พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ฟรีดริช เอ. ฮาเย็ก เป็นหนึ่งในนักคิดทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และจิตวิทยาที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20
ในด้านเศรษฐศาสตร์ ฮาเย็กเป็นสมาชิกคนสำคัญของสำนักออสเตรีย (Austrian school of economics) ควบคู่กับลุดวิก ฟอน มิเซส (Ludwig von Mises) ฮาเย็กอาจนับเป็นนักเศรษฐศาสตร์ตลาดเสรีคนสำคัญที่สุดนับแต่อาดัม สมิธ เป็นต้นมา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1974 จากงานวิเคราะห์วัฏจักรธุรกิจในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ฮาเย็กชี้ต้นเหตุไปที่นโยบายสินเชื่อของธนาคารกลางที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงตํ่ากว่าความเป็นจริงเพื่อขยายการกู้ยืมสินเชื่อโดยธุรกิจ ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรไปสู่ภาคธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อ เป็นผลกระทบลูกโซ่ไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ จนเป็นภาวะเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อธนาคารกลางจำต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหยุดยั้งภาวะเงินเฟ้อ ผลที่เกิดขึ้นด้านกลับคือภาวะตกตํ่าของเศรษฐกิจ วัฏจักรธุรกิจจึงไม่ใช่ธรรมชาติของระบบตลาดเสรี แต่เป็นผลมาจากนโยบายรัฐผ่านธนาคารกลาง
ผลงานเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญอีกประการของฮาเย็กคือ การวิเคราะห์กระบวนการตลาด (market process) ในระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อน การจัดสรรทรัพยากรการผลิตทั้งวัสดุ เครื่องจักร และแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพจำต้องใช้ข้อมูลสารสนเทศจำนวนมหาศาลไปทำการผลิตเพื่อสนองความต้องการของผู้คนนับล้านที่มีความคิด รสนิยม และความต้องการแตกต่างกัน ในทัศนะของฮาเย็ก ราคาสินค้าในระบบตลาดเสรีได้รวบรวมสารสนเทศที่จำเป็นทั้งหมดไว้แล้ว ทำให้การตัดสินใจของผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ง่ายดายและเป็นไปเองโดยไม่ต้องมีการชี้นำจากรัฐบาลหรือ “ส่วนกลาง”
ในทัศนะของฮาเย็ก ราคาสินค้าในระบบตลาดเสรีได้รวบรวมสารสนเทศที่จำเป็นทั้งหมดไว้แล้ว ทำให้การตัดสินใจของผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ง่ายดายและเป็นไปเองโดยไม่ต้องมีการชี้นำจากรัฐบาลหรือ “ส่วนกลาง”
ตัวอย่างเช่น เมื่อกราไฟต์มีราคาสูงขึ้น เป็นผลให้ดินสอมีราคาสูงขึ้นไปด้วย ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกราไฟต์ เขาเพียงแค่สังเกตราคาดินสอก็รู้ว่าดินสอมี “ความหาได้ยาก” เพิ่มขึ้น เขาจึงประหยัดการใช้ดินสอและไปแสวงหาเครื่องเขียนทดแทนอื่น ในขณะที่ผู้ผลิตซึ่งต้องแข่งขันในตลาดก็จะปรับตัวด้วยการเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ประหยัดกราไฟต์มากขึ้นหรือแสวงหาวัตถุดิบทดแทน เป็นต้น บนพื้นฐานของแนวคิดดังกล่าว ฮาเย็กจึงคัดค้านการแทรกแซงกลไกตลาดโดยรัฐบาล เพราะการกระทำของรัฐบาลจะไปบิดเบือนราคาสินค้าและบริการให้สูงหรือตํ่ากว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิด “สัญญาณปลอม” ซึ่งทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตเข้าใจผิดใน “ความหาได้ยาก” ของสินค้าและทรัพยากรจนเกิดการบิดเบือนแบบแผนการใช้จ่ายของผู้บริโภคและแบบแผนการใช้ทรัพยากรการผลิตของผู้ผลิต
ฮาเย็กใช้ความเข้าใจนี้ไปวิพากษ์การวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางในระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมตลอดทศวรรษ 1930 และ 1940 ฮาเย็กวิเคราะห์ว่า ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้จริงเนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาข้อมูลสารสนเทศได้ การใช้แผนเศรษฐกิจและระบบคำสั่งมาแทนกลไกราคาในระบบตลาดทำให้ผู้วางแผนไม่มีสารสนเทศเรื่อง “ความหาได้ยาก” ของทรัพยากร จึงไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรการผลิตและแรงงานเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับก่อให้เกิดความผิดพลาด ความสูญเปล่า (ผลิตสิ่งที่ผู้คนไม่ต้องการ) และความขาดแคลน (ผลิตสิ่งที่ผู้คนต้องการน้อยเกินไป) การล่มสลายของระบบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตเป็นสิ่งยืนยันถึงความถูกต้องของแนวคิดฮาเย็ก
ฮาเย็กยังวิพากษ์แนวคิดของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษซึ่งเชื่อว่า วัฏจักรธุรกิจเป็นข้อบกพร่องของระบบตลาดเสรีและเสนอให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจด้วยนโยบายการใช้จ่ายและการจัดเก็บภาษีเพื่อขจัดวัฏจักรธุรกิจ ฮาเย็กเชื่อว่านโยบายแบบเคนส์จะนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้ในท้ายที่สุด แต่ไม่มีใครสนใจฮาเย็ก และนโยบายเศรษฐกิจแบบเคนส์ก็ได้เป็นที่นิยมในทศวรรษ 1950 และ 1960 ฮาเย็กยืนหยัดวิจารณ์นโยบายแบบเคนส์อย่างโดดเดี่ยวจนถึงทศวรรษ 1970 เมื่อเศรษฐกิจตะวันตกเผชิญภาวะเงินเฟ้อเรื้อรังควบคู่กับภาวะว่างงานสูง (stagflation) นโยบายแบบเคนส์จึงเสื่อมความนิยมไปในที่สุด
ฮาเย็กเชื่อว่า ทั้งการวางแผนจากส่วนกลางในระบบสังคมนิยมและนโยบายแทรกแซงแบบเคนส์ล้วนเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของปัจเจกชน เพราะรัฐบาลต้องขยายขอบข่ายอำนาจออกไปมากมายเพื่อบังคับ แทรกแซง หรือเพื่อทำการตัดสินใจทางเศรษฐกิจแทนปัจเจกชน การตัดสินใจกลายเป็นเรื่องทางการเมืองโดยผู้มีอำนาจ ระบบวางแผนและการแทรกแซงเช่นนี้จึงมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่เผด็จการ
ทั้งการวางแผนจากส่วนกลางในระบบสังคมนิยมและนโยบายแทรกแซงแบบเคนส์ล้วนเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของปัจเจกชน เพราะรัฐบาลต้องขยายขอบข่ายอำนาจออกไปมากมายเพื่อบังคับ แทรกแซง หรือเพื่อทำการตัดสินใจทางเศรษฐกิจแทนปัจเจกชน
ฮาเย็กไม่ได้รับความสนใจมากนักในวงการเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เขาเชื่อว่าสังคมศาสตร์ซึ่งเกี่ยวพันกับพฤติกรรมบุคคลอันซับซ้อนแตกต่างจากวิทยาศาสตร์กายภาพซึ่งเกี่ยวพันกับวัตถุ ฮาเย็กปฏิเสธการประยุกต์วิธีการของวิทยาศาสตร์กายภาพ (คณิตศาสตร์และแบบจำลอง) มาใช้กับเศรษฐศาสตร์ และปฏิเสธแบบจำลอง “ตลาดแข่งขันสมบูรณ์” เพราะเขามองว่าตลาดเสรีไม่ใช่โครงสร้างแต่เป็น “กระบวนการพลวัต” ที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตค้นพบแบบแผนการบริโภคและการผลิตที่มีประสิทธิภาพและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฮาเย็กเกรงว่าการใช้คณิตศาสตร์และแบบจำลองอาจทำให้นักวางแผนเข้าใจผิดว่าตนสามารถวางแผนเศรษฐกิจและทำนายผลที่ตามมาได้
แม้ในบั้นปลายฮาเย็กจะมีท่าทีโอนอ่อนลงโดยยอมรับการใช้คณิตศาสตร์และการทำนายผลอย่างจำกัดในระดับกว้างๆ และไม่เจาะจง แต่ท่าทีของฮาเย็กก็ยังมีช่องว่างที่ห่างไกลจากแนวทางของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
ผลงานของฮาเย็กอันเป็นที่รู้จักและทรงอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบันคือความคิดการเมืองว่าด้วยสังคมแห่งเสรีภาพ ฮาเย็กอยู่ในกระแสเสรีนิยมแบบยุโรป หรือที่ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า ลัทธิเสรีภาพนิยม (libertarianism) ซึ่งยึดเอาเสรีภาพปัจเจกชนเป็นเป้าหมายสูงสุด ฮาเย็กเห็นว่า สังคมมนุษย์มีวิวัฒนาการอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปจากการสั่งสมภูมิปัญญาของปัจเจกชนจำนวนคณานับที่แสวงหาคำตอบต่อปัญหาในชีวิตประจำวันและในชุมชนสืบเนื่องกัน ก่อรูปเป็นสังคมซับซ้อนบนฐานของกฎเกณฑ์ทั่วไปว่าด้วยการปฏิบัติต่อกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานรองรับระบบกฎหมายทางการ หลักปฏิบัติตนในสังคมที่ตกทอดกันมานี้เป็นภูมิปัญญาอันซับซ้อนและชาญฉลาดของผู้คนรุ่นต่อรุ่นมายาวนาน นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ฮาเย็กไม่เห็นด้วยกับโครงการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรวดเร็วถึงรากที่เรียกว่า “วิศวกรรมสังคม” (social engineering) ของผู้ที่อยู่ในอำนาจที่เชื่อว่าตนรู้ดีกว่าประชากรทั่วไปในการปรับเปลี่ยนสังคม “ให้ดีขึ้น” “เป็นธรรมมากขึ้น” อาจกล่าวได้ว่า ฮาเย็กเป็นนักอนุรักษนิยมแม้ฮาเย็กจะปฏิเสธและยืนยันว่าตนเป็นนักเสรีนิยม
แต่ลัทธิอนุรักษนิยมของฮาเย็กก็มีลักษณะที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากเช่นกัน โดยมีทิศทางปกป้องและขยายเสรีภาพของปัจเจกชน ฮาเย็กวิพากษ์สังคมสมัยใหม่และระบอบประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันไว้ในงานช่วงทศวรรษ 1960 ฮาเย็กวิตกว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองตะวันตกกำลังมุ่งไปในทิศทางที่เพิ่มการแทรกแซงของรัฐในระบบเศรษฐกิจสังคมและกำลังละเมิดเสรีภาพปัจเจกชนมากขึ้นทุกที ฮาเย็กเห็นว่า หลักการถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันล้มเหลวในการปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพปัจเจกชน ฮาเย็กมีข้อเสนอรูปธรรมคือการปฏิรูปประชาธิปไตยให้สามารถคํ้าประกันและส่งเสริมเสรีภาพปัจเจกชนอย่างแท้จริง
แนวคิดของฮาเย็กว่าด้วยสังคมวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและชาญฉลาดนั้นเผชิญข้อโต้แย้งสำคัญที่ว่าวิวัฒนาการมิได้นำมาซึ่ง “ผลดี” เสมอไป การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากในประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่วิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไป ดังตัวอย่างที่อารยธรรมจำนวนมากรุ่งเรืองขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายไป แม้ในยุโรป การเปลี่ยนผ่านจากศักดินานิยมยุคกลางมาสู่สังคมสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 16-18 ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค การก้าวกระโดด และความโกลาหลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ฮาเย็กไม่เห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการที่รัฐแบ่งประชากรเป็นกลุ่มต่างๆ แล้วสนองสวัสดิการในชีวิตตามลักษณะเฉพาะของกลุ่มนั้นๆ เพราะเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปในการเลือกปฏิบัติและแทรกแซงชีวิตปัจเจกชน แต่ฮาเย็กเห็นด้วยกับการคํ้าประกันรายได้ขั้นตํ่าสุดแก่ทุกคนเสมอกันซึ่งขจัดการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่รัฐออกไป ฮาเย็กต้องการให้ระบบตลาดและผู้ประกอบการเอกชนเป็นผู้สนองสวัสดิการแก่ประชากรแทนรัฐ และเห็นด้วยกับการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับที่สนองโดยเอกชน ฮาเย็กยังผ่อนปรนให้รัฐสามารถเกณฑ์ทหารเพื่อป้องกันประเทศได้เมื่อจำเป็นเพื่อปกป้องเสรีภาพปัจเจกชนจากการรุกราน การที่ฮาเย็กยังเห็นบทบาทของรัฐในบางมิติทำให้นักเสรีภาพนิยมบางส่วนกล่าวหาว่าฮาเย็กเป็นนักสังคมประชาธิปไตย
ในประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์อาจรู้จักชื่อฟรีดริช เอ. ฮาเย็ก แต่น้อยคนที่รู้รายละเอียดความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของเขา ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความคิดสังคมการเมืองของฮาเย็ก แม้แต่ในวงการรัฐศาสตร์ไทย ความคิดของฮาเย็กก็มิได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องน่าเสียดาย หนังสือแปลเล่มนี้จะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการศึกษาความคิดของฮาเย็ก เข้าใจการทำงานของกลไกราคาในตลาดเสรีอย่างชัดเจนในเชิงพรรณนา รับรู้ถึงความซับซ้อนและเปราะบางของกลไกราคาและการแข่งขัน รวมถึงผลเสียของการผูกขาดและการที่รัฐแทรกแซงการทำงานของตลาดเสรี
หนังสือแปลเล่มนี้จะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากการศึกษาความคิดของฮาเย็ก เข้าใจการทำงานของกลไกราคาในตลาดเสรีอย่างชัดเจนในเชิงพรรณนา รับรู้ถึงความซับซ้อนและเปราะบางของกลไกราคาและการแข่งขัน รวมถึงผลเสียของการผูกขาดและการที่รัฐแทรกแซงการทำงานของตลาดเสรี
หนังสือแนะนำเล่มนี้ยังช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจฮาเย็กในเรื่องความสำคัญยิ่งยวดของเสรีภาพปัจเจกชน เข้าใจว่าเสรีภาพคือเป้าหมายของสังคมสมัยใหม่ แต่เสรีภาพจะมากน้อยและมีหลักประกันเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับธรรมนูญของสังคมว่าเป็นเช่นไร ปัจเจกบุคคลจะสามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่เพื่อตนเองและสังคมก็แต่ในสังคมแห่งเสรีภาพเท่านั้น การแทรกแซงโดยรัฐในชีวิตและการตัดสินใจของผู้คนนั้นเป็นการละเมิดเสรีภาพอันมีค่า ประชาธิปไตยมิใช่อุดมคติที่เป็นเป้าหมายในตัวเอง การดิ้นรนให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยก็เพื่อส่งเสริมและให้หลักประกันแก่เสรีภาพปัจเจกชน เมื่อได้ประชาธิปไตยแล้ว การขยายบทบาทของรัฐที่อาจแทรกแซงก้าวก่ายหรือละเมิดเสรีภาพปัจเจกชนก็ยังอาจเกิดขึ้นได้
ผู้แปลได้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นานกว่า 20 ปี โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งครอบคลุมความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของฮาเย็ก ผู้แปลปรารถนาจะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความคิดของฮาเย็กในประเทศไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น แต่พบว่าหนังสือต่างประเทศที่แนะนำฮาเย็กเกือบทั้งหมดมีเนื้อหาเป็นเทคนิคทางวิชาการที่เน้นความคิดเฉพาะด้านของฮาเย็ก เล่มที่ครอบคลุมความคิดด้านต่างๆ ของฮาเย็กก็ยังเป็นวิชาการ อ่านยาก มีเนื้อหายืดยาวและเต็มไปด้วยข้อโต้แย้งที่ซับซ้อนระหว่างฮาเย็กกับคู่กรณีทางความคิด เล่มที่อ่านง่ายและสั้นก็ตีพิมพ์ขณะที่ฮาเย็กยังมีชีวิตอยู่ จึงเก่าและล้าสมัยไป กระทั่งผู้แปลได้พบหนังสือแนะนำฮาเย็กที่เขียนโดยเอมอนน์ บัตเลอร์ ตีพิมพ์ในปี 2012 มีเนื้อหาทันสมัย สั้นกะทัดรัด ใช้ภาษาไม่เป็นเทคนิควิชาการ อ่านง่าย เหมาะสำหรับผู้อ่านทั่วไป และที่สำคัญคือครอบคลุมความคิดของฮาเย็กอย่างรอบด้าน
ผู้แปลชื่นชมเอมอนน์ บัตเลอร์ มาตั้งแต่หนังสือเล่มเล็กของเขาที่แนะนำความคิดของอาดัม สมิธ ตีพิมพ์ในปี 2007 ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับงานแนะนำ ฮาเย็กเล่มนี้คือ ตรงไปตรงมา สั้นกะทัดรัด อ่านง่าย รอบด้าน หมายมุ่งไปที่ผู้อ่านทั่วไป ผู้แปลได้แปลหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นภาษาไทยชื่อ อาดัม สมิธ: ชีวิตและความคิดของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ ตีพิมพ์ในปี 2015 โดยสำนักพิมพ์ openworlds และคาดว่าจะตีพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์ bookscape ในอนาคต
ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ bookscape อาจารย์ปกป้องจันวิทย์ ที่คอยติดตามและผลักดันงานแปลชิ้นนี้ คุณณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ และคุณอภิวัฒน์ พิริยพล บรรณาธิการ ผู้ตรวจแก้ต้นฉบับอย่างละเอียด รวมทั้งคุณ Raks พิสูจน์อักษร ทุกคนช่วยให้หนังสือแนะนำฮาเย็กเล่มนี้ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจความคิดเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยม
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน คำนำผู้แปล ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่
ฟรีดริช ฮาเย็ก: ต้นธารความคิดเสรีภาพนิยมยุคใหม่
Friedrich Hayek: The Ideas and Influence of the Libertarian Economist
Eamonn Butler เขียน
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ แปล
224 หน้า
285 บาท (ราคาพิเศษลด 15% ช่วง pre-order 242 บาท)
ตั้งแต่วันนี้ ถึง 25 มีนาคม 2564)
(หนังสือจะจัดส่งตั้งแต่วัน