Phenomenal Learning from Finland – สมรรถนะที่ 4 ทักษะการสื่อสารรอบด้าน

เรื่อง : นันท์ชนก คามชิตานนท์

 

[su_note note_color=”#f7d843″]เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมความท้าทายใหม่ๆ ฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆ ที่โดดเด่นเรื่องการศึกษา ขานรับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยแนวคิดด้านการศึกษาที่ร้อยเรียงมาเป็นหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่

หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เน้นทักษะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลและควบคุมตนเอง ทักษะทางสังคม หรือทักษะการสื่อสาร ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนเอาตัวรอดและสร้างคุณค่าในตัวเองได้ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของคนเรามากขึ้นทุกที

สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการจึงเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่สำคัญในหลักสูตรการศึกษาใหม่ของฟินแลนด์ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมทักษะความเป็นมนุษย์ของเยาวชนแห่งอนาคต

สมรรถนะที่ 4 คือทักษะการสื่อสารรอบด้านคือความพยายามในตอบรับโลกยุคใหม่ที่ท่วมท้นด้วยสื่อหลากหลายและสารมากมาย เป็นสมรรถนะสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนเสพและใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน[/su_note]

 

ในโลกที่ท่วมท้นด้วยสื่อและสารหลากประเภทหลายเจตนา ข้อมูลส่งผ่านกันในรูปแบบภาพ ตัวเลข เสียง การสัมผัส รูปแบบดิจิทัล หรือผสมผสานทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน เพียงแค่ทักษะการอ่านออกเขียนได้ไม่อาจทำให้เราโผล่พ้นเหนือมหาสมุทรข่าวสารข้อมูลได้อีกต่อไป เราต้องการทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า ‘ทักษะการสื่อสารรอบด้าน’ (multiliteracy หรือ multiple literacies) เพื่อส่งและรับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและรู้เท่าทันในโลกยุคใหม่นี้

ในหลักสูตรแห่งชาติปี 2016 ของฟินแลนด์ ทักษะการสื่อสารรอบด้านคือความสามารถที่จะเข้าใจ สร้าง และประเมินการสื่อสารและข้อมูลในรูปแบบภาษา ภาพ เสียง ท่าทาง พื้นที่ หรือผสมผสานกัน

ทักษะการสื่อสารรอบด้านเป็นทักษะที่สำคัญในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ผู้คนนิยมใช้ประเภทสื่อและวิธีการสื่อสารต่างๆ กันออกไป คนหนุ่มสาวมักแสดงออกด้วยภาพ อย่างการโพสต์รูปภาพบนโซเชียลมีเดีย และยังหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเป็นประจำด้วย ในขณะที่คนรุ่นก่อนชอบหนังสือและวารสารที่ตีพิมพ์เป็นรูปเล่มมากกว่า ศิลปะรูปแบบต่างๆ ก็ต้องอาศัยทักษะเฉพาะทาง เช่น ละครเวที ดนตรี ภาพยนตร์ หรือการเต้นสมัยใหม่ นอกจากนี้ วัฒนธรรมต่างๆ ยังนิยมการสื่อสารแตกต่างกันคนที่คุ้นเคยกับโอเปราตะวันตกอาจไม่เข้าใจอุปรากรจีน และกลุ่มคนที่ชอบดนตรีคลาสสิกก็อาจไม่เข้าใจเลยว่าดนตรีเฮฟวีเมทัลไพเราะอย่างไร

เป้าหมายสูงสุดของการสอนทักษะการสื่อสารรอบด้านคือช่วยให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า ประยุกต์ ปรับแก้ สื่อสาร และนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อและช่องทางหลากหลาย นักเรียนควรมีโอกาสฝึกใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ ประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และเรียนรู้เรื่องจรรยาบรรณโดยเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนหรืองานที่ได้รับมอบหมาย

 

สาระสำคัญที่ 1: การสื่อสาร

เนื้อหาหรือการสื่อสารต่างๆ ล้วนสร้างขึ้นโดยมนุษย์ เป็นผลผลิตจากบริบทและมุมมองส่วนตัวของพวกเขาเอง นักเรียนต้องเข้าใจ แยกแยะ และสร้างสรรค์รูปแบบการสื่อสารต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน สัญลักษณ์ หรือภาพ

นักเรียนสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจการสื่อสารได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นผ่านแนวทางดังต่อไปนี้

  • ศึกษารูปแบบการสื่อสารและเนื้อหาลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏในโลกปัจจุบัน
  • เรียนรู้แนวทางการแยกแยะกลุ่มเป้าหมายและเจตนารมณ์ต่างๆ รวมถึงข้อมูลเท็จ
  • ตีความรูปแบบการสื่อสารต่างๆ
  • เรียนรู้การสร้างเนื้อหาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้น การสื่อสารยังมีความสำคัญในแง่การแสดงตัวตน นักเรียนควรได้เรียนรู้ทีจะแสดงตัวตนอย่างเหมาะสมผ่านการสื่อสารรูปแบบต่างๆ

การแสดงตัวตน

โรงเรียนควรสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะหาจุดแข็งของตนเองและสร้างอัตลักษณ์ผ่านการสื่อสาร โดยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงบุคลิกส่วนตัวผ่านข้อความ วิดีโอ ภาพวาด และอื่นๆ การโพสต์ภาพบนโซเชียลมีเดียก็ถือเป็นการแสดงตัวตนแบบสมัยใหม่ได้

ในฟินแลนด์ เด็กๆ เรียนรู้การแสดงตัวตนผ่านการสื่อสารได้ในวิชาเรียนต่างๆ เช่น

วิชาทัศนศิลป์

วิชาทัศนศิลป์แนะแนวทางให้นักเรียนสำรวจและแสดงออกถึงสถานการณ์จริงผ่านงานศิลปะ วิชานี้รวมถึงวัฒนธรรมทางสายตา การสร้างภาพนิทัศน์ การทำให้เป็นดิจิทัล และการพัฒนาเทคโนโลยี วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระดับบุคคลของนักเรียนกับศิลปะ

วิชาดนตรี

เป้าหมายหลักของวิชาดนตรีในโรงเรียนฟินแลนด์ศตวรรษที่ 21 คือส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกิจกรรมทางดนตรีและแสดงออกผ่านเสียงหรือดนตรี การสอนด้านดนตรีจึงเน้นการกระตุ้นนักเรียนโดยตั้งอยู่บนหลักการเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติ ดนตรีที่บรรเลงขึ้นอยู่กับความสนใจส่วนตัวของนักเรียน แต่ก็มีการแนะนำให้นักเรียนรู้จักดนตรีที่ต่างจากความคุ้นเคย อย่างเวิลด์มิวสิกหรือดนตรีท้องถิ่น เครื่องดนตรีที่ใช้แพร่หลายในโรงเรียนหลายชิ้นใช้สำหรับเล่นแบบวง เช่น เครื่องดนตรีให้จังหวะ คีย์บอร์ด กีตาร์ และอื่นๆ เพื่อให้รักเรียนได้เรียนรู้ทักษะอื่นๆ แห่งศตวรรษที่ 21 เช่น ความร่วมมือ ความอดทน และความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม

ละครเพื่อการศึกษา

ละครเพื่อการศึกษาเป็นมากกว่าการแสดงละครโรงเรียน ภาพยนตร์ หรือละครเวที มันสามารถช่วยให้คนเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และหาหนทางใหม่ๆ ในการแสดงออกเมื่อประสบปัญหา ละครในชั้นเรียนไม่ได้แยกผู้แสดงออกจากผู้ชม ทุกคนมีบทบาทสมมติร่วมกัน เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในสถานการณ์และเรื่องราวต่างๆ ‘ราวกับว่า’ เป็นเรื่องจริง ถ้าฉันเป็นผู้อพยพหรือเด็กกำพร้าฉันจะเป็นอย่างไร จะรู้สึกอย่างไร การสวมบทบาทช่วยให้นักเรียนได้ทดลองและสัมผัสประสบการณ์การเป็นคนอื่นได้อย่างปลอดภัย ไม่มีแรงกดดันจากผู้ชมให้ ‘แสดง’ การแสดงละครช่วยให้เข้าใจมุมมองของมนุษย์คนอื่นๆ และสอนให้เข้าอกเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น เด็กๆ สามารถเรียนรู้ทักษะการสื่อสารและการแสดงออก รวมทั้งจัดการกับความเครียดได้ด้วยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เช่นนี้

การเรียนการสอนภาษา

การสอนภาษาไม่ใช่เพียงการสอนทักษะและวิธีการสื่อสาร แต่ควรสอดแทรกเรื่องทางวัฒนธรรมด้วย นอกจากนั้น ควรมีพื้นที่สำหรับการเล่นสนุกและสร้างสรรค์เช่นกัน

โดยรวม เราควรส่งเสริมให้นักเรียนสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย นักเรียนที่ขี้อายต้องเรียนรู้ที่จะแสดงออกในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อกูลสนับสนุน เทคโนโลยีใหม่ๆ อาจช่วยให้นักเรียนเหล่านี้เริ่มต้นสื่อสารได้ ยกตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดแบบนิรนาม เพื่อให้คนสนใจที่ความคิด ไม่ใช่ผู้เสนอความคิด นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ความรู้ร่วมกันโดยวิพากษ์วิจารณ์กันน้อยลงและกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม

 

สาระสำคัญที่ 2: มัลติมีเดียและการสื่อสาร

เราควรส่งเสริมให้นักเรียนผสมผสานสื่อ รูปแบบ และเทคนิคเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาต่างๆ ได้ ครูควรช่วยให้นักเรียนตระหนักว่าสื่อสาธารณะแต่ละประเภททำงานแตกต่างกันอย่างไร และนักเรียนจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนได้อย่างไร ระหว่างการเรียนการสอน ครูควรเน้นให้นักเรียนประเมินสไตล์การส่งสาร เข้าใจสัมพันธบท (intertextuality) และแยกแยะลักษณะของสื่อประเภทต่างๆ ได้

การสร้างและตีความเนื้อหามัลติมีเดีย

การสร้างและตีความเนื้อหามัลติมีเดียมีประเด็นต่างๆ ที่นักเรียนควรได้เรียน ดังนี้

การรู้เท่าทันสื่อ (media literacy)

ผู้ใช้บริการสื่อมวลชนควรรู้เท่าทันเนื้อหาในสื่อ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเผชิญโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ในบริบทดิจิทัล การรู้เท่าทันสื่อเชื่อมโยงกับการเป็นพลเมืองตื่นรู้ ประชาธิปไตย สื่อโสตทัศน์ มรดกทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ รวมถึงการปกป้องผู้เยาว์จากเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายด้วย แนวคิดนี้เน้นการประมวลข้อมูลและความรู้จากนิเวศสื่อทุกประเภท การเข้าใจปรากฏการณ์ในวัฒนธรรมสื่อ การคิดเชิงวิพากษ์ และการใช้สื่อ หรือแนวปฏิบัติทางสังคมเกี่ยวกับสื่อ

ความฉลาดรู้ข้ามสื่อ (transmedia literacy)

ประเด็นนี้เป็นความก้าวหน้าประการใหม่ของการวิจัยด้านการรู้เท่าทันสื่อ โดยมองผู้ผลิตสื่อว่าเป็น “prosumer” หรือเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตสื่อในเวลาเดียวกัน ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ เด็กๆ ไม่ใช่แค่ผู้รับสารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้ส่งสารเชิงรุกด้วย เยาวชนหลายคนทำวิดีโอลงยูทูบและทำวล็อก จนมีชื่อเสียงในยูทูบและโซเชียลมีเดีย หลายคนมีคนชื่นชอบมากมายและมีผู้ติดตามหลายแสนคน ในขณะเดียวกันผู้ติดตามก็ควรเรียนรู้ที่จะมองเห็นเจตนารมณ์และวาระซ่อนเร้นของคนดังเหล่านี้ เนื่องจากรายได้ของพวกเขาส่วนใหญ่มาจากสปอนเซอร์และการโฆษณาด้วยการสอดแทรกผลิตภัณฑ์

เมื่อสื่อในปัจจุบันมีลักษณะที่สลับข้ามไปมาระหว่างสื่อด้วยกันได้ การสร้างเนื้อหามัลติมีเดียผ่านสื่อและช่องทางหลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เรียนควรได้ฝึกตีความ แบ่งปัน สร้าง และประเมินสารในสื่อต่างๆ ทั้งด้วยตัวเองและทำเป็นกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น การผลิตวิดีโอ หรือแอนิเมชั่นแล้วโพสต์ลงบนอินเทอร์เน็ตโรงเรียน เป็นการร่วมมือกันที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจการผลิตมัลติมีเดียและวิธีการสร้างสมดุลระหว่างข้อเท็จจริงกับเรื่องสมมติ การอ่านเชกสเปียร์และดูภาพยนตร์สมัยใหม่ก็อาจช่วยส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสัมพันธบทได้ เนื่องจากผลงานศิลปะสมัยใหม่หลายชิ้นอ้างอิงเรื่องราวมาจากงานคลาสสิก

การปกป้องความเป็นส่วนตัว

ประเด็นนี้สำคัญมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ผู้เยาว์ควรเรียนรู้กลไกการทำงานของโซเชียลมีเดีย การตั้งค่าความปลอดภัยที่จำเป็น รวมถึงความเป็นสาธารณะและความเป็นส่วนตัวเมื่อเราเผยแพร่เนื้อหาหรือความคิด ฉันโพสต์ภาพนี้บนโซเชียลมีเดียได้หรือไม่ ฉันควรขออนุญาตในกรณีใด ควรผลิตเนื้อหาที่อาจขัดจริยธรรมหรือไม่ บางครั้งเส้นแบ่งระหว่างสาธารณะกับความเป็นส่วนตัวในโลกสมัยใหม่ก็ไม่ชัดเจน เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าพวกเขาอาจกำจัดข้อมูลทั้งหลายที่โพสต์ลงอินเทอร์เน็ตในภายหลังได้ยาก คนอาจแคปภาพหน้าจอเอาไว้และเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ แม้ว่าเนื้อหาดังกล่าวจะถูกลบไปแล้วก็ตาม

อัลกอริธึมแนะนำสินค้า

ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่สร้างจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งตัวมันเองก็อาจนับได้ว่าเป็นตัวบทประเภทหนึ่ง แอปพลิเคชั่นอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเน็ตฟลิกซ์เลือกเนื้อหาที่แสดงบนหน้าฟีดของเราอย่างไร ผลกระทบของอัลกอริธึมแนะนำสินค้าต่อบริบทและการตีความเนื้อหา รวมถึงประชาธิปไตย กลายเป็นหัวข้อเผ็ดร้อนของการสนทนาในปัจจุบัน ทักษะสำคัญสำหรับพลเมืองในศตวรรษที่ 21 คือการตระหนักถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาได้ด้วยเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรมในสภาพแวดล้อมแบบสื่อสมัยใหม่ เพื่อให้กลไกเบื้องหลังแอปพลิเคชั่นสื่อ เกม และบริการที่เราใช้ไม่กลายเป็นเรื่องลึกลับสำหรับเรา

ความฉลาดรู้เชิงคำนวณ (computational literacy)

หมายถึงความสามารถที่ได้จากการสร้างเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เรามองเห็นหลังบ้านของบริการด้านสื่อต่างๆ และอัลกอริธึมที่ใช้เก็บข้อมูลของบริการเหล่านั้น ในโลกที่กำลังกลายเป็นดิจิทัล เราต้องชี้นำเยาวชนให้มีส่วนร่วมเชิงคำนวณ แทนที่จะเสพเทคโนโลยีเชิงรับเพียงอย่างเดียว ในสภาพแวดล้อมแบบสื่อสมัยใหม่เช่นนี้ การเปลี่ยนจากผู้บริโภคเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมด้านสื่อนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เด็กๆ จะพัฒนาความฉลาดรู้เชิงคำนวณได้ดีที่สุดเมื่อได้สร้างสรรค์อุปกรณ์ บริการด้านซอฟต์แวร์ และเกมของตัวเองเมื่ออยู่ที่โรงเรียน พลเมืองทุกคนจำเป็นต้องบรรลุทักษะการสื่อสารรอบด้านเชิงคำนวณ เพื่อให้สังคมมีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และตระหนักถึงข้อมูลเท็จหรือเรื่องแต่งอย่างเป็นประชาธิปไตยและโปร่งใส

ความฉลาดรู้ด้านเกม (games literacy)

เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการวิจัยเชิงรุกทั้งในฟินแลนด์และที่อื่นๆ เมื่อคนรุ่นที่เล่นเกมดิจิทัลมาทั้งชีวิตเติบโตขึ้น สังคมและวัฒนธรรมสตรีทก็มีการเล่นสนุกมากขึ้น ขอบเขตระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งยิ่งพร่าเลือน และกิจกรรมหลายต่อหลายชนิดกลายเป็นเกมในสายตาของคนรุ่นเยาว์ นี่เป็นปัญหาสำหรับการศึกษา ประเด็นเรื่องเกมิฟิเคชั่น (gamification คือการประยุกต์รูปแบบและองค์ประกอบของเกมไปใช้ในกิจกรรมอื่น) กลายเป็นหัวข้ออภิปรายเผ็ดร้อน เช่นเดียวกับเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น แว่นวีอาร์ เทคโนโลยีเออาร์ในสมาร์ตโฟน และแว่นเอ็มอาร์ซึ่งผสมผสานโลกความจริงและโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน กราฟิกคอมพิวเตอร์ที่สมจริงเหลือเชื่อซึ่งสร้างจากโครงข่ายประสาทเทียม (neural network) ทำให้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งเลือนรางลงไปอีก ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างโจทย์รูปแบบใหม่ๆ ให้เราต้องแยกแยะว่าความจริงคืออะไรกันแน่

 

สาระสำคัญที่ 3: ทักษะด้านบริบท

สารและการสื่อสารที่เราสร้างขึ้นผูกติดกับวัฒนธรรมและการมองโลกของเราเองเสมอ สารเหล่านั้นจะถูกตีความผ่านมุมมองทางวัฒนธรรมของผู้รับสาร เนื้อหาชิ้นหนึ่งอาจมีหลากหลายความหมายขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและบริบทของทั้งผู้ส่งและผู้รับสาร เราจึงต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเพื่อจะตีความสารได้อย่างถูกต้อง

วัฒนธรรมและสุนทรียศาสตร์

นักเรียนควรทำความเข้าใจวัฒนธรรมอื่นได้เมื่อต้องตีความเนื้อหาและสุนทรียศาสตร์ของการสื่อสารต่างๆ พวกเขาควรได้รับการชี้แนะให้เข้าใจบทบาทของวัฒนธรรมต่อการสื่อสารและการส่งสารโดยทั่วไป เมื่อเรียนในในระดับสูงขึ้น นักเรียนควรได้ประเมินและตีความการส่งสารและการสื่อสารผ่านมุมมองทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ฝึกอภิปรายและสนับสนุนมุมมองทางวัฒนธรรมและสุนทรียศาสตร์ของตน พวกเขาควรมีโอกาสสร้างสรรค์ ประเมิน อภิปราย รวมทั้งตีความสารและการสื่อสารสารพัดรูปแบบ จากบริบททางวัฒนธรรมและสุนทรียศาสตร์ที่หลากหลาย นักเรียนต้องเข้าใจว่าการสื่อสารมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง และเข้าใจว่าสารผูกติดกับวัฒนธรรมของผู้ประพันธ์และบริบทที่มันถูกสร้างขึ้นมาเสมอ

วิชาการ

นักเรียนควรได้เรียนรู้ เข้าใจ และใช้คำศัพท์เฉพาะสาขาวิชาในกิจกรรมที่โรงเรียนได้ ลองใคร่ครวญกับนักเรียนถึงความแตกต่างระหว่างภาษาในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปกับการใช้ศัพท์วิชาการ ทำไมวงศัพท์เฉพาะสาขาวิชาจึงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เตรียมบทความ วิดีโอ เนื้อหา และอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการอภิปรายไว้ให้นักเรียน นอกจากนี้ อาจเปรียบเทียบว่าแนวคิดในสาขาวิชาต่างๆ แตกต่างกันอย่างไร

กรณีตัวอย่างในวิชาวิทยาศาสตร์

  • เด็กๆ ควรได้อภิปรายถึงความแตกต่างระหว่างภาษาพูดกับศัพท์วิทยาศาสตร์
  • ครูควรช่วยนักเรียนทำความเข้าใจตัวบทและสารเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสำนวนและคำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น แนวคิดหลักๆ ในวิชาชีววิทยา
  • เมื่อเรียนระดับสูงขึ้น นักเรียนต้องมีโอกาสฝึกทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาการแบบสหวิทยาการหรือเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์
  • นักเรียนควรใช้ความรู้เรื่องคำศัพท์วิชาการให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารได้ เช่น เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างชีววิทยากับนิทานพื้นบ้าน
  • นักเรียนจะก้าวสู่วิชาการระดับสูงสุดเมื่อสามารถสร้างสรรค์ประเมิน และตีความเนื้อหาและสื่อทั้งเฉพาะทางหรือสหวิทยาการได้

 

ทักษะการสื่อสารรอบด้านเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ และความสามารถที่จะใช้ชีวิตในโลกที่หลากหลายมากขึ้นทุกวัน เราเข้าใจผู้อื่นได้หลายวิธีและผู้อื่นก็เข้าใจเราได้หลายวิธีเช่นกัน ทักษะการสื่อสารรอบด้านคือการเข้าใจความหลากหลายและความสอดคล้องกัน ถ้าเด็กมีทักษะการสื่อสารรอบด้านอย่างแท้จริง พวกเขาจะมีทัศนคติเปิดกว้างต่อผู้คนและวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งยังเข้าใจแรงจูงใจและปัจจัยขับเคลื่อนของผู้อื่นได้