อย่าปล่อยให้ “การบ้าน” เป็นปัญหาสามัญประจำครัวเรือน

ชลิดา หนูหล้า เขียน

 

“พ่อแม่รักลูกเกินกว่าจะมาทะเลาะกันเรื่องการบ้าน” คือชื่อบทที่ 2 ในหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง ที่คงสะดุดตาและสะดุดใจพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกวัยเรียน เพราะจะมีปัญหาใด “คลาสสิก” อยู่ยั้งยืนยงทุกยุคสมัยกว่าปัญหา “ลูกไม่ทำการบ้าน” อีกเล่า

แต่ทำไมเราต้องทะเลาะกันเรื่องการบ้านด้วยเล่า เราไม่ทะเลาะกันเรื่องการบ้านได้ไหม จะเป็นไปได้ไหม ในเมื่อตั้งแต่มีโรงเรียนและการบ้านก็ดูจะไม่มีทางที่เราจะไม่ทะเลาะกันได้เลย

 

การบ้านสำคัญอย่างไร

 

การทำการบ้านนับเป็นกิจกรรมแรกที่เด็กๆ จะได้ฝึกฝนการควบคุมตัวเองให้ทำบางสิ่งที่อาจไม่มีประโยชน์ในระยะสั้นแต่จะเป็นคุณมหาศาลในระยะยาว การรับผิดชอบการบ้านของตนจึงส่งเสริมความสามารถในการกำกับดูแลตนเองของเด็ก และพึ่งพาความสามารถในการกำกับดูแลตนเองของเด็ก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง อันสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในอนาคตต่อไป

ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง (sense of control) คือความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ พึ่งพาตนเอง ก้าวข้ามอุปสรรค จัดการอารมณ์ และแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง นำไปสู่ความเชื่อมั่นว่าตนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญได้ ตลอดจนความภาคภูมิใจและการเห็นคุณค่าของตนเอง

 

 

ความสามารถในการกำกับดูแลตัวเองจึงสำคัญต่อการประสบความสำเร็จของเด็ก เพราะความเชื่อมั่นว่าตนก้าวข้าวอุปสรรคน้อยใหญ่ได้ด้วยตนเอง ทำให้เด็กจัดการความเครียดที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวันได้ดี โดยความเครียดในนิยามของหนังสือเล่มนี้ เกิดจากการเผชิญสถานการณ์ที่ตนควบคุมไม่ได้หรือไม่คาดฝัน ซึ่งหากไม่มีทางออกนานวันเข้าก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรังหรือความเครียดที่เป็นพิษ (toxic stress)

 

ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง (sense of control) คือความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ พึ่งพาตนเอง ก้าวข้ามอุปสรรค จัดการอารมณ์ และแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง นำไปสู่ความเชื่อมั่นว่าตนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เผชิญได้ ตลอดจนความภาคภูมิใจและการเห็นคุณค่าของตนเอง

 

ความเครียดที่เป็นพิษนี้จะทำให้อะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อภยันตรายทำงานหนัก นำไปสู่การหลั่งคอร์ติซอล (cortisol) หรือฮอร์โมนที่บั่นทอนความสามารถในการจดจำและคิดเชิงวิเคราะห์ ทำให้ยิ่งควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้ลำบากยิ่งขึ้น

กล่าวได้ว่า ความเครียดทำลายความสามารถในการกำกับดูแลตัวเอง เท่ากับที่การไร้ความสามารถนั้นก่อให้เกิดความเครียด ดังนั้นการรู้สึกว่าตัวเองควบคุมตัวเองให้ทำการบ้านได้จึงสำคัญต่อพัฒนาการสมองของเด็ก

ปัญหาคือความรู้สึกว่าฉันควบคุมตัวเองได้ไม่ใช่ความรู้สึกที่ใครอื่นสร้างให้ได้นี่ละ

 

สิ่งที่พ่อแม่พลาดไปถนัด

 

เมื่อลูกไม่ทำการบ้าน สิ่งแรกที่พ่อแม่จะทำคืออะไร

สำหรับหลายครอบครัว สิ่งแรกที่พ่อแม่จะทำคือดุด่าว่ากล่าว ขอร้อง หรือบังคับให้ทำการบ้านโดยชักแม่น้ำทั้งห้าและสารพัดบทลงโทษมาจูงใจ แต่ไม่ว่าจะใช้ไม้อ่อนหรือไม้แข็งก็เป็นที่รู้ทั่วไปว่าไม่ได้ผล การที่ลูกจะยินยอมพร้อมใจทำการบ้านเพราะสำนึกผิดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ที่เป็นไปได้คือลูกทำการบ้านอย่างเสียไม่ได้หลังจากทะเลาะกันรุนแรง หรือไม่ เด็กก็จะสรรหาสารพัดวิธีมา “แสร้ง” ทำการบ้านพอไม่ให้บ้านแตกเท่านั้น

 

 

วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) นักประสาทจิตวิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กล่าวว่าเขาเคยให้คำปรึกษาโจนาห์ เด็กชายวัย 15 ปีที่ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่งในแต่ละวันเพื่อ “แสร้ง” ทำการบ้าน เพียงเพราะเบื่อที่จะได้ยินประโยค “โอกาสเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มีครั้งเดียวแท้ๆ ลูกกำลังทำลายมันนะ” หรือ “แค่เรียนยังไม่รอด ชีวิตนี้จะไปทำอะไรให้สำเร็จได้” ของพ่อแม่

ดูเหมือนการดุด่าว่ากล่าวหรือชักแม่น้ำทั้งห้าของพ่อแม่มีแต่จะทำให้ลูกรู้สึกว่าต้องไม่ทำการบ้านเท่านั้นจึงจะสัมผัสได้ว่าตนเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ในชีวิตเองบ้าง

วิลเลียมเสนอให้พ่อแม่จินตนาการว่า หากพูดประโยคเดียวกับที่ใช้กระตุ้นลูกกับสามีภรรยาบ้างจะเป็นอย่างไร

 

“ทำงานวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง รายงานโปรเจกต์ออกมาดีหรือเปล่า รู้ใช่ไหมว่าต้องตั้งใจทำงาน ฉันรู้ว่างานไม่ง่ายหรือสนุกเสมอไปหรอก แต่คุณต้องประเมินตัวเองว่าจะได้เลื่อนขั้นไหม จะได้มีทางเลือกมากขึ้นในอนาคต บางครั้งฉันรู้สึกเหมือนคุณไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่นะ ลองพยายามให้มากกว่านี้ดีไหม”

 

“คุณคงเข้าใจเรื่องนี้เหมือนกัน เป็นใครก็โมโห โจนาห์ก็เหมือนกัน ทางเดียวที่เขาจะรักษาตัวตนของเขาไว้ได้ คือการไม่ทำการบ้าน” วิลเลียมสรุป

นอกจากนี้ยังมีโทษอื่นๆ ด้วย หากพ่อแม่จะดันทุรังเกลี้ยกล่อมให้ลูกทำการบ้านทั้งที่มันไม่ใช่สิ่งที่เด็กต้องการหรือเห็นคุณค่า คือยิ่งพ่อแม่พยายามช่วยมากเท่าใด เด็กก็จะยิ่งอ่อนแอลงเท่านั้น โดยหากพ่อแม่ “ใช้พลังงาน 95 หน่วยช่วยเหลือลูก ลูกจะได้ใช้พลังงานของตนเองเพียง 5 หน่วยเท่านั้น ถ้าพ่อแม่หงุดหงิดหรือกังวลแล้วเพิ่มความพยายามโดยใช้พลังงานตั้งต้น 98 หน่วย เด็กก็จะพลอยทำตามโดยใช้พลังงานเพียง 2 หน่วย … และพลวัตที่ขัดขวางความก้าวหน้านี้ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าพลังงานที่ถูกใช้จะเปลี่ยนไป ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อพ่อแม่ที่เหนื่อยล้าพูดว่า ‘ไม่ไหวแล้ว ทำเองเลย’”

วิลเลียม สติกซ์รัด และเน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ผู้เขียนร่วม เสนอให้พ่อแม่ทำตัวเหมือนที่ปรึกษาที่ดีทางธุรกิจ คือรับฟังปัญหาของลูกค้า ร่วมพิจารณาว่าปัญหาใดสำคัญที่สุด และลูกค้าจะยินยอมเสียสละสิ่งใดบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมาย ก่อนจะให้คำแนะนำ โดยไม่บังคับให้ลูกค้าเลือกเช่นนั้นแต่อย่างใด

ขั้นแรกในการแก้ไขปัญหาลูกไม่ทำการบ้านจึงเป็นการปรับมุมมองของพ่อแม่เอง ลูกค้ากับลูกอาจไม่ใช่คนคนเดียวกัน แต่ปัญหาของลูกก็ไม่ใช่ปัญหาของพ่อแม่ และชีวิตของลูกก็ไม่ใช่ชีวิตของพ่อแม่เหมือนกัน

 

การเลี้ยงดูแบบเป็นที่ปรึกษา

 

ข่าวดีคือ วิธีแก้ไขปัญหาลูกไม่ทำการบ้านที่ได้ผลชะงัดที่สุดนำไปประยุกต์ใช้กับการส่งเสริมความสามารถในการกำกับดูแลตนเองของลูกๆ ในสถานการณ์อื่นๆ ได้หลากหลาย

เพราะวิธีนั้นคือการจัดระเบียบความสัมพันธ์ในการเลี้ยงดูเสียใหม่ โดยวิลเลียมและเน็ดเสนอให้พ่อแม่เลี้ยงลูกโดยประพฤติตนเสมือนที่ปรึกษาของลูก (parent-as-consultant model) อันเป็นส่วนหนึ่งของการเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ (authoritative parenting)

พ่อแม่มักเข้าใจผิดว่าการเลี้ยงดูลูกมีเพียงสองแนวทาง คือเลี้ยงลูกแบบควบคุม (autocratic parenting) หรือเลี้ยงลูกแบบตามใจ (permissive parenting) พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบควบคุมจะให้ความสำคัญกับการเชื่อฟังของลูกเป็นพิเศษ ขณะที่พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบตามใจจะยึดความสุขของลูกเป็นหลัก กระนั้น แนวทางการเลี้ยงดูสองแนวทางนี้ก็ไม่เพียงพอต่อการทำให้เด็ก “อยู่เองได้ โตเองเป็น” มีความรับผิดชอบทั้งต่อภาระเล็กๆ อย่างการทำการบ้าน จนถึงภาระที่หนักหนากว่านั้น

ขณะที่การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่จะเน้นการสนับสนุนโดยไม่ควบคุมลูก พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกเช่นนี้จะต้องการให้ลูกร่วมมือกับตนเพราะรักและให้เกียรติอีกฝ่าย รวมถึงต้องการให้ลูกเรียนรู้จากประสบการณ์ของตน โดยเน้นการนำตนเองของลูก ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาวุฒิภาวะของลูกมากกว่าการเชื่อฟัง

 

 

การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่โดยที่พ่อแม่เป็นเสมือนที่ปรึกษาของลูกนั้นเรียบง่ายกว่าที่หลายคนคาด เพียงเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเองตั้งแต่ยังเล็ก ขณะที่พ่อแม่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการตัดสินใจนั้นๆ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเฉพาะเมื่อจำเป็น ตั้งแต่ตัดสินใจเลือกเสื้อผ้าด้วยตนเอง เลือกงานบ้านที่ต้องการรับผิดชอบและเวลาที่จะใช้ในการทำงานบ้านนั้นๆ เลือกแนวทางทำการบ้านที่เหมาะสมกับตนเอง จนถึงเลือกเส้นทางชีวิตที่ดีต่อตนเองในระยะยาว

ทั้งนี้ สมองของมนุษย์ยังพัฒนาไปตามรูปแบบการใช้งาน การให้โอกาสลูกตัดสินใจและควบคุมเส้นทางชีวิตของตนเอง จึงทำให้สมองของพวกเขาสร้างคุณลักษณะสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจเมื่อเผชิญความเครียดในอนาคต

ในกรณีการทำการบ้านของโจนาห์นั้น พ่อแม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของวิลเลียม คือชี้ให้ลูกเห็นความสำคัญของการทำการบ้าน และเลือกถามว่า “คืนนี้มีอะไรให้พ่อแม่ช่วยเหลือไหม พ่อแม่ถามเผื่อไว้ จะได้วางแผนช่วงเย็นของตัวเองได้” แทนที่จะถามโจนาห์ว่า “คืนนี้มีการบ้านหรือเปล่า” โดยความช่วยเหลือที่ว่ามีทั้งการจัดห้องเงียบๆ ไว้ให้โจนาห์ทำการบ้าน หรืออาสาหาติวเตอร์ให้หากโจนาห์ไม่เข้าใจการบ้าน เพื่อให้โจนาห์รู้สึกว่าการบ้านนั้นเป็นความรับผิดชอบของเขาเอง ไม่ใช่ของใครอื่น และประโยชน์ที่ได้จากการทำการบ้านก็จะตกอยู่ที่โจนาห์เอง ไม่ใช่พ่อแม่เช่นกัน

 

การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่โดยที่พ่อแม่เป็นเสมือนที่ปรึกษาของลูกนั้นเรียบง่ายกว่าที่หลายคนคาด เพียงเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเองตั้งแต่ยังเล็ก ขณะที่พ่อแม่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการตัดสินใจนั้นๆ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือเฉพาะเมื่อจำเป็น ตั้งแต่ตัดสินใจเลือกเสื้อผ้าด้วยตนเอง เลือกงานบ้านที่ต้องการรับผิดชอบและเวลาที่จะใช้ในการทำงานบ้านนั้นๆ เลือกแนวทางทำการบ้านที่เหมาะสมกับตนเอง จนถึงเลือกเส้นทางชีวิตที่ดีต่อตนเองในระยะยาว

 

วิลเลียมและเน็ดเสริมว่าเส้นทางอาจเจ็บปวดสำหรับพ่อแม่อยู่บ้าง โดยเฉพาะการต้องอดทนดูลูกล้มเหลวและคืบหน้าได้ช้ากว่าที่พ่อแม่ต้องการครั้งแล้วครั้งเล่า กระนั้น การได้มาซึ่งความสามารถหนึ่งๆ ของมนุษย์ก็ประกอบด้วยสี่ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่

 

  • ขั้น “ไร้สมรรถนะโดยไม่รู้ตัว” (unconsciously incompetent) คือขั้นตอนที่เด็กคนหนึ่งไม่รู้ว่าตนไม่รู้อะไรและขาดความสามารถด้านใด จนกว่าจะได้รับผลกระทบจากการไร้ความสามารถนั้น เช่น ได้คะแนนสอบไม่ดี ทำการบ้านไม่สำเร็จ ฯลฯ
  • ขั้น “ไร้สมรรถนะโดยรู้ตัว” (consciously incompetent) คือขั้นตอนที่เด็กได้รับผลกระทบจากการไร้ความสามารถหนึ่งๆ แล้ว และรู้ตัวว่าตนไม่มีความสามารถนั้น ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นถัดไป คือการตัดสินใจพัฒนาความสามารถดังกล่าวในตนเอง
  • ขั้น “มีสมรรถนะโดยรู้ตัว” (consciously competent) คือการบรรลุศักยภาพหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความพยายามเพื่อพัฒนาหรือคงไว้ซึ่งความสามารถนั้น อาทิ การตั้งใจทบทวนเนื้อหาบทเรียนหนึ่งๆ ก่อนสอบ
  • ขั้น “มีสมรรถนะโดยไม่รู้ตัว” (unconsciously competent) คือศักยภาพนั้นๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน สามารถแสดงศักยภาพนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามอีกต่อไป ผู้ใหญ่ส่วนมากมีสมรรถนะในขั้นนี้ และอาจทำให้พวกเขาเผลอไผลช่วยเหลือลูกทำการบ้านมากเกินควรเพราะคิดว่าพัฒนาการของลูกช้าเกินไป ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่เลย

 

ท้ายที่สุดแล้ว หนทางที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งไปถึงขั้นตอนที่สี่ของการพัฒนาสมรรถนะก็มีแต่การปล่อยให้พวกเขาผ่านสามขั้นตอนแรกไปด้วยตนเองเท่านั้น เป็นเหตุผลที่การเลี้ยงลูกโดยไม่ควบคุมลูก แต่เฝ้าดูและหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เมื่อจำเป็น คือแนวทางการเลี้ยงดูที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของลูกมากที่สุด

 

“แต่” คำถามที่พบบ่อยเมื่อพ่อแม่ปล่อยให้ลูกดูแลตัวเอง

 

ความพิเศษของหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง คือนอกจากผู้เขียนจะอธิบายทฤษฎีการเลี้ยงลูกอย่างถูกวิธีแล้ว หนังสือยังยกกรณีตัวอย่างจากหลากหลายครอบครัวมาบอกเล่า ซึ่งล้วนแต่มีที่มาจากประสบการณ์ของสองผู้เขียนที่เป็นนักประสาทจิตวิทยาคลินิกและเจ้าของสถาบันกวดวิชาซึ่งต้องรับมือกับทั้งเด็กและผู้ปกครองมากหน้าหลายตา คำถามที่น่าสนใจมีดังนี้

 

“ฉันลองปล่อยให้ลูกทำการบ้านเองสัปดาห์หนึ่ง แต่ลูกไม่แตะต้องการบ้านเลย ไม่ได้ผลเลย”

ในทางตรงกันข้าม วิลเลียมและเน็ดเชื่อว่าการไม่ทำการบ้านของเด็กเป็นสัญญาณที่ดีทีเดียว เพราะในที่สุด ลูกจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง “อย่าเข้าใจผิดว่าเพียงคุณมอบหน้าที่ให้ ลูกก็จะรับไปทำอย่างมั่นใจ” เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ย่อมต้องใช้เวลาสำหรับเด็กเพื่อปรับตัวและบ่มเพาะทักษะที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ที่แตกต่างจากเดิม ดังนั้นพ่อแม่ต้องมองออกไปในระยะยาว ลูกอาจทำได้ไม่ดีนักในครั้งแรก อย่างน้อยก็ไม่ดีเท่ากับพ่อแม่ที่มีประสบการณ์มากกว่า แต่อย่าลืมว่าการมีสมรรถนะโดยไม่รู้ตัวนั้น ไม่อาจสร้างด้วยการข้ามสามขั้นตอนก่อนหน้าไป

“ฉันเคยให้ลูกรับผิดชอบการบ้านเอง และพร้อมช่วยเหลือหากลูกต้องการ แต่ลูกปฏิเสธ ขณะนี้ครูกำลังกดดันฉันให้รับผิดชอบการทำการบ้านของลูกมากกว่านี้”

วิลเลียมและเน็ดชี้ว่าที่ครูต้องพูดเช่นนั้น เพราะปัจจุบันภาระรับผิดชอบถูกย้ายจากเด็กไปที่ครู หากเด็กทำได้ไม่ดี ครูก็จะถูกกล่าวโทษก่อน ครูถูกบีบให้รู้สึกว่าต้องมีใครสักคนบังคับให้เด็กทำการบ้าน และอาจมีความทรงจำที่ไม่ดีจากการรับมือผู้ปกครองที่ระเบิดอารมณ์ใส่เมื่อเห็นผลการเรียนของลูก ฉะนั้น พ่อแม่ควรอธิบายให้ครูเข้าใจว่า พ่อแม่ไม่ต้องการรับผิดชอบภาระของลูกแทนลูก และพ่อแม่ไม่คิดว่าการจ้ำจี้จ้ำไชให้ลูกทำการบ้านจะส่งผลดีในระยะยาว ทำให้ปัญหานี้เป็นปัญหาระหว่างโรงเรียนและลูก แทนที่จะเป็นปัญหาระหว่างเด็กและครู หรือครูและผู้ปกครอง

เน็ดเองก็เคยถูกครูของลูกบอกให้กระตุ้นลูกเช่นกัน แต่เน็ดขอบคุณความหวังดีของครู และชี้แจงว่ากำลังฝึกฝนลูก เขายินดีให้ครูเสนอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาให้ลูกของเขา รวมถึงให้คำปรึกษาเขาและภรรยา เพราะเขาก็กำลังเรียนรู้เช่นกัน การตอบกลับเช่นนี้ทำให้ครูไม่กังวลว่าตนจะถูกกล่าวโทษหากเด็กมีผลการเรียนไม่ดีนัก และยินดีให้ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กมากกว่าเพียงบังคับให้พวกเขาทำสิ่งที่ไม่ต้องการ

 

“ฉันให้ลูกทำการบ้านเองมาตลอด แต่เมื่อถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก็ดูจะเสี่ยงเกินไป”

แม้การเข้ามหาวิทยาลัยจะตึงเครียด แต่วิลเลียมและเน็ดเตือนให้พ่อแม่ตระหนักว่าการเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ได้นั้นไม่ใช่จุดจบของชีวิตหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ควรกังวลจนพรากสิทธิในการควบคุมตนเองไปจากลูก เพราะหากพ่อแม่ทำเช่นนั้น สารที่พ่อแม่ส่งถึงลูกคือ “แต่ก่อนพ่อแม่เชื่อใจลูกนะ แต่กับเรื่องสำคัญจริงๆ ลูกจัดการเองต้องไม่ดีแน่” ซึ่งย่อมส่งผลให้ลูกต้องลำบากเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยจริงๆ เพราะต้องบริหารเวลาเองอย่างกะทันหัน ไม่มีใครดูแลอย่างที่เคย

 

“ถ้าลูกไม่ประสบความสำเร็จ ฉันกลัวว่าลูกจะรู้สึกแย่กับตัวเอง”

ข้อความที่แฝงในความกังวลนี้ คือ “ฉันต้องปกป้องลูกของฉันจากตัวของลูกเอง” ความผิดหวังนั้นเป็นอารมณ์ที่ทุกคนต้องเรียนรู้แนวทางรับมือด้วยตนเอง ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ลูกยังมีโอกาสรู้สึกแย่ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้มากกว่ารู้สึกแย่เพราะล้มเหลว จึงดีกว่าที่พ่อแม่จะสนับสนุนลูกหลังทำผิดพลาด และชี้ให้ลูกเห็นว่ามันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ไม่ใช่จุดจบแต่อย่างใด

 

“ฉันไม่อยากให้ลูกพลาดซ้ำรอยฉัน”

ช่างน่าเศร้าที่วิลเลียมได้ยินประโยคนี้บ่อยครั้งในคลินิกของเขาเอง เขามักจะถามกลับว่าพ่อแม่รู้สึกว่าตนได้รับบทเรียนจากความผิดพลาดนั้นหรือไม่ หากย้อนเวลากลับไปได้ จะทำเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาจะเลือกเส้นทางเดิม แต่บางครั้งบทสนทนาก็นำไปสู่การสารภาพว่าพ่อแม่กลัวลูกจะกลายเป็นเหมือนตนเอง และหากเป็นเช่นนั้น คนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือด้านจิตใจก่อนคือพ่อแม่ ไม่ใช่ลูก

 

พ่อแม่ศึกษาแนวทางบ่มเพาะความสามารถในการกำกับดูแลตนเองเพิ่มเติมได้ใน

อยู่เองได้ โตเองเป็น: เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตด้วยมือตัวเอง

William Stixrud และ Ned Johnson เขียน

ศิริกมล ตาน้อย แปล

320 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่