
บ.ก. จุ๊ บุญชัย แซ่เงี้ยว
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณเตือนการเมืองแบบฟาสซิสต์ในโลกสมัยใหม่ เหตุการณ์ทางการเมืองระดับโลกหลายด้านในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชี้ว่าเรากำลังเดินเข้าสู่โลกที่ฝ่ายขวาจัดก้าวมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
เจสัน สแตนลีย์ นักเขียนเล่มนี้สังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้ระยะใหญ่ เขาเห็นพัฒนาการใหม่ๆ เกิดขึ้น และเป็นพัฒนาการที่ชวนวิตก
ทั้งสำเนียงรังเกียจผู้อพยพและชนกลุ่มน้อย กลัวว่า “พวกมัน” จะทำลายคุณความดีที่ “พวกเรา” ช่วยกันสร้าง ทั้งระดมคำโป้ปดเปลี่ยนความลวงเป็นความจริงพร้อมทำร้ายฝ่ายตรงข้ามไร้ซึ่งความเห็นใจ ทั้งตรากฎหมายซึ่งหมายจำกัด “พวกมัน” ในรัฐนาวานั้น
ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเยลคนนี้เป็นลูกหลานผู้เผชิญภัยฆ่าล้างบางชาวยิวสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เขานำประสบการณ์ความโหดร้ายกับสัมภาระทางอารมณ์ครั้งนั้นส่วนหนึ่งมาใช้ทำความเข้าใจฟาสซิสม์ในโลกใหม่
หนังสือเล่มนี้จึงพอให้เรา “รู้สึกรู้สา” กับตัวหนังสือที่ถ่ายทอดออกมา นอกจากบทวิเคราะห์ฟาสซิสม์อันหนักแน่นและเฉียบคมซึ่งเป็นจุดเด่นของงานชิ้นนี้
สแตนลีย์สางภาพร่างฟาสซิสม์ที่พัวพันยุ่งเหยิงออกเป็น 10 ส่วนเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่ากลไกแบบฟาสซิสม์นั้นแท้แล้วหน้าตาเป็นอย่างไร 10 ส่วนนี้แบ่งออกเป็น 10 บท และ 10 บทนี้เขียนขึ้นด้วยจุดประสงค์หนึ่งเดียว
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อต้องการติดเครื่องมือเชิงวิพากษ์ให้เรารู้จักแยกแยะกลวิธีสร้างความเกลียดชังโดยการเมืองแบบฟาสซิสต์ กับกลวิธีที่เป็นไปในการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย
หนังสือเล่มนี้มีผู้ซื้อลิขสิทธิ์เตรียมแปลไปกว่า 20 ภาษา นับว่าเยอะไม่น้อยกับหนังสือที่ดูอย่างไรก็ไม่น่าจะขายดี
บางทีสิ่งชักนำให้สำนักพิมพ์หลายประเทศจัดพิมพ์อาจไม่ใช่แค่เพราะยอดขาย มากเท่ากับความต้องการกระจายความตระหนักถึงปรากฏการณ์ระดับโลกครั้งนี้
บ.ก. ขอเล่า | 80 ต้นไม้รอบโลก (Around the World in 80 Trees)
บ.ก. โอ๊ต ศรัชญ์ศรณ์ ศรประสิทธิ์
ถ้าหนังสือทั้งเล่มคือการเดินทาง เราก็หมายมั่นว่าการเดินทางรอบโลกครั้งนี้ ต้องมีหลักไมล์สักหลัก ต้นไม้สักชนิด หรือถิ่นที่อยู่ของพวกมันสักแห่งที่สะดุดใจและติดแน่นอยู่ในหัวแน่ๆ
ไล่อ่านเนื้อในเลยดีกว่า ดีจังที่ได้รู้ว่ากระดาษวาชิที่เพื่อนบางคนคลั่งไคล้นั้นทำจากปอสาซึ่งเดินทางออกจากไต้หวันสู่ตองกา หรือถึงกับขำออกเสียงเมื่ออ่านเรื่องที่ต้นลินเดินซึ่งทำให้ชาวเยอรมันประหวัดไปถึงรักแรกนั้นมีกลิ่นมอมเมาประสาทจนมีผึ้งนอนสลบอยู่ทั่วไปใต้ต้น ตื่นเต้นที่ได้รู้ว่า “แอปเปิลทองคำ” ในปกรณัมกรีกนั้นแท้จริงคือผลควินซ์ การได้รู้ว่าภาษาละตินเรียกมงกุฎใบลอเรลว่า bacca lauri นำไปสู่คำที่หมายถึงบัณฑิตปริญญาตรีว่า baccalaureate และ bachelor ก็เหมือนมีใครมาเปิดไฟในหัวเลย
ต้นไม้น่ะมหัศจรรย์อยู่แล้ว จะเรื่องถือกำเนิด ปรับตัว เติบโต จะบนเทือกเขาหนาวเหน็บที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง หรือจะกลางทะเลทรายร้อนแล้งที่ยากจะหาน้ำสักหยด แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยิ่งทำให้อัศจรรย์ใจยิ่งกว่าเดิม เพราะต้นไม้แต่ละชนิดพาไปรู้จักดินแดนที่เราไม่เคยไป ได้รู้จักชาวบ้านที่นั่น วัฒนธรรมและความเชื่อของพวกเขา ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำกิ่งก้านใบมาใช้ประโยชน์อย่างน่าเหลือเชื่อ
บางย่อหน้าก็ทำเสียน้ำตาครั้งแล้วครั้งเล่า — ผู้เขียนเล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้นซีดาร์เลบานอนใกล้บ้านถูกฟ้าผ่าตายไว้ในบทนำ .
“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นพ่อร้องไห้ ผมนึกถึงเจ้าต้นไม้ขนาดใหญ่มหึมา หนักแน่น และงดงาม ซึ่งอยู่มานานหลายร้อยปี ผมเคยคิดว่าไม่มีอะไรมาโค่นล้มมันได้ แต่ความจริงไม่ใช่เลย แล้วผมก็นึกถึงพ่อ ผู้ที่ผมคิดว่าตลอดว่าควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ความจริงก็ไม่ใช่เลย”
หนังสือเล่มนี้คือการเดินทางรอบโลก และการเดินทางครั้งนี้ก็จับหัวใจเราตั้งแต่เก็บกระเป๋า คงเพราะมันมีความรู้สึกมากมายอยู่ในย่อหน้านั้น — มันมีความตาย การพรากจาก และความอ่อนแอ รวมถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ผ่านการรู้จักความตายด้วย
แล้วคุณล่ะ โลกทั้งใบและเรื่องราวของคุณอยู่ในต้นไม้ต้นไหน