Phenomenal Learning from Finland – สมรรถนะที่ 7 การมีส่วนร่วม การมีบทบาทผลักดัน และการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

เรื่อง : นันท์ชนก คามชิตานนท์

 

[su_note note_color=”#f7d843″]เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมความท้าทายใหม่ๆ ฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆ ที่โดดเด่นเรื่องการศึกษา ขานรับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยแนวคิดด้านการศึกษาที่ร้อยเรียงมาเป็นหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่

หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เน้นทักษะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลและควบคุมตนเอง ทักษะทางสังคม หรือทักษะการสื่อสาร ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนเอาตัวรอดและสร้างคุณค่าในตัวเองได้ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของคนเรามากขึ้นทุกที

สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการจึงเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่สำคัญในหลักสูตรการศึกษาใหม่ของฟินแลนด์ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมทักษะความเป็นมนุษย์ของเยาวชนแห่งอนาคต

สังคมประชาธิปไตยต้องการสมาชิกที่มีบทบาทและส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคม เด็กๆ ควรได้เรียนรู้อำนาจในตนเองและบทบาทในฐานะเมืองคนหนึ่ง โรงเรียนส่งเสริมสมรรถนะนี้ได้ด้วยการสอดแทรกกิจกรรมและบทเรียนต่างๆ ตั้งแต่พวกเขายังเยาว์วัย [/su_note]

 

เด็กรุ่นใหม่ในสังคมประชาธิปไตยต้องมีส่วนร่วมกับสังคมอย่างจริงจัง พวกเขาต้องดูแลตนเองและผู้อื่นได้ รู้ว่าตนจะมีบทบาทกำหนดชีวิตตัวเองและคนรอบตัวได้อย่างไร มีมุมมองเชิงบวกต่อการริเริ่มมีส่วนร่วม รักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

ถ้าอยากให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในสังคม เราก็ต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเช่นนั้น ให้พวกเขาได้ริเริ่มและฝึกตัดสินใจ พวกเขาจะได้มีอำนาจในตนเอง (agency) หรือความต้องการที่จะลงมือทำ สั่งสมประสบการณ์ และมีตัวตน อำนาจในตนเองนี้ไม่ใช่เพียงลักษณะส่วนบุคคล แต่ยังเป็นความสามารถของคนในการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้วย

โรงเรียนก็สามารถส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในสังคมได้เช่นกัน โดยสอดแทรกเข้าไปในสถานการณ์ทั่วไปที่โรงเรียน เช่น กิจกรรมนอกหลักสูตร หรือการให้นักเรียนได้กำหนดสภาพแวดล้อมการเรียนด้วยตัวเอง เพื่อให้พวกเขารู้สึกมีอิสระ มีความสามารถ และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ทั้งนี้การปลูกฝังอำนาจในตนเองของเด็กๆ มักขัดแย้งกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบเดิมๆ ในโรงเรียน ครูอาจรู้สึกเสียการควบคุมหรือโดนท้าทาย พลเมืองตื่นรู้ย่อมตั้งคำถามและท้าทายบรรทัดฐานที่ยอมรับกันแพร่หลาย พวกเขาจะวิเคราะห์วิพากษ์ คิดค้นสิ่งใหม่ และพาชุมชนโดยรอบริเริ่มทำสิ่งใหม่นั้นไปด้วยกัน โรงเรียนและครูต้องเข้าใจว่านี่คือก้าวใหม่อันจะนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่เยาวชนมีบทบาทและส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 

สาระสำคัญที่ 1 : วิธีการสร้างบทบาทผลักดัน

นักเรียนควรรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชน รวมทั้งรู้สึกว่าตนสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งรอบตัวได้ โรงเรียนสามารถส่งเสริมความรู้สึกเช่นนี้ได้ดังนี้

การพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน

เมื่อมีโอกาสปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเชิงกายภาพหรือเชิงสังคม โรงเรียนควรรับฟังเสียงเด็กๆ ด้วย อาจให้พวกเขาได้ร่วมกันออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ โดยเข้าร่วมการประเมิน ออกแบบ และปรับเปลี่ยน การร่วมมือกันเช่นนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมและได้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตัวเอง อีกทั้งยังเด็กๆ และผู้ใหญ่ยังได้สร้างสรรค์ความรู้ร่วมกันอีกด้วย

การมีบทบาทผลักดันและการทำงานนอกโรงเรียน

โรงเรียนควรมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ และใช้ความสัมพันธ์นี้เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชีวิตในโรงเรียนกับโลกการทำงานให้เด็กๆ พวกเขาควรได้ปรับตัวและประยุกต์ใช้ความรู้กับสถานการณ์จริงในชีวิตตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงเรียนรู้ที่จะผลักดันชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฝึกทักษะในโรงเรียน เข้าร่วมงานอาสาสมัคร ทำโครงการการกุศล หรือฝึกงานนอกโรงเรียน

 

สาระสำคัญที่ 2 : โครงสร้างและกฎเกณฑ์ทางสังคม

จุดประสงค์ประการหนึ่งของการศึกษาคือส่งเสริมให้นักเรียนเติบโตเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบในสังคมประชาธิปไตย เข้าใจการทำงานของสังคม รวมถึงแนวปฏิบัติและโครงสร้างอันเป็นพื้นฐานสังคมด้วย

การใช้ชีวิตในสังคมประชาธิปไตย

นักเรียนควรเข้าใจว่าสังคมประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบนั้นขับเคลื่อนไปได้อย่างไร วิธีหนึ่งคือการทำโครงการร่วมกับสื่อ โดยให้เด็กๆ รับบทบาทเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์หรือนักข่าววิทยุ เพราะการเข้าใจและรู้เท่าทันสื่อนับเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของพลเมืองตื่นรู้ในสังคมประชาธิปไตย

การตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ

นักเรียนควรเรียนรู้ที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองและร่วมกับผู้อื่น พวกเขาควรได้เผชิญสถานการณ์ที่ต้องใช้ทักษะการตัดสินใจ แก้ไขข้อพิพาท ปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และคำนึงถึงผู้อื่น

กฎเกณฑ์และข้อตกลง

เด็กๆ ควรได้ฝึกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และข้อตกลง โรงเรียนอาจสอดแทรกบทเรียนนี้ไว้ในการกิจกรรมการเรียนประจำวัน เช่น ให้นักเรียนร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ในห้องเรียนหรือโรงเรียนร่วมกับครู นักเรียนควรได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎเกณฑ์ ข้อตกลง และความเชื่อใจด้วย นอกจากนั้น นักเรียนควรเข้าใจที่มาที่ไปของกฎเกณฑ์ต่างๆ และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงกฎที่พ้นสมัยไปแล้ว โดยอาศัยการอภิปรายเชิงจริยศาสตร์เพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎเหล่านั้น

 

สาระสำคัญที่ 3 : การสร้างอนาคต

เยาวชนจะต้องร่วมลงแรงเพื่อสร้างโลกอนาคตที่สดใสและยั่งยืน คิดถึงคนรุ่นต่อๆ ไป พวกเขาต้องเป็นสมาชิกสังคมที่รับผิดชอบ กระตืนรือร้น และใส่ใจระบบนิเวศน์

ครูควรปลูกฝังให้นักเรียนเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาเลือกทำหรือบริโภคนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไรบ้าง ทั้งในท้องถิ่นและระดับโลก ในวิชาเรียน เด็กๆ ควรได้มีโอกาสสานสัมพันธ์กับธรรมชาติเพื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไมจึงต้องเลือกใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน โดยอาจใช้วิธีง่ายๆ อย่างการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

เด็กๆ ควรเข้าใจว่าอดีตและอนาคตสัมพันธ์กันอย่างไร และพวกเขาจะมีบทบาทในฐานะพลเมืองได้อย่างไรบ้างต่อการสร้างอนาคต ได้วาดฝันและวางแผนอนาคตร่วมกับครูและเพื่อนๆ อย่างสร้างสรรค์และสันติ