“ประชานิยม” ไขปริศนาคำเจ้าปัญหาในการเมืองโลก

 

ไม่มีแนวคิดสำคัญใดๆ จะล่วงพ้นการโต้แย้งถกเถียงไปได้ ประชานิยมก็เช่นกัน แต่กระนั้นการอภิปรายเกี่ยวกับประชานิยมไม่เพียงสนใจว่าประชานิยมคืออะไรเท่านั้น หากยังลามและเลยไปถึงว่ามันดำรงอยู่จริงหรือไม่อีกด้วย

หากจะหานิยามชัดๆ ให้ประชานิยม ก็ต้องผ่านด่านความสับสนอย่างน้อยสองข้อไปก่อน หนึ่ง ประชานิยมมักไม่อยู่โดดๆ หากผสมผสานเข้ากับปรากฏการณ์อื่นที่เป็นเอกเทศไปเลย อาทิเช่น ในบริบทยุโรปและสหรัฐอเมริกา มันมักอ้างอิงถึงการต่อต้านผู้อพยพและไม่พอใจชาวต่างชาติ จนทำให้เกิด Brexit และได้ผู้นำแบบโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่แถบลาตินอเมริกา มักมีนัยประหวัดถึงระบบอุปถัมภ์และการบริหารจัดการเศรษฐกิจผิดพลาด

และ สอง เกิดจากความจริงที่ว่าประชานิยมเป็นป้ายยี่ห้อที่ผู้คนหรือองค์การต่างๆ น้อยนักจะออกรับเอง แต่มักถูกนำไปแปะให้คนอื่นและบ่อยครั้งก็มีนัยเชิงลบ เมื่อประชานิยมไม่สามารถหานิยามหรือยกตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งอย่างใดแก่สาธารณะได้ บรรดานักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ทั้งหลายจึงใช้ศัพท์คำนี้ไปเรียกขานปรากฏการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันยิ่ง และในที่สุดความเวียนหัวก็วนมาถึงประชาชนคนเสพข่าวอย่างเราๆ ท่านๆ

แต่ความสับสนเหล่านี้จะหมดไปในไม่ช้า

 

จุดเด่นของ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา

 

มองกว้าง ทบทวนวรรณกรรม แจกแจงนิยามความเข้าใจประชานิยมแบบต่าง ๆ

มองลึก เสนอนิยามประชานิยมที่คมชัดแต่ยืดหยุ่นและกินความครอบคลุม รองรับปรากฏการณ์ประชานิยมในหลากหลายประเทศ วัฒนธรรม และอุดมการณ์

มองรูปธรรม ยกกรณีตัวอย่างหลากหลายจากนานาประเทศทั่วโลก

 

คุณประโยชน์ทางวิชาการและภูมิปัญญาสาธารณะของหนังสือ ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา โดย คาส มูด์เด และคริสโตวัล โรวีรา คัลต์วัสเซอร์ สองนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาขบวนการประชานิยมรอบโลก อยู่ที่ความกว้างขวางของมุมมองอันแตกต่างหลากหลายต่อประชานิยม ความลึกซึ้งแต่เรียบง่ายของนิยามประชานิยมที่ผู้เขียนทั้งสองเลือกสร้างขึ้นและประยุกต์ใช้ และความชัดเจนเป็นรูปธรรมของตัวอย่างบรรดาพรรค ขบวนการนักการเมือง และผู้นำประชานิยมจากหลายประเทศทั่วโลกทั้งอดีตและปัจจุบันที่ยกมาสาธิตประกอบ

ทำให้เราเข้าใจและประเมิน “ประชานิยม” ได้กว้างขวางครอบคลุม ลุ่มลึกขึ้นทั้งด้านแนวคิดและการปฏิบัติ ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย รวมทั้งการผนวกประสานของประชานิยมเข้ากับอุดมการณ์เหย้าอื่นๆ (host ideologies) ในแต่ละกรณีรูปธรรม

 

อ่านแล้วได้คิดใหม่เรื่อง “ประชานิยม” อย่างไร

 

สังคมไทยจะไม่ติดอยู่กับวังวนดีเบตประชานิยมแบบเดิมๆ คือโฟกัสไปที่นิยามแบบเศรษฐกิจสังคม ยึดแนวนโยบายแบบทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าอย่างล่อแหลมต่อวินัยการเงินการคลังแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ปรากฏในลาตินอเมริกาในอดีต และจะเปิดรับนิยามประชานิยมแบบอื่นๆ ที่กว้างขวางครอบคลุมกว่า

 

ประชานิยม 101

 

เบื้องต้น เราควรเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ประชานิยมนับเป็นแผนที่การคิดชนิดหนึ่งซึ่งนำมาใช้วิเคราะห์และทำความเข้าใจความเป็นจริงทางการเมือง สิ่งที่ทำให้ดูยุ่งยากซับซ้อนขึ้นก็คือ การที่ประชานิยมดูจะผสมผสานเข้ากับอุดมการณ์ทั้งหลายที่แตกต่างกันมาก และบางทีก็ขัดแย้งกันเอง อย่างเช่น ลัทธิฟาสซิสต์ เสรีนิยม กระทั่งสังคมนิยม

บรรดานักวิชาการรัฐศาสตร์เห็นพ้องต้องกันทั่วไปว่าประชานิยมทุกรูปแบบล้วนรวมเอาการอ้างอาราธนา “ประชาชน” บางอย่างและการประณาม “ชนชั้นนำ” ไว้ด้วย ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าประชานิยมย่อมเกี่ยวพันกับการวิพากษ์ระเบียบสถาบันและยกย่องเชิดชูประชาสามัญชนเสมอ

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นก็คือ เรานิยามประชานิยมว่ามันเป็น อุดมการณ์ไส้บางเบา (หรืออุดมการณ์ที่มีเนื้อหาใจกลางบางเบา thin-centered ideology) ซึ่งถือว่าท้ายที่สุดแล้วสังคมย่อมแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายที่แต่ละฝ่ายต่างกลมกลืนเป็นเอกภาพทว่ากลับขัดแย้งกันอย่างเป็นปฏิปักษ์ อันได้แก่ “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” กับ “ชนชั้นนำผู้ทุจริต” และมันยังถกเถียงอีกด้วยว่าการเมืองควรเป็นการแสดงออกซึ่งเจตจำนงทั่วไป (volonté générale) ของประชาชน

ประชานิยมมีมโนทัศน์แก่นแกนสามประการด้วยกัน ได้แก่ ประชาชน ชนชั้นนำ และเจตจำนงทั่วไป ซึ่งทั้งสามประการล้วนมีข้อให้วิพากษ์และถกเถียงกันได้ไม่จบสิ้น

 

  1. ประชาชน

ข้อโต้แย้งที่ล้อมรอบมโนทัศน์และปรากฏการณ์ประชานิยมจำนวนมากรวมศูนย์ที่ประเด็นความคลุมเครือของคำว่า “ประชาชน” แทบทุกคนเห็นพ้องกันว่า “ประชาชน” เป็นสิ่งสร้าง อย่างดีที่สุดมันก็แค่อ้างอิงถึงการตีความความเป็นจริง (และทำให้ความเป็นจริงง่ายขึ้น) ที่เฉพาะเจาะจงอย่างหนึ่ง ฉะนั้นนักวิชาการหลายคนจึงยืนกรานว่าความคลุมเครือที่ว่านี้ทำให้มโนทัศน์ “ประชาชน” เปล่าประโยชน์

อย่างไรก็ตาม เออร์เนสโต ลาคลาว นักทฤษฎีการเมืองชาวอาร์เจนตินา ได้ถกเถียงอย่างทรงพลังว่าข้อเท็จจริงที่ว่า “ประชาชน” เป็น “สัญญะกลวงเปล่า” (empty signifier) นี่เองที่ทำให้ประชานิยมเป็นอุดมการณ์และปรากฏการณ์ทางการเมืองอันทรงพลังถึงปานนั้น ในสภาพที่ประชานิยมมีสมรรถภาพที่จะตีกรอบวาดวาง “ประชาชน” ในลักษณะที่ดึงดูดใจฐานเสียงต่างๆ กันรวมทั้งเปล่งประกาศความเรียกร้องต้องการของพวกเขาออกมาได้นี่เอง จึงสามารถก่อเกิดเอกลักษณ์ร่วมระหว่างกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาและเอื้ออำนวยให้พวกเขาสนับสนุนภารกิจร่วมกันได้

 

  1. ชนชั้นนำ

การแยกแยะว่าใครเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือชนชั้นนำที่ทุจริตนั้น ใช้ศีลธรรมเป็นตัวแบ่ง แต่ใครกันแน่คือชนชั้นนำ ในที่นี้ชนชั้นนำถูกนิยามบนพื้นฐานของอำนาจ กล่าวคือ มันรวมเอาคนส่วนใหญ่ที่กุมตำแหน่งชั้นนำในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ สื่อมวลชน และศิลปะ อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าคำนิยามนี้กันพวกประชานิยมเองออกไป รวมทั้งกันบรรดาผู้อยู่ในแวดวงเหล่านี้ที่เห็นอกเห็นใจพวกประชานิยมออกไปด้วย

พวกประชานิยมส่วนใหญ่ไม่เพียงชิงชังระเบียบสถาบันการเมืองเท่านั้น หากยังวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำทางวัฒนธรรม และชนชั้นนำทางสื่อมวลชนอย่างเผ็ดร้อน คนเหล่านี้ถูกจำลองภาพออกมาเป็นกลุ่มสันดานทุจริตพรรค์เดียวกันที่ดำเนินงานต่อต้าน “เจตจำนงทั่วไป” ของประชาชน

 

  1. เจตจำนงทั่วไป

ฌอง-ฌากส์ รูสโซ แยกแยะระหว่างเจตจำนงทั่วไป (volonté générale) กับเจตจำนงของคนทั้งปวง (volonté de tous) ขณะที่ศัพท์คำแรกอ้างอิงถึงสมรรถภาพของประชาชนที่จะรวมตัวกันเป็นชุมชนและบัญญัติกฎหมายเพื่อบังคับใช้สิ่งอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ศัพท์คำหลังกลับหมายถึงแค่ยอดผลลัพธ์รวมของผลประโยชน์เฉพาะต่างๆ ณ เวลาเฉพาะเจาะจงหนึ่ง

การที่ประชานิยมจำแนกแยกแบ่งเชิงศีลธรรมในแบบเอกนิยมระหว่างประชาชนผู้บริสุทธิ์กับชนชั้นนำที่ทุจริตยิ่งไปเสริมสร้างความคิดที่ว่ามีเจตจำนงทั่วไปดำรงอยู่ให้แข็งแกร่งขึ้น และคติเรื่อง “เจตจำนงทั่วไป” ของประชานิยมนี้เองอาจนำไปสู่การสนับสนุนแนวโน้มอำนาจนิยม พูดให้แรงกว่านั้นก็คือเผด็จการ

 

 

เล่มนี้เล่มเดียว เราจะเห็นภาพรวมของความพยายามทำความเข้าใจประชานิยมทางวิชาการจากแนวทางวิธีการต่างๆ หลากหลาย ซึ่งผู้เขียนลำดับให้ด้วยว่าแนวทางหลักๆ มีอะไรบ้าง

นี่เป็นเล่มที่ไม่ยากเกินไปนัก ไม่ได้แปลว่าไม่ยากเลย ก็มีภาษาวิชาการ แล้วก็ใช้แนวคิดทฤษฎีบ้าง แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เกษียร เตชะพีระ

 

หน้าปก Populism

รายละเอียดหนังสือ

หนังสือ: ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา

แปลจาก: Populism: A Very Short Introduction

ผู้เขียน: Cas Mudde และ Cristóbal Rovira Kaltwasser

ผู้แปล: เกษียร เตชะพีระ

พิมพ์ครั้งแรก: มีนาคม 2561

ราคา: 265 บาท