ผลงานวิจัยจากหนังสือ ‘ปั้นให้รุ่ง’ ที่น่าสนใจและนำไปใช้ได้จริง

เรื่อง: อภิรดา มีเดช

 

ชวนอ่านผลงานวิจัยน่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงทั้งในห้องเรียนและที่บ้าน จาก ปั้นให้รุ่ง หนังสือเล่มใหม่โดยพอล ทัฟ เพื่อสร้างสรรค์ “สภาพแวดล้อม” ให้เหมาะกับการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ ส่งเสริมทักษะแห่งความสำเร็จให้เบ่งบาน และเติมเต็มอนาคตทางการศึกษาที่เท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคน

 

เสริมแรงกระตุ้นให้เด็กพัฒนาตนเองง่ายๆ ด้วยโพสต์อิท

การทดลองในโรงเรียนย่านชานเมืองเขตนิวอิงแลนด์ สหรัฐอเมริกา

ในการทดลองครั้งสำคัญปี 2006 โคเฮนและจูลิโอ การ์เซีย (Julio Garcia) ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทดสอบการช่วยเหลืออันชาญฉลาดที่ออกแบบมาเพื่อต้านความวิตกกังวลของเด็ก ม.1 ที่มีผลการเรียนรั้งท้ายในโรงเรียนย่านชานเมืองของนิวอิงแลนด์ นักเรียนแต่ละคนได้รับการบ้านให้เขียนถึงฮีโร่ของพวกเขา และครูประจำชั้นจะตรวจแล้วให้คะแนนตามปกติ โดยคำถามและคำแนะนำในการแก้จะเขียนไว้ที่ขอบกระดาษ

หลังจากนั้น โคเฮนและการ์เซียจะสุ่มแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ในการบ้านที่ตรวจแล้วของแต่ละคน พวกเขาจะแนบกระดาษโน้ตเล็กๆ ขนาดเท่าโพสต์อิทที่มีข้อความเขียนด้วยลายมือครู เด็กในกลุ่มทดลองได้รับโพสต์อิทที่เขียนว่า “ครูให้ความเห็นไว้ตามนี้เพื่อที่นักเรียนจะได้คำแนะนำเกี่ยวกับงานนี้” ข้อความชืดๆ ที่ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่กลุ่มทดลองจะได้รับโพสต์อิทน่าสนใจกว่า นั่นคือ “ครูให้ความเห็นไว้ เพราะครูคาดหวังไว้สูง และเชื่อว่านักเรียนทำได้”

นักเรียนได้รับการบ้านกลับไปพร้อมกับโพสต์อิทที่มีความเห็นของครู พวกเขาเลือกได้ว่าจะแก้งานตามนั้นเพื่อจะปรับเกรดให้สูงขึ้นหรือไม่ นักเรียนผิวขาวในห้องที่แทบไม่มีเหตุใดๆ ให้รู้สึกว่าจะถูกตัดสินตามมุมมองการเหมารวมเรื่องชาติพันธุ์นั้นมีท่าทีว่าจะแก้งานเมื่อได้รับโพสต์อิทที่มีข้อความ “หวังไว้สูง” หากผลกระทบที่มีต่อพวกเขานั้นค่อนข้างน้อยนิด ในขณะที่กลุ่มเด็กผิวสี ผลของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมนั้นต่างกันอย่างมาก มีเพียงแค่ร้อยละ 17 ของเด็กผิวสีที่แก้งาน เมื่อได้รับข้อความชืดๆ “เพื่อที่นักเรียนจะได้คำแนะนำ” เทียบกับกลุ่มทดลองที่ได้รับโพสต์อิทข้อความ “หวังไว้สูง” นั้นมีจำนวนมากถึงร้อยละ 72 ที่แก้งานหลังจากนั้น

ในการทดลองรูปแบบเดียวกันครั้งที่สอง ที่เด็กทุกคนถูกขอให้แก้งานของพวกเขา นักเรียนผิวสีที่ได้รับโพสต์อิท “หวังไว้สูง” นั้นได้คะแนนเพิ่มขึ้นสองคะแนนจากคะแนนเต็ม 15 ในงานที่พวกเขาแก้ ซึ่งมากกว่านักเรียนที่ได้รับโพสต์อิทเรียบๆ ในกลุ่มควบคุม พูดอีกอย่างก็คือ ข้อความประโยคสั้นๆ ในโพสต์อิทที่บอกว่า “หวังไว้สูง” ไม่เพียงทำให้นักเรียนแก้งานมากขึ้น แต่ยังช่วยให้ผลงานของพวกเขาดีขึ้นด้วยเมื่อพวกเขาปรับปรุงมัน

อะไรคือเบื้องหลังของผลลัพธ์นี้ คำอธิบายคือ ข้อความบนโพสต์อิทนั้นไปช่วยปิดสัญญาณเตือนภัยสู้หรือหนีที่ดังอยู่ในหัวนักเรียนในช่วงเวลาฉุกเฉิน ในจังหวะที่นักเรียนอาจเตรียมใส่เกียร์โต้ความเห็นของครูว่าเป็นภัย กระทั่งสัญญาณว่าครูไม่เห็นด้วยหรือลำเอียง ข้อความในโพสต์อิทให้มุมมองทางเลือกใหม่กับนักเรียนว่าพวกเขาจะทำความเข้าใจความเห็นพวกนั้นอย่างไร ไม่ใช่การโจมตี แต่เป็นการยืนยันความมั่นใจว่าพวกเขาสามารถทำงานที่มีคุณภาพออกมาได้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ดูแลเด็กหรือผู้ปกครอง

การทดลองในสถานเลี้ยงเด็กที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย

ลองดูตัวอย่างจากการทดลองช่วงปี 2000 ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมยุคหลังโซเวียตทำให้ทารกจำนวนมากกลายเป็นเด็กกำพร้า เด็กได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มีเสื้อผ้าใส่ มีที่อยู่อาศัยสะอาด มีการรักษาพยาบาล มีแม้กระทั่งของเล่น แต่ทั้งหมดนี้ถูกจัดสรรให้อย่างจำกัดและไม่เฉพาะเจาะจงกับเด็กคนใดคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ไม่เคยเล่นกับเด็กด้วยความอ่อนโยนและตอบสนองต่อพวกเขา “ไม่มีการยิ้ม พูดคุย หรือมองตาอย่างที่พ่อแม่ทำกับลูกในครอบครัว”

จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียและอเมริกันได้เข้าไปฝึกเจ้าหน้าที่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง ที่เด็กส่วนใหญ่อายุต่ำกว่าสองปี ด้วยต้นแบบใหม่ที่อ่อนโยนและใส่ใจกว่าเดิม เจ้าหน้าที่ได้รับการสนับสนุนให้ใช้กิจกรรมที่ต้องพบเจอเด็กในแต่ละวัน ตั้งแต่การให้นม อาบน้ำ ให้เป็นโอกาสที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ที่อบอุ่นและตอบสนองต่อเด็ก

ผ่านไปเก้าเดือน นักวิจัยพบว่าเด็กๆ ได้คะแนนสูงขึ้นอย่างชัดเจนในการวัดความสามารถทางการรับรู้ พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม รวมทั้งทักษะการควบคุมต่างๆ และที่เห็นชัดอีกอย่างคือเด็กเริ่มมีพัฒนาการทางกายภาพชัดเจนขึ้นด้วย ถึงแม้ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงในอาหารที่รับประทานหรือการรักษาพยาบาลที่ได้รับ แต่น้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบอก กลับวัดได้เพิ่มขึ้น

การทดลองที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนี้ได้ผลเพราะว่ามันเปลี่ยน สภาพแวดล้อม ของทารกและเด็กในสถานรับเลี้ยง ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนไม่ใช่สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เด็กไม่ได้รับเตียงที่ดีขึ้น อาหารที่ดีขึ้น หรือของเล่นที่เสริมพัฒนาการมากขึ้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือวิธีที่ผู้ใหญ่รอบตัวพวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วปฏิบัติกับพวกเขาต่างไป

 

การส่งเสริมความผูกพันระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา

เมื่อโครงการความช่วยเหลือที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความผูกพันได้รับการนำไปใช้อย่างถูกต้อง ผลที่ได้กับผู้ปกครองและเด็กด้อยโอกาสนั้นสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

งานวิจัยที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ที่ทำร่วมกับ 137 ครอบครัวที่มีทะเบียนประวัติกระทำผิดต่อเด็ก หรือเป็นผู้ปกครองที่ถูกพบว่าเคยกระทำทารุณกรรมหรือเพิกเฉยต่อเด็กในอดีต และตอนนี้กำลังมีเด็กเกิดใหม่ที่ต้องดูแล ครอบครัวทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมซึ่งได้รับบริการชุมชนตามมาตรฐานที่จัดหาให้กับครอบครัวที่มีประวัติกระทำผิดต่อเด็ก และกลุ่มทดลองซึ่งได้รับการปรึกษาเพื่อบำบัดเป็นระยะเวลาหนึ่งปี โดยเน้นไปยังความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก

เมื่อสิ้นปีนั้น มีเพียงร้อยละ 2 ของเด็กในกลุ่มควบคุมที่เกิดความรู้สึกผูกพันแบบปลอดภัย ในขณะที่ร้อยละ 61 ของเด็กในกลุ่มทดลองรู้สึกถึงความผูกพันนั้น ซึ่งเป็นความแตกต่างอย่างใหญ่หลวง และเป็นหนึ่งในสัญญาณที่จะบอกได้ถึงความสุขและความสำเร็จในอนาคตของเด็กเหล่านี้เลยทีเดียว

 

ผลกระทบระยะยาวของความเครียดและบาดแผลวัยเด็ก

งานศึกษาโดยทีมจากสถาบันสุขภาพ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

การศึกษาชิ้นสำคัญที่สำรวจผลกระทบระยะยาวของความเครียดและบาดแผลในวัยเด็กมีชื่อว่า ประสบการณ์ทุกข์ยากในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experiences) ในช่วงทศวรรษ 1990 โดยโรเบิร์ต แอนดา (Robert Anda) อายุรแพทย์ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค และวินเซนต์ เฟลิตติ (Vincent Felitti) ผู้ก่อตั้งภาควิชายาเพื่อการป้องกันที่ไคเซอร์เพอร์มาเนนเต สถาบันสุขภาพในแคลิฟอร์เนีย แอนดาและเฟลิตติได้สำรวจคนไข้ที่สถาบันไคเซอร์กว่า 17,000 คนในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนขาววัยกลางคน การศึกษาดี ถึงประสบการณ์สะเทือนใจที่พวกเขาเคยพบเจอในวัยเด็ก

ความสะเทือนใจ (trauma) ทั้งสิบประเภทที่แอนดาและเฟลิตติสอบถามกับผู้สำรวจนั้นเกิดขึ้นในบ้านและครอบครัว โดย 3 ใน 10 นั้นเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง 2 ประเภทเกี่ยวกับการเพิกเฉย และ 5 ประเภทที่เหลือเกี่ยวข้องกับการเติบโตในครอบครัวที่ “ผิดปกติอย่างรุนแรง” ทั้งการพบเห็นความรุนแรงในบ้าน มีพ่อแม่ที่หย่ากัน มีสมาชิกครอบครัวถูกจำคุก มีปัญหาทางจิต หรือมีปัญหาใช้สารเสพติด

เมื่อค้นประวัติการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคน พวกเขาพบความสัมพันธ์อย่างน่าสนใจระหว่างจำนวนประเภทความสะเทือนใจที่ผู้ป่วยรายนั้นเคยเผชิญในวัยเด็ก และความเป็นไปได้ที่เขาหรือเธอจะต้องเผชิญกับความเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อโตขึ้น ผู้ป่วยที่เคยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงสี่ประเภทหรือมากกว่านั้น หรือที่เรียกว่าเอซ (adverse childhood experiences – ACE) มีความเสี่ยงมากขึ้นเป็นสองเท่าที่จะป่วยเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคตับ และเสี่ยงมากขึ้นเป็นสี่เท่าที่จะป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

สิ่งที่การศึกษาเอซติดตามจริงๆ นั้นมากกว่า ประสบการณ์ ทุกข์ยากที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วจบไป หากคืออิทธิพลของ สภาพแวดล้อม ที่ทุกข์ยาก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงไม่ใช่แค่ต่อพัฒนาการร่างกาย หากรวมถึงพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ แอนดาและเฟลิตติพบว่า ยิ่งคะแนนเอซสูงมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งสัมพันธ์กับความเครียด ความวิตกกังวล การฆ่าตัวตาย และพฤติกรรมทำร้ายร่างกายมากขึ้นเท่านั้น

 

 

ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน

Paul Tough เขียน

พชร สูงเด่น แปล

192 หน้า

อ่านตัวอย่างหนังสือและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่