเขาจึงสามารถทำงานในลักษณะนี้ได้ นั่นคือแตกโจทย์เอง กำหนดวิธีทำงานเอง แล้วลงมือทำเอง โดยมีโค้ชเป็นผู้ช่วยเหลือ มิใช่ผู้สั่งการหรือแม้กระทั่งเป็นผู้บอกบท

ครูฟินแลนด์ไม่แจกชี้ตวิธีเขียนสุนทรพจน์ที่ดีให้อ่าน

“นักเรียนที่ดิ้นรนเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเองแสดงให้เห็นว่ามีแรงจูงใจเพิ่มขึ้น เรียนรู้มากขึ้น และมีทักษะทางอภิปัญญา” คือประโยคสุดท้ายของตอนนี้

 

6. พิสูจน์ว่าเรียนรู้

 

หากคิดว่าตอนที่ 5 ทิมพาเราออกทะเลไปกันใหญ่แล้ว คราวนี้มาอ่านบทที่ 6

ฟินแลนด์เป็นที่เลื่องลือว่าไม่มีการสอบมาตรฐาน ซึ่งไม่จริง ฟินแลนด์มีการสอบและการประเมิน มีการตัดเกรดด้วย อย่างไรก็ตามการประเมินนั้นได้เปลี่ยนจากการประเมินแบบตัวเลขมาเป็นการประเมินด้วยการบรรยายมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2016

จุดเด่นของการประเมินแบบฟินแลนด์คือ นักเรียนจะต้องบอกได้ว่าตนเองเรียนรู้อะไร แล้วพิสูจน์พร้อมด้วยหลักฐานว่าตนเองได้เรียนรู้อะไร

ความข้อนี้จึงขึ้นกับความสามารถของครูฟินแลนด์จริงๆ จะตั้งคำถามปลายเปิดอะไรที่ทำให้นักเรียนได้แสดงความสามารถของตนเองตามกรอบที่ว่ามา คือตนเองเรียนรู้อะไร พิสูจน์ด้วยว่าได้เรียนรู้แล้ว และมีหลักฐานอะไรสนับสนุน

มีตัวอย่างคำถามมากมายให้เราทดลองเลือกใช้ แต่ลองดูคำถามนี้

ให้นักเรียนยกตัวอย่างความขัดแย้งเชิงประชาธิปไตย (democratic dilemma) โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ แล้วอธิบายว่าเพราะอะไรจึงเป็นความขัดแย้งเชิงประชาธิปไตย

หากคิดว่านี่เป็นการประเมินนักศึกษามหาวิทยาลัยคณะรัฐศาสตร์ หรือสำหรับเนติบริกรรัฐบาล พวกเราเข้าใจผิดแล้ว นี่เป็นคำถามสำหรับเด็กประถมหกประเทศฟินแลนด์

 

7. คุยกันเรื่องเกรด

 

ทิมเล่าเรื่องชั่วโมงคณิตศาสตร์ในฟินแลนด์ นักเรียนต่างคนต่างทำงานโดยมีครูเดินพูดคุยวนไป เมื่อทิมเข้าไปดูว่านักเรียนทำอะไร นักเรียนแสดงให้ดูว่าพวกเขาได้รับแผ่นกระดาษสรุปแนวคิดทางคณิตศาสตร์จากง่ายไปยาก โดยมีแบบฝึกหัดให้ทำหลังแนวคิดแต่ละขั้น พร้อมกับวิธีให้เกรดตัวเองเสร็จสรรพ

ทิมพบว่ามีเด็กสองคนดู YouTube แทนที่จะทำงานแต่ครูก็ไม่ว่า เด็กสองคนนั้นไม่มีท่าทีต้องหลบซ่อนด้วย พวกเขาบอกทิมว่าพวกเขายังไม่อยากทำแต่พวกเขาจะส่งทันเวลาแน่ ทิมเขียนต่อไปว่าหากเขาทำส่งไม่ทันเวลาก็จะมีผลติดตามมาซึ่งเด็กทุกคนรู้ดี  ผลติดตามมานั้นมิใช่การทำโทษแต่คือผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่องานชิ้นอื่นๆ

เมื่อถึงปลายภาคครูเรียกเด็กมาพบทีละคนแล้วให้เด็กให้เกรดตนเองก่อน จากนั้นจึงพูดคุยกัน ครูฟินแลนด์บอกว่านักเรียนให้เกรดตนเองอย่างเหมาะสมเป็นส่วนใหญ่ ความสำคัญมิได้อยู่ที่ตัวเลขแต่อยู่ที่การพูดคุยกันก่อนที่จะตกลงตัวเลขเกรดร่วมกัน

ครูฟินแลนด์บางคนใช้วิธีคุยกับนักเรียนก่อนการออกสมุดพก คุยเรื่องเกรดที่นักเรียนจะได้รับ แล้วรับฟังความคิดเห็น ให้โอกาสเด็กประเมินตนเอง ทิมพบว่าเกรดมิใช่เรื่องน่ากลัวและน่ารังเกียจเหมือนที่สหรัฐอมริกา

ผมอยากจะเติมว่า ฟินแลนด์ทำได้มิใช่เพราะนักเรียนเคารพครู แต่เพราะความไว้ใจ (trust) ซึ่งกันและกัน

หากจะให้สรุปสั้นที่สุดสำหรับบทที่ 4 นี้ก็คือ 3 ตอนแรก ไม่เห็นทิมจะบอกอะไรเราเลย ตอนที่ 4 เราเริ่มเห็นแสงสว่าง แล้วพอถึงตอนที่ 5-7 จึงพบว่าเรื่องทั้งหมดนี้บ้ามาก

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่”