โลกซึมเศร้า (ฉบับย่อ)

 

 

“อย่าถามว่าอะไรอยู่ในหัวคุณ แต่จงถามว่าหัวคุณอยู่ในอะไร”

– ดับเบิลยู. เอ็ม. เมซ (W. M. Mace)

 

ทุกวันนี้โรคซึมเศร้ากลายเป็นโรคแห่งยุคสมัย และเป็นคำที่ปรากฏในบริบทสังคมยุคปัจจุบันอยู่บ่อยครั้ง ทว่าแม้เราจะได้ยินและรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจากช่องทางการสื่อสารต่างๆ มากมาย จำนวนผู้ป่วยโรคนี้กลับดูเหมือนจะไม่ลดน้อยลง ซ้ำยังเพิ่มขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน เรามองข้ามอะไรไปหรือเปล่า เรามัวแต่สนใจ ‘โรค’ จนหลงลืม ‘โลก’ ไปใช่หรือไม่

 

เดินทางสู่โลกซึมเศร้า

โยฮันน์ ฮารี คือนักเขียน นักข่าว และผู้ป่วยที่เผชิญโรคซึมเศร้าตั้งแต่วัยรุ่น เขาติดอยู่ในวังวนของโรคอยู่นาน 13 ปี และดูเหมือนยาจะช่วยคลายความเจ็บปวดของเขาได้เพียงชั่วคราว แต่ไม่อาจฟื้นฟูจิตใจเขาอย่างยั่งยืน หากคุณเป็นโรคนี้ บางทีคุณอาจเคยรู้สึกอย่างที่โยฮันน์รู้สึก นั่นคือ “ไม่ว่าผมจะเพิ่มขนาดยาต้านซึมเศร้ามากแค่ไหน ความโศกเศร้าก็มักจะวิ่งแซงหน้ายาไปเรื่อยๆ ผมจะสัมผัสถึงฟองสบู่ของความโล่งใจที่เกิดจากสารเคมี และพอฟองสบู่แตก ความทุกข์ที่คอยทิ่มแทงก็หวนกลับมา”

ด้วยเหตุนี้ โยฮันน์จึงตัดสินใจออกเดินทางสำรวจ ‘โลก’ ซึมเศร้า ดินแดนที่เขาคุ้นเคยแต่เหมือนไม่รู้จัก ผลผลิตที่ตกผลึกได้จากการเดินทางครั้งนี้คือหนังสือ โลกซึมเศร้า: คลายปมโลกแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวยา ซึ่งรวบรวมข้อมูล ผลการศึกษา และข้อคิดเห็นที่น่าสนใจมากมาย จากแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมศาสตร์ และนักวิจัยอีกหลากหลายสาขาอาชีพ

หลังสิ้นสุดการเดินทาง โยฮันน์ค้นพบว่า สาเหตุที่ทำให้เขาตกอยู่ในภาวะเช่นนี้มาเนิ่นนาน เป็นเพราะเขา ‘ตัดขาด’ จากสิ่งสำคัญหลายสิ่งในชีวิต และหนทางที่จะเยียวยาได้คือ หันมา ‘เชื่อมต่อ’ ความสัมพันธ์ที่เคยหล่นหายไปอีกครั้ง

ทว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อค้นพบในหนังสือเล่มนี้เฆี่ยนตีเขาหลายครั้ง และทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเอง ดังนั้น หากคุณกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า คุณไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองให้ออกไปเชื่อมต่อความสัมพันธ์อย่างทันท่วงที เพียงแต่เปิดใจรับแนวคิดนี้ไว้ แล้วค่อยๆ ปรับใจและปรับตัว

 

โรคซึมเศร้าและยาต้านซึมเศร้า

สถิติที่น่าสนใจและน่าตกใจคือ ในสหรัฐอเมริกา 1 ใน 5 ของผู้ใหญ่กินยารักษาโรคจิตเวชอย่างน้อยหนึ่งขนาน ขณะที่ 1 ใน 3 ของชาวฝรั่งเศสกินยารักษาโรคทางระบบประสาทและจิตอย่างยาต้านซึมเศร้า ส่วนสหราชอาณาจักรมีอัตราการใช้ยาเหล่านี้เกือบจะสูงที่สุดในทวีปยุโรป ผลการทดสอบน้ำประปาในประเทศแถบตะวันตกก็มักจะพบว่ามียาต้านซึมเศร้าเจือปนเสมอ เนื่องจากคนจำนวนมากกินยาเหล่านั้นและขับถ่ายยาออกมาจนไม่สามารถกรองออกจากน้ำที่เราดื่มกันทุกวันได้ เราถูกยาเหล่านี้ซัดถาโถมอย่างแท้จริง

คำถามที่คาใจโยฮันน์มานานคือ เหตุใดเขาถึงยังซึมเศร้าอยู่แม้จะกินยาต้านซึมเศร้าแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ ทำไมความทุกข์ยังคงวิ่งแซงหน้าเขาไป ยาเพียงอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ อะไรคือหนทางรักษาที่แท้จริงและยั่งยืนกันแน่

โยฮันน์เดินทางไปพบนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบของยา และเริ่มค้นพบว่า อุตสาหกรรมยาขนานใหญ่ของสหรัฐอเมริกามีบทบาทควบคุมผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยาอย่างมาก และผลทางการรักษาของยาต้านซึมเศร้าที่จำหน่ายในท้องตลาดซึ่งส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยนั้นยังเป็นเรื่องน่ากังขาที่ต้องพิสูจน์ต่อไป

แน่นอนว่ายาต้านซึมเศร้าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของวิธีรักษาที่ใช้ได้ผลในคนบางกลุ่ม โยฮันน์กล่าวว่า ถ้าคุณรู้สึกว่ายาช่วยได้และมีผลดีมากกว่าผลข้างเคียง คุณก็ควรใช้ต่อไป แต่หลักฐานที่เขาพยายามแสดงให้เห็นคือ เราไม่ควรกล่าวว่ายาเป็นวิธีรักษาเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลเพียงพอสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

 

ความไม่สมดุลในสมอง หรือความไม่สมดุลในชีวิต?

สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการค้นหาสาเหตุของโรคซึมเศร้าคือ แท้จริงแล้วโรคนี้เป็นเพียงเรื่องของสารเคมีที่ไม่สมดุลในสมองจริงหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์อย่างจอร์จ บราวน์ (George Brown) และเทอร์ริล แฮร์ริส (Tirril Harris) ทำการทดลองเพื่อศึกษาผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง โดยเฝ้าติดตามเก็บหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิตที่พวกเธอประสบพบเจอตลอดหลายปี เมื่อเวลาผ่านไป ผู้หญิงบางคนในกลุ่มมีภาวะซึมเศร้า และผลการศึกษาชี้ว่า เหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับภาวะซึมเศร้าของพวกเธอ

ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในของตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวพันกับปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง เรื่องนี้กลายเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ในแวดวงวิทยาศาสตร์หลายแขนง หลักสูตรอบรมกระแสหลักส่วนใหญ่เริ่มสอนว่า ความเศร้าหมองทางจิตใจรูปแบบต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลนั้นมาจากสาเหตุสามประเภท ได้แก่ สาเหตุทางชีววิทยา ทางจิตวิทยา และทางสังคม ซึ่งทุกประเภทล้วนส่งผลจริง แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “ทฤษฎีชีวจิตสังคม” (bio-psycho-social model)

ปัจจัยทั้งสามประเภทนี้เกี่ยวโยงกัน และเราจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งสามเพื่อทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าของใครสักคน โยฮันน์ได้สรุปสาเหตุเบื้องหลังโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลที่เขาค้นพบจากการเดินทางครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็นสาเหตุหลักๆ เก้าประการ ดังนี้

 

 

ตัดขาดความสัมพันธ์

สาเหตุเก้าประการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

 

หนึ่ง การตัดขาดจากงานที่มีความหมาย

ผลสำรวจแกลลัป (Gallup) ได้ทำวิจัยอย่างละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า คนทั่วโลกรู้สึกอย่างไรกับงานของตัวเอง ปรากฏว่า จากคนทำงานทั่วโลก มี 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ผูกพันกับงานที่ทำ ขณะที่ 63 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ไม่ผูกพัน ครึ่งหลับครึ่งตื่นมาทำงาน ไม่ได้ทุ่มเทหรือหลงใหลในงานที่ทำอยู่เลย ส่วนอีก 23 เปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่ผูกพันอย่างยิ่ง คือนอกจากไม่ทุ่มเทในงานของตนแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบทางลบต่อผู้อื่นจนบั่นทอนความสำเร็จของเพื่อนร่วมงาน

ไมเคิล มาร์มอต (Michael Marmot) ได้ศึกษาปัจจัยในการทำงานที่ส่งผลต่อโรคซึมเศร้า โดยมุ่งศึกษากลุ่มข้าราชการชาวอังกฤษ และพบว่า ถ้าคุณทำงานราชการและมีอำนาจควบคุมการทำงานมากกว่า คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีความทุกข์ทางอารมณ์ระดับรุนแรงน้อยกว่าคนที่ได้รับอัตราค่าจ้างเท่ากัน มีสถานะพอๆ กัน อยู่ในที่ทำงานเดียวกัน แต่มีอำนาจควบคุมงานน้อยกว่า

“ความเครียดที่เลวร้ายที่สุดของคนเราไม่ใช่การต้องแบกรับภาระมากมายมหาศาล แต่คือการต้องทนกับ งานที่ซ้ำซาก น่าเบื่อ บั่นทอนจิตวิญญาณ ซึ่งทำให้พนักงานค่อยๆ ตายไปทีละนิดในแต่ละวันที่มาทำงาน เพราะงานที่ทำไม่ได้เชื่อมโยงกับส่วนเสี้ยวใดๆ ของตัวตนพวกเขาเลย … การปิดกั้นศักยภาพเป็นหัวใจของสุขภาพที่ย่ำแย่ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์” – ไมเคิล มาร์มอต

 

สอง การตัดขาดจากผู้อื่น

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ จอห์น กาโชปโป (John Cacioppo) ผู้วิจัยให้ผู้เข้าร่วมติดเครื่องบันทึกไฟฟ้าหัวใจไว้และพกเพจเจอร์ เมื่อเพจเจอร์ส่งเสียงเตือน ผู้เข้าร่วมต้องหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ แล้วบันทึกไว้ว่าตัวเองรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นแค่ไหน และบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ ในวันถัดมา ผู้เข้าร่วมทำแบบเดิม แต่ทุกครั้งที่เพจเจอร์ดัง ผู้เข้าร่วมต้องถ่มน้ำลายลงในหลอดทดลองแล้วปิดให้สนิท จากนั้นส่งต่อให้ห้องแล็บ จอห์นทำเช่นนี้เพื่อตรวจหาคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เชื่อมโยงกับความเครียด

ข้อค้นพบจากการทดลองนี้คือ ความเหงาอย่างรุนแรงทำให้คุณรู้สึกเครียดได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับเวลาถูกทำร้ายร่างกายเลยทีเดียว

ผลวิจัยเพิ่มเติมยังระบุว่า คนที่ถูกกระตุ้นให้เหงาจะยิ่งซึมเศร้ามากขึ้นอย่างรุนแรง และคนที่ถูกกระตุ้นให้รู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นจะมีอาการซึมเศร้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นความเหงาไม่ใช่แค่ผลของอาการซึมเศร้าเท่านั้น แต่เป็นตัวการที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าด้วย

“สัญชาตญาณทุกอย่างของมนุษย์พัฒนาขึ้นไม่ใช่เพื่อชีวิตตัวเอง แต่เพื่อชีวิตในกลุ่มหรือเผ่าเช่นนี้ต่างหาก มนุษย์เราจำเป็นต้องอยู่เป็นกลุ่ม พอๆ กับที่ผึ้งจำเป็นต้องมีรังนั่นแหละ”

– โยฮันน์ ฮารี

ความเหงาอันยาวนานเป็นสาเหตุให้เราปิดกั้นตัวเองจากสังคม และระแวงสงสัยปฏิสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ มากขึ้น คุณจะระแวดระวังผิดปกติ เริ่มมีแนวโน้มจะถือสาสิ่งที่คนอื่นไม่ได้เจตนา และเกิดอาการกลัวคนแปลกหน้า คุณเริ่มกลัวสิ่งที่ตัวคุณเองต้องการที่สุด พฤติกรรมเช่นนี้เรียกว่า ผลกระทบแบบก้อนหิมะ (snowball effect) เพราะการตัดขาดจากสังคมจะหมุนวนทับถมจนทำให้คนเรายิ่งตัดขาดจากผู้คนมากกว่าเดิม

ข้อควรสังเกตคือ ความเหงาไม่ใช่แค่การอยู่ตัวคนเดียวในเชิงกายภาพ แต่เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้แบ่งปันสิ่งที่มีความหมายร่วมกับใคร แม้ว่าเรามีคนอยู่เคียงข้าง อาจเป็นครอบครัว พ่อแม่ หรือเพื่อนร่วมงาน แต่หากเราไม่ได้แบ่งปันสิ่งที่มีความหมายร่วมกัน เราก็จะยังเหงาอยู่ดี

 

สาม การตัดขาดจากค่านิยมที่มีความหมาย

ทิม แคสเซอร์ (Tim Kasser) ทำวิจัยเพื่อวัดผลว่าคนเราให้คุณค่ากับวัตถุสิ่งของมากแค่ไหน และเรื่องนี้มีส่วนเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าหรือไม่ เขาะพบว่ากลุ่มคนวัตถุนิยมที่คิดว่าความสุขมาจากการสะสมข้าวของและมีสถานะเหนือคนอื่นจะมีระดับความซึมเศร้าและวิตกกังวล สูงกว่ามาก

เบื้องหลังปริศนานี้อาจตอบได้ด้วยคำว่า “แรงจูงใจ” ในทางจิตวิทยา ได้แก่ แรงจูงใจภายใน กับแรงจูงใจภายนอก

เด็กๆ เล่นสนุกไปเรื่อยเพราะอยากเล่น นั่นคือ แรงจูงใจภายใน ขณะที่ค่านิยมอีกชุดหนึ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามคือ แรงจูงใจภายนอก สาเหตุที่เราทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพราะอยากทำ แต่เพราะมีบางอย่างตอบแทน เช่น เราจำใจต้องไปทำงานที่ไม่ได้รู้สึกผูกพันเลย เพราะต้องจ่ายน้ำไฟ ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ชุดค่านิยมทั้งสองนี้ดำเนินอยู่ในตัวเรา

เมื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างการบรรลุแรงจูงใจภายนอก เช่น การเลื่อนตำแหน่ง มีอพาร์ตเมนต์กว้างขึ้น กับแรงจูงใจภายใน เช่น การทำตัวเป็นเพื่อนที่ดีขึ้น เป็นลูกชายที่อ่อนโยนมากขึ้น หรือเล่นเปียโนได้เก่งขึ้น ผลปรากฏว่าคนที่บรรลุเป้าหมายภายในของตนเองนั้นมีความสุขขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลน้อยลงด้วย

 

สี่ การตัดขาดจากเรื่องสะเทือนใจในวัยเด็ก

ดร.วินเซนต์ เฟลิตตี (Vincent Felitti) ศึกษาเรื่องประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก โดยให้ผู้เข้ารับบริการสาธารณสุข 17,000 คน ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเลวร้ายในวัยเด็ก 10 ประเภท เช่น การถูกทารุณทางเพศ การถูกทารุณทางอารมณ์ การโดนปล่อยปละละเลย ตามด้วยแบบสอบถามทางการแพทย์เพื่อตรวจสอบแนวโน้มของภาวะผิดปกติ เช่น เป็นโรคอ้วน อาการเสพติดอย่างรุนแรง โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล

ปรากฏว่าประสบการณ์เลวร้ายทุกประเภทที่เผชิญในวัยเด็กส่งผลให้คุณมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ถ้าคุณเคยประสบเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก 6 ประเภท คุณมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ใหญ่ที่ไม่เคยประสบเหตุการณ์เลวร้ายถึง 5 เท่า และหากตอนเด็กเจอเหตุการณ์เลวร้าย 7 ประเภท แนวโน้มที่คุณอาจฆ่าตัวตายในวัยผู้ใหญ่จะมากถึง 3,100 เปอร์เซ็นต์!

ตอนเราเป็นเด็ก เราแทบจะไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่เลย ย้ายออกไปไหนไม่ได้และห้ามไม่ให้ใครทำร้ายก็ไม่ได้ ทางเลือกจึงมีแค่สองทาง คือยอมรับกับตัวเองว่าเราไม่มีอำนาจและยอมรับว่าเราอาจถูกทำร้ายให้เจ็บหนักปางตายได้ตลอดเวลา และอีกทางคือโทษตัวเอง ถ้าทุกอย่างเป็นความผิดของเรา เราจะมีอำนาจควบคุมเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็ในใจเราเอง

“การโทษตัวเองสำหรับเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตจะช่วยปกปิดไม่ให้คุณเห็นว่าตัวเองเคยอ่อนแอ หรือยังอ่อนแอแค่ไหน … ถ้าคุณเคยเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อความเจ็บปวด สักวันคุณจะคิดว่าคุณสมควรโดนเช่นนั้น คนที่คิดว่าตัวเองสมควรได้รับบาดแผลตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ย่อมคิดว่าตนไม่สมควรได้รับอะไรมากมาย” – โยฮันน์ ฮารี

 

ห้า การตัดขาดจากสถานะและการไม่ได้รับเกียรติ

สถานะทางสังคมส่งผลต่อความเครียดจนนำมาสู่โรคซึมเศร้าของมนุษย์เราได้เช่นกัน เคต พิกเกตต์ (Kate Pickett) และริชาร์ด วิลคินสัน (Richard Wilkinson) ผู้เขียนหนังสือ ความ (ไม่) เท่าเทียม (The Spirit Level) บอกว่า สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าจะมีความเครียดมากกว่า (เช่น สหรัฐอเมริกามีความเหลื่อมล้ำสูงกว่านอร์เวย์มาก) กล่าวคือ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะมีคนรวยผู้เป็นจ่าฝูงของสังคมอยู่ไม่กี่คน ขณะที่ผู้สิ้นหวังเดินกันเกลื่อนเมือง ส่วนชนชั้นกลางก็อยู่ในสภาวะงอนแง่น เพราะความกังวลว่าสถานะของตนจะถูกสั่นคลอน ขณะที่คนจนก็อยู่ในสถานะต่ำต้อยโดยไม่มีความหวังถึงความเปลี่ยนแปลง สังคมจึงเต็มไปด้วยความเครียดที่แผ่ปกคลุม

“เราอ่อนไหวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เมื่อช่องว่างระหว่างสถานะกว้างเกินไป มันจะสร้างความรู้สึกพ่ายแพ้ที่คุณไม่สามารถหลีกหนีได้ … นี่จึงไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว แต่มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากลักษณะสังคมแบบที่เราอาศัยอยู่” – ริชาร์ด วิลคินสัน

 

หก การตัดขาดจากธรรมชาติ

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาสุขภาพจิตของคนในเมืองใหญ่พบได้มากกว่าในชนบท ไม่ใช่แค่เพราะปัญหาอาชญากรรมน้อยกว่า มลพิษน้อยกว่า หรือมีความแน่นแฟ้นเอื้ออาทรมากกว่า แต่ยังรวมถึง “ธรรมชาติเขียวชอุ่ม” ด้วย นักโทษในเรือนจำที่เห็นต้นไม้ใบหญ้ามีแนวโน้มป่วยทางกายและใจน้อยกว่านักโทษคนอื่นถึง 24 เปอร์เซ็นต์ คนที่ย้ายออกจากเมืองไปชนบทมีอาการซึมเศร้าลดลงมาก ส่วนคนที่ย้ายจากชนบทเข้าเมืองมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นอย่างรุนแรง นอกจากนี้ เมื่อพาคนที่อยู่ในเมืองมาเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติ พบว่าพวกเขารู้สึกดีและมีสมาธิมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่โรคซึมเศร้า ผลลัพธ์ที่วัดได้ดีขึ้นถึงห้าเท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป

“เมื่อเราเป็นโรคซึมเศร้า ทุกอย่างจะเกี่ยวพันกับเราไปหมด ปัญหาถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน มองไปทางไหนก็ไม่เห็นแสงสว่าง แต่เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ตัวเราจะเล็กลง เราจะรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับโลกใบนี้ เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่อลังการยิ่งกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเสมอ” – อิซาเบล เบงเค

 

เจ็ด การตัดขาดจากอนาคตที่สดใส

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงสาเหตุข้อนี้ได้อย่างชัดเจนคือเรื่องราวของกลุ่มปฐมชาติ (ชนพื้นเมืองอเมริกัน) ในแคนาดา ซึ่งฆ่าตัวตายพร้อมกัน 11 คนภายในคืนเดียว

นักจิตวิทยาชื่อไมเคิล แชนด์เลอร์ (Micheal Chandler) พบว่า แต่ละชนเผ่าในกลุ่มปฐมชาติได้รับการปฏิบัติต่างกันออกไป บางกลุ่มถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพแบบถอนรากถอนโคน พรากครอบครัว บังคับให้เด็กในเผ่าไปเข้าโรงเรียนประจำ ถูกต้อนให้ไปอยู่ในเขตสงวน ขณะที่บางกลุ่มยังสามารถกอบกู้สิทธิในที่ดิน ชุบชีวิตภาษาถิ่น ควบคุมดูแลด้านสุขภาพ เลือกผู้แทนของตัวเอง ปรากฏว่าอัตราการฆ่าตัวตายของกลุ่มที่ไม่ได้รับเสรีภาพเลยสูงกว่ามาก นั่นเพราะพวกเขาไม่เห็นอนาคต และมองไม่ออกว่าตัวเองจะเป็นอย่างไรในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า

เมื่อไมเคิลลองทำแบบทดสอบกับเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงถึงขนาดคิดฆ่าตัวตาย เขาพบว่าเด็กๆ ตอบคำถามอื่นๆ ได้อย่างราบรื่น แต่เมื่อมาถึงคำถามเกี่ยวกับอนาคต ไม่ว่าของตัวพวกเขาเองหรือตัวละครในเรื่องแต่ง พวกเขาถึงกับงุนงง จับต้นชนปลายไม่ถูก และดูเหมือนจะ “มองการณ์ใกล้” ผิดปกติ ราวกับไม่รู้จักคำว่าอนาคตอย่างไรอย่างนั้น

“การสูญเสียอนาคตผลักดันให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น ความรู้สึกว่ามีอนาคตที่ดีรออยู่นั้นจะคอยปกป้องคุณ ถ้าวันนี้ชีวิตมันแย่ คุณก็ยังคิดได้ว่า ถึงตอนนี้ฉันจะเจ็บปวด แต่มันจะไม่เจ็บปวดชั่วกาลนาน ทว่าเมื่อมีคนพรากอนาคตของคุณไป คุณจะรู้สึกเหมือนความเจ็บปวดนั้นไม่มีวันจางหายตลอดกาล” – ไมเคิล แชนด์เลอร์

 

แปด บทบาทที่แท้จริงของยีน

หนึ่งในปัจจัยหลักสามประการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลคือปัจจัยทางชีววิทยา ดังนั้นเราจึงไม่อาจตัดประเด็นเรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรมทิ้งไปได้ แอฟชาลอม แคสปี (Avshalom Caspi) นักพันธุศาสตร์ ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์ทำโครงการวิจัยที่ศึกษาเด็กแรกเกิด และตามติดชีวิตพวกเขาไปจนถึงอายุ 25 ปี เพื่อหาว่ายีนตัวไหนทำให้คุณมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น

ผลการวิจัยพบว่า ยีนที่ชื่อ 5-HTT เชื่อมโยงกับการเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ อย่างไรก็ตาม แม้เราทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทว่ายีนของเราถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณสามารถเปิดปิดสวิตช์ยีนได้

หลักฐานในปัจจุบันระบุว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลนั้นมีอยู่จริง แต่จำเป็นต้องมีตัวกระตุ้นทางสิ่งแวดล้อมหรือจิตวิทยาด้วย ยีนของคุณจึงจะสามารถเร่งปัจจัยเหล่านั้นได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร มันก็ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ด้วยตัวเอง

 

เก้า การเปลี่ยนแปลงในสมอง

มาร์ก ลูว์อิส (Marc Lewis) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยากล่าวว่า ผลสแกนสมองของคนที่มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลรุนแรงจะมีหน้าตาแตกต่างจากผลสแกนสมองของคนที่ไม่มีปัญหาเหล่านี้ เช่นนั้นแล้ว เท่ากับว่าคนคนนั้นต้องเป็นคนอมทุกข์มากขึ้นหรือขี้กลัวขึ้นเรื่อยๆ ตลอดไปหรือไม่?

คำตอบคือไม่จำเป็น เนื่องจากสมองไม่ได้มีสภาพตายตัว แต่เปลี่ยนไปตามการใช้งาน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าความยืดหยุ่นของสมอง (neuroplasticity) สมองจัดโครงสร้างตัวเองใหม่ไปเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ที่พบเจอ ดังนั้นการที่หมอบอกคนไข้โรคซึมเศร้าว่า “ตอนนี้สมองของคุณพังอยู่นะ เพราะมันไม่เหมือนสมองปกติ” นั้นอาจไม่ตรงตามจริงเสียทีเดียว เพราะเรารู้ว่าสมองเชื่อมต่อใยประสาทใหม่ตลอดเวลา สรีรวิทยาดำเนินควบคู่กับจิตวิทยาเสมอ ทั้งความทุกข์ต่างๆ ที่มีสาเหตุจากโลกภายนอก รวมถึงความเปลี่ยนแปลงภายในสมองนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น “ควบคู่กัน”

ถ้าคุณมองว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพียงเรื่องทางชีววิทยา สิ่งที่คุณได้รับอาจเป็นเพียงความเห็นอกเห็นใจ (sympathy) แต่หากมองว่ามันคือปฏิกิริยาตอบสนองต่อวิถีชีวิต คุณอาจจะได้รับบางอย่างที่ลุ่มลึกกว่า นั่นคือความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม มันคือต้นตอของความเปราะบางที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน

“คุณไม่ได้บ้าที่รู้สึกเศร้าเหลือเกิน คุณไม่ได้บุบสลาย คุณไม่ได้มีตำหนิ อย่างที่กฤษณมูรติเคยกล่าวเอาไว้ว่า ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมป่วยๆ ไม่ใช่ตัวชี้วัดสุขภาพแต่อย่างใด” –  ดร.รูฟัส เมย์

 

 

เชื่อมต่อความสัมพันธ์อีกครั้ง = ยาต้านซึมเศร้าอีกประเภทหนึ่ง

 

เชื่อมโยงกับผู้คน     

นักสังคมศาสตร์ชื่อเบรตต์ ฟอร์ด (Brett Ford) และคณะ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องความสุข โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างในสี่ประเทศ คือสหรัฐฯ รัสเซีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน ผลการวิจัยพบว่า วิธีสร้างความสุขในรัสเซีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน ส่งผลให้คุณมีความสุขมากขึ้นจริงๆ ซึ่งเบรตต์คิดว่าเหตุผลคือความเป็นสังคมรวมหมู่ของวิถีชีวิตแบบเอเชีย ซึ่งต่างออกไปจากสหรัฐฯ หรือโลกตะวันตกอื่นๆ นั่นคือ มองชีวิตแบบปัจเจกบุคคล

ถ้าคุณเป็นชาวอเมริกันหรืออังกฤษที่ตัดสินใจจะแสวงหาความสุข คุณจะเสาะหาเพื่อตัวเอง ซื้อของให้ตัวเอง กอบโกยความสำเร็จเพื่อตัวเอง และสะสมอัตตาตัวเอง ขณะที่ผู้คนในโลกตะวันออกที่ตัดสินใจแสวงหาความสุขจะเสาะหาความสุขเพื่อส่วนรวม พยายามทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้สังคมหรือกลุ่มของตนดีขึ้น

เบรตต์สรุปว่า “ยิ่งคุณคิดว่าความสุขเป็นเรื่องเชิงสังคมมากเท่าไร คุณก็จะยิ่งรู้สึกดีขึ้นเท่านั้น”

“การตามหาทางออกฉบับทันใจแบบปัจเจกบุคคลนั้นเป็นกับดัก แท้จริงแล้วการตามหาทางออกแบบปัจเจกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องประสบปัญหานี้ตั้งแต่แรก เราถูกขังอยู่ในอัตตาของตัวเอง ล้อมรอบด้วยกำแพงที่กั้นไม่ให้สัญญาณแท้จริงจากภายนอกเล็ดลอดเข้ามาถึงตัวเรา” – โยฮันน์ ฮารี

 

การจ่ายยาทางสังคม

คุณหมอแซม เอเวอริงตัน (Sam Everington) ใช้แนวทางที่เรียกว่า ““การจ่ายยาทางสังคม” (social prescribing หรือการใช้กิจกรรมทางสังคมเพื่อเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจผู้ป่วย) เป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล

เมื่อผู้ป่วยซึมเศร้าและวิตกกังวลมาพบแซม เขาจะไม่ถามคำถามว่า “คุณมีปัญหาอะไร” แต่ถามว่า “คุณให้ความสำคัญกับอะไร” แซมเชื่อว่าถ้าอยากหาวิธีแก้ปัญหาให้คนไข้ เราต้องรับฟังสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตของเขา และช่วยเขาค้นหาหนทางไปสู่สิ่งนั้น

หนึ่งในตัวอย่างของใบสั่งยาทางสังคมที่แซมเคยสั่งจ่ายคนไข้คือ ภารกิจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 20 คนพลิกโฉมตรอกที่เต็มไปด้วยขี้หมาให้กลายเป็นสวนสาธารณะเล็กๆ กลางเมือง ทุกอย่างประดักประเดิดในตอนแรก แต่เมื่อพวกเขาต้องบรรลุเป้าหมายเดียวกัน จึงต้องพูดคุยกัน ปรึกษา แลกเปลี่ยนความเห็น ผิดพลาดไปพร้อมๆ กัน และสำเร็จพร้อมๆ กัน งานสวนกลายเป็นวงบำบัด และเมื่อดอกไม้ผลิดอก ชาวเมืองเดินมาขอบคุณในสิ่งที่พวกเขาทำ นั่นทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง

แซมยังคงพยายามผลักดันให้ “การจ่ายยาทางสังคม” เป็นหนึ่งในหนทางเยียวยาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลควบคู่กับยาเคมีอย่างจริงๆ จังๆ แต่ด้วยอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยามูลค่ามหาศาล สิ่งที่แซมทำได้คือหาข้ออ้างสังสรรค์เป็นประจำเพื่อเชิญคนไข้มาเจอกัน รับฟังปัญหาคนไข้ก่อนจะตัดสินว่าอะไรเป็นอะไร และข้อสำคัญที่สุดคือ การมอบความเป็นเพื่อนให้คนไข้

“หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมย่อมไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ยาต้านซึมเศร้า เพราะถ้าเลิกใช้ยา พวกเขาก็จะกลับไปสู่จุดเดิมตอนก่อนรักษาอยู่ดี … ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ไม่งั้นคุณก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก” -ซอล มาร์มอต

 

เชื่อมโยงกับงานที่มีความหมาย

การทำงานกินเวลาครึ่งชีวิตของเราไป ทว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วโลกรู้สึกว่าตัวเองไม่ผูกพันกับงานที่ทำอยู่ การงานแสนน่าเบื่อที่เราเกลียดชังนี้เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล

ไมเคิล มาร์มอต นักสังคมศาสตร์ อธิบายว่าสิ่งที่ทำให้คนทำงานรู้สึกไม่สบายใจไม่ใช่เนื้องาน แต่มาจากปัจจัยสามประการ ได้แก่

  • ความรู้สึกว่าตัวเองถูกควบคุมหรือเป็นฟันเฟืองที่ไม่มีความหมายในระบบ
  • ความรู้สึกว่าต่อให้ทำงานหนักแค่ไหนก็จะได้รับการปฏิบัติแบบเดิม
  • ความรู้สึกต่ำต้อยในระบบอาวุโส

ลึกๆ แล้ว คนเราต่างโหยหางานที่มีความหมายและการมีสิทธิ์มีเสียงในสิ่งที่เราทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับมัน เราอยากรู้สึกว่าตนได้ทำประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์ และช่วยทำให้โลกดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางสถิติที่ระบุว่า การทำงานลักษณะนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระยะยาวด้วย

“เลือกเจ้านายของคุณ แล้วการทำงานจะไม่กลายเป็นความเจ็บปวดที่คุณต้องแบกรับ ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องทนทุกข์ทรมาน แต่เปรียบเหมือนชนเผ่าประชาธิปไตยที่คุณรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และคุณมีอำนาจเทียบเท่าคนอื่นๆ” – โยฮันน์ ฮารี

 

เชื่อมโยงกับค่านิยมที่มีความหมาย

งานวิจัยจำนวนมหาศาลยืนยันว่าแนวคิดวัตถุนิยมสุดโต่งนั้นส่งผลต่อโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล รวมถึงปัญหาทางจิตใจอื่นๆ แต่ในโลกที่ค่านิยมเหล่านั้นวนเวียนอยู่รอบตัว ย่อมเป็นเรื่องยากที่เราจะหลุดพ้นไปได้

มีวิธีเบื้องต้นสองวิธีที่จะสลัดตัวเองให้หลุดจากค่านิยมเหล่านั้น วิธีแรกเป็นแนวทางตั้งรับ และวิธีที่สองเป็นแนวทางเชิงรุก โดยแนวทางตั้งรับคือ เริ่มพูดคุยกันอย่างจริงจังในสังคมว่าโฆษณาส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางอารมณ์ของเราอย่างไร และผลักดันให้มีการควบคุมโฆษณาที่สร้างค่านิยมเชิงลบ เช่น โฆษณาในรถไฟใต้ดินลอนดอนรูปผู้หญิงหุ่นเพรียวในชุดว่ายน้ำ พร้อมข้อความ “คุณพร้อมอวดหุ่นสวยรับลมร้อนหรือยัง” ซึ่งชวนให้คนมีค่านิยมผิดๆ และรู้สึกไม่ดีกับรูปร่างของตน

สำหรับแนวทางเชิงรุกคือ การเปิดพื้นที่ให้พิจารณาค่านิยมที่เรายึดถือ และชวนให้หันมาเห็นความสำคัญของค่านิยมภายในที่เราต้องการอย่างแท้จริงอีกครั้ง กลุ่มนักสังคมศาสตร์อย่างทิม แคสเซอร์ กับเนธาน ดันแกน (Nathan Dungan) ได้ทดลองสร้างกลุ่ม “บำบัดค่านิยม” โดยค่อยๆ กระตุ้นให้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ตนให้คุณค่าอย่างแท้จริง

เมื่อวัดระดับความคิดแบบวัตถุนิยมของผู้เข้าร่วมก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ ผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่า วิธีนี้ช่วยลดระดับความคิดแบบวัตถุนิยมได้อย่างมีนัยสำคัญ และพวกเขามองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นโดยไม่ต้องเอาสถานะตัวเองไปแขวนไว้กับวัตถุหรือสินค้าใดๆ

“แทบไม่เคยมีใครขอให้คุณพูดถึงค่านิยมภายในออกมาดังๆ … แรงจูงใจภายในของเรานอนนิ่งอยู่ตรงนั้นเสมอ แต่เราเพิ่งพามันออกสู่โลกภายนอก และบทสนทนาลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ในสังคมปัจจุบันของเราไม่ยอมเปิดหรือสร้างพื้นที่ให้เกิดบทสนทนาเหล่านี้ต่างหาก” – เนธาน ดันแกน

 

การปรับความสัมพันธ์ต่ออัตตาตนเอง

สังคมปัจจุบันบ่มเพาะให้เรารู้สึกอิจฉาริษยาคนอื่น ถูกปลูกฝังให้เปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา และรู้สึก “เสพติดตัวเอง” ความคิดเชิงลบเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า นี่คือสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางจิตวิทยา ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางหลากหลายวิธีที่จะช่วยเยียวยาสาเหตุทางจิตวิทยาเหล่านี้ให้ดีขึ้น เช่น

  • การฝึกสมาธิ งานวิจัยเกี่ยวกับการทำสมาธิและโรคซึมเศร้าเผยว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มหายจากภาวะดังกล่าวมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญหากไปเข้าค่ายวิปัสสนาเป็นเวลาแปดสัปดาห์ และจะส่งผลดีเป็นพิเศษกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจากความรุนแรงในวัยเด็ก โดยกลุ่มนี้มีโอกาสหายดีมากกว่ากลุ่มอื่นอยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับวิธีฝึกสมาธิที่กล่าวถึงในเล่มคือการฝึกมุทิตาจิต หรือความรู้สึกยินดีกับผู้อื่นจากใจจริง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความทุกข์จากโลกที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันได้ไม่มากก็น้อย
  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy – CBT) คือการกระตุ้นให้ผู้ป่วยดึงตัวเองออกจากรูปแบบพฤติกรรมและความคิดเชิงลบ และหันไปมุ่งสู่รูปแบบเชิงบวกมากขึ้น
  • จิตบำบัด (psychotherapy)

 

การยอมรับและก้าวข้าวความเจ็บปวดในวัยเด็ก

ในงานวิจัยที่ศึกษาคนไข้ที่เข้ารับบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจากผื่นภูมิแพ้ ริดสีดวง หรือโรคจิตเภท หากพวกเขาได้พูดถึงเหตุการณ์การเลวร้ายในวัยเด็กให้หมอที่พร้อมรับฟังโดยไม่ตัดสิน ผลการศึกษาพบว่าอาการป่วยทางกายของพวกเขาจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คนกลุ่มนี้กลับมาหาหมอซ้ำน้อยลงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อถึงนัดติดตามผล คนไข้ที่เคยถูกสัมภาษณ์ทั้งหลายต่างกลับมาบอกว่าดีใจที่คุณหมอถามถึงเรื่องราวเหล่านั้น

การเก็บงำความเจ็บปวดในวัยเด็กไว้เท่ากับยิ่งปล่อยให้มันอักเสบ เป็นหนอง จากนั้นความอับอายก็ยิ่งพอกพูน เราต้องสนับสนุนให้พวกเขาพูดออกมา เราสามารถช่วยปลดปล่อยใครสักคนจากผลกระทบเชิงลบของความสะเทือนใจในวัยเด็กได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้เขาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประสบการณ์เลวร้ายนั้นอีกครั้ง และทำให้เขารู้ว่า เมื่อมองจากสายตาคนนอก มันไม่ใช่เรื่องน่าอับอายอะไรเลย

กระบวนการสั้นๆ ที่คุณหมอรับฟังคนไข้เล่าประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กนั้น ทำให้พวกเขารู้สึกว่า “ดูเหมือนฉันยังได้รับการยอมรับจากเขาอยู่” ซึ่งความรู้สึกนี้จะมีส่วนช่วยให้คนไข้ก้าวข้ามความเจ็บปวดได้

 

กอบกู้อนาคต และ ‘สัญญาณ’ ที่เราควรรับฟัง

ในบรรดาหนทางเยียวยาเพื่อเชื่อมต่อกับสิ่งสำคัญทั้งหลาย อุปสรรคที่หนาหนักและใหญ่หลวงกว่าหลายข้อที่กล่าวไปก็คือ ความรู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคงจนมองไม่เห็นอนาคต ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกกำลังก้มหน้าก้มตาทำงานงกๆ โดยไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาอยู่กับตัวเอง ไม่มีเวลากระทั่งใช้ชีวิต

ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าคือ ยิ่งคุณยากจนแค่ไหน คุณก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลมากขึ้นเท่านั้น เช่นในสหรัฐฯ ถ้าคุณมีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 20,000 เหรียญ คุณมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนที่มีรายได้ต่อปี 70,000 เหรียญกว่าเท่าตัว

มีตัวอย่างการทดลองในชุมชนแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อสมาชิกชุมชนได้รับการประกันรายได้พื้นฐาน และบรรเทาความกังวลและความเครียดเรื่องการใช้จ่ายต่างๆ อัตราการป่วยเนื่องจากโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“สุขภาพจิตเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในเชิงสังคม เหนือสิ่งอื่นใด สุขภาพจิตที่สมบูรณ์หรือบกพร่องนั้นเป็นดัชนีชี้วัดทางสังคม จึงต้องอาศัยการเยียวยาแก้ไขทั้งในเชิงสังคมและเชิงปัจเจกบุคคล — องค์การอนามัยโลก

นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเยียวยาภาวะซึมเศร้านั้นไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เกี่ยวโยงกับทั้งสังคม และมีสาเหตุจากบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในวัฒนธรรมของเรา ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าสังคมต้องหาวิธีแก้ร่วมกัน เราต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบค่านิยมและวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ เพื่อให้คนจำนวนมากขึ้นได้มีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเขาเอง

“เธอไม่ได้ทุกข์ทรมานจากสารเคมีในสมองไม่สมดุลหรอก แต่เธอกำลังทุกข์ทรมานจากความไม่สมดุลทางสังคมและจิตวิญญาณในการใช้ชีวิตของเราต่างหาก”  — โยฮันน์ ฮารี

โรคซึมเศร้าและวิตกกังวลนั้นคือ ‘สัญญาณ’ ที่บ่งบอกว่าวิถีชีวิตของเรามีบางอย่างผิดปกติ เราต้องเลิกพยายามลดทอนหรือปิดกั้นเสียงของความเจ็บปวด หรือเลิกมองว่ามันเป็นความเจ็บป่วย สิ่งที่เราต้องทำคือรับฟังและให้เกียรติความเจ็บปวดนั้น เมื่อเรารับฟังความเจ็บปวดของเรา เมื่อนั้นเราจึงจะสืบสาวจนเจอต้นตอ และ ณ ต้นตอนั้นเอง เมื่อเรามองเห็นสาเหตุที่แท้จริง เมื่อนั้นเราจึงจะก้าวข้ามสาเหตุเหล่านั้น เพื่อค้นหาหนทางออกจาก ‘โลกซึมเศร้า’ ได้ในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

โลกซึมเศร้า: คลายปมโรคแห่งยุคสมัย และทางเลือกใหม่ในการเยียวย

(Lost Connections: Uncovering the Real Causes of Depression – and the Unexpected Solutions)

Johann Hari เขียน

ดลพร รุจิรวงศ์ แปล