Brief – Workshop “Growing Friendly, Learning Happily” สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ห้องเรียนไทยมี Growth Mindset

วรเชษฐ แซ่เจีย เรื่อง
เมธาวี รัชตวิจิน และ ธารารัตน์ เพ็ชรไฝ ภาพ

 

หลังจากเผชิญการแพร่ระบาดของโควิดกว่าสองปีที่ผ่านมา ทั้งครูและนักเรียนต้องสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พบเจอกันบนหน้าต่างขนาดเล็กที่หน้าจอเครื่องสื่อสารดิจิทัล ระยะทางที่ห่างไกลอาจเป็นที่มาของความสัมพันธ์ที่ห่างกัน

มาคราวนี้เป็นโอกาสดีที่ครูจะได้กลับมาพบเจอกันซึ่งหน้าอีกครั้ง กับเวิร์กชอป “Growing Friendly, Learning Happily: สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ห้องเรียนไทยมี Growth Mindset” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กายและใจได้เติบโตไปพร้อมกัน และนำประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการงานของตน กับเรื่องที่ว่าด้วย ชุดความคิดแบบเติบโต

นำกิจกรรมโดย วราลี เนติศรีวัฒน์ และ แพร คมลักษณ์ อดีตครูผู้ผันตัวมาทำงานด้านกระบวนกรที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ในทุกห้องเรียน เวิร์กชอปได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือสองเล่ม นั่นคือ The Growth Mindset Coach และ The Growth Mindset Playbook ร่วมจัดงานโดยสำนักพิมพ์ bookscape กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ insKru

แม้ Growth Mindset อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ไม่สามารถสร้างกันได้ง่ายๆ

เมื่อเริ่มเวิร์กชอป วราลีชวนทุกคนผ่อนคลาย โดยบอกว่าอยากให้ที่นี่เป็น “ห้องนั่งเล่น” ทุกคนสามารถเล่าเรื่องและแลกเปลี่ยนกันได้อิสระ เปิดกว้างในความหลากหลาย รอคอยและรับฟังด้วยเหตุผล เป็นพื้นที่สนทนาด้วยความเข้าอกเข้าใจ (empathic communication) ไม่รีบตัดสิน แล้วพาทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมแบบง่ายๆ ด้วยการจับคู่แลกเปลี่ยนกันในสามประเด็น ได้แก่

  1. หากเปรียบความรู้สึกของตนเวลานี้เป็นสี จะเป็นสีอะไร และเพราะอะไร
  2. มื้อเช้าทานอะไรมา และมื้อเที่ยงอยากทานอะไร
  3. ช่วงนี้หมดเงินกับอะไรมากที่สุด

คำถามธรรมดาเหล่านี้ได้สร้างบทสนทนากันเอง กล้าที่จะสื่อสาร และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุย

จากนั้นวราลีขยับเข้าสู่กิจกรรม “สิ่งที่ไม่ถนัด” โดยให้ผู้เข้าร่วมทุกคนทำกิจกรรมง่ายๆ ด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด แบ่งเป็นสามรอบ เริ่มต้นที่งานเดี่ยวอย่าง การเขียนชื่อเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ตามด้วยกิจกรรม จับคู่วาดรูปใบหน้าของเพื่อนโดยใช้มือข้างที่ไม่ถนัด บรรยากาศในห้องเริ่มเงียบลง ทุกคนมีสมาธิกับงานตรงหน้า เมื่อแต่ละคนวาดรูปเสร็จก็ส่งภาพให้เพื่อนที่เป็นแบบเป็นที่ระลึก สร้างบรรยากาศเขินอายเล็กๆ ให้กับพื้นที่เรียนรู้ในวันนี้

จากนั้นตามด้วยกิจกรรมที่สาม คือ ให้ช่วยจัดการกับข้าวของที่วางกระจัดกระจายอยู่ทั่วห้อง ทีมกระบวนกรได้แอบมาวางข้าวของระหว่างที่ผู้เข้าร่วมทำสองกิจกรรมแรก มีทั้งของชิ้นเล็กๆ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่างเก้าอี้ โดยขอให้ช่วยกันเก็บและจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อยภายในสามนาที แต่ต้องใช้มือข้างที่ไม่ถนัดเท่านั้น ซึ่งก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ความเห็นและสะท้อนความรู้สึกกับกิจกรรมทั้งสามกันอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่ตอบว่า “สนุกและท้าทาย” แต่ก็มีบ้างที่รู้สึกอัดอัดจนต้องคอยให้กำลังใจตนเองหรือฝืนทำจนเสร็จได้ ซึ่งต้องอาศัยการปรับอารมณ์และความคิด

ครูนาเดียร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมได้ร่วมแบ่งปันว่า “ปกติเป็นคนไม่กล้าพูดในกลุ่มใหญ่” เพื่อนร่วมวงก็ให้กำลังใจว่าให้ถือโอกาสนี้ลองฝึกพูดผ่านการเป็นตัวแทนกลุ่มไปแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมทุกคน และเธอก็ทำได้จริงๆ นาเดียร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “มันไม่ยาก ถ้าตั้งใจทำ”

แพรเสริมว่า ความเพียรพยายาม หรือ grit เป็นกุญแจสำคัญในกิจกรรมข้างต้น กิจกรรมที่ให้ทำด้วยความไม่ถนัดจะกระตุ้นให้เกิดความคับข้องหรือไม่สะดวกสบายนัก แต่ก็ทำให้เกิดเป็นความพยายามทำจนสำเร็จ

 

ถอดรหัส เข้าใจเสียงที่ดังก้องอยู่ในหัว

เป้าหมายลำดับต่อไป คือ การสร้างพื้นที่ที่เด็กๆ จะมั่นใจว่าตนทำพลาดได้ และยังสามารถพยายามทำต่อไปจนสำเร็จได้ ผ่านกิจกรรมที่ชื่อ Growth Mindset Center ที่ยังคงชวนให้ทำในสิ่งไม่ถนัดตามฐานต่างๆ ได้แก่ การพับกระดาษ (origami) การวาดภาพ (drawing) และ การปั้นดินน้ำมัน (molding) โดยให้ผู้เข้าร่วมทุกคนเลือกเข้าฐานที่ตนคิดว่าไม่ถนัดหรือถนัดน้อยที่สุด

วราลีกล่าวว่าขอให้สังเกตสิ่งที่อยู่ในหัวระหว่างต้องทำสิ่งที่ไม่ถนัด และคำที่ลอยอยู่ในหัวส่งผลต่อการกระทำของตนอย่างไร รวมทั้งชวนสังเกตบรรยากาศการเรียนรู้ที่เหล่ากระบวนกรในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (learning facilitator) คอยให้การสนับสนุน

เมื่อเข้าฐานกิจกรรมแล้ว ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้รับภารกิจแตกต่างกันไป ในฐานการพับกระดาษที่นำโดยวราลี ผู้เข้าร่วมจะได้รับเอกสารเกี่ยวกับการพับกระดาษรูปแบบต่างๆ โดยมีเงื่อนไขหลักคือให้พับตัวการ์ตูนปิกาจู และให้พับกระดาษรูปร่างอื่นๆ ประกอบจนเกิดเป็นเรื่องราว

ในส่วนของฐานการวาดภาพนั้น วิทยากรกำหนดตัวอย่างภาพวาดให้ผู้เข้าร่วมเลือก โดยแพรผู้ทำหน้าที่กระบวนกรประจำกลุ่มยังไม่ได้ให้วาดในทันที แต่ให้เริ่มต้นจากการฝึกหลักการวาดเบื้องต้นก่อน คือ การวาดเส้นและร่างโครงสร้าง แล้วเริ่มลงเงา ก่อนจะได้เป็นผลงานขั้นสุดท้าย แม้กิจกรรมนี้ต้องจดจ่ออย่างมาก แต่บรรยากาศไม่ได้ตึงเครียด สังเกตได้จากการพูดคุยอย่างผ่อนคลายที่เกิดขึ้นตลอด

กลุ่มสุดท้ายคือการปั้นดินน้ำมัน นำโดยกระบวนกรที่เป็นนักศึกษาจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยากรจะแจกก้อนดินน้ำมันให้ผู้เข้าร่วม เริ่มจากปั้นเป็นรูปร่างง่ายๆ ก่อน แล้วจึงค่อยปั้นรูปสัตว์พร้อมกับปั้นองค์ประกอบต่างๆ ให้เกิดเป็นเรื่องเล่าขึ้นมา

ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งได้แบ่งปันเสียงในหัวระหว่างที่อยู่ในฐานกิจกรรมว่า “ไม่ชอบการพับกระดาษเลย แต่ทำได้” และ “ปั้นดินน้ำมันเนี่ย ตั้งใจให้เป็นรูปร่างยังไง แต่ก็อาจทำออกมาไม่ได้อย่างที่คิด ต้องอาศัยวิธีการปั้นและขึ้นรูป”

แต่ก็เช่นเดียวกัน มีคนที่เสียงในหัวดังอยู่ตลอดว่ามันยาก ทำไม่ได้หรอก เช่น “อยากทำให้เสร็จๆ ไป เมื่อไรจะเสร็จสักที” ครั้นเมื่อกลับมาทบทวน ผู้เข้าร่วมก็พบว่ากระบวนกรมักจะคอยอยู่ข้างๆ ให้กำลังใจสม่ำเสมอ

วราลีช่วยสรุปว่า แบบแผนความคิดที่เกิดจากความไม่ชอบนั้น มักมาในรูปของเสียงในหัวที่เป็นทางลบ จัดเป็นชุดความคิดแบบตายตัว หรือ fixed mindset ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติคู่กันกับ growth mindset นั่นเอง

เป้าหมายการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้จริงๆ จึงเป็นการฝึกฝนให้เชื่อว่าตนเองเรียนรู้และเติบโตได้จริง เมื่อมองกลับไปในบริบทห้องเรียน นักเรียนแต่ละคนก็มีความชอบที่แตกต่างกัน หลายครั้งต้องทนทำสิ่งที่ไม่ชอบ และอันที่จริงเราไม่จำเป็นจะต้องชอบในสิ่งที่เรียนก็ได้

แพรเสริมต่อไปอีกว่า เรื่องดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเมื่ออธิบายด้วยทฤษฎีนิเวศการเรียนรู้ (learning ecosystem) ของยูรี บรอนเฟนเบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner) ที่กล่าวว่าคนคนหนึ่งจะเรียนรู้ได้ต้องมีปัจจัยแวดล้อมทั้งใกล้ตัวและไกลตัว หลายคนที่เข้าร่วมเวิร์กชอปเป็นครูที่ใกล้ชิดกับเด็กมาก จึงควรระลึกเสมอว่า ตนให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันกับเด็กทุกคนหรือไม่ โดยให้มุ่งเน้นกับการปฏิบัติ โฟกัสที่การลงมือทำ แก้ปัญหา และสะท้อนคิด ในแบบที่มีครูคอยแนะแนวทางและให้กำลังใจว่า ถ้าตั้งใจทำ ตัวเขาเองก็จะทำออกมาได้ดีอย่างคาดไม่ถึง นั่นคือ กล้าตั้งความหวังให้สูง มองไปให้ไกล และเชื่อมั่นว่าศักยภาพในปัจจุบันของเด็กๆ ยังพัฒนาได้ ครูกับคนรอบตัวเด็กๆ จะต้องจับมือกันพัฒนาตัวเองให้คุ้นเคยกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

 

พื้นที่ที่เข้าอกเข้าใจผู้เรียนหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อรู้แล้วว่าพื้นที่ปลอดภัยทำงานอย่างไรกับสมองและกรอบคิดของนักเรียนในบริบทห้องเรียน เป้าหมายถัดไปเป็นการตอบคำถามว่า ปัจจุบันพื้นที่หน้างานหรือห้องเรียนของตนนั้นปลอดภัยพอที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ growth mindset แล้วหรือยัง และจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

คำตอบสำคัญคือ ต้องสร้างบรรยากาศแห่งการเข้าอกเข้าใจ ที่จะช่วยให้เราไม่ด่วนตัดสินคนจากการกระทำหรือผลลัพธ์ตรงหน้า

ด้วยเหตนี้ วราลีและแพรจึงเตรียมชุดวิดีโอที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมลองใช้กรอบความคิดของตนในการแก้ไขสถานการณ์ตัวอย่างที่สร้าง “ความอับอาย” (embarrassment) ของนักเรียนที่นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของชุดความคิดแบบตายตัว

โจทย์ที่วราลีเตรียมไว้คือ มีเด็กหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งติดโซเชียลมีเดีย และต้องการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมท่ามกลางความกดดันของคนในครอบครัว วราลีทิ้งประเด็นไว้ให้ผู้เข้าร่วมทุกคนคิดตาม คือ

  1. Why – ทำไมจึงเกิดขึ้น

  2. Feeling – มีความรู้สึกอะไรบ้าง

  3. Need – ความต้องการที่แฝงอยู่คืออะไร

  4. อวัจนภาษา สิ่งที่ไม่ใช่คำพูดที่แสดงออกมาให้เห็นคืออะไร

จากนั้นวราลีตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าวัยรุ่นคนนี้เป็นนักเรียนของตน จะมีวิธีช่วยเหลือหรือตอบสนองอย่างไร วงสนทนาเสนอความเห็นกันหลากหลาย เช่น ถ้าเป็นครูก็คงรับฟังและโอบรับกับสถานการณ์ตรงนี้ และชวนให้ปรับ mindset ที่มีต่อตนเอง มองหาแง่มุมชวนคิดต่างๆ รวมไปถึงให้ครูไปทำงานร่วมกันกับครอบครัว ทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องช่วยเด็กคนนี้ให้สามารถก้าวข้ามจากสถานการณ์ตรงหน้าให้ได้

วราลีชี้ว่าคำตอบดังกล่าวเป็นคำตอบแบบที่สะท้อนให้เห็น sympathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจ นั่นคือ มองสถานการณ์นั้นผ่านสายตาและประสบการณ์ของตนเอง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการให้คำปรึกษาที่ด่วนตัดสินใจบนความหวังดี แต่หากปรับเป็น empathy หรือ ความเข้าอกเข้าใจ คือทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสิ่งที่ผู้เล่าพบเจอจริงๆ และมองหาว่าสิ่งที่เขาต้องการจากการมาปรึกษาครั้งนี้คืออะไร

จากนั้นวราลีให้ทุกคนไปพัฒนาคำตอบจากกิจกรรมก่อนหน้า ให้ได้แนวทางการตอบสนองนักเรียนคนนั้นได้ดียิ่งขึ้น แม้เรื่องนี้จะทำได้ยากเพราะขัดกับที่เคยทำกันมาโดยตลอด แต่ก็เป็นพื้นฐานในการสร้างพื้นที่สร้างชุดความคิดแบบเติบโตให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 

ความสัมพันธ์ที่ดีกับการมีส่วนร่วม – ส่วนผสมที่ลงตัว

แม้ว่าคุณครูจะออกแบบบทเรียนและสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิด growth mindset ได้สมบูรณ์แบบเพียงใด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะครูมักมองว่าตัวเองสามารถพูดให้นักเรียนฟังได้ ให้กำลังใจได้ตลอด แต่นักเรียนก็จะสงสัยเช่นกันว่าที่ครูพูดมานั้นน่าเชื่อจริงหรือ แล้วครูที่กำลังพูดอยู่หน้าชั้นเรียนนี้รู้จักเราดีแค่ไหนกัน

ฉะนั้น หากความสัมพันธ์ (relationship) ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะกับ “เด็กป่วน” ที่ครูมักมองเป็นผู้สร้างปัญหาในห้องเรียน แต่หากได้สานสัมพันธ์และทำความเข้าใจนักเรียนคนนั้นในแง่มุมและสายตาที่แตกต่างออกไป ก็อาจทำให้รู้จักเขาดียิ่งขึ้น เกิดเป็นแนวทางช่วยเหลือให้เขาเติบโตไปในรูปแบบตน

“แทนที่จะหงุดหงิดใจ ให้สงสัยใคร่รู้” ข้อความนี้ไม่ใช่เฉพาะสำหรับครู แต่ยังเป็นการบ้านสำคัญของพ่อแม่ด้วยที่ควรระลึกถึงเสมอ

แนวทางการสานสัมพันธ์ที่สามารถทำได้ เช่น การจับชีพจรความคิดความรู้สึกและการสร้างข้อตกลงร่วมกัน กฎดังกล่าวจะไม่ใช่ข้อบังคับเหมือนกฎของโรงเรียน แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนร่วมกันตกลงว่าอยากให้ทุกคนทำอะไร และไม่อยากให้ทำอะไร จนกลายเป็นการมีส่วนร่วมในห้องเรียน (participation) หากครูต้องการปรับใช้ให้เกิดขึ้นในบทเรียนด้วย ก็สามารถทำได้ผ่านการออกแบบงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้นักเรียนได้เลือกทำและมีส่วนร่วมกับเนื้อหาได้

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงความรู้ที่หลากหลายมากกว่าใบงานที่จัดเตรียมไว้ เพราะความรู้ไม่ได้มีอยู่แค่เพียงที่ครูหรือหนังสือบอก เรื่องเหล่านี้อาจไม่ต้องเริ่มทำทั้งหมดในคราวเดียว แต่สามารถเลือกปรับใช้ให้เข้ากับธรรมชาติของวิชาและเนื้อหาที่สอน เพื่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้เชิงรุกที่ไม่ได้จัดการกับความเบื่อหน่ายของนักเรียน แต่ให้พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนและรู้สึกเป็นเจ้าของ

ในช่วงท้าย แพรได้สรุปบทเรียนสำคัญว่า “ก่อนไปเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนอื่น ขอให้ดูแลตัวเองก่อน” เพราะในการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยทางความคิดและจิตใจ จะต้องรับแรงกระแทกจากอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายและจากทั่วสารทิศ ฉะนั้นหากรู้สึกเหนื่อยล้าก็อย่าลืมที่จะพักผ่อนทั้งกายและใจ

 

อ่านรายละเอียดหนังสือประกอบเวิร์กชอปได้ที่

The Growth Mindset Coach: คู่มือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Coach: A Teacher’s Month-by-Month Handbook for Empowering Students to Achieve

The Growth Mindset Playbook: แบบฝึกเล่นเสริมสร้าง Growth Mindset
The Growth Mindset Playbook: A Teacher’s Guide to Promoting Student Success

Annie Brock และ Heather Hundley เขียน
ฐานันดร วงศ์กิตติธร แปล
นุชชา ประพิณ ออกแบบปก