Brief – Book Club “ชวนอ่าน-คิด-คุย-ต่อยอด จาก The Growth Mindset Coach และ The Growth Mindset Playbook”

ภูรินท์ เทพสถิตย์ เรื่อง

 

“หนังสือเล่มเดียวกัน ร้อยคนอ่านก็ร้อยการตีความ”

เพราะผู้อ่านแต่ละคนต่างมีมุมมองและประสบการณ์ไม่เหมือนกัน จะเป็นอย่างไรหากแต่ละการตีความนั้นได้มาพบกัน ได้แลกเปลี่ยนขยายขอบฟ้าความคิดและความรู้สึกต่อกัน ภายใต้ห้องหับที่ชื่อ “บุ๊กคลับ” ซึ่งคือวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องราวภายในหนังสือ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ bookscape เปิดบุ๊กคลับชวนผู้อ่านแลกเปลี่ยนเรื่องราวและความประทับใจในหนังสือ The Growth Mindset Coach (คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset) และ The Growth Mindset Playbook (แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset) ชวนสนทนาโดย ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ content creator จาก Inskru ร่วมสนทนาโดย ฐานันดร วงศ์กิตติธร ผู้แปลหนังสือ และผู้เข้าร่วมหวังดีที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในงานการศึกษา

growth mindset หรือชุดความคิดแบบเติบโต เป็นแนวคิดที่ต้นทางมาจากหนังสือที่ชื่อ Mindset ของแครอล ดเว็ก (Carol S. Dweck) ซึ่งเป็นผลจากการทำวิจัยในหัวข้อหนทางสู่ความสำเร็จของมนุษย์มานานกว่า 30 ปี โดยดเว็กชี้ว่า มนุษย์เรานั้นมีชุดความคิดอยู่สองแบบ ได้แก่

1. fixed mindset หรือชุดความคิดแบบตายตัว หมายถึงการมองว่าอุปสรรค ความท้าทาย หรือความล้มเหลวเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย คนที่มี fixed mindset จะพยายามหลีกเลี่ยงอุปสรรค ความท้าทาย หรือความล้มเหลว และใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดระแวง

2. growth mindset เชื่อว่าคนเราเติบโตขึ้นได้ เก่งขึ้นได้ มองความท้าทายหรืออุปสรรคในชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา

หนังสือทั้งสองเล่ม คือ The Growth Mindset Coach และ The Growth Mindset Playbook ได้นำแนวคิด growth mindset มาประยุกต์ใช้กับการศึกษา หนังสือจึงเหมาะกับครู นักการศึกษา หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา แต่ก็เหมาะกับบุคคลทั่วไปเช่นกัน หากสนใจในเรื่อง growth mindset หรือการเลี้ยงดูเด็ก

 

ความเหมือนที่แตกต่าง

ฐานันดรและฉัตรบดินทร์อธิบายความแตกต่างของหนังสือทั้งสองเล่มว่าโจทย์หลักใน The Growth Mindset Coach คือการนำแนวคิด growth mindset มาต่อยอดเข้ากับการศึกษา โดยมีกิจกรรมประกอบเล็กน้อย ส่วน The Growth Mindset Playbook นั้นมีแบบฝึกหัดและตัวอย่างกิจกรรมมากมาย สามารถหยิบไปปรับใช้ในห้องเรียนได้

 

Growth Mindset เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

“growth mindset อยู่ในตัวเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใครและไม่ว่าเราจะเป็นครูหรือไม่”

ฉัตรบดินทร์กล่าว และชวนผู้ร่วมสนทนาลองนึกถึงทักษะหรือเหตุการณ์ที่เคยทำไม่ได้มาก่อน แต่ปัจจุบันทำได้แล้ว

ครูร่มเกล้า ช้างน้อย เล่าว่าเดิมตนไม่กล้าแสดงออกและเรียบเรียงคำพูดได้ไม่ดี จึงไม่เคยมีภาพตัวเองในการเป็นครู แต่เมื่อมาเรียนครู ได้ซึมซับจังหวะวิธีการพูดจากการชมเดี่ยวไมโครโฟนของ โน้ส – อุดม แต้พานิช จนพูดได้คล่องในที่สุด

ส่วนครูธีรวัฒน์ พรศรีประเสริฐ แลกเปลี่ยนว่าเมื่อก่อนเคยคิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องขับมอเตอร์ไซค์เป็น จนกระทั่งต้องไปบรรจุราชการครูที่ต่างจังหวัด ทำให้ต้องซื้อและต้องขี่ให้เป็นทันทีให้ทันการเปิดเทอมในวันรุ่งขึ้น “เรายังมีศักยภาพทำอะไรได้อีกเยอะ แต่เรามี fixed mindset มาขวางไว้” ธีรวัฒน์กล่าว

ผู้ร่วมสนทนาคนอื่นๆ ต่างแบ่งปัน “เรื่องที่เคยทำไม่ได้” กันอย่างกระตือรือร้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเครื่องบิน การสอนนักเรียน การออกกำลังกาย การชวนคนอื่นคุย ไปจนถึงการทำสัญญาเช่าบ้าน และมีคำที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งระหว่างการพูดคุยคือ “ไม่คิดว่ามันง่ายแบบนี้หรือไม่คิดว่าจะทำได้” สะท้อนให้เห็นว่าเราทุกคนมักจะประเมินตัวเองต่ำเกินไป แท้จริงแล้ว growth mindset นั้นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด นี้เองที่หนังสือทั้งสองเล่มอยากสื่อว่าทุกคนเติบโตได้ โดยเฉพาะกับนักเรียน หากนักเรียนสัมผัสแนวคิดนี้ได้ การศึกษาก็เปลี่ยนแปลงได้

 

ความรู้สึกหลังอ่าน

ฉัตรบดินทร์ชวนผู้เข้าร่วมนึกย้อนความรู้สึกครั้งหยิบหนังสือทั้งสองเล่มขึ้นมา ซึ่งผู้สนทนาต่างรู้สึกร่วมกันว่า หนังสือทั้งสองเล่มช่วยให้สิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ อย่าง growth mindset กลายเป็นเรื่องรูปธรรม ผ่านตัวอย่างกิจกรรมหรือคำพูดที่ชัดเจน

“ความรู้สึกที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกคือ ดีใจ ตื่นเต้นมาก กับการนำแนวคิดที่เป็นนามธรรมไปแปลงเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมมากๆ” ฉัตรบดินทร์เล่าความรู้สึก

ร่มเกล้ารู้สึกว่าการอ่านหนังสือสองเล่มนี้ ทำให้ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง “รู้สึกเหมือนมีคนยืนยันในสิ่งที่เราเชื่อ เป็นเพื่อนที่คอยบอกว่า เอาคำนี้ไปพูดกับเด็กสิ … คำพูดบางคำมันทำให้แววตาเด็กเปลี่ยนไปจริงๆ”

ผู้ร่วมสนทนาต่างยกตัวอย่างเนื้อหาภายในเล่มที่ตนประทับใจ ครูธนดล ส่งเจริญทรัพย์ ยกตัวอย่างในส่วนที่หนังสือแนะให้มองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่าคือร่องรอยของการที่เราได้พยายาม และเป็นร่องรอยว่านักเรียนเองก็ได้พยายามทำเมื่อธนดลซึ่งเป็นครูได้สั่งการบ้านไป ธนดลกล่าวว่า

“พออ่านหนังสือเล่มนี้เลยรู้สึกว่า ที่ผ่านมาเราปิดกั้นเด็กไปเยอะ ทั้งๆ ที่เรามองว่าเราสร้างสรรค์แล้วนะ แต่เราก็ค่อนข้างเคร่งกับเด็กมาก”

ร่มเกล้าและฉัตรบดินทร์ประทับใจเนื้อหาในส่วนที่พูดถึงการให้ฟีดแบ็กหรือการชมนักเรียน ซึ่งต้องไม่ใช่แค่การชมว่าเก่งหรือยอดเยี่ยมโดยขาดบริบทรอบข้าง แต่ต้องให้รายละเอียดด้วยว่าเก่งหรือเยี่ยมในเรื่องอะไร ร่มเกล้าเล่าว่า

“เวลาที่เด็กทำไม่ได้ เราก็บอกเขาว่าเวลาทำข้อสอบยากๆ สมองของเรากำลังทำงานอยู่นะ ต่อให้ข้อนั้นเราทำไม่ได้ สมองเราก็ยังเติบโต แต่ต้องค่อยๆ ใช้เวลา เพราะเด็กอยู่กับความเชื่อที่ว่าตัวเขาทำไม่ได้มานาน”

ฉัตรบดินทร์ช่วยเสริมว่าฟีดแบ็กแบบที่ขาดบริบทรอบข้างนั้นเกิดขึ้นบ่อยมากในห้องเรียน ดังนั้นครูอาจจะต้องใส่ใจเรื่องการให้ฟีดแบ็กมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

 

Growth Mindset กับมุมมองและความรู้สึกของผู้แปล

ฐานันดรซึ่งเคยทำงานเป็นอาจารย์อยู่ช่วงหนึ่ง มองหนังสือทั้งสองเล่มผ่านมุมมองของครู โดยมีจุดที่ประทับใจพิเศษอยู่สามเรื่อง

เรื่องแรกคือ “รูบริก” หรือเกณฑ์การประเมินเพื่อให้คะแนนนักเรียน ในอดีตฐานันดรคิดว่าการจะประเมินได้อย่างมีมาตรฐานจำเป็นต้องพัฒนารูบริกก่อน แต่เมื่อได้อ่านหนังสือทั้งสองเล่ม ทำให้ตระหนักว่าเป้าหมายของการเรียนจริงๆ คือพัฒนาการของตัวผู้เรียน

เรื่องต่อมาคือ “การชม” การชมที่ดีต้องชมที่กระบวนการ เช่น วิธีคิดแบบนี้ดีมากเลยนะ ทำให้คะแนนเธอพัฒนาขึ้น การอ่านหนังสือแบบนี้ดีมากเลยนะ ทำให้เธอรู้ว่าจุดไหนที่เธอทำไม่ได้และทำให้ดีขึ้นได้

สุดท้ายคือ “เรื่องเล่า” จากเนื้อหาในตอนหนึ่งที่มีเด็กคนหนึ่งไม่สบายใจ เพราะสอบมาสามครั้งแล้ว แต่คะแนนยังไม่ผ่านเกณฑ์ ครูอยากช่วยนักเรียนและถามว่าสอบได้กี่คะแนนในแต่ละครั้ง เด็กก็ตอบว่าครั้งแรกได้ 5 คะแนน ครั้งที่สองได้ 7 คะแนน ครั้งที่สามได้ 9 คะแนน ครูจึงชี้ให้นักเรียนมองอีกมุมหนึ่งว่า เห็นไหม คะแนนสอบของเธอดีขึ้นทุกครั้งเลยนะ เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการปรับชุดความคิดทั้งกับตัวนักเรียนและผู้สอน ฐานันดรกล่าวว่า

“คนสอนก็ต้องปรับก่อน เราถึงจะกระตุ้นความคิดนักเรียนได้”

จากนั้นเมธาวี รัชตวิจิน บรรณาธิการจากบุ๊คสเคป ช่วยเสริมเนื้อหาเรื่องเล่าอื่นๆ ในหนังสือ มีอยู่ตอนหนึ่งมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งมาหาครูเพราะต้องการดร็อปเรียนเนื่องจากสอบได้คะแนนไม่ดี แต่ครูให้สมมติว่าถ้าคนที่พูดว่าอยากดร็อปเรียนเป็นเพื่อนเธอ เธอจะตอบอย่างไร นักเรียนเลยคิดว่าถ้าหากเพื่อนพูดแบบนี้ เธอก็คงไม่บอกเพื่อนว่าควรดร็อป ซึ่ง “เด็กก็อาจจะรู้สึกได้ว่าตัวเขานั้นใจดีกับคนอื่น แต่กลับไม่ไม่ได้ให้โอกาสกับตัวเองบ้างเลย” เมธาวีกล่าว

 

อ่านแล้วตื่น

ฉัตรบดินทร์ตั้งคำถามกวนๆ ชวนผู้เข้าร่วมบุ๊กคลับคิด ว่า “บทไหนในหนังสือที่รู้สึกว่า โดนตบกะโหลกเข้าอย่างจังบ้าง”

ฉัตรบดินทร์และฐานันดรนึกถึงตัวอย่างเรื่องหนึ่งเหมือนกัน เนื้อหาตอนนั้นพูดถึงการตีลูกเบสบอล โดย เปรียบเทียบวิธีการเรียนรู้ของเด็กว่าเหมือนการตีเบสบอล ที่จะต้องลองขยับขา จับไม้ เปลี่ยนท่า จนได้ท่าที่ตีแล้วถนัดมือ เรื่องนี้สัมพันธ์กับการรู้คิด (metacognition) ซึ่งคือการกลับมาทบทวนวิธีการเรียนรู้ของตนเอง กล่าวคือระหว่างที่ฝึกตีเบสบอล เราจะทบทวนการเรียนรู้ก่อนหน้านั้นของเรา พร้อมกับปรับวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะสมไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็สะท้อนว่า ที่ผ่านมาครูเองไม่ค่อยได้ถอยออกมาดูวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ฉัตรบดินทร์กล่าวว่า

“หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราถามนักเรียนว่าวิธีการเรียนแบบไหนที่เหมาะสมกับเขา บางทีเราก็ลืมถามนักเรียนของเราเหมือนกัน”

ฐานันดรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เวลาเด็กเล่นเบสบอลแล้วตีพลาด ผู้ปกครองที่เชียร์อยู่ข้างสนามก็จะบอกว่าให้ลองใหม่หรือตีใหม่ แต่เรากลับไม่เคยนำแนวคิด growth mindset แบบนี้มาใช้กับการเรียน เราไม่เคยคิดว่าเราเหมาะกับวิธีการเรียนแบบไหน ซึ่งในวงการอื่นนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานมาก เช่น วงการธุรกิจที่ต้องกลับมาคิดว่าสาเหตุที่ขายไม่ดีนั้นเกิดจากอะไร

“พอเป็นเรื่องการเรียน ทำไมเราถึงไม่เคยเปลี่ยนวิธี เรามัวแต่โทษตัวเองว่ามันมีวิธีการของมันอยู่แล้ว แต่เราขยันไม่มากพอ” ฐานันดรเล่า

ประเด็นนี้ฉัตรบดินทร์เสริมว่า “หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นว่าเราต้องพยายามอย่างถูกวิธีด้วย”

ผู้ร่วมสนทนาท่านอื่นตอบคำถามข้อนี้ โดยธีรวัฒน์เล่าว่าตนเองมีชุดความคิดแบบหนึ่งมาตลอดว่านักเรียนนั้นถูกคาดหวังมาเยอะแล้ว ดังนั้นเราต้องไม่ไปคาดหวังกับเขา แต่หนังสือกลับบอกให้คาดหวังในสิ่งที่จะไม่ผิดหวัง เช่น คาดหวังที่การตั้งใจอ่านหนังสือ เพราะหากคาดหวังที่คะแนนสอบ เราเองก็ไม่รู้ว่าข้อสอบจะเป็นอย่างไร ในขณะที่เมื่อคาดหวังที่การอ่านหนังสือ ถ้านักเรียนตั้งใจจริง นักเรียนก็จะไม่ผิดหวัง ธีรวัฒน์กล่าวว่า

“หนังสือทำให้เราได้สอนนักเรียนให้เปลี่ยนมุมมอง ทำให้นักเรียนเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วการเรียนของเขาก็เปลี่ยนไป เราคาดหวังกันได้ เราช่วยให้สภาพแวดล้อมของห้องเรียนมันส่งเสริมกันได้”

และฉัตรบดินทร์ช่วยเน้นว่า หากเรากลับมาคาดหวังในสิ่งที่อยู่ในขอบเขตที่เราลงมือทำได้ ถึงจะเกิดความผิดหวังขึ้นแต่สุดท้ายเราจะจัดการต่อได้

ธนดลตอบคำถามโดยยกตัวอย่าง fixed mindset ของตนเกี่ยวกับความเรียบร้อยของงานที่มอบหมายให้นักเรียนทำ

“ตั้งแต่อ่านบทนั้น ก็เลยลดความเรียบร้อยนั้นลง แต่ไปเพิ่มการชี้แนะมากขึ้น ทำให้เด็กก็รู้สึกโอเคที่จะแก้ เหมือนเขาเห็นภาพในการปรับปรุงมากขึ้น” ธนดลเล่า

 

เปลี่ยนมุมมองต่อการเรียนรู้

ก่อนปิดบุ๊กคลับ ฉัตรบดินทร์ชวนผู้เข้าร่วมทุกคนฝากความคิดเห็นหรือความรู้สึกที่ได้รับจากการร่วมสนทนา

ธีรวัฒน์ฝากประเด็นว่า เพียงครูเปลี่ยนชุดความคิด ก็ส่งผลต่อ growth mindset ในห้องเรียนแล้ว “ความคิดแบบ growth mindset ของครูที่ส่งไป จะส่งผลต่อเด็กโดยทันที อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ช้า แต่มันส่งผลแน่นอน” ธีรวัฒน์กล่าว

ฐานันดรและเมธาวีรู้สึกดีใจและตื้นตันใจ เพราะได้รู้ว่าหนังสือทั้งสองเล่มที่ทาง bookscape คัดเลือกมาแปลนั้น สามารถนำไปใช้ได้จริงและมีประโยชน์ และปลื้มใจที่หลายๆ ความประทับใจของผู้ร่วมสนทนาตรงใจกับตนเอง

ผู้ร่วมฟังในบุ๊กคลับท่านหนึ่งร่วมแสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายในฐานะคุณแม่ กล่าวคือในการพัฒนาเด็กคนหนึ่ง ครูและผู้ปกครองต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เราสามารถเรียนรู้เรื่อง growth mindset ได้จากการสังเกตธรรมชาติของเด็กๆ ที่ไม่กลัวการผิดพลาด ฉัตรบดินทร์มองว่าการที่ชุดความคิดแบบนี้ของเด็กๆ หายไปเมื่อเด็กโตขึ้นนั้น อาจเป็นผลจากระบบการศึกษาของไทยที่เฉือน growth mindset ของเด็กไป ดังนั้นการพัฒนา growth mindset จึงต้องอาศัยความร่วมมือของสังคม ครอบครัว และโรงเรียนด้วย ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ บรรณาธิการจากบุ๊คสเคป ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า หากเราสามารถรักษา mindset ที่ไม่กลัวความผิดพลาดแบบเด็กๆ ได้ ก็จะมีผลดีต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยหากสนใจเรื่องนี้ ณัฏฐพรรณได้แนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง Lifelong Kindergarten (อนุบาลตลอดชีวิต)

สุดท้ายธีรวัฒน์ช่วยปิดบุ๊กคลับ โดยเน้นว่าประโยชน์สูงสุดในการอ่านคือการที่ผู้อ่านได้เปลี่ยนมุมมองต่อการเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลไปถึงตัวครูเองและการสอนของครูโดยอัตโนมัติ

 

ฟังคลิปสนทนาฉบับเต็มได้ ที่นี่

อ่านรายละเอียดหนังสือประกอบการสนทนาได้ที่

The Growth Mindset Coach: คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve

The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset

The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน

ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล

นุชชา ประพิณ ออกแบบปก