รวม misc – เชื่อใจในตัวครู และจงสร้างปรัชญาที่หาญกล้า

 

ฟินแลนด์คือดินแดนที่ระบบการศึกษาแข็งแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ด้วยยึดหลักความเท่าเทียม ตั้งมั่นอยู่ในสิทธิมนุษยชน และมีปรัชญาที่กล้าหาญ นักเรียนสอบได้คะแนนโดดเด่นในระดับโลก ขณะที่ไม่ได้เรียนหนักเหมือนอย่างอีกหลายประเทศ ความลับความสำเร็จที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งก็คือมาจากตัวคุณครู และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้อง “เชื่อใจในตัวครู”

 

ทำไมต้องอ่าน In Teachers We Trust ทำไมต้อง “เชื่อมั่น” ในตัวครู

เพราะหนึ่งในระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกอย่างฟินแลนด์บอกเราว่า ความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวครู คือจุดเริ่มต้นของการก้าวกระโดดสู่สังคมอุดมการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรมนุษย์เปี่ยมคุณภาพ เพราะครูที่มีความสุข เข้มแข็ง และเก่งกาจ คือฟันเฟืองแห่งความก้าวหน้า

“ครู” เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่มีสถานะทางสังคมสูงที่สุดในฟินแลนด์ มีรายได้มั่นคง สวัสดิการชวนอุ่นใจ มีปากเสียงในการออกแบบหลักสูตรการศึกษา แบบทดสอบมาตรฐาน และนโยบายด้านการศึกษาที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง ตลอดจนเป็นนักวิจัยมือหนึ่งที่ผ่านการเคี่ยวกรำนับแต่วันแรกในสถาบันผลิตครู ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนแม้แต่ยูโรเดียว!

In Teachers We Trust ฉบับภาษาอังกฤษ

ความศรัทธาในวิชาชีพทางการศึกษาของฟินแลนด์ไม่ได้เป็นแต่เพียงนโยบาย ทว่าเป็นวัฒนธรรมที่ถักทอด้วยกลวิธีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่วิชาชีพอย่างเข้มงวด หรือการฝึกหัดครูอย่างกวดขัน พร้อมการสนับสนุนที่จำเป็น ปลุกเร้าแรงใจด้วยวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนากันและกัน ทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพ ด้วยการสนับสนุนให้ครูปฏิบัติหน้าที่พัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มที่ และมีความก้าวหน้าไร้ขีดจำกัดที่ยึดโยงกับพัฒนาการของเยาวชน

เพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมคือการเปลี่ยนแปลงที่หยั่งรากลึกและทรงอิทธิพลที่สุด การปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงจะเริ่มต้นได้อย่างไร หากปราศจากความพยายามเปลี่ยนผ่านนโยบายเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนพร้อมโอบรับอย่างยินดี และสนับสนุนให้วัฒนธรรมนั้นงอกงาม ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง

 

เหตุใดประชาชนจึงเชื่อใจในระบบการศึกษาของรัฐ

เพราะวัฒนธรรมโรงเรียนสะท้อนถึงวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ หากได้ลองสำรวจวัฒนธรรมฟินแลนด์ดูสักหน่อย เราอาจได้รู้ว่าฟินแลนด์สร้างโรงเรียนที่เปี่ยมความเชื่อใจขึ้นได้อย่างไร

ชาวฟินแลนด์มีความเชื่อใจเพื่อนร่วมชาติสูงที่สุดในโลก ร่วมกับจีน สวีเดน นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ในรายงานผลสำรวจความเห็นของประชาชนยุโรป พบว่าชาวฟินแลนด์ 85 เปอร์เซ็นต์เชื่อใจคนอื่น

ที่น่าสนใจคือ ในการสำรวจความเห็นผู้เสียภาษีเมื่อปี 2017 ผลปรากฏว่า “สถาบันตำรวจ” คือองค์กรที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดถึง 88 เปอร์เซ็นต์ และคู่แข่งที่แข็งแกร่งอย่าง “ระบบการศึกษาของรัฐ” รั้งอันดับสองด้วยคะแนนความเชื่อมั่น 86 เปอร์เซ็นต์

เมื่อลองถามผู้ปกครองล่ะ? สมาพันธ์ผู้ปกครองชาวฟินแลนด์ (Finnish Parents’ League) เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรับรู้และความคาดหวังต่อโรงเรียนจากเหล่าคุณพ่อคุณแม่อย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2018 ผลสำรวจความเห็นผู้ปกครอง 10,000 คน พบว่าผู้ปกครอง 85 เปอร์เซ็นต์เชื่อใจในโรงเรียนและครูของลูก (ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น) และพ่อแม่จำนวน 4 ใน 5 เข้าร่วมการประชุมครู-ผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ และคิดว่าการประชุมนั้นจัดการได้ดีและก่อประโยชน์แก่ทั้งผู้ปกครองและโรงเรียน

ปัจจัยหนึ่งที่อธิบายได้ว่าเหตุใดชาวฟินน์จึงเชื่อมั่นในระบบโรงเรียนคือ การศึกษาถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและไม่มีค่าใช้จ่าย โรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาทุกแห่งได้รับการอุดหนุนจากงบประมาณรัฐอย่างเพียงพอ กระทั่งการเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่เสียค่าเล่าเรียนเช่นกัน

“ชาวฟินแลนด์รู้ว่าการศึกษาที่ดีมีอยู่ทุกหนแห่ง จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าโรงเรียนดีๆ อยู่ที่ใด ผู้คนแทบทั้งหมดเชื่อมั่นว่า โรงเรียนที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ดีเพียงพอแล้วสำหรับทุกคน” – เชื่อใจในตัวครู

หากลองทำแบบสำรวจความคิดเห็นนี้ในประเทศไทย ผลจะเป็นอย่างไร ระบบการศึกษาจะได้รับความเชื่อมั่นแค่ไหน แล้วสถาบันตำรวจจะอยู่อันดับที่เท่าไหร่กันนะ

 

จงสร้างปรัชญาอันกล้าหาญ

ครั้งหนึ่งนักปราชญ์เคยกล่าวว่า

“ปรัชญาในห้องเรียนของคนรุ่นหนึ่งจะกลายเป็นปรัชญาในรัฐบาลของคนรุ่นถัดไป”

ในเมื่อโรงเรียนคือแหล่งกำเนิดพลเมืองและผู้นำในอนาคต ดังนั้นเราจำเป็นต้องก้าวข้ามไปให้พ้นจากกรอบความคิดแบบหดแคบของการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องประเมินระบบการศึกษาเสียใหม่ และต้องตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างปัจจัยขั้นพื้นฐานให้ครูและเด็กๆ ทุกคนเติบโตได้เต็มศักยภาพ

ทุกวันนี้ ปรัชญาและเป้าหมายของการศึกษาได้เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล เราให้ความสำคัญกับคะแนนสอบด้านการอ่านออกเขียนได้และคณิตศาสตร์มากเกินไป ผลพวงที่ตามมาคือแนวคิดที่เน้นความเชื่อใจครูและการสอนเด็กๆ กลับเลือนหาย

แม้ว่าข้อมูล การตรวจสอบความรับผิดชอบ และการประเมินผลจะเป็นเรื่องสำคัญ ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เส้นทางหลักในการให้การศึกษาแก่เด็กๆ หรือการพัฒนาครู ผู้บริหารและผู้นำโรงเรียนจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศภายในศูนย์กลางชุมชนและโรงเรียนของตนบนพื้นฐานของความเชื่อใจ ถ้าผู้นำโรงเรียนและครูไม่เชื่อใจอีกฝ่าย เราก็จะไม่อาจเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนได้

ระบบปัจจุบันของเราตั้งอยู่บนการกำกับและบังคับใช้ผ่านการสอบที่สร้างผลกระทบสูง ระบบนี้นำเรามาสู่สถานการณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับครูและนักเรียน

ผู้บริหารและผู้นำโรงเรียนต้องสร้างปรัชญาอันกล้าหาญซึ่งช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมโรงเรียนอันมีศูนย์กลางอยู่ที่ความเชื่อใจ ในปัจจุบันมีผู้นำด้านการศึกษา ครอบครัว นักเรียน และสมาชิกชุมชนเรียกร้องให้ยุติระบบที่เป็นอยู่ และแสวงหาวิธีมอบการศึกษาแก่เด็กๆ เพื่อที่พวกเขาจะกลายเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

หากต้องการเข้าใจแก่นของปัญหา เราต้องมองให้เห็นปัญหาเสียก่อน พูดง่ายๆ คือ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็กๆ หรือครู แต่อยู่ที่ผู้นำทางการเมืองซึ่งมีอิทธิพล วางนโยบาย และกำกับเขตการศึกษาต่างๆ ผู้นำเหล่านี้ลดทอนครูและเด็กให้เหลือเพียงตัวเลขและคะแนน

เราต้องการให้ครูมีอำนาจในทางวิชาชีพเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกห้องเรียน เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งที่ผู้บริหารและผู้นำโรงเรียนต้องฟังเสียงเรียกร้องเหล่านี้ และหนทางเดียวที่จะโต้ตอบได้ก็คือการสร้างปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยให้ครูได้เติบโต เราต้องเริ่มจากให้ผู้นำโรงเรียนสร้าง “ทุนทางวิชาชีพ” เสียก่อน

ลงทุนกับครูของคุณ แล้วคุณจะได้รับวัฒนธรรมความเชื่อใจและความรับผิดชอบของโรงเรียนกลับมา

 

เชื่อใจในตัวครู: กุญแจสู่การศึกษาชั้นนำฉบับฟินแลนด์

 In Teachers We Trust: The Finnish Way to World-Class School

Pasi Sahlberg และ Timothy D. Walker เขียน

ทศพล ศรีพุ่ม แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก

256 หน้า

อ่านรายละเอียดหนังสือและสั่งซื้อได้ที่นี่