
เรื่อง: ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์
จากตำนานที่บอกเล่าปากต่อปาก สู่ตัวอักษรที่จดจารลงบนหน้ากระดาษ พัฒนามาถึงนวนิยายในจอไอแพด ทั้งหมดนี้คือผลงานสร้างสรรค์อันเป็นอมตะเหนือกาลเวลาที่มีชื่อว่า วรรณกรรม
ไม่ว่าคุณจะเป็นหนอนหนังสือหรือไม่ ย่อมต้องเคยพานพบกับวรรณกรรมบ้างในช่วงชีวิตที่ผ่านมา อาจเป็นความทรงจำวัยเยาว์อันแสนสุข เป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นนักเขียนเมื่อเติบใหญ่ เป็นหนังสือเล่มโปรดของพี่น้อง หรือเป็นหนังสือปกสวยที่ตั้งโชว์ในร้านหนังสือ ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า วรรณกรรมเป็นสิ่งให้ความบันเทิงที่อยู่เคียงคู่ชีวิตมนุษย์มาเป็นเวลายาวนาน
วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ (A Little History of Literature) จะพาคุณท่องอาณาจักรวรรณกรรมอันรุ่มรวย ด้วยลีลาการร่ายรำทางตัวอักษรของเหล่านักเขียนเอก ซึ่งมีฉากชีวิตอันเข้มข้นไม่แพ้ผลงานที่ประพันธ์ และหนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของกวีผู้ยิ่งใหญ่อย่างเชกสเปียร์

ที่มา: flickr.com/photos/bensutherland/6370262361
เชกสเปียร์: มหากวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกวรรณกรรม
ปรากฏการณ์ความสำเร็จของเชกสเปียร์เป็นหนึ่งในปริศนาที่เหล่านักคิดและนักวิจารณ์ต่างพยายามหาคำตอบ ทว่าก็ยังไม่อาจหาคำอธิบายที่น่าเชื่อถือมาตอบคำถามว่า เหตุใดคนที่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่เด็ก เป็นบุตรชายของพ่อค้าบนถนนสายหลัก เกิดและเติบโตในย่านเสื่อมโทรมของเมืองสแตรตฟอร์ด-อัปพอน-เอวอน และความสนใจหลักในด้านอาชีพการงานคือมุ่งมั่นสะสมเงินทองให้มากพอที่จะเกษียณตัวเอง จึงกลายมาเป็นยอดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา
แม้เราจะไม่อาจหาคำตอบที่ชัดเจนได้ ทว่าเราพอจะร่างเค้าโครงชีวิตของเขา และค้นหาเงื่อนงำที่ช่วยบอกใบ้ว่า อะไรทำให้เขาเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้
จุดเริ่มต้นของมหากวี
วิลเลียม เชกสเปียร์ (1564-1616) เกิดในสมัยของพระราชินีเอลิซาเบธ และเมื่อเชกสเปียร์เริ่มเข้าสู่วงการละคร พระราชินีเอลิซาเบธทรงเริ่มชราภาพ พระราชินีผู้ทรงไว้ซึ่งพรหมจรรย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทและไม่มีผู้สืบทอดราชบัลลังก์ที่ชัดเจน ทุกคนในประเทศต่างตั้งคำถามว่า “แล้วใครจะสืบทอดอำนาจต่อจากพระราชินีเอลิซาเบธกันเล่า” ด้วยเหตุนี้คำถามทางการเมืองที่สำคัญในละครของเชกสเปียร์จึงหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า “สิ่งใดคือหนทางดีที่สุดที่จะเปลี่ยนจากราชา (หรือราชินี) องค์หนึ่งไปสู่ราชาอีกองค์หนึ่ง” ละครแต่ละเรื่องต่างสำรวจตรวจสอบหนทางที่แตกต่างกันไป อาทิ การลอบสังหาร (Hamlet) การสังหารในที่สาธารณะ (Julius Caesar)
ในช่วงวัยรุ่น เชกสเปียร์ออกจากโรงเรียนและน่าจะไปทำงานกับบิดาผู้เป็นช่างทำถุงมือ เมื่อเชกสเปียร์อายุได้ 18 ปี เขาแต่งงานกับหญิงสาวในย่านเดียวกันที่มีชื่อว่าแอนน์ แฮตทาเวย์ (Anne Hathaway) กล่าวกันว่าเชกสเปียร์ไม่ค่อยมีความสุขในชีวิตสมรส ดังจะเห็นได้ว่าในละครของเขามักมีตัวละครหญิงที่ชอบกดขี่ เย็นชา และรับมือยากปรากฏตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น เลดี้แมคเบธ

ภาพเขียน “King Lear Weeping over the Dead Body of Cordelia” โดยเจมส์ แบร์รี
ที่มา: artsandculture.google.com/asset/oAHSjtBlElaluQ
สู่จุดสูงสุดแห่งโลกการละคร
ปริศนาสำคัญเกี่ยวกับเชกสเปียร์คือช่วงเวลาที่เขาฝึกฝนพัฒนาตนเองในฐานะกวี นั่นคือระหว่างปี 1585-1592 ซึ่งเรียกกันว่าเป็น “ปีที่หายไป” ของเชกสเปียร์ สมมติฐานหนึ่งกล่าวว่าเขาอาจเดินทางออกจากเมืองสแตรตฟอร์ดและได้งานเป็นครูโรงเรียนชนบท สมมติฐานอีกข้อหนึ่งบอกว่าเขาอาจอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นครูสอนครอบครัวคาทอลิกผู้สูงศักดิ์ และซึมซับรับเอาลัทธิความเชื่ออันตรายมาด้วย สมมติฐานที่สามคือ เขาร่วมเดินทางกับกลุ่มนักแสดงละครเร่ และค่อยๆ รับเอาทักษะต่างๆ มา ดังจะเห็นได้ชัดในบทละครช่วงแรกของเขา
เชกสเปียร์ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นทศวรรษ 1590 ในฐานะนักเขียนบทละครและนักแสดงดาวรุ่งบนเวทีในกรุงลอนดอน และนับจากนั้นกราฟชีวิตของเขาก็พุ่งทะยาน จวบจนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดในโลกการละครเมื่อปี 1610 (โดยมีอายุเพียงแค่ 40 กว่าๆ) เชกสเปียร์ซึ่งในขณะนั้นกลายเป็นคนร่ำรวยได้เกษียณตนเองจากกรุงลอนดอนและไปใช้ชีวิตอย่างผู้ดีมีเกียรติในสแตรตฟอร์ดบ้านเกิด
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในผลงานศิลปะที่เชกสเปียร์รังสรรค์ไว้คือโศกนาฏกรรมสี่เรื่อง ได้แก่ Macbeth, King Lear, Hamlet และ Othello ความยิ่งใหญ่ของงานเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากเมฆหมอกที่ทวีความมืดหม่นซึ่งปกคลุมช่วงบั้นปลายชีวิตของเชกสเปียร์ โดยน่าจะเกิดขึ้นหลังจากเขาสูญเสียลูกชายคนเดียวคือแฮมเนตในปี 1596 ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนคือฉากหนึ่งในโศกนาฏกรรมเรื่อง King Lear เมื่อเลียร์ในวัยชราใกล้มรณะปรากฏตัวบนเวที พร้อมกับแบกศพของลูกสาวที่รักไว้ในอ้อมแขน และรำพึงรำพันด้วยถ้อยคำที่เปี่ยมวรรณศิลป์และทรงพลัง ซึ่งแสดงถึงอัจฉริยภาพของเชกสเปียร์อย่างแท้จริง
วรรณกรรมมักได้รับอิทธิพลจากตัวตนและเรื่องราวของผู้รังสรรค์ไม่มากก็น้อย การได้ศึกษาเบื้องหลังชีวิตของนักประพันธ์ รวมไปถึงสภาพสังคมและบริบททางประวัติศาสตร์ที่รายล้อม จึงช่วยให้เราเสพวรรณกรรมได้อย่างลึกซึ้งและเปี่ยมอรรถรสยิ่งขึ้น
ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในอาณาจักรแห่งตัวอักษรอันเปี่ยมสีสันอีกมากมายที่รอให้อ่านใน วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape
รายละเอียดหนังสือ
หนังสือ : วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ (A Little History of Literature)
ผู้เขียน : John Sutherland
ผู้แปล : สุรเดช โชติอุดมพันธ์
พิมพ์ครั้งแรก : มีนาคม 2561
ราคา : 395 บาท