Moonshot Thinking, ออกแบบวิธีสอน, ก้าวไปให้ถึงดวงดาว

บุญชัย แซ่เงี้ยว เรียบเรียง

 

มีแนวคิดหนึ่งที่ปัจจุบันได้ยินกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดนี้อิงกับสาขาทางเทคโนโลยีและการท่องอวกาศ ซึ่งก็สอดคล้องไปกับบริบทปัจจุบันที่เทคโนโลยีเติบโตรวดเร็วยิ่งและเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง แนวคิดนี้มีชื่อว่าความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาว (moonshot thinking) แนวคิดนี้เชื่อในการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ ให้เป็นไปได้ แม้ต้องผ่านการล้มลุกมากเพียงใดก็ตาม

เป็นไปได้ไหมที่การศึกษาจะผนวกรวมเอาวิธีคิดแบบเป้าหมายสู่ดวงดาวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง หากต้องการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง หากเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ อยู่ที่เราจะกล้าคิดกล้าฝันหรือเปล่า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่นักการศึกษาทุกคนจะก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน และตั้งเป้าหมายให้ไกลถึงดวงดาว

 

เป้าหมายสู่ดวงดาวคืออะไร

มีตัวอย่างน่าสนใจอยู่สองเรื่องก่อนจะขยายความว่าเป้าหมายสู่ดวงดาวคืออะไร ตัวอย่างแรกมาจากทีม X ทีมวิจัยและพัฒนาที่ก่อตั้งโดยกูเกิล โดยตั้งเป้าจะพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว แทนที่จะตั้งเป้าแบบทั่วไปเช่นเพิ่มประสิทธิภาพ 10 เปอร์เซ็นต์

อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งห่ามไม่แพ้กันคือโครงการสเปซเรซ (Space Race) ในทศวรรษ 1960 เมื่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่ดวงจันทร์ ทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร แต่เมื่อตั้งเป้าไว้แล้ว ทุกคนทุกฝ่ายต่างตั้งหน้าตั้งตาทำตามเป้าหมาย และเพียง 10 ปี ความฝันก็กลายเป็นความจริง

ทั้งสองเรื่องฟังตอนแรกดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่พวกเขาก็ทำได้จริง ทีม X อธิบายว่าเป้าหมายสู่ดวงดาวคือสิ่งที่ “อยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างความบ้าบิ่นทางเทคโนโลยีกับนิยายวิทยาศาสตร์” และก็คงคล้ายๆ กับที่จอห์น เอฟ. เคนเนดี กล่าวไว้ว่า

“เราทำเรื่องต่างๆ ไม่ใช่เพราะมันทำได้ง่าย แต่เพราะมันยากและท้าทาย”

“เราเลือกจะไปดวงจันทร์” จอห์น เอฟ. เคนเนดี กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยไรซ์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 1962, ภาพจาก Wikipedia

เป้าหมายสู่ดวงดาวคือการกล้าคิดฝันถึงสิ่งที่ในตอนนั้นเราคิดว่าไม่มีทางเป็นไปไม่ได้ และหาหนทางทำมันให้เป็นจริง

สำหรับเป้าหมายสู่ดวงดาวในบริบทของโรงเรียน เราอาจต้องเริ่มต้นจากคำถามสำคัญที่ว่า เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมีชุดความคิดแบบเป้าหมายสู่ดวงดาวได้อย่างไร ทำอย่างไรให้เขาเติบโตแบบที่กล้าฝัน และปลูกฝังความคิดที่ว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ แม้กระทั่งฝันที่ตัวเราเองไม่กล้าฝันว่าจะทำสำเร็จ

และบางทีจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการจุดประกายความคิดกล้าบ้าบิ่น อาจเริ่มจากการช่วยนักเรียนพัฒนาชุดความคิดแบบเติบโต

 

ชุดความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาว

ครูที่หวังความก้าวหน้า 10 เท่าคือคนที่กล้าเสี่ยง และเข้าใจดีว่าเรื่องพวกนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นในทันที ครูประเภท 10X จะมองข้ามเสียงโต้แย้งต่างๆ เช่น “นักเรียนยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจ” “สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง!” “เราก็ทำแบบนี้กันมาตลอด” หรือ “ผู้บริหารไม่มีทางเห็นชอบแน่ๆ!” แต่พวกเขาจะยืนหยัดและตั้งหน้าตั้งตาบ่มเพาะพลังแห่งความเป็นไปได้แม้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าผลลัพธ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

“มีเพียงแค่คนที่ยอมเสี่ยงไปให้ถึงที่สุดเท่านั้นที่จะรู้ว่าตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน” – ที.เอส. อีเลียต

ในหลายๆ ที่ หลายๆ โรงเรียน คำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ดูเป็นคำต้องห้าม หากพูดบ่อยเกินไปอาจถูกผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกพบได้ แต่บนโลกกว้างใหญ่ใบนี้ “การเปลี่ยนแปลง” หมายถึงนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นและมีความหมายมากขึ้น

ในเว็บไซต์ของทีม X (หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Moonshot Factory) มีแผนภาพหนึ่งชื่อว่าแผนภาพเวนน์ (Venn diagram) ซึ่งเป็นเหมือนพิมพ์เขียวสำหรับการไปสู่ดวงดาว

ตามแผนภาพข้างต้น ขั้นแรกทีม X จะมองหาปัญหาในเรื่องใหญ่ๆ ปัญหาที่ส่งผลต่อคนจำนวนมาก จากนั้นจะเริ่มหาวิธีแก้ปัญหาแบบสุดโต่งหรือก็คือวิธีแก้ปัญหาแบบที่ดูเป็นไปไม่ได้ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วทีม X จะมาดูเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่ตรงกับความต้องการนัก แต่มีศักยภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ในอนาคต ตัวอย่างโครงการของทีม X ก็เช่น โปรเจ็กต์วิง (Project Wing) ที่พัฒนาเครื่องบินขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือโดรนเพื่อสิ่งสินค้า โดยมีเป้าหมายลดมลภาวะที่รถขนส่งสินค้าบนท้องถนนปล่อยออกมา เวย์โม (Waymo) โครงการสร้างยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ

เวย์โม เปลี่ยนโลกการเดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ, ภาพจาก Wikipedia

ตั้งเป้าหมายสู่ดวงดาว

เมื่อถึงเวลานำแนวทางของทีม X ไปประยุกต์ใช้จริง และต้องออกแบบวิธีสอนนักเรียนให้ตั้งเป้าหมายสู่ดวงดาว แอนนี บร็อก และ เฮเธอร์ ฮันด์ลีย์ สองผู้เขียน แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset (The Growth Mindset Playbook) ให้ข้อแนะนำว่า ในตอนเริ่มต้นอาจจะมีคนที่มีปัญหากับการคิดแบบนอกกรอบ ดังนั้นก่อนเริ่มบทเรียน ให้ครูพานักเรียนไปเข้าใจมุมมองของคนที่เคยพบเจอเหตุการณ์ที่ตั้งเป้าหมายสู่ดวงดาวมาก่อน เช่น คนที่เคยพบเจอช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค ใครจะคิดว่าปัจจุบันเราจะสั่งสินค้าออนไลน์ได้และได้รับสินค้าภายในไม่กี่วัน หรือใครจะคิดว่าสมาร์ตโฟนเครื่องเล็กๆ จะทำอะไรได้มากมายเช่นนี้

จากนั้นลองเปิดวิดีโอเรื่อง “การคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาว” (What is Moonshot Thinking?) โดยทีม X ไปพร้อมๆ กับอธิบายวิดีโอให้นักเรียนเข้าใจว่าเป้าหมายสู่ดวงดาวว่ามีหน้าตาอย่างไร ให้เล่าวิธีคิดของทีม X ตัวอย่างโครงการที่ทีม X เคยทำมา แล้วแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเรียน พร้อมกับอธิบายแผนภาพเวนน์ประกอบ

“What is Moonshot Thinking?” วิดีโอจาก Youtube เผยแพร่โดย Edward Capaldi

ส่วนที่สำคัญสุดจะอยู่ตรงนี้ เมื่ออธิบายแผนภาพเวนน์แล้ว ให้แจกแผนภาพเวนน์ให้นักเรียน หรือให้นักเรียนวาดขึ้นเอง โดยครูอาจเป็นคนตั้งต้นกำหนดปัญหาที่ต้องแก้ไขให้กับนักเรียนก่อน เป็นได้ทั้งปัญหาระดับโลก ระดับประเทศ ระดับเมือง หรือระดับโรงเรียนก็ได้ แต่ต้องเป็นปัญหาที่กระทบถึงคนจำนวนมาก โดยเลือกประเด็นปัญหาให้เหมาะกับช่วงอายุของนักเรียน

จากนั้นให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันและเขียนปัญหาที่ต้องการแก้ไขลงบนวงกลมบนสุดของแผนภาพ แล้วช่วยกันระดมความคิดหาทางแก้ปัญหาให้ได้หลายวิธีมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้บางวิธีดูเป็นไปไม่ได้ก็ตาม จากนั้นเขียนข้อเสนอลงบริเวณวงกลมซ้ายมือบนแผนภาพเวนน์ กฎสำคัญตรงนี้คือ จะไม่มีไอเดียไหนถูกมองว่าไร้สาระ และย้ำกับนักเรียนบ่อยๆ ว่าเรากำลังค้นหาหนทางแก้ปัญหาที่กล้าบ้าบิ่น หลังจากที่ระดมความคิดกันแล้ว ให้นักเรียนตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาเพียงวิธีเดียวเพื่อศึกษาเพิ่มเติม และในวงกลมสุดท้ายทางขวามือ ให้นักเรียนเขียนวิธีที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย โดยกระตุ้นให้นักเรียนคิดให้ใหญ่เข้าไว้โดยไม่ต้องกังวลถึงข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อเขียนไอเดียของกลุ่มเสร็จแล้ว ให้นักเรียนนำเสนอไอเดียให้เพื่อนๆ ในห้องฟัง หรืออีกกรณีครูอาจให้นักเรียนทั้งชั้นคิดโจทย์ปัญหาเรื่องเดียวกัน แล้วให้พวกเขาจับกลุ่มแล้วมาแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่มกัน ก็น่าจะได้เห็นความคิดที่หลากหลายได้ดีเช่นกัน

 

แนวทางเป้าหมายสู่ดวงดาว

นอกจากการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมชุดความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาวดังกล่าว บร็อกและฮันด์ลีย์ยังแนะนำอีกหลายกลวิธีให้ปรับใช้ร่วมกับการสอน เพื่อสอนให้นักเรียนเข้าใจถึงกระบวนการและเหตุผลของการเรียนรู้ กระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์ และบ่มเพาะชุดความคิดแบบเติบโต ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดนักคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาว

  1. เปิดโอกาสให้มากขึ้น

ให้ครูให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้และการเติบโตมากกว่าความสมบูรณ์ของชิ้นงานแบบฝึกหัด เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงทักษะการเรียนรู้ ซักถามข้อสงสัย และเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหา เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมที่เน้นการเติบโต นอกจากนั้นให้สอนและให้นักเรียนฝึกฝนการใช้ความคิดเชิงออกแบบ (design thinking) โดยมีขั้นตอนเริ่มจากการสำรวจปัญหา คิดหาวิธีแก้ นึกถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ระดมความคิด รวบรวมข้อเสนอแนะ ทบทวนปัญหาและวิธีแก้ไข สร้างต้นแบบ ทดสอบความคิด และทบทวนกระบวนการเรียนรู้ ทั้งหมดนี้จะสอนให้นักเรียนกล้าเสี่ยงและพร้อมสำรวจความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาว

  1. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เช่น ให้นักเรียนใช้ชุดแว่นตาเสมือนจริงไปดูเกาะกาลาปากอส ซึ่งจะฉายภาพราวกับอยู่ในสถานที่จริงแทนการศึกษาจากแผนที่แบบเดิม หรือให้นักเรียนได้คุยกับนักขุดหาไดโนเสาร์ผ่านโปรแกรมออนไลน์ แทนการเรียนเนื้อหาทั่วไปเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ให้ใช้เทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นการตั้งคำถาม เปิดรับความคิดเห็น เปิดมุมมองใหม่ๆ ตลอดจนเสริมจินตนาการความเป็นไปได้ต่างๆ

  1. การเรียนรู้ตามความสนใจและศักยภาพบุคคล

เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามจังหวะและวิธีการของตัวเอง การให้นักเรียนได้เรียนวิชาที่สนใจจะช่วยส่งเสริมการคิดไกลแบบก้าวกระโดด

  1. ยินดีกับความยอดเยี่ยม

ชื่นชมครูและนักเรียนที่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซนทั้งในและนอกโรงเรียน ยินดีกับทุกความท้าทาย ความล้มเหลว ความคิดอันยิ่งใหญ่ รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจที่ไปสู่ความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาว ให้ครูกลับมาคิดว่าการศึกษาในโรงเรียนควรมีหน้าตา ท่วงทำนอง และบรรยากาศอย่างไร คิดให้ไกลถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามขนบแบบเดิม

  1. เครือข่าย

คิดให้ไกลเกินกว่าห้องเรียน โรงเรียน จังหวัด หรือแม้แต่ประเทศ คอยมองหาความคิดดีๆ ไม่ว่าจะมาจาก ณ ที่แห่งใด และมองหาแรงบันดาลใจจากนักการศึกษาทุกคน

  1. ยินดีกับความล้มเหลว

ที่บริษัท X พนักงานจะได้รับโบนัสจากการล้มเหลวตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะพวกเขาต้องการทราบถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ในไอเดียแผนงานนั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาบานปลายและต้องเสียเวลาจัดการ หากทีมงานไม่อาจหาช่องโหว่ของแผนงานได้ โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายสู่ดวงดาวก็ย่อมมีมากขึ้น

  1. ตั้งคำถาม ตั้งคำถาม และตั้งคำถาม

กระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถาม ยิ่งตั้งคำถามเยอะยิ่งดี นี่คือปัจจัยสำคัญในการบ่มเพาะความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาว สอนนักเรียนให้รู้จักตั้งคำถามแบบต่างๆ และจุดไฟความสงสัยใคร่รู้ในตัวนักเรียน

  1. ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ

สืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาความรู้ที่ครูสนใจจะนำมาสอนนักเรียนจากทางสื่อโซเชียลมีเดีย และเชิญให้ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนผ่านโปรแกรมออนไลน์ การเชิญบุคคลจริงผู้ซึ่งไปถึงเป้าหมายสู่ดวงดาวของตนสำเร็จแล้วมาเป็นวิทยากร จะช่วยให้นักเรียนมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะไปถึงเป้าหมาย ซึ่งไม่อาจหาได้จากหนังสือเรียน

 

ฝันให้ไกล ไปให้ถึง อย่ายอมแพ้

แน่นอนว่าแนวคิดเป้าหมายสู่ดวงดาวจำนวนมากจะมีจุดบกพร่อง ไปไม่ถึงเป้าหมาย ต้องล้มเลิกไป แต่ความคิดเพื่อเป้าหมายสู่ดวงดาวต้องเริ่มจากความเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ การฝึกใช้ความคิดในลักษณะนี้ จะทำให้เรามองเรื่องต่างๆ ด้วยสายตาใหม่ ทั้งยังกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ และเปิดเส้นทางสู่ความเป็นไปได้ต่างๆ จงฝึกฝนความคิด คิดให้ไกล และกล้าที่จะเสี่ยง

ตอนที่จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศเป้าหมายว่าจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ เขามีเพียงความฝัน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไร แต่เขาก็รู้ว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องก้าวออกจากสภาพที่เป็นอยู่ และทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เคนเนดีกล่าวไว้ว่า

“เราออกเรือไปสู่น่านน้ำใหม่เพราะที่นั่นมีองค์ความรู้ใหม่ให้เรียนรู้และมีสิทธิที่ต้องสู้ให้ได้มา ทั้งหมดนี้ต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ แล้วนำมันมาใช้เพื่อความก้าวหน้าของพวกเราทุกคน”

 

คิดและก้าวไปให้ถึงดวงจันทร์ด้วยกันใน

The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่