สาเหตุที่ ‘เสรีนิยม’ โตยากในเมืองไทย – เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

 

ในฐานะคอลัมนิสต์ทางการเมืองวัฒนธรรมและคนสอนวิชารัฐศาสตร์โดยเฉพาะการเมืองการปกครองไทยและทฤษฎีการเมืองว่าด้วยเสรีประชาธิปไตยมาร่วมสามทศวรรษ ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยเป็นภูมิทัศน์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการนำเข้า แพร่หลาย และหยั่งรากของแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ทางการเมือง ทั้งในแง่วิชาการ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

ก่อนอื่น ในแวดวงการเมืองและรวมทั้งวงวิชาการรัฐศาสตร์ของไทย เราอาจคุ้นเคยกับคำศัพท์และแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตย” (democracy) หรือแม้แต่ระบอบ “เสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) ดี

แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะพบเห็นสนใจใส่ใจศัพท์และแนวคิดเรื่อง “เสรีนิยม” (liberalism) และตระหนักว่าเอาเข้าจริง สิ่งที่เรียกว่าระบอบ “เสรีประชาธิปไตย” นั้น เป็นการมาประกบประกอบเข้าด้วยกันของสองกระแสแนวคิดซึ่งต่างมีกำเนิด ที่มา นักคิด บริบทของกลุ่มสังคมในประวัติศาสตร์ที่มันรับใช้ การคลี่คลายขยายตัว เนื้อหา ทิศทาง จุดเน้นย้ำและเป้าประสงค์ ซึ่งทั้งแยกต่างหากเป็นอิสระ และแตกต่างจากกัน กระทั่งตึงเครียด ตรงข้าม และขัดแย้งกันอยู่ในตัว

การที่กระแสแนวคิดทั้งสองมาประกบประกอบกันเข้าเป็นระบอบ “เสรีประชาธิปไตย” (liberalism + democracy = liberal democracy) นั้นเพิ่งเกิดขึ้นในโลกตะวันตกราวไม่เกินสองร้อยปีมานี้เอง อีกทั้งเกิดขึ้นและธำรงรักษาไว้ได้ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมที่แน่นอนเท่านั้น

ขณะที่บทเรียนแรกๆ ซึ่งผม (และศิษย์รุ่นพี่ร่วมสำนักเช่น อาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ได้เรียนรู้ในชั้นเรียนปรัชญาและทฤษฎีการเมืองตะวันตกระดับบัณฑิตศึกษาที่คณะการปกครอง มหาวิทยาลัยคอร์แนล ในสหรัฐอเมริกา เมื่อกลางทศวรรษที่ 1980 จากศาสตราจารย์ Isaac Kramnick ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปรัชญายุครู้แจ้งและเสรีนิยมคือเรื่องที่ว่าแนวคิดเสรีนิยมไม่เหมือนและแยกต่างหากจากแนวคิดประชาธิปไตย ผมไม่เคยได้ยินคำสอนที่แจกแจงเรื่องนี้อย่างเด่นชัดแจ่มแจ้งเลยสมัยเรียนอยู่ในเมืองไทยช่วงเวลาเดียวกัน ในการเมืองโลก ด้านหนึ่งเริ่มปรากฏอาการ “ความหลงผิดต่อลัทธิเลือกตั้ง” (the fallacy of electoralism) และระบอบประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy) ในลาตินอเมริกาและยุโรปตะวันออกมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เริ่มเกิดอาการประชาธิปไตยไส้กลวงหรือประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน (hollowed-out democracy or democracy without a demos) ในยุโรปตะวันตกและอเมริกาในทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ซึ่งสะท้อนการปริแตกแยกห่างออกจากกันระหว่าง [<– เสรีนิยม vs. ประชาธิปไตย –>] ไปคนละทิศคนละทางชั่วไม่กี่ปีหลังสิ้นสุดสงครามเย็นนั้น

ในการเมืองไทย ความไม่คุ้นไม่ตระหนักประเด็น “เสรีนิยม vs. ประชาธิปไตย” นี้มาแสดงออกชัดช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งเสื้อสีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เมื่อผมเริ่มเสนอข้อวิเคราะห์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ว่ามองในแง่แนวคิดการเมือง เราอาจตีความความแตกต่างขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง vs. เสื้อแดงได้ว่า คือความขัดแย้งทางหลักการระหว่าง [เสื้อเหลือง-เสรีนิยม] vs. [เสื้อแดง-ประชาธิปไตย] ซึ่งผมไปทราบภายหลังว่าก็มีนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะผู้วิเคราะห์ตีความออกมาทำนองเดียวกับผมบางคน เช่น Walden Bello และ Elliot Norton เป็นต้น

ข้อตีความของผมดังกล่าวเผชิญกับความฉงนสนเท่ห์ เคลือบแคลงสงสัย เหลือเชื่อ และรับไม่ได้ของเพื่อนมิตรหลายคน โดยเฉพาะในหมู่คณะนิติราษฎร์ ในประเด็นที่ว่าจะยอมรับได้อย่างไรว่าพวกเสื้อเหลืองที่สนับสนุนการรัฐประหารโดยทหารซึ่งโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยลงและยังจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนแบบเผด็จการอำนาจนิยม จะเป็นตัวแทนหลักคิด “เสรีนิยม” ไปได้? ยังมิพักต้องพูดถึงการอ้างอิงข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มาเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างแพร่หลายซ้ำซาก การทำเช่นนี้จะเป็น “เสรีนิยม” ไปได้อย่างไร?

ความยุ่งยากสับสนในการทำความเข้าใจ “เสรีนิยม” เชิงปฏิบัติในทางการเมืองดังกล่าว ยิ่งมาถูกประเดประดังทับซ้อนด้วยข้อความจริงทางวัฒนธรรมที่ว่า เสรีนิยมขัดแย้งและกลับตาลปัตรฐานคิดเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจตามประเพณีในวัฒนธรรมหลักของไทยแต่เดิม กล่าวคือ

ขณะที่ตามประเพณีหลักของไทย “บุคคลอยู่เพื่อรัฐ และอำนาจมาจากบนลงล่าง”
ส่วนเสรีนิยมตะวันตกกลับถือว่า “รัฐอยู่เพื่อบุคคล และอำนาจมาจากล่างขึ้นบน” เสียฉิบ

นอกจากนี้ในทางประวัติศาสตร์ การเคลื่อนไหวเชิงการเมืองแบบเสรีนิยมเพื่อจำกัดอำนาจรัฐหลังการอภิวัฒน์รัฐธรรมนูญนิยม พ.ศ. 2475 ก็ดำเนินการโดยพลังฝ่ายคณะเจ้านายขุนนาง-อนุรักษนิยมเป็นหลัก (royal liberalism) ซึ่งไม่ไว้วางใจและพุ่งเป้าโจมตีประชาธิปไตยเสียงข้างมาก (majoritarian democracy) ปฏิเสธหลักคนเท่ากันและการปกครองโดยประชาชน (against egalitarianism & government by the people) และยอมรับสนับสนุนการรัฐประหารโดยทหาร เผด็จการอำนาจนิยม และการจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อราชบัลลังก์ เป็นต้น

สำหรับผู้คนที่สนใจกระทั่งยึดถือหลักคิดเสรีนิยมจึงเป็นเรื่องยากแสนยากที่จะทำความกระจ่างเข้าใจให้เกิดขึ้นกับแนวคิดนี้ทั้งในวงวิชาการและการเมืองของไทยเรา

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่า สังคมเศรษฐกิจไทยเรามีปัจเจกบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นโดยแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (neoliberalized individuals) โดยเฉพาะหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา คอยขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บริการรถยนต์และมอเตอร์ไซค์โดยสารและขนส่ง Grab Kerry หรือเปิดร้านคาเฟ่ ฯลฯ พลุกพล่านเต็มบ้านเต็มเมือง

ทว่ากลับไม่มีหลักคิดเสรีนิยมที่ให้คุณค่าพื้นฐานกับปัจเจกบุคคลมาสอดรับกันในทางการเมืองอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน การแสดงออกทางสาธารณะ สื่อมวลชนและสื่อออนไลน์อย่างปัจเจกบุคคลไม่เสรี (illiberal individuals) จึงสะดวกดายและแพร่หลายดกดื่น ส่งผลให้การปลูกสร้างพลังการเมืองเสรีนิยม และจัดการปรับแต่งความสัมพันธ์ของมันกับระบอบประชาธิปไตยให้เหมาะสม ยิ่งยากเข้าไปอีกและตกค้างยืดเยื้อยาวนาน

เอาเข้าจริงผมไม่รู้จักหนังสือ Liberalism: A Very Short Introduction (2015) และไม่ได้ยินกิตติศัพท์ผู้เขียนศาสตราจารย์ Michael Freeden แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมาก่อน เผอิญว่าระหว่างผมเดินทางไปกล่าวปาฐกถานำให้แก่การประชุมวิชาการ EUROSEAS ครั้งที่ 9 ของกลุ่มนักวิชาการผู้ศึกษาเอเชียอาคเนย์ทั่วภาคพื้นยุโรป ณ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ผมมีโอกาสแวะไปเดินเตร่ชมหนังสือในร้านของสำนักพิมพ์ออกซฟอร์ด เห็นชื่อเตะตาของหนังสือเล่มนี้เข้า จึงซื้อรวมกับเล่มอื่นๆ มา

พอกลับถึงเมืองไทย ได้ลงมืออ่านเป็นเรื่องเป็นราว ผมก็ประทับใจและทึ่งกับแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ของอาจารย์ฟรีเดน ท่านใช้แนวทางแบบประวัติความคิดการเมือง แต่ไม่ใช่อย่างทื่อๆ เถรตรงตายตัว หากติดเครื่องมือการคิดที่ละเอียดประณีต พิสดาร แนบเนียนละเมียดละไม ยืดหยุ่นพลิกไหว และพอเพียงกับความสลับซับซ้อนเปลี่ยนแปลงผันผวนของแนวคิด/อุดมการณ์/วาทกรรมใหญ่ๆ อย่างเสรีนิยมในช่วงเวลายาวนานทางประวัติศาสตร์ถึงสี่ศตวรรษ อาทิ

  • 5 ช่วงชั้น (5 layers) ของข้อถกเถียงที่ก่อตัวขึ้นตามกาลสมัยของเสรีนิยม
  • แนวการศึกษาแบบสัณฐานวิทยา (morphology) ที่ให้ความสำคัญทั้งกับแนวคิดแกนกลาง (core concepts) 7 ประการของเสรีนิยม ได้แก่ เสรีภาพ ความมีเหตุผล ปัจเจกภาพ ความก้าวหน้า ความสามารถเข้าสังคมได้ ผลประโยชน์ทั่วไป และอำนาจอันจำกัดและพร้อมรับผิด
  • ให้ความสำคัญกับการเรียงสับเปลี่ยน (permutations) และการขจัดการท้าประชัน (decontestations) อันเป็นกลไกหรือกระบวนท่าในการสืบทอดตัดต่อเก็บรับมรดกความคิดเสรีนิยมในแต่ละช่วงชั้น ซึ่งนำไปสู่ความทับซ้อน-ขบเหลื่อม-บดบัง-เบียดขับ-ลอดเห็น-ขับเน้น-เปลี่ยนแปลง-พลิกผันเหมือน palimpsests หรือแผ่นวัสดุใช้ซ้ำที่วางก่ายเกยทับซ้อนกันอยู่ 5 ชั้น ในการอธิบายการคลี่คลายขยายตัวของเสรีนิยมช่วงชั้นต่างๆ ในประวัติความคิด
  • การแพร่ซึมสู่กันและกันได้ระหว่างอุดมการณ์ต่างๆ

จนผมซึ่งเคยประสบพบเห็นปรากฏการณ์ทางประวัติความคิดทำนองเดียวกันในการที่ปัญญาชนลูกจีนและไทยนำเข้าลัทธิมาร์กซ-ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าสู่สังคมไทยทางการเมืองวัฒนธรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สองตอนผมค้นคว้าวิจัยเพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 (เขียนเสร็จ ค.ศ. 1992 ปรับปรุงพิมพ์เป็นหนังสือ ค.ศ. 2001) และพยายามรับมือมันไปด้วยแนวคิดตื้นเขินหยาบง่ายเท่าที่คิดได้ (the ethno-ideology of Thainess, commodifying Marxism, the politics of translation, rhyming Marxism, etc.) อดรู้สึกเสียดายไม่ได้ว่าถ้าผมมีเครื่องมือการคิดชุดของฟรีเดนนี้คงสกัดจับวิเคราะห์วิจารณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ละเอียดประณีตถนัดถนี่กว่าที่ทำได้ตอนนั้นมาก

หนังสือ เสรีนิยม: ความรู้ฉบับพกพา เล่มนี้จึงไม่ใช่บทสรุปสังเขปย่อหรือประวัติความคิดเสรีนิยมธรรมดา แต่ผู้อ่านจะได้เห็นชีวิตทางความคิดที่คลี่คลายขยายตัวไปอย่างซับซ้อน เปลี่ยนแปลง พลิกผัน อย่างเป็นกระบวนการที่เข้าใจได้ของแนวคิดเสรีนิยมทั้ง 5 ช่วงชั้นในประวัติความคิดการเมืองตะวันตก อีกทั้งเป็นตัวอย่างสาธิตถึงแนวทางการศึกษาประวัติความคิดที่น่านำมาลองประยุกต์ใช้ได้ในกรณีอื่นๆ รวมทั้งของไทยด้วย

ผมแปลต้นฉบับนี้เสร็จในช่วงหลังของปี พ.ศ. 2561 รอจังหวะการขอลิขสิทธิ์ ตรวจคุณภาพวิชาการและบรรณาธิการแปลจนมาเสร็จสิ้นหนึ่งปีให้หลัง ขอขอบคุณโครงการตำราและสิ่งพิมพ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักพิมพ์ bookscape และบรรณาธิการแปล คุณอภิรดา มีเดช ที่ให้การสนับสนุนดำเนินการและตรวจปรับต้นฉบับแปลต่างๆ จนลุล่วงไปด้วยดีในที่สุด

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน คำนำผู้แปล เสรีนิยม: ความรู้ฉบับพกพา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เสรีนิยม: ความรู้ฉบับพกพา
(Liberalism: A Very Short Introduction)
Michael Freeden เขียน
เกษียร เตชะพีระ แปล
264 หน้า
315 บาท (ราคาพิเศษลด 15% ช่วง pre-order 268 บาท)
ตั้งแต่วันนี้ ถึง 16 กุมภาพันธ์ 2563
(หนังสือจะจัดส่งตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์)

อ่านตัวอย่างหนังสือและดูรายละเอียดสั่งซื้อได้ที่นี่