อ่าน ‘Teach Like Finland’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (3)

เรื่อง: นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

บทที่ 1 และ บทที่ 2 ผ่านไปแล้ว คงพบแล้วว่าฟินแลนด์มิได้มีนวัตกรรมมหัศจรรย์ ข้อแนะนำอะไรที่ทิมให้แก่ผู้อ่านเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้

หากจะทำไม่ได้ก็ด้วยสาเหตุว่าไม่ทำมากกว่าอย่างอื่น หรือติดขัดปัญหาทางวัฒนธรรมหลากหลายประการ เมื่อมาถึงบทที่ 3 “อิสระ” จะเห็นว่าเป็นปัญหามากที่สุดของบ้านเรา

อิสระ เป็นคำที่บาดหูสำหรับวัฒนธรรมการศึกษา เราไม่สามารถให้นักเรียนเป็นอิสระได้ หลายบ้านก็ไม่สามารถปล่อยลูกเป็นอิสระได้ด้วย

ทิมอารัมภบทด้วยเรื่องวิธีกลับบ้านหลังเลิกเรียน ขณะที่ครูโรงเรียนประถมในสหรัฐอเมริกาต้องพาเด็กๆ ไปส่งผู้ปกครองซึ่งนำรถมารับถึงหน้าประตูโรงเรียน เด็กๆ ที่ฟินแลนด์เก็บกระเป๋าแล้วเดินไปหน้าประตูกันเองและส่วนใหญ่กลับบ้านเอง ด้วยรถไฟ รถราง รถเมล์ หรือเดิน เมื่อถึงบ้านแล้วจะทำการบ้าน หาของว่างกินด้วยตนเอง เพราะพ่อแม่ยังไม่กลับจากที่ทำงาน

“ไม่เห็นจะแปลกเลย ผมทำแบบนี้ตั้งแต่อนุบาล” เด็กคนหนึ่งว่า

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่” ทิมรำพึง

ทิมเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า “ความเป็นอิสระ” กับ “ความรับผิดชอบ” และ “ความเบิกบาน” ในขณะที่การศึกษาของเราไม่เห็นความสัมพันธ์นี้ เรามักจับคู่ความอิสระกับเรื่องอื่นๆ เช่น ดื้อ หัวแข็ง ไม่มีระเบียบวินัย เป็นต้น

ตัวอย่างเรื่องเด็กเดินทางกลับบ้านเองคงไม่สามารถเกิดขึ้นในบ้านเราอีกแล้ว เพราะการจราจรที่ไม่ปลอดภัย มิจฉาชีพที่แฝงตัวทุกหนแห่ง แต่เรื่องเด็กทำการบ้านเองโดยไม่ต้องบอก และค้นหาของกินเองโดยไม่ต้องสั่ง เพียงสองเรื่องนี้ก็น่าตื่นเต้นแล้ว

เราทำความสามารถของเด็กไทยหล่นหายไปตั้งแต่เมื่อไร

 

1. เริ่มต้นด้วยเสรีภาพ

 

ทิมยกตัวอย่างเรื่องนี้กับเด็กประถมห้าซึ่งโตพอสมควรแล้ว ตัวอย่างแรกคือเรื่องนักเรียนเสนอตัวว่าจะทำขนมขายเพื่อหาทุนทำค่าย ทิมปล่อยนักเรียนทำโดยไม่เข้าไปก้าวก่ายเลยแล้วพบว่านักเรียนทำกันเองได้จริงๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ

ตัวอย่างที่สองเป็นเรื่องสัปดาห์อิสระ ครูฟินแลนด์เพียงกำหนดงานที่นักเรียนต้องทำจากนั้นปล่อยนักเรียนทำกันเอง ไม่เดินป้วนเปี้ยนชะโงกดูด้วยซ้ำไปว่านักเรียนทำถึงไหน ทิมเล่าว่านักเรียนอาจจะหมดไป 15 ชั่วโมงแรกกับการพูดคุยเตรียมการ แต่หลังจากนั้นพวกเขาทำงานเสร็จพร้อมส่งทันเวลาหรือเลยเวลาเล็กน้อย

ตัวอย่างที่สามคือเรื่องนักเรียนเสนอที่จะใช้เว็บ Kahoot! ในการเรียนการสอน เว็บนี้ให้นักเรียนออกแบบคำถามเองแล้วตอบเองโดยมีการจัดลำดับคะแนนให้ในที่เปิดเผยด้วย นั่นทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมขึ้น ไม่น่าเชื่อว่านักเรียนฟินแลนด์ถูกปลูกฝังให้ระวังการจัดอันดับการศึกษาในขณะที่บ้านเราขึ้นป้ายเด็กเรียนเก่งหน้าโรงเรียน

ทิมจึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ชั่วโมงจริยธรรมที่ซึ่งฟินแลนด์ใช้แทนชั่วโมงศาสนา นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่การศึกษาเมืองพุทธควรหยุดคิดว่าเราจะให้ความสำคัญหรือไม่ให้ความสำคัญแก่ทุกศาสนาอย่างทั่วถึงได้อย่างไร

ทิมพบว่านักเรียนช่วยกันออกแบบคำถาม และช่วยกันตอบคำถามทางจริยธรรมอย่างเบิกบาน (ซึ่งเดาได้ว่าไม่มีอะไรที่ถูกต้องสัมบูรณ์ จริยธรรมเป็นเรื่องของการตัดสินใจบนความขัดแย้งเสมอ)

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่” ผมพูดเอง

 

2. เว้นช่องว่าง

 

ตั้งแต่บทที่ 1 และ 2 จนกระทั่งถึงจุดนี้ นี่อาจจะเป็นบทแรกที่ครูฟินแลนด์รวมทั้งทิมต้องใช้ความสามารถพิเศษของครูอย่างจริงจัง

ต่อเนื่องจากบทที่ 1 เรื่องการให้เสรีภาพ ทิมพบว่าในที่สุดแล้วจะมีเด็กบางคนทำงานได้ช้ากว่า อาจจะเป็นเพราะเริ่มต้นได้ช้า หรือว่อกแว่กง่าย

โดยทั่วไปทิมให้เวลาอิสระก่อนเริ่มทำงานเสมอ เขาพบว่าเด็กบางคนเตรียมอุปกรณ์นาน นี่เป็นเวลาที่ทิมจะเดินตรวจเพื่อช่วยเหลือให้ทุกคนพร้อมเริ่มงานก่อนปล่อยอิสระ ในขณะที่เด็กบางคนเอาแต่ฟังเอ็มพี 3 เพลินจนไม่ได้งาน (ครูฟินแลนด์อนุญาตให้ฟังเพลงระหว่างทำงานได้) การจัดการเด็กบางคนนั้นใช้วิธีที่เรียกว่า “เว้นช่องว่าง”

เว้นช่องว่างมีความหมายง่ายๆ เพียงว่าการเรียนการสอนของฟินแลนด์ทำไว้หลวมๆ ในแต่ละวันอยู่แล้วเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กบางคนมาขอปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือ แต่ครูก็มีหน้าที่คอยประเมินว่าเด็กคนใดสมควรได้รับการปรึกษาหรือให้ความช่วยเหลือพิเศษด้วย วิธีจัดการเรื่องนี้ครูทิมทำกับเด็กทุกคนโดยไม่เปิดโอกาสให้เกิดการเปรียบเทียบว่าใครต้องการความช่วยเหลือพิเศษ

มีเทคนิคหนึ่งที่ทิมทำคือเทคนิค “ทำเดี๋ยวนี้” ทิมจะประเมินเด็กแต่ละคนไว้ก่อนแล้วว่าเขาควรจุดไฟเด็กแต่ละคนในตอนเช้าของแต่ละวันอย่างไร จากนั้นเขาจะเขียนงานที่เด็กคนนั้นควรทำทันทีลงกระดาษใบเล็กๆ ไปวางไว้ในตำแหน่งที่เด็กคนนั้นจะเห็นเป็นอย่างแรกเมื่อมาถึงห้องเรียนแล้ว “ทำเดี๋ยวนี้”  ด้วยวิธีนี้มีรายงานว่าสามารถช่วยเหลือเด็กเป็นรายบุคคลให้สานต่อการเรียนรู้ในแต่ละวันได้ดี

 

3. ให้ทางเลือก

 

ทิมพบว่าเริ่มต้นด้วยเสรีภาพยังไม่พอ การให้โจทย์เด็กทุกคนเหมือนๆ กันแล้วปล่อยอิสระในการทำงานนั้นได้ผลดีและเด็กทุกคนทำได้ แต่นั่นยังไม่เพียงพอ ในฟินแลนด์มีชั่วโมงที่เด็กๆ จะได้ประเมินกิจกรรมที่ผ่านไปด้วย นักเรียนหลายคนของทิมบอกว่างานที่ครูทิมมอบให้นั้นน่าเบื่อ

แม้ว่าน่าเบื่อ แต่พวกเขาก็ทำจนเสร็จ โดยไม่ต้องถูกบังคับ ว่าที่จริงเพียงเท่านี้ก็น่าจะมหัศจรรย์ในบ้านเราได้แล้ว แต่ฟินแลนด์ยังไม่พอใจเท่านี้

ทิมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนครูด้วยกันว่าครูมีหน้าที่ค้นหาความสนใจของเด็กก่อน แล้วจึงค้นหาทางเชื่อมระหว่างความสนใจของเด็กกับหลักสูตร ส่วนนี้มิใช่ปัญหาทางวัฒนธรรมของบ้านเราอีกต่อไปแล้ว แต่เริ่มมีเรื่องความสามารถของครูเข้ามาด้วย ฟินแลนด์จึงมีชั่วโมงแรกๆ ของทุกบทเรียนให้ครูได้สำรวจความสนใจของนักเรียน

หากพบว่านักเรียนสนใจเรื่อง “แองกรี้เบิร์ด” ครูมีหน้าที่เชื่อมแองกรี้เบิร์ดเข้ากับหลักสูตร แล้วทำให้ความสนใจของนักเรียนและหลักสูตรหลอมรวมกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น แทนที่จะให้นักเรียนไปทำรายงานเรื่องที่ครูกำหนด แต่เปลี่ยนเป็นให้นักเรียนไปทำรายงานเรื่องที่นักเรียนสนใจ แล้วมานำเสนอด้วยวิธีไหนก็ได้ เช่น เขียนรายงาน ทำไฟล์นำเสนอ หรือสร้างเว็บไซต์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากว่าจะทำเช่นนี้ได้หลักสูตรเองก็ต้องการความเป็นพลวัตอย่างมาก เช่น หากพูดเรื่องประวัติศาสตร์ ก็อาจจะเป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นใดก็ได้ เป็นต้น เพราะการเรียนรู้ประวัติศาสตร์มิใช่การท่องจำตั้งแต่แรกอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นเรื่องระเบียบวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ต่างหากที่สำคัญ

ทิมยกตัวอย่างการเรียนประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ ทิมให้นักเรียนช่วยกันตั้ง “คำถามที่เร้าใจ” ต่อประวัติศาสตร์ ด้วยการขึ้นต้นคำถามว่า ทำไม หรือ อย่างไร เช่น ทำไมจึงใช้เวลานานนักกว่าทองแดงจะมาถึงฟินแลนด์?

หากเราหยุดใคร่ครวญตรงนี้ เราจะปฏิรูปการสอนประวัติศาสตร์ไทยได้มากมายเลยทีเดียว ด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไม และ อย่างไร กับประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ก็มั่นใจได้ว่าวงการศึกษาของเราจะวงแตกได้ในชั่วข้ามคืน

ขณะที่บ้านเรากลัวการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์กันมาก ทิมกลับเห็นว่าโครงการประวัติศาสตร์ฟินแลนด์เป็นโครงการปลายเปิดหรือคำถามปลายเปิดที่ดี เมื่อนักเรียนได้ตั้งคำถามที่เร้าใจแล้วขั้นต่อไปคือการทำแผนที่แนวคิดขนาดใหญ่จากสิ่งที่เขาค้นพบ เพียงเท่านี้กระบวนการเรียนรู้ก็บังเกิดขึ้นอย่างล้นหลาม

ไม่สำคัญที่คำตอบ สำคัญกว่าคือคำถาม

 

4. วางแผนร่วมกับนักเรียน

 

“ผมได้ประจักษ์ถึงพลังของการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนมาตั้งแต่ต้น นักเรียนของผมมีภูมิปัญญามากมายมาเสนอตราบเท่าที่ผมยินดีให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงในห้องเรียน” ทิมเขียน

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่” อีกครั้งหนึ่ง

น่าตื่นเต้นไปกว่านั้นเมื่อครูทิมให้นักเรียนช่วยกันออกแบบประชาธิปไตยในชั่วโมงจริยธรรม!

ดังที่ทราบว่าจริยธรรมเป็นวิชาที่ไม่มีการตัดสินผิดถูก เป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักประโยชน์และโทษของทุกการกระทำที่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อย จึงเป็นวิชาที่เปิดกว้างและน่าสนุกมากหากเราไม่ท่องจำ

(ลองดูตัวอย่างล่าสุดที่เคยได้ดูมา คน 5 คนรออวัยวะบริจาค มีคนไข้คนที่ 6 เข้ามา ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ ถ้าหมอรักษาคนไข้คนที่ 6 นี้ อีก 5 คนจะไม่ได้รับอวัยวะบริจาคและตาย ถ้าหมอไม่รักษาคนไข้คนที่ 6 นี้ อีก 5 คนจะได้รับอวัยวะบริจาคแล้วรอด คุณหมอจะตัดสินใจอย่างไร เพราะอะไร

เป็นแม่หุ่นยนต์ถามลูกมนุษย์ในวิชาจริยธรรม จากเรื่อง I am Mother ทางเน็ตฟลิกซ์)

เรียนอะไรไม่เรียน ครูทิมให้เรียนเรื่องประชาธิปไตยของฟินแลนด์ ด้วยการให้นักเรียนศึกษาประชาธิปไตยฟินแลนด์ก่อน ตามด้วยดูวิดีโอประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบของโรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา จากนั้นให้นักเรียนออกแบบประชาธิปไตยในโรงเรียนของเราเอง

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่”

ปรากฏว่าทิมแปลกใจที่พบว่าเด็กนักเรียนคนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยสุดโต่งที่ให้เสรีภาพนักเรียนมากมายอย่างที่เห็นในวิดีโอ มันมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการเล่นเกม แปลกยิ่งขึ้นเมื่อทิมรู้ว่านักเรียนที่แสดงความไม่เห็นด้วยนี้เป็นคนที่หลงใหลไอทีมาก และออกจะเล่นเกมมากเกินไปคนหนึ่ง

มาดูหัวข้อการเรียนของเด็กประถมหกฟินแลนด์ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่”

ทิมบรรยายกระบวนการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน โดยนักเรียน เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ค่อนข้างละเอียดสมควรที่ครูไทยหรือพ่อแม่โฮมสกูลได้อ่านแล้วใคร่ครวญ หลักใหญ่ๆ คือหาเรื่องที่เด็กสนใจ เด็กๆ ของทิมสนใจเรื่องพลังงานสะอาด แคบลงมาคือเรื่องโซลาร์เซลล์

หลังจากนี้เด็กๆ จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้กันเองทุกขั้นตอน ทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุย ค้นหาทุกอย่างเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์แม้กระทั่งราคาและงบประมาณหากจะติดตั้งในโรงเรียน นักเรียนช่วยกันทำงานผ่านเว็บ Kahoot! และ Google Drive แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้มาและเตรียมตัวนำเสนอ โดยที่ทั้งหมดนี้ทำตอนปลายภาคภายใต้เวลาที่จำกัด จะเห็นว่าขอเพียงเป็นเรื่องที่เขาอยากรู้เขาจะลุย

ทิมสรุปบทนี้ด้วยเรื่อง KWL คือ

Know – Want to Know – Learned นั่นคือให้นักเรียนได้ตอบคำถามเหล่านี้ในแต่ละประเด็นการเรียนรู้ นักเรียนรู้อะไรก่อนแล้ว – อยากรู้อะไร – และเมื่อจบโครงการแล้วได้เรียนรู้อะไร

ที่จริงเทคนิคนี้ไม่แปลกใหม่ เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว ปัญหาของบ้านเราคือรู้แล้วไม่ทำเท่านั้นเอง

 

5. ทำให้เป็นจริง

 

ทิมยกตัวอย่างเมืองจำลองบนพื้นที่ 6,000 ตารางฟุต แล้วให้นักเรียน 80 คนเข้าเล่นบทบาทสมมติเป็นอาชีพต่างๆ ในเมืองจำลองนี้ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีตั้งแต่อาชีพนายกเทศมนตรี นายธนาคาร พนักงานขาย ไปจนถึงภารโรง ฯลฯ เป็นโปรแกรมที่ได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ปี 2010 และได้รับความนิยมในโรงเรียนต่างๆ ของฟินแลนด์มากขึ้นเรื่อยๆ

ทิมสรุปว่าสิ่งที่เขาเห็นคือนักเรียนสนุก กระตือรือร้น ได้เรียนรู้ระบบเศรษฐกิจและรู้จักการอดออม ลองนึกภาพดูก็เห็นจริง หากเราทำให้เด็กๆ เห็นการหมุนเวียนของเงินตรา รู้ว่าเงินในกระเป๋าของพ่อแม่และตัวเองมีทางเดินมาอย่างไร พ่อแม่ได้เงินเดือนนั้นใช่ แต่เงินเดือนมาจากไหน พ่อแม่ขายของได้เงินนั้นใช่ แต่เงินของลูกค้ามาจากไหน และถ้านักเรียนเองเอาเงินออมไปซื้อของ หลังจากจ่ายเงินให้เจ้าของสินค้าแล้ว เงินเดินทางไปอย่างไร คิดตามแล้วก็ช่างเป็นการเรียนรู้เรื่องนามธรรมที่แปรรูปเป็นรูปธรรมได้อย่างน่าสนใจ

ผมพบว่าเด็กๆ มักต้องการความช่วยเหลือจากเราเพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำในโรงเรียนนั้นเชื่อมโยงกับ โลกความจริง อย่างไร

ช่างตรงข้ามกับการศึกษาบ้านเราที่เราได้แต่บ่นเสมอมาและเสมอไปว่า หลักสูตรที่นักเรียนไทยเรียนกันคร่ำเคร่งตลอด 15 ปีจนหัวแทบระเบิดนั้นไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงเอาเสียเลย

พูดง่ายๆ ว่าจบปริญญาตรีแล้วตกงานก็จอด ไม่รู้จะไปไหนต่อเพราะแม้ว่าจะได้ชื่อว่าบัณฑิตแต่ไม่เคยได้เห็นเมืองทั้งเมืองในภาพรวมเลย ว่าใครกำลังทำงานอะไรอยู่ที่ตรงไหนของเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่

“ขอสารภาพเลยครับว่า ผมเองไม่ได้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างห้องเรียนกับโลกความจริงได้ดีเสมอไป” คือข้อความในวงเล็บที่ทิมกระซิบเบาๆ แก่ผู้อ่าน ใช่แล้ว ครูมิใช่ผู้รู้ทุกสิ่ง

ทิมเล่าเรื่องการเดินเที่ยวดูวิธีเรียนรู้ของเด็กประถมหนึ่งฟินแลนด์ พวกเขาใช้เข็มเย็บผ้า ครูปอลลาผู้ดูแลบอกว่าเสียดายที่เข็มทื่อไปหน่อย! ทิมเล่าว่าเขาไม่เห็นเด็กผู้ชายใช้เข็มฟันดาบกันเลย พวกเขาใช้เข็มตามวัตถุประสงค์ของมันคือเย็บผ้า

ทิมเดินต่อไปที่ห้องเรียนงานไม้ซึ่งเหมือนห้องทำงานช่างไม้เสียมากกว่า เขาพบนักเรียนใช้หน้ากากกันไฟและกำลังถือเครื่องพ่นไฟ!

ทิมเดินต่อไปที่ห้องคหกรรมเพื่อดูวิชาทำครัว เขาเห็นมีดเล่มใหญ่และเครื่องซักผ้า และพบว่าการล้างจานเมื่องานเสร็จกับการซักผ้าเปื้อนเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเป็นเรื่องสำคัญ

และเมื่อเดินไปชั้นอนุบาล เขาเห็นการเรียนรู้ด้วยเงินปลอมและไอศกรีมปลอม แต่ครูที่ดูแลก็ได้บอกแก่ทิมว่าบางทีเธอก็พาเด็กๆ ไปใช้เงินจริงซื้อไอศกรีมจริงด้วย

ทิมสรุปบทนี้ว่าเราอาจไม่ต้องถึงกับมีโปรแกรมเมืองจำลองและอาจไม่ต้องถึงกับตั้งร้านไอศกรีมจริงๆ ในโรงเรียน แต่ขอให้ตระหนักว่ามีหลายหนทางที่จะเชื่อมการเรียนรู้สู่โลกความจริง

ไม่ทราบว่าข้าราชการไทยที่บินไปดูงานฟินแลนด์มีใครได้เห็นเมืองจำลองนี้บ้างและคิดอย่างไร

 

6. เรียกร้องความรับผิดชอบ

 

ทิมเล่าเรื่องความแตกต่างระหว่างความรับผิดชอบ (responsibility) และการตรวจสอบได้ (accountability) ระหว่างฟินแลนด์และสหรัฐอเมริกา

กล่าวอย่างสั้นคือครูฟินแลนด์เป็นอาชีพที่ได้รับความไว้วางใจสูงมาก เป็นอาชีพที่มีสถานะสูง เข้าเรียนยาก เรียนยาก และเรียนนาน แต่ทิมไม่คิดว่านี่เป็นปัจจัยสำคัญ

ทิมคิดว่าปัจจัยสำคัญคือครูในสหรัฐฯ ได้รับความไว้ใจน้อยเกินไปและถูกตรวจสอบมาตรฐานมากเกินไป สิ่งที่ได้คือครูไม่มีความรับผิดชอบและกลัวการถูกตรวจสอบ ในขณะที่ครูฟินแลนด์ได้รับความไว้ใจสูงมากพวกเขาจึงต้องรับผิดชอบมาก และพวกเขามิได้ถูกตรวจสอบด้วยมาตรฐานที่เคร่งครัดมากเกินไป พวกเขาจึงไม่กลัวการถูกตรวจสอบแล้วแสดงศักยภาพได้สูงกว่า

อ่านถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงจับทางการศึกษาฟินแลนด์ได้แล้วว่าวิธีคิดของเขากลับทางกับบ้านเราอย่างไร

เพราะให้เสรีภาพแก่นักเรียน นักเรียนจึงทำได้

เพราะไว้ใจครู ครูจึงทำได้

เพราะไม่ตรวจสอบแบบจับผิด ครูจึงทำงานได้ดีที่สุด

ความไว้ใจนี้ใช้ตั้งแต่เด็กอนุบาลด้วย พวกเขาเดินทางไปกลับโรงเรียนได้ ตักข้าวกินเองได้ (ย้ำ! ตักข้าวกินเองได้) และเดินตามโถงโรงเรียนได้อย่างอิสระ เด็กอนุบาลทำได้ไม่ใช่เพราะพวกเขามีสถานะสูง แต่เพราะ “ผู้ใหญ่เชื่อว่าเด็กๆ ทำสำเร็จได้ด้วยตนเอง”

ที่สหรัฐอเมริกา ทิมคุ้นเคยกับการที่นักเรียนต้องมีแฟ้มทำงานและแฟ้มผลงาน แต่ที่ฟินแลนด์ครูให้สมุดพกนักเรียนเล่มเล็กๆ เล่มเดียว ทิมทนไม่ได้กับสิ่งที่เห็นจึงซื้อกล่องใส่กระดาษให้แก่นักเรียนแต่ละคนเพื่อใส่กระดาษต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไปเขาพบว่าแต่ละกล่องยับเยินและมีกองกระดาษที่ไม่มีระบบระเบียบอะไรเลย จนกระทั่งวันหนึ่งเขายอมแพ้แล้วให้สมุดเล่มเดียวพอ ปรากฏว่านักเรียนรับผิดชอบงานต่างๆ และติดตามการเรียนการสอนได้ดีกว่ามาก

ให้เขาทำ แล้วเขาจะทำได้

“เราอยู่บนดาวอะไรกันนี่”