‘อ่านโลกระหว่างบรรทัด’ ไล่ประวัติศาสตร์วรรณกรรมอย่างไรให้รื่นรมย์

ภาพ: ฐณฐ จินดานนท์

 

“ลองจินตนาการดูว่าหากคุณติดเกาะร้างจวบจนสิ้นชีวิต คุณอยากได้หนังสือเล่มไหนติดตัวไว้มากที่สุด”

เพียงเริ่มอ่านประโยคเปิดเล่ม วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ ตามที่ยกมาข้างต้น อาจพอทำให้คุณจับทางได้ว่า หนังสือเล่มนี้คงไม่ได้เน้นเรื่องราวแบบวิชาการจ๋า หรือมาเลกเชอร์ให้ฟังเป็นประเด็นๆ และการเล่าเรื่องก็คงไม่น่าง่วงเหงาหาวนอนเท่าที่คิด

งาน “อ่านโลกระหว่างบรรทัด” คือ book talk ครั้งแรก ระหว่าง bookscape x Readery ที่จะนำความรื่นรมย์มาสู่การอ่านของคุณ โดยครั้งนี้เราถือโอกาสเปิดตัวหนังสือ วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ (A Little History of Literature) ไปพร้อมกันด้วย

ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามท่าน ได้แก่ รศ.ดร. สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แปล นักรบ มูลมานัส ศิลปินอิสระผู้ออกแบบปก และอุทิศ เหมะมูล นักวิจารณ์วรรณกรรม และนักเขียนรางวัลซีไรต์ ทั้งยังได้สองผู้ก่อตั้งร้านหนังสือออนไลน์ Readery โจ วรรณพิณ และ เน็ต-นัฏฐกร ปาระชัย มาชวนคุยกันที่ The Reading Room สีลมซอย 19 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

 

หลังจากใช้เวลากับงานแปลเล่มนี้ประมาณสองปี สุรเดช โชติอุดมพันธ์ บอกเล่าประสบการณ์การแปลงานที่ท้าทายให้ฟัง

“เพราะเนื้อหาของหนังสือไม่เชิงเป็นตำรา แต่เป็นเหมือนกับหนังสืออ่านสบายๆ และด้วยทำนองการเล่าของคนเขียนเหมือนเวลาเราคุยกับเพื่อน เขามีวิธีการเขียนซึ่งบางทีแปลยากเหมือนกัน ไม่เหมือนเวลาแปลตำราวิชาการ” สุรเดชยืนยันว่าเล่มนี้ไม่ใช่ตำราวิชาการที่เคร่งเครียด ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นเคยของเขาแต่อย่างใด

“เล่มนี้อ่านง่าย แล้วก็เล่าในภาษาที่มนุษย์ปุถุชนฟังกันรู้เรื่อง จะไม่มีคำที่ผมชอบใช้กับนักศึกษา พวกวาทกรรม อุดมการณ์ และไม่มีทฤษฎีที่ลึกลับซับซ้อน”

สุรเดชยังชี้ให้เห็นถึงความมีอารมณ์ขัน ความเป็นพหูสูต และความเป็นนักสืบวรรณกรรมของผู้เขียน จอห์น ซัตเทอร์แลนด์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนวัย 79 ปี (ตอนออกเล่มนี้อยู่ในวัย 75 ปี)

 

ตอนต้นเล่ม คนเขียนพูดถึงรายการวิทยุบีบีซีที่มีคำถามว่า ถ้าเกิดต้องติดเกาะร้าง แล้วเอาหนังสือไปได้แค่หนึ่งเล่ม เป็นเราจะเลือกเล่มไหน

 

“เท่านี้ก็รู้แล้วว่าคนเขียนคงไม่ใช่คนที่พูดแล้วฟังไม่รู้เรื่อง เขาพยายามจะสื่อสารให้เราในฐานะคนธรรมดาได้รู้ ถ้าอ่านแล้วจะรู้ว่าเขาเป็นคนที่รักวรรณกรรมจริงๆ เพราะจะมีตัวอย่างหนังสือต่างๆ ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด” สุรเดชกล่าว

 

 

นอกจากเนื้อหาที่อ่านง่ายและเข้าถึงคนอ่านที่อาจไม่ได้สนใจวรรณกรรมมาก่อนแล้ว สิ่งที่หลายคนยอมรับว่าเลือกซื้อเล่มนี้เพราะหน้าปกที่สวยสะดุดตาและเป็นเอกลักษณ์ก็มีไม่แพ้กัน

เมื่อพูดถึงที่มาที่ไปของหน้าปกเล่มนี้ คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2017 ที่นักรบ มูลมานัส มีโอกาสออกแบบเล่ม ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openworlds ซึ่งอยู่ในซีรีส์ Little Histories เช่นเดียวกัน)

“เล่มนี้เป็นเล่มที่สองในซีรีส์นี้ ซึ่งเล่มแรกจะเป็นเรื่องศาสนา แต่ว่ารูปแบบการออกแบบปก ผมก็ได้รักษาฟอร์มเดิมของเล่มนั้นเอาไว้” นักรบกล่าวและขอเล่าย้อนไปถึงตอนออกแบบปกเล่มศาสนาเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

“ตอนได้โจทย์จากบรรณาธิการเล่มก็รู้สึกว่ายากมาก เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเซนซิทีฟ ผมคิดว่าแล้วเราจะหยิบรูปภาพ หรือเรื่องราวอะไรมาสื่อถึงเรื่องศาสนาและความเชื่อที่ผู้เขียนเล่าในเล่มดี”

ตอนแรกนักรบก็ลองใช้รูปศาสนสถาน รูปเคารพบูชาของศาสนาต่างๆ แต่ก็พบว่ายังไม่ใช่ และอาจจะมีประเด็นละเอียดอ่อน สุดท้ายก็เลยจบลงด้วยการที่นำรูปจากในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นรูปคนแต่ละชาติ สีผิว เพศ และทั้งหมดกำลังทำท่าวิงวอน (นัยว่านับถือศาสนาอยู่) เลยเป็นที่มาของเล่มศาสนา

“คราวนี้พอได้รับโจทย์ออกแบบเพื่อทำเล่มวรรณกรรมซึ่งอยู่ในซีรีส์เดียวกัน ผมเลยคิดว่าน่าจะใช้คอนเซ็ปต์แบบเดียวกัน รูปแบบแบบเดียวกัน ตอนแรกที่ได้อ่านเล่มนี้ เขาจะพูดถึงเรื่องวรรณกรรมอังกฤษ อเมริกัน เราก็คิดว่าจะใช้ภาพอะไรดี จะเป็นนักเขียนที่เขาพูดถึงในแต่ละบทดีไหม”

แต่พอลองทำดูก็พบว่า การรวมตัวของเหล่านักเขียนชื่อก้องบนหน้าปก ซึ่งจริงๆ มีไม่กี่คนที่นักอ่านคุ้นหน้ากัน อาจทำให้ภาพลักษณ์ของเล่มดูเป็นตำราวิชาการมากเกินไปได้

 

ความเป็นวรรณกรรมในเล่มนี้ ถึงแม้จะเป็นของโลกตะวันตก แต่คนอ่านก็เป็นคนทั่วทุกมุมโลก ทุกชาติทุกภาษา เราเลยเลือกหยิบภาพของคนที่กำลังอ่านหนังสือในวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันออกหรือตะวันตกมาใช้แทน

 

“สรุปแล้วพอเอามาจัดเรียงกัน ก็เลยเป็นรูปของคนทั้งโลกที่กำลังนั่งอ่านวรรณกรรมอยู่” นักรบกล่าว

นอกจากงานออกแบบปก นักรบยังชอบอ่านหนังสือเป็นทุนเดิม เพราะเขาเองก็จบปริญญาตรีเอกภาษาไทยมา ในงานออกแบบปกฝีมือเขา จึงมั่นใจได้ว่า เขาอ่านเล่มที่ตัวเองออกแบบอย่างละเอียดแน่ๆ เมื่อถามถึงความรู้สึกเกี่ยวกับเล่มวรรณกรรม นักรบบอกว่า

“ส่วนตัวผมเป็นคนที่สนใจอยากจะรู้เรื่องวรรณกรรมอังกฤษ อเมริกัน แต่มันหาหนังสือนานมาก แล้วเราก็ไม่แข็งแกร่งพอที่จะไปอ่านตำราภาษาอังกฤษที่จริงจังหรือคงแก่เรียน หรือตำราภาษาไทยก็ไม่มีเล่มที่มันกำลังพอดีซึ่งคนทั่วไปนอกวงวิชาการอ่านแล้วก็ทำความเข้าใจได้ จนได้มาพบกับเล่มนี้ที่ทางสำนักพิมพ์ส่งมาให้ พออ่านแล้วก็สนุกมาก อ่านแล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้ติดนมเนย ก็อ่านลื่นไปได้เรื่อยๆ เราเลยรู้สึกเพลินกับการอ่านเล่มนี้มาก แล้วก็ดีใจที่ได้ทำปกเล่มนี้ด้วย”

 

 

ในมุมนักอ่าน อุทิศ เหมะมูล ออกตัวก่อนว่าเขาชอบเล่มนี้ และคิดว่ามันเป็นการร่วมงานกันของคนเขียนกับคนแปลที่น่าสนใจ ที่สำคัญยังอ่านง่ายทั้งที่เป็นงานของศาสตราจารย์รุ่นใหญ่ขนาดนี้

“ตอนที่เริ่มอ่าน ไล่ไปจนเกือบจบ พบว่ามันเป็นหนังสือที่เล่าด้วยท่าทีสบายๆ อ่านง่ายมาก ง่ายคือไม่ได้หมายความว่าสูญเสียสาระสำคัญของตัวประวัติศาสตร์ทางวรรณกรรมไป ไม่ใช่แบบนั้น แต่ทั้งที่ผู้เขียนค่อนข้างมีอายุแล้ว แต่กลับไม่ใช้ลักษณะที่เรียกว่าเป็นงานวิชาการมาก ซึ่งมันง่ายที่จะเข้าถึงคนอ่านทั่วๆ ไปโดยที่เราไม่ต้องมานั่งเวียนหัวกับศัพท์แสงทางวิชาการต่างๆ”

 

วรรณกรรม เป็นหนังสือที่ให้ความเพลิดเพลินในการอ่านสูงมาก

 

สำหรับหนังสือที่ดูเหมือนจะออกแนววิชาการ เป็นประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการทางด้านวรรณกรรม เป็นการอ่านที่ทำให้อุทิศรู้สึกว่า คนอ่านไม่ได้ถูกเลกเชอร์อยู่ ซึ่งก็ถือเป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีกับหนังสือเล่มนี้

ส่วนที่อุทิศบอกว่านี่คืองานที่เหมาะกันทั้งนักเขียนนักแปล เพราะว่าเท่าที่อ่านงานวิชาการของอาจารย์สุรเดชมา พูดแบบตรงไปตรงมาคือไม่ใช่งานที่อ่านง่าย และเต็มไปด้วยลักษณะการเขียน การตั้งคำถาม หรือการสอบสวนสืบย้อนเต็มไปหมด อย่างที่เขาเรียกว่า เป็นวงกตทางตัวอักษร

ที่งานนี้ดูจะเหมาะกันระหว่างผู้เขียนกับผู้แปล เพราะมองว่าทั้งนักเขียนและนักแปลต่างก็มีส่วน “กล่อมเกลา” กันและกัน

“คนที่นำเสนอทฤษฎีหรือเขียนงานยากๆ พอมาเจอผู้เขียนที่พูดอะไรที่มันง่ายๆ สบายๆ แล้วเหมือนกับมันช่วยเกลาทางความคิดกันด้วย ผมรู้สึกว่าการได้อ่านเล่มนี้คือจุดพบกันของช่วงเวลาหนึ่ง ระหว่างนักวิชาการสองคน มันมีวิธีที่จะสื่อสารกับคนทั่วไปในโลกของวรรณกรรม ทำยังไงให้ความเข้าใจในเรื่องของวรรณกรรมเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ไม่ต้องโชว์ความซับซ้อน ทำให้เข้าถึงง่าย และใช้วิธีที่อ่อนโยนมากกว่าที่จะนำเสนอจักรวาลของโลกวรรณกรรมนี้ออกไปสู่คนอ่าน ฉะนั้น ก็เลยเป็นจุดพบกันที่ทำให้รู้สึกว่า มันเป็นอะไรที่เหมาะกันมากเลย”

 

 

ประเด็นสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่ความรู้ที่ได้จากเรื่องพวกนี้ เพราะความรู้หรือเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ นานาค้นหาจากกูเกิลก็ได้ แต่มันคือความผูกพันถึงวรรณกรรมเล่มต่างๆ ที่ผู้เขียนส่งผ่านมาถึงนักอ่านอย่างเราๆ อย่างที่ โจ วรรณพิณ บอกว่านี่คืออิทธิพลสำคัญในการเลือกซื้อหนังสือออนไลน์ของเขาช่วงนี้

“คืออ่านๆ ไป ก็ต้องเปิดเว็บไซต์ amazon ค้างไว้หน้าหนึ่งเลย เจอเล่มนี้คนเขียนเขียนโคตรน่าอ่าน เราก็กดซื้อตาม มันให้ความรู้สึกรักหนังสือที่อยู่ในนี้ขึ้นมาทุกเล่มเลย ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน”

สิ่งที่สุรเดชมองว่าคนอ่านน่าจะได้จากหนังสือเล่มนี้ก็คือ บริบทต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมที่รายล้อมนักเขียนและงานเขียนชื่อดัง อย่างเช่น ทำไมเชกสเปียร์จึงมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับขนาดนี้ แต่วิธีเล่าจะไม่ใช่เรียงไปตามลำดับแบบบทความวิชาการ แต่จะเล่าง่ายๆ เลยว่า ในยุคนั้นมีความซับซ้อนของสังคมอย่างไร แล้วทำไมเชกสเปียร์ถึงมีความสำคัญขึ้นมา

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนุกไม่แพ้กันคือ เวลาอ่านเราจะเห็นชื่อหลายชื่อปรากฏขึ้น เช่น เจน ออสเตน ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ รวมถึงคนกลุ่มหลังๆ ซึ่งเป็นนักเขียนโลก ไม่ใช่เฉพาะของอังกฤษหรืออเมริกัน อย่างกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หรือซัลมาน รัชดี

“สิ่งที่เราเห็นก็คือ ผู้เขียนจะอธิบายถึงบริบทสังคมในช่วงนั้น ทำไมนักเขียนกลุ่มนี้ถึงมีความสำคัญ แล้วข้อดีหรือข้อเสียของนักเขียนแต่ละคนเป็นอย่างไร

“ยกตัวอย่างเช่น พยายามอธิบายว่า ทำไมถึงมีคนอ่านงานเจน ออสเตน เยอะมาก มีแฟนฟิกหรืออะไรอื่นๆ ตามมา มีลักษณะเด่นอย่างไรเกี่ยวกับเจน ออสเตน ขณะที่เชกสเปียร์ดูมีความยิ่งใหญ่ ส่วนเจน ออสเตน ก็ดูเหมือนผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เขียนนวนิยายเล่มโตๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความรักแค่นั้นเอง ถ้าได้อ่านจะเห็นว่านิยายของออสเตนมีความโรแมนซ์เยอะ คนเขียนก็ไปนั่งหาแล้วมานั่งคิดจนหัวแตกเลยว่า ทำไมคนถึงอ่านงานเจน ออสเตน กันเยอะ”

มาถึงคำถามสำคัญ นัฏฐกร ปาระชัย ถามแทนเราอีกหลายๆ คนว่า จริงๆ แล้วเราอ่านวรรณกรรมกันไปทำไม ในฐานะผู้แปลและนักวิชาการที่คลุกคลีกับวรรณกรรมมาตลอด สุรเดชกล่าวว่า

 

สาเหตุที่ผมอ่านวรรณกรรม หรือทำงานวิชาการด้านวรรณกรรม คือส่วนหนึ่ง เราก็อยากรู้ว่าคนอื่นเขาเป็นยังไง หรือโลกของคนอื่นเป็นยังไงกันบ้าง เรามีความรู้สึกว่าไม่อยากจะมองจากมุมมองของเราเองอย่างเดียว แล้ววิธีการหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้รู้ว่าคนอื่นคิดยังไงก็คือการอ่านวรรณกรรม

 

“วิทยาศาสตร์อาจจะขยายโลกไปในทางกายภาพ แต่ในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก วิธีการที่คนคนหนึ่งพยายามสร้างเรื่องเล่ามาเพื่อรองรับการตัดสินใจของตัวเอง เรารับรู้สิ่งเหล่านี้ผ่านวรรณกรรม” สุรเดชกล่าว

 

 

แม้จะอยู่ในวัยบั้นปลายชีวิต แต่งานของซัตเทอร์แลนด์กลับสนุกสนาน ทั้งยังเปิดรับอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างที่เราจะเห็นในบทท้ายๆ ซึ่งกล่าวถึงทั้งรางวัลวรรณกรรมระดับโลก ที่มาของลิสต์หนังสือขายดี วรรณกรรมระดับแมสทำร้ายวงการหนังสือจริงหรือไม่ ไปจนถึงที่ทางของวรรณกรรมในอนาคต

“อีกอย่างที่เห็นคือแกเป็นคนทันสมัย โดยเฉพาะคนที่อ่านใกล้ๆ จบจะเห็นได้ชัดเลยว่า มีส่วนที่แกพูดว่า ในสังคมปัจจุบัน มีอินเทอร์เน็ต มีอะไรต่างๆ ผุดขึ้นมา แล้วมันส่งผลต่อการอ่านของเราอย่างไร อีบุ๊คจะเวิร์กไหม ผมว่าแกมีลักษณะของการมองโลกในแง่ดี คือไม่ได้ถึงขนาดต่อต้านไปเสียทุกอย่าง แกบอกว่ายิ่งเยอะยิ่งดี” สุรเดชกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีการเปรียบเปรยว่าเวลามีหนังสือในตลาดเยอะๆ ก็เหมือนกับมีซาลาเปาลูกใหญ่ ถ้ามีคนเขียนเยอะขึ้น วงการหนังสือก็จะเป็นซาลาเปาก้อนใหญ่ขึ้น ซึ่งการที่ก้อนใหญ่ขึ้นก็หมายความว่า ไส้ก็น่าจะใหญ่ตามไปด้วย เพราะฉะนั้นสาระต่างๆ ที่มากับงานเขียนที่มีจำนวนมากขึ้น ก็คาดหวังได้ว่าจะมีสาระและเป็นทางเลือกให้กับผู้อ่านได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน