Lifelong Kindergarten อนุบาลตลอดชีวิต (ฉบับย่อ)

 

“โรงเรียนอนุบาลคือสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบพันปี”

– มิตเชล เรสนิก ผู้เขียน Lifelong Kindergarten

 

ชั้นเรียนอนุบาลเคยเป็นโลกจำลองใบเล็กที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระและบริหารจินตนาการได้เต็มที่ ทว่าทุกวันนี้โรงเรียนอนุบาลกลับเริ่มกลายสภาพเป็นเหมือนชั้นเรียนทั่วไป คือมุ่งสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้เร็วๆ มากกว่าให้เล่นและสำรวจสิ่งต่างๆ ชั้นเรียนอนุบาลควรกลับสู่ความเป็นตัวเองเดี๋ยวนี้ และยิ่งไปกว่านั้น ชั้นเรียนอื่นๆ ในโรงเรียน (และในการเรียนรู้ตลอดทั้งชีวิต) ควรกลับกลายเป็นเหมือนชั้นเรียนอนุบาลด้วย

มิตเชล เรสนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษา ได้รวบรวมประสบการณ์กว่า 30 ปีที่ MIT Media Lab และสกัดเป็นบทเรียนที่เรียกว่า หลัก “4P” ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียน การทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิต ซึ่งหัวใจสำคัญของกระบวนการนี้ก็คือจิตวิญญาณการเรียนรู้แบบชั้นเรียนอนุบาล

ชวนทำความรู้จักพลวัตแห่งการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่จะปฏิวัติการเรียนรู้ ซึ่งจะพาเยาวชนออกจากหล่มการศึกษาในระบบที่ติดอยู่กับวัฒนธรรมการสอบวัดผล และพาคนทำงานออกจากทางตันของไอเดีย รวมถึงร่วมกันหาคำตอบว่า เราจะช่วยให้เยาวชนคนหนุ่มสาวพัฒนาไปเป็นนักคิดผู้สร้างสรรค์ เพื่อให้พวกเขาพร้อมใช้ชีวิตในโลกที่ไม่รู้จักหยุดนิ่งใบนี้ได้อย่างไร

คำเตือน เหมาะสำหรับพ่อแม่ที่กำลังหาของเล่นให้ลูก ครูอาจารย์ที่กำลังมองหาแนวทางการสอนใหม่ๆ ผู้บริหารโรงเรียนที่กำลังริเริ่มโครงการ นักออกแบบที่กำลังรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ กระทั่งคนธรรมดาที่สนใจเรื่องการคิดเชิงสร้างสรรค์

 

นักศึกษาพันธุ์เอ็กซ์กับจิตวิญญาณอนุบาล

 

นักเรียนนักศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วโลก ล้วนถูกบ่มเพาะมาด้วยวิธีการเดียวกัน คือการสอนให้ปฏิบัติตามขั้นตอนและกฏ ผลที่ได้คือเรามี นักศึกษาพันธุ์เอ เดินกันให้ว่อน แต่ไม่มีใครเป็นบุคลากรที่คิดเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างที่โลกต้องการ

แล้วโลกต้องการอะไร?

คำตอบคือ นักศึกษาพันธุ์เอ็กซ์ ที่กล้าเสี่ยงที่จะคิดอะไรใหม่ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ เพราะโลกนี้ไม่มีความแน่นอนอีกต่อไปแล้ว เด็กวันนี้ต้องโตไปประกอบอาชีพที่ยังไม่มีชื่อเรียกด้วยซ้ำ ไม่เพียงในฐานะคนทำงาน แต่ในฐานะปัจเจกและการเป็นพลเมืองด้วย ความสามารถที่จะคิดและแสดงออกอย่างสร้างสรรค์จึงจำเป็นยิ่งสำหรับการรับมือโลกที่แปรปรวนปุบปับเช่นนี้

“นักศึกษาพันธุ์เอ็กซ์จะเต็มใจรับความเสี่ยงและลองสิ่งใหม่ๆ กระหายที่จะเป็นผู้นิยามปัญหาในแบบของตนเอง มากกว่าจะรอแก้ไขโขทย์ในตำราเรียน และเป็นผู้ริเริ่มไอเดียสดใหม่และกำหนดทิศทางใหม่ๆ ที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์” – เฉินจี๋หนิง อธิการบดีมหาวิทยาลัยชินหวา

 

เกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์

 

โรงเรียนอนุบาลที่สอนด้วยจิตวิญญาณอนุบาล จะให้เด็กๆ ได้จินตนาการ เล่น แบ่งปัน คิดทบทวน และจินตนาการอีกครั้ง กระบวนการนี้เรียกว่า “เกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์” ซึ่งจะเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ ในโรงเรียนอนุบาล หากคิดภาพตามแล้วจะเห็นว่าจินตนาการของเด็กย่อมสูงขึ้น กว้างไกลขึ้นเรื่อยๆ

เด็กกลุ่มหนึ่งเล่นบล็อกไม้อยู่บนพื้น เด็กสองคนลงมือสร้างปราสาท โดยได้แรงบันดาลใจมาจากนิทานที่ครูอ่านให้ฟัง เด็กๆ สร้างฐานของปราสาทขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงเริ่มสร้างหอสังเกตการณ์เติมลงไปบนส่วนยอด พวกเขาเติมบล็อกไม้เข้าไปเรื่อยๆ และหอคอยก็สูงขึ้นทุกที ในที่สุดมันถล่มลงมากองอยู่ที่พื้น เด็กๆ เริ่มสร้างปราสาทหลังใหม่ คราวนี้พยายามสร้างหอคอยที่มั่นคงกว่าเดิม ขณะเดียวกัน เด็กอีกคนก็เริ่มเล่านิทานเกี่ยวกับครอบครัวที่อาศัยในปราสาทนี้ เด็กสองคนช่วยกันเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปในนิทาน ขณะที่ตัวปราสาทใหญ่โตขึ้น นิทานเองก็ขยายออกไปเช่นกัน” เรสนิกให้ภาพ

เกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ (Creative Learning Spiral)

นักวิจัย นักคิด นักออกแบบ ใช้วิธีการเดียวกันนี้เป๊ะๆ ในการคิดสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์ (จินตนาการ) ทำมันขึ้นมาจริงๆ แล้วแบ่งปันให้เพื่อนๆ ช่วยทดลองใช้ จากนั้นก็นำผลสรุปกลับมาทบทวนว่าได้อะไร ตรงไหนที่เป็นจุดอ่อน แล้วก็พัฒนาโมเดลใหม่ขึ้นมา แล้วก็เข้าสู่กระบวนการเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า

 

สิ่งที่ผู้คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

 

(1) ต้องแสดงออกผ่านงานศิลปะ

นอกจากจิตรกร ประติมากร หรือกวีแล้ว นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ ผู้ประกอบการ หรือนักสังคมสงเคราะห์ก็กำลังคิดสร้างสรรค์อยู่เช่นกัน ว่าจะตั้งสมมติฐานใหม่ๆ อย่างไร จะวินิจฉัยโรคแบบไหน นำเสนอผลิตภัณฑ์แบบใดที่ยังไม่มีในท้องตลาด และพัฒนากลยุทธ์เพื่อช่วยครอบครัวด้อยโอกาส ดังนั้น ทุกวิชาชีพต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่ศิลปิน

(2) คนมีความคิดสร้างสรรค์เป็นประชากรส่วนน้อย

ความคิดสร้างสรรค์คือการคิดค้นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลก มีเพียงศิลปินและเจ้าของรางวัลโนเบลเท่านั้นที่มี ส่วนพวกเราที่เหลือไม่มี นั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์! เพราะเอาเข้าจริง ความคิดสร้างสรรค์คือการคิดที่เป็นประโยชน์ต่อคุณ ก่อนหน้านั้นอาจมีร้อยคน พันคนที่เคยคิดแบบนี้มาแล้ว แต่หากมันเป็นความคิดใหม่และมีประโยชน์สำหรับคุณ นั่นคือความคิดสร้างสรรค์แล้ว

(3) เกิด วาบ ขึ้นมาได้

เคยคิดกันใช่ไหมว่า ไอเดียเจ๋งๆ เกิดวาบขึ้นมาเองในหัว ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะการคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการอันยาวนาน และอาการ “ถึงบางอ้อ” เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของกระบวนการคิด ทำ ทดลอง แบบเกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ครั้งแล้วครั้งเล่าต่างหาก

“ความคิดสร้างสรรค์เป็นผลมาจากแรงบันดาลใจ 1 เปอร์เซ็นต์ อีก 99 เปอร์เซ็นต์มาจากหยาดเหงื่อแรงกาย” – โธมัส อัลวา เอดิสัน

(4) สอนกันไม่ได้

บางคนเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์ เด็กเกิดมาพร้อมความอยากรู้ อยากลอง และความสงสัยใคร่รู้ และวิธีการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เรสนิกไม่ถึงกับค้านความคิดนี้ แต่เขาเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์สอนได้

“เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมขีดความสามารถที่จะสร้างสรรค์ แต่ใช่ว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นจะพัฒนาขึ้นได้ด้วยตัวเองเสมอไป มันต้องการการฟูมฟัก กระตุ้น และสนับสนุน สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เอื้อให้ความคิดสร้างสรรค์เจริญงอกงามได้ เราสอนความคิดสร้างสรรค์ได้ ตราบใดที่การสอนคือกระบวนการปฏิสัมพันธ์แบบเป็นธรรมชาติ” มิตเชล เรสนิก

อย่างไรก็ตาม เรสนิกได้สรุปถึง “จตุรพีแห่งการคิดสร้างสรรค์” ให้จำง่ายๆ ว่าการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ประกอบด้วย 4P ได้แก่ โครงงาน (Project) ความหลงใหล (Passion) เพื่อน (Peers) และการเล่นสนุก (Play)

 

โครงงาน: Project

 

คำว่า “คิดสร้างสรรค์” มีคำว่า “สร้าง” เป็นพื้นฐาน เราจึงเรียนรู้วิธีคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยการลงมือ ทำ หรือลงมือ สร้าง และเราควรให้เด็กได้เป็นผู้สร้างด้วย

ฌ็อง เพียเจต์ นักจิตวิทยาเด็กผู้ยิ่งใหญ่ชาวสวิส ก็เคยเสนอแนวคิดทำนองนี้ว่า “เด็กๆ ไม่ได้เป็นผู้รับไอเดีย แต่เป็นผู้สร้างไอเดีย” ตรงกับทฤษฎีการเรียนรู้แบบผู้สร้าง ในความหมายว่า เด็กนั้นไม่ได้เป็นผ้าขาวผู้รอรับ ในทางกลับกัน เด็กเป็นผู้สร้างสรรค์ แก้ไข และทดสอบทฤษฎี

ฉะนั้น ขณะที่ทั่วโลกกำลังนิยมใช้คอมพิวเตอร์สอนแทนครู แต่ที่เอ็มไอทีจะใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เรียกว่า “ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวพวกเขาเอง” (constructionism) โดยให้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ให้เด็กได้ สร้าง องค์ความรู้นั้น

โครงงานยังทำให้เห็นว่าเด็กเป็นผู้สร้างของเล่นได้ ขอเพียงแต่เรามีแพลตฟอร์ม อุปกรณ์ และพื้นที่ที่กว้างมากพอให้เขาได้แสดงฝีมือ เด็กจำนวนมากสร้างเกม ทำฟอร์กลิฟต์จำลองจากเลโก้ที่ยกของได้จริง ทำหุ่นยนต์ข้ามสิ่งกีดขวางขึ้นเอง แทนที่จะเป็นเพียงผู้เล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับเกมหรือหุ่นยนต์ และแม้หุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่เด็กๆ สร้างสรรค์ขึ้นจะไม่สลับซับซ้อนหรือ ‘ฉลาด’ เท่าหุ่นยนต์ของเล่นสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านขายของเล่น แต่สาระสำคัญอยู่ที่การได้สร้างเองต่างหาก

“เด็กที่ได้ลงมือสร้างสิ่งของ รังสรรค์ผลงาน และคิดประดิษฐ์สิ่งต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก ย่อมเป็นเด็กที่พร้อมใช้ชีวิตในสังคมแห่งอนาคตมากกว่า” มิตเชล เรสนิก

เรสนิกยังย้ำอีกว่า การเล่นหรือการสร้างอะไรก็ตาม เด็กควรเป็นผู้ได้กำหนดโจทย์และเงื่อนไขได้เอง

 

ความหลงใหล: Passion

 

“การลงทุนกับสิ่งที่คุณสนใจจะให้ผลกำไรเป็นความรู้ที่ดีที่สุดเสมอ” มิตเชล เรสนิก

ทำไมเด็กบางคนถึงไม่อยากอ่านหนังสือนอกเวลาที่โรงเรียนบังคับให้อ่าน แต่ตั้งใจจดจ่ออยู่กับคู่มือทำแอนิเมชั่นหนาเตอะได้เป็นวันๆ นั่นเพราะความสนใจอันมาจากความหลงใหล

ความสนใจของเด็กๆ หรือเยาวชนอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือตื้นเขิน แต่หากได้รับแรงสนับสนุนและกระตุ้นอย่างเหมาะสม พวกเขาจะสร้างเครือข่ายความรู้ที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองสนใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรื่องเล็กๆ อย่างการชอบขี่จักรยาน อาจนำไปสู่การแสวงหาความรู้เรื่องเกียร์ ฟิสิกส์ของการทรงตัว วิวัฒนาการของยานพาหนะในประวัติศาสตร์ หรือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการขนส่งรูปแบบต่างๆ

ความเข้าใจผิดอันใหญ่หลวงข้อหนึ่งเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนคือ พวกเขาชอบอะไรง่ายๆ ทำให้บ่อยครั้งที่ครูหรือสำนักพิมพ์พยายามผลิตตำราเรียนที่ย่อยบทเรียนให้ง่ายขึ้น นั่นผิดถนัด เด็กส่วนมากเต็มใจ หรือที่จริงคือ “กระหายที่จะทำงานหนัก ตราบใดที่พวกเขารู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ทำอยู่

เรสนิกอธิบายว่า เมื่อได้ลงมือทำกิจกรรมที่ยากแต่สนุก เด็กๆ ได้ซึมซับแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้นไปด้วย และประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ เรียนผ่าน “ระยะดื่มด่ำ” สลับกับ “ระยะไตร่ตรอง”

อีดิธ แอ็กเคอร์แมน (Edith Ackermann) นักจิตวิทยาพัฒนาการ อธิบายกระบวนการข้างต้นว่าเป็นการ “ดำลงไป” และ “ก้าวออกมา” เวลาคนเราทำโครงงานที่ตนหลงใหล พวกเขาจะกระหายที่จะดำลึกลงไปและดื่มด่ำกับมัน เต็มใจที่จะทำงานเป็นชั่วโมงๆ หรือนานกว่านั้น และแทบไม่สังเกตเลยว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหนแล้ว กล่าวคือ พวกเขาก้าวเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “ภาวะลื่นไหล” นั่นเอง

ทั้งนี้ การก้าวออกมาและไตร่ตรองประสบการณ์ก็สำคัญยิ่งยวด เพราะช่วยให้พวกเขาได้เชื่อมโยงแนวคิดต่างๆ และได้พัฒนาความเข้าใจที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้นว่ากุลยุทธ์ใดใช้ได้ผลดีที่สุด รวมทั้งช่วยให้พร้อมจะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆ ในอนาคต

กล่าวคือ ความหลงใหลเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนวงจรแห่งการดื่มด่ำและไตร่ตรอง และเป็นเช่นนี้กับผู้เรียนทุกวัย ไม่ว่าเด็กระดับประถมศึกษาหรือนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

นอกจากนั้น มีแนวทางที่เรียกว่า “เกมิฟิเคชั่น” จากการที่เห็นว่า เด็กๆ เล่นเกมและอยู่กับมันได้นานเพราะระบบสะสมคะแนนและเหรียญตรา หากนำมันมาประยุกต์ใช้กับการศึกษา โดยให้พวกเขาได้คะแนนและรางวัลจากการทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบเดียวกับเวลาเล่นเกม พวกเขาก็น่าจะมีแรงจูงใจให้อยากเรียนรู้มากขึ้น แนวทางนี้จึงกลายเป็นภูมิปัญญาสามัญอย่างหนึ่งไปแล้ว มันถูกนำไปประยุกต์ใช้ในแอปพลิเคชั่นการศึกษา ในองค์กร ในบริษัทเอกชน เพราะเชื่อกันว่า คะแนนและรางวัลเป็นแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพในการเรียนและการทำงานได้

ทว่างานวิจัยใหม่ๆ เริ่มเห็นแย้ง รางวัลอาจกระตุ้นให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นกลับแตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะรางวัลอาจสร้างแรงกระตุ้นได้ก็จริง แต่เพียงในระยะสั้นเท่านั้น เหมือนโดนคาเฟอีนกระทุ้งให้ลุกขึ้นมามีชีวิตชีวิตได้สองสามชั่วโมง แล้วฤทธิ์ของมันก็หายไป ที่แย่คือ มันจะไปลดแรงจูงใจระยะยาวของคุณที่จะทำโครงการอย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยยืนยันว่า การได้รับรางวัลไม่ได้หมายถึงแรงจูงใจที่มากกว่าเสมอไป

 

เพื่อน: Peers

 

การออกแบบพื้นที่ที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญและฟุ่มเฟือยนั้นส่งผลโดยตรงต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของสมาชิก และมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อทัศนคติและกิจกรรม กล่าวคือการออกแบบเป็นตัวชี้ว่าสถานที่แห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ “คิดเองคนเดียว” หรือ “มาทำด้วยกัน”

เช่น ห้องคอมที่มีโต๊ะเรียงเป็นแถวหันหน้าไปทางเดียวกันนั้น เห็นได้ชัดว่าตั้งใจให้ผู้ใช้รับฟังผู้บรรยายที่ยืนพูดอยู่หน้าห้อง แถมยังไม่สามารถเดินไปมาหาสู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันได้ ขณะที่การจัดคอมพิวเตอร์ให้กระจายตัวเป็นกลุ่มและแต่ละกลุ่มหันหน้าเข้าหากันนั้น เอื้อให้เกิดการทำงานกลุ่มและคอยดูโครงงานของคนอื่นหรือกลุ่มอื่นๆ ได้ เก้าอี้แบบมีล้อเลื่อนก็ช่วยสนับสนุนการไปมาหาสู่กันได้อย่างดี ผู้ใช้สามารถไถเก้าอี้ไปคุยกับเพื่อนได้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมคือ เมื่อเห็นว่าการที่เด็กทำงานร่วมกันนั้นได้ผล สถานศึกษาก็ออกแบบให้เด็กนักเรียนทำงานกลุ่ม ซึ่งผิด! ที่ถูกต้องคือเราไม่ควรไปกำหนดว่าพวกเขาต้องทำอะไร และทำกับใคร ความจริงแล้ว คำว่า “เพื่อน” ของการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ต้องมาพร้อมกับคำว่า “ความหลงใหล” ด้วย พวกเขาควรได้ทำงานร่วมกันพร้อมกับได้ทำโครงงานที่ตัวเองรักและใส่ใจ ทีมควรเกิดขึ้นเองอย่างไม่เป็นทางการ เชื่อมโยงด้วยความสนใจที่เหมือนกันและโครงงานประเภทเดียวกัน ทีมเหล่านี้จะมีพลวัตและความยืนหยุ่น ปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของโครงงานและความสนใจของสมาชิก

นอกจากความร่วมมือแล้ว วัฒนธรรม “การแบ่งปัน” ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เมื่อสมาชิกได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ พวกเขาควรมีความรับผิดชอบในการแบ่งปันทักษะนั้นให้เพื่อนสมาชิกด้วย

หลังจากทำโครงงานใดๆ ขึ้นมา เด็กๆ จะโพสต์ลงในชุมชนออนไลน์สแครตช์ ซึ่งมีวัฒนธรรมความเอื้ออาทรที่กำหนดขึ้นมาร่วมกันและยึดถือเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน และการให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งสามารถนำไปใช้กับสโมสร หน่วยงาน หรือกระทั่งที่ใดก็ได้ นั่นคือ

  • ให้ความเคารพผู้อื่น: เวลาแชร์โครงงานหรือโพสต์ข้อคิดเห็น ให้ระลึกไว้เสมอว่าจะมีบุคคลที่มีอายุและภูมิหลังแตกต่างหลากหลายเข้ามาเห็นสิ่งที่คุณแชร์
  • ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์: เมื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงงานของผู้อื่น อย่าลืมบอกด้วยว่าคุณชอบอะไรในผลงานชิ้นนั้นๆ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ
  • จงซื่อสัตย์: อย่าสวมรอย อย่าปล่อยข่าวลือ และอย่าพยายามหลอกลวงสมาชิกให้หลงเชื่อด้วยวิธีการใดก็ตาม
  • ช่วยกันรักษาบรรยากาศฉันมิตรในเว็บไซต์: หากคุณคิดว่าโครงงานหรือคอมเมนต์ไหนเข้าข่ายโหดร้าย ดูถูกผู้อื่น รุนแรงเกินไป หรือไม่เหมาะสม ให้คลิกปุ่ม “รายงาน” เพื่อแจ้งให้เราทราบ

 

การเล่น: Play

 

เมื่อพูดถึงการเล่น คนส่วนใหญ่มักเชื่อมโยงมันกับเสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน และความเพลิดเพลิน ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ยังตกหล่นองค์ประกอบสำคัญยิ่งไป นั่นคือ การทดลอง กล้าเสี่ยง และทดสอบอาณาเขต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์

พ่อแม่และครูบางคนยังแคลงใจกับการเล่น หลายคนไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเล่นกับการเรียนรู้ แต่บางคนก็สุดโต่งไปอีกด้านคือคิดว่าการเล่นทุกแบบคือการเรียนรู้ทั้งสิ้น ดังนั้นคำถามสำคัญคือการเล่นแบบไหนที่จะช่วยให้เยาวชนพัฒนาไปเป็นนักคิดเชิงสร้างสรรค์ได้มากกว่า และเราจะสนับสนุนการเล่นประเภทนั้นได้อย่างไร

ลองดูความแตกต่างระหว่าง คอกเด็กเล่น ที่เด็กได้เล่นและเคลื่อนไหวร่างกายในพื้นที่จำกัด สำรวจของเล่นรอบตัว เล่นของเล่นในคอก กับ สนามเด็กเล่น ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กมีโอกาสมากขึ้นในการขยับร่างกาย สำรวจ ทดลอง และทำงานร่วมกับเด็กคนอื่น

อย่างตัวต่อเลโก้ก็เล่นได้ทั้งสองสไตล์ แบบสนามเด็กเล่นคือให้ตัวต่อไว้ตะกร้าหนึ่ง เด็กจะใช้มันประดิษฐ์อะไรก็ได้ตามแต่จินตนาการ เขาจะสรรค์สร้างอะไรต่อมิอะไรที่ไหลเรื่อยไม่มีวันสิ้นสุดตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ส่วนแบบคอกเด็กเล่น คือเด็กต่อตัวต่อตามแบบที่ให้ไว้อาจจะเป็นปราสาทฮอกวอตส์จาก แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ หรือยานอวกาศจาก สตาร์วอร์ส

แน่นอนว่าไม่มีแบบไหนผิด แบบหนึ่งให้อิสระและบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ กับอีกแบบที่ให้ความเชี่ยวชาญและการทำตามลำดับขั้นตอนเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม มีเทคนิคหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ยิ่งใหญ่จำนวนมากในประวัติศาสตร์ใช้มาโดยตลอด และเป็นต้นกำเนิดที่ส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นั่นคือ “การแปะนั่นผสมนี่”

การแปะนั่นผสมนี่คือจุดที่การเล่นมาบรรจบกับการสร้าง เป็นวิธีที่ทำให้เราได้ทดลองทำ ลองใช้แนวคิดใหม่ๆ ประเมินเป้าหมายไปเรื่อยๆ ขัดเกลามัน และจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เทคนิคนี้ไม่ได้ใหม่อะไรเลย เพียงแต่มันทวีความสำคัญขึ้นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ เพราะเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ เราควรรู้วิธีด้นสด ดัดแปลง และลองทำอะไรบางอย่างครั้งแล้วครั้งเล่า

ในขณะที่นักวางแผนทำทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบระเบียบ ตรงไปตรงมา และมีประสิทธิภาพมากกว่า รวมทั้งใช้แนวทางการคิดแบบบนลงล่าง ซึ่งการวิเคราะห์ปัญหาและพัฒนาแผนงานอย่างดีนี้ ทำให้นักวางแผนส่วนใหญ่ทำงานครั้งเดียวแล้วถูกต้องเลย นักแปะนั่นผสมนี่จะใช้แนวทางแบบล่างขึ้นบน เริ่มจากจุดเล็กๆ ดัดแปลง แล้วปรับแผนงาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดูยุ่งเหยิงทีเดียว แต่พวกเขายอมสูญเสียประสิทธิภาพเพื่อแลกกับความคิดสร้างสรรค์และความคล่องตัว

ไม่ว่าเลโอนาร์โด ดาวินชี หรืออเล็กซานเดอร์ แกรม เบลล์ จนถึงริชาร์ด ไฟยน์แมน ล้วนมองตัวเองเป็นนักแปะนั่นผสมนี่ ขณะที่ผู้คนมักทึกทักว่าผู้คนเหล่านี้เป็นนักวางแผนเพราะรายงานที่ตีพิมพ์ดูเป็นขั้นเป็นตอนสุดๆ แต่ความจริง การทำงานทดลองในห้องแล็บของพวกเขาแสดงให้เห็นความเป็นนักแปะนั่นผสมนี่อย่างแท้จริง

  

สังคมอุดมความคิดสร้างสรรค์

 

ช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่าโลกกำลังเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมเป็นสังคมสารสนเทศ ซึ่งข้อมูลข่าวสารคือพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม บางคนก็บอกว่าเราต้องเข้าสู่ สังคมแห่งองค์ความรู้มากกว่า เพราะหากข้อมูลข่าวสารไม่ถูกแปลงเป็นองค์ความรู้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

เรสนิกเสนอไปไกลกว่านั้นว่า เราควรไปให้ถึง สังคมอุดมความคิดสร้างสรรค์ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าโลกเปลี่ยนเร็ว และนักคิดสร้างสรรค์เท่านั้นที่จะอยู่รอด ทั้งนี้ เส้นทางที่จะไปสู่สังคมนั้น เรสนิกได้เขียนถึงเคล็ดลับที่ใช้ได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู นักออกแบบ หรือนักพัฒนา

 

เคล็ดลับ 10 ประการสำหรับผู้เรียน (ตลอดชีวิต)

  1. เริ่มจากอะไรง่ายๆ
  2. ทำสิ่งที่คุณชอบ
  3. ถ้าไม่รู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ให้ลองดำน้ำไปก่อนหลายๆ แบบ
  4. อย่ากลัวที่จะทดลอง
  5. หาเพื่อนมาช่วยทำ และแบ่งปันไอเดีย
  6. ไม่ผิดที่จะลอกงานคนอื่น (เพื่อให้คุณเกิดไอเดีย)
  7. บันทึกไอเดียของคุณลงในสมุดวาดเขียน
  8. สร้าง รื้อ แล้วสร้างใหม่
  9. อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้มากมาย อย่าเพิ่มถอดใจเสียก่อน
  10. สร้างเคล็ดลับการเรียนรู้ของคุณเอง

 

เคล็ดลับ 10 ประการสำหรับพ่อแม่และครู

  1. จินตนาการ : ให้ดูตัวอย่างเพื่อช่วยจุดประกายไอเดีย
  2. จินตนาการ : ส่งเสริมให้ลองเล่นไปเรื่อยๆ
  3. สร้างสรรค์ : จัดหาวัสดุที่หลากหลายไว้ให้
  4. สร้างสรรค์ : เปิดอ้อมแขนรับการสร้างทุกรูปแบบ
  5. เล่น : เน้นที่กระบวนการมากกว่าผลงาน
  6. เล่น : จัดสรรเวลาสำหรับทำโครงการมากขึ้น
  7. แบ่งปัน : สวมบทบาทแม่สื่อ
  8. แบ่งปัน : มีส่วนร่วมในฐานะผู้ทำโครงการ
  9. คิดทบทวน : ถามคำถาม (ที่อยากรู้จริงๆ)
  10. คิดทบทวน : แบ่งปันการคิดทบทวนของคุณเอง

จะเห็นได้ว่า จินตนาการ สร้างสรรค์ เล่น แบ่งปัน และคิดทบทวนไปเรื่อยๆ นั้นตรงกับเกลียวการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งหากปล่อยให้เกิดกระบวนการนี้ พวกเขาจะเกิดไอเดียใหม่ๆ และวนซ้ำอยู่ในเกลียวนั้น และพ่อแม่ผู้ปกครองและครูสามารถสนับสนุนให้เกิดวงเกลียวนี้ได้

 

หนทางสู่อนุบาลตลอดชีวิต

 

การศึกษาดื้อดึงต่อการเปลี่ยนแปลงมากขนาดไหนนั้น เราคงเห็นได้จากการที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมหน้าของเกษตรกรรม การแพทย์ และการผลิตแบบอุตสาหกรรมไปหมด แต่การศึกษายังเหมือนเดิม ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากมากที่จะนำแนวทางจัดการศึกษาแบบอนุบาลเข้าไปใช้กับชั้นเรียนอื่นๆ

แล้วหากต้องการเปลี่ยนแปลง เราควรเริ่มจากตรงไหนอย่างไร?

เรสนิกบอกว่าต้องทำลายอุปสรรคระหว่าง ศาสตร์แขนงต่างๆ เพื่อบูรณาการวิทยาศาสตร์ศิลปะ วิศวกรรม และการออกแบบเข้าด้วยกัน ทลายกำแพงแห่ง วัย ให้คนทุกช่วงอายุได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ขจัดอุปสรรคระหว่าง พื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน ชุมชน กและบ้าน รวมถึงต้องกำจัดอุปสรรคด้าน เวลา แล้วอนุญาตให้เด็กๆ ทำโครงการที่พวกเขาสนใจได้นานเท่าที่ต้องการด้วย

เรื่องนี้เรียบง่ายมากแต่ไม่ง่ายเลย และแม้มันต้องลงทั้งแรงกาย แรงใจ และใช้เวลาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งคือการสร้างนักคิดสร้างสรรค์ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น คุ้มค่าอย่างแน่นอน

 

Lifelong Kindergarten: อนุบาลตลอดชีวิต
(Lifelong Kindergarten: Cultivating Creativity through Projects, Passion, Peers, and Play)
Mitchel Resnick เขียน
วิชยา ปิดชามุก แปล

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่