Phenomenal Learning from Finland – สมรรถนะที่ 5 ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

เรื่อง : นันท์ชนก คามชิตานนท์

 

[su_note note_color=”#f7d843″]เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมความท้าทายใหม่ๆ ฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆ ที่โดดเด่นเรื่องการศึกษา ขานรับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยแนวคิดด้านการศึกษาที่ร้อยเรียงมาเป็นหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่

หลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของฟินแลนด์เน้นทักษะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลและควบคุมตนเอง ทักษะทางสังคม หรือทักษะการสื่อสาร ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนเอาตัวรอดและสร้างคุณค่าในตัวเองได้ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามาแทรกแซงชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของคนเรามากขึ้นทุกที

สมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งเจ็ดประการจึงเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่สำคัญในหลักสูตรการศึกษาใหม่ของฟินแลนด์ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมทักษะความเป็นมนุษย์ของเยาวชนแห่งอนาคต

เมื่อเทคโนโลยีรายล้อมรอบตัวและแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน สมรรถนะอีกประการที่เยาวชนต้องเรียนรู้คือทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อที่จะค้นคว้าและสร้างข้อมูลต่างๆ ในโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ [/su_note]

 

ทักษะด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสารจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ ตั้งแต่การเดินทาง จับจ่ายซื้อของ ไปจนถึงทำธุรกรรม เราล้วนต้องอาศัยเทคโนโลยีเหล่านี้ แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่ชาวดิจิทัลโดยกำเนิดก็ต้องหันมาเรียนรู้และฝึกใช้งาน เพราะคนที่ไม่มีทักษะนี้กำลังจะถูกผลักให้กลายเป็นคนนอกสังคมเข้าไปทุกขณะ

ในโรงเรียนก็ไม่ต่างกัน เทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสารแทรกซึมเข้ามาในห้องเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้พร้อมๆ กับเหล่านักเรียนที่ใช้ชีวิตรายรอบด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแทบจะตลอดเวลาที่อยู่นอกโรงเรียน แถมยังพกใส่ประเป๋ามาโรงเรียนกันอีกด้วย

ปัญหาที่ตามมาคือช่องว่างระหว่างแนวปฏิบัติเพื่อหาความรู้ระหว่างในกับนอกโรงเรียน เด็กๆ ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมีเครื่องมือและวิธีการมากมายเพื่อค้นหาข้อมูลความรู้ด้วยตัวเอง โรงเรียนและคุณครูกลับดูเหมือนจะวิ่งตามเด็กๆ ไม่ทันเสียแล้ว

แม้เราจะรู้จักฟินแลนด์กันดีในฐานะประเทศแนวหน้าด้านการศึกษา แต่อันที่จริงแล้วฟินแลนด์อยู่ในกลุ่มประเทศที่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโรงเรียนยังไม่ก้าวหน้ามากนัก แม้จะมีความพยายามและโครงการมากมายในประเทศมานับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 อีกทั้งตอนนี้หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติก็เน้นย้ำให้การก้าวกระโดดทางดิจิทัลเป็นเป้าหมายพิเศษด้วย

ฟินแลนด์มุ่งสอนให้เยาวชนใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง เพื่อต่อกรกับจุดมุ่งหมายของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ใช้แต่อย่างใด มีข้อพึงระวังมากมายที่เด็กๆ ควรเรียนรู้ เช่น ประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย รวมถึงแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ดึงดูดผู้ใช้จนเสพติด

 

สาระสำคัญที่ 1 : การศึกษาแบบสืบเสาะหาความรู้และสร้างสรรค์

เมื่อความรู้และข้อมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้น พร้อมให้ใช้งานมากขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาที่ตามมาก็คือการค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีก

นักเรียนยุคใหม่ต้องจึงต้องฝึกใช้โปรแกรมค้นหาและคลังข้อมูลต่างๆ ซึ่งมีนอกเหนือไปจากโปรแกรมยอดนิยมอย่างกูเกิล เด็กๆ ต้องเข้าใจหลักการทำงานของเครื่องมือเหล่านั้น และประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลได้

นอกจากการหาข้อมูลแล้ว นักเรียนยังต้องเปลี่ยนจากการรับความรู้ไปสู่การสร้างสรรค์ความรู้โดยใช้เครื่องมือดิจิทัล พวกเขาต้องรู้วิธีจัดการและสร้างความรู้ การปรับแก้และรวบรวมข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติหรือการสร้างความรู้ใหม่

ในยุคสมัยที่ปัญหาซับซ้อนและคลุมเครือมากขึ้นเรื่อยๆ  เราต้องพัฒนาวิธีการใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อเรียนรู้ทักษะการหาและสร้างข้อมูล และดูเหมือนว่าเราจะไม่อาจเรียนรู้ทักษะนี้ได้เลยหากไม่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นเครื่องมือ

 

สาระสำคัญที่ 2 : ทักษะที่ใช้ได้จริงและการเขียนโปรแกรม

ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรวมถึงการที่นักเรียนต้องเข้าใจการทำงานของฮาร์ดแวร์ดิจิทัล วัตถุประสงค์ของซอฟต์แวร์ประเภทต่างๆ และแนวคิดพื้นฐานเบื้องหลังโปรแกรมต่างๆ ด้วย นักเรียนต้องระบุ เลือก และใช้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ประเภทต่างๆ ได้เสียก่อน จึงจะใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเรียนรู้ ทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ และการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักเรียนควรระบุหลักการและข้อปฏิบัติหลักๆ ของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ และเข้าใจว่ามันมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร ในฟินแลนด์เอง การเขียนโปรแกรม (การเขียนโค้ด) กำลังจะเป็นวิชาบังคับ ซึ่งบรรดาครูเองก็ต้องเรียนรู้ด้วย

นอกจากนี้ การคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) ก็จะอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนเมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าสายอาชีพใดก็ต้องใช้เทคโนโลยี ผู้เรียนต้องได้พัฒนาทักษะการคิดแบบเขียนโปรแกรมและการคิดแบบขั้นตอนการแก้ปัญหา (algorithmic thinking) โรงเรียนและผู้ปกครองควรมองว่าทักษะเหล่านี้เป็นทักษะพื้นฐาน เปรียบได้กับการอ่านและการเขียน การคิดเชิงคำนวณ (หรือแบบขั้นตอนการแก้ปัญหา) ยังส่งผลพัฒนาความสามารถของผู้เรียนในการระดมความคิดและผลการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย

สุดท้าย นักเรียนยังต้องเรียนรู้ว่าจะปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สายอาชีพต่างๆ และคนทุกชนชั้นได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งตระหนักด้วยว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอาจเกิดผลเสียต่อสังคมได้อย่างไรบ้าง

 

สาระสำคัญที่ 3 : ความรับผิดชอบและความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี

ปัจจุบันเรามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจส่วนหนึ่งผ่านช่องทางดิจิทัล แพลตฟอร์มสังคมดิจิทัลไม่ใช่โลกที่แยกออกไป แต่เป็นอีกชั้นหนึ่งของโลกความจริงที่เราอยู่ เพื่อจะอยู่ในโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ นักเรียนต้องเข้าใจประเด็นต่างๆ ดังนี้

  • กฎเกณฑ์ของการสื่อสารออนไลน์ ต้องรู้ว่าโดยทั่วไปแล้วอะไรที่ทำได้และอะไรที่ทำไม่ได้
  • มุมมองต่อกฎระเบียบของกลุ่มผลประโยชน์พิเศษต่างๆ ได้ เพื่อให้เข้าใจถ่องแท้ขึ้นว่าทำไมจึงต้องมีกฎดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น นักเขียนหรือนักแต่งเพลงจะเลี้ยงชีพอย่างไร ถ้างานของพวกเขาเผยแพร่ทางออนไลน์ฟรีๆ
  • การรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของตนเองขณะใช้แพลตฟอร์มสังคมดิจิทัล นักเรียนต้องมองเห็นว่าโลกออนไลน์มีความเสี่ยงอย่างไร และรู้จักทำกิจกรรมออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยใช้ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์และการปกป้องความเป็นส่วนตัวซึ่งจะป้องกันผู้ใช้งานจากความเสี่ยงในโลกออนไลน์ได้
  • ความเสี่ยงด้านสุขภาวะจากการใช้เทคโนโลยีอย่างคร่ำเคร่ง โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย นักเรียนควรรู้จักแนวคิดเรื่องการยศาสตร์ (ergonomics) คือการป้องกันอันตรายทางกายภาพ (สุขภาพ ท่านั่ง อาการปวดคอ ฯลฯ) และการยศาสตร์ด้านการรู้คิด คือการป้องกันอันตรายด้านการรู้คิด (การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน การพักผ่อนกระบวนการทำงาน)

 

สาระสำคัญที่ 4 : ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสร้างเครือข่ายในโลกดิจิทัล

ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในโลกออนไลน์เกาะเกี่ยวแนบแน่นอยู่กับชีวิตเยาวชนทุกคน จนแทบจะเป็นปฏิสัมพันธ์ครึ่งหนึ่งในชีวิตของพวกเขาหลายคนด้วยซ้ำ กระนั้นมันก็แตกต่างจากปฏิสัมพันธ์แบบต่อหน้า ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเก็บกดหรือโต้ตอบเนื้อหาต่างๆ ด้วยอารมณ์เกินจริงเมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ หรือเราอาจรู้สึกเดียวดายยิ่งขึ้นเมื่อเห็นคนอื่นโพสต์ภาพสนุกสนาน

โรงเรียนควรมีบทบาทเชิงรุกในการชี้แนะให้นักเรียนรู้วิธีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์อย่างปลอดภัยและเหมาะสม นักเรียนควรได้พิจารณาคำถามต่อไปนี้เพื่อเรียนรู้และเติบโตขึ้นเป็นสมาชิกของชุมชนดิจิทัลเต็มตัว

  •  นิสัยและมารยาทที่ดีในการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่นส่งข้อความและแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือที่เรียกว่า “netiquette” คืออะไร
  • ปฏิสัมพันธ์และแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ส่งเสริมการเรียนหรือการสื่อสารระหว่างบ้านกับโรงเรียนได้อย่างไร
  • เราจะรักษาความปลอดภัยขณะใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้อย่างไร
  • เราควรระบุตัวตนในโปรไฟล์สาธารณะอย่างไร
  • คนอื่นอาจตีความสิ่งที่เรานำเสนออย่างไรบ้าง และเราตีความสิ่งที่คนอื่นนำเสนออย่างไรได้บ้าง ในโลกออนไลน์ เรื่องอาจลุกลามเลยเถิดเมื่อผู้คนตีความไม่ตรงกัน

ผู้ปกครองและครูหลายคนกังวลเรื่องโซเชียลมีเดีย โดยมักปักใจเชื่อว่าโซเชียลมีเดียเป็นโทษ ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ใหญ่ส่วนมากไม่มีประสบการณ์ใช้โซเชียลมีเดียมากนัก หลายคนเรียนรู้เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์บนอินเทอร์เน็ตผ่านสื่อที่ “ไม่โซเชียล” กล่าวคือ การอภิปรายแบบนิรนามตามบล็อก หนังสือพิมพ์ออนไลน์ และรายการโทรทัศน์

แต่อันที่จริงแล้วการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียนั้นเป็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเช่นกัน เยาวชนที่ใช้โซเชียลมีเดียเองก็ไม่อยากถูก “เลิกติดตาม” หรือกีดกันออกจากกลุ่ม เพราะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางสังคมสำหรับพวกเขาเลยทีเดียว ดังนั้นเด็กๆ ส่วนใหญ่จึงประพฤติตัวในโลกออนไลน์ดีกว่าบรรดาผู้ปกครองเสียด้วยซ้ำ

 

โจทย์ใหม่ของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 คือการประสานช่องว่างระหว่างทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในโรงเรียนกับในชีวิตประจำวันหลังเลิกเรียนหรือนอกโรงเรียน เพื่อก้าวตามวิถีชีวิตเด็กรุ่นใหม่ให้ทัน และช่วยสนับสนุนให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองตื่นรู้ในโลกยุคใหม่นี้