เรื่อง: สมชาย ปรีชาศิลปกุล
หากเปรียบเทียบกับสถาบันการเมืองอื่นแล้ว ฝ่ายตุลาการในสังคมไทยมีลักษณะที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนประการหนึ่ง ก็คือสถานะที่สูงส่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าองค์กรอื่นๆ
ความศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นได้จากหลายปรากฏการณ์ เช่น การเรียกขานบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตุลาการว่า ‘ท่าน’ การเชื่อมโยงสถานะขององค์กรว่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ ‘ในพระปรมาภิไธย’ การเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนการปฏิบัติงานในฐานะผู้พิพากษา ความยากลำบากของการสอบเข้าดำรงตำแหน่งที่ต้องใช้ความมานะอย่างสูง เป็นต้น ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นภาพของฝ่ายตุลาการที่ต่างกับบุคคลที่ทำงานในหน่วยงานอื่นอย่างสำคัญ
ด้วยลักษณะดังกล่าว ประกอบกับการจัดวางบทบาทหน้าที่ของฝ่ายตุลาการที่เคยเป็นมาในสังคมไทย องค์กรตุลาการมักถูกรับรู้และให้ความหมายว่าเป็นฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ ให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายอย่างเป็นอิสระ ตามหลักวิชา ตรงไปตรงมา และไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับปมประเด็นปัญหาที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับข้อถกเถียงในทางการเมืองมากเท่าใด (แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายตุลาการจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด บทบาทและสถานะขององค์กรนี้สัมพันธ์กับอำนาจทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง หากเป็นความเกี่ยวข้องในแบบที่ไม่อาจเห็นได้อย่างชัดเจน)
ดังนั้น สถาบันตุลาการจึงไม่สู้จะถูกกล่าวถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์มากสักเท่าใด หากจะพอมีอยู่บ้าง ก็เป็นการแสดงความเห็นแบบสุภาพเรียบร้อย กระทั่งกับนักวิชาการเองก็มักขึ้นต้นก่อนการให้ความเห็นด้วยวลีว่า “ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของศาล”
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2549 เป็นต้นมา บทบาทของฝ่ายตุลาการได้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไพศาล
องค์กรตุลาการได้เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย ทั้งในฐานะของผู้ตัดสิน ผู้กระทำการ หรือแม้กระทั่งกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งด้วยตนเองในบางกรณี ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
ในเบื้องต้น การแสดงบทบาทของฝ่ายตุลาการมักเป็นไปในทิศทางที่ขัดแย้งกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การตัดสินที่เกิดขึ้นไม่ได้สอดคล้องกับความเห็นของผู้คนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องอยู่ในแวดวงการเมือง จึงย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อการทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว
ทั้งนี้ การแสดงความเห็นที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงเพราะการทำหน้าที่ไม่ถูกใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นมาจากความเห็นของผู้รู้ในทางกฎหมายจำนวนมากด้วยเช่นกัน คำวินิจฉัยจำนวนนับไม่ถ้วนถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎหมาย หากขึ้นอยู่กับอุดมการณ์หรือทัศนคติของผู้ตัดสินมากกว่า
ข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ‘สองมาตรฐาน’ หรือบางครั้งก็อาจกลายเป็น ‘ไร้มาตรฐาน’
นับจาก พ.ศ. 2549 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะที่มีต่อสถาบันตุลาการยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่าไม่เคยปรากฏเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้มาก่อนในสังคมไทย
ในด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้ช่วยทำให้สังคมไทย ‘ตาสว่าง’ กับฝ่ายตุลาการได้มากขึ้น และทำให้ผู้คนไม่น้อยเกิดความเข้าใจว่า สถาบันแห่งนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเฉกเช่นสถาบันอื่นๆ ซึ่งย่อมมีจุดยืน อุดมการณ์ ผลประโยชน์ ฯลฯ แต่อีกด้านหนึ่ง การตั้งคำถามต่อสถานะและบทบาทของฝ่ายตุลาการ ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปสู่การโยนเอาองค์กรนี้ออกไปจากสังคม การมีข้อสงสัย ข้อโต้แย้ง การวิจารณ์ ด้วยการแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนหรือจุดบกพร่องที่ดำรงอยู่ภายในองค์กรนั้นๆ ก็อาจเป็นประโยชน์ได้เช่นกัน หากมีการรับฟังและนำไปสู่การออกแบบหรือปรับแก้จุดที่เป็นปัญหา โดยต้องตระหนักว่าความไว้วางใจของสาธารณะ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้อำนาจตุลาการสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง
ที่กล่าวมาอาจทำให้ดูราวกับว่าสถาบันตุลาการได้กลายเป็นปัญหา เมื่อเข้ามาสัมพันธ์กับความขัดแย้งในทางการเมืองอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม หากมองให้กว้างขึ้นในประเด็นปัญหาอื่นที่อาจไม่ได้ถูกพิจารณาว่าเป็น ‘การเมือง’ อาจทำให้ตระหนักว่าบทบาทและสถานะของตุลาการนั้นดำรงอยู่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่อาจไม่ได้อยู่ในจุดที่ถูกตรวจสอบมากเท่ากับข้อขัดแย้งในทางการเมือง เช่น ความเหลื่อมล้ำ เพศสภาพ เป็นต้น
บทความในหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world นับตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ยกเว้นบทความ 2 ชิ้น คือ ตุลาการศึกษา และ ตุลาการพันลึก ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร วิภาษา ในห้วงเวลาใกล้เคียง (ชิ้นแรก พ.ศ. 2557 และชิ้นหลัง พ.ศ. 2559) เนื่องจากเป็นงานที่มีความสนใจในประเด็นร่วมกัน จึงนำมารวมไว้ที่นี้
บทความทั้งหมดเป็นความพยายามทำความเข้าใจและเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันตุลาการ ด้วยแง่มุมที่แตกต่างไปจากความเข้าใจซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ทั้งในด้านของบทบาท สถานะ โครงสร้างองค์กร ระบบความรู้ โดยบางส่วนเป็นการหยิบยืมแนวพินิจ (approach) หรือแว่นการมองต่อสถาบันตุลาการที่เริ่มมีการบุกเบิกและขยายพรมแดนการศึกษามากขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
บทความทั้งหมดเขียนขึ้นจากอคติบางประการ หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ก็คือในมุมมองที่เห็นว่าระบบความรู้ที่มีต่อสถาบันตุลาการในแวดวงวิชาการของสังคมไทย ยังคงมีอยู่อย่างจำกัดและคับแคบเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพิจารณาจากการมองว่าสถาบันตุลาการนั้นเป็นกลาง อยู่ในโลกของตรรกะทางกฎหมาย และลอยพ้นจากสังคมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมุมมองในลักษณะดังกล่าวดูจะอับจนต่อการให้คำอธิบายกับ ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นกับการดำรงอยู่และปฏิบัติการของตุลาการในสังคมไทย
ผู้เขียนจึงพยายามชวนมองผ่านข้อมูล เหตุผลและแนวพินิจในแง่มุมที่แตกต่าง และจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากสามารถทำให้เกิดการถกเถียงและตรวจสอบเกี่ยวกับสถาบันตุลาการได้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สถาบันแห่งนี้ดำรงอยู่ในสังคมไทยในฐานะขององค์กรที่บังเกิดขึ้นจากมนุษย์ธรรมดาๆ ไม่ใช่องค์กรเทวดาที่ลอยอยู่เหนือประชาชน เฉกเช่นที่นักวิชาการบางท่านได้กล่าวว่า “อำนาจตุลาการไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า แต่ถูกสร้างขึ้นมาทางการเมือง” (Judicial power does not fall from the sky; it is politically constructed.)
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘คำนำ’ หนังสือ เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน: รวมบทความว่าด้วยตุลาการภิวัตน์ ตุลาการพันลึก และตุลาการธิปไตย